Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

ความรักที่ไม่เคยหายไปไหน

-A +A

          เสียงโทรศัพท์ดังขึ้นในค่ำคืนหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ผมหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดู เป็นเบอร์ของน้องหนุ่ม (นามสมมติ) ย้อนกลับไปประมาณ ๒-๓ ปี น้องหนุ่มเคยนอนรอความตายจากโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ผู้เป็นแม่เฝ้าดูแลหน้าห้องไอซียูด้วยความหวัง ในขณะนั้นผมได้เข้าไปเป็นอาสาสมัครดูแลน้องๆ ที่ป่วยเรื้อรังระยะสุดท้ายที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 

          หลังจากที่น้องหนุ่มออกจากโรงพยาบาลกลับไปใช้ชีวิตตามเดิมที่บ้านเกิด เรายังคงติดต่อกันเรื่อยๆ เป็นระยะๆ เมื่อน้องหนุ่มต้องมาหาหมอที่โรงพยาบาล น้องหนุ่มจะโทรศัพท์มาหา ถ้าหากผมว่างก็จะแวะไปเยี่ยม ไปพูดคุย ไปทักทายตามประสาคนคุ้นเคยกัน ผมทราบข่าวว่าน้องหนุ่มกลับไปเรียนหนังสือ และใช้ชีวิตตามแบบฉบับของวัยรุ่นทั่วไป ขี่มอเตอร์ไซด์ ปั่นจักรยาน ไปเที่ยวกับเพื่อนๆ วันนี้น้องหนุ่มโทรศัพท์มาหาผม ผมคิดว่าคงเป็นการถามไถ่สารทุกข์สุกดิบเช่นเดิมที่เคยคุยกันตามปกติ แต่คราวนี้น้องหนุ่มถามผมว่า ผมอยู่ที่ไหนแล้ว ผมบอกว่ากำลังจะกลับบ้าน น้องหนุ่มกุลีกุจอถามผมอีกว่า ผมจะกลับถึงบ้านทันเวลาสองทุ่มไหม ผมตอบว่าคิดว่าน่าจะทันนะ เพราะผมใกล้จะถึงบ้านแล้ว แวะซื้ออาหารเย็นอีกนิดหน่อยก็น่าจะถึงบ้านทันสองทุ่ม แต่สิ่งที่คาใจผมก็คือ ทำไมต้องสองทุ่มด้วยล่ะ น้องหนุ่มตอบด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นว่า ก็อยากให้พี่ดูข่าวในพระราชสำนักไง แต่เอ! แล้วมันเกี่ยวอะไรกับข่าวในพระราชสำนักล่ะ น้องหนุ่มตอบเสียงใสแจ๋ว พร้อมเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ฟัง 

          ก็วันนี้นะ พระองค์โสมเสด็จมาที่จังหวัด แม่จึงไปเฝ้ารับเสด็จ พระองค์ทรงถามว่ามีใครเจ็บไข้ได้ป่วยบ้างหรือเปล่า แม่น้องหนุ่มจึงทูลรายงานว่าน้องหนุ่มป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรัง พระองค์ท่านจึงทรงอยากเจอเพื่อรับเป็นคนไข้ในพระอุปถัมภ์ แม่จึงรีบโทรศัพท์บอกน้องหนุ่มว่าให้บอกคุณครูว่า ออกมาจากโรงเรียนแล้วรีบมาเข้าเฝ้าให้เร็วที่สุด น้องหนุ่มเล่าติดตลกว่าระยะทางจากโรงเรียนมาถึงที่รับเสด็จนั้นไกลมาก ประมาณ ๑๕ กิโลเมตร แม่บอกให้รีบนั่งมอเตอร์ไซค์มาเลยนะ น้องหนุ่มบอกว่าแพงมากแต่ก็ต้องยอมนั่ง พอมาถึงคนเต็มไปหมด ตำรวจกั้นไม่ให้เข้าไป ต้องบอกตำรวจว่าอยากมารับเสด็จ ตำรวจจึงยอมปล่อยให้เข้าไป 

          ในที่สุดน้องหนุ่มก็ถูกจัดแจงให้ไปนั่งรวมกับคุณยายอีกสองคนที่ป่วยเพื่อรอรับการเป็นคนไข้ในพระอุปถัมภ์ เป็นเหมือนการผจญภัยที่น่าตื่นเต้นบวกเข้ากับความฝันที่กำลังจะกลายเป็นความจริง คุณแม่น้องหนุ่มทำสำเร็จแล้ว ผมดีใจกับน้องหนุ่มแล้วบอกน้องหนุ่มว่า พี่ดีใจด้วยจริงๆ เรากำลังจะมีน้องหนุ่มคนใหม่ที่ได้รับการรักษาโดยการเปลี่ยนไต น้องหนุ่มจะได้ไม่ต้องล้างไตทุกวัน แวบแรกที่ผมฟังน้องหนุ่มเล่านั้น ผมรับรู้ความรู้สึกของความรักจากแม่นั้นยิ่งใหญ่และมีค่ามากมายมหาศาล แม่พร้อมที่จะทำเพื่อลูกได้ทุกอย่าง มันเป็นช่วงเวลาที่มีค่ามากที่ได้ฟังเรื่องเล่าจากปากของน้องที่ครั้งหนึ่งชีวิตแทบจะเข้าใกล้ช่วงวินาทีแห่งความเป็นและความตาย คงเป็นเพราะความรักกระมังที่ทำให้ชีวิตต่อสู้และเติบโตขึ้นมาได้อีกครั้งหนึ่ง ผมจึงแกล้งแซวน้องว่า โอ้โห! งานนี้คุ้มจริงๆ นะหนุ่ม เสียตังค์ค่ารถถึงจะแพงก็เหอะ แต่ก็ยังได้ออกทีวีด้วย และยังได้เป็นคนไข้ในพระอุปถัมภ์อีก น่าอิจฉาจริง น้องหนุ่มหัวเราะ ผมจึงทิ้งท้ายว่า งานนี้ต้องขอบคุณแม่เลยนะเนี่ย ที่แม่ทำให้หนุ่ม เป็นสิ่งดีที่สุดที่หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว ความรักของแม่ยิ่งใหญ่จริงๆ 

          ผมรีบกลับบ้านเพื่อเปิดดูข่าวในพระราชสำนัก ผมเปิดดูเกือบทุกช่อง และผมก็ได้เห็น... เห็นเด็กชายคนหนึ่งในชุดนักเรียนสวมแว่นตากำลังนั่งอยู่บนเก้าอี้กับผู้สูงอายุอีกสองท่าน เบื้องหน้าพระองค์โสมทรงมีพระปฏิสันฐานด้วย สีหน้าของหนุ่มนั้นผมคิดว่ามีความรู้สึกที่หลากหลายรวมกัน...

          วันนี้ผมได้เรียนรู้บทเรียนอีกหนึ่งบทว่า การเป็นอาสาสมัครนั้นไม่ได้ให้คุณค่า ณ ช่วงที่ทำงานเป็นอาสาสมัครเท่านั้น แต่ยังส่งผ่านความสุขมาได้ไม่สิ้นสุด ใครว่าอาสาสมัครนั้นเป็นผู้ให้ ผมเถียงหัวชนฝา อาสาสมัครนั้นเป็นผู้รับต่างหาก เป็นผู้รับประสบการณ์จากชีวิตจริงๆ ที่ทำให้รู้ว่าความรักของคนที่ได้ชื่อว่าเป็นแม่หรือเป็นพ่อนั้นไม่เคยหายไปไหนเลย แต่อยู่ในใจเราทุกคนที่รู้จักคำว่าให้ แล้วเราให้ความสำคัญและมองเห็นไหม คุณแม่ของหนุ่มได้สอนประสบการณ์ล้ำค่านี้ให้กับผมโดยไม่รู้ตัว การเปิดใจเรียนรู้จากผู้อื่นคงช่วยให้ผมและอาสาสมัครคนอื่นๆ หากได้อ่านบทความนี้ได้ลดความเป็นตัวตนลงได้บ้างว่า ที่เราเคยคิดกันว่าเราเป็นผู้ที่มีความรู้ เรานั้นเป็นผู้มาให้ความสุขแก่น้องๆ เรานั้นเป็นอาสาสมัครที่มาช่วยเหลือคนที่ขาดโอกาส ทำไมไม่ลองมองมุมกลับดูบ้างล่ะว่า เราเป็นผู้ให้หรือผู้รับกันแน่ จริงไหม...

คอลัมน์: