Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

รำลึกการจากไปของสุภาพร พงศ์พฤกษ์

-A +A

 

งานเสวนา "หนทางสู่ความตายอย่างสงบ" รำลึกการจากไปของสุภาพร พงศ์พฤกษ์
วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๖  ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) 

 

นพ.โกมาตร :

          ผมรู้จักคุณสุภาพรในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เพียงสามปีมานี้เอง เป็นการรู้จักจากการจัดสัมนาวิชาการเรื่องกระบวนทัศน์สุขภาพขึ้น โดยทางเราอยากจะสำรวจความรู้ที่เป็นวิธีการมองสุขภาพแบบใหม่ในเรื่องต่าง ๆ หลายเรื่องด้วยกัน ตั้งแต่เรื่องความตาย เรื่องมะเร็ง เรื่องเอดส์ เรื่องการเรียนรู้ เรื่องนิเวศวิทยาแนวลึก ฯลฯ ซึ่งคุณสุภาพรได้มาร่วมการสัมมนากับเราครั้งนั้นด้วย

          ผมทราบมาว่าทุกครั้งที่มีกิจกรรม คุณสุภาพรจะต้องตรากตรำไปทำ ซึ่งบางครั้งก็ทำให้เสียสมดุลของชีวิตไปบ้าง อาการเจ็บที่ก้อนเนื้อก็จะมีมากขึ้น แต่ว่าบ่อยครั้งคุณสุภาพรเขาก็จะไม่ค่อยปฏิเสธที่จะไปร่วม ในระหว่างที่เราสัมมนาก็ได้คุยหลายเรื่อง และได้รู้ว่าสุขภาพที่เป็นอยู่บางครั้งก็ดีขึ้นหรือว่าแย่ลง ซึ่งเราก็อาศัยได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของคุณสุภาพรมาก คุณสุภาพรพูดถึงว่าการที่มะเร็งได้เข้ามาในชีวิตของคุณสุภาพร ก็ทำให้เห็นชัดขึ้นมากว่าชีวิตไม่ใช่อะไรที่จะไปเที่ยวลังเลสงสัยหรือว่าลอย ไปลอยมาอยู่ มะเร็งเหมือนกับเป็นสัญญาณมาให้เรา บอกกับเราว่าต้องเริ่มปฏิบัติธรรม ชีวิตไม่ควรปล่อยให้มันล่วงโรยไป เวลาล่วงไปเรื่อย ๆ หลาย ๆ เรื่องที่คุณสุภาพรพูดถึงเราได้รวบรวมอยู่ในหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งเป็น หนังสือที่หลายคนใช้ศึกษาไม่น้อยในแวดวงสุขภาพเป็นเรื่องกระบวนทัศน์สุขภาพ แบบใหม่ หนึ่งในนั้นมีบทความของคุณสุภาพรอยู่ด้วย ผมคิดว่าตลอดชีวิตของคุณสุภาพร คุณสุภาพรได้อุทิศตัวเองเพื่อการเรียนรู้มาก เพราะฉะนั้นวันนี้อยากจะมาดูว่าเราได้เรียนรู้อะไรจากชีวิตของคุณสุภาพรบ้าง

          จากการไปเยี่ยมคุณสุภาพรที่บ้านถั่วพู แม้จะเป็นช่วงนาทีท้าย ๆ ของชีวิต คุณสุภาพรก็ยังเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ของผู้คนรอบข้างอยู่เสมอ คุณหมอเต็มศักดิ์เป็นแพทย์ที่ช่วยเหลือดูแลคุณสุภาพรและพาผมไปเยี่ยมเล่าถึง การจัดการดูแลสุขภาพในช่วงระยะสุดท้ายว่าได้ใช้บ้านของคุณสุภาพรเองเป็นที่ ดูแล จึงนับเป็นโอกาสของการสร้างระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบหนึ่งของโรง พยาบาลมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่คุณหมอเต็มศักดิ์ทำงานอยู่ โดยสร้างระบบที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองในระยะสุดท้ายที่บ้านได้ ช่วงที่ผมไปเยี่ยมคุณสุภาพรที่บ้านขณะนั้น คุณสุภาพรนอนอยู่และเปิดเปลือยหน้าอกที่มีแผล เมื่อพวกเราเข้าไป คุณสุภาพรบอกถึงการเปิดเผยให้ดูว่าร่างกายมันเป็นอย่างนี้ แล้วเราก็จะอยู่กับร่างกายที่ในทางพุทธเราถือว่าเป็นลางโรค มันมีโรคเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาได้อย่างไรบ้าง ซึ่งคุณหมอเต็มศักดิ์ก็บอกตลอดเวลาที่มาช่วยดูแลคุณสุภาพรว่าจะได้เรียนรู้ ทุกเรื่องได้ตลอด จนแม้กระทั่งจะเสียชีวิตคุณสุภาพรก็ยังได้เขียนหนังสือสำคัญเกี่ยวกับเรื่อง ความเป็นแม่กับมือที่เยียวยารักษาโรค ซึ่งผมคิดว่าเป็นบทเรียนบทสำคัญที่สุดบทหนึ่งก่อนที่คุณสุภาพรจะเสียชีวิตไป ถ้าใครมีโอกาสน่าจะได้อ่าน

          ประเด็นที่จะเสนอเป็นประเด็นกว้างๆ 3-4 ประเด็นเกี่ยวกับเรื่องทัศนะต่อความตาย การจัดการความตายในสังคมไทย และแนวโน้มหรือสิ่งที่เราควรจะได้ช่วยกันคิดช่วยกันทำในอนาคต

          ความตายเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เพราะทำให้คนทุกคนเท่ากัน ต่อหน้าความตายมันเท่ากันหมด การที่ความตายทำให้ทุกคนเสมอกันได้ ผมคิดว่าน่าจะเป็นโอกาสที่การเรียนรู้เรื่องความตายจะเกิดขึ้นได้สำหรับ ทุก ๆ คน ส่วนทัศนคติที่เรามีต่อเรื่องความตายในปัจจุบันนั้นผมจำที่เราสัมมนากัน เมื่อครั้งท่านพุทธทาสมรณภาพไปและได้มานั่งคุยกัน ตั้งแต่ครั้งนั้นก็มีการพูดถึงเรื่องทัศนะต่อเรื่องความตายที่มีความหลาก หลายทัศนะ และมีการถกเถียงกันว่าจะรักษาท่านพุทธทาสต่อหรือจะไม่รักษาต่อ ฝ่ายหนึ่งคิดไปทางหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งก็คิดไปอีกทางหนึ่ง

          ทัศนะต่อความตายที่เกิดขึ้นในช่วงสิบกว่าปีมานี้ และทัศนะต่าง ๆ ที่หลากหลายรวมทั้งข้อขัดแย้งด้วยนั้น ผมคิดว่าสาระสำคัญที่สุดที่เราอยากจะเรียนรู้จากเรื่องนี้ก็เพราะว่าความรู้ ของเรายังไม่สมบูรณ์ จึงมีทัศนะการตายแบบการแพทย์สมัยใหม่กับแบบพุทธหรือแบบไทย แบบพื้นบ้านมีความขัดแย้งกัน ที่ขัดแย้งกันเพราะว่าเรายังรู้ไม่สมบูรณ์เพียงพอ ไม่ใช่ว่าอันหนึ่งถูกอันหนึ่งผิด ที่มาถึงข้อสรุปตรงนี้เพราะผมมีความรู้สึกว่าถ้าหากเรายอมรับเป็นเบื้องต้น ก่อนว่า ทัศนะต่อความตายหรือความรู้เกี่ยวกับความตายของเราที่ไม่สมบูรณ์เป็นสาเหตุ ทำให้วิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่กับวิธีการจัดการความตายแบบอื่นมีความขัด แย้งกัน หรือว่าไม่สามารถที่จะเกื้อกูลกันได้ เพื่อที่จะให้การตายเป็นประสบการณ์ที่ดีของมนุษย์ ถ้าเรายอมรับตรงนี้ได้จะเป็นการเปิดโอกาสให้คุยกันในหลายลักษณะ ขยายการคุยได้มากขึ้น ในกรณีของคุณสุภาพรเห็นได้ชัดเจนมากว่าคุณหมอเต็มศักดิ์ได้เข้าไปช่วยดูแล และพยายามที่จะใช้การแพทย์แผนปัจจุบันเข้าไปเกื้อกูลการตาย การเจ็บป่วยในระยะสุดท้ายของคุณสุภาพรอย่างมาก

          ประเด็นความรู้ที่ไม่สมบูรณ์นั้นผมคิดว่ามีลักษณะ ปรากฏให้เห็นหลายอย่างด้วยกัน อันแรกคือตัววิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ ดังที่เราทราบว่าการมองเรื่องความตายเป็นศัตรู จึงพยายามจะใช้วิทยาศาสตร์การแพทย์เข้าไปจัดการกับความตาย ต่อสู้กับความตายให้ถึงนาทีสุดท้าย ยืดอายุไปให้ยาวที่สุด ในขณะเดียวกันวิทยาศาสตร์การแพทย์กลับไม่ได้บอกว่าชีวิตที่ยืดยาวนั้นสาระ สำคัญคืออะไร มีชีวิตไปเพื่ออะไร ซึ่งอันนี้จะตรงกันข้ามในทางด้านศาสนธรรมที่จะเน้นว่าชีวิตมีไว้เพื่ออะไร เช่น เพื่อการหลุดพ้น หรือเพื่อความสมบูรณ์ในจิตวิญญาณบางลักษณะ เป็นเป้าหมายที่มีอยู่ แต่ในทางวิทยาศาสตร์ไม่มีเป้าหมายที่ว่านี้ จึงกลายเป็นการทุ่มเททรัพยากรลงไป เช่น ที่สหรัฐอเมริการ้อยละ 60-70 ของค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ถูกใช้ไปในหกสัปดาห์สุดท้ายของการมีชีวิตอยู่ หมายความว่าสิ้นเปลืองมากในการเข้าไปจัดการกับความตาย โดยการยืดความตายมากกว่ายืดอายุ กำลังเป็นแนวโน้มเกี่ยวกับเรื่องการตายในวิทยาศาสตร์ตะวันตกอย่างไม่หยุด นิ่ง แต่ในระยะหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวโดยมีนักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่ง หันมาให้ความสนใจในเรื่องที่เขาเรียกว่าเป็น เอ็นดีอี (NDE = near dead experience) มากขึ้นมาก มีงานวิจัยสำคัญ ๆ หลายชิ้นที่สะท้อนให้เห็นว่า ชั่วขณะของการใกล้ตายของมนุษย์เป็นปรากฏการณ์ที่ยากจะอธิบายด้วยวิธีคิดแบบ ชีววิทยาอย่างเดียวล้วน ๆ และยังมีประเด็นเรื่องจิตสำนึกหรือ consciousness ซึ่งธรรมชาติของมัน วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ไม่มีความรู้เลย จะไม่สามารถอธิบายได้ว่าเอ็นดีอี ธรรมชาติของมันเป็นอย่างไรกันแน่ เพราะว่าธรรมชาติของ consciousness พอถึงช่วงของการดับไปหรือการเปลี่ยนไปของสถานะจิตสำนึกการรู้สึกตัว เราจะไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร

          งานวิจัยระยะหลังสนใจเรื่องนี้กันมาก   ถึงขนาดที่มหาวิยาลัยฮาวาร์ดมีการตั้งวงสนทนาระหว่างท่านทะไลลามะกับนัก วิทยาศาสตร์ทางด้านประสาทวิทยาชั้นนำในสหรัฐอเมริกาคุยกันในเรื่อง consciousness ทุกสองปีต่อเนื่องมาเป็นสิบปีแล้ว และทุกสองปีก็จะมีการพิมพ์หนังสือออกมา กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ดังกล่าวยังยกทีมไปที่ธรรมศาลา และเอาเครื่องไม้เครื่องมือไปวัดอะไรต่าง ๆ ของพระที่ปฏิบัติธรรมอยู่ในกุฏิเล็ก ๆ วัดดูว่าในขณะปฏิบัติธรรมนั้นสมองเป็นอย่างไรบ้าง อะไรต่ออะไร มีนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งชื่ออีลิค แลนเดอร์ เป็นผู้ก่อตั้งโครงการ Genome project เพิ่งนำผลการวิจัยออกมาเสนอที่ เอ็มไอที (MIT) เมื่อประมาณเดือนครึ่งที่แล้ว ประเด็นที่เขาเสนอคือ เขาไปศึกษาพระทิเบตในเรื่องของจิตสำนึกการรับรู้(consciousness) แล้วเขาค้นพบหลายอย่างที่น่าอัศจรรย์ใจ แต่ไม่น่าอัศจรรย์ใจเท่าไรสำหรับวิธีคิดแบบพุทธก็ได้ เช่น เขาพบว่าการปฏิบัติธรรมของพระเหล่านี้ เมื่อปฏิบัติไปถึงขั้นหนึ่งแล้วจะมีปรากฏการณ์ที่มีปฏิกิริยาตอบสนองของร่าง กาย ซึ่งทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ถือว่าเป็นปฏิกิริยาอัตโนมัติ เป็น reflect เมื่อมีการกระตุ้นเข้ามา ร่างกายจะตอบสนองทันทีโดยไม่สามารถควบคุมได้ เดิมที่คิดว่าไม่สามารถควบคุมได้ปรากฏว่ามันควบคุมได้ พระเหล่านี้ควบคุมได้ ประเด็นที่เขาวิจัยก็คือเรื่อง Stator reflect ซึ่งหมายความว่าคนนั่งอยู่เพลิน ๆ ก็มีคนเข้าไปที่ข้างหลังแล้วทำเสียงดังใส่ทันที หรือทำให้ตกใจ สะดุ้ง ปรากฏการณ์การสะดุ้งเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ปรากฏว่างานวิจัยของเขาพบว่าพระทิเบตที่ปฏิบัติธรรมมาสิบห้าปีไม่มี ปรากฏการณ์การสะดุ้งเหลืออยู่ สร้างความแปลกใจขัดกับสิ่งที่เชื่อกันว่ามีระบบประสาทอัตโนมัติ

          กล่าวคือถ้าเราเจริญสติจนสมบูรณ์แล้ว เช่น เรื่องพระอานนท์ ขณะที่ฝนตกลงมาห่าใหญ่ ฝนแต่ละเม็ดที่ตกลงมานั้นพระอานนท์สามารถเอาสติไปจับรับรู้ได้หมดหรือว่ามี สติสมบูรณ์ทุกขณะจิต ถ้าเอาขณะจิตหนึ่งสมมุติว่าเป็นหนึ่งในสี่สิบล้านวินาทีตามที่มีผู้อ้างไว้ การมีสติตลอดทุกเสี้ยวของหนึ่งในสี่สิบล้านวินาทีอย่างนั้นใครจะทำให้ตกใจ ได้เพราะว่าไม่มีที่ว่างของจิตที่ไม่มีสติเลย

          อีลิค แลนเดอร์ ยังค้นพบอีกหลายเรื่องเช่น ลักษณะของการรับรู้ที่ไวมาก วิธีทดลองของเขาก็คือเอาการจดจำใบหน้าคน มาฉายเทียบกับงานวิจัยอื่นที่เคยทำมาทั้งหมดว่า คนที่จดจำใบหน้าได้เร็วใช้เวลาเท่าไร แล้วนำไปทดลองกับกลุ่มพระดังกล่าว ปรากฏว่าใช้เวลาน้อยกว่าคนที่จดจำใบหน้าเก่งที่สุดเท่าที่เขาเคยวิจัย กลุ่มพระดังกล่าวแค่เพียงแว่บเดียวก็จดจำได้แล้ว (ถ้ามาแข่งในเกมส์ทศกัณฑ์ รายการเกมส์ทางโทรทัศน์เกมส์หนึ่ง ชนะแน่ และเร็วด้วย) จิตรับรู้จะมี perception ที่เร็วมาก และการทำงานของส่วนคลื่นสมองหลาย ๆ ส่วนเกินค่ามาตรฐาน แต่เดิมเขาทำชาร์ทไว้สำหรับการวิจัย เขากำหนดค่าไว้ว่ามันไปได้ถึงแค่นี้ แล้วก็เอาชาร์ทมาดูว่าสมองส่วนไหนทำงานไปได้ ถึงระดับใด ปรากฏว่าผลของกลุ่มพระดังกล่าว ค่าเกินกว่าสเกลที่เขาเคยทำไว้ นี้เป็นตัวอย่าง

          ยังมีงานวิจัยอีกมาก ถึงขนาดกลายเป็นสมาคม มีสมาคมหนึ่งชื่อว่า ไอโอเอ็นเอส (I O N S = Institute of Noetic Science) คำว่า Noetic คือ consciousness สถาบันนี้ก่อตั้งขึ้นโดยนักวิทยาศาสตร์ที่ชื่อ เอดก้าร์ มิเชล ช่วงที่เขาเดินทางกลับจากดวงจันทร์ แล้วมองมาที่โลกทั้งใบที่กำลังลอยฟ่องอยู่ในอวกาศ เขาพบว่าเส้นแบ่งต่าง ๆ ในโลกที่เรานำมาแบ่งเส้นเป็นชาติบ้าง เป็นขอบเขตการปกครองบ้าง เป็นโลกที่หนึ่ง โลกที่สอง โลกที่สาม หรืออะไรก็แล้วแต่ ล้วนแต่เป็นของจอมปลอมทั้งสิ้น โลกทั้งใบงดงามโดยตัวของมันเอง แล้วก็เกิดจิตสำนึกอันหนึ่งที่ห่วงใยที่ทะนุถนอมโลก มีความอ่อนโยนต่อโลก เขากลับมาหาโลกพร้อมกับประกาศว่าเขากลับมาโลก As a totally changed man เปลี่ยนหมด คือเปลี่ยนในระดับจิตสำนึกหมด เขาจึงได้มาทำงานในด้านนี้จัดตั้งสถาบันที่เรียกว่า ไอโอเอ็นขึ้น สถาบันนี้ก็เพิ่งจัดประชุมไปที่อเมริกาเมื่อเดือนเมษายนที่แล้ว มีนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลกเกือบสองพันคนเดินทางไปประชุมกันที่นั่น เพื่อที่จะคุยกันในเรื่องของจิตสำนึก เรื่องความตายเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่คนกลุ่มเหล่านี้พยายามที่จะ ศึกษาและเข้าใจ เกี่ยวโยงไปถึงเรื่องอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสันติภาพ เรื่องอื่น ๆ ด้วย ในการประชุมคราวนั้นคุณเดวิด สปีแลนส์ ไปร่วมประชุมด้วย กลับมาเล่าให้ฟังถึงเรื่องการไปประชุมที่นั่นว่าคนจำนวนมากไปชุมนุมกัน

          ประเด็นที่คุยกัน เรื่องความตายเป็นประเด็นใหญ่ อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องสันติภาพและสันติวิธี มีคนหนึ่งเขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งเป็นเรื่องชีวิตของลูกของเขา พื้นภูมิที่เขาเป็นคนต่างชาติ อพยพเข้าไปอยู่ในสหรัฐอเมริกา ลูกของเขาถูกแก๊งวัยรุ่นฆ่าตาย เขาโกรธแค้นมาก ต้องการที่จะเอาเรื่องกับเด็กวัยรุ่นกลุ่มนั้นให้ถึงที่สุด แต่กลับพบเป็นประสบการณ์ของชีวิตจากเหตุการณ์บางอย่างและครุ่นคิดตรึกตรอง อย่างมาก เขาจึงตัดสินใจที่จะรับเอาคนที่ฆ่าลูกของเขามาเป็นบุตรบุญธรรม ซึ่งการที่จะก้าวข้ามจากความโกรธเกลียดอย่างถึงที่สุดมายอมรับคนที่ฆ่าลูก ของตนเองให้มาเป็นลูก เขาเขียนเรื่องราวการเดินทางครั้งสำคัญของชีวิตของเขาขึ้นมา ซึ่งเรื่องสันติภาพ สันติวิธีที่มันเกิดขึ้นในตัวมนุษย์กับความสัมพันธ์ระหว่างกับคนอื่น ๆ แล้วโยงไปถึงเรื่องความตาย เรื่องจิตสำนึกใหม่ เรื่องวิธีคิดในการมองโลก มองชีวิตใหม่

          ผมคิดว่าส่วนหนึ่งที่เราจะต้องเรียนรู้จากชีวิต ของคุณสุภาพรก็คือ ไม่ใช่เรื่องความตายโดด ๆ อย่างที่เราอาจจะได้เรียนรู้เป็นอย่างมากแล้วก็ตาม ยังมีเรื่องเกี่ยวกับชีวิตหรืออาจจะเรียกว่าเป็นกระบวนทัศน์ใหญ่ที่จำเป็นจะ ต้องเรียนรู้ แล้วช่วยกันประคับประคอง คือการประชุม Noetic Science ที่เดวิด สปีแลนส์มาเล่าให้ฟัง เขาบอกว่าเมื่อประชุมไปแล้วคำขวัญสุดท้ายของการประชุมออกมาอย่างนี้ว่า เราไม่ได้เป็นศัตรูกับกระบวนทัศน์เก่า เราต้องดูแลและช่วยกันประคับประคองคือเขาใช้คำว่า Hospice กระบวนทัศน์เก่าคือมันกำลังเสื่อมและกำลังตาย เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาให้กับมนุษยชาติได้ แต่ว่ามันก็ควรจะจากไปด้วยดี และเราจะต้อง Midwife คือทำคลอดกระบวนทัศน์ใหม่ เหมือนกับมีชีวิตอันใหม่ขึ้นมา ตรงนี้เป็นประเด็นที่ผมคิดว่าเป็นประเด็นแรกคือเรื่องทัศนะต่อความตาย ซึ่งไปสัมพันธ์กับเรื่องทัศนะต่อชีวิต ต่อสังคม ต่อความดีความงาม และความจริงของมนุษย์ จึงเป็นเรื่องใหญ่มากที่เราจำเป็นจะต้องเรียนรู้

          การเรียนรู้เกิดขึ้นในบริบทสองอันที่ผมอยากจะชวน ให้พวกเราคิด อาจจะไม่ครบแต่ว่าผมคิดว่าสองอันนี้สำคัญ อันแรกก็คือมันเกิดขึ้นในบริบทที่การแพทย์แผนปัจจุบันมีทัศนะการมองชีวิตแบบ หนึ่งได้เข้ามากำหนดให้ความตายเป็นไปในบางลักษณะ ซึ่งอาจจะมีในด้านที่ดีแต่อาจจะมีข้อจำกัดด้วย ภารกิจด้านหนึ่งของเราก็คือจะต้องรู้เท่าทันว่าวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ ได้นำเสนอชุดความคิดเกี่ยวกับความตายอะไร มีปัญหา จุดอ่อนจุดแข็งตรงไหนบ้าง ผมคิดว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นใหญ่ถ้าเราย้อนกลับไปดูในประวัติศาสตร์ของ ระบบการแพทย์ หัวใจของมันอยู่ที่ระบบการดูแลรักษาโรคที่เรียกว่าโรงพยาบาล พัฒนาการของโรงพยาบาลที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดจากทัศนะการมองโลกมองชีวิตแบบที่เราคิดว่ามันน่าจะเป็น มันเกิดจากทฤษฎีเชื้อโรคในโรงพยาบาล

          ฉะนั้นวิธีการก็คือเอาคนป่วยออกจากชุมชนไป เพราะว่าถ้าอยู่ในชุมชนก็จะเพราะโรค แล้วไปรักษาให้หาย ค่อยกลับมาที่ชุมชน เพื่อที่จะมีชีวิตปกติธรรมดาในชุมชน เมื่อเราเอาโมเดลแบบนี้ไปครอบปัญหาสุขภาพแบบอื่น ๆ จึงไม่ค่อยได้ผล ยกตัวอย่างเช่นไปครอบเรื่องโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน มันไม่ได้ผลแล้ว เช่นโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวานต้องไปดูความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของ ชาวบ้าน ในเรื่องกิน เรื่องออกกำลังกาย ว่าเป็นอย่างไร มีพฤติกรรมสุขภาพอย่างไร เกี่ยวโยงกับเศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรมทั้งหมด แต่ตัวโรงพยาบาลแยกตัวเองออกไปจากวิถีของชุมชน วิถีชีวิตของชาวบ้าน แยกไปอยู่ต่างหาก เป็นอิสระ จึงจัดการกับโรคประเภทที่ไม่เป็นแบบโรคติดเชื้อไม่ได้ โรคติดเชื้อแบบโบราณด้วย ส่วนโรคติดเชื้อแบบใหม่ ๆ โรงพยาบาลก็รับมือไม่ได้อีก อย่างเช่นโรคซาร์ส แล้วยังมาจัดการกับเรื่องความตายด้วยแล้ว ยิ่งโมเดลของโรงพยาบาลด้วยแล้วยิ่งจัดการได้ยาก เพราะว่ากระบวนการรักษาโรคแบบเชื้อโรคจะเป็นกระบวนการรักษาแบบให้ญาติออกไป หมอจะตรวจ ญาติต้องออกไป หมอจะทำอะไร ญาติต้องออกไป เพราะใช้ Sterile technique กรณีคนใกล้จะตายไปอยู่กับหมอก็ใช้กระบวนการเดียวกันอีก ก็คือกันให้ญาติออก เมื่อไม่มีญาติก็ไม่มีบรรยากาศของการตายแบบที่มีความเป็นมนุษย์เหลืออยู่ การแพทย์สมัยใหม่ได้เข้ามาเป็นกระแสหลักของปัจจุบันและเข้ามาจัดการกับความ ตายอย่างมาก เปอร์เซ็นต์ของการตายที่โรงพยาบาลมีมากขึ้นเรื่อย ๆ กระบวนการความตายจึงถูกทำให้ห่างไกลวิถีชีวิตของคนธรรมดาออกไป คนตายที่บ้านมีน้อยลงไปจนแทบจะไม่ได้เห็นกันแล้ว

          กรณีคุณสุภาพร เราจะเห็นได้ชัดว่าความตายของคุณสุภาพรดำเนินไปพร้อมกับชุมชน ผู้คนแวดล้อมของคุณสุภาพรมีอยู่รอบข้างหมดเลย คือ คนได้ไปเยี่ยม ไปหา ไปดูแล ไปนวดให้ เข้าออกช่วยกันดูแลหมุนเวียนกันอยู่อย่างนั้น เกิดการเรียนรู้ระหว่างกัน แสดงความห่วงใยระหว่างกัน ซึ่งตัวแบบนี้จะเป็นอีกแบบหนึ่งไปเลย แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงกับการตายในสถาบันการแพทย์ การตายในสถาบันการแพทย์จะเน้น sensitization คือทำให้มันถูกสุขลักษณะ การตายมันต้องถูกสุขลักษณะ สะอาดไม่มีกลิ่น ไม่มีเสียง ไม่มีสี คือเน้นความสะอาดเข้าไว้ หรือว่าเห็นการตายเป็นศัตรูก็จะโถมลงไป เห็นการตายไม่มีมิติอื่น ๆ นอกจากมิติทางชีววิทยา จะไม่ใส่ใจแล้วว่าคนตายต้องการอะไร ญาติต้องการอะไร หรือว่าจะจัดการอย่างไร นี้เป็นบริบทหนึ่งที่ว่าวิทยาการแพทย์สมัยใหม่มาแรง ทำให้ตัวแบบแผนการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่เป็นประเพณีปฏิบัติของไทยเอง อ่อนกำลังลงอย่างมาก

          ในทุกวัฒนธรรมจะมีกระบวนการที่เป็นกระบวนการในทาง สังคม ในทุกช่วงชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่เกิด โตขึ้นมาก็มีพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น โกนจุก ไปเป็นวัยรุ่นเข้าสู่วัยเบญจเพศออกบวช จะเข้าสู่การตายก็จะมีกระบวนการทางวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่กระบวนการเหล่านี้หมดแรงไปมากแล้ว มีคนหนึ่งที่ผมรู้จัก ลูกของเขาตายด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ลูกเขาเสียชีวิตจากเขาไปแล้ว 7 ปี เขายังปูผ้าให้นอน เรียกลูกเข้านอนน้ำตาไหลทุกคืน ร้องไห้ทุกคืน ปูผ้าให้ลูก เป็นลูกคนสุดท้องของเขา เขารักมาก ลูกตายไปแล้ว 7 ปี แต่ไม่มีอะไรช่วยให้เขาก้าวพ้นตรงนั้นไปได้ เป็นสิ่งที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า mourning ritual พิธีกรรม เช่น การไว้ทุกข์ต่าง ๆ กระบวนการที่เกี่ยวกับการจัดการหลังความตาย หรือแม้แต่ก่อนตาย การสวดโพชฌงค์ล้วนเป็นการเตรียมให้พร้อม มีการชี้ทางให้ คือคนจะตายจะมีคนมาช่วยชี้ทางไปให้ดี ตั้งแต่ก่อนตาย ในระหว่างตาย จนกระทั่งหลังตาย มีพิธีกรรมที่เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงและค้ำจุนให้คนผ่านภาวะของความสูญเสีย โศกเศร้าอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ไปได้ มันหมดไปเช่นเดียวกันกับตัวพิธีกรรมเหล่านี้ ส่วนที่เหลืออยู่ก็เป็นพิธีกรรมที่ไม่มีความหมาย ทางมนุษยวิทยาเราเรียกว่าเป็น anti ritual เป็นพิธีกรรมว่าง ๆ เปล่า ๆ ที่ไม่มีความหมายอะไรอย่างเช่นไปสวดศพ

          เราไปงานศพ ไม่ได้บอกอะไรเราเท่าไร นั่งพนมมืออยู่ ภาวนาอย่างเดียว บางทีกำลังสวดอยู่ บรรยากาศที่ญาติคนตายกำลังเศร้าโศกเสียใจ พระกำลังสวดอยู่ โทรศัพท์มือถือดังเป็นเพลง Happy Birthday(แฮบปี้เบิร์ดเดย์) หรือไปนั่งสวดอยู่ก็ภาวนาว่าให้จบเร็ว ๆ อยากจะรีบกลับบ้าน พิธีกรรมเหล่านี้กำลังเสื่อมลง คือในขณะที่วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ซึ่งไม่มีมิติทางสังคมวัฒนธรรม ไม่สนใจมิติทางจิตวิญญาณ กำลังแรงและเข้ามาจัดการกับชีวิตของเรามาก ตัววิธีคิดแบบเดิมก็ขาดเครื่องมือในการเข้ามามีบทบาทในชีวิตของเรา พิธีกรรมเกี่ยวกับการตายก็หมดความหมายไป ซึ่งต้องมีคนที่จะเข้ามาช่วยคิดช่วยสร้างขึ้นใหม่

          ผมคิดว่าส่วนหนึ่งที่เราทำพิธีกรรมไว้อาลัยคุณสุภาพร ขึ้นมาในวันนี้คือการสร้างประเพณีปฏิบัติบางอย่างขึ้นมาด้วยเช่นเดียวกัน เป็นการทำกิจกรรมบางอย่างในโอกาสคนที่เรารักและเคยผูกพันเสียชีวิตไป คุณสุภาพรได้อุทิศชีวิตของตัวเองเพื่อการเรียนรู้ในลักษณะนี้มาก ผมคิดว่าหากเราได้ช่วยกันคิดในเรื่องเหล่านี้ไม่เพียงแต่เรื่องความตาย เรื่องโรคภัยไข้เจ็บเท่านั้น แต่คิดไปถึงเรื่องที่เป็นรากฐานของวิธีคิดใหญ่ของเราเกี่ยวกับชีวิต เกี่ยวกับธรรมชาติ ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่คุณสุภาพรได้สอนเราไว้คือจิตใจที่มีความอ่อนโยนต่อ ชีวิตและอ่อนน้อมต่อธรรมชาติ เป็นสิ่งที่เราอาจจะถือได้ว่าเราได้เรียนรู้จากชีวิตของคุณสุภาพร

 

พระมหาเจิม :

          มีความรู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสมาแสดงความคิดเห็นในงานรำลึกที่เป็นกิจกรรม สำคัญของบุคคลสำคัญคนหนึ่งที่น่าจดจำ และเรียนรู้วิถีชีวิตของเขาในช่วงที่เขาดำรงชีวิตอยู่ แม้กระทั่งช่วงสุดท้ายของการเจ็บป่วย อาตมาได้มีโอกาสเรียนรู้จากคุณสุภาพรจากการเข้าร่วมกิจกรรมหลาย ๆ ครั้ง ที่อาศรมวงศ์สนิท กิจกรรมธรรมยาตรา และกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นกิจกรรมภาคประชาชน ที่ ๆ มักจะพบเห็นคุณสุภาพรเป็นระยะ ๆ ยืนอยู่เคียงข้างของความถูกต้องและความดีงาม และมีจุดยืนในการดำเนินชีวิตที่อิงกับทางพุทธธรรมตามขนบธรรมเนียมประเพณีของ คนไทย ซึ่งถือว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีการดำเนินชีวิตที่ไม่มีช่องว่างระหว่าง วัฒนธรรมเก่ากับใหม่

          กิจกรรมวันนี้เป็นการจัดน้อมรำลึกและมีจุดประสงค์ ที่จะเรียนรู้ถึงความตาย พร้อมทั้งมีแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของความตายและการดูแลบุคคลใกล้ ตาย ในมุมมองของชาวพุทธเมื่อพูดถึงความตาย ในพุทธศาสนาจะไม่พูดด้านเดียว จะมองในลักษณะที่ว่า ชีวิตและความตายเป็นของคู่กันไป ฉะนั้นกิจกรรมทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับความตายก็จะโยงกับการดำรงชีวิตด้วย ทั้งผู้ที่ตายแล้วและผู้ที่ยังดำรงชีวิตอยู่ ความตายในทัศนะของพุทธศาสนามองในสองระดับคือระดับบุคคลธรรมดาสามัญทั่วไป กับระดับที่เป็นบุคคลพิเศษ เช่น พระอริยะ เป็นต้น

          ในระดับบุคคลธรรมดา ความตายจะมองในลักษณะของการสิ้นไปของชีวิต เหมือนกับเราเห็นอะไรก็ตามที่เคยมีชีวิตและไม่มีชีวิต บางทีเราเรียกความตายว่าเป็นศพ อะไรก็ตามที่เราเคยมีใช้อยู่ไม่ได้ใช้ก็เป็นซาก ชีวิตในเวลาที่มีคนเข้ามาครองมาใช้อยู่แล้วไม่ได้ใช้ก็กลายเป็นซากศพอะไร ทำนองนั้น แสดงว่าความตายเกิดขึ้นจากการที่มีส่วนที่เป็นการดำรงอยู่เสื่อมสิ้นไปตาม ลักษณะเหตุปัจจัยที่มีการสิ้นไป แต่จุดสำคัญในทางพุทธศาสนาให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องของการตายอยู่ในระดับ ที่สูงค่อนข้างจะมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือในภาคของชีวิตก่อนที่จะตาย คือการดำรงชีวิตอยู่ ช่วงที่คนจะตายหรือเวลาใกล้ที่จะตาย ผลของการดำเนินชีวิตในช่วงที่ผ่านมาตลอดชีวิตในทางพุทธศาสนาถือว่าเป็นการ สะสมกรรม ทั้งทางกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ทั้งกรรมเชิงรูปและนามเป็นการสะสมไว้ ถ้าคนที่ใกล้จะตายมีภาวะที่มีแรงมากในเชิงของความไม่ดี หรือที่เรียกว่ากรรมไม่ดีหรือว่าอกุศลกรรมนี้กำลังแรง ภาวะนั้นก็จะปรากฏขึ้นในช่วงที่คนมีประสบภาวะที่อ่อนแอ เช่นเวลาเจ็บป่วยหรือเวลาใกล้ตาย ในทางพุทธศาสนาก็แนะนำให้หาทางแก้ เพราะเชื่อว่าก่อนตายให้ความสำคัญกับการหาทางทำให้คนมีจิตที่บริสุทธิ์ ก่อนวาระจิตสุดท้ายที่จะดับไป คือมีความเชื่ออยู่ว่าก่อนที่จะดับขอให้ทำอะไรก็ตามที่ทำให้จิตผู้ที่ใกล้จะ ตายบริสุทธิ์ มีได้หลาย ๆ ทางในกรณีที่เป็นญาติหรือเป็นผู้ดูแลผู้ใกล้ตายที่อยู่ใกล้ ในธรรมเนียมปฏิบัติที่เราเคยชินกันมาในประเพณีของไทยก็จะมีกิจกรรมตามความ เชื่อ

          หลักใหญ่อยู่ในความเชื่อที่ว่าจิตที่เศร้าหมองจะนำ ไปสู่ภพภูมิที่ไม่ดี ส่วนจิตที่บริสุทธิ์จะนำไปสู่ภพภูมิที่ดี ฉะนั้นในวาระจิตที่ก่อนใกล้ตายจะให้ความสำคัญอย่างยิ่งว่าเราจะต้องหาทางทุก วิถีทาง ทางหนึ่งก็คือเรื่องของการที่จะประมวลความดีงาม หรือสิ่งดีงามที่ตลอดชีวิตของบุคคลคนนั้นได้ดำเนินมาอยู่นั้นให้น้อมรำลึก ถึงและให้รำลึกถึงในส่วนที่ดีคือพยายามดึงส่วนที่ดีขึ้นมาให้มีพลังเหนือ ความไม่ดี ก่อนที่ความไม่ดีจะแสดงการปรากฏออกมา และมีอำนาจเหนือกว่า ถ้าจิตที่ดับในขณะนั้นจะถือว่าเป็นจิตที่บริสุทธิ์ แม้คนจะมีกิจกรรมหรือทำกรรมหรือทำอะไรต่าง ๆ มาไม่ดี ในทางพุทธศาสนาถือว่าในช่วงวาระสุดท้าย ญาติ หรือผู้ใกล้ชิด หรือกัลยาณมิตร สามารถที่จะช่วยได้โดยการพยายามที่จะนำให้เขาน้อมรำลึกถึงสิ่งที่ดีก่อน หรืออะไรก็ตามที่จะเป็นสิ่งที่เขาเคารพนับถือเช่น ถ้าเป็นชาวพุทธก็คือของพระรัตนตรัย หรือการน้อมรำลึกถึงคำที่ดีมีการบอกทาง บอกเรื่องของความสำคัญ เช่น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือพระรัตนตรัย หรืออะไรต่าง ๆ ที่เป็นความดี อันนี้ถือว่าวาระจิตในช่วงที่จิตมีที่เกาะเหนี่ยวก่อนที่จะสิ้นใจ ถือว่ามีอารมณ์อยู่ในกุศล หรือว่าเป็นอารมณ์ที่อยู่ในความบริสุทธิ์ เมื่อสิ้นชีวิตไปหรือก่อนสิ้นชีวิตก็จะตายอย่างสงบ เรียกว่าสิ้นชีวิตอย่างสงบภายใต้อิทธิพลของความดีงามที่ตนเองมีอยู่ อันนี้ก็ถือว่าเรียกว่าตายดี ถ้าพูดกันเป็นภาษาทั่ว ๆ ไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่เชื่อว่าจิตบริสุทธิ์ที่เรียกว่า จิตเตสังขิฤทธิ์เถ สุคติปติสังขาร จิตบริสุทธิ์ก็จะไปสู่สิ่งที่ดี ไปสู่ภพภูมิที่ดี หรือตายอย่างสงบ

          แต่ในขณะเดียวกันจิตที่ไม่บริสุทธิ์ก็จะไปสู่ภาวะ ที่ไม่ดี อันนี้เป็นความเชื่อพื้นฐาน ถ้ามองจากปัจจุบันอย่างที่คุณหมอโกมาตรกล่าวไปแล้วในเรื่องของการตายของคน ไทยในปัจจุบัน ไม่โชคดีเหมือนคุณสุภาพรที่ตายไปภายในบริบทสิ่งแวดล้อมของญาติมิตรที่ได้ เข้ามาเรียนรู้เรื่องการเจ็บป่วย เรื่องของการตาย แต่หลายคนหลายที่ก็ตายอยู่ในสภาพที่โดดเดี่ยว โดยไม่มีการช่วยเหลือหรือส่ง หรือไม่เช่นนั้นก็ตายในวาระที่ทรมานจากการที่ญาติเองก็หวังดีอยากให้ชีวิต นี้รอดต่อไป ทั้ง ๆ ที่เขาจะไปแล้วก็พยายามหน่วงเหนี่ยวดึงจนกระทั่งเป็นการรบกวนต่อผู้ที่กำลัง จะไป จึงเป็นเรื่องที่เราน่าจะได้เรียนรู้เรื่องของชีวิตก่อนที่จะตาย และการปฏิบัติต่อบุคคลที่ใกล้จะตาย รวมทั้งสิ่งที่คำนึงถึงอนาคตต่อด้วยว่าเราจะดำรงอยู่อย่างไร

          มีประเด็นที่น่าสนใจในพิธีกรรมในสาระสำคัญในทาง พุทธศาสนานี้คือ ขณะนี้ในวัฒนธรรมสงฆ์ระบบที่เราเผชิญหน้ากันอยู่ระหว่างวัฒนธรรมเดิมที่เป็น รากฐานที่เราดำรงอยู่อย่างมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันในหลายมิติ ตามระบบวิถีชีวิตวัฒนธรรมแนวตะวันออก เผชิญกับแนวใหม่ทำให้ไม่เฉพาะแต่เรื่องของชาวบ้านธรรมดา แม้กระทั่งพระที่เป็นผู้ทำกิจกรรมหลาย ๆ ส่วนยังขาดความเข้าใจในสาระสำคัญของพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย ถ้าเราดูตามปริศนาธรรม เราจะเรียนรู้จากสาระของความตายในทางพุทธศาสนาจะผูกไว้ทุกขั้นตอนของชีวิต ตั้งแต่ป่วยไปจนกระทั่งว่าเราเสียชีวิตไป จะผูกคำคมที่เป็นปริศนาธรรมให้เราถอดรหัสอยู่เสมอ ๆ

          ตัวอย่างในกรณีของเมื่อตายแล้วกิจกรรมต่าง ๆ เรื่องของความตาย คนที่ตายที่เรียกว่าเป็นศพ พิธีทุกขั้นตอนที่สำคัญ ๆ ไม่ว่าจะเรื่องของการตราสังข์ก็ดี เรื่องของการทำพิธีสามหาบก็ดี พิธีสวดศพ พิธีอะไรต่าง ๆ ก็ดี ล้วนแต่มีความหมาย เนื่องจากว่าเราใช้ภาษา ใช้สัญลักษณ์ที่อันมีช่องว่างในการที่จะเข้าใจกับคนร่วมสมัย รวมทั้งอาจจะรวมถึงพระเองก็ยังมีช่องว่างตรงนี้อยู่ด้วย ก็ทำให้เราเสียโอกาสในการที่จะเรียนรู้ ตราสังข์ถ้าเราดูให้ดีทำไมคนที่ตายแล้วต้องไปใส่เหมือนกับมี…เขาเรียกว่า เหมือนกับมีเน็คไทไปรัดคอ รัดเท้า อะไรต่าง ๆ ถ้าเราตามไปดูในสาระสำคัญในนั้นจะเป็นการบอก การสอนบุคคลที่ยังอยู่มากกว่า คือบอกว่าการที่รัดคอ ท่านบอกว่าในภาษาบาลีท่านใช้คำว่าพุทธโตคีรีคือมนุษย์เกิดมามีห่วง โบสถ์นี้ก็เป็นห่วงคอ ทะนังปาเท ทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ ก็รัดเท้าอยู่ พระริยาหัตเถในคู่ครองนั้นก็มีเป็นห่วงอยู่ แสดงให้เห็นสัจธรรมว่าวิถีชีวิตทั่ว ๆ ไปมันมีสิ่งที่มันเป็นจุดเชื่อมโยงดึงรัดกันอยู่ แม้กระทั่งพิธีเรื่องของการเผาการอะไรต่าง ๆ อันมีวิธี.... ถ้าต่างจังหวัดจะเป็นได้ชัดเจน จะทำในเรื่องของการแปรสภาพร่างกายจากเถ้าของคนที่เผาแล้วก็จะมีพิธีต่าง ๆ ที่บอกได้ตรงนั้น เช่นทำพิธีเอาร่าง เอาเถ้ามาปั้นเป็นรูปคน หันหัวไปทางตะวันตก แล้วนิมนต์พระมาบังสกุล เป็นบังสกุลตาย หันหัวไปทางตะวันตก บอกว่าคนเกิดมาแล้วต้องตาย แล้วบังสกุลว่าชีวิตร่างกายเป็นของไม่แน่นอน หลังจากนั้นก็ทำกลับท่าเดิมหันหัวไปทางตะวันออกก็เป็นการแสดงให้เห็นความ เป็นอยู่ว่าบุคคลที่เกิดมาแล้ว ถ้ามีเหตุมีปัจจัยที่จะดำรงอยู่ต่อไปก็จะสามารถไปเกิดได้ ก็หันหัวทางตะวันออก และก็ให้พระมาบังสกุล อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ทุกอย่างที่ทำกิจกรรม

          แม้กระทั่งพิธีกรรมสวดในทางศาสนา สวดอภิธรรม ที่จริงแล้วก็เป็นเรื่องที่โดยสาระสำคัญไม่ใช่เป็นการสวดให้ศพฟัง แต่เป็นการสวดให้กับคนที่ยังมีชีวิตอยู่นี้ฟัง เพื่อที่จะได้มาร่วมกันเรียนรู้ชีวิตร่วมกัน ปลงสังขาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพุ่งเป้าไปที่พระสงฆ์ได้เข้ามาชักผ้าบังสกุลก็ดี หรือมาเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของชีวิต การเผาศพในกรณีของท่านอาจารย์พุทธทาสเป็นการรักษาครรลองของวัฒนธรรมไทยที่ เรามีมาแต่เดิม คือเรานิยมเผาศพแบบเปลือยหรือเผาศพกลางแจ้ง ในการเผาศพกลางแจ้ง เป็นการนิมนต์พระและคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้มาเรียนรู้วิถีชีวิตการ เปลี่ยนแปลงของชีวิตว่ามาถึงจุดหนึ่งจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะต้องมีการยอมรับหลักธรรมนิยาม ที่มีการสวดกันในช่วงที่มีการทำบุญ 50 วัน 100 วันก็ดี สาระสำคัญก็คือสิ่งทั้งหลายทั้งปวง สิ่งที่พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมา กฎของธรรมชาติเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าเป็นเพียงผู้ค้นพบโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือกฎของไตรลักษณ์ คือความเป็นอนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา อันนี้เป็นสาระสำคัญของหลักในธรรมนิยาม และหมวดอื่น ๆ ที่นำมาสวดก็ล้วนแต่มีสาระในทำนองนี้ เป็นการบ่งบอกให้มนุษย์ได้เรียนรู้จากภาวะของความตาย ซากศพหรือการเปลี่ยนแปลงของชีวิต เพื่อให้คนที่ดำรงชีวิตอยู่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ที่สำคัญก็คือจะได้ไม่มีความประมาทในการดำรงชีวิต จะได้ดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณค่า ที่จริงถ้าในกรณีของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ พระอริยะ ปัจจุบันมีการเสริมอะไรต่าง ๆ ที่ทำให้เรามองเห็นเรื่องวาระสุดท้ายของความตายและการตายอย่างไร และมีขั้นตอนเป็นอย่างไร

 

คุณสุรภี :

          ไม่เคยคิดเลยว่าสักวันหนึ่งจะต้องมาคุยเรื่องความตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นความตายของสุภาพร ซึ่งเราเคยเห็นพรเข้มแข็งสดใส และคิดว่าพรจะอยู่อย่างนี้ไปตลอด คืออยู่กับมะเร็งไปตลอด ยังสดชื่นไปตลอดเพราะเมื่อก่อนก็เหมือนอย่างที่คุณหมอโกมาตรพูด คือความตายเป็นเรื่องไกลตัว หลายคนเดี๋ยวนี้ไปตายที่โรงพยาบาล ไม่ได้ตายที่บ้าน เมื่อตายแล้วก็ไปวัดเลย ไม่ได้เอากลับมาไว้ที่บ้าน ซึ่งตามประสบการณ์เด็ก ๆ ถ้าญาติผู้ใหญ่ไม่สบายไปโรงพยาบาล พอใกล้เวลาเจ็บหนักหรือแพทย์รู้สึกทำอะไรไม่ได้มากก็จะมาอยู่ที่บ้านสัก 2 - 3 สัปดาห์ให้ญาติพี่น้องดูแล ตอนเราเด็ก ๆ ก็จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลง เห็นคนมาเยี่ยมเยียน มันก็เป็นความอบอุ่นชนิดหนึ่ง ซึ่งตอนเป็นเด็กยังไม่รู้สึกถึงความสูญเสีย พอเราโตขึ้นความรู้สึกเรื่องความตายก็ห่างไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งมาถึงความตายของสุภาพรจึงได้มารู้สึกว่าความตายกลับเข้ามาใกล้ตัว อีกครั้งหนึ่ง

          ดิฉันรู้จักกับพร(สุภาพร)มา 19 ปี แต่ช่วงที่มาสนิทกันมากยิ่งขึ้นมา 12 ปีหลังมานี้ ในช่วงที่พรเป็นมะเร็ง เราได้มีการพูดคุยกันมากขึ้น แลกเปลี่ยนความรู้สึกลึก ๆ ภายในจิตใจร่วมกันมากขึ้น ใน 8-9 ปีแรก ในช่วงที่พรเป็นมะเร็ง พรก็ใช้ชีวิตปกติธรรมดา สดใสร่าเริงเหมือนคนอื่น ๆ ทำอะไรได้ทุกอย่างแต่ก็จะระวังในเรื่องของอาหาร ในเรื่องของการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทำสมาธิอย่างสม่ำเสมอ ระวังตัวเองไม่ให้เครียด เพราะพรบอกว่าการที่เป็นมะเร็ง สาเหตุหนึ่งมาจากความเครียดของพรเองทำให้เป็นมะเร็ง ซึ่งในช่วงนั้นคือก่อนที่จะเป็นมะเร็ง พรเองก็เป็นคนที่สนใจธรรมอยู่แล้ว พรเป็นคนนั่งสมาธิ รับประทานมังสวิรัติ จากการที่พรเป็นคนรับประทานมังสวิรัตแล้วมาเป็นมะเร็ง เป็นสิ่งที่พรต้องบอกว่ายอมรับได้ยาก เพราะรู้สึกว่าตัวเองดูแลตัวเองดี เนื้อก็ไม่กิน ทานแต่ผัก ยังมาเป็นมะเร็งได้อย่างไร ฉะนั้นในช่วงแรกเป็นช่วงที่ยอมรับเรื่องนี้ได้ค่อนข้างยาก

          อย่างไรก็ตามเนื่องจากเป็นคนสนใจเรื่องสมาธิ สนใจเรื่องธรรมมาก่อน ฉะนั้นสิ่งที่จะช่วยฟื้นฟูจิตใจของพรได้ในช่วง 8-9 ปีแรก คือความหวังจากธรรม พรต้องการที่จะฟื้นฟูจิตใจของตัวเองก่อน และหวังว่าการฟื้นฟูจิตใจของตัวเองจะช่วยฟื้นฟูกายในภายหลัง นั่นเป็นทัศนะของพรในช่วงต้น ๆ ระยะแรก ๆ ตอนที่เป็นมะเร็ง หลายปีผ่านไปความลึกซึ้งและความเข้าใจในธรรมลุ่มลึกขึ้นเรื่อย ๆ พรเป็นตัวอย่างของพุทธศาสนิกชนที่ดีมาก เนื่องจากเราหลาย ๆ คนส่วนใหญ่ศึกษาธรรมจากการอ่านหนังสือ เข้าใจแต่ไม่ได้ปฏิบัติ แต่พรเป็นคนที่อ่านและก็จะทดลองทำ และพิสูจน์ว่ามันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ หรือเปล่า

          เหตุผลหนึ่งที่พรทำอย่างนี้อาจจะเนื่องจากว่าพร เป็นมะเร็งก็ได้ แต่ว่าพรเป็นตัวอย่างของการพิสูจน์หลักธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในหลาย ๆ บท จนในที่สุด หลังจากช่วง 5-6 ปีสุดท้ายก่อนที่พรจะเสียชีวิต พรร่วมกับเพื่อน ๆ คือดิฉัน และคุณจอห์น แมคคอลแนล คิดกันว่าน่าจะมาเปิดอบรมเรื่องธรรมกับการเยียวยา โดยใช้ประสบการณ์ของพรในการใช้ธรรมเข้ามาคลี่คลายความกลัว ความวิตกกังวลของตัวเอง ซึ่งในเรื่องแรกที่พรจัดการก่อนตอนที่พรเป็นมะเร็งก็คือการจัดการกับความ กลัว จริง ๆ แล้วคนที่เป็นมะเร็งทุกคนมีความกลัวคือกลัวตาย ฉะนั้น จะจัดการกับความกลัวอย่างไร จากประสบการณ์ของพรที่ใช้ธรรมมาจัดการกับความกลัว เวลาเราเปิดอบรมธรรมกับการเยียวยา พรจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเรื่องเหล่านี้มาก ซึ่งจะไม่พูดในรายละเอียดที่นี้

          อีกอันหนึ่งซึ่งคิดว่าพรน่าจะเป็นคนแรก ๆ ที่นำเอามรรคแปดมาคิดที่จะปฏิบัติในบริบทของคนที่เป็นมะเร็ง คือในบริบทของตัวเองว่าพรควรจะคิดถึงสัมมาทิฏฐิในลักษณะไหน ควรจะคิดถึงสัมมากัมมันตะในลักษณะไหนในบริบทของคนที่เป็นมะเร็ง เพราะมรรคแปดเป็นเรื่องกว้าง ๆ คือเราแต่ละคนสามารถที่จะเลี้ยงชีพชอบ การงานชอบ แต่แค่นั้นไม่พอ เราจะต้องปฏิบัติอย่างไร คิดว่าพรเป็นคนแรก ๆ ที่พยายามคิดเรื่องนี้และก็ปฏิบัติตัวไปตามนั้น เนื่องจากพรเป็นคนปฏิบัติ เมื่อศึกษาธรรมข้อไหนแล้วนำมาปฏิบัติทำให้พรลึกซึ้งและศรัทธาพระธรรมมากขึ้น เรื่อย ๆ จนกระทั่งล่าสุดหลังจากผ่านไป 8-9 ปี ช่วงระยะ 2-3 ปีสุดท้าย เมื่อมะเร็งกลับมาเยือนใหม่ คราวนี้ทัศนะของพรเริ่มค่อย ๆ เปลี่ยนไป ในครั้งแรกพรคิดว่าใช้ธรรมเพื่อการเยียวยาเพื่อสร้างสุขภาวะให้แก่ตัวเอง แต่ภายหลังเมื่อมะเร็งกลับมาใหม่ มาเริ่มต้นของการเยียวยาเพื่อเข้าสู่ความตาย เป็นการเตรียมตัว เป็นช่วงที่พรเริ่มคิดว่าคราวนี้อาการที่กลับมาค่อนข้างที่จะรุนแรงมากกว่า ที่เคยเป็น ลักษณะอาการบางอย่างแปลก ๆ ไป ไม่เคยมีอาการลักษณะเช่นนี้มาก่อน ในขณะเดียวกันพรก็ไม่ประมาท การดูแลของพรไม่ใช่ว่าจะปฏิเสธหมอแผนปัจจุบัน ถึงแม้พรจะใช้วิธีธรรมชาติบำบัดเป็นส่วนใหญ่ แต่ทุกอย่างก่อนที่จะทำอะไรก็จะปรึกษาขอความเห็นจากหลาย ๆ ด้านรวมทั้งหมอแผนปัจจุบัน ฉะนั้นจริง ๆ แล้วในทัศนะการรักษาของพรไม่ใช่ต่อต้านการแพทย์แผนปัจจุบัน แต่เป็นเพราะว่าธรรมชาติของตัวพรเองมีความรู้สึกอบอุ่นใจและสบายใจมากกว่า จึงขอที่จะใช้วิธีการรักษาแบบธรรมชาติ ในขณะเดียวกันลักษณะบางอย่างที่จำเป็นต้องปรึกษาหมอแผนปัจจุบัน พรก็ปรึกษาหมอเพื่อที่จะมีข้อมูลให้เพียงพอที่ตัวเองสามารถดูแลตัวเองได้

          ในช่วงที่ 2-3 ปีที่มะเร็งกลับมาใหม่ เนื่องจากพรเป็นคนที่ใฝ่รู้ ฉะนั้นจะอ่านทุกเรื่อง อะไรที่เกี่ยวข้องกับการรักษาดูแลตัวเอง เมื่อไม่เข้าใจจะถาม ฉะนั้นพรจะมีที่ปรึกษามากมายในแต่ละเรื่องของตนเอง มาถึงเรื่องนี้พรก็โทรคุยกับคุณสุพจน์ อัศวพันธ์ธนกุล (เป็นผู้สนใจพุทธศาสนาอย่างแตกฉานท่านหนึ่ง) คุณสุพจน์บอกพรว่าถ้าอย่างนั้นถึงเวลาที่พรจะต้องทำมรณสติแล้ว คุณสุพจน์ก็ส่งใบเป็นสิบข้อของมรณสติมาให้ นี้คือเมื่อสิบปีที่แล้ว ในที่นี้จะขออนุญาตอ่าน บางคนอาจจะทราบเรื่องนี้แล้ว มรณสติสิบข้อที่พรภาวนาทุกวันก่อนนอนเมื่อสองปีที่แล้ว นอกจากท่องเองก็ยังส่งแจกเพื่อน ๆ ทุกคน

          หนึ่ง ความตายเป็นสิ่งแน่นอน สอง ความตายนั้นไม่แน่นอนว่าจะมาถึงเมื่อไร สาม ความตายเวลาจะมา ไม่เคยส่งสัญญาณเตือนมาก่อน สี่ เวลาที่เราคิดว่าความตายจะมาได้ มันก็มาแล้ว ห้า มีปัจจัยมากมายเหลือเกินที่ทำให้ร่างกายแตกสลายได้ หก ปัจจัยที่ให้ร่างกายนี้ดำรงอยู่ ก็ทำให้ร่างกายนี้แตกสลายได้ เจ็ด ร่างกายนี้อ่อนแอพร้อมเสมอที่จะแตกสลาย แปด ทุกขณะที่ผ่านไปความตายก็ล่นเข้ามา เก้า ชีวิตนี้สั้นนักเหมือนน้ำน้อยในบ่อโคลน สิบ มีแต่กุศลธรรมเท่านั้นที่จะตามติดตัวไปเมื่อร่างกายนี้แตกสลายแล้ว นี่คือสิบข้อที่ภาวนา คิดถึงทุกคืนเป็นเวลา 2 ปี และยังแจกเพื่อน ๆ ทุกคนให้เตรียมตัวไว้เพราะว่าระหว่างความเป็นเพื่อน เราก็พูดติดตลกกันหลายครั้ง เนื่องจากว่าช่วงที่พรรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็งใหม่ ๆ จะมีเพื่อน ๆ พี่ ๆ โทรมาให้กำลังใจพรมากว่า สู้ คือหลายคนโทรมาให้กำลังใจอย่างนี้ตลอด แต่ปรากฏว่าเวลาผ่านไป หลาย ๆ คนที่เคยให้กำลังใจพร จากไปก่อนพรหลายคน

          แล้วมีเหตุการณ์ที่เห็นได้ชัด (จำเดือนไม่ได้) ในปีนี้ ตอนนั้นลงไปเยี่ยมพรที่หาดใหญ่ พรยังแข็งแรงมีอาการมากแล้วแต่ว่ายังเดินเหินได้ มีรุ่นพี่คนหนึ่งทุกคนคงรู้จักคืออาจารย์เครือมาศ วุฒิการณ์ ซึ่งอยู่ทางภาคเหนือ โทรศัพท์มาหาพร ให้กำลังใจกับพรว่า “เดี๋ยวพี่จะแวะมาเยี่ยม พี่จะไปมาเลเซียแล้วพี่จะแวะมาหาสุภาพร” น้ำเสียงสดใสมาก หลังจากนั้นดิฉันก็กลับมาที่กรุงเทพฯ ได้ประมาณไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ เพื่อนก็โทรมาบอกว่า ทราบไหมอาจารย์เครือมาศเสียชีวิตแล้ว เพื่อนก็ยังไม่กล้าบอกพร เพราะไม่ทราบว่าพรจะตกใจหรือไม่ ช่วงนั้นอาการที่กลับมาใหม่ของพรเริ่มแสดงอาการแล้ว ทุกคนเริ่มรู้แล้ว ก็เลยโทรมาหาดิฉันแล้วให้ดิฉันเป็นคนบอก จึงโทรศัพท์ไปหาพรที่หาดใหญ่ ถามพรว่า พรยังท่องมรณสติอยู่ทุกวันหรือไม่ พรบอกว่าท่อง ก็เลยบอกว่าทำใจดี ๆ พี่ติ่ง (เครือมาศ) เสียแล้ว นี่เป็นจุดแรกเมื่อมานึกถึงตอนนี้ เป็นเรื่องที่ไม่อาจคาดคิดได้ พี่ติ่งแข็งแรง อยู่ดี ๆ ก็ปุบปับไปก่อนพร ซึ่งมีทีท่าว่าไม่ดีมาหลายครั้งแล้ว นี่คืออันหนึ่งที่อยากจะแสดงให้เห็นว่าตัวพรถึงแม้จะพยายามดูแลรักษาตัว เองอย่างไร แต่ก็อยู่ในบริบทของพุทธศาสนาในเรื่องความไม่เที่ยง พรคิดอยู่เสมอว่า ไม่ว่าจะรักษาเยียวยายังไงก็อยู่ในกรอบนี้ คือเตือนตัวเองอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้บางครั้งอาจจะลืมไปบ้างในฐานะเพื่อน เราก็ผลัดกันเตือน

          ในช่วงสองปีหลังตอนที่พรอาการเริ่มที่จะรุนแรง มากขึ้น ๆ ตอนนั้นได้มีโอกาสลงไปหาพรหลายครั้ง ในเวลานั้นจะมีหลายช่วง ซึ่งอาการจะพัฒนาไปถึงจุดหนึ่งแล้วก็หยุด เป็นเช่นนี้ไปเรื่อย (ขอไม่พูดในรายละเอียดของอาการว่าเป็นยังไงเนื่องจากเวลาน้อย) แต่เห็นแล้วก็น่าตกใจมาก มีอยู่ครั้งหนึ่งดิฉันเคยเห็นหน้าอกของพรในครั้งแรกที่พรเปิดให้ดู ตอนที่พรเป็นใหม่ ๆ เมื่อ 11-12 ปีที่แล้ว ตอนนั้นขนาดยังไม่มีอะไรยังไม่กล้าดู คือ ความกลัวของตัวเอง พยายามจะเป็นกำลังใจให้เพื่อน แต่จริง ๆ ในใจเรากลัวแม้ไม่ได้เป็นเองแต่ถ้าดูก็กลัว แต่ก็ฝืนใจเอ้า ! ดูก็ดู เพราะว่าพรก็เปิดให้ดูเพื่อที่จะให้เราประคบ ตอนนั้นใช้น้ำขิงประคบในช่วงแรก ๆ หลังจากทำไบอ็อกซี่มา พรไม่ได้เอาเนื้อออกแต่ทำไบอ็อกซี่เฉย ๆ แล้วก็ประคบ อันนั้นเป็นครั้งเดียวที่ได้เห็น หลังจากนั้นมาพรก็พยายามอยากจะให้ดูหลายครั้งแต่ใจเราไม่ค่อยกล้า คือบ่ายเบี่ยงอยู่เรื่อย ก็มีวิธีบ่ายเบี่ยง เพราะรู้สึกว่าถ้าดูแล้วไม่รู้จะทำใจยังไง ทำหน้ายังไง แต่ว่าวันนั้นช่วงครั้งแรกที่ได้ดูตอนนั้น ก้อนเริ่มออกมาด้านนอก จะเหมือนกับหัวปิงปองขนาดใหญ่ แล้วเป็นช่วงที่พรตัดสินใจจะไปอดอาหาร พรตั้งใจว่าจะอดสักสามสิบกว่าวัน ก็ลงไปอดกับพร คือดิฉันกับเพื่อนอีกคนหนึ่งเราจะอดเป็นเพื่อนพร เป็นกำลังใจให้พรคือผลัดกัน พอเพื่อนอีกคนหนึ่งกลับไปดิฉันก็ลงไปแทน ก็ไปอดเป็นเพื่อนพร ช่วงที่เราอดเราก็ไปที่สวนสายน้ำ(จ.สงขลา) กิจวัตรของเราก็คือเช้าตรู่เราก็ทำสมาธิ ทำสมาธิเสร็จไปเดินเล่นตามธรรมชาติ มันเป็นสวนยาง หลังจากนั้นมาดื่มน้ำ คือเราอดหารแบบดื่มน้ำผักเลย ดื่มน้ำผลไม้ เพื่อที่จะให้มีกำลังบ้าง ไม่ใช่อดโดยเด็ดขาด และหลังจากนั้นก็กลับมาพักหน่อยหนึ่งแล้วก็ทำสมาธิ แล้วเราก็จะเล่นโยคะกัน คือทำกิจกรรมง่าย ๆ แต่ว่าอยู่กันแบบเป็นเพื่อน

          แล้วพรก็บอกว่าดูหน้าอกฉันไหม ดิฉันก็บอกว่าเดี๋ยวค่อยดูก็ได้ใจยังไม่แข็งพอ แต่ในที่สุดก็คิดว่า..เออ..เดี๋ยวเย็นนี้จะดู คิดในใจ พอถึงตอนเย็นก็เลยบอกพรว่าไหนพรจะให้ดูหน้าอกใช่ไหม พรก็เปิดให้ดู เพราะว่าเมื่อก่อนดิฉันจะช่วยพรตำยาเพื่อจะโปะ แต่เมื่อก่อนช่วยตำอย่างเดียวพรโปะเอง ตอนหลังพรทำลำบากมากขึ้นก็ช่วยพรตำยาแล้วก็โปะให้พร เห็นครั้งแรกตกใจมาก คือตัวเองตกใจ แต่พยายามทำสีหน้าเฉย ๆ ไม่ตกใจ ก็ไม่เป็นไรนี่มันก็ไม่ได้ดูแย่อะไร แต่ว่าตอนที่ได้ดูเรารู้เลยว่าพรดีใจมากที่เราได้ดู เหมือนกับเราได้แบ่งปันความทุกข์ ได้แบ่งปันความเครียด ได้แบ่งปันบางสิ่งบางอย่าง เพราะว่าพรไม่เคยให้ใครดู แม่ก็ยังไม่เคยเห็น อาจจะมีเห็นบ้างมีคุณหมอสักคนหนึ่งกระมัง แล้วก็ไม่มีใครอีก ดิฉันรู้สึกว่าพรร่าเริงขึ้นนิดหนึ่ง คือรู้สึกว่าหลังจากที่เราได้แชร์ตรงนี้กับพรแล้วมันเป็นความผ่อนคลายอย่าง หนึ่งของพรด้วย เหมือนกับเราได้แชร์บางสิ่งบางอย่างที่ลึกซึ้งขึ้น

          ยังไงก็ตามหลังจากที่พรอดได้ 35 วันพรก็เลิก บอกว่าพอแล้ว พรคิดว่าร่างกายพรรับได้แค่นี้แล้ว พรไม่ทำอีกต่อไปมันเพียงพอแล้ว พรรู้แล้วว่าเป็นยังไง หลังจากนั้นเราก็กลับมาที่หาดใหญ่ คือหลังจากที่ไปอดในครั้งนั้นพรก็มีหมอ มีเพื่อน มีคนหลายคนพยายามแนะนำวิธีการรักษา วิธีการดูแล เพราะว่ามันมีหลายขนาน มีหลายสูตร ในการที่จะจัดการกับก้อนเนื้อที่ออกมาถ้าหากว่าเราไม่ใช้วิธีฉายแสง ซึ่งในช่วงนั้นพรก็สับสนบ้างเนื่องจากว่ามีหลายคนแนะนำ เพราะฉะนั้นเวลาเราคุยกันก็เลยบอกพรว่า เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน พรทำตามสัญชาตญาณ ทำตามสัญชาตญาณของพรก็แล้วกัน ถ้าพรรู้สึกว่าอย่างนี้มันใช่ ก็โอ.เค. ก็ใช่ ถ้าหากว่ามันไม่ใช่ไม่ชอบก็ไม่เอา ก็อย่าเอา เพราะถึงยังไงเราก็ไม่สามารถจะรู้ว่าวิธีไหนคือวิธีดีที่สุดอยู่แล้ว มันไม่มีวิธีไหนมารับประกันได้ว่าหายอยู่แล้ว หลังจากนั้นมาปรากฏว่าก้อนของพรก็โตขึ้นเรื่อย ๆ โตขึ้นจนใหญ่มาก

          จนมาถึงช่วงหนึ่งคือประมาณเดือนมีนาคม เราก็ไปที่ถ้ำกันเป็นถ้ำของแม่ชีรูปหนึ่งเพื่อจะไปทำสมาธิและไปดูแลตัวเอง ด้วย ในการรักษาที่ถ้ำนี้ทำให้อาการตรงหน้าอกของพรแห้งหายไปหมด คืออาการที่เคยลำบากเคยอะไรมามันก็หายไป คือรักษาอาการเฉพาะหน้าตรงนี้ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าหายขาด ในช่วงนั้นพรตัดสินใจแล้วว่าที่นี่จะเป็นที่สุดท้ายที่พรจะพยายามดูแล ถ้าหากว่าตรงนี้ไม่สามารถที่จะทำให้ฟื้นฟูร่างกายขึ้นมาได้ พรคิดว่าพรจะพอแล้ว ในช่วงสองปีนี้วิธีการปฏิบัติตัวของพรคือทุกเช้าพรจะฟังสวดมนต์ ทำวัตรเช้า เราก็จะทำวัตรเช้าด้วยกัน ในขณะที่อยู่ และก็จะเปิดเทปธรรมในเรื่องสติปฏิฐานสี่ฟัง

          เพราะอาการที่บวม พรจึงมีความตั้งใจต่อการฝึกสมาธิสูงมาก เพราะว่าถ้าหน้าอกบวมแล้วคัดแทบจะเดินไม่ได้ เพราะว่าถ้าเดินแล้วมันจะสะเทือนมาก สะเทือนไปถึงเส้นประสาท ฉะนั้นเวลาเดินก็จะขยับได้นิดเดียว เดินช้ามาก ฉะนั้นช่วงที่ไปอยู่กับพรก็จะให้กำลังใจ และช่วยเหลือพรทุกอย่าง ขอให้พรได้มีสติให้ดูแลตัวเอง ทุกเช้าเราก็จะเปิดธรรมทำวัตรเช้าทุกวัน นั่งสมาธิกันวันละประมาณสามครั้ง และตอนเย็นก็ทำวัตรเย็น นี่คือกิจวัตรทุกครั้งที่อยู่ที่นั่นประมาณสักเดือนหรือเดือนกว่า ก้อนเนื้อก็แห้ง พรกลับมาเดินได้ตามปกติเหมือนเดิม หลังจากนั้นพรก็กลับมาบ้านที่หาดใหญ่ ดิฉันกลับมากรุงเทพ ฯ หลังจากนั้นมาประมาณหนึ่งหรือสองเดือนอาการพรเริ่มมีมากขึ้น จนในที่สุดถึงขนาดต้องนอนเตียง

          ในช่วงที่นอนเตียงมีเพื่อนคนหนึ่งคือจอห์น แมคคอลแนล เป็นชาวอังกฤษ เพื่อนที่เรารู้จักกันมานานสิบกว่าปี ถือได้ว่าเป็นกัลยาณมิตรของเราทั้งสองคน จริง ๆ แล้วจอห์นเป็นคนที่ถึงแม้จะอยู่อังกฤษก็ส่งข่าวหรือว่าเขียนจดหมาย โทรศัพท์มาถามอาการแล้วแนะนำวิธีการมาตลอด คือหาข้อมูลให้ว่าในเรื่องนี้พัฒนาเป็นอย่างนี้แล้วจะเป็นยังไง ช่วงนั้น จอห์นกังวลมากในเรื่องที่ว่า มันน่าจะต้องฉายแสง จอห์นก็คิดในแง่นั้นว่าควรจะฉายแสง ควรจะจัดการได้ เพราะหากปล่อยต่อไปอาการของคนที่เป็นมะเร็งทรวงอกจะเจ็บมาก

          แต่พรก็ตัดสินใจว่าถึงยังไงวิธีฉายแสงก็ไม่ใช่ วิธีที่พรเลือก พรอยากจะเลือกวิธีที่นุ่มนวล อ่อนโยนกับตัวเองมากกว่า พรมองว่าการฉายแสงหรือการใช้สารเคมีจะเป็นวิธีที่รุนแรงต่อร่างกายเกินกว่า ที่พรจะรับได้ พรคิดว่าร่างกายพรไม่แข็งแรงพอที่จะรับสิ่งเหล่านั้นได้ ในที่สุดพรก็เลือกที่จะไม่ฉายแสง ซึ่งต้องถือว่าพรโชคดีมากเพราะคุณหมอเต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี เป็นหัวหน้ารังสีรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ได้แนะนำและพยายามช่วย เหลือพรทุกอย่าง ถ้าหากพรต้องการแบบนี้ก็จะอำนวยความสะดวกให้ทุกอย่าง เมื่อพรไม่รับอย่างนี้คุณหมอก็ยอมรับได้ นอกจากยอมรับแล้วยังช่วยเหลือความสะดวกทุกอย่างตามวิธีการที่พรต้องการคือใน ช่วงนั้นเมื่อพรทรุด ป่วย ต้องนอนเตียง อาการส่อแววว่าจะลำบากขึ้นเรื่อย ๆ

          ต่อมา จอห์นก็บินมาให้กำลังใจและช่วยดูแลด้วย เนื่องจากพรตัดสินใจที่จะดูแลตัวเองที่บ้านไม่เข้าโรงพยาบาล มีอยู่ช่วงหนึ่งที่จอห์นต้องไปที่อื่นด้วย ขณะนั้นนอกจากจอห์นแล้วก็มีน้องอีกคนหนึ่งคือเพชร (เพชรก็น่าจะเป็นอีกคนหนึ่งซึ่งสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์หลาย ๆ อย่างได้) เพราะอยู่กับพรตลอดเวลาเหมือนกัน รวมแล้วมีสองคนที่เป็นตัวหลัก ๆ ในการดูแลพรที่บ้าน ซึ่งก่อนที่ดิฉันจะลงไปก็ได้โทรศัพท์คุยกับจอห์นตลอดเวลา จอห์นบอกว่าควรจะมาได้แล้ว ถ้านานกว่านี้ไม่ดีแน่ให้รีบลงไป ก่อนดิฉันจะลงไป สาเหตุที่ต้องการจะบอกเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ เวลาที่เราจะไปดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ซึ่งต้องดูแลอยู่ที่บ้าน ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ กรณีที่ดิฉันจะไปทำหน้าที่ดังกล่าวจะโทรถามอาการจากจอห์นอยู่ตลอดเวลาว่าเรา จะต้องทำอย่างไรบ้าง ดูแลเรื่องอะไรบ้าง มีข้อจำกัดทางร่างกายอย่างไรบ้างที่เราจะต้องช่วย ฉะนั้น ก่อนลงไปดิฉันเองต้องยอมรับเลยว่าใจหนึ่งก็หวั่นใจว่าเราจะได้ไปเห็นอะไร อีกใจหนึ่งก็คือตั้งใจว่าจะลงไปดูแลแน่ ๆ อยู่แล้ว แต่ก่อนไปมันต้องทำใจเหมือนกันว่าเราจะต้องไปเจออะไร ก่อนลงไปดิฉันก็เตรียมตัวคือโดยปกติเวลาอยู่ที่บ้านเราก็ทำสมาธิแผ่แมตตาให้ พรอยู่แล้ว ฉะนั้นก่อนที่จะไปเราก็คิดมากขึ้น ทำเมตตาภาวนามากขึ้น คิดอยู่ในใจว่าเวลาเราลงไป เราจะทำอะไร เป้าหมายของเราจะทำอะไรได้บ้าง จะช่วยเหลือพรอย่างไรได้บ้าง คิดล่วงหน้าไปก่อน พอไปถึงแล้วเข้าไปจับมือพร พรก็ถามว่าใจหายไหมที่เห็นฉันเป็นอย่างนี้ จริง ๆ แล้วเราใจหายมาก พรผอมไปมาก ผิดรูปผิดร่างไป ที่ดิฉันพูดไปอย่างนี้เนื่องจากพรสังเกตหน้าตาเราอยู่ตลอดเวลาว่าเป็นอย่าง ไร คือทุกครั้งที่พรถามพรจะสังเกตหน้าตาตลอด

          ดูแลรักษาพร มันมีอยู่สองเรื่องก็คือเรื่องกายกับจิตใจ เรื่องกายนั้นเนื่องจากว่าเราได้ข้อมูลจากหมอดีมาก ฉะนั้นเราจะรู้อาการพรต่อไปจะเป็นยังไง ตอนนี้มันเป็นอย่างนี้แล้วนะต่อไปมันจะเป็นยังไง ๆ เพราะฉะนั้นเราก็มีเวลาเตรียมตัวล่วงหน้า เวลามันจะส่อแววว่ามันจะเกิดขึ้น เราจะทำยังไง เพื่อเราเองจะไม่ตกใจ ไม่แพนิก พรก็จะได้ไม่แพนิก เพราะฉะนั้นในการดูแลกายของพรเราใช้วิธีที่ว่าทำยังไงให้พรสะดวกสบายมากที่ สุด อึดอัดน้อยที่สุดเพื่อที่พรจะรักษาสติรักษาสมาธิได้ เนื่องจากว่าในช่วงสองเดือนท้ายมันจะเกิดอาการปวดกระดูกปวดประสาท เวลาพรจะพลิกตัว พรพลิกตัวเองไม่ได้แล้ว คนดูแลจะต้องช่วยพลิกให้ ทุกครึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมงเราจะต้องช่วยไปพลิก เวลาไปพลิกให้ เราจะต้องทำอย่างเบามือมาก เพราะว่าถ้าเรายกพรแรงขึ้นหน่อยหนึ่งมันจะมีลักษณะคล้าย ๆ ลมจะตีขึ้นมา แล้วก็จะหายใจไม่ได้ ไม่ทราบว่าเป็นอาการของอะไร ฉะนั้นทั้งคนดูแลทั้งผู้ป่วยต้องมีสติมาก ๆ ทุกขณะเลย เราจะต้องบอกอยู่ตลอดเวลา ต้องระวังอยู่ตลอดเวลา เพื่อที่จะไม่ได้ทำให้พรเจ็บมากขึ้น

          ในการดูแลทางกาย เราต้องบอกว่าพรโชคดีอีกมาก ๆ เหมือนกันที่มีคุณหมอเข้าใจและแวะมา ทั้งคุณหมอและพยาบาลของทีมจากโครงการ palliative care (การรักษาแบบประคับประคอง) ฉะนั้นทีมนี้ พรจะได้รับความสะดวกมากเวลาที่มีปัญหา เราจะสามารถโทรศัพท์ถามไถ่ตลอดเวลา ต้องบอกว่าการดูแลพร คุณหมอโกมาตรก็เห็นแล้วว่าเหมือนกับอยู่ที่โรงพยาบาล อาจจะดีกว่าที่โรงพยาบาลตรงที่ว่ามีความอบอุ่นมากกว่า ดูแลกันด้วยความรัก ด้วยความเอื้ออาทร แล้วก็มีคนห้อมล้อมอยู่ตลอดเวลา ถือหลัก ๆ ในการดูแลเราจะถือเอาความต้องการของพรเป็นหลัก เรื่องกินยา ถ้าไม่อยากกินก็ไม่เป็นไร ไม่อยากทานข้าวก็ไม่เป็นไร เอ้า ! เดี๋ยวค่อยทานทีหลัง คือเราใช้วิธีที่ทำอย่างไรให้พรรู้สึกสะดวกสบายที่สุด

          ส่วนในทางด้านจิตใจเหมือนที่เคยบอกให้ฟังว่าทุก เช้าเราก็จะเปิดเพลงธรรมหรือไม่ก็เป็นดนตรี ซึ่งเอื้อต่อการทำให้จิตใจสงบ หรือสวดมนต์ หรือเป็นคำสอนของท่านพุทธทาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทเทปในเรื่องของตายก่อนตาย ฉะนั้น ตลอดเวลา พรจะทำใจไปเรื่อย ๆ อาการทางกายของพร ตามที่คุณหมอคอยบอกพรว่าตอนแรกมันจะเป็นอย่างไร ตั้งแต่ช่วงเอวลงไปกระดุกระดิกไม่ได้ หลังจากช่วงเอวลงไปกระดุกกระดิกไม่ได้แล้ว มันจะขึ้นมาถึงกระบังลม แล้วจากนั้นจะถึงหน้าอก ฉะนั้น คนดูแลต้องคอยสังเกตตลอดเวลาเหมือนกัน รวมทั้งตัวพรเอง พรจะรู้สภาวะของตัวเองด้วย คือจะสังเกตตัวเองด้วยเหมือนกันว่าถึงขั้นไหน แล้วพรจะมีสติกับเรื่องนี้ตลอด สิ่งหนึ่งที่เราเห็นจากพรก็คือว่า เราเห็นสภาพร่างกายที่มันเสื่อมสลายไปทีละนิด ๆ เห็นความเสื่อมสลายของสังขาร

          แต่ในขณะเดียวกันก็เห็นความเติบโตความเข้มแข็งของ จิตวิญญาณของพรที่เข้มแข็งขึ้นในเวลาเดียวกัน ซึ่งสิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ต้องถือว่าเมื่อสัมผัสแล้วเป็นสิ่งที่วิเศษที่ได้ เห็น ทำให้เรารู้สึกว่าการเสื่อมของสังขาร มันเป็นธรรมชาติ ความไม่เที่ยงมันเป็นธรรมชาติจริง ๆ ในช่วงระหว่างที่ดูแลพร ธรรมหลาย ๆ บทที่เราเคยรับรู้มาเคยเล่าเรียนมา มันก็ได้มาใช้ในตอนนี้ ทั้งในเรื่องของโลภะ โทสะ โมหะของตัวเอง ที่วนเวียนอยู่ตลอดเวลาในตัวของพร คือไม่ใช่ว่าคนที่ปฏิบัติธรรมอยู่ตลอดเวลาจะไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ จะมีสติอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ ฉะนั้น เวลาเราดูแลผู้ป่วยระยะนี้แล้ว เราต้องการจะช่วยให้พรไปสู่ปลายทางได้อย่างสงบ ตัวเราเองก็ต้องปฏิบัติต้องรู้ด้วย เพราะว่าอาการที่รุมเร้าทางกายบางครั้งทำให้การรักษาสติไม่ใช่เรื่องง่าย เราต้องเตือนสติกันอยู่ตลอด บางครั้งพรก็จะเกิดหงุดหงิดโมโห เราก็บอกพรว่าตามลมหายใจนะ หรือว่าพรอย่างนี้อย่างนั้นนะ แล้วพรก็จะบอกว่าขอบใจนะที่เตือน คือสักพักหนึ่งพรจะบอกอย่างนี้

          ซึ่งคือถ้าหากว่าในการดูแลผู้ป่วยและต้องการ ช่วยผู้ป่วยให้ตายอย่างสงบ คนที่เป็นผู้ดูแลจะต้องหมั่นปฏิบัติธรรมด้วย ขณะที่ดูแลพรอยู่เราจะทำสมาธิกับพรวันละหลาย ๆ ครั้ง ดิฉันเองก็ต้องเจริญเมตตา เป็นสมาธิของตนเองด้วย เพราะว่าในเวลาที่เราดูแลผู้ป่วย ผู้ป่วยที่ต้องการเอาใจใส่อยู่ตลอด 24 ชั่วโมงไม่ใช่เรื่องง่าย ในช่วงแรก ๆ หรือในช่วงต้น ๆ ของหนึ่งถึงสองเดือนแรก เป็นอย่างนั้นแต่เมื่อผ่านไป จนถึงช่วง 2-3 สัปดาห์ท้าย ๆ เนื่องจากสภาวะร่างกายมันเริ่มลดความรู้สึกไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งพรจะเริ่มรู้สึกชา ฉะนั้นมันจะไม่เจ็บ แต่ในช่วงสองเดือนก่อนหน้านั้นแตะตัวนิดเดียวก็จะเจ็บ ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงที่ทั้งผู้ป่วยและก็ผู้ดูแลต้องใช้ธรรมอย่างเต็มที่ที่ จะประคับประคอง แล้วก็ทำให้จิตใจของการดูแลรักษาทั้งผู้ป่วยและเราแจ่มใสอยู่ตลอดเวลา

          แต่อย่างหนึ่งที่เห็นก็คือว่า ถึงแม้ว่าอาการของพรจะเป็นอย่างนั้นหรือแม้พรจะหงุดหงิดบ้าง ไม่พอใจบ้าง แต่มันเกิดขึ้นแปบเดียวแล้วหาย แปบเดียวลืม แล้วสติมันก็กลับมาเร็ว อันนี้ต้องถือว่าเป็นคุณภาพของการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอของพรมาก่อน ถึงแม้สติจะแว่บหายไป แต่ก็กลับมาได้เร็ว เนื่องจากขณะที่เราดูแลพรจะมีหลายครั้งในช่วงระยะสุดท้ายที่พรจะช่วยตัวเอง ไม่ได้ เราจะต้องช่วยพรดูทั้งในเรื่องปัสสาวะ อุจจาระ ฉะนั้น พรเองเตรียมใจและบอกว่ามันเป็นความต้องการของพรที่จะเริ่มละวางตัวตน ซึ่งเมื่อก่อนเวลาเราจะจัดการให้พรเราจะต้องปิดม่านมิดชิดห้ามให้ใครอยู่เลย ต้องมีคนหรือสองคน แต่ในระยะหลัง ๆ เริ่มเปิดมากขึ้น พรเริ่มเปิดมากขึ้น ซึ่งจริง ๆ เรื่องนี้พรเริ่มทำมาตั้งแต่ไปอยู่ถ้ำ เพราะว่าตอนไปที่ถ้ำจะมีชาวบ้านมาดูมาก พรเลยบอกว่าฉันได้ละวางตัวตนที่นั่นแหละ คือคนที่มาจากหมู่บ้านนี้ พรบอกว่าเห็นหน้าอกฉันหมดแล้วทั้งหมู่บ้าน ชาวบ้านจะแวะเวียนมาดูแล ซึ่งเป็นการค่อย ๆ ฝึก ค่อย ๆ ละวางไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเมื่อพรล้มป่วย

          ช่วงหลังเวลามีคนเข้าไป พรก็ยินดีที่จะให้ดูแล จะให้เช็ดถู หรือให้ทำความสะอาดขณะที่มีคนอื่นอยู่ด้วย มีน้องจากเพื่อนหญิงที่ไปเยี่ยมพร พรก็บอกว่านี่ดูซะใช่ไหมค่ะเป็นผู้หญิงต้องดูไว้ นี่โรคมะเร็งเป็นอย่างนี้ มะเร็งทรวงอกเป็นอย่างนี้ เป็นผู้หญิงต้องรู้ไว้ล่ะนะคะ

 

นพ.โกมาตร :

          ผมขอเสริมเรื่องที่ผมกล่าวถึงการจัดประชุมเรื่องกระบวนทัศน์สุขภาพนั้น มี อ.เครือมาศ (พี่ติ่ง) ไปร่วมประชุมกับเราด้วย พี่ติ่งเสนองานและเป็นเอกสารวิชาการด้วยเรื่องสุนทรียภาพกับสุขภาพ ส่วนคุณสุภาพรเสนอเรื่องมะเร็งกับความเป็นมนุษย์ ถึงขณะนี้สองคนก็จากเราไปแล้ว ในการประชุมนั้นมีผู้เสนอทั้งหมดแปดคนแปดหัวเรื่อง ตอนนี้ไปแล้วสอง ยังหวั่นใจอยู่กับความเป็นไปของท่านที่เหลืออีกหกนั้น (แซวเล่น) อาทิ คุณวิศิษฐ์ วังวิญญู คุณเดชา ศิริภัทร คุณณัฐฬส วังวิญญู ฯลฯ เป็นการเตือนสติกันพอสมควร

          ผมขอเสริมอีก 2-3 ประเด็นคือผมมีความรู้สึกโดยส่วนตัวว่า เรื่องราวการเผชิญหน้ากับความตายของคุณสุภาพร ผมคิดว่าน่าจะเป็นกรณีที่มีความเป็นมนุษย์อยู่ในกระบวนการที่เรียกได้ว่ามี ความสมบูรณ์ สมบูรณ์ในแง่ของกระบวนการเรียนรู้ ทั้งในแง่คนไปช่วยคนป่วยเอง สังคมรอบข้าง และเป็นการประยุกต์เอาวิธีคิดที่เข้มแข็งมากไปใช้กับชีวิตในช่วงสุดท้าย นับตั้งแต่ก่อนหน้านั้นมา ผมมีความรู้สึกว่าความตายของคุณสุภาพรน่าจะเป็นจุดสำคัญหนึ่งของการพูดถึง เรื่องความตายในสังคมไทยได้ นอกเหนือจากการมรณภาพของท่านพุทธทาส เพราะเราอาจจะเคยได้ยินว่ามีการดูแลระยะสุดท้ายในลักษณะต่าง ๆ กันอยู่บ้างที่เป็นเรื่องที่เราได้เรียนรู้กัน แต่ผมคิดว่าคงจะหากรณีที่มีความสมบูรณ์อย่างกรณีคุณสุภาพรได้ยากมาก และคิดว่ากรณีของคุณสุภาพรน่าเป็นจุดสำคัญที่เป็นแหล่งของการเรียนรู้ต่อไป ได้มาก น่าจะเรียกได้ว่าการตายของคุณสุภาพรเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญที่สังคมไทยควร ได้เรียนรู้เรื่องการประยุกต์เอาวิธีคิดเกี่ยวกับเรื่องความตายมาจัดการกับ ความเจ็บป่วยระยะสุดท้ายได้อย่างสมบูรณ์และงดงาม

          ประเด็นอื่น ๆ ที่อยากจะเสริมคือ ที่ผมฟังจากคุณสุรภีพูดถึงว่ามันต้องมีการเตรียมตัว ทำให้เรามีความรู้สึกว่าในปัจจุบันเวลาที่เราพูดถึงความตาย เราพูดถึงในฐานะเป็นระยะสุดท้ายของชีวิต จึงไปยุ่งเกี่ยวกับมันก็ต่อเมื่อมันมาถึงแล้ว ซึ่งไม่ทัน มันต้องเตรียมตัวของก่อน และเตรียมตัวนานกว่าจะไปถึงตรงนั้น การไปมองว่าความตายเป็นเรื่องระยะสุดท้ายของชีวิต เราก็เลยนิยามความตายว่าตายดีคือปุบปับตายเลย อุบัติเหตุแล้วตายเลย คือไม่ต้องทุกข์ไม่ต้องรู้สึกว่าความตายใกล้มาถึง คือตายไปเลยได้เป็นดี ซึ่งมันก็มาจากวิธีการมองเหมือนกันว่าความตายคือบั้นปลายของชีวิต ที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับมันก็เมื่อตอนเราจะตายแล้ว

          แต่ความจริงการมีชีวิตอยู่ตลอดของการเป็นมนุษย์ ของเรามันมีชีวิตอยู่บนฐานคติเรื่องความตายอันหนึ่งใช่ไหมว่าความตายเป็น อย่างนั้น ซึ่งตัวนี้ผมมีความรู้สึกว่าขบวนการที่จะทำให้สังคมได้เรียนรู้ไม่ว่าจาก กรณีของคุณสุภาพร หรือกรณีอื่น ๆ อีกก็ตาม มันจึงมาสู่เรื่องของมรณสติ ซึ่งเราก็เรียนรู้น้อยเราเคยลงไปทำวิจัยที่อยุธยา ลงไปสัมภาษณ์คนเฒ่าคนแก่เรื่องทัศนะคติชีวิตและความตาย กำลังสัมภาษณ์อยู่ ทางวัดกำลังเผาศพ จุดพลุดังโป้งป้างขึ้นมา ยายก็บอกว่าที่ยิงพลุนั่นมีคนตาย ทุก ๆ ครั้งที่ได้ยินก็นึกถึงว่ามีคนตายอีกแล้ว ส่วนหนึ่งของการเจริญมรณสติของสังคม ผมว่ามีรูปแบบที่หลากหลาย และต้องร่วมกันหาทางทำให้เรื่องเหล่านี้เข้ามามีส่วนในชีวิตผู้คนมากขึ้น ผมไปงานศพของคุณยาย เป็นพิธีกงเต็ก พิธีกงเต็กเป็นพิธีกรรมที่งดงามมากคืองดงามและมีความหมายลึกซึ้ง ทำให้เราได้ทบทวนถึงเรื่องความตายตลอดช่วงของพิธีกรรม แต่เราจะไม่รู้จักมันเลย ผมไม่รู้จักมันเพราะว่ามันเป็นสัญลักษณ์ ซึ่งก็เหมือนกับเรานิมนต์พระสงฆ์มาสวด สวดเป็นภาษาบาลี เราก็ไม่รู้เรื่องเหมือนกัน ก็ทำเป็นพิธี ว่างเปล่าไปอย่างนั้น พอไปนั่งคุยกับคนที่เขาทำพิธีซึ่งเขารู้ความหมายดี ทำให้เห็นว่ามันแฝงไปด้วยเรื่องราวในตัวพิธีกงเต็กคือมีการเดินข้ามสะพาน เจ็ดครั้ง ซึ่งมีความหมายว่าเดินทางจากชีวิตของเราไปสู่ชมพูทวีป ชมพูทวีปคือไสที ไสทีซึ่งเป็นแดนของพระพุทธเจ้า ผ่านทวีปเจ็ดทวีป แล้วทุก ๆ ครั้งที่เดินผ่านไป คนที่เขาสวดนำคือพระมาลัยของจีนหกเลี้ยง เขาก็จะพูดสอนว่าชีวิตมันเป็นยังไงบ้าง มีตอนที่ข้ามสะพานไปถึงสะพานที่เจ็ดแล้วกำลังจะเข้าสู่ชมพูทวีป ก็จะพูดถึงเรื่องของชีวิตตรงบริเวณนี่ มีลานหรือระเบียงอันหนึ่งในจินตนาการของพิธีกรรม ระเบียงตรงนี้เรียกว่าม่อเฮียไท้ คำว่าม่อเฮียไท้ แปลว่าเป็นระเบียงที่เรายืนและมองกลับไปที่บ้านเกิดของเรา ก็เดินทางข้ามมาเจ็ดสะพานแล้วมาที่ม่อเฮียไท้ก็มองย้อนกลับไปในชีวิตของเรา เอง เห็นชีวิตตัวเองเป็นยังไง ตรากตรำหนักหนากับชีวิตมา มาจนถึงวันนี้ตายแล้วกลับไปสื่อสารกับลูกหลานก็ไม่ได้ อยากจะกลับไปก็ไม่ได้เดินไปถึงบ่อน้ำ…อันนี้เป็นคำบรรยายของพระมาลัย เดินไปถึงบ่อน้ำเอามือช้อนอยากจะดื่มน้ำ ช้อนน้ำขึ้นมาน้ำก็ไหลผ่านมือไปหมด เนื้อหนังก็หลุดลุ่ยออกหมด วันนี้เราไม่มีร่างกายอีกต่อไปแล้ว ซึ่งทุกขั้นตอนของกระบวนการมันสอนให้เรารู้สึกถึงความไม่เที่ยงของชีวิต เรื่องของความผูกพัน การต้องละวาง แต่เราไปนั่งดูเราไม่รู้เรื่องเลย เราไปกงเต็กก็มีอาการงงเต็กอย่างเดียวเลย คือไม่เข้าใจว่าเขากำลังสื่ออะไร

          กระบวนการที่มีในทุกพิธีกรรม ทุกพิธีของศาสนา ผมคิดเร็ว ๆ ตอนนี้ว่าตัวกระบวนการที่ทำให้สังคมได้เรียนรู้ผ่านระบบสื่อภาษาหรือ สัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ทำให้ความตายมันมีความหมายต่อการมีชีวิตอยู่ของคน ผมว่าต้องเป็นกระบวนการศึกษาครั้งใหญ่ของสังคมไทยที่จะให้เราเติบโตไปพร้อม ๆ กันในเรื่องราวเหล่านี้ด้วย

          อันที่สอง ผมเห็นว่า จำเป็นต้องมีการคุยกันมากในระหว่างวิธีคิดทางด้านของชีวิตและความตายที่มัน ไม่เหมือนกัน กรณีของคุณสุภาพรแสดงให้เห็นว่า ธรรมดาถ้าคุณมาให้หมอแผนปัจจุบันดู แล้วเขาแนะนำให้คุณทำแบบนี้แล้วคุณไม่ทำ เขาจะโกรธคุณ เขาจะเลิกดู ตกลงคุณไม่เอาฉันใช่ไหม อันนี้เขาเรียกว่าการแพทย์ทางเลือก คือคุณจะเลือกฉันหรือคุณจะเลือกเขา ถ้าเลือกมาทางฉันก็เอาแบบฉัน ไม่เช่นนั้นคุณก็ไปเลือกทางโน้น อย่ามายุ่งกับฉัน ซึ่งตัวนี้จะไม่เป็นไดอะล็อก(dialogue) ผมเพิ่งอ่านหนังสือของเดวิด โบม เรื่อง On dialogue นี่ก็สำคัญไอ้ตัวกระบวนการคุยกัน เพราะว่าไดอะล็อก จะนำเราไปสู่ perspective ใหม่ ที่มันไม่ได้เป็นจุดที่เราอยู่ของเรา มันจะต่างจาก discussion หรือ communication ในแง่ที่ว่าต่างคนต่างก็เกาะติด (fix) อยู่กับที่ไหม แต่ไดอะล็อกหมายความว่าเราพร้อมที่จะเรียนและขยับความรู้และความคิดของเราไป ด้วยกันด้วย ซึ่งตัวกระบวนการการสนทนากัน อย่างที่ได้พูดไปในตอนต้นว่าที่มหาวิทยาลัยฮาวาด์รนำนักประสาทวิทยาไปนั่ง คุยกับท่านทะไลลามะทุกสองปีคุยแล้วตีพิมพ์เผยแพร่

          ผมคิดว่าเรื่องความตายจุดเด่นคือความยิ่งใหญ่ของ ความตาย ทำให้ทุกคนเสมอกันต่อหน้าความตาย ผมคิดว่าน่าจะเป็นประเด็นที่เอาแพทย์ อาจารย์แพทย์ แพทย์สภาหรือว่าอะไรมานั่งคุยกันโดยจัดกระบวนการไดอะล็อกแบบของโบม ไม่ใช่เป็นกระบวนการที่มาโต้กันว่าจะออกกฏหมายแบบไหนถึงจะบังคับให้มันอย่าง นั้นอย่างนี้ได้ อย่างนั้นมันไม่ใช่ไดอะล็อกแล้วมันเป็นการมาโต้เพื่อที่ปกป้องจุดยืนของแต่ ละพวก ซึ่งผมคิดว่าอันนี้น่าจะเป็นประเด็นใหญ่ที่เราน่าจะทำให้มีขึ้นได้ แล้วจะเรียนรู้กันไปได้

          อันสุดท้ายก็คือผมคิดว่าเรื่องที่เราฟังมาเกี่ยว กับคุณสุภาพร มันมีกระบวนการที่นำเอาความรู้หรือแนวความคิดมาแปลงเป็นรูปธรรมมาก ซึ่งรูปธรรมเหล่านี้เป็นเครื่องมือ หรือมันเป็นแบบจำลองของความคิดที่แปรจากรูปธรรมมาเป็นปฏิบัติการได้ อันนี้มีความสำคัญ

          ถ้าเราอาศัยแนวคิดของโทมัสคูณที่พูดถึงเรื่องการ ปรับกระบวนการ โทมัสคูณจะพูดถึงคำว่ากระบวนทัศน์หรือคำว่า paradigm มันมีสิ่งหนึ่งที่ขับเคลื่อนอยู่ เขาเรียกอันนี้ว่าเอ็กเซมปร้า(exemplar) คือตัวแบบของความคิดที่มันเป็นวิธีคิดใหม่ แต่มันถูกสร้างให้สามารถที่จะสื่อความคิดนั้นแล้วนำไปเป็นปฏิบัติการได้ คือเป็นตัวแบบฉบับของการปฏิบัติที่นำเอาแนวคิดใหม่ไปใช้ได้ เวลาเราเรียนวิทยาศาสตร์เราจะเรียนพวก exemplar มาก อย่างเช่น เรื่องเล่าของ อคิมิดิสว่า ลงไปในอ่างอาบน้ำแล้ว น้ำล้นออกมาจากอ่าง เขาก็นึกขึ้นมาได้ว่านี่มันเป็นกฏของการแทนที่น้ำ ตัวอย่างรูปธรรมแบบนี้มันทำให้นักวิทยาศาสตร์เอาไปคิดต่อได้ว่าด้วยหลักการ แบบนี้เมื่อจะเอาไปใช้ในการมองสถานการณ์อื่นจะประยุกต์ไปได้ยังไง

          ถ้าเราเชื่อตามที่โทมัสคูณว่า มี exemplar เป็นกระบวนการสำคัญของการแปรแนวความคิดใหม่ ๆ ไปสู่การปฏิบัติและขยายผลได้ ผมคิดว่ารูปธรรมไม่ว่าจะเป็นเรื่องมรณสติสิบข้อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอื่น ๆ ผมก็เห็นว่ามีความพยายามที่จะจัดกระบวนเพื่อที่จะนำเอาแนวความคิดที่เราคิด ว่ามันดีงามแปรออกมาเป็นรูปธรรมได้ก็เกิดขึ้นมาก และผมคิดว่าน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของงานในอนาคต คือการสร้างเครื่องมือการทำงานไม่ว่าจะเป็นในระดับระหว่างกัลยาณมิตรที่มา ดูแลกันในครอบครัว ในชุมชนเองก็ต้องเรียนรู้เหมือนกันระหว่างญาติพี่น้อง

          เรามีกรณีศึกษากรณีหนึ่งที่คุณวริสรา กริชไกรวรรณไปทำวิจัยในการเก็บกรณีศึกษาเรื่องความตาย แสดงให้เห็นว่าญาติพี่น้องด้วยกันเองก็ยังมีความคิดเห็นที่ต่างกันได้และก็ ต้องการเครื่องมือเหมือนกัน กรณีหนึ่งเป็นผู้หญิงชาวมุสลิมป่วย พี่น้องก็พามาที่โรงพยาบาล เขาก็อาการทรุดหนัก เพราะตกใจเครื่องมือ คืออายุมากแล้ว 90 แล้ว ไม่เคยมาโรงพยาบาล พอมาถึงคนมุสลิมเขาก็ปฏิบัติตามศาสนาของเขา ผู้หญิงชาวมุสลิมเขาจะไม่ให้เห็นร่างกายส่วนอื่น ผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงานให้เห็นเฉพาะใบหน้ากับฝ่ามือเท่านั้น แต่ว่าพอคุณยายมาที่โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ก็เปลื้องผ้าออกเพื่อไปเอ็กซเรย์ จึงตกใจแล้วก็ทรุดลง ๆ อาการทรุดลงเร็วมา จึงเรียกลูกขึ้นมาบอกว่าอาการของตัวแกมันหนักลงเน้อ มันหนักลงแล้ว ลูกก็ต้องคุยกัน ลูกสาวบอกว่าเขาเป็นแม่เรานะต้องรักษาถึงที่สุด ยังไงต้องรักษา ทุ่มเทรักษาไป จะสิ้นเปลืองยังไงก็ไม่ว่าเพราะเป็นแม่ แต่ลูกชายเขาบอกว่าที่แม่เขายอมมาโรงพยาบาล ซึ่งเดิมไม่ยอมมานะ อยากจะอยู่ตายที่บ้าน เตรียมตัวตายไว้แล้ว ที่แม่เขายอมมาโรงพยาบาลคือแม่เขายอมเราแล้ว แต่ตอนนี้แม่เขาหนักแล้วเราต้องยอมแม่บ้าง ก็พาแม่กลับไปที่บ้าน

          ยังมีเรื่องราวที่ละเอียดมาก ชาวมุสลิมก็มีแบบแผนพิธีกรรมของเขา กระบวนการที่พี่น้องต้องมาคุยกันเพื่อหาทางออก ไม่ง่าย เพราะว่าหลายกรณีที่พวกหมอไม่กล้าตัดสินใจช่วยผู้ป่วยให้ตาย เพราะว่าญาติยังไม่ลงเอยกัน ถ้าหากว่าหยุดการรักษาแล้วญาติอีกฝ่ายหนึ่งไปฟ้องบอกว่าหมอทอดทิ้ง หมอไม่รักษาให้ถึงที่สุด หมอก็โดนแพทย์สภาสอบสวน

          ซึ่งมันต้องการเครื่องมือและกระบวนมากเลยทีเดียว ที่จะทำให้แนวความคิดที่มันยังแปรเป็นการปฏิบัติได้ยาก และไม่สำเร็จรูปตายตัว ไม่ได้บอกว่าความตายมีอยู่แปดแบบ ถ้าคุณพิจารณาแล้วมีเกณฑ์มาตรฐานอย่างนี้มันจะตกแบบที่หนึ่ง และแบบที่หนึ่งคุณไปตามขั้นตอนนี้นะ 1,2,3,4,5,6 ถ้าไม่เช่นนั้นก็เป็นแบบที่สองที่ให้เริ่มจากขั้นตอนนั้นก่อน มันมีความซับซ้อน ละเอียดอ่อน มีความเคลื่อนไหว ไม่แน่นอนมากกว่าที่จะมาบอกว่าแบ่งเป็นกี่กลุ่มกี่ประเภท และมีมาตรฐานตายตัวให้ดำเนินการ ตัวเครื่องมือต่าง ๆ ที่มาช่วยให้กระบวนการมันเคลื่อนไปได้ ทั้งในแง่ของเครื่องมือในการดูแล เครื่องมือที่จะช่วยเตือนสติกัน เครื่องมือในการหาความเห็นร่วมกันของญาติพี่น้องที่มีความคิดเห็นไม่เหมือน กัน เครื่องมือที่จะสื่อความคิดระหว่างชาวบ้านกับหมอ

          กรณีของคุณสุภาพรมีความโชคดีที่มีหมอมาดูแลจาก โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ มาเพื่อเรียนรู้และยอมรับวิธีมองที่แตกต่างออกไปได้ด้วย แต่ว่าอีกหลาย ๆ กรณีไม่ได้โชคดีแบบนี้ ซึ่งจากการศึกษามากกว่าสิบกรณีศึกษาล้วนแต่แตกต่างกันทั้งสิ้น ฉะนั้นต้องมีเครื่องมือ กระบวนการและวิธีการในการทำงานมาก ที่ดูเหมือนว่าเรายังขาดอยู่ในกรณีที่เราอาจได้จากคุณสุภาพรที่ได้ใช้ชีวิต ของตัวเองเป็นกระบวนการเรียนรู้ก็น่าจะเป็นเรื่องเหล่านี้ด้วย ซึ่งผมคิดว่ายังมีภารกิจที่เราอาจจะได้ช่วยกันทำ เพื่อที่จะทำให้สังคมไทยเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องชีวิตและมีความอ่อนโยนต่อ ชีวิต มีความอ่อนน้อมต่อธรรมชาติ ก็คงมีอีกมากมาย เป็นภารกิจที่ทำไปได้อีกนานทีเดียว

 

พระมหาเจิม :

          อาตมาคิดว่าจุดสำคัญที่เราควรจะได้เรียนรู้จากคุณสุภาพรในสองภาคคือ ภาคการมีชีวิตอยู่กับภาคช่วงสุดท้ายของชีวิต เช่น สิ่งที่น่าจะต้องมีในขั้นตอนของภาคแรกของชีวิตคุณสุภาพร ก้าวแรกของการดำเนินชีวิตปกติ เป็นการดำเนินชีวิตแบบไม่ประมาท จะเริ่มจากเรื่องของการตื่นเช้ามาหรือเกิดมาก็เริ่มมีอะไรที่ทำให้ชีวิตเบิก บานคือมีฐานก่อนในเบื้องแรก ชีวิตเบิกบานชีวิตที่เป็นฐาน เราสังเกตว่าตื่นเช้ามาก็ดี หรืออยู่ตรงไหน อยู่ในครอบครัว อยู่ที่ไหนก็ตาม ถ้ามันเริ่มจากฐานแล้วไปอยู่ป่า จึงจะเห็นได้ชัดเจน ถ้ามันเริ่มฐานในลักษณะนั้น เริ่มจากความเบิกบานอันนี้มันเป็นฐานอันหนึ่งของชีวิตในขั้นต้น ไม่ว่าจะเป็นทั้งร่างกายหรือทางจิตใจต่าง ๆ เหมือนยามเช้าเราได้สัมผัสกับรุ่งอรุณก็ดี บรรยากาศที่มันโปร่งแบบที่เราไปอยู่ในต่างจังหวัดหรือในที่อื่น ถ้าชีวิตเริ่มจากฐานตัวนี้จะนำไปสู่ขั้นตอนต่อมาก็คือว่าชีวิตมีหลักยึด ในทางธรรมอาจจะเรียกของความมีพิธี

          พิธีคือหลักอิงตัวอย่างเรื่องของคุณสุภาพรก็ดี เรื่องของใครก็ตามเวลาเรามีชีวิตอยู่เราพยายามที่หาอิง ปกติชีวิตมนุษย์ไม่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างอิสระ ต้องไปหาหลักอิง ทางศาสนาอาจจะเรียกว่าเป็นอารมณ์หรือเป็นอะไรก็แล้วแต่ ต้องอาศัยหลักอิง หลักอิงอันนั้นจะเป็นวัตถุ จะเป็นสิ่งของ จะเป็นอะไร จะเป็นเพลง จะเป็นบทสวด จะเป็นการกระทำอะไรของเราก็ตาม เรียกว่าเป็นตัวฐานที่สองที่ทำให้ชีวิตมันเบิกบาน และมันมีความปลื้มใจ และมีอะไรได้ปลื้มกับชีวิตของตนเองกับผลงานกับการกระทำของคนอื่นหรือแม้ไม่ ได้ทำ แต่ว่าเรายกตัวอย่างง่าย ๆ เรื่องของตื่นขึ้นมาแล้วเราเคยโกรธใครอย่างรุนแรง และก็ได้ให้อภัย หรือได้ช่วยเหลือได้อะไร ได้ทำกิจกรรมอะไรโดยที่ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ และก็เห็นความสำเร็จอันนั้นขึ้นมา จะเกิดความปิติและความปลื้มใจ นี่จะเป็นฐานตัวสองที่ทำให้การดำรงชีวิตมันมีฐาน เมื่อผลของความเบิกบาน ความปิติจะนำไปสู่ฐานอันที่สอง ที่สามคือเรื่องที่จะทำให้ทางกายหรือทางใจเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่าความสงบ ความสงบจะเป็นฐานของขั้นตอนสำคัญจะนำไปสู่เรื่องของการมีความสุข สุขอันนี้ไม่ใช่สุขที่มันเกิดจากการที่เราได้อาศัยวัตถุเสมอไป แต่เป็นความสุขที่มันอยู่กับความสำเร็จ อยู่กับความปลื้มใจ อยู่กับอะไรต่าง ๆ ที่เราสามารถหาได้

          ซึ่งจุดนี้เป็นความต่างระหว่างแนวคิดตะวันออกกับ ทางตะวันตกที่เราเห็นได้ชัดเจน ในช่วงแนวคิดพัฒนาประเทศ ในฐานตะวันออกเราบอกว่าอริยะทรัพย์ของเราก็คือเรื่องของสันโดษ เรื่องการที่เรามีความสุขกับสิ่งที่เรามีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภายในเรื่องภายนอกก็ตาม อันนี้เป็นฐานของชีวิตของเรา ในขั้นต่อมาเมื่อมีความสุขในขั้นสุดท้ายนำไปสู่ในเรื่องของสมาธิ คืออะไรก็ตามที่มันที่ปูพื้นฐานมาดี ๆ ในเรื่องของการดำรงชีวิตปกติจะสังเกตเห็นว่า เวลาที่ชีวิตของเราตื่นขึ้นมาแล้วราบรื่นมาตลอด จิตใจก็เหมือนกับว่าคิดอะไรก็ดีหมด นั่นคือเป็นสมาธิในขั้นต้น ๆ และก็นำไปสู่ฐานของการที่เราจะดำรงชีวิตอย่างไม่ประมาท การไม่ประมาทจะทำให้การดำรงชีวิตอยู่มันส่งผลไปเรื่องของการใกล้ตาย การดำรงชีวิตปกติด้วยความไม่ประมาทมันส่งผลต่อชีวิตต่อการที่จะดำรงช่วงที่ จะใกล้ตาย ทำให้คนที่ไม่ว่าจะหวนย้อนรำลึกย้อนหลังไปถึงขั้นที่ 1,2,3,4,5 ชีวิตมันไม่มีอะไรติดขัดมา ฐานนั้นดี อันนั้นผลที่จะตามมาก็คือส่งผลดีไปเรื่อย ๆ อันนี้เรียกว่าภาคชีวิตของการเป็นอยู่ ตรงนี้แหละเป็นฐานของการที่ว่าจะดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาทและการตายการจะ สิ้นไปอยู่ไปด้วยความไม่ประมาท เรียกว่าไปด้วยความไม่หลง อันนี้เป็นฐานที่สำคัญ

          อาตมาคิดว่าบทเรียนของคุณสุภาพรตรงนี้ทำให้เรา ได้คิดอะไรได้หลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือการจะต้องเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่มันเคยเป็นสาระ สำคัญในทางศาสนาก็ดี หรือสิ่งที่มันเกิดเป็นช่องว่างระหว่างวัฒนธรรมสองกระแสเหล่านี้ก็ดี อาตมาคิดว่าเป็นโอกาสดีที่คนในสังคมที่จะต้องมาจับจุดตรงนี้และมาจัดขบวนการ เรียนรู้ร่วมกันไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างวิถีที่มันเป็นแบบชุมชน แบบวัฒนธรรมเดิมกับวิถีสมัยใหม่ที่มันเป็นการแพทย์สมัยใหม่และเราก็อาจจะมี เวลาคุยกันและก็มีการเจรจาหรือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันมากขึ้น จะทำให้ไม่ว่าคนที่มีชีวิตอยู่หรือคนตายก็จะดำรงชีวิตอยู่อย่างดีที่สุด อาตมาคิดว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่น่าสนับสนุนและน่าจะมีการสานต่อเป็นอย่างยิ่ง จริง ๆ อาตมาก็เพิ่งได้ข้อมูลเอกสารอันหนึ่งจากมหาวิทยาลัยสมทบของมหาวิทยาลัย ของมหาจุฬา จากเกาหลี ไต้หวัน ที่จริงทางโน้นเขาเปิดคณะในสายนี้ขึ้นมามาก และมาให้ข้อมูลพวกเราว่า ทางมหาวิทยาลัยสงฆ์สนใจจะเปิดไหม เป็นคณะ life and dead ซึ่งน่าสนใจ

          ที่จริงประเทศไทยมีกิจกรรมต่อเนื่องกันหลาย อย่างอยู่ ทั้งเทศน์ สวด ฉัน อะไรต่าง ๆ ทำครบวงจร น่าสนใจ อาจจะเป็นคณบดีคนแรกก็ได้ ยิ่งน่าสนใจ กำลังอ่านเอกสารอยู่ มีมิติที่น่าทำความเข้าใจที่อาตมาเปิดประเด็นค้างไว้นิดหนึ่งในช่วงของการ ตายของคนปกติกับการตายของพระอริยะ อย่างในมหาเปรียญภานสูตร มีพูดถึงช่วงสุดท้ายก่อนใกล้ตาย พระอริยที่มีความสามารถในทางเจริญฌานสมาบัด แล้วมีพลังทางจิตสงบไม่ว่าของเถรวาท หรือว่าของมหายานของทิเบต จะปรากฏผลให้เห็นชัดเจนว่าสามารถกำหนดระยะเวลาตายได้ กำหนดช่วงอายุได้ว่า คือพิจารณาสังขารตัวเองได้ตลอดเวลาว่าน่าจะอยู่ได้ ณ ช่วงไหน และก็ช่วงไหนกำหนด อย่างในมหาบูรพาณสูตร พระพุทธเจ้าเผยแผ่ศาสนาอยู่ทั่ว ๆ ไป แต่ก็แสดงเจตจำนงตามที่ท่านตอบพระอานนท์ได้ชัดเจนว่า ท่านอยากจะไปปรินิพพานที่เมืองเล็ก ๆ เป็นเมืองบรรพบุรุษของท่านในเมืองมัลละและกำหนดได้ มีช่วงที่ป่วยหนักที่จวนจะปรินิพพานก็สามารถที่จะชลอได้ จนไปถึงสถานที่ที่กำหนดว่าน่าจะปรินิพพานตรงไหนได้ ในสมัยที่เราเรียนหนังสือเราจะไม่ค่อยเชื่อกันเท่าไร

          ถ้าเราศึกษาอย่างละเอียด สมมุติว่าเรามีลมหายใจจนวาระสุดท้าย สมมุติว่าหมื่นครั้ง เหลือเวลาอีกสักห้าครั้ง คนธรรมดาอาจจะใช้หมดในทันทีในห้าครั้ง แต่คนที่เป็นพระอริยะที่มีความละเอียดอ่อนของลมหายใจของอะไรต่าง ๆ การสมาบัติไปในร่างกาย ละเอียดจนกระทั่งว่าไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานเหล่านี้เลย ลมหายใจตรงนั้นไม่จำเป็นต้องใช้เลย หรือใช้นิดเดียวเอาไปไว้ใช้ช่วงหลังก็ได้ อะไรทำนองนี้ ฉะนั้นมันสามารถที่จะกำหนดได้ แต่การปรินิพพานของพระพุทธเจ้าเป็นในลักษณะที่ว่า เมื่อท่านประทับสีหไสยานอนตะแคงขวาแล้ว ก็มีการเรียกพระมาทั้งหมด ใครสงสัยธรรมข้อไหน ใครยังไม่เข้าใจ มีเวลาเตรียมตัวเวลามากมายเพราะในระหว่างนั้นอยู่ได้ด้วยอำนาจของฌานของพลัง ภายใน จนกระทั่งถึงหมดขีดหรือตอบคำถามอะไรหมดแล้วก็เข้าฌานต่อนะฮะ

          ฌานในทางพระพุทธศาสนามีสองภาคคือภาคที่เป็นรูป กับภาคที่เป็นนาม ภาคเป็นรูปสี่ภาพเป็นนามละเอียดลงไปอีกสี่รวมเป็นแปด พระพุทธเจ้าท่านจะไล่ไปในระดับ 1,2,3 เข้าฌานลึก ๆ ละเอียดลงไปเรื่อย ๆ จนถึงแปด แต่เวลาย้อนกลับ 8,7,6,5,4,3,2,1 ในระหว่างที่ท่านนอนประทับเข้าฌานอยู่นั้น ก็มีพระเถระที่นั่งเฝ้าอยู่นั่นก็เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน ก็จะรู้ว่าท่านกำลังทำอะไรอยู่ในวาวะจิตอะไรบ้าง แต่พระที่เป็นอุปทานพระอานนท์ยังไม่เป็นพระอรหันต์ก็ไม่สามารถจะรู้ได้ก็ ต้องถามพระอานนท์ ถามว่าวาระดับจิตของพระองค์ตอนนี้อยู่ระดับไหน ท่านก็ตอบว่ากำลังอยู่ในระดับนั้น ระดับที่ 2 ที่ 3 เขาก็จะไต่กลับไปกลับมาไต่กลับไปกลับมา ถ้าเราจะเทียบเหมือนกับแสงสว่างวาระจิตหรืออำนาจของฌานแสงของหลอดไฟ ถ้าเราจะเทียบอาจจะไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่จะเทียบให้เห็นได้ว่าในระหว่างที่เข้าฌานปกติ ชีวิตของร่างกายของเราใช้พลังงานทุกด้าน ใช้อายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กับกายสัมผัสทุกอย่าง ถ้าถึงขึ้นสมาบัติแปดท่านบอกว่าสภาพในร่างกายทั้งหมด แม้กระทั่งเรื่องการรับรู้ทุกส่วนระงับไปหมดเหมือนกับคนตาย เท่ากับคนตาย แต่ว่ายังมีไออุ่น ถ้าเปรียบกับหลอดไฟเหมือนกับว่าเราค่อย ๆ หรี่ไฟลง หรี่ตามระดับทั้งแปดนี้ การที่ดับไฟไฟไม่ได้ดับจริงแต่ว่ายังมีเชื้ออยู่ในหลอดหรือว่าอยู่ในหัวหลอด ตรงนั้นอีกทีหนึ่ง สามารถที่จะย้อนกลับไปกลับมา แต่สุดท้ายพระพุทธเจ้าท่านเลือกตรงที่กลับมา เมื่อถึงขั้นที่หนึ่งถึงแปดเสร็จแล้วก็กลับมาถึงขั้นที่หนึ่งใหม่ และก็ไล่ลงมาใหม่อีกจนถึงขั้นที่สี่ และก็มาปรินิพพานอยู่ระหว่างกลาง อันนี้เรียกว่าการดับของพระอรหันต์เป็นการดับที่ว่าสามารถที่จะกำหนดได้และ ก็ดับอยู่ภายใต้พร้อมกับฌานสมาบัติ

          คนทั่วๆ ไปในบ้านเราในสังคมไทย จะสังเกตเห็นได้ว่าคนที่ทำพิธีกรรมส่งวิญญาณผู้ตาย ถ้าคนตายอยู่ในบ้านญาติผู้ใหญ่เวลาก่อนที่จะตายอย่างที่ว่า มีการบอกนำทางเรื่องพระรัตนตรัย เรื่องพระอรหันต์ เรื่องให้ระลึกความดี หรือพระพุทธรูปหรืออะไรต่าง ๆ จนกระทั่งลมหมดไป อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ดับไปหมดแล้ว อายตนะอะไรต่าง ๆ ปิดหมด คนไทยก็มีวิธีที่จะวัดว่าคนนั้นตายหรือยัง เขาจะใช้วิธีจุดเทียน นิยมใช้เทียนเจ็ดเส้น เทียนใหญ่ เป็นเทียนสำหรับจะส่งวิญญาณ จุดตั้งแต่เริ่มต้นจนดับ เมื่อดับอาจจะใช้เวลาสักยี่สิบนาที หรือสามสิบนาที เมื่อดับก็จะถือว่าคนนั้นตายคือการดับจากลมหายใจ ดับจากอะไรต่าง ๆ ยังไม่ถือว่าตายจนกว่าทุกอย่างจะอยู่ในสภาพที่มันไม่รับรู้อะไรแล้ว จะเห็นความสำคัญว่าคนที่จะตายหรือคนก่อนตายอะไรต่าง ๆ ภาวะตรงนี้มีความหมายและมีความสำคัญต่อการที่เราจะทำอะไร และช่วยอะไรได้ค่อนข้างมากทีเดียว ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย อันนี้เป็นสิ่งที่เราน่าจะศึกษาเรียนรู้จากสิ่งที่เป็นความตาย ซึ่งสัญลักษณ์หรือกิจกรรมต่าง ๆ ได้มีการกำหนดขึ้น อาตมาคิดว่าแนวโน้มในสังคม ในบ้านเราจากที่เราเปิดกว้างมากขึ้นและมีการยกกรณีต่าง ๆ ขึ้นมาศึกษาจะเป็นนิมิตรหมายที่ดี ที่จะทำให้เกิดขบวนการเรียนรู้ ยิ่งถ้ากรณีของคุณสุภาพร ถ้าเราได้มีการบันทึก จัดระบบ จัดเวทีจากเครือข่าย แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องชีวิตและความตายมากขึ้น อาตมาคิดว่าสังคมจะได้ประโยชน์จากชีวิตของคุณพรตั้งแต่ช่วงชีวิตที่เป็นอยู่ และก็ช่วงที่ดับขันธ์ไปได้ด้วย

 

คุณสุรภี :

          เราพูดกันใน ประเด็นว่าหนทางสู่ความตายอย่างสงบ อย่างกรณีของสุภาพรในช่วงระยะ 2-3 อาทิตย์สุดท้ายหรือประมาณหนึ่งเดือน เราเริ่มจะรู้ว่าอาการของพรทรุดลง แล้วจะจากไปเมื่อไรก็ได้ หมอก็จะเริ่มบอกเราเป็นระยะ ตอนนั้นก็เริ่มคุยกับพรแล้วว่า พรมีอะไรค้างคาอยู่ไหม พรอยากทำอะไรบ้าง พรต้องการอะไร และก็เริ่มคุยกับพรมากเรื่อย ๆ ในช่วงหนึ่งเดือนนั้นเราคุยกันมากขึ้น พรมีโอกาสได้ทำในสิ่งที่ยังค้างคาใจอยู่ มีเรื่องหนึ่งคือในเรื่องของคุณแม่ พรปกติไม่เคยได้มีโอกาสเปิดอกคุยกับแม่ มีอยู่ครั้งหนึ่งได้คุยกับพรเนื่องจากเคยลงไปหาพรหลายครั้งได้ข้อสังเกตว่า พรกับแม่รักกันแต่ไม่ค่อยเห็นใกล้ชิดกันเท่าไรเลย แต่มีความผูกพันกันลึกซึ้ง แต่ว่าการแสดงออกไม่แสดงออกให้เห็น เลยถามพรว่าพรมีอะไรอยากจะพูดกับแม่ไหม พรเขาก็บอกว่ามี แต่เขาก็ยังไม่อยากทำ ตอนหลังเราก็ถามอยู่บ่อย ๆ

          ในที่สุดวันหนึ่งเขาบอกว่าสุเดี๋ยวเรียกแม่มา หน่อยนะ เราอยากคุยกับแม่ ตอนนั้นก็เลยบอกคุณแม่ของพร คุณแม่ก็เข้าไปนั่งข้างเตียง พรก็เลยเริ่มโอกาสได้คุยกับแม่ ซึ่งตอนที่พรคุยกับแม่ ก็บอกว่าให้สุอยู่ด้วยนะเดี๋ยวแม่ฟังไม่ถนัดจะได้พูดซ้ำให้แม่ฟังได้ เพราะว่าตอนนั้นพรก็เริ่มที่จะพูดไม่ชัดแล้ว พรก็เริ่มพูดกับแม่ (ซึ่งจะไม่เล่าว่าเป็นยังไง) มันเป็นการเปิดอกครั้งแรกของพรให้แม่ได้รับฟังความในใจพร ซึ่งพรรู้สึกอย่างนี้มานาน ความที่ตั้งแต่เด็ก ๆ มาไม่เคยได้พูดอย่างนี้ด้วยกันก็เลยพูดไม่ออก มาถึงวันนั้นพรได้พูดและพรก็ตื้นตันในสิ่งที่พูดไป แม่ก็รู้สึกตื้นตัน เราเห็นจากสีหน้าได้ชัดว่าแม่มีความสุข พรก็มีความสุข รู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่พรทำให้แม่มีความสุขมากในการที่ทำให้แม่ได้ยิน ในสิ่งที่พรพูด แล้วตัวพรเองสิ่งที่พรพูดกับแม่ไปก็เป็นสิ่งที่อยู่ในใจพร อาจจะเป็นสิบปี ยี่สิบปี แต่ไม่ได้พูดให้ฟัง

          ซึ่งในช่วงนั้นเป็นช่วงที่ดิฉันพยายามที่จะถามพร อยู่เรื่อยว่ากลัวไหม กังวลไหม กังวลเรื่องอะไรบ้าง เราพยายามจะทำในสิ่งที่ยังเป็นความห่วงใยหรืองานบางอย่างที่ยังค้างคาของเขา อยู่ จนแน่ใจว่าเขาไม่มีอะไรที่จะกังวลแล้ว ในช่วง 2-3 สัปดาห์สุดท้ายจะเป็นช่วงที่พรเริ่มที่จะยอมรับ สงสัยว่าจะต้องเปิดใจเต็มที่ในการที่จะยอมรับความตาย จริง ๆ แล้วไม่ใช่ว่าคนที่ปฏิบัติธรรมอยู่เสมอจะยอมรับความตายได้ง่าย แม้จะปฏิบัติมาหนึ่งปี - สองปี ขนาดที่เรายังไม่เผชิญช่วงเวลานั้นเราไม่รู้หรอกว่าจะเป็นยังไง เราก็อาจคิดว่าฉันยอมรับความตายได้ แต่พอถึงเวลาจริง ๆ มันไม่ใช่ง่ายอย่างที่คิด เพราะมันจะมีสภาพหลาย ๆ อย่าง อย่างพรในช่วง 2-3 อาทิตย์สุดท้ายลมหายใจของพรหายใจได้ยากลำบากขึ้น เขาจะหายใจเองยากแล้ว เพราะว่าจะขึ้นมาถึงหน้าอก จะต้องใช้อ็อกซิเจนตลอดเวลา

          ก่อนหน้านั้น ดิฉันได้เคยคุยกับพรว่าเมื่อถึงเวลาแล้วพรต้องการยังไง จะทำอย่างที่พรต้องการทุกอย่าง พรเขาเคยบอกว่าเขาต้องการจากไปในขณะที่ยังมีสติอยู่ เขาไม่อยากจะจากไปในขณะที่จะต้องกินยานอนหลับหรือว่าอะไร เพราะฉะนั้นในช่วง 2-3 อาทิตย์สุดท้ายมันจะมีการให้ยาบ้าง ก่อนหน้านั้นพรไม่เคยรับยาเลย เพราะเขารู้สึกว่าเขาจัดการได้ ในช่วง 2-3 อาทิตย์สุดท้ายก็จะเริ่มมียาปวดกระดูก ยาที่คลายพวกปวดระบบประสาท แล้วก็จะมีโมซินบ้าง ซึ่งจำนวนที่พรได้รับนั้นถือว่าน้อยมากสำหรับคนที่มีอาการในลักษณะอย่าง เดียวกันกับพร แต่มียาชนิดหนึ่งเป็นยาคิดว่าชื่อลอร่าซาเพนเป็นยานอนหลับ ซึ่งจะใช้ต่อเมื่อหายใจไม่ได้จริง ๆ หายใจลำบากมากก็จะทานยานี้ไป ก็จะทำให้หลับและก็จะหายใจได้

          ก่อนหน้านั้นเวลาคนมาเยี่ยมพร เรามักจะระมัดระวังในบางโอกาสที่จะไม่ให้คนเข้าไปเยี่ยมพรหลาย ๆ คนในเวลาเดียวกัน เนื่องจากว่าเวลาพรให้อ็อกซิเจนคือช่วงหลังพรต้องการอ็อกซิเจนมาก แล้วพรมีความสามารถในการที่จะดูดซับอ็อกซิเจนได้น้อย เรารู้มาจากคุณหมอว่าถ้าอวัยวะต่าง ๆ เคลื่อนไหว หรือคิดหรือทำอะไรมาก มันจะยิ่งทำให้ต้องการอ็อกซิเจนมากขึ้น เพราะฉะนั้นในการที่พรได้อยู่นิ่งที่สุด สงบที่สุดแม้อ็อกซิเจนจะมีน้อยนิดเขาก็ยังหายใจได้ ไม่งั้นเขาจะยิ่งต้องการอ็อกซิเจนมากขึ้น นี่เป็นเหตุหนึ่งซึ่งอาจจะทำให้เพื่อน ๆ หรือคนต้องการไปเยี่ยมพรบางคนอาจจะไปในช่วงที่เป็นระยะเวลาอย่างนั้น ก็อาจจะรู้สึกเสียใจที่ไม่ได้เข้าไปพบเยี่ยม ไม่ได้เข้าข้างใน อย่างไรก็ตามในช่วงนั้นพรก็บอกว่ายาชนิดนี้เขายังไม่อยากใช้ เพราะเคยใช้ไปครั้งหนึ่งแล้วเขารู้สึกว่าสติเขาไม่สมบูรณ์ เขารับรู้ไม่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้นเขาก็บอกไว้เลยว่าในช่วงท้าย ๆ เขาต้องการที่จะรับรู้และจากไปอย่างมีสติสมบูรณ์ ฉะนั้น เขาจะไม่รับยานั้นจนกว่าจำเป็นจริง ๆ และก็ให้เขาขอเองถึงจะให้

          เราทำอย่างนี้มาตลอด เนื่องจากอาการหายใจของพรอย่างที่ว่า อานาปานสติจะทำได้ยากมาก เพราะว่าตามลมหายใจไม่ได้และก็ใช้อ็อกซิเจนตลอด 24 ชั่วโมง วิธีหนึ่งที่พรขอให้เราช่วยทำให้ก็คือว่าให้ทำสมาธิแบบกล่าวนำ นั้นคือเราจะทำสมาธิร่วมกับพร แล้วเราก็จะพูดนำล่ะ ทีนี้เวลาเราพูดนำ นั่งทำสมาธิร่วมกัน ส่วนใหญ่เราจะพูดนำในสิ่งที่หมือนกับว่าเราต้องเอาใจเราไปใส่ใจพรด้วย ว่าขณะที่เรานั่งนิ่งให้สติมันรับรู้มันเกิดอาการทางกายขึ้นอย่างไรบ้าง เกิดความคิดอะไรขึ้น อย่างไรบ้าง แล้วก็พูดนำไปให้เพื่อเฝ้าดูแล้วก็ปล่อยวาง คือเราจะทำในลักษณะอย่างนั้นมันจะช่วยเขา เนื่องจากว่าเขาไม่สามารถที่จะจดจ่ออยู่กับลมหายใจได้ แต่เวลาเราพูดเขาก็ตามเสียงเราได้และก็ตามความรู้สึกไปได้ เพราะฉะนั้นในระยะหลัง ๆ เราจะใช้วิธีนี้กับพร คือพรจะขอให้ทำอย่างนี้ให้บ่อย ๆ

          ในช่วงหนึ่งสัปดาห์ก่อนที่พรจะเสียชีวิต ต้องถือว่าพรทำกุศลกรรมมามาก พระไพศาล วิสาโลไปเยี่ยมพรสามวัน แต่ละวันท่านจะพูดธรรมให้ฟัง ท่านเคยไปครั้งหนึ่งแล้วก่อนหน้านี้ แต่ละครั้งที่ท่านไปปรากฏว่าไปในช่วงเวลาที่พรต้องการบางสิ่งบางอย่างพอดี ครั้งแรกที่ท่านไปเป็นช่วงที่พรถูกรบกวนด้วยอาการทางร่างกายมาก พรถามท่านว่าจะทำอย่างไรดีในเรื่องที่จะละวางจากกายสังขาร ท่านก็เลยพูดเรื่องกายสังขารและจิตสังขารให้ฟังถึง การละวางกายสังขาร การละวางจิตสังขารได้อย่างไร คืนนั้นปรากฏว่าพรสดชื่นมากเหมือนกับมีใครมาไขกุญแจบางอย่างให้ คืนนั้นพรแจ่มใสมาก พูดคุยได้ตลอดคืน เราก็ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกันหลายเรื่อง

          ครั้งที่สองที่ท่านไปเยี่ยมเป็นช่วงที่อาการหายใจ ของพรเริ่มที่จะแย่ลงกว่าตอนที่ท่านไปครั้งแรก ครั้งนี้พอท่านไป พรก็ถามว่า หลวงพี่โทสะก็ละได้แล้ว โลภะก็ละได้แล้ว เหลือแต่โมหะจะทำอย่างไรค่ะ ท่านก็หัวเราะนะค่ะ ท่านก็เริ่มที่จะพูดในเรื่องของการละวางขันธ์ห้าว่ามันจะต้องทำทีละขั้นทีละ ตอนอย่างไร ท่านได้คุยเรื่องนี้ให้ฟังเป็นช่วง ๆ ท่านมีเมตตามากเพราะว่าช่วงที่ไปเยี่ยมพรทั้งสามวัน ท่านมีความตั้งใจที่จะไปเยี่ยมพร และช่วยให้พรได้ละวางได้ปลอดโปร่งจริง ๆ ท่านจะคุยให้พรฟังประมาณวันละสามครั้ง เช้า เที่ยง เย็น ตอนเช้าก็มาทำวัตรเช้าให้ ตอนเย็นก็ทำวัตรเย็น แต่ระหว่างนั้นก็เช้า เที่ยง เย็น

          สิ่งที่ท่านคุยเป็นเรื่องของการช่วยพร เรื่องของการละวางจากโมหะ ละวางจากขันธ์ห้า ซึ่งท่านอยู่จนถึงวันที่ 16 (ก่อนจากไปสองวัน) แม่ชีศันสนีย์ก็ไปเยี่ยม แม่ชีศันสนีย์ก็เมตตาพรมากเช่นกัน ความอ่อนโยน ความนุ่มนวลเป็นสิ่งที่คิดว่าผู้ที่อยู่ในช่วงที่ชีวิตเปราะบางมากต้องการ สิ่งนี้เป็นพิเศษ ตอนที่เราดูแลพรอยู่เราก็ใช้เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เหมือนกับอย่างที่บอกมาแล้วเมื่อกี้ว่า เราเรียนรู้ธรรมเรื่องโน้นเรื่องนี้มา แต่เวลาเราจะนำมาใช้ในชีวิตประจำวันจริง ๆ บางทีเราลืม คือตอนจะใช้ ลืม แต่เมื่อถึงช่วงที่เราได้ดูแลคนไข้ หรือดูแลคนในอาการลักษณะนี้ หลาย ๆ สิ่งมันน้อมนำใจเราให้อ่อนโยน น้อมนำใจเราให้มีสติ น้อมนำใจเราหลาย ๆ อย่าง เพราะฉะนั้นเป็นช่วงที่ธรรมหลาย ๆ ตัวที่เราเคยรับรู้มา ได้เรียนรู้มา เราได้ใช้จริง ๆ

          อันหนึ่งที่สำคัญมากสำหรับช่วงที่ดูแลผู้ป่วย ระหว่างผู้ป่วยและคนดูแลเองก็คือในเรื่องของพรหมวิหารสี่ ในเรื่องของโลภะ โทสะ โมหะ ในเรื่องของสติปฎิฐานสี่ เพราะฉะนั้นสติปฎิฐานสี่นี้เราสามารถช่วยผู้ป่วยได้ ในขณะที่ผู้ป่วยนอนเฉย ๆ ไม่สามารถทำอะไรได้ คือถ้าเรารู้เราก็สามารถที่จะนำเขาได้บ้าง เพราะว่าถ้าหากว่าการที่จะช่วยให้ผู้ป่วยอยู่ในสติอยู่ในธรรม ผู้ป่วยไม่สามารถทำคนเดียวได้ คือเราต้องช่วย

          พรเคยบอกว่ามีอยู่ครั้งหนึ่งตอนนั้นในห้องอาจจะมี เสียงดังเป็นพิเศษ ดังกว่าปกติ พรจึงบอกว่าสิ่งนี้พรทำคนเดียวไม่ได้ต้องช่วยพรด้วย แล้วเวลาที่มีคนไปเยี่ยม หลาย ๆ คนที่นั่งในที่นี้อาจจะมีหลายคนได้เคยแวะไปเยี่ยมมาแล้ว พรก็บอกว่าไหนช่วยพูดเรื่องสติให้ฟังหน่อยคือ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าพรเองเป็นคนที่รู้ เป็นคนที่ปฏิบัติ แต่ก็ยังอยากฟังจากคนอื่น ๆ เพราะบางครั้งในการฟังมันง่ายกว่าที่จะมานั่งคิดคนเดียวใช่ไหม ฉะนั้น ในช่วงที่บรรยากาศที่เราพยายามสร้างขึ้นในห้องที่ดูแลพร อย่างในรอบ ๆ ห้อง เราจะติดรูปพร หรือรูปท่านอาจารย์ที่พรเคารพนับถือ ติดสิ่งที่พรชอบ แล้วก็พูดคุยกับเขาแต่ในสิ่งที่ดี ๆ ให้เขานึกถึงเขาทำอะไรบ้างที่มีประโยชน์ต่อคนอื่น หรือว่ากรณีของเขาได้ช่วยใครได้บ้าง มีใครบ้างที่ตั้งกลุ่มกันแล้วนั่งภาวนาเผื่อแผ่เมตตามาให้เขาอยู่ทุกวัน ๆ คือเราจะตอกย้ำเรื่องอย่างนี้ให้กำลังใจเขาอยู่เรื่อย ๆ ประกอบกับช่วงนั้นก็จะมีจดหมายมาเสมอ ก็จะอ่านจดหมายให้ฟังทุกวันจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต เราก็ยังทำอย่างนั้นอยู่

          สองวันก่อนที่พรจะเสียชีวิต พรเริ่มที่จะไม่พูดแล้ว คือก่อนหน้านั้นเขาพูดได้นิดหน่อย ช่วงหลังเขาจะพูดไม่ได้แล้ว แต่ว่าตาก็ยังมองได้ คือช่วงหนึ่งก่อนเสียชีวิต ตาก็จะมองได้แต่ว่าไม่ได้บอกลักษณะอาการว่ารับรู้ คือไม่แน่ใจว่าเขารับรู้หรือเปล่าว่าใครเป็นใคร แต่เขามอง จริง ๆ แล้วในช่วงก่อนที่จะถึงขั้นนี้เราจะตรวจสอบอยู่เสมอว่าเอ๊ะ ! เท้าเย็นหรือยัง มือเย็นหรือยัง หรือใกล้แล้วยัง เพราะว่าเราก็รู้มาว่าในแต่ละขั้นเราอยากจะรู้ว่าถ้าถึงขั้นที่พรจะไปจริง ๆ เราจะช่วยเตรียมตัวพรยังไง พอมาถึงวันนั้นพรเริ่มไม่พูด สังเกตแล้วว่า เฉย ๆ ช่วยทำให้ปากชุ่มชื้นก็พอ เพราะว่าพรรับอ็อกซิเจนเวลาสูดหายใจมันจะแห้ง เพราะว่าสูดหายใจจะอ้าปากเข้าไปด้วย มันเกิดอาการแห้งเราก็จะหยอดน้ำให้ปากชุ่ม คือพรเป็นอย่างนี้อยู่หนึ่งวัน แต่เราก็ยังพูดคุยกับพรเหมือนเดิม คุยกับเขาเหมือนเขายังพูดคุยได้ อ่านจดหมายให้ฟัง บอกว่ามีใครโทรมาพูดว่ายังไงบ้าง แล้วทำสมาธิกับเขาทำเหมือนปกติ ทำเหมือนกับเขาได้รับรู้ เหมือนเขาได้อยู่กับเรา

          พอวันรุ่งขึ้นในคืนนั้นในคืนก่อนที่พรจะเสีย คุณหมอเต็มศักดิ์มา คุณหมอบอกว่าสงสัยว่าคงไม่นานแล้วล่ะ ฉะนั้นคณะหมอจะเตรียมไว้ว่าในช่วงสุดท้ายมันอาจจะมีอาการที่เขาเรียกอาการ ที่หายใจไม่ได้แล้วก็อาจจะต้องฉีดยาช่วย ในช่วงนี้จะเป็นช่วงที่คนดูแล้วจะทรมาน คือคุณหมอบอกว่าจริง ๆ แล้วมันทรมานคนดู มันไม่ได้ทรมานคนไข้เท่าไร ฉะนั้นถ้าเกิดอาการอย่างนั้นขึ้นมา วิธีจะช่วยก็คือให้ฉีดยาใต้ผิวหนังให้พร แล้วพรก็จะคงหายใจได้ปกติ

          เราก็คิดกันว่าจะปรึกษาคุณแม่ของพร พรเคยบอกว่าถ้าเมื่อถึงเวลาแล้วอย่าพยายามยื้อยุดเขา ให้ปล่อยเขาไปตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้นเราก็เลยคิดกันว่าไว้รอดูเหตุการณ์ว่ามันจะเป็นยังไง หลังจากวันนั้นผ่านไป ตื่นขึ้นมาตอนเช้าตรู่ลุกขึ้นไปที่เตียงพร สังเกตเห็นเขาหายใจมีเสียงวี๊ด ๆ เหมือนลักษณะคล้ายเป็ด คล้ายหายใจไม่สะดวกแต่ก็เบามาก เลยโทรบอกคุณหมอว่าเป็นอาการอย่างนี้ ไม่ทราบว่าต่อไปจะมากกว่านี้หรือเปล่า คุณหมอบอกว่าไม่เป็นไร รอดูไปก่อน ทีนี้ในวันนั้นบังเอิญมีแม่ชีแวะมาก็เลยนิมนต์แม่ชีทำวัตรเช้าให้ พรเองก็ไม่รู้สึกตัวแล้ว แต่เราก็ทำวัตรเช้าแล้วก็อ่านบทสวด

          บทสวดบทหนึ่งที่พรชอบมาก คือเป็นบทสวดมนต์พิเศษในเรื่องของนายช่างปลูกเรือน เป็นเรื่องของโมหะ ละวางโมหะ และอีกบทหนึ่งเป็นเรื่องของการละวางขันธ์ห้า ถ้าหากใครสนใจไปดูได้ เป็นบทสวดมนต์พิเศษซึ่งพรจะให้น้องที่ดูแลอยู่ด้วยอ่านให้ฟังทุกเช้า เขาก็จะค่อย ๆ เริ่มที่จะละวางตัวเอง วันนั้นเราก็ทำในลักษณะอย่างนี้ อ่านบทสวดมนต์และก็ทำวัตรเช้า แล้วเปิดเทปของพระไพศาลให้พรฟัง ตอนที่ท่านพูดเราได้อัดเทปไว้ด้วย เปิดให้พรฟัง หลังจากฟังเทปเสร็จเราก็นั่งสมาธิ บอกพรว่าเดี๋ยวนั่งสมาธิด้วยกันนะ นั่งสมาธิมี 2-3 คนที่นั่งร่วมกัน หลังจากนั่งสมาธิเสร็จเราก็ปล่อยให้พรพัก พอสักระยะหนึ่งคุณแม่พรก็เข้ามา แล้วก็คุณแม่พรบอกว่า เอ๊ะวันนี้วันเกิดพรคือพรเกิดวันเสาร์ ฉะนั้นต้องระวังเป็นพิเศษ แต่เราก็ไม่ได้รู้สึกอะไร รู้สึกเฉย ๆ ในความรู้สึกเราว่าเอ๊ะ ! มันไม่น่าจะเกี่ยว แต่ก็ไม่ได้ว่าอะไร

          โดยปกติคุณแม่พรจะไม่มานั่งที่ตรงนั้นเลย จะไม่มานั่งอยู่ในห้องที่เราดูแลพร คุณแม่จะอยู่ข้างนอก แต่วันนั้นคุณแม่ไม่ยอมไปไหน นั่งอยู่ตรงนั้นแล้วก็บอกว่าวันนี้ต้องดูแลเป็นพิเศษเพราะเป็นวันเกิดของพร พอหลังจากนั้นสักพักหนึ่งพอดีดิฉันก็งีบไป คุณแม่ก็ให้พี่ชายพรมาเรียก บอกว่าไปเรียกสุมาซิ ก็ไปที่เตียง ตอนนี้เราก็จะเห็นพรหายใจแบบช้า…แล้วก็หยุดไปนาน ก็หายใจอีกครั้งหนึ่งแล้วก็หยุดไปนาน แล้วก็หายใจอีกครั้งหนึ่งแล้วก็หยุดไปนาน ซึ่งผิดปกติกว่าที่เคยเห็นมา เราก็เลยเตรียมระวังเพราะว่าก่อนหน้านี้เราเคยคุยกับพรว่า พรต่อไปนี้หลังจากที่พรพูดไม่ได้แล้วอะไรไม่ได้แล้ว เราจะส่งสัญญาณกันด้วยระฆังกันนะ คือเราได้พูดคุยกันว่าตอนที่พรพูดไม่ได้ว่าเราจะใช้สัญลักษณ์สื่อสารอย่างไร ระฆังก็เป็นอันหนึ่งซึ่งบอกพรว่า เวลาได้ยินเสียงระฆังให้พรนึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้นึกถึงระฆังแล้วก็ตามระฆังไปนะ

          คือเคยคุยกันไว้ก่อนหน้านี้ แล้วช่วงอาทิตย์นั้นทั้งอาทิตย์เราก็ใช้ระฆังเป็นการสื่อสารกันบ่อย ๆ พอถึงช่วงนั้น พอเห็นช่วงพรกำลังเป็นอย่างนี้ก็เลยคุยกับพร กระซิบที่ข้างหูว่า พร ให้พรนึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นะ แล้วพรไม่ต้องห่วงไม่ต้องกังวลในเรื่องที่ฝากไว้นะ จะทำให้ เรื่องทุกเรื่องที่บอกไว้ได้จัดการหมดแล้ว อย่ากังวลนะแล้วก็ขอให้พรไปเจอกับอานนท์อย่างที่พรต้องการนะ เพราะก่อนหน้านั้นมักจะคุยกับพรอยู่เสมอว่าอย่างเช่น พรกลัวไหม กังวลไหม กลัวอะไร บางทีพรเขาก็จะบอกว่าไม่รู้ว่าต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นอีก คือขั้นต่อไปจะเป็นยังไง เพราะว่าพรเขาต้องเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ใหม่ ๆ ความรู้สึกใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา

          มีอยู่ครั้งหนึ่งพรเขาพูดถึงอันโนน(unknown) เลยถามพรว่าพร อันโนนของพรคืออะไร พรก็บอก อันโนนก็คือการเป็นอิสระโดยสิ้นเชิง ในความหมายของเขาในความรู้สึกของเขา ตอนนั้นเราก็เลยกระซิบที่หูพร บอกพร ขอให้พรได้พบกับอันโนนนะ เดี๋ยวจะเคาะระฆังนะ จากนั้นเราก็…ช่วงที่พรหายใจลักษณะอย่างนั้นเราก็จะเคาะระฆังสามครั้งเป็น จังหวะ ติ๊ง ๆ ๆ สามครั้งไปเรื่อย ๆ จนครั้งสุดท้ายหายใจแล้วก็นานแล้วก็ไม่หายใจอีกเลย ทีนี้เราก็เคาะระฆังอย่างนั้นต่ออยู่อีกสักประมาณ 15 นาที หลังจากนั้นเราก็นั่งสมาธิอยู่ประมาณ 15 นาที จึงถือว่าเป็นการส่งวิญญาณของพรด้วยระฆัง และด้วยสมาธิ

          ในช่วงที่นั่งสมาธิหลังจากพรไม่หายใจแล้วรู้สึก ว่า ในความรู้สึกของตัวเองตอนนั้นรู้สึกว่าเป็นช่วงที่แบบเงียบมากเงียบที่สุด อย่างที่ไม่เคยเงียบมาก่อน ธรรมดาเวลานั่งสมาธิไม่เคยมีความรู้สึกเงียบขนาดนั้น ซึ่งเป็นช่วงที่สงบมาก ทำให้เราเห็นว่าความตายอันหนึ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองก็คือเรารู้สึกว่าความ ตายไม่ใช่เรื่องน่ากลัวเลย ความตายเป็นเรื่องที่งดงามมาก คือไม่เคยคิดอย่างนี้มาก่อน แต่หลังจากที่ได้ดูแลพรและอยู่ในกระบวนการอย่างนี้มาทำให้รู้สึกว่าจริง ๆ แล้วความตายเป็นเรื่องที่งดงาม ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว

          ตลอดเวลา 2-3 อาทิตย์ที่อยู่ใกล้ชิดในลักษณะอย่างนั้น จริง ๆ แล้วมันน่าที่จะเป็นบรรยากาศที่ค่อนข้างจะโศกเศร้าแบบซึมเศร้า เพราะว่ามันแย่ ชีวิตคน ๆ หนึ่งกำลังจะไป แต่บรรยากาศในการดูแลพรกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย มันเบิกบานอยู่มาก ซึ่งบอกไม่ถูกเหมือนกันว่าเป็นเพราะอะไร แต่ว่าหลาย ๆ คนที่อยู่ที่นั่น หลาย ๆ อย่างเอื้ออำนวยให้แต่ละคนแสดงในสิ่งที่ดี หรืออาจจะเป็นแบบธรรมชาติที่อยู่ลึก ๆ ที่แท้จริงของมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งมีความเมตตา ความกรุณา ความเอื้ออาทรให้กันและกัน บรรยากาศที่นั่นมันเป็นแบบนั้นจริง ๆ ฉะนั้นมันทำให้เกิดความเชื่อว่า จริง ๆ แล้วแท้จริงคนเราทุกคนมันมีธรรมชาติของความนุ่มนวล อ่อนโยน แล้วก็มีสิ่งที่ดีงามมากมายเลย แต่ว่าหลาย ๆ ที่โดยชีวิตปกติประจำวันของเรา เราไม่ได้แสดงออกมา เพราะว่ามีเรื่องของตัวตนมากั้นอยู่ เอ๊ะ ! ทำอย่างนี้ดีไหม เอ๊ะ ! ไม่ดี เดี๋ยวคนโน้นว่าอย่างโน้น เดี๋ยวคนนี้ว่าอย่างนี้ อย่าทำเลย แต่ในเหตุการณ์ที่อยู่ในตรงนั้นแล้วจะไม่มีอย่างนั้น เพราะฉะนั้นมีความรู้สึกว่าเอ๊ะ ! ในตอนที่เกิดขึ้นกับตัวเอง รู้สึกเอ๊ะ ! เรารู้สึกว่าเรื่องตัวตนเป็นเรื่องเล็กเลย เพราะว่ามันมีเรื่องอื่นที่มันยิ่งใหญ่กว่า สำคัญกว่า เมื่อก่อนไม่เคยคิดอย่างนี้มาก่อนเลย เมื่อก่อนก็ยังไม่เคยคิด คืออาจจะอ่านธรรมะก็จริงแต่เรื่องตัวตนก็อ่านไปก็เข้าใจอย่างนั้นนะ แต่ว่าไม่ได้เข้าใจในความรู้สึก ไม่ได้ลึกเข้าไปในความรู้สึกว่าแท้จริง แล้วตัวตนนี้เป็นยังไง ติดยึดกับตัวตนนี้เป็นอย่างไร

          ช่วงที่อยู่ในเหตุการณ์ในลักษณะอย่างนั้นทำให้ เข้าใจนามธรรมหลาย ๆ อย่าง ซึ่งธรรมะได้สอนและเราไม่เคยได้สัมผัส ไม่เคยที่จะมีสติที่จะไปจับมันอย่างจริง ๆ แต่พอในช่วงเหตุการณ์อย่างนั้นทำให้ใจเราอยู่กับปัจจุบันจริง ๆ มันก็เลยได้ เมื่อก่อนใจเรามันไม่ได้อยู่ตรงนั้น โดยปกติมันไปอยู่ที่อื่นเราก็เลยไม่ได้สาระที่ดีที่งดงามของชีวิตที่มันจะ ช่วยเรา ที่นี้เวลาเราจะพูดถึงว่าหนทางสู่ความตายอย่างสงบ ในส่วนตัวดิฉันคิดว่าวิธีการที่เราได้ดูแลคนไข้ ดูแลใครคนใดคนหนึ่งอย่างเอื้ออาทร อย่างเอาใจใส่ อย่างจริงใจ อย่างเมตตาจริง ๆ นั่นเป็นการเตรียมตัวตายที่ดีของเราด้วย ก็เป็นหนทางสู่ความตายของเราด้วย เพราะว่าช่วงเวลา 2-3 อาทิตย์ หรือเกือบเดือนที่อยู่ที่นั่น เนื่องจากดิฉันไป ๆ มา ๆ แต่ช่วงสุดท้ายก็จะอยู่นานรู้สึกเลยว่าตัวเองเปลี่ยนไป คือความรู้สึกบางอย่างมันเปลี่ยนไป เราผ่อนคลายลงจากหลาย ๆ เรื่อง และเราให้ความสำคัญกับเรื่องที่มันเป็นสาระของชีวิตจริง ๆ อ่านที่ธรรมสอนมากกว่าเมื่อก่อน

          ดิฉันคิดเหมือนกันว่า จริง ๆ แล้วการที่คน ๆ หนึ่ง อย่างน้อยเราเกิดมาในชีวิตหนึ่งของเรา เราควรจะมีสักครั้งหนึ่งซึ่งได้มีโอกาสทำอย่างนั้น คือได้ดูแลใครบางคนอย่างใกล้ชิด เพราะว่าเป็นช่วงที่ที่เราจะได้ความเติบโตทางจิตวิญญาณ ดิฉันรู้สึกว่ามันเหมือนกับเป็นการลงทุนจิตวิญญาณ เพราะว่ามันจะมีผลในการใช้ชีวิตข้างหน้าของเรา คือเราจะรู้วิธีที่จะทำให้ชีวิตเราเป็นสุขมากขึ้น ทำให้คนที่อยู่รอบข้างเราเป็นสุขมากขึ้นด้วย เพราะมันมีธรรมหลายข้อซึ่งตอนที่เราได้ใช้ได้ทดลองมันจริง ๆ ซึ่งเมื่อก่อนเราได้แต่รู้ ทีนี้พอพูดถึงเรื่องนี้แล้วทำให้นึกถึงคำของพระไพศาล ท่านเคยพูดที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หรือที่ไหนไม่ทราบ เคยได้ยินมาอีกทีหนึ่งว่าการตายอย่างสงบมันมีอยู่สองช่วงที่เราทำได้ หนึ่งในระยะที่ใกล้ตาย ซึ่งในระยะที่ใกล้ตายถ้าคนไม่เคยศึกษาไม่เคยเตรียมตัว ไม่เคยทำอะไรมาก่อนมันอาจจะยากเมื่อเผชิญหน้ากับความตายอาจจะกลัว

          อีกช่วงหนึ่งก็คือช่วงที่เรามีชีวิตอยู่ตามปกติ ธรรมดา ท่านพูดถึงบันไดสี่ขั้น อันที่หนึ่งก็คือการที่เจริญมรณสติอยู่เสมอ เพื่อทำให้เราคุ้นเคยกับความตาย อันที่สองก็คือให้เราเจริญสติมีสติอยู่ตลอดเวลา เวลาที่เราต้องสูญเสียของมีค่าหรือสูญเสียบางสิ่งบางอย่างไป ให้เห็นว่านั่นเป็นเรื่องปกติ เพื่อที่เราจะยอมรับมันอย่างเต็มใจ อันนี้เป็นวิธีหนึ่ง คือถ้าเราทำอย่างนี้เรื่อย ๆ ทำอย่างนี้บ่อย ๆ มันจะเป็นการเตรียมตัวที่จะยอมรับความตายของเราได้ด้วย อย่างเสียของรัก เสียแฟน เสียอะไร พยายามทำใจให้ยอมรับมันได้อย่างเต็มใจ

          อันที่สามก็คือเราต้องหมั่นที่จะทำสมาธิพัฒนาสติ เนื่องจากว่าการทำสมาธิแล้วพัฒนาสติอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำวัน มันจะช่วยทำให้เราได้ประคองใจเราให้เป็นปกติอยู่ตลอดเวลา เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นเราก็ใช้ใจประคองความรู้สึกต่าง ๆ ไว้ให้มันเคยชิน เจริญสติอยู่ตลอดเวลาให้เหมือนกับว่าครั้งที่เรานั่งสมาธิภาวนาวันนี้จะเป็น วันสุดท้ายของเราแล้ว ให้ทำอย่างนั้น ท่านบอก

          อันที่สี่ก็คือในเรื่องของตายก่อนตาย ให้ฝึกในเรื่องตายก่อนตาย เพื่อที่จะให้ช่วยในการละวางตัวตนของเรา คือสี่ข้อที่เราควรฝึกฝนในสภาพที่ยังมีความแข็งแรง มีชีวิตอยู่ในปกติธรรมดา สามารถที่จะเตรียมตัวได้

---

เสริมจากผู้เข้าร่วม

พระกิตติศักดิ์ :

          กรณีอาจารย์เครือมาศเสียชีวิตด้วยโรคไทรอยส์เป็นพิษ โรคคอพอกมีความเหมือนและความต่างอยู่ในสองกรณีนี้ที่น่าสนใจอยู่ คือเมื่อสุภาพรรู้ว่าตัวเองเป็นอะไรก็วางท่าทีปรับชีวิตปรับกระบวนการอะไร ต่าง ๆ แบบหนึ่ง ในขณะที่อาจารย์เครือมาศเอง เมื่อรู้ว่าตัวเองเป็นโรคไทรอยส์เป็นพิษแล้วปฏิเสธที่การฉายรังสีรักษา ต้องกินยาอยู่ตลอดชีวิต ก็ไม่ใช้อย่างนั้น กลับไปรักษาด้วยหมอเมือง ก็คือหมอที่รักษาตามท้องถิ่นทางเหนือ แต่โดยกระบวนการของการใช้ชีวิตคิดว่าเรื่องนี้อาจจะเป็นอุทาหรณ์ก็ได้ว่า คือพวกเราที่ใกล้ชิดที่คุ้นเคย ที่ทำงานร่วมกันกับอาจารย์เครือมาศ แทบจะไม่มีใครรู้ว่าอาจารย์เครือมาศมีทุกขเวทนาเกี่ยวกับเรื่องโรคนี้ อาจารย์เครือมาศพูดถึงโรคไทรอยส์เป็นพิษเหมือนของเล่น เหมือนอะไรที่แบบไม่ได้รู้สึก ไม่เคร่งเครียดอะไรกับมันเลย พวกเราเองต่างหากที่พอผ่านจากเหตุการณ์ที่อาจารย์เครือมาศเสียไปแล้ว มานั่งทบทวนกันว่าอาการแต่ละอย่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับอาจารย์เครือมาศ นั่นคืออาการของโรค และเป็นอาการของโรคร้ายที่ทำให้ตายได้ ทำให้ตายได้แบบฉับพลันด้วย การที่เมื่อทำอะไรแล้วมือสั่น หรือว่ามีอาการมือสั่น มีอาการที่บางครั้งเหมือนสมาธิสั้น หรือว่าทานอาหารมากอะไรพวกนี้ ก็เป็นอาการที่ไทรอยส์มันผลิตสารอะไรที่มันเผาผลาญมาก และก็ต้องใช้อาหารมาก แต่พวกเราก็ไม่รู้ อันนี้ก็คิดว่าเป็นอีกจุดหนึ่งซึ่งน่าสนใจ

          เหมือนอย่างสุภาพร เมื่อพรรู้จากการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การทำความเข้าใจกับมัน การร่วมกันศึกษาและจนกระทั่งทำการบ้าน ซึ่งตรงนี้พออาจารย์เครือมาศเสียชีวิต หลายคนก็ทักท้วงกันขึ้นมา อย่างในจังหวัดเชียวใหม่ เกิดประเด็นคนสนใจเรื่องการแพทย์ทางเลือก คนที่สนใจเยียวยาชีวิตตัวเอง คนที่ปฏิเสธการแพทย์แผนตะวันตก พอเอาเข้าจริงก็ปุบปับก็ตายอย่างที่ไม่น่าจะตาย คือสังคมมองว่าคน ๆ นี้สามารถที่จะมีชีวิตที่ใช้ประโยชน์ ทำประโยชน์กับสังคมกับตัวเองได้อะไรได้ อันนั้นประเด็นหนึ่งก็คือว่าทำอย่างไรที่เมื่อเรารู้ว่าเราเป็นโรคร้ายเรา สามารถที่จะสื่อสารทำความเข้าใจ เห็นได้ชัดเลยว่าอย่างกรณีของการดูแลพร ความเป็นกัลยาณมิตร

          โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพูดในแง่ศาสนาก็คือมีธรรม เป็นกัลยาณมิตร เป็นเรื่องที่ไม่ใช่อยู่ ๆ จะทำได้ มันต้องวางพื้นฐานทั้งในแง่ของตัวเอง และในแง่ของเพื่อน ในแง่ของชุมชนแวดล้อม เพราะฉะนั้นความเป็นกัลยาณมิตรก็ตาม ความเป็นสังฆะ ความเป็นชุมชนของเพื่อนฝูงที่เข้าใจเรื่องตรงนี้ มันจะทำให้เป็นการเรียนรู้ที่สมบูรณ์ขึ้น คือไม่ใช่ว่ากรณีของอาจารย์เครือมาศเป็นเรื่องที่ไม่สามารถเรียนรู้ แต่หมายถึงว่าบางทีกระบวนการต่าง ๆ ที่มันจะทำให้เกิดความสมบูรณ์ต่อการเรียนรู้ ต่อการศึกษามันอาจจะขาดช่วงไป เพราะฉะนั้นในแง่ตรงนี้คิดว่าไม่ใช่เฉพาะเราจะทำความเข้าใจกันในแง่ของความ คิด เรื่องว่าจะตายอย่างสงบได้อย่างไร แต่มันต้องมีกระบวนการที่ช่วย เพราะไม่อย่างนั้นแล้วถึงแม้ว่าเจ้าตัวจะมีทิฐิที่เห็นด้วยกับการดูและตัว เอง หรือว่าเยียวยาโดยกระบวนการอะไรต่าง ๆ แต่ถ้าหากว่าไม่มีกระบวนการที่จะช่วยให้มันเกิดการร่วมกันเรียนรู้ เกิดการแลกเปลี่ยนจริง ๆ ผลที่ออกมามันอาจจะกล้ำกึ่งกันก็ได้

          เมื่ออาจารย์เครือมาศเสียชีวิตใหม่ ๆ อาตมาสัมภาษณ์พระไพศาล บอกว่ามันเป็นเรื่องของทางเลือกที่จะตาย ตรงนี้คือมันไม่ใช่เรื่องที่ว่าตัวเองเข้าใจ มันต้องร่วมกันศึกษาและมันต้องมีกระบวนการ เพราะฉะนั้นเหมือนที่คุณหมอโกมาตรเสนอตั้งแต่แรกว่า น่าจะมีกระบวนการในการแลกเปลี่ยนในการศึกษา แล้วมีกรณีศึกษาเรื่องนี้บ่อย ๆ ฉะนั้นในแง่นี้ ควรที่จะพยายามใช้โอกาสอย่างนี้เป็นเวทีที่จะแลกเปลี่ยน เพราะว่าพอมันเกิดเหตุการณ์ขึ้นมาแต่ละครั้ง ถ้าเราไม่ทำอะไรต่อเนื่องไม่นานก็ลืม

          อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์เคย พูดไว้ว่า ถึงแม้อาจารย์เครือมาศที่เชียงใหม่จะเป็นที่รู้จักกว้างขวางทั้งเชียงใหม่ ทั้งระดับประเทศแต่ไม่นานก็ลืม แล้วลืมสิ่งที่อาจารย์เครือมาศทำ หรือสุภาพรทำมาตลอดชีวิต บางทีมันกลายเป็นว่าเหมือนกับพิมพ์หนังสือไว้ เหมือนกับเราพิมพ์พระไตรปิฎกแล้วใส่ไว้ในตู้ เราไม่ได้เอามาย่อยเลย เพราะฉะนั้นตรงนี้คิดว่านอกเหนือจากที่เราทำอย่างนี้ ก็อยากจะเชิญชวนหลาย ๆ ท่านที่มาอยู่ที่นี่ ว่าทำอย่างไรให้เวทีของการเรียนรู้เรื่องความตาย เรื่องการมีชีวิตมันลงไปถึงครอบครัวของเรา ลงไปถึงว่าเมื่อเกิดญาติมิตรของเราสูญเสียขึ้นมา ทำอย่างไรใช้ประสบการณ์ของเราเป็นลูกโซ่ของการเรียนรู้ เป็นลูกโซ่ของการศึกษาให้มันแพร่หลายกระจายออกไป

 

สุพจน์ ด่านตระกูล :

          ผมไม่ได้รู้จักกับคุณสุภาพรโดยตรง แต่ว่ารู้ในเรื่องจิตใจในความเป็นกัลยาณมิตรของท่าน คือท่านเขียนจดหมายมาถึงผม ผมชื่อสุพจน์ ด่านตระกูล สุภาพรได้เขียนจดหมายมาถึงผมจากบ้านถั่วพู หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันอังคารที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2544

          "เรียนคุณป๋าที่นับถือ ท่านเรียกผมว่าป๋า พรเป็นเพื่อนของน้องดอม ดอมคือลูกสาวของผม จึงได้ทราบข่าวจากหนูดอมว่าคุณป๋าเกิดมีมะเร็งพลอยฟ้าพลอยฝนมาอยู่ด้วยกลุ่ม หนึ่ง พรก็เช่นกันค่ะ พรมีมะเร็งมาอยู่ด้วยเมื่อเก้าปีที่แล้ว โดยอำลากันไปแล้วรอบหนึ่ง แล้วเขาก็กลับมาใหม่เมื่อสามปีที่แล้ว พรใช้วิธีการแบบธรรมชาติบำบัดค่ะ หรือจะบอกว่าเป็นสุขภาพทางเลือกก็ได้ อาจารย์สาธิตเมตตาดูแลมะเร็งให้ค่ะ แต่ตอนนี้ดูแลเองค่ะ พรเป็นมะเร็งเต้านม โรคเครียดของผู้หญิงเก่งค่ะ

          พรเขียนมาเพื่อจะเรียนคุณป๋าว่าครั้งแรกพรตกใจ มาก กลัวเป็นที่สุด พรกลัวหมอ กลัวเครื่องไม้เครื่องมือสมัยใหม่ และกลัวตาย ตั้งแต่ขณะจิตแรกที่ตื่นตัวกับเวลาที่ผ่านไปเก้าปี ระหว่างนี้พรได้ทำความเข้าใจแล้วว่าเป็นควมเข้าใจผิดที่คิดว่ามะเร็งคือความ ตาย หรือมะเร็งคือทุกข์ มะเร็งไม่ใช่ทุกข์ก็ได้อยู่ที่เรานะคะ ความกลัว ความกังวล ความลังเล ความสับสน อันพวกนี้แหละที่ทำให้มะเร็งเป็นทุกข์ พรมัวแต่ยึดอยู่กับด้านที่เป็นชีวิตจึงไม่ยอมรับรู้ว่าชีวิตและความตายเป็น สิ่งที่เดียวกันอยู่แล้ว แต่กว่าพรจะรับเช่นนี้ได้ก็ทุกข์ค่ะ จนมะเร็งกลับมาใหม่ พรก็แว่บออกมาอย่างนี้แหละ ไหน ๆ ก็ไหน ๆ ชีวิตเราก็คุ้มแล้วหากพระเจ้าให้เราตายตั้งแต่เก้าปีที่แล้วล่ะ ที่เป็นอยู่นี้ก็เป็นของขวัญแล้ว เป็นโบนัสที่เราเพิ่มค่าได้ด้วยเราเอง

          พรเพียงเล่าความเปลี่ยนแปลงในความคิดของพรเท่านั้น เองแหละ และต้องการให้กำลังคุณป๋าที่พรได้ยินถึงกิตติศัพท์ของความดี ความกล้าหาญ และจริยธรรมมานานแล้ว พรหวังว่าคุณความดีที่กระทำให้กับสังคใไทยจะปกป้องให้คุณป๋ามีความสุข ไม่อนาทรต่อเจ้ามะเร็งที่มาพลอยฟ้าพลอยฝนอยู่ด้วยนะคะ ด้วยความรักและเคารพ พรค่ะ"

          จดหมายฉบับนี้ ผมอยากจะเรียนให้ที่ประชุมได้ทราบด้วยเพื่อเป็นประโยชน์หรือเป็นบทเรียนแก่ บางท่านบ้างที่เป็นมะเร็ง ผมตอบไปอย่างนี้ครับ วันที่ 10 สิงหาคม แกมีจดหมายถึงผมวันที่ 7 ผมตอบวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2544

          "ลูกพรที่รัก ในเมื่อพรเรียกป๋าว่าป๋า ป๋าก็ขอเรียกพรว่าลูกนะ ดอมไม่ได้เปิดตู้รับจดหมายทุกวัน จึงได้ทำให้อ่านจดหมายจากลูกช้าไป และยังทำให้ตอบจดหมายลูกช้าไปด้วย ต้องขอโทษด้วยนะ ขอขอบใจมากที่ส่งกำลังใจไปให้ป๋า และป๋าก็ขอรับไว้ด้วยความยินดียิ่ง จริง ๆ แล้วป๋าได้รับกำลังใจจากลูกมาก่อนหน้านี้เสียอีก คือตั้งแต่ป๋าได้อ่านข้อเขียนของลูกเรื่อง “เมื่อฉันรู้ตัวว่าตัวเองเป็นมะเร็ง” โดยดอมเป็นผู้ที่ขวนขวายหาหนังสือว่าด้วยต้นมะเร็งด้วยธรรมชาติบำบัดมาให้ หลายเล่ม ตั้งแต่หมอบอกว่าเป็นมะเร็งที่กระเพาะปัสสาวะ และจะต้องตัดกระเพาะปัสสาวะทิ้ง แล้วตัดลำไส้ใหญ่มาทำกระเพาะปัสสาวะให้ใหม่

          ดอมเป็นคนแรกที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของหมอไป หลังที่ป๋าเล่าให้เขาฟัง และเสนอแนะวิธีธรรมชาติบำบัดเป็นหนทางของการักษา ดอมได้เอ่ยชื่อลูกคนอื่น ๆ มาเป็นพยานสนับสนุนคำคัดค้านและข้อเสนอแนะ แล้วก็ไปขวนขวายหาหนังสือต้านมะเร็งด้วยธรรมชาติบำบัดมาให้อ่าน รวมทั้งหนังสือที่ลูกเขียนด้วย ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวโน้มลึก ๆ ของป๋า แม่ และลูกทุก ๆ คนอยู่แล้ว แต่คนที่คัดค้านการผ่าตัดอย่างเป็นเรื่องเป็นราวก็ต้องยกให้ดอม ป๋าจึงบอกหมอไปว่าขอผลัดการผ่าตัดเอาไว้ก่อนเพื่อใช้ธรรมชาติบำบัด หมอบอกว่าก็สุดแล้วแต่ แต่ในความเห็นของหมอแล้วควรจะผ่าตัดทิ้งไปซะเลย

          ในขณะที่มะเร็งยังไม่ลุกลามมากเกินไปที่จะผ่าตัด ได้ ในขณะนี้หมอจึงไม่ได้ทำการรักษาอะไรเลย นอกจากนัดให้ไปดูอาการเป็นระยะ ๆ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมาป๋าก็ไปตามหมอนัด หมอให้ขึ้นนอนบนเตียง ตรวจแล้วกดโน่นกดนี่ เคาะโน่นเคาะนี่แล้วถามว่าเจ็บไหม ปวดไหม บอกว่าไม่ หมอจึงนัดให้ไปใหม่วันที่ 25 กันยายน พ.ศ.2544 เพื่อส่องกล้องดูว่าเจ้ามะเร็งอยู่ในกระเพาะปัสสาวะของป๋าหรือเปล่า ป๋าคิดว่าในเมื่อป๋าตัดสินใจแน่วแน่แล้วว่าจะไม่ผ่าตัด และเชื่อว่าและมั่นใจว่าจะหายจากมะเร็งด้วยธรรมชาติบำบัดอย่างแน่นอน

          ป๋าจึงคิดว่าจะไม่ไปตามหมอนัด เหตุผลก็คือถ้าหมอตรวจพบว่ามะเร็งกำลังขยายอาณาเขตก็จะทำให้เกิดความลังเล ว่าจะผ่าตัดดีหรือไม่ และมะเร็งจะขยายอาณาเขตจริงหรือไม่ เพราะแนวโน้มของหมอยู่ขั้นจะผ่าตัดอยู่แล้ว จึงจะเป็นการสร้างความสับให้กับป๋า และสร้างความไม่เป็นธรรมให้กับหมออันจะเป็นบาปกรรม ป๋าจึงตัดสินใจจะไม่ไปตามนัด เพื่อตัดปัญหาความสับสนทางจิตใจ เพราะจิตก็คือพลังงานที่เป็นปัจจัยสำคัญคู่กับกายซึ่งเป็นวัตถุ ตามทฤษฎีที่ไอสไตล์ค้นพบบอกว่า วัตถุก็คือพลังงานที่ก่อกุมกันขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ และพลังก็คือวัตถุที่สลายตัวไปนั่นเอง ซึ่งไอสไตล์ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นประจักษ์แล้วด้วยระเบิดปรมาณู ป๋าจึงมั่นใจว่าถ้าป๋ารวบรวมพลังงานหรือจิตที่ฟุ้งซ่านให้เป็นเอกภาพเอามา เป็นรังสีฉายมะเร็งได้สำเร็จ เจ้ามะเร็งก็คงจะเหือดหายไปเอง รวมถึงยึดถือหลักการสงครามที่ว่ากองทัพเดินได้ด้วยท้อง เดี๋ยวนี้ป๋ากำลังทำสงครามอยู่กับมะเร็ง จึงต้องคอยบ่อนทำลายเสบียงอาหารของกองทัพมะเร็งด้วยการควบคุมอาหาร

          และในขณะเดียวกันกับการส่งกำลังกองหนุนหรือภูมิ คุ้มกันไม่เข้มแข็งด้วยการออกกำลังกายและขนขวายหาความเพลิดเพลินตามอัธยาศัย สำหรับป๋าก็คือการเขียนหนังสือและปฏิบัติธรรมเพื่อเอาชนะศัตรู คือมะเร็ง การตัดสินใจไม่ไปตามหมอนัดในวันที่ 25 กันยายนที่จะถึงนี้ ไม่รู้ว่าป๋าคิดผิดหรือคิดถูก ก็อย่างจะขอความคิดเห็นจากลูกด้วย และยินดีที่จะได้รับฟังความคิดเห็นของลูก ตามจดหมายของลูกบอกว่ามะเร็งมาเยี่ยมกายลูกเมื่อเก้าปีมาแล้ว และก็จากไปแล้วและก็เพิ่งกลับมาเยี่ยมใหม่เมื่อสามปีที่แล้ว ก็อยากจะรู้ว่ามะเร็งจากลูกไปเมื่อเก้าปีที่แล้วอย่างไร ด้วยธรรมชาติบำบัดหรือผ่าตัด และเมื่อมะเร็งกลับมาใหม่ครั้งหลังเมื่อสามปีมานี้ลูกจึงใช้วิธีธรรมชาติ บำบัดกับอาจารย์สาธิตดังที่เขียนไว้ในดังหนังสือ “เมื่อฉันรู้ตัวเองว่าเป็นมะเร็ง” ใช่ไหม หรือลูกเขียนบอกไว้ชัดเจนแล้วในหนังสือเล่มนั้น ป๋าจึงต้องของกลับไปอ่านทบทวนใหม่อีกครั้ง พร้อมจดหมายฉบับนี้ป๋าได้ฝากหนังสือมาให้ลูกพิจารณาสองเล่ม และเรียกร้องขอให้ลูกได้พิจารณา และยินดีที่จะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับลูกเสมอ…รัก..ป๋าสุพจน์"

          ก็อยากจะขอบคุณสุภาพรและก็พูดถึงน้ำใจของสุภาพรไว้ให้ปรากฏ ณ ที่นี้ด้วย แค่นี้ล่ะครับ

 

ดร.เสรี พงศ์พิศ :

          ผมเป็นหนึ่งในหกที่เหลือของงานสัมนาของหมอโกมาตรครับ ผมชื่อเสรี พงศ์พิศ ผมฟังเรื่องของสุภาพร ผมอยากจะสรุปเหมือนอย่างที่ฝรั่งเขาบอกว่า ที่สำคัญนะไม่ใช่ How Long You Live มัน How You Live คือไม่ใช่ว่ามีชีวิตอยู่ยาวที่สำคัญ แต่มีชีวิตอยู่อย่างไรต่างหาก ที่ทำให้ว่าแม้ความตายก็สวยงามได้ ผมรู้จักสุภาพรมาสัก 25 ปีเห็นจะได้ ตั้งแต่เขาเป็นนักศึกษาอยู่ ตอนนั้นผมสอนอยู่ที่คณะศิลปศาสตร์ ไม่ได้สอนที่คณะสังคมสงเคราะห์ที่สุภาพรเรียนอยู่ แต่ว่าได้ออกไปค่ายนักศึกษาของธรรมศาสตร์หรือศิลปากรไปที่ดอยสุเทพปีนั้น ไม่ทราบว่าปี 2522-2523 จำไม่ได้ ได้รู้จัก หลังจากนั้นที่เขาจบแล้วปมก็ชวนเขาไปทำงานพัฒนาชนบทในหน่วยงานที่ผมก็ทำ งานอยู่ด้วย ตอนนั้นสุภาพรก็เป็นรุ่นเดียวกับพวกที่ทำงานพัฒนาชนบทรุ่นๆ นั้นนะ ซึ่งมีชื่ออย่างมานพ อุดมเดช อย่างนภาพร หวานนท์ สุรเชษฐ์ เวชพิทักษ์ วิชิต นันทสุวรรณ คมสันต์ หุตะแพทย์ ฯลฯ พวกเขาก็เป็นรุ่น ๆ นั้น และก็ชวนเขาไปทำงานเพราะว่าผมพบว่าสุภาพรเป็นคนที่จริงจังกับชีวิต ต้องว่าจริงจังผมคิดว่าเครียดทุกคนก็เครียดอยู่แล้วไม่มากก็น้อย เครียดทั้งนั้น แต่เขาเป็นคนจริงจังแล้วก็ยิ้มแย้มแจ่มใสแล้วก็จริงจังกับชีวิต

          ผมคิดว่าทั้งชีวิตของเขาแสวงหาอะไรบางอย่างอยู่ตลอดเวลา สุภาพ เขาแสวงหาตลอดเวลแล้วก็มันเหมือนกับที่ปัสการเขาบอกว่าขอบฟ้าไม่ได้อยู่ที่ สุดสายตา แต่อยู่ทุกย่างก้าวที่เราเดิน สุภาพรก็หานะอาจจะจนวันสุดท้าย เขาคงพบแล้วมั้งวันนี้ เขาคงพบแล้ว แต่เขาแสวงหาสิ่งนี้มาตลอดชีวิต มันคล้าย ๆ กันหนังเรื่องมายไลฟ์มากเลย มายไลฟ์ที่พระเอกเป็นมะเร็งแล้วก็พยายามแสวงหาชีวิตของตัวเองว่าเป็นใคร และก็ได้ค้นพบในวาระสุดท้าย ไม่ได้หาย เขาทำทั้งทางเลือก เขาทำทั้งคีโม ทำทุกอย่าง แล้วก็ไม่ได้หายแล้วก็ตาย

          แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือเขาได้คืนดีกับพ่อแม่ กับพี่น้อง กับตัวของเขาเอง เขาได้ค้นพบตัวของเขาเอง อันนี้ต่างหากที่ผมคิดว่ามีความสำคัญแล้วก็สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากสุภาพร ก็คือประเด็นนี้ว่า ชีวิตกับความตายนั้นมันเป็นแค่สองหน้าของเหรียญเดียวเท่านั้นเอง ไม่ได้เป็นอะไรไปมากว่านั้น แล้วก็ชีวิตกับความตายมันจะมีคุณค่าและสวยงามได้ ถ้าสมมุติว่าเราได้เข้าใจและก็ไม่ได้แบ่งแยกระหว่างสองอย่างนี้

 กรรณจริยา สุขรุ่ง (ถอดความ)

ที่มา: