Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือ Hospice Care: กำเนิดและพัฒนาการโดยสังเขป

-A +A

 

          การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้ตายอย่างสงบนั้น มีมานานแล้ว เพียงแต่รูปแบบอาจจะแตกต่างกันไปตามยุคสมัย ในยุโรปสมัยเก่า ฮอสพิซ (Hospice) เป็นคำเรียกสถานที่พักพิงและดูแลผู้ป่วย มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า Hospes และ Hospitium หมายถึง เจ้าของบ้าน แขก หรือที่พักแรม ตั้งขึ้นโดยบรรดาสำนักสงฆ์และกองกำลังของสำนักต่างๆ ในคริสต์ศาสนา ในระหว่างสงครามครูเสด (สงครามระหว่างชาวคริสต์กับชาวมุสลิมเพื่อแย่งชิงนครเยรูซาเล็ม ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑-๑๓) เพื่อดูแลผู้เดินทางไปแสวงบุญยังดินแดนศักดิ์สิทธิ์ (นครเยรูซาเล็ม) คนป่วยจากโรคภัยต่างๆ และคนยากจน กล่าวโดยรวมคือ เป็นทั้งโรงแรม โรงพยาบาล และวัดไปพร้อมๆ กัน 

          ฮอสพิซแห่งแรกก่อตั้งขึ้นในนครเยรูซาเล็ม โดยคณะอัศวิน Knights Hospitaller ในปี พ.ศ. ๑๕๕๑ (ค.ศ. ๑๐๘๐) ถือกันว่าเป็นต้นแบบของโรงพยาบาลในสมัยต่อมาด้วย 

          ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ได้เกิด Hospice อีกลักษณะหนึ่งขึ้นในฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเน้นขอบเขตการดูแลให้แคบลง เป็นการดูแลผู้ป่วยใกล้ตาย แต่ยังคงดำเนินการโดยบุคลากรในคริสต์ศาสนา ส่วนสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายอย่างที่เข้าใจกันในปัจจุบัน เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เอง จากภารกิจเดิมที่มุ่งดูแลกลุ่มคนยากจนและด้อยโอกาส รวมถึงผู้ป่วยสารพัดโรค กลายมาเป็นสถานที่ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเป็นหลักดังเช่นในปัจจุบัน    (อย่างไรก็ดี ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นประวัติแบบทางการในทางยุโรปเท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมภาพทั้งหมดของการดูแลผู้ป่วยในวัฒนธรรมต่างๆ)

 

 

การหลีกเลี่ยงและต่อสู้กับความตาย

          แรงผลักดันประการหนึ่งที่ทำให้เกิดสถานที่ดูแลผู้ป่วยระสุดท้าย หรือ ฮอสพิซในโลกสมัยใหม่ ที่ทำการดูแลผู้ป่วยทั้งทางกายและจิตใจนั้น คือปัญหาที่เกิดจากทัศนคติที่มุ่งเน้นการรักษาให้หายจากโรคและฟื้นฟูสภาพร่างกายให้กลับเป็นเหมือนเดิม สำหรับการแพทย์ตะวันตกสมัยใหม่ ความตายเป็นตัวแทนของความล้มเหลวอย่างถึงที่สุดของกระบวนการทำงาน จึงหาทางหลีกเลี่ยงหรือทำการต่อสู้ให้ถึงที่สุด 

          สภาพการณ์ดังกล่าว สะท้อนผ่านมุมมองของนายแพทย์ชาวอเมริกันผู้หนึ่งในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๙๓ (ค.ศ. ๑๙๕๐) ว่า “ทุกวันนี้, มีแพทย์จำนวนมาก เมื่อรู้ว่าผู้ป่วยที่ตนดูแลอยู่ใกล้จะตาย, ก็พากันคิดไปว่าเป็นสิ่งที่เหมาะที่ควรแล้ว หากจะปล่อยให้เป็นภาระของพยาบาลและญาติมิตรที่โศกเศร้าอยู่เป็นคนดูแลผู้ป่วยนั้น”

          นายแพทย์อีกท่านหนึ่งได้เล่าถึงสภาพการดูแลเด็กๆ ที่ใกล้ตายในช่วงก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่ ๒ ว่า แพทย์จะออกไปดูแลรักษาผู้ป่วยถึงบ้าน เมื่อมีคนมาตามไปรักษา และหน้าที่หนึ่งที่มักต้องปฏิบัติอยู่เสมอ คือการไปนั่งอยู่เคียงข้างเด็กๆ ที่ใกล้ตาย เพราะไม่มีใครมาทำหน้าที่นั้นเลย และยังได้เล่าถึงสภาพก่อนหน้าที่จะมีสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเช่นในปัจจุบันว่า ผู้ป่วยต้องทนกับความเจ็บปวดและตายไปอย่างทรมาน เนื่องจากไม่ได้รับยาแก้ปวดที่มีประสิทธิภาพ เช่น มอร์ฟีน ในปริมาณที่สามารถต่อสู้กับความเจ็บปวดได้ เพราะกลัวว่าผู้ป่วยอาจติดยา หรือในกรณีผู้ป่วยมะเร็ง แพทย์หลายคนไม่ยอมแม้แต่จะบอกให้ผู้ป่วยรู้ เพราะกลัวคำถามว่า “แล้วหมอจะทำอย่างไรต่อไป?” ซึ่งแพทย์เหล่านั้นไม่ทราบเหมือนกัน ทำให้ผู้ป่วยต้องใช้ชีวิตที่เหลืออยู่โดยไม่มีโอกาสเตรียมตัวรับความตายของตนเลย

และด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่กำเนิดในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๘๓-๒๕๑๓ เช่น ปอดเหล็กในการช่วยหายใจ หรือสายยางส่งอาหารไปยังกระเพาะของคนป่วย ได้กลายมาเป็นอาวุธสำคัญของแพทย์ในการต่อกรกับความตายได้มากขึ้น โดยการยื้อชีวิตผู้ป่วยให้นานที่สุด ทำให้ผู้ป่วยตายยากกว่าเดิม ซึ่งอาจหมายถึงการยืดเวลาของความล้มเหลวออกไป 

 

เปลี่ยนแปลงด้วยเมตตาและกรุณา 

          ท่ามกลางสภาพที่ดูสิ้นหวังและทุกข์ทนของผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยเฉพาะภายในโรงพยาบาล ยังมีอีกหลายคนเชื่อว่าต้องมีทางออกอื่นที่ดีกว่า และลงมือทำในสิ่งที่ตนเชื่อ จิตแพทย์ท่านหนึ่งคือ อลิซาเบธ คืบเลอร์-รอสส์ (Elisabeth Kübler-Ross) ได้บุกเบิกการทำงานเพื่อให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายตายอย่างมีคุณภาพ ตายในสภาพที่ตนเองต้องการ และได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพอย่างที่มนุษย์พึงได้รับ โดยเธอได้แรงบันดาลใจจากการพูดคุยกับหญิงสาวชาวยิวผู้หนึ่งที่รอดชีวิตจากค่ายกักกันของเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทำให้เธอสนใจที่จะเข้าใจถึงอารมณ์ความรู้สึก ความต้องการของมนุษย์ที่อยู่ในภาวะทุกข์ยากที่สุด ต่อมาเมื่อเธอเห็นความทุกข์ของผู้ป่วยระยะสุดท้ายในโรงพยาบาลที่ทำงานอยู่ จึงทำการศึกษาวิจัยโดยการสัมภาษณ์ และเปิดวงเสวนาเพื่อรับฟังปัญหาต่างๆ จากประสบการณ์ของผู้ป่วยและญาติมิตรจำนวนนับร้อยนับพันคน แล้วเขียนเป็นหนังสือชื่อ On Death and Dying  (ความตายกับภาวะใกล้ตาย) ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ซึ่งกลายเป็นหนังสือขายดีจนถึงปัจจุบัน ระหว่างการทำงาน เธอต้องต่อสู้กับผู้บริหารและแพทย์ในโรงพยาบาลที่ทำงานอยู่ ซึ่งไม่เชื่อถือในวิธีการที่เธอนำเสนอ แต่ท้ายที่สุด งานของเธอได้รับการยอมรับจากสาธารณชน จึงส่งผลกลับมาช่วยทลายกำแพงของการห้ามพูดถึงเรื่องความตายลง และมีส่วนอย่างสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจให้คนในวงการสุขภาพจำนวนมากเปลี่ยนแปลงวิธีคิดวิธีการปฏิบัติต่อผู้ป่วยระยะสุดท้าย 

          ในห้วงเวลาใกล้เคียงกัน ซิเซลี ซอนเดอร์ส (Cicely Saunders) แพทย์หญิงอีกท่านหนึ่งได้สร้างสิ่งที่กลายเป็นต้นแบบของสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายสมัยใหม่ทั่วโลกขึ้น โดยการก่อตั้ง “สถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เซนต์คริสโตเฟอร์ ฮอสพิซ (Saint Christopher’s Hospice)” ขึ้น ณ นครลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งนับเป็นฮอสพิซสมัยใหม่แห่งแรกของโลก สำหรับเธอแล้ว สถานที่ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายไม่ใช่เพียงแค่อาคารและสิ่งอำนวยความสะดวก แต่เป็นหลักปรัชญาหนึ่งในการปฏิบัติต่อผู้ป่วยในระยะสุดท้าย 

          เธอได้รับแรงบันดาลใจจากการทำงานเป็นอาสาสมัครดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย และได้มีโอกาสดูแลผู้ลี้ภัยหนุ่มชาวยิวจากโปแลนด์คนหนึ่งอย่างใกล้ชิดในช่วงสองเดือนสุดท้ายของชีวิตเขา ในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ เขาทั้งยากจนและไร้ญาติขาดมิตร โดยนอกจากการได้รับรู้ถึงความทุกข์ทางกายแล้ว เธอยังเข้าถึงความทุกข์ใจที่เขามีอย่างลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นความเศร้า ความหดหู่สิ้นหวัง ความอ้างว้าง ทำให้ทั้งสองเกิดความผูกพันกัน และทำให้เธอเข้าใจถึงความต้องการของคนที่กำลังจะตายว่าเป็นเช่นไร เธอตัดสินใจเรียนแพทย์ และตั้งใจว่าชีวิตของเธอมีภารกิจที่จะต้องจัดการต่อความเจ็บปวดทุกรูปแบบที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยใกล้ตาย ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย ทางอารมณ์ ทางจิตใจ หรือแม้แต่ทางจิตวิญญาณ ให้ได้รับการคลี่คลาย 

        การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของ เซนต์คริสโตเฟอร์ ฮอสพิซ จึงเน้นให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้รับการดูแลที่เปี่ยมไปด้วยความรัก ความเข้าใจ และลดความเจ็บปวดในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการให้ยาเพื่อบำบัดความปวดแบบก้าวหน้า คือให้ยาก่อนที่ความปวดจะสร้างความทรมานให้กับผู้ป่วย จนกลายเป็นโรงเรียนต้นแบบ และสถานที่ฝึกงานสำหรับผู้คนจากทั่วโลกที่สนใจจะเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ของผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้ดีขึ้น ตลอดจนเป็นแรงบันดาลใจให้กับสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในประเทศอื่น ๆ อาทิเช่น อเมริกา และแคนาดา เป็นต้น 

 

 

จากข้างนอกสู่ข้างใน 

          งานบุกเบิกของผู้หญิงทั้งสองคน นอกจากจะส่งผลสะเทือนออกไปยังผู้คนมากมายแล้ว ยังมีผลกระทบต่อนายแพทย์ บัลโฟร์ เมาท์ (Balfour Mount) ผู้ให้กำเนิด “การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care)” อีกด้วย เดิมเขาเป็นศัลยแพทย์รักษามะเร็ง และเป็นอาจารย์อยู่ที่โรงเรียนแพทย์ มหาวิทยาลัยแมคกิล (McGill University) ในแคนาดา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เขาได้เข้าร่วมวงเสวนาเกี่ยวกับหนังสือเรื่อง On Death and Dying ซึ่งทำให้เขาตระหนักว่า แม้จะเป็นหมอมานานหลายสิบปี แต่ตนเองไม่ได้รู้เรื่องเกี่ยวกับความตายเลย เขาจึงจัดวงพูดคุยถึงหนังสือดังกล่าวในหมู่แพทย์ หลายคนไม่เชื่อถือข้อเสนอในหนังสือ ทั้งเรื่องความทรมานจากความปวดของคนไข้ การหลีกเลี่ยงหรือไม่ใส่ใจของบุคลากรด้านสุขภาพ และเสนอให้มีการสำรวจว่าในโรงพยาบาลของพวกเขามีเหตุการณ์ดังกล่าวหรือไม่ บัลโฟร์ เมาท์ อาสาทำการศึกษาเรื่องนี้ในโรงพยาบาลรอยัล วิคตอเรีย (Royal Victoria) ในมอนทรีออล แคนาดา และพบว่าเป็นความจริง เขาพบชื่อของ เซนต์คริสโตเฟอร์ ฮอสพิซ และ ซิเซลี ซอนเดอร์ส ในหนังสือ จึงติดต่อไปเพื่อขอดูงาน แต่ซอนเดอร์สเสนอให้เขามาทดลองทำงานอยู่ในฮอสพิซ ๑ สัปดาห์ 

          บัลฟอร์ เมาท์ ไม่เคยลืมช่วงเวลาหนึ่งสัปดาห์นั้นเลย เขาถือเอา เซนต์คริสโตเฟอร์ ฮอสพิซ เป็นต้นแบบในการจัดการปัญหาของผู้ป่วยระยะสุดท้ายในแคนาดา ขณะเดียวกันเขาเห็นว่าเป็นเรื่องยากที่จะสร้างสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบเดียวกันได้ที่แคนาดา เนื่องจากจะต้องมีภาระค่าใช้จ่ายที่สูงมาก  เมาท์ตัดสินใจทำแผนกหนึ่งในโรงพยาบาลให้เป็นเหมือนฮอสพิซ และนำหลักการดูแลแบบเดียวกันมาใช้ในโรงพยาบาลรอยัล วิคตอเรีย โดยเรียกว่า “แผนกดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care Ward)” เพราะกลัวคนจะเข้าใจผิด เนื่องจากคำว่า Hospice ในภาษาฝรั่งเศสซึ่งเป็นภาษาราชการของมอนทรีออล หมายถึง เนอสซิ่งโฮม (สถานดูแลผู้สูงอายุ)

          สำหรับนายแพทย์เมาท์แล้ว การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเป็นเรื่องของจริยธรรม เขาทำเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ควรทำ ผู้ป่วยระยะสุดท้ายไม่ควรถูกปล่อยให้ต้องเผชิญกับความตายอย่างโดดเดี่ยว และทุกข์ทรมานอย่างที่เคยเป็นมา 

          ทั้งสามเป็นบุคคลสำคัญของการก่อเกิดสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายสมัยใหม่ พวกเขาล้วนเชื่อในเรื่องการช่วยเหลือให้เพื่อนมนุษย์ที่กำลังจะจากไปได้ตายอย่างสมภาคภูมิ ตายภายใต้ความอบอุ่นเป็นมิตร ตายโดยทุกข์ทรมานทางกายน้อยที่สุด

 

หัวใจของ Hospice Care 

          นับตั้งแต่เกิด ฮอสพิซสมัยใหม่ขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน ทั่วโลกมีการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบ Hospice และ Palliative Care นับพันแห่ง ในรูปแบบและขนาดแตกต่างกันไป แต่ทั้งหมดมีความคิดเห็นตรงกันในหลักการเรื่อง “การไม่ยืดชีวิตและไม่เร่งความตาย” กล่าวคือ ไม่ยื้อชีวิตไว้ด้วยวิธีการหรือเครื่องมือช่วยชีวิตแบบต่างๆ เมื่อไม่มีโอกาสรอดชีวิต หรือเร่งให้ผู้ป่วยตายอย่างผิดธรรมชาติด้วยวิธีการต่างๆ แต่จะทำให้ผู้ป่วยพบกับการตายที่ดี สถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่รับผู้ป่วยใน จะไม่มีเครื่องมือต่างๆ ในการยืดชีวิต อาทิ เครื่องช่วยหายใจ เครื่องปั๊มหัวใจ การผ่าตัด เคมีบำบัด ฯลฯ (แต่ในบางแห่งยอมให้ผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาล แล้วมาพักได้หากต้องการ) ซิเซลี ซอนเดอร์ส กล่าวว่า เธอเน้นที่คนมากกว่าเทคโนโลยี จึงมีการใช้บุคลากรที่หลากหลายในการเยียวยา ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาชีพ อาสาสมัคร บุคลากรด้านศาสนา ฯลฯ มากกว่าจะใช้แต่แพทย์ พยาบาล และเครื่องมือล้ำสมัย 

          สถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายยังเน้นการจัดบรรยากาศแวดล้อมให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายและสบายที่สุด ให้เหมือนกับบ้านของผู้ป่วยเอง เปิดให้ญาติมิตรของผู้ป่วยเข้ามาเยี่ยมเยียนได้ตลอดเวลา ด้านความทุกข์ทางร่างกาย การดูแลความปวดเป็นหน้าที่สำคัญสำหรับฮอสพิซ มีการค้นคว้าที่ก้าวหน้าในเรื่องการใช้ยาบำบัดความปวด รวมถึงการใช้ยาที่เป็นการแพทย์เชิงรักษาเพื่อหวังผลหายขาดอาจไม่กล้าใช้ สถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายไม่มีข้อจำกัด ในการประกอบพิธีกรรมใดๆ ตามความเชื่อของตน เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยบรรลุถึงความสุข อีกทั้งไม่ละเลยความทุกข์ของคนในครอบครัว โดยจะมีคณะทำงานที่ช่วยดูแลทั้งในระหว่างที่ผู้ป่วยยังมีชีวิตและตายจากไปแล้ว 

          ในกรณีผู้ป่วยเลือกจะตายที่บ้าน สถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายจะส่งบุคลากรหรืออาสาสมัครไปดูแลยังบ้านของเขา เพื่อให้ผู้ป่วยได้ตายอย่างที่ตนเองต้องการ ในหลายประเทศมีหน่วยหรือแผนกดูแลแบบประคับประคองที่เน้นการดูแลในลักษณะเดียวกับฮอสพิซเข้ามาเป็นอีกทางเลือกหนึ่งด้วย 

          กล่าวโดยรวม การดูแลตามหลักการของฮอสพิซ เน้นที่ตัวผู้ป่วยเป็นหลัก โดยลดทอนความทุกข์และตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยในทุกด้านเท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกาย ความสัมพันธ์ จิตใจ หรือแม้แต่ความต้องการทางจิตวิญญาณ การสร้างความรู้สึกให้ผู้ป่วยได้ตายราวกับอยู่ในเรือนตายของตน ไม่ว่าผู้ป่วยจะอยู่ที่บ้านหรือไม่ ถือเป็นภารกิจสำคัญของสถานดูแล 

 

ความเคลื่อนไหวและแนวโน้มของสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย 

          ในปัจจุบัน จากรายงานขององค์การสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายและการดูแลประคับประคองแห่งชาติของสหรัฐอเมริการะบุว่า มีผู้ป่วยที่เลือกเข้ารับการดูแลด้วยวิธีการดังกล่าวเพิ่มขึ้นจาก ๒๕,๐๐๐ คน ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็น ๑,๔๕๐,๐๐๐ คน ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ (เพิ่มขึ้นมา ๕๘ เท่าตัว ภายในเวลา ๒๕ ปี) และจำนวนผู้เข้ารับการบริการในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นร้อยละ ๕๘ ของจำนวนคนตายทั้งหมดในปีนั้น นับเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนถึงแนวโน้มที่คนจะเลือกตายอย่างสงบ มากกว่าจะดิ้นรนเพื่อยืดชีวิตของตนเองออกไป 

          ดูเหมือนว่าการดูแลที่เน้นตัวผู้ป่วยและครอบครัวเป็นหัวใจ ได้ขยายพื้นที่เข้าไปในวงการแพทย์กระแสหลักเกินกว่าครึ่งแล้ว จึงน่าจะถึงเวลาที่สังคมไทยต้องขยับก้าว ในการพิจารณาทางเลือกของการตายดีในรูปแบบฮอสพิซ และการดูแลแบบประคับประคอง อย่างเข้มข้นมากกว่าเดิม 

 

 

ความเคลื่อนไหวในประเทศไทย 

          แต่เดิมในสมัยที่การแพทย์สมัยใหม่ยังเข้าไม่ถึงคนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยมากคนไทยจะตายกันที่บ้าน แวดล้อมด้วยคนที่รักแลรู้จักมักคุ้นกันอยู่แล้ว แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไปจนคนไทยไม่สามารถจะดูแลความเจ็บป่วยกันเองได้อีกต่อไป ผู้คนจึงไปตายในโรงพยาบาลมากขึ้น ถึงแม้ว่าคนยากจนที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลไม่ได้จะยังคงตายกันที่บ้านอยู่ แต่ไม่ได้หมายความว่า เขาจะได้รับการดูแลด้วยแนวคิดแบบฮอสพิซจนกระทั่งตายไป 

          สถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในประเทศไทยในยุคแรก โดยมากเป็นสถานที่ดูแลผู้ป่วยโรคเอดส์ระยะสุดท้าย ที่ก่อตั้งโดยศาสนาต่างๆ เช่น บ้านกลารา ของคณะนักบวชฟรานซิสกัน ก่อตั้งในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ วัดพระบาทน้ำพุ ที่ริเริ่มโครงการดูแลผู้ป่วยเอดส์ระยะสุดท้าย ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นต้น 

 

          ต่อมาในราวปี พ.ศ. ๒๕๔๐ เครือข่ายของคลังปัญญาอาวุโสได้พยายามเคลื่อนไหวผลักดันเรื่องดังกล่าวให้เป็นประเด็นในสังคมไทย แต่ไม่เป็นผล และเริ่มมีสถานดูแลผู้ป่วยเอกชนที่ใช้หลักการแบบฮอสพิซมาใช้ในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เช่น ศุขเวช เนอสซิ่งโฮม ซึ่งเปิดทำการในราวปี พ.ศ. ๒๕๔๑ และในเวลาใกล้เคียงกัน ได้มีการริเริ่มโครงการด้านการดูแลรักษาแบบประคับประคองในโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์บางแห่ง เช่น โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ เป็นต้น

          แม้จะเห็นได้ถึงความเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง หากยังไม่พอเพียงสำหรับการเป็นพลังให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางขึ้นมาได้ บางทีสถานการณ์อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเร่งเวลาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น จากการที่โรคบางอย่าง เช่น โรคมะเร็ง โรคเอดส์ ได้ขึ้นมาเป็นสาเหตุการตายอันดับแรกๆ ของประเทศในปัจจุบัน คงจะทำให้คนไทยหันมาพิจารณาความตายของตนเองกันมากขึ้นว่าจะเลือกตายกันอย่างไรดี โดยแนวโน้มหรือทิศทางของสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในแต่ละประเทศย่อมแตกต่างกันไปตามความต้องการที่แตกต่างกันในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม รวมทั้งความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องผู้ป่วยระยะสุดท้ายในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องมาช่วยกันพิจารณาให้มากขึ้นด้วย 

          หากเราพิจารณาจากพัฒนาการของสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายสมัยใหม่ในโลกตะวันตก หัวใจของงานดังกล่าว คือผู้คนที่เปี่ยมด้วยเมตตากรุณา และความรู้ ซึ่งสำคัญกว่าการมีเทคโนโลยีล้ำสมัย แต่ความรู้ที่จะมาขับเคลื่อนงานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ไม่ใช่ความรู้ทางการแพทย์แบบตะวันตกที่เป็นกระแสหลัก หากแต่เป็นองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยใกล้ตายโดยเฉพาะ อาทิเช่น 

          องค์ความรู้เรื่องเกี่ยวกับระบบชีวเคมีของผู้ป่วยใกล้ตาย ที่มักไม่ได้สอนกันในหลักสูตรการศึกษาทั่วๆ ไปในโรงเรียนแพทย์หรือพยาบาล ความรู้ในเรื่องการใช้ยาแก้ปวดแบบป้องกันมากกว่าแบบบำบัดความปวด จิตวิทยาของผู้ป่วยใกล้ตายและญาติมิตร รูปแบบของสวัสดิการจากภาครัฐที่จะสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายนอกเหนือไปจากการดูแลในสถานพยาบาลทั่วๆ ไป องค์กรหรือกฎระเบียบที่จะมารองรับการเติบโตของสถานพยาบาลผู้ป่วยระยะสุดท้ายทั้งในและนอกระบบ ความรู้ความเข้าใจบริบททางสังคมวัฒนธรรม ในการออกแบบระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้สอดคล้องกับสังคมไทย การผลักดันให้เกิดระบบอาสาสมัครมารองรับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย บทบาทหรือความร่วมมือจากฝ่ายศาสนาในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ฯลฯ 

          ประเด็นเหล่านี้ ควรจะมีเวทีและได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ ของสังคม ไม่เพียงแค่บุคลากรในระบบสุขภาพเท่านั้น เพื่อให้เกิดการศึกษาค้นคว้า แลกเปลี่ยน และทำการทดลองนำไปสู่การเติบโตของแนวคิดและการปฏิบัติในเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้ยั่งยืนต่อไป 

เอกสารประกอบการเรียบเรียง

หนังสือ

  • มาลินี วงศ์พานิช แปล, Elisabeth Kübler-Ross เขียน, ความตายกับภาวะใกล้ตาย, กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, ๒๕๒๕. 
  • ประสาน ต่างใจ ธนพรรณ สิทธิสุนทร, บรรณาธิการ, มุมมองเรื่องความตายและภาวะใกล้ตาย, กรุงเทพฯ: คบไฟ, ๒๕๓๙. 
  • Clifton D. Byrant Ed, Handbook of Death & Dying, Vol. I, California: Sage Publications, 2003. 
  • Dana K. Cassell, Robert C. Salinas, Peter A.S. Winn, The Encyclopedia of Death and Dying, New York: Facts On File, 2005. 
  • Robert Kastenbaum, editor in chief, Macmillan Encyclopedia of Death and Dying, New York: Macmillan Reference USA, 2003. 
  • William H. Colley, Unplugged: Reclaiming Our Right to Die in America, New York: Amacom, 2006. 

 

World Wide Web 

 

---

นานาทัศนะเรื่องสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

 

หลวงตาปพนพัชร์ จิรธัมโม
เจ้าอาวาสวัดคำประมง

 คำว่า "สถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือ Hospice" คืออะไร

         “สถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย” เปรียบเสมือนบ้านหลังที่ ๒ ของผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยใช้การแพทย์ผสมผสาน ทั้งการแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนปัจจุบัน และการแพทย์ทางเลือกต่างๆ เช่น ดนตรีบำบัด สมาธิบำบัด ร่วมกับการใช้ธรรมะบำบัดและอาหารสุขภาพ รวมถึงการจัดสิ่งแวดล้อมให้อยู่กับธรรมชาติ มีญาติพี่น้องคอยอยู่เคียงข้างเพื่อให้กำลังใจ เป็นการดูแลแบบองค์รวมด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น (คนมักถามว่าเงินมาจากไหน ตอบว่าการทำดี เงินจะมาเอง) 

         อย่างเช่น อโรคยศาลซึ่งเป็นสถานอภิบาลผู้ป่วยด้วยสมุนไพร มีการออกกำลังกาย นั่งสมาธิ สวดมนต์ ใส่บาตร ต้มยาสมุนไพร ถ้าเราเป็นคนป่วย บางครั้งร้องไห้เพราะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ไม่มีใครอยู่เคียงข้าง และยังทุกข์จากโรคที่เป็น แต่ อโรคยศาลจะมีเพื่อนจิตอาสา ทั้งแพทย์ พยาบาล ครูบาอาจารย์ ญาติ และผู้ป่วยด้วยกัน คอยช่วยเหลือ ไม่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าต้องเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว ผู้ป่วยได้รับการเยียวยาทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ ผู้ป่วยต้องมีความสุข บางคนตอนมีชีวิตอยู่ไม่ยิ้มเลย แต่เมื่อตายที่นี่เขายิ้มได้ 

         จิตอาสาจึงมีความจำเป็นอย่างมากกับผู้ป่วยและญาติ เช่นการดูแลผู้ป่วยอายุ ๗๐ กว่าปี ซึ่งถูกนำมาทิ้งให้ทางอโรคยศาลดูแลจนตายและเผาให้ ใครจะดูแลถ้าไม่ได้จิตอาสา มีจิตอาสาที่เป็นญาติผู้ป่วยซึ่งต้องดูแลสามีตนเอง และยังช่วยดูแลผู้ป่วยที่ถูกทอดทิ้งด้วย แม้คนไข้ซึ่งไม่มีครอบครัว ไม่มีกระทั่งบัตรประชาชน หรือทะเบียนบ้าน ก็สามารถมาอยู่ได้ อโรคยศาลจะดูแลและจัดการให้ตามประสงค์ ตั้งแต่เข้ามารับการรักษา จนกระทั่งส่งเขาไปสู่อีกภพหนึ่งอย่างสงบ

 

 ภารกิจของสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายคืออะไร จะต้องทำอะไรบ้าง

         หัวใจในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย คือจิตวิญญาณอันแน่วแน่มั่นคงในการปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์โดยมิได้หวังผลตอบแทนใดๆ นอกจากให้เพื่อนร่วมโลกของเรามีความสุขบ้าง แม้จะเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย คือการนำสมาธิหรือธรรมะมาใช้กับผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยระยะสุดท้ายถ้าไม่มีสมาธิจิตจะเตลิด แม้แต่ Tramal (ยาแก้ปวดชนิดฉีด) หรือมอร์ฟีนก็ไม่สามารถระงับปวดได้ แต่อโรคยศาลจะระงับปวดด้วยสมาธิ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยตายไปได้แบบหมดห่วง ตายแบบยิ้ม 

         ผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่กำลังจะตาย จิตอาสาจะไปร่วมกันสวดมนต์ข้างเตียง แม้จะอยู่นอกโรงพยาบาล เช่น ที่บ้าน ถ้าเขาติดต่อมา ก็จะอาศัยเครือข่ายจิตอาสาที่อยู่กรุงเทพฯ บ้าง หรือที่ขอนแก่นบ้าง แล้วแต่ใครอยู่ใกล้ก็จะตามดูแลผู้ป่วยต่อไปถึงบ้าน ถึงโรงพยาบาล 

         นอกจากนี้ การนำสมุนไพรไทยมาใช้อย่างเป็นระบบ บูรณาการให้ผสมผสานลงตัวกับการแพทย์แผนปัจจุบัน แล้วใช้สมาธิเป็นแกนกลางเชื่อมโยงกับมิติต่างๆ ผ่านมนตราบำบัดก็เป็นเรื่องที่สำคัญ 

         ส่วน Spiritual Care เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ควรมีการศึกษาและพัฒนาเรียนรู้ศาสตร์การแพทย์ทางเลือก เพื่อนำมาปรับใช้รักษาผู้ป่วยในระยะต่างๆ อย่างสมดุล ด้วยวิถีธรรมะและธรรมชาติ ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างสูงสุดทั้งรูปธรรมและนามธรรม

 

 สถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในบริบทของสังคมไทยควรเป็นอย่างไร

         ผู้ป่วยควรจะได้รับการเยียวยาทั้งทางกาย จิตวิญญาณ ด้วยพลังเมตตาจากเหล่าจิตอาสาที่หมุนเวียนมาให้กำลังใจ โดยยอมรับความคิดเห็นของแพทย์ทุกสาขา ไม่ว่าจะเป็นแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย หรือแพทย์แผนจีน ต้องอิสระและเปิดกว้างรับความรู้ความคิดจากทุกคน โดยถือความปลอดภัยและความพึงพอใจของผู้ป่วยเป็นหลัก 

         บริบทของ Hospice care ของไทย วิทยาศาสตร์กับศาสนาควรจะเดินไปด้วยกันได้อย่างกลมกลืนและเป็นหนึ่งเดียวกัน

         สมาธิคือหลักของประเทศและอยู่คู่เมืองไทยมาตลอด ทำให้เราดูแลผู้ป่วยและดูแลตัวเราเองได้อย่างมีสติและตั้งมั่นจริง มิใช่ละทิ้งเมื่อไม่มีใครเห็นด้วย โดยพลังปัญญาแห่งธรรมะที่คุ้มครองประเทศไทย จะขับเคลื่อนงานของเราให้เข้าสู่ระบบบริการ เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง 

         วิสัยทัศน์ของอโรคยศาล คือการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองด้วยพระและจิตอาสา โดยเฉพาะพลังของจิตอาสาในการทำงานด้วยความสุข ต้องพยายามปรับ อย่าไปเป็นเส้นตรง เพราะคนไข้และคนดูแลจะเครียด 

         ปัจจุบัน มีจิตอาสาจากสถาบันต่างๆ ทั้งแพทย์ พยาบาล ปริญญาโท ปริญญาเอก ญาติ และสหสาขาวิชาชีพ เข้ามาดูแลอย่างต่อเนื่อง นี่คือน้ำใจของจิตอาสา ที่หลวงตาอยากให้เกิดขึ้นในประเทศไทยมากเท่าที่จะมากได้ ไม่ต้องใช้การบังคับ แต่มาจากหัวใจ รักษาหรือยืดชีวิตผู้ป่วยให้ยาวนานที่สุด บนพื้นฐานความพึงพอใจของผู้ป่วยและญาติ โดยให้ดวงจิตวิญญาณของผู้ป่วยมีธรรมะเป็นที่พึ่งตลอดไป

 

นายแพทย์สกล สิงหะ 
หัวหน้าหน่วยชีวันตาภิบาล คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
*ศัลยแพทย์ หนึ่งในผู้บุกเบิกหน่วย palliative care เพื่อดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายขึ้นในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ หาดใหญ่

         ชีวิตมีเกิด ชรา เจ็บ และตาย เป็นธรรมดา แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะปล่อยวาง ไม่ได้ทำอะไรเลย เมื่อเราเกิดไม่สบายขึ้นมา เราไปหาหมอ หายา แสวงหาการรักษาจนถึง “ที่สุด” และเมื่อถึงวาระหรือช่วงที่ชีวิตจะต้องสิ้นสุดลง การรักษาพยาบาลจะมุ่งเน้นที่ “สุขภาวะ” ในระยะสุดท้าย ให้คงอยู่นานที่สุด และจากไปอย่างสงบ อย่างมีศักดิ์ศรี 

         บทบาทและเป้าหมายของการดูแลในระยะสุดท้าย จึงมีส่วนแตกต่างจากบทบาทของสถานพยาบาลที่มุ่งเน้นการรักษาให้หาย หากแต่เป็นการดูแลสุขภาวะที่ครอบคลุมทุกมิติสุขภาพของผู้ป่วย และยังครอบคลุมไปถึงการดูแลครอบครัว คนใกล้ชิด และมิติทางจิตวิญญาณของผู้ป่วยเป็นสำคัญอีกด้วย

         ทำให้การจัดสถานที่ บุคลากร และวิธีการดูแล จะมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมไปในแต่ละกรณี บางรายอาจจะโชคดีที่สามารถทำให้การดูแลทุกอย่างที่จำเป็นเกิดขึ้นที่บ้าน หรือภูมิลำเนาที่อยู่ของผู้ป่วยเอง อันเป็นบริบทที่พึงปราถนาของหลายๆ คน เพราะมีความรัก ความคุ้นชิน ความผูกพันกับสถานที่ มีความใกล้ชิดกับครอบครัว ญาติสนิท มิตรสหายที่จะมาเยี่ยม มาดูแล แต่บางครั้ง เราไม่สามารถจะทำได้ สถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย (Hospice) จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

         โดยสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย คือสถานที่จะเอื้ออำนวยให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปอย่างผ่อนคลาย สงบ รื่นรมย์ เหมาะสำหรับการดูแลจิตใจทั้งของผู้ป่วยเองและคนรอบข้าง กิจกรรมที่สำคัญในการดูแล คือการควบคุมอาการที่ทำให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมานเกิดขึ้นน้อยที่สุด ไม่เน้นการให้การรักษาแบบ Aggressive แต่เป็นการรักษาเพื่อประคับประคองให้อาการทุกอย่างดีที่สุดเท่าที่จะกระทำได้เป็นหลัก สามารถประสานการดูแลหรือส่งต่อกับสถานพยาบาลถ้าจำเป็น สำหรับการดูแลด้านจิต สังคม และจิตวิญญาณ สามารถทำได้อย่างเต็มที่ และสุดท้าย คือทักษะและความรู้ในการดูแลผู้ป่วยในช่วงชั่วโมงสุดท้าย เพื่อให้การจากไปเป็นไปอย่างสงบ สันติ และปราศจากความทุกข์ทรมาน

         สถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ดี ควรจะมีเนื้อที่ และสิ่งเอื้ออำนวยให้ผู้ดูแล ครอบครัว มีพื้นที่ทำงานที่สะดวกและเหมาะสม มีห้องฟื้นฟูกายภาพ และห้องทำกิจกรรม ที่จะทำให้การพักฟื้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ญาติสนิทของผู้ป่วยสามารถอยู่ดูแลใกล้ชิดได้ตลอดเวลา มีสถานที่ประกอบกิจกรรมที่จำเป็นตามศาสนาและความเชื่อที่เหมาะสม อาทิ ห้องสวดมนต์ ห้องละมาด หรือ Chapel ที่มีบุคลากรที่สามารถช่วยได้อยู่ประจำ เนื้อที่และบริเวณกว้างขวาง มีมุมสงบ ที่สร้างบรรยากาศที่ดี สิ่งแวดล้อมที่ผดุงจิตใจ มีห้องให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยและญาติที่จะพูดคุยกันได้อย่างเปิดอก

         โดยสรุปแล้ว สถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ควรเป็นสถานที่แห่งความสงบ ความจริง และความมั่นคงของจิตใจ เป็นสถานที่ที่หล่อเลี้ยงความรักและความหวัง ความศรัทธา ความเชื่อ และการควบคุมอาการความทุกข์ทางกายที่มีประสิทธิภาพ สำหรับทั้งผู้ป่วยและครอบครัว ความตายอย่างสงบและมีศักดิ์ศรี สามารถก่อให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ต่อมุมมองต่อชีวิต และต่อสังคมโดยรวม

 

รศ.ดร. ทัศนีย์ ทองประทีป 
วิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์
*อาจารย์พยาบาล ผู้สนใจเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย และการประยุกต์ธรรมะมาใช้ในงานพยาบาล

ภารกิจของสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย (Hospice Care) 

         ปรัชญาพื้นฐานของ สถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย คือการให้บริการดูแลผู้ป่วยตลอด ๒๔ ชั่วโมง โดยสหวิชาชีพ เพื่อควบคุมและบรรเทาอาการปวดหรืออาการอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมาน ประคับประคองด้านจิตใจ/อารมณ์ และจิตวิญญาณของผู้ป่วย ให้สามารถอยู่ได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีและตายจากไปด้วยความสุขสงบ โดยครอบคลุมการดูแลญาติและติดตามช่วยเหลือญาติที่มีอารมณ์เศร้าโศกจากการสูญเสีย ซึ่งอาจมีได้หลายรูปแบบ เช่น

         ๑. หอผู้ป่วย (hospice unit) เป็นส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลทั่วไป จัดไว้เพื่อดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายโดยเฉพาะ มีการจัดสิ่งแวดล้อมให้สะดวกสบายคล้ายบ้านมากที่สุด อาจมีห้องหรือเตียงที่สามารถรับผู้ป่วยได้ ๑๐-๑๒ ราย เพื่อควบคุมหรือบำบัดอาการที่ซับซ้อนชั่วคราวหรือเพื่อทำผ่าตัด/หัตถการบางอย่างก่อนกลับไปพักรักษาตัวที่บ้าน มักมีทีมพยาบาลและสหวิชาชีพเยี่ยมบ้านเพื่อให้การดูแลอย่างต่อเนื่อง ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดูแลขณะอยู่โรงพยาบาลได้มาก เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีบ้านและมีลูกหลานคอยดูแล  ผู้ป่วย/ญาติพึงพอใจเพราะได้อยู่ที่บ้านและใกล้ชิดลูกหลาน

         ๒.   ศูนย์หรือสถาบันเพื่อการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย (Hospice Care Center or Hospice Institute) จัดให้บริการ ๒ แบบ คือ

         - แบบพักค้างเป็นผู้ป่วยใน (hospice unit) จะมีหอผู้ป่วยเพื่อรับผู้ป่วยระยะสุดท้ายไว้ดูแลจนกระทั่งเสียชีวิต หรือพักค้างในระยะที่มีอาการเฉียบพลันหรือจำเป็นต้องทำหัตถการเพื่อบรรเทาอาการบางอย่าง จะมีเตียงแบบเป็นห้องรวมและห้องพักเดี่ยว ส่วนใหญ่จะเป็นอาคารชั้นเดียวจัดสิ่งแวดล้อมให้คล้ายบ้าน มีความสะดวกสบาย และประดับจัดแต่งไว้อย่างเป็นธรรมชาติ มีห้องอาหารรวม มีสถานที่จัดกิจกรรมนันทนาการ และที่สำคัญจะมีโบสถ์ขนาดเล็ก (Chapel) ไว้สำหรับผู้ป่วยและญาติในการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ 

         - การบริการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้าน (Hospice Home Care) กำลังเป็นที่นิยม เพราะผลการสำรวจความคิดของประชาชนชาวตะวันตกส่วนใหญ่ต้องการเสียชีวิตที่บ้าน รัฐจึงสนับสนุนให้มีทีมเยี่ยมบ้านจากสถาบันคอยให้คำแนะนำปรึกษาตลอด ๒๔ ชั่วโมง 

         ๓. บ้านพักคนชรา (nursing home) สถานพักฟื้น (rehabilitation center) และสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย (hospice care) จัดสร้างไว้ด้วยกัน เพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนนั้นๆ ด้วยวิถีชีวิตของครอบครัวชาวตะวันตก ซึ่งลูก/หลานจะออกไปสร้างครอบครัวใหม่เมื่อเป็นผู้ใหญ่  พ่อ/แม่จึงต้องทำใจยอมรับว่าเมื่อแก่ชราจะหวังพึ่งพิงลูกหลานได้ยากเพราะอยู่ไกลกัน จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องจัดหาและเตรียมสถานที่หรือสถาบันเพื่อรองรับการดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรังที่ต้องฟื้นฟูสภาพ รวมทั้งผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยรอบๆ สถานดูแลจะมีที่พักไว้สำหรับญาติพักอาศัยได้สะดวก 

         ปัจจุบัน ในประเทศตะวันตก ทุกรูปแบบการบริการจะมีอาสาสมัครจากชุมชนคอยให้การช่วยเหลือ ทั้งคนวัยหนุ่มสาว คนทำงาน ผู้เกษียณ โดยเฉพาะนักศึกษา  วิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยในชุมชนมักกำหนดให้ นักศึกษาจะต้องมีประสบการณ์เป็นอาสาสมัคร โดยอาจจะเลือกดูแลเด็กเร่ร่อน ผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยระยะสุดท้าย แล้วนำประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนกับเพื่อนนักศึกษาก่อนเรียนจบ ทำให้ได้เรียนรู้ธรรมชาติชีวิตและปัญหาสังคมได้ดีอีกวิธีหนึ่ง  อาสาสมัครจะได้รับการอบรม ๓-๕ วัน เพื่อให้รู้บทบาทและขอบเขตความช่วยเหลือว่าจะปฏิบัติได้มากน้อยเพียงใด เช่น ช่วยจัดดอกไม้เพื่อประดับหอผู้ป่วย บริการตัดผม ช่วยจัดกิจกรรมนันทนาการ ช่วยเขียนจดหมาย เป็นเพื่อนคุย หรือคอยดูแลแทนญาติ เพื่อให้ญาติว่างพอไปทำธุระในช่วงเวลาหนึ่ง เป็นต้น 

 

ข้อควรพิจารณาในการจัดตั้งสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในสังคมไทย

         ปัจจุบันสังคมไทยเปลี่ยนไป ลูกหลานในชนบทต้องออกจากบ้านเพื่อไปเรียนหนังสือหรือทำงานในเมืองใหญ่มากขึ้น ทำให้เด็กก่อนวัยเรียนและผู้สูงอายุต้องอยู่บ้านกันตามลำพัง ขาดผู้ดูแล โดยผู้สูงอายุส่วนใหญ่ สุขภาพจะอ่อนแอเกินกว่าจะดูแลหลานก่อนวัยเรียนได้เพียงลำพัง และปัญหาดังกล่าวนับวันจะมีมากขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของทุกฝ่าย ทั้งประชาชน เจ้าหน้าที่ในทีมสุขภาพ และผู้กำหนดนโยบายของรัฐ จะต้องร่วมมือกันวิเคราะห์ถึงความจำเป็นของการก่อตั้งสถานดูแลผู้สูงอายุ และผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่เหมาะสมกับสังคมไทย โดยคำนึงถึงข้อจำกัดต่างๆ ดังนี้

         - การตั้งสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้เข้าไปพักอาศัยจะรับรู้ว่าเวลาในชีวิตเหลือน้อย อาจรู้สึกท้อแท้ หมดหวัง 

         - แม้จะจัดระบบการดูแลอย่างดีเพียงใด ความเอาใจใส่จากเจ้าหน้าที่ไม่อาจทดแทนความรักและความผูกพันที่ปู่ย่า/ตายายหรือพ่อ/แม่ที่มีต่อลูกหลานได้

         - การมีสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายและสถานดูแลผู้สูงอายุ (หลายแห่ง) อาจทำให้ลูกหลานเข้าใจเบี่ยงเบน ว่าเป็นความรับผิดชอบของบุคลากรที่ต้องดูแลปู่ย่า/ตายายหรือพ่อ/แม่ของตน จะทำให้ค่านิยมเรื่องความกตัญญูกตเวทีของคนในสังคมไทยหายไป 

         - เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลอาจคุ้นชินกับความตายจนเห็นเป็นเรื่องธรรมดา ทำให้มองข้ามศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และขาดการเอาใจใส่ในมิติทางจิตใจและจิตวิญญาณ

         - คนไทยส่วนใหญ่ยังชอบให้การช่วยเหลือผู้อื่นด้วยการบริจาควัตถุหรือทรัพย์สินมากกว่าการเสียสละเวลาเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ควรจัดให้มีอาสาสมัครให้การดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยและผู้สูงอายุของชุมชนและสังคม

         - การดูแลในมิติจิตวิญญาณ ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและ/หรือไม่สามารถสื่อสารให้เข้าใจได้ชัดเจนในสังคมไทย ระหว่างบุคลากรในทีมสุขภาพกับประชาชน มีการใช้ภาษาที่สื่อความหมายต่างกัน และมักจำกัดว่าเกี่ยวข้องกับความเชื่อและการปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อเท่านั้น

         - สังคมไทยยังขาดข้อมูลและผลการวิจัยที่ช่วยสนับสนุนการส่งเสริมคุณภาพการดูแลในระยะสุดท้าย เช่น ประเด็นว่าควรมีสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายและสถานดูแลผู้สูงอายุรูปแบบไหน และควรก่อตั้งที่ใด ควรมีการวิเคราะห์ความต้องการของชุมชนและสังคมนั้นๆ

คอลัมน์:

ผู้เขียน: