Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

เติมเต็มใจด้วยการให้

-A +A

        ในที่สุดโอกาสทำงานอาสาข้างเตียงที่รอคอยและตั้งใจไว้ก็มาถึง ได้เป็นอาสาข้างเตียงมากว่าสองเดือนแล้ว รู้สึกว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการให้ที่มีความสุขทุกครั้งที่นึกถึง แม้จะไปเจอน้องเพียงสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง คือทุกวันเสาร์ช่วงบ่าย แต่ก็ใช้เวลาตลอด ๔-๕ ชั่วโมงอยู่กับน้อง 

        เริ่มจากวันแรกที่ก้าวเข้าไปในโรงพยาบาล ได้เจอและทักทายน้อง ช่วยหยิบจับสิ่งของให้น้อง เนื่องจากน้องเดินไม่ได้ ทำให้ต้องนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลา และเริ่มทำความรู้จักกับคุณย่าของน้อง ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยของน้อง ทำให้เริ่มเข้าใจว่าคุณย่าเป็นห่วงและรักหลานมาก คอยดูแลและอยู่ใกล้ตลอดเวลา 

        ช่วงเวลาที่ได้อยู่โรงพยาบาลและเฝ้าน้องข้างเตียง รู้สึกอบอุ่นใจว่าเราได้มาช่วยเหลือให้น้องสะดวกสบายขึ้น เราช่วยป้อนอาหารและยาให้น้อง ปอกผลไม้ ต้มมาม่าให้น้อง น้องชอบทานมาม่าต้มยำกุ้งมาก เราก็คอยป้อนให้ คอยนั่งเป็นเพื่อนเวลาที่คุณย่าไม่อยู่ เช่น ช่วงเวลาทานอาหาร คุณย่าไปซื้อของให้น้อง หรือช่วงเย็นๆ ที่คุณย่าจะขอตัวไปอาบน้ำเพราะเฝ้าน้องมาทั้งวัน เราจะคอยเป็นเพื่อน ถามไถ่น้องว่าโอเคไหม มีอะไรให้ช่วยหรือเปล่า อาการเป็นอย่างไรบ้าง มีเจ็บปวดตรงไหนไหม บางครั้งน้องจะร้อนวูบเนื่องจากเส้นประสาทตรงหลังอักเสบ มักชาตามขาและมือข้างซ้าย เราก็จะคอยบีบนวดให้บ้างตามที่พอจะทำได้ บางสัปดาห์เราก็นั่งดูดีวีดีเป็นเพื่อนน้อง รู้ว่าน้องชอบโดเรมอนก็จะไปซื้อที่ร้านมาให้หรือเช่ามาให้ในสัปดาห์ต่อไป 

        เมื่อเห็นน้องยิ้ม หัวเราะ และพูดคุยกับเราได้มากขึ้น ทำให้รู้สึกว่าใจเริ่มพองโตขึ้นว่า น้องดีขึ้นแล้ว ทำให้มีกำลังใจขึ้น รวมทั้งคุณย่าด้วย บางสัปดาห์เราสามคนก็เปลี่ยนจากนั่งดูหนังแผ่นมาเป็นดูโทรทัศน์ที่โรงพยาบาลเปิด เป็นรายการบันเทิง รายการตลกก็ได้ยิ้มหัวเราะกัน รู้สึกว่าความทุกข์จากอาการป่วยไข้ก็ดูจะเบาบางลง เมื่อมีคนอื่นๆ มาแบ่งปันเรื่องราวความสุข/ทุกข์ของตน บางสัปดาห์เมื่อเห็นน้องนอนหลับหรือดูหนัง เราก็ไปช่วยเหลือผู้ป่วยอื่นๆ ที่เตียงใกล้ๆ กัน 

        มาวันหนึ่งซึ่งก็เหมือนทุกครั้งที่เราไปหา ก็ไปทักน้องและเริ่มสังเกตว่าน้องไม่ค่อยสบายตัว เหมือนว่าจะคันศีรษะมาก ผมมันมาก และนอนบนเตียงมาหลายชั่วโมงโดยไม่ได้เคลื่อนไหวไปไหน เนื่องจากตัวใหญ่จึงอุ้มกันไม่ไหว ครั้นจะพาไปห้องน้ำ คุณย่าก็บอกว่าลำบาก เลยเสนอว่าเราสระผมให้น้อง ก็เริ่มไปหายางแผ่นใหญ่มารอง หาขวดน้ำโพลาลิสขวดใหญ่และไปรินน้ำมา หากะละมังมาสองใบ เปลี่ยนกันเมื่อน้ำเต็ม จากนั้นเรากับคุณย่าก็เริ่มขยับตัวน้องมาข้างหนึ่ง จัดวางกะละมัง ผ้ายางไว้ใต้ศีรษะน้อง แล้วก็เริ่มค่อยๆ รินน้ำบนศีรษะ ใส่แชมพู ขยี้ผมให้น้อง 

        ช่วงเวลาที่ได้รดน้ำไปบนศีรษะ สระผมให้น้อง เป็นช่วงเวลาที่รู้สึกดีมากๆ และประทับใจที่สุด เป็นภาพที่งดงามมากๆ ในใจเรา เพราะแสดงให้เห็นความรักความห่วงใยที่ตัวเราและคุณย่ามีให้แก่น้อง ช่วยกันขยี้ผมและล้างผม สระกันไปสองรอบ โดยเราคอยเอาน้ำไปเปลี่ยนและเททิ้งจนเสร็จ จากนั้นเราก็ช่วยกันเช็ดผมให้ และเปิดพัดลมรอให้น้องผมแห้ง ขณะเดียวกันคุณย่าก็กั้นม่านแล้วเช็ดตัวให้น้อง รู้สึกว่าน้องสบายตัวขึ้นมาก อาการต่างๆ ก็พลอยดีไปด้วย เราได้เห็นรอยยิ้มน้อยๆ ที่มุมปากของน้องและแววตาที่ส่งมาบอกว่าน้องขอบใจมากๆ ที่เราช่วยดูแลเขา 

        หลังจากวันนั้น เราก็ได้เป็นอาสาช่วยหาหนังสือมาให้น้องอ่าน เป็นการ์ตูน วรรณกรรมแปล โดยไปเลือกจากชั้นหนังสือแล้วให้น้องเลือกเล่มที่ชอบและอ่าน น้องอ่านหนังสือมากขึ้นและไม่โอดครวญถึงอาการเจ็บป่วยของตัวเอง เริ่มจะยอมรับความเปลี่ยนแปลงของตนเองได้ เริ่มทำกายภาพเองได้มากขึ้น อยากหายไวๆ น้องช่วยเหลือตัวเองมากขึ้น และเราเป็นผู้คอยดูและช่วยเหลืออยู่ห่างๆ เริ่มตระหนักว่าตนเองมีคุณค่า เป็นที่รัก ไม่หงุดหงิดกับอาการป่วยเหมือนตอนแรก ทานอาหารได้มากขึ้น ดูเหมือนน้ำหนักก็จะเพิ่มขึ้นด้วย 

        จนมาสัปดาห์หลังๆ คุณย่าบอกว่าตัวคุณย่าเองเหนื่อยมาก เพราะเฝ้าน้องตลอดทั้งวันและนอนไม่ค่อยหลับ เพราะบางครั้งน้องร้อนวูบขึ้นมาต้องเรียกหมอมาดู จึงคิดว่าจะให้น้องไปกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลใกล้บ้านที่สุพรรณบุรี เราก็เริ่มใจหายนิดหนึ่งที่จะไม่ได้เจอน้องอีก แต่ก็ดีใจที่น้องดีขึ้นมากแล้ว คุณย่าและน้องก็ขอบคุณเรามากที่ได้ช่วยเหลือตลอดมาเลยให้แผ่นโดเรมอนน้องไปสามแผ่น

 

        รู้สึกขอบคุณงานอาสาข้างเตียงมากๆ ที่ทำให้เราเข้าใจชีวิตอีกมุมหนึ่ง เป็นชีวิตจริงๆ ของผู้ป่วยที่เราไม่เคยได้มองเห็นหรือได้สัมผัส เห็นถึงความรักความห่วงใยของญาติผู้ป่วย เห็นกำลังใจที่จะมีชีวิตของผู้ป่วย เห็นความเยาว์วัยของเด็กๆ ทุกวินาทีที่ได้มาเป็นอาสา รู้สึกว่าลึกๆ ในใจมีความสุขและอบอุ่นใจที่เราได้ทำอะไรให้ผู้อื่น ได้แบ่งปันสิ่งที่เราพอจะช่วยเหลือได้ เป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ ในชีวิตที่คงยากจะลืมเลือน แม้ผู้ป่วยจะมีความทุกข์ ความเจ็บป่วยที่กาย แต่เมื่อมีจิตใจที่เข้มแข็ง กล้ารับมือกับมัน ก็จะผ่านพ้นไปได้ 

        เราได้ฝึกการเป็นผู้รู้จักฟัง รับฟังปัญหาเรื่องราวในชีวิตของผู้อื่นด้วยจิตใจที่เปิดกว้าง เราได้เรียนรู้ไดอารีชีวิตเล่มใหญ่ที่ผู้ป่วยและญาติได้หยิบยื่นให้ น้ำใจเล็กๆ น้อยที่ถามไถ่ ทั้งตัวเรา ผู้ป่วย และญาติ ได้เติบโตและเรียนรู้ไปด้วยกัน เราได้ช่วยให้ผู้อื่นมีความสุขขึ้นและถ่ายเทความเจ็บป่วยมาทำกิจกรรมต่างๆ เป็นคำพูด การกระทำ ทำให้ทุกฝ่ายเกิดการตระหนัก ยอมรับว่าความเจ็บป่วยเป็นเรื่องธรรมดาที่ผ่านเข้ามา ไม่ใช่เรื่องไกลตัว เราไม่ควรประมาทกับชีวิต และเมื่อป่วยแล้วก็ต้องไม่ทุกข์ใจ ไม่วิตกกังวลมากไป มีความหวังอยู่เสมอ ยังมีความรักและกำลังใจอีกมากมายที่อยู่รอบตัวเรา 

        ที่สำคัญงานอาสาข้างเตียงทำให้เราเห็นคุณค่าของชีวิตมากขึ้น ไม่ใช่แค่ชีวิตเรา ชีวิตคนที่เรารัก แต่เป็นชีวิตของผู้อื่นที่เป็นเพื่อนร่วมทางบนโลกใบนี้ มีเกิด แก่ เจ็บ และตาย เห็นถึงโลกของสิ่งที่ขาดและสิ่งที่พร้อม และทำให้เราได้แบ่งปันเรื่องดีๆ ที่ได้เป็นอาสาข้างเตียงให้กับเพื่อนๆ ให้พวกเขาได้รับรู้ว่าในมุมหนึ่งของสังคม การให้โดยไม่หวังอะไรตอบแทนเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงและเป็นแรงบันดาลใจกับคนอื่นๆ ที่จะทำอะไรดีๆ ให้ผู้อื่น ไม่ต้องยิ่งใหญ่ ไม่ต้องมากมาย แค่ทำสิ่งนั้นด้วยใจ และเราสัมผัสมันได้ด้วยใจเช่นกัน ขอบคุณทุกวินาทีที่ได้เป็น ^_^

คอลัมน์:

ผู้เขียน: