Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

สารานุกรมนานามรณะ

-A +A

        Bird Eye View ขอโฉบข้ามโลกย้อนอดีต ด้วยความอยากรู้อยากเห็นไปเจอบทความน่าสนใจเรื่องหนึ่งว่าด้วยนานามรณะของทางฝรั่ง อยากรู้ว่ามีอะไรบ้างเผื่อจะได้เอาดูเทียบกับบ้านเราบ้างเรื่องที่หยิบมาเล่า ได้มาจากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เล่าเรื่องที่ฝรั่งเขียนเป็นสารานุกรมว่าด้วยการตายแบบต่างๆ อย่างน่าสนใจ 

        เขาพูดถึงที่มาของวิธีการบันทึกการตายก่อน เพราะถ้าไม่มีการบันทึก เหล่าอนุชนรุ่นหลังก็ไม่รู้จริงไหม  สิ่งที่เขาบันทึกแรกๆ มีแค่ว่า ที่นั่นที่นี่ตายกี่คน นั่นคือแบบสำรวจสำมะโนยุคแรกๆ ไม่รู้จะไปคล้ายกับที่ไหนในประเทศไทยทำอยู่หรือเปล่า คิดเอาเอง ก็เลยไม่รู้ว่าจะช่วยคนที่ยังอยู่ไม่ให้ตายมากขึ้นได้อย่างไร เพราะไม่รู้ว่าสาเหตุอะไร 

        ต่อมา จอห์น กรันต์ ชาวอังกฤษ ให้ทายซิว่าอาชีพอะไร ไม่ใช่หมอนะ เขาเป็นพ่อค้าขายเครื่องแต่งกาย แต่ใจเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ เขาเริ่มบันทึกว่าคนที่เสียชีวิตตายอย่างไร นับแต่ปี ค.ศ.๑๖๖๒ เป็นต้นมา

        บันทึกการตายถือว่ามีประโยชน์มาก สำหรับวงการแพทย์เอามาใช้แก้ปัญหาโรคที่คร่าชีวิตได้ไม่น้อย เราจึงอุ่นใจได้ (รวมทั้งไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอที่กำลังฮิตติดห้าดาวอยู่ในตอนนี้ ที่จริงถ้าเทียบกับบางโรค ยังตายน้อยกว่าเสียอีก ดูสิ ป่วย ๑๐๐๐ คนตายคนเดียว แต่คนก็กลัวเท่ากับโรคร้ายแรงเลยทีเดียว เฮ้อ)

        ดูอย่างบันทึกการตายของบุคคลในประวัติศาสตร์ นโปเลียน โบนาปาร์ต กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของฝรั่งเศส ในปี ๑๙๖๐ สรุปผลการตรวจเส้นผมว่าตายจากการวางยาพิษของอังกฤษช่วงที่เป็นเชลยอยู่ จนกระทั่งปี ๑๙๘๐ มีผลการตรวจสอบใหม่ว่าเป็นสารหนูจากสีในวอลล์เปเปอร์ (กระดาษปิดฝาผนัง)

        อีกเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นเมื่อศตวรรษที่ ๑๖ คือ ไทโค บราห์ นักดาราศาสตร์ตายเพราะกลั้นปัสสาวะนานเกินไป ทรมานอยู่ ๑๑ วัน (ใครที่มีพฤติกรรมนี้พึงสังวรไว้จ๊ะ) เหตุที่เขาไม่ลุกไปห้องน้ำ ก็เพราะมารยาททางสังคมของเดนมาร์ก 

        แต่บันทึกการตายที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้นไปอีกเห็นจะเป็นของ ไมเคิล ลาร์โก้ ชาวอเมริกัน เขาเห็นความสำคัญของการเอาข้อมูลประวัติศาสตร์ ชีวประวัติมาอธิบายร่วมกับข้อมูลทางการแพทย์ โดยนำเสนอเป็นเชิงสารคดีจนได้รับรางวัลบราม สโตกเกอร์ (ผู้เขียนหนังสยองขวัญเรื่องแดร็กคิวล่า) ตัวอย่างสาเหตุการตายในงานเขียนของเขา เช่น

        สารกระตุ้น (Aphrodisiacs) เป็นสารกระตุ้นให้เกิดกำหนัด (ทางเพศ) มีตั้งแต่ยุคกรีกโรมัน แต่ทางจีนอ้างว่ากินบางอย่างในสัตว์ สารที่ว่ามานี้สกัดจากแมลงชนิดหนึ่งพบในอเมริกาใต้ ยุโรป หากใช้เกินขนาด จะโดยการกินหรือฉีดก็ถึงตายได้ ดังมีสถิติแสดงว่าตายแล้ว ๖,๖๑๓ ราย

        ตายแบบฝังทั้งเป็น ฟังดูน่ากลัวมาก แต่เคยเกิดขึ้นในอดีตที่ยังไม่ได้มีเครื่องมือแพทย์ คนไข้หยุดหายใจ หมดหนทางปั๊มก็เรียบร้อย ฝังได้เลย เขาบอกว่าพบในปี ๑๗๕๐-๑๙๒๐ ถึง ๕,๙๕๐ ราย 

        ตายแบบนักย่องเบา หวังว่าผู้ที่อ่านอาทิตย์อัสดงจะไม่มีพฤติกรรมแบบนี้อันจะเป็นมูลเหตุให้มีโอกาสตายได้ เช่น ปีนหลังคาบ้านคนอื่นเขา ผู้เขียนช่างรวบรวมสถิติว่ามีถึง ๓๑๐,๘๖๗ รายในช่วง ปี ค.ศ.๒๐๐๓

        หนังสือสารานุกรมของลาร์โก้รวบรวมสาเหตุการตายไว้ถึงกว่า ๓,๐๐๐ เรื่อง นับว่าเป็นประโยชน์ที่ทำให้ชาวโลกได้ความรู้ ไม่ประมาทต่อการใช้ชีวิต ดูอย่างนี้แล้ว น่าชื่นชมที่ฝรั่งทำบันทึกการตายที่ช่วยให้โลกนี้ตาสว่างขึ้น ได้รู้จักโรคมากมาย 

        ย้อนมาดูโลกตะวันออกอย่างบ้านเรา ในอดีต เราจะพบเรื่องราวที่เกี่ยวกับความตายถ่ายทอดออกมาเป็นเรื่องเล่า ไม่มีการสำรวจเชิงปริมาณและเก็บข้อมูลเชิงสอบสวนหาสาเหตุของโรคอย่างเช่นที่ลาร์โก้รวบรวมให้เห็น ของบ้านเราจะมีตำนาน เรื่องเล่า นิทานพื้นบ้าน อิงความเชื่อทางพุทธศาสนาแฝงคติคำสอนเรื่องชีวิตมากับการตาย โดยความตายไม่เฉพาะเป็นเรื่องของร่างกาย ที่ทางการแพทย์สนใจ หาสาเหตุของโรค ของความเจ็บป่วย สอบสวนการตายเท่านั้น แต่ต้องมีมิติจิตวิญญาณที่เกี่ยวข้องกับทางศาสนาและสังคมด้วย สะท้อนการใช้ชีวิตอย่างไรก็ตายอย่างนั้น จะว่าไปถ้าเอาทั้งแบบบันทึกการตายเชิงข้อมูลสอบสวนหาสาเหตุการตายทางการแพทย์ กับการถ่ายทอดเรื่องเล่า มีเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตและการตาย มาผสมผสานกัน คงจะดีไม่น้อย เพราะอาจจะทำให้เราได้ข้อมูล สถานการณ์ และเข้าใจปรากฏการณ์ที่เรามองไม่เห็น ย้อนกลับมาให้เราขบคิดชัด ที่จะไม่ใช้ชีวิตประมาท และใส่ใจ ให้ความหมายกับการตายดีมากขึ้น ...จริงไหม

คอลัมน์:

ผู้เขียน: