Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

ปฏิบัติใจกับความเจ็บไข้และความตาย

-A +A

แสดงแก่นางพรรณวดี วศินวรรธนะ และครอบครัว เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2548

         ให้โยมวางตัวตามสบาย อาตมาขออนุโมทนาที่ถวายเพลในวันนี้ ก็ถือว่าเป็นการอุปถัมภ์พระสงฆ์ในเรื่องของอาหารเพื่อให้ดำรงอยู่ได้ อันนี้ก็ถือว่าเป็นบุญอย่างหนึ่ง แต่บุญนั้นอีกส่วนหนึ่งก็สามารถทำได้ด้วยการฟังธรรมะ อาตมามาคุยกับโยมก็ถือว่ามาทำบุญด้วย บุญนั้นทำได้หลายวิธี พูดถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ก็เป็นบุญ ฟังสิ่งที่เป็นประโยชน์ก็ถือว่าเป็นบุญเช่นกัน

         โยมในตอนนี้ถ้าจัดในแง่ของสภาพร่างกายก็ถือว่าป่วย ซึ่งอันนี้ก็ถือว่าเป็นธรรมดา ไม่ใช่ว่าเป็นกับเฉพาะโยม อาตมา หรือคนอื่นที่เห็นว่าปกติ ธรรมดา เขาก็ป่วย เพียงแต่ยังไม่แสดงออก พระพุทธเจ้าตรัสว่า ความป่วยอยู่ในความไม่มีโรค พระพุทธเจ้าตรัสว่า ความตายมีอยู่ในความมีชีวิต ความแก่มีอยู่ในความหนุ่มสาว คือไม่ได้แยกกัน คนที่ปกติก็ถือว่ามีความป่วยแต่ยังไม่แสดงออก ความป่วยนั้นก็มี ๒ สองอย่าง คือ ป่วยกาย และป่วยใจ ซึ่งมันไม่ได้หมายความว่า หรือไม่จำเป็นว่าจะต้องไปด้วยกัน หรือเป็นด้วยกัน ป่วยกายแต่ไม่ป่วยใจก็มี ซึ่งเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าก็เคยสอน พระพุทธเจ้าบอกว่า ขอให้ป่วยหรือกระสับกระส่ายแต่กายนะ แต่อย่าให้ใจป่วย หรือกระสับกระส่ายด้วย ซึ่งอันนี้ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ ป่วยในเรื่องของกายเป็นเรื่องที่เราก็ต้องรักษากันไป แต่ว่าไม่ใช่พอป่วยกายแล้วก็ป่วยใจ กายกับใจถึงแม้มันจะใกล้เคียงกัน มันเกี่ยวข้องกัน แต่มันก็แยกจากกันได้ในระดับหนึ่ง ใจที่สบาย ใจที่ปกติ สามารถอยู่ได้แม้กระทั่งในร่างกายที่ป่วย ในทางตรงข้าม คนที่สุขภาพกายดี แต่ใจป่วยก็มี ถึงแม้ว่า โยมจะป่วยทางกาย ความป่วยนั้นแสดงออกมา แต่ว่าใจนั้นก็สามารถที่จะรักษาให้เป็นปกติได้ มันอยู่ที่เราไปสำคัญมั่นหมายกับความป่วยทางกายแค่ไหน มันขึ้นอยู่กับมุมมอง ขึ้นอยู่กับทัศนคติด้วย

         ที่วัดป่าสุคะโต มีอยู่คนหนึ่งที่พิการ เราเรียกว่า อาจารย์กำพล เขาเป็นครู เราจึงเรียกกันว่าอาจารย์ แต่ตอนหลังที่เรียกอาจารย์เพราะท่านเป็นอาจารย์ทางธรรมด้วย ท่านพิการตั้งแต่คอลงมา พิการมาตั้งแต่อายุ ๒๐ กว่า ชีวิตนี้หมดหวัง เคยมีความหวังว่าจะหายแต่ว่ารักษาเท่าไรก็ไม่หาย ในที่สุดก็รอวันตาย แต่รอเท่าไรก็ไม่ตาย ก็เฝ้าเร่งว่าเมื่อไรจะตายสักที เพราะรู้สึกว่าอยู่ไปก็เดือดร้อน เป็นภาระแก่แม่พ่อซึ่งต้องคอยอุ้มเข้าห้องน้ำ คอยป้อนอาหารให้ ต้องคอยสวนให้ขับถ่าย คือต้องทำอะไรให้ทุกอย่าง เพราะตัวเองทำอะไรไม่ได้สักอย่างนอกจากเคี้ยว ขับถ่ายก็ต้องให้พ่อแม่ช่วย ตอนหลังพอปฏิบัติธรรมในแนวของหลวงพ่อเทียน หลวงพ่อคำเขียน ด้วยการคลึงนิ้วไปมา ทำได้แค่นั้น เพราะทำอย่างอื่นไม่ได้ ลมหายใจก็ติดขัด เพราะเดินจงกรมก็ไม่ได้ แต่ปรากฏว่าทำไปทำมา ดูกายดูใจ รู้กายรู้ใจ ก็ได้เห็นว่าคนเราก็มีแค่นั้น คือกายกับใจ และพอรู้กายรู้ใจบ่อยๆ ก็รู้เท่าทันความคิดนึก เห็นว่าที่ตัวเองพิการคือ พิการแต่กาย หากใจไม่ได้พิการด้วย แต่ไปหลงคิดตั้งนานว่า ฉันเป็นคนพิการ พอคิดว่าฉันพิการ ใจมันก็เลยพิการไปด้วย แต่ที่จริงมันพิการแต่กาย ฉันไม่ได้พิการด้วย แต่ก่อนไปคิดว่า การพิการเป็นของฉัน ๆ ก็เลยพิการไปเลย ทั้งที่จริงมันพิการแค่กาย แต่ใจก็เผลอว่าใจพิการไปด้วย

         พออาจารย์กำพลเห็นอย่างนี้เข้าก็เลยบอกว่า จิตเรานี่ลาออกจากความพิการ จิตใจก็ทิ้งภาระของหนักลงไปเลย จิตใจโปร่งเบาสบาย และปรากฏว่าก็มีความสุขมาก จากการปฏิบัติและค้นพบอันนี้ มีความสุขจนกระทั่งคนที่มาวัด เห็นอาจารย์กำพลมีความสุข เขาก็เลยมาปรึกษาหารือ เอาเรื่องทุกข์เรื่องร้อนมาเล่าให้อาจารย์กำพลฟังเพื่อขอความช่วยเหลือ กลับกลายเป็นว่าคนอาการปกติ ครบ ๓๒ กลับทุกข์มากกว่า คนพิการอย่างอาจารย์กำพลกลับมีสุขมากกว่า ทั้งๆ ที่ตัวเองพูดง่ายๆ ไม่มีอนาคต จะตายเมื่อไรก็ไม่รู้ แต่กลับมีความสุขแม้กายพิการ นี่ก็เป็นตัวอย่างว่า กายพิการแต่ใจไม่พิการ ซึ่งถ้าพระพุทธเจ้ามาตรัสก็คงจะตรัสแบบนี้แหละว่า คนเรากายพิการแต่ใจไม่จำเป็นต้องพิการด้วย

         ความเจ็บป่วยก็เหมือนกัน เราสามารถที่จะรักษาใจให้เป็นสุขได้ ใจที่ป่วยคือใจที่เครียด ทุกข์ กังวล หมดหวัง ใจที่เศร้าหมอง หดหู่ ตรงนี้มันไม่จำเป็นว่าต้องเกิดกับเราเสมอไป เราสามารถที่จะรักษาใจให้สดใส เบิกบาน แช่มชื่นได้ ทำได้อย่างไร เราก็อาจจะทำได้แบบชั่วคราว เช่น บางคนก็นอนสมาธิ ในระหว่างที่เขาปวด เขาก็ทุกข์ แต่พอเขาทำสมาธิตามลมหายใจ พอจิตสงบเข้า ความปวดความเจ็บก็หาย ที่จริงความเจ็บความปวดมันไม่หายหรอก มันอยู่ แต่ใจไม่ไปรับรู้ ใจไปอยู่กับความเย็น ความสบาย ไปอยู่กับสิ่งอื่นแทน ก็เหมือนกับคนที่เล่นไพ่ เล่นทั้งวันทั้งคืน ถามว่าเขาไม่เมื่อยหรือ ที่จริงเขาเมื่อย แต่เขาไม่รู้สึก เพราะเขากำลังเพลินกับการเล่นไพ่ เขากำลังมีสมาธิกับการเล่นไพ่ แต่พอเล่นเสร็จถึงรู้สึกถึงความเจ็บความเมื่อยขึ้นมา ก็เหมือนกันคนเจ็บคนป่วย พอเขามีสมาธิ ทำให้สมาธิเกิดขึ้น เขาก็ไม่รู้สึกถึงความเจ็บความปวด เขาก็สบายความเครียดความทุกข์หายไป มีแต่ความเย็น ความสบาย หรือความปิติเกิดขึ้นมา อันนี้ก็เรียกว่าจิตใจเป็นปกติ ไม่ป่วย ทั้งๆ ที่เขาก็นอนแบบอยู่ ทั้งๆ ที่ความเจ็บความปวดเกิดขึ้น แต่เขาก็ไม่รู้สึก ไม่รับรู้ แต่ว่าพอหายจากสมาธิอาจจะเกิดรับรู้ถึงความเจ็บความปวดขึ้นใหม่ได้ ก็เป็นธรรมดา

         นอกจากใช้วิธีสร้างสมาธิ หรือให้จิตไปจดจ่อกับสิ่งอื่นที่ไม่ใช่ความเจ็บความปวดของร่างกายเรา มันก็มีอีกวิธีหนึ่งก็คือการฝึกให้มีสติ เห็นความเจ็บความปวดเกิดขึ้นกับกาย แต่ไม่เข้าไปยึดมัน รู้ เห็น ส่วนใหญ่คนเราพอเกิดความเจ็บความปวดขึ้นมา มันก็เข้าไปยึดว่าเป็นของเรา เป็นฉัน ฉันก็เลยเป็นผู้เจ็บผู้ปวดขึ้นมา เหมือนกับเวลาที่เราคิดใจลอย ถ้าเราไม่มีสติ เราก็จมหายเข้าไปในความคิดนั้น พอคิดเรื่องไม่ดีเราก็ทุกข์ พอคิดเรื่องที่ชวนให้โกรธ เราก็โมโหเป็นไปตามความคิดนั้น ความโกรธความโมโหเกิดขึ้น พอไม่มีสติก็เลยกลายเป็นผู้โกรธ ผู้โมโห แต่พอเรามีสติเราเห็นความคิด รู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกดังกล่าว อารมณ์ความรู้สึกนั้นก็ปรากฏอยู่แต่ข้างนอก เราไม่เข้าไปเป็นมัน อันนี้ก็เป็นวิธีของสติ ซึ่งมันใช้ได้กับทุกอย่าง ทั้งเรื่องที่เห็นทางตา ได้ยินทางหู หรือว่าได้กลิ่นทางจมูก เวลาที่มีอะไรมากระทบ ถ้าเราไม่รู้ทันเราก็โกรธ เราก็หงุดหงิด แต่ถ้าเรารู้ทันมัน เราก็เห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่น่าดู เป็นสิ่งที่น่ารำคาญ แต่ใจเราก็ไม่รำคาญด้วย

         มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับหลวงปู่บุดดา มีคนมานิมนต์ท่านนิมนต์ไปฉันเพล พอฉันเพลเสร็จโยมก็บอกว่าก่อนที่ท่านจะกลับวัดที่สิงห์บุรี ก็ให้ท่านเอนกายสักหน่อยที่บนบ้านชั้น ๒ หลวงปู่ท่านก็เอนกายในห้องที่จัดให้โดยมีโยมมานั่งอยู่รอบๆ ในห้อง พูดจากระซิบกระซาบ กลัวจะไปรบกวนท่าน บังเอิญว่าห้องข้างๆ เป็นห้องแถว คนสมัยก่อนเมื่อ ๓๐–๔๐ ปีเขาก็ใส่เกี๊ยะกัน เวลาเดินขึ้นลงมันก็เสียงดัง โยมของหลวงปู่บุดดา ก็บ่นกระซิบกระซาบกันว่า ไม่เกรงใจกันเลย เดินเสียงดังจังเลย หลวงปู่บุดดาท่านหลับตาแต่ก็ได้ยิน ท่านพูดเบาๆ ว่า 'เขาเดินของเขาอยู่ดี ๆ เราเอาหูของเราไปรองเกี๊ยะของเขาเอง' อันนี้คือไม่มีสติ พอไม่มีสติ มีเสียงที่ไม่พอใจเราก็ไปยึด มาทิ่มมาแทงใจเรา บางทีมันไม่ใช่เสียงเกี๊ยะ แต่เป็นเสียงด่า เสียงตำหนิ หรือการกระทำบางอย่างที่ทำให้เราไม่พอใจ น้อยอกน้อยใจ หงุดหงิด อันนี้เพราะไม่มีสติ

         ถ้ามีสติมันเห็นแล้วมันปลง มันไม่ไปยึด ถามว่าความหงุดหงิดมีไหม มี แต่ไม่เอา เห็นแต่ไม่เอา มีคนถามหลวงปูดุลย์ ลูกศิษย์หลวงปู่มั่นว่า หลวงปู่มีความโกรธไหม เพราะเขาลือว่าท่านเป็นพระอรหันต์ หลวงปู่ดุลย์บอกว่า 'มี แต่ไม่เอา' ไม่เอาเพราะว่ามีสติ เห็น และมีปัญญารู้ว่ามันไม่น่าเอา อันนี้คือสติ เพราะฉะนั้นเวลาที่เรามีความเจ็บความปวดเกิดขึ้น มันเจ็บมันปวดก็จริง แต่ไม่จำเป็นว่าฉันจะต้องเจ็บต้องปวดด้วย อาจารย์พุทธทาสท่านยกตัวอย่างว่า เวลามีดบาดนิ้ว ถ้าไปสำคัญมั่นหมายว่า มีดบาดฉัน แต่ถ้าเห็นว่ามีดบาดนิ้วมันปวดน้อยกว่า มีดบาดนิ้วกับมีดบาดฉัน มันต่างกัน ถ้าไม่มีสติก็บอกว่ามีดบาดฉัน มันมีตัวฉันเกิดขึ้น เห็นความเจ็บ ถ้าไม่มีสติ ก็เกิดความรู้สึกว่าฉันเจ็บ อันนี้ก็เลยทุกข์ เหมือนอาจารย์กำพล ก็พิการแต่กาย พอไปคิดว่าฉันเป็นคนพิการ ใจก็เลยพิการไปด้วย เป็นทุกข์ไปด้วย กายพิการมันรักษายาก แต่ใจพิการมันรักษาง่าย ฉับพลันได้เลย อย่างอาจารย์กำพลกายพิการไม่มีทางรักษาหาย เทคโนโลยีรักษาไม่หาย แต่ความพิการในใจของอาจารย์กำพลมันหายได้เร็ว ฉับพลัน

         เพราะฉะนั้นความป่วยกายมันรักษายาก เทคโนโลยีมีจำกัดในบางโรค และในบางระยะของโรคมันก็รักษายาก แต่ว่าความป่วยทางใจมันหลุดได้ง่าย ถ้าเรารู้วิธี กายของคนเรามันก็มีแต่จะเสื่อมลงไปๆ พอเป็นหนุ่มเป็นสาวก็มีแต่จะเสื่อมลง แต่ใจมันไม่ใช่ว่าจะต้องเสื่อมลงตามวัย มันเจริญงอกงามขึ้นไปตามวัยได้เหมือนกัน ในขณะที่กายกำลังเสื่อมลง ๆ แต่เราสามารถที่จะรักษาใจ หรือทำใจให้ดีขึ้น ดีขึ้นไปได้เรื่อยๆ ด้วยการมีสติ ไม่ให้ความทุกข์ ความเจ็บความปวดมาครอบงำใจ คือมองเห็นแต่ไม่ไปเป็นมัน เห็นความเจ็บแต่ ไม่เป็นผู้เจ็บ อันนี้ฟังอาจจะเข้าใจยาก แต่ถ้าเราปฏิบัติ เราก็จะเริ่มเห็น ก็ต้องฝึกจากการเห็นความคิดก่อน เห็นความคิดรู้ทันความคิด ต่อไปก็จะรู้ทันอารมณ์ความรู้สึก อารมณ์ความรู้สึกนี่มันละเอียดอ่อนกว่าความคิด เวลาเราคิดเราคิดเป็นคำ คิดเป็นภาพ เพราะมันจับง่าย แต่เวลาที่มันเกิดอารมณ์ขึ้นมา บางทีมันเป็นเหมือนกับสิ่งที่หมองมัว หนักอึ้งอยู่ข้างใน มันไม่เป็นคำ ไม่เป็นภาพ มันจับยาก แต่ว่าพอเรารู้มัน เรามีสติ เราก็สลัดมันทิ้งไปได้ มีความเจ็บแต่ไม่เป็นผู้เจ็บ เห็นความเจ็บแต่ไม่เป็นผู้เจ็บ เห็นความกลัว เห็นความท้อ แต่ไม่เป็นผู้ท้อ ผู้กลัว ผู้โกรธ เป็นสุขได้ด้วยสติ

         อีกวิธีก็คือ ปัญญา คือปัญญาความรู้ความเข้าใจในความเป็นจริงของชีวิต มีความรู้ความเข้าใจว่าสังขารมันเป็นอย่างนี้เอง เป็นเพราะเราไม่เห็นมัน ไม่เห็นความจริงของชีวิตเราก็ไปยึดว่ามันต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มันจะต้องยั่งยืน เราจะต้องสบายไปตลอด แต่พอมันไม่เป็นไปตามใจเรา หากเป็นไปตามธรรมชาติ คือมีขึ้นมีลง มีเสื่อมมีเจริญ เจริญหรือขึ้นนี่มันไม่เท่าไร แต่พอมันเสื่อม มันทรุดไม่ถูกใจเรา เราก็ทุกข์ เพราะเราไปตั้งความหวัง ตั้งมาตรฐานเอาไว้ว่า ชีวิตมันต้องสุขต้องสบายไม่ป่วย การที่เราไปยึดว่ามันเป็นของเรา การที่เราไม่ยอมรับความจริง ในความเสื่อมของสังขารก็เพราะเราไปยึด ว่ามันเป็นของเรา เราบังคับได้ แต่ถ้าเรามีปัญญาเห็นว่าของพวกนี้มันไม่ใช่ของเรา มันบังคับไม่ได้ และต้องเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัย ถ้าเรารู้เช่นนี้เราก็ทำใจยอมรับไปได้ ว่ามันเป็นเช่นนี้เอง

         วิธีนี้บางทีในแง่หนึ่ง มันไม่มีอะไรที่จะทำให้เราเห็นความจริงได้ดีกว่าความเจ็บความปวด เพราะตอนที่เราสบาย เราก็คิดว่าอาการสบายจะอยู่กับเราไปตลอด ความสบายทำให้เราไม่เห็นความจริงของธรรมชาติ ที่มันต้องเสื่อมต้องทรุด และเวลาที่มันสบายเราก็ยึดว่า ชีวิตนี้มันน่ายึด สังขารนี้มันน่ายึดมั่นถือมั่น เพราะมันสบาย แต่พอเราเจอความเจ็บความป่วยขึ้นในทางพระพุทธศาสนา ก็บอกว่าความเจ็บความป่วยมันก็มีประโยชน์ มันมาสอนให้เราเห็นสัจธรรม ว่าสังขารมันไม่น่ายึดไม่น่าเอาว่าเป็นของเรา ถ้าสังขารไม่เจ็บไม่ป่วยเราก็น่ายึดน่าเอา แต่พอสังขาร หรือร่างกายมันเจ็บมันป่วย เราก็พบว่า อันที่ ๑ มันไม่ใช่ของเรา เราควบคุมมันไม่ได้ อันที่ ๒ ก็คือ มันไม่น่าเอา ไม่น่ายึดมาเป็นของเรา ก็ทำให้เราค่อยๆ ปล่อย ค่อยๆ วาง เราจับของชิ้นหนึ่งเราก็รู้สึกว่ามันเย็น สบาย พอมันเริ่มร้อนขึ้น ๆ เราก็รู้แล้วว่าจับไม่ได้แล้ว วางดีกว่า ถ้ามันไม่ร้อน เราก็ยึดก็จับมันเรื่อยไป แต่พอมันเริ่มร้อนขึ้นมา เราก็รู้สึกว่ามันไม่น่าเอา ก็วาง พอวางก็ทำให้ใจสบาย อันนี้ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยทำให้เรายอมรับความจริงว่ามันต้องป่วย ต้องเจ็บ และต้องดับไป คือ ตาย มันเป็นธรรมชาติของมัน

         ถ้าเรายอมรับความจริงอันนี้ได้ เราก็วางมันได้ หรือเราก็ยอมรับอาการที่มันเสื่อม มันทรุดลงไปได้ อีกวิธีหนึ่งที่ช่วยได้ก็คือการมองในแง่ดี เมื่อ ๒-๓ เดือนก่อนอาตมาก็ไปที่ภาคใต้ ไปอบรมเรื่องเผชิญความตายอย่างสงบ อบรมเสร็จก็ให้คนที่ร่วมอบรมไปเยี่ยมคนเจ็บที่โรงพยาบาล ไปเยี่ยมผู้ป่วยหนัก มีคนหนึ่งไปเจอผู้ป่วยเด็กผู้หญิงคนหนึ่งอายุ ๑๔ ปี หัวล้านผมร่วงหมดเลย เราก็รู้ว่าไปฉายแสงมา ถามว่าเขาป่วยเป็นอะไร เด็กบอกว่าเป็นมะเร็งสมอง แต่ว่าเด็กมีสีหน้าแช่มชื่น พูดคุยเป็นปกติธรรมดา ถามไปถามมาเด็กบอกว่าตนเองโชคดี ถามว่าโชคดีอย่างไร เด็กตอบว่าโชคดีที่ไม่เป็นมะเร็งมดลูก เพราะว่ามีญาติเป็นมะเร็งมดลูก และเห็นว่าเขาปวดทรมานมาก ตัวเองโชคดีที่เป็นแค่มะเร็งสมอง อาตมาคิดว่าคงเป็นเพราะแกมองอย่างนี้ แกก็เลยแช่มชื่นว่า แกโชคดี ไม่เป็นมะเร็งมดลูก ก็คุยกันสนุกสนานกับอาสาสมัครที่ไปเยี่ยม แล้วอาสาสมัครมาเล่าให้ฟังว่า รู้สึกว่า ความทุกข์ของตนเบามากเลยเมื่อเทียบกับเด็กคนนี้ ก่อนหน้านี้เขาบอกว่า เขาหัวเราะไม่ได้ ยิ้มไม่ได้มาเป็นเดือนแล้ว จำไม่ได้ว่ายิ้มครั้งสุดท้ายเมื่อไร แต่พอเขาเจอเด็กคนนี้ ยิ้มแย้มทั้งที่เป็นมะเร็งสมอง เขารู้สึกว่าความทุกข์ของเขาที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ครอบครัว การงาน มันเล็กน้อยไปเลย

         อันนี้เป็นการมองตามหลักพระพุทธศาสนาเหมือนกัน คือ การมองให้เป็นกุศล บางคนมองไปมองมาก็อุทานว่า โชคดีที่ฉันเป็นมะเร็ง ก็มีนะคนที่บอกว่าโชคดีที่ฉันเป็นมะเร็ง เพราะว่าตอนที่ไม่เป็นมะเร็ง ไม่รู้ความหมายของชีวิต ใช้ชีวิตไปเรื่อยเปื่อย พอรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง ไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไรก็เลยเริ่มที่จะมาตั้งหลัก หันมาสนใจธรรมะ หันมาสนใจครอบครัว หันมาทำสมาธิก็พบว่ามันมีคุณค่าขึ้นมา และค้นพบความสุขภายใน แต่ก่อนไปเที่ยวเพราะคิดว่าความสุขมันอยู่ข้างนอก แต่เพราะมะเร็งมันทำให้เขาหันมาหาตัวเอง หันมาฝึกจิตฝึกใจ จนมาพบว่าความสุขมันอยู่ที่ภายใน ก็รู้สึกซาบซึ้งว่า ถ้าไม่เป็นมะเร็ง ก็คงไม่พบความจริงข้อนี้ เขาก็รู้สึกว่าต้องขอบคุณมะเร็ง ที่ทำให้เขาค้นพบข้อนี้ ตรงกับที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนเราแม้จะประสบทุกข์ก็สามารถเป็นสุขอยู่ได้ เราต้องทำตรงนี้ให้ได้ คือว่า แม้จะประสบทุกข์แต่ก็หาสุขพบ คือสุขท่ามกลางความทุกข์ เรียกว่า รู้จักใช้ธรรมชาติให้เป็นประโยชน์ อย่างที่บอกว่า ทุกข์มันอยู่ในความสุข ความตายมีอยู่ในชีวิต

         อาหารอร่อยเมื่อเรากินเข้าไปนาน ๆ มันก็เบื่อ กินทุกมื้อ ๆ สักเดือนหนึ่งก็จะเอียน ความไม่อร่อยมันแฝงอยู่ในความอร่อย อิริยาบถที่เราสบาย ไม่ว่าจะเป็นท่านั่ง ท่านอน ปล่อยขา ห้อยขา หรือนั่งเอนหลัง ลองนั่งไปนาน ๆ มันก็จะเริ่มทุกข์ พระพุทธเจ้าก็เลยบอกว่า ความทุกข์มันอยู่ในความสุข ไม่มีอะไรที่มันสุขแล้วไม่ทุกข์ อยู่ไปนานๆ กินไปนานๆ เพลงที่เพราะฟังไปนานๆ ก็น่าเบื่อ ความทุกข์อยู่ในความสุข ในทางตรงกันข้าม ในความทุกข์ก็มีความสุข คือธรรมชาติก็ยุติธรรม ในสุขมีทุกข์ ในทุกข์มีสุข เป็นหน้าที่ที่เราต้องหาดูว่า ในทุกข์มีความสุขอย่างไร หลายคนก็พบในขณะที่ตัวเองเป็นทุกข์เพราะโรคภัยไข้เจ็บ ก็เลยทำให้เรียนรู้ที่จะอยู่กับตนเอง และพบความสุขในทุกขณะจิตแม้ในขณะที่ป่วยได้ มีความสุขจากการทำสมาธิ มีความสุขที่ได้อยู่ใกล้ชิดครอบครัว มีความสุขกับการได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก แม้ว่าสังขารจะไม่อำนวย แต่ว่าก็ทำได้อย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นมันเป็นเรื่องที่อยู่ในวิสัยที่เราจะค้นพบได้ พระพุทธเจ้าถึงตรัสว่าแม้กายจะกระสับกระส่ายแต่ใจไม่กระสับกระส่ายก็ได้

         อยากจะให้กำลังใจโยมว่าลองดูว่าเราจะทำให้ใจของเราเป็นสุขไม่ทุกข์ได้อย่างไร ด้วยการทำใจให้มีสมาธิ ไม่ไปรับรู้ ไม่ไปรู้สึกถึงความเจ็บ หรือความปวดไม่สบายทางกาย ไม่ปล่อยให้ความคิดฟุ้งซ่านเข้ามาครอบงำจิต ความกังวลในอนาคตเข้ามาครองใจ เราทำได้ด้วยสมาธิ และอาศัยสติเข้ามาช่วยให้รู้ทันความคิดนึก อนาคตมันจะเป็นอย่างไรมันเป็นเรื่องของอนาคต สำคัญคือว่าตอนนี้เราพยายามอยู่กับปัจจุบันให้ดีที่สุด อยู่แต่ละวันให้ดีที่สุด อยู่แต่ละชั่วโมงให้ดีที่สุด แต่ละนาทีให้ดีสุด ให้ดีที่สุดคือ มีความสุข มีความผ่อนคลาย อย่าไปให้เรื่องอดีต หรือว่าเรื่องอนาคตเข้ามารบกวนจิตใจของเรา เพราะว่า อดีตกับอนาคตมันเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ของจริง ของจริงอยู่ที่ปัจจุบัน และอยู่ในวิสัยที่เราสามารถควบคุมได้ มีความสุขอยู่ในปัจจุบันนั้นทำได้ แต่เราจะเปลี่ยนอดีตให้เป็นสุขทำไม่ได้แล้ว หรือจะไปคาดหวังว่าอนาคตให้เป็นสุขก็ทำยาก เพราะยังไม่มา สิ่งที่ทำได้เลยก็คือปัจจุบัน

         ลองดูวิธีที่ช่วยทำให้จิตของเรามีสติ มีสมาธิ อย่างที่อาตมาว่าไว้ตอนแรกๆ คือว่า เราตามลมหายใจ คลึงนิ้วไปเรื่อยๆ อย่าไปหวังว่ามันจะสงบ มันฟุ้งซ่าน มันไปไหนก็ช่างมัน ขอให้กลับมา ทำเล่นๆ อย่าไปคาดหวัง แล้วก็อ่อนโยนกับตัวเอง เพราะเราก็เจ็บป่วยทางกายแล้ว เราอย่าไปเคี่ยวเข็ญตนเองในทางจิตใจ จะมีเผลอ มีฟุ้งไปบ้างก็ไม่เป็นไร อย่าไปลงโทษตัวเอง อย่าไปเคี่ยวเข็ญตนเองมากเกินไป ทำสบายๆ ทำเล่นๆ ไป บางทีก็ใช้วิธีสวดมนต์ การสวดมนต์ก็ช่วยทำให้ใจเราเป็นสมาธิ หลุดออกจากเรื่องที่ไม่ดีทางกาย หรือว่าความกังวลอะไรต่าง ๆ ได้ หรือว่าการผ่อนคลายร่างกายของเรา เช่นส่วนไหนที่มันเป็นปัญหาที่เจ็บที่เมื่อย ส่วนไหนที่เป็นอาการของโรค เราอาจจะลองจินตนาการนึกภาพว่าร่างกายของเรา กำลังทำงานเต็มที่เพื่อฟื้นฟูตัวเอง ภูมิคุ้มกันกำลังช่วยขับไล่สิ่งแปลกปลอม หรือว่าสิ่งที่เป็นเนื้อร้ายออกไป อาจจะนึกภาพว่ามีกองทัพพยาบาลกำลังเข้าไปช่วยฟื้นฟู อวัยวะส่วนนั้นให้หาย ให้ดีขึ้น บางคนก็อาจจะนึกภาพเป็นอัศวินที่กำลังต่อกรกับมังกรร้าย ระหว่างที่เราทำเราก็จิตนาการไป มันเหมือนกับการคุยกับร่างกายของเราเอง ให้กำลังใจเขา ให้กำลังใจอวัยวะส่วนต่างๆ มีกำลังใจ เพราะว่าเขากำลังทำเต็มที่อยู่แล้ว เราให้กำลังใจเขา ก็ฝึกเล่นๆ แบบนี้ไปให้ใจผ่อนคลาย กายก็ผ่อนคลายด้วย วิธีนี้ก็ช่วยได้เหมือนกัน

         อาตมาก็อยากจะให้กำลังใจโยมว่า แม้ว่าร่างกายของเรา จะไม่เอื้ออำนวยให้เราทำอะไรหลายๆ อย่างเป็นปกติได้ แต่ในอีกแง่หนึ่งก็เป็นโอกาสให้เราฝึกจิตฝึกใจ ให้เกิดสมาธิ มีสติ และเป็นโอกาสที่สอนธรรมะให้แก่เรา อย่างที่ท่านอาจารย์พุทธทาสบอกว่า ความเจ็บไข้มาเตือนให้เราฉลาดขึ้น ฉลาดในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิต กฎธรรมชาติ อาตมาอยากเพิ่มว่า อย่าให้เราขาดทุน ถ้าเราทุกข์ หรือเราป่วย แล้วเราทุกข์ เราขาดทุน แต่ถ้าเราป่วยแล้วเรารักษาใจไม่ให้ทุกข์ อันนี้เราเสมอตัว แต่ถ้าเราป่วยแล้วเราพิจารณาจนกระทั่งเกิดปัญญาขึ้นมา เรามีคุณภาพจิตดีขึ้น เรามีสุขภาพจิตดีกว่าเดิม อันนี้คือกำไร แต่อย่างน้อยๆ ก็อย่าให้ขาดทุน คืออย่าทุกข์เพราะความเจ็บป่วย อย่างน้อยๆ ก็ให้เสมอตัว คือไม่ทุกข์ ถ้าจะให้ดี ก็ต้องมีความสุขมากกว่าเดิม ซึ่งเป็นไปได้

         เพื่อนของอาตมาคนหนึ่งบอกว่า ช่วง ๒ ปีสุดท้าย ตั้งแต่เขาล้มป่วย นอนแทบขยับตัวไม่ได้เลย ตึงไปหมดทั้งตัว เขาก็บอกว่าช่วง ๒ ปีสุดท้ายของเขา เป็นช่วงที่เขามีความสุขมากที่สุด อันนี้เรียกว่าเขากำไร จากอาการที่ไม่พึงประสงค์ แต่เขาสามารถที่จะข้ามพ้นมันได้ ก็เรียกว่าเป็นผู้ที่สามารถประสบสุข คือแม้จะทุกข์ แต่ก็สามารถที่จะค้นพบความสุขได้ เรื่องการฝึกแบบนี้ มันต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป อย่าไปคาดหวังว่าฉันจะต้องเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ หรือ ต้องได้ภาวะอย่างโน้นอย่างนี้ คือมันต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป เราต้องให้จังหวะ ให้โอกาสในตัวเราเองที่จะค่อยๆ เรียน แต่ขอให้มั่นใจได้ว่า ในจิตใจของโยมมีศักยภาพ ที่จะเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้ และเมื่อใจสบายก็ช่วยทำให้กายสบายไปด้วย เหมือนบางคนพอเขาปฏิบัติ พอเขามีสมาธิมากขึ้น เขาแทบไม่พึ่งยาเลย แม้กระทั่งยาระงับปวดเขาก็ไม่ใช้เลย เพราะกายมันปวดน้อยลง ตอนนี้กายเราอาจจะยังอยู่ในสภาวะที่ยังฟื้นฟู แต่ว่าใจของเราสามารถที่จะเรียกว่า เจริญก้าวหน้า หรือว่าเจริญพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว สามารถที่จะมาช่วยให้กายดีขึ้นได้ และอย่าลืมว่าเราต้องใช้โอกาสนี้มาเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ชีวิต ในเรื่องของความเป็นทุกข์ ความไม่เที่ยง ความไม่จีรัง

         ทุกเช้าเมื่อตื่นขึ้นมา ก็ให้ถือว่าความเจ็บความปวดมาสอนโยมว่า ชีวิตเป็นอย่างนี้เอง ธรรมชาติ สังขารมันเป็นอย่างนี้เอง เหมือนมาเป็นครูเรา ให้การบ้านกับเราว่า ทำอย่างไรเราถึงจะไม่ทุกข์ได้ แม้ว่ากายจะเจ็บจะป่วย นี่คือการบ้านที่สังขารกำลังให้แก่เรา เขาเป็นครูให้กับเรา ถ้า เราระลึกถึงอย่างนี้อยู่เสมอ อาตมาก็แน่ใจว่า สักวันเมื่อถึงจุดหนึ่งเราสามารถที่จะเข้าใจ และสามารถที่จะฉลาดขึ้นอย่างที่ท่านอาจารย์พุทธทาสว่าไว้ และสามารถที่จะเป็นทุกข์น้อยลงกับความเจ็บความปวดทางกายที่เกิดขึ้น ก็ฝากเอาไว้เท่านี้ก่อน คิดว่าโยมก็ได้ฟังมามากแล้วก็คงจะเข้าใจในสิ่งที่อาตมาว่า อาตมาเพียงแต่มาย้ำ หรือมาเตือน และมาให้กำลังใจ และคิดว่าครอบครัว สามี ลูกๆ และญาติพี่น้อง หลาน ๆ ก็ยินดีที่จะช่วยเหลือ และอยู่เป็นกำลังใจให้แก่โยม

         ขณะเดียวกัน ก็เป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับโยมด้วย ในเรื่องธรรมชาติของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือแม้กระทั่งเรื่องความตายที่ถือว่าเป็นธรรมดาของชีวิต และให้ระลึกว่าความตายมันเกิดขึ้นกับเราทุกขณะ พระพุทธเจ้าตรัสว่าความตายมีอยู่ในชีวิต ในทุกขณะมีความตายเกิดขึ้นแล้ว เซลล์ของเรามันตายทุกขณะ ห้าหมื่นล้านเซลล์ตายทุกวัน ภายในเวลาหนึ่งเดือนไม่รู้ว่ามันเปลี่ยนอวัยวะไปกี่ส่วนแล้ว ความตายมันเกิดทุกขณะ เราก็เรียนรู้ที่จะอยู่และก็ไม่เป็นทุกข์กับมัน ความสูญเสียความพลัดพรากก็เป็นความตายส่วนหนึ่ง การพลัดพรากจากคนที่รัก ไม่ใช่ว่าต้องล้มป่วยจึงจะนึกถึงความตาย แม้กระทั่งคนปกติธรรมดาก็ต้องระลึกนึกถึง เพราะมันเกิดขึ้นทุกขณะ ร่างกายเรามันตายทุกเวลา ความเป็นเรา เป็นโน่นเป็นนี่ก็เปลี่ยนแปลง ก็ตายทุกเวลา เดี๋ยวเป็นโน่นเดี๋ยวเป็นนี่

         การสูญเสียการพลัดพรากจากสมบัติก็เป็นส่วนหนึ่งของความตาย คือตายจากความเป็นเจ้าของ มีรถแล้วรถหาย ก็เรียกว่าตาย คือตายจากความเป็นเจ้าของรถคันนี้ หรือเป็นผู้ชนะผู้เรียนเก่งแต่แล้วก็สอบตก ก็ตายจากความเป็นผู้เก่ง กลายเป็นผู้พ่ายแพ้ กลายเป็นผู้ล้มเหลว นี่ก็คือความตายเหมือนกัน อย่านึกว่าความตายมันรอเราอยู่ข้างหน้า แท้จริงมันเกิดขึ้นกับเราทุกขณะ ปัญหาคือว่า เราจะอยู่กับมันได้อย่างไรโดยที่ไม่ทุกข์ และถ้าเราอยู่กับความตายในทุกขณะชีวิตได้โดยที่ไม่ทุกข์ ความตายจะกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไปเลย เป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ ไม่น่ากลัว แต่กลายเป็นเรื่องธรรมดา เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ที่เกิดขึ้นกับเราทุกคน เป็นวัฎจักรของการเกิดดับที่ต้องเกิดขึ้นไม่มีที่สิ้นสุดจนกว่าเราจะหลุดพ้น บรรลุนิพพาน

         ส่วนเรื่องว่าตายแล้วจะไปไหน ไม่สำคัญเท่ากับการที่เราทำใจให้สบายและเป็นสุขในขณะสุดท้ายนั้นได้ คนที่ป่วยหนักใกล้จะตาย ถ้าเขาทุรนทุรายเขารู้สึกผิดอะไรบางอย่าง เขาไม่มีโอกาสให้อภัย หรือเขากำลังรอลูกรอหลาน หรือห่วงสมบัติอะไรบางอย่าง เราก็พบว่าเขาทุรนทุราย แต่ว่าคนที่ใจเป็นบุญ ปล่อยวางทุกอย่าง นึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ บุญกุศล ปรากฏว่า เขาสบาย และเขายอมรับความตายได้อย่างสงบ อันนี้เป็นสิ่งที่แน่นอนว่า การทำจิตให้เป็นกุศลนั้นประเสริฐและดี มันเห็นผลชัดเจนเลย คุณภาพชีวิตหรือคุณภาพจิตของคนสามารถวัดกันตอนใกล้ตายว่ามันต่างกันอย่างไร ที่แปลกคือว่า แม้แต่เด็กก็ทำได้ มีเด็กอายุ ๑๐ ขวบ ป่วยอาการหนัก ถามพยาบาลด้วยความกลัวว่า'ผมจะตายแล้วหรือ' พยาบาลบอกว่าหนูไม่ต้องกลัว หนูเป็นคนกล้าหาญ ให้ระลึกถึงท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านรออยู่ข้างหน้าแล้ว หนูผ่านไปได้สบายมาก ให้นึกถึงท่านไว้ แม่และพยาบาลกำลังช่วยหนูอยู่ไม่ต้องห่วง เด็กคนนี้รู้จักท่านอาจารย์พุทธทาส พูดอย่างนี้จิตเขาก็นึกถึงท่านอาจารย์ แล้วก็ไปอย่างสงบ ไปไหนเราไม่รู้ แต่ที่เรารู้คือ เขาไปอย่างสงบ เพราะว่าเขาวางจิต วางใจไว้ดี เพราะฉะนั้นการนึกถึงสิ่งที่ดีงาม มันมีประโยชน์แน่นอน อย่างน้อยก็ทำให้สามารถที่จะผ่านช่วงสุดท้ายของชีวิตไปได้อย่างราบรื่น และอย่าไปนึกว่าเป็นเรื่องยาก เด็ก ๓ ขวบยังทำได้

         พยาบาลที่ขอนแก่นเล่าให้ฟังว่า มีเด็กคนหนึ่ง ทรมานมาก เป็นโรคอะไรไม่ทราบ พยาบาลเผอิญรู้วิธีอยู่บ้าง และเรียนจิตวิทยาเด็ก รู้ว่าเด็กชอบอุลตร้าแมน ก็ไปบอกเด็กว่า ไปซื้ออุลตร้าแมนกัน เด็กก็ไป เอ้า ! หลับตา เดี๋ยวพี่จะพาหนูไปซื้ออุลตร้าแมน ไปซื้อที่ไหน เด็กก็นึกภาพว่าออกจากบ้านเขา ถามว่าตอนนี้เดินไปถึงไหนแล้ว เด็กก็บอกว่าเดินไปถึงสวนแล้ว ก็เดินไปเรื่อยๆ พอซื้อเสร็จก็ถามว่า อุลตร้าแมนสีอะไร เด็กก็อธิบาย เห็นภาพว่าเขาไปแล้ว ไปทำอะไรบ้าง สิบห้านาที เด็กก็สงบ และหลังจากนั้น สักสองสามชั่วโมงเด็กก็จากไปอย่างสงบ โดยไม่ต้องพึ่งยาอะไรมาก เรื่องอย่างนี้อย่าไปคิดว่าเป็นเรื่องยาก ว่าเราไม่ได้ปฏิบัติธรรมมาจะทำอย่างไร คือมันเป็นเรื่องของอนาคต เราก็พยายามทำตอนนี้ให้ดีที่สุด

         อาตมาก็พูดคุยเพียงเท่านี้ และขอให้โยมรักษากาย รักษาใจให้เข็มแข็ง ให้มีสุขภาพดี จิตใจปลอดโปร่ง เบาสบาย ได้มีโอกาสสัมผัสกับใจภายในที่จะเข้าถึงความสงบเย็น และหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ เป็นลำดับไป เป็นขณะๆ ไป จนกระทั่งสามารถที่จะไม่ทุกข์ไปกับอาการที่เป็นอยู่ในขณะนี้ได้ ก็ขออนุโมทนาด้วย .

ที่มา:

บุคคลสำคัญ: