Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

ประสบการณ์อาสาข้างเตียง

-A +A

          ในช่วงระยะเวลาสามเดือนของการเป็นอาสาข้างเตียงรุ่นที่ 7 ช่วงแรกได้พบกับน้องผู้ป่วยเด็กชาย อายุ 7 ขวบ ซึ่งทั้งน้อง ญาติ และตัวอาสาเองได้ใช้เวลาพัฒนาความไว้วางใจ การยอมรับ และบทบาทหน้าที่ต่อกันตลอด 3 ครั้งที่พบกันต่อเนื่อง  หลังจากนั้นเป็นน้องอายุ 10 ขวบที่เพิ่งตรวจพบโรคหัวใจโดยที่ญาติยังไม่บอกให้น้องทราบ และอีกรายเป็นน้องอายุ 6 ขวบ ที่ครอบครัวดูแลอย่างดี น้องรู้เรื่อง ฉลาด และน่ารักมาก จนดูไม่ออกว่าน้องเป็นดาวน์ซินโครม

          รายสุดท้ายที่ได้พบต่อเนื่องโดยบังเอิญเกือบทุกครั้ง เพราะคุณแม่บอกว่าจะได้กลับบ้านแล้ว แต่ก็มีอาการแทรกซ้อนต้องอยู่ต่อหลายๆ ครั้ง น้องเป็นเด็กชายอายุ 4 ขวบเศษ เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงขั้นรุนแรง รายที่ 16  ของประเทศไทย น้องเริ่มมีอาการและรักษามาปีเศษๆ พบกันครั้งแรกน้องแจ่มใส เดินเล่นอยู่ในวอร์ด คุณแม่อัธยาศัยดี เล่าเรื่องน้องให้ฟัง น้องเดินกลับมานั่งฟังด้วยและแบ่งขนมให้อาสาทาน คุณแม่พูดเสมอว่าหมอให้ทำใจ น้องต้องจากไปภายใน 2 ปี และน้องก็รับรู้ด้วยทุกอย่าง รักษามา 15 เดือน นอน รพ.ประมาณ 12 เดือน บางครั้งอาการเกิดที่ปอด น้องหายใจเองไม่ได้ ต้องเจาะคอช่วยหายใจ และนอนไอซียู คุณแม่ชำนาญในการดูดเสมหะ ให้ยาพ่นฆ่าเชื้อและยาขยายหลอดลมเอง ทำความสะอาดแผลเจาะคอ เหมือนเป็นพยาบาลมืออาชีพ บางครั้งน้องไม่มีแรง ต้องนอนติดเตียงเดินไม่ได้นับเดือน

          การพบกันครั้งถัดมา น้องมีเลือดออกในทางเดินอาหาร ต้องงดอาหารและน้ำนับครึ่งเดือนเพื่อดูอาการ น้องเพลียและไม่สนใจสิ่งรอบตัว คุณแม่ก็ดูเหนื่อยมาก แต่อยากมีเพื่อนคุย เล่าเรื่องการรักษาน้อง การทำมาหากิน และคุณแม่เพิ่งไปบริจาคเลือดมา ถามเราว่าเราเคยมีอาการชาปลายมือเท้าเวลาไปบริจาคเลือดไหม (ครั้งก่อนเราเล่าว่าบริจาคเลือดเป็นประจำ) รู้สึกดีที่คุณแม่จำเรื่องราวของอาสาได้ด้วย เราลองถามเรื่องการทำงานประดิษฐ์เพื่อหารายได้เพิ่ม คุณแม่ยังไม่สนใจ ครั้งต่อมาเราซื้อหมูหยองไปฝาก คุณแม่บอกว่าน้องอยากทานพอดี ปกติน้องที่เจาะคอ ต้องให้อาหารทางสายยาง แต่เคสเด็กๆ คุณหมอจะอนุโลมให้ทานได้นิดหน่อยพอได้รู้รสชาติ น้องค่อยๆ ดึงหมูหยองทานทีละเส้นเล็กๆ แบบรู้สติตลอดเวลาว่าตนเองทำได้แค่ไหน เราขอจับเท้าและนวดให้น้อง บอกว่าขอเป็นกำลังใจและเติมพลังให้ น้องพูดน้อยแต่หันไปบอกแม่ให้เอาที่กั้นเตียง(ระหว่างเรา)ลง น้องยอมรับป้าอาสาแล้วนะ 

          ครั้งต่อมา คิดว่าน้องคงกลับไปแล้ว แต่ยังมีอาการต้องอยู่ต่ออีก คุณแม่บอกว่าน้องถามถึงป้าอาสา น้องเริ่มลงมาเดินบ้าง เราขอนวดเท้าและขาให้น้องอีก ทำท่าเติมพลังอุลตร้าแมนกันอีก คุณแม่พูดเรื่องค่ายาที่อยู่นอกรายการบัตร 30 บาท ที่ต้องจ่ายเองเดือนละ 875 บาท เราฟังนิ่ง

          พบกันครั้งหลังสุด น้องดีใจมากที่พบกัน เราซื้อสมุดภาพระบายสีอุลตร้าแมนและสติกเกอร์เบนเทนไปให้  น้องชอบทุกอย่าง ในสมุดภาพมีหน้ากากอุลตร้าแมนแบบตัดประกอบ น้องให้ป้าอาสาประกอบให้ซึ่งต้องต่อสายเพิ่มพิเศษเพราะหน้าและศีรษะของน้องบวมกลมเนื่องจากยาสเตียรอยด์ เมื่อสวมหน้ากากแล้ว เราบอกว่าน้องเป็นจอมพลัง เห็นประกายตาแวววาวอยู่เบื้องหลังหน้ากากอุลตร้าแมน เราขออนุญาตถ่ายรูปเพื่อให้น้องดูรูปตัวเอง น้องหงายตัวลงนอน เห็นรอยยิ้มปลาบปลื้มและน้ำตาปริ่ม น้องให้แม่โทรฯ ถึงพ่อและบอกพ่อว่าเขาสวมหน้ากากอุลตร้าแมน น้องมีความสุขมาก เราให้แผ่นพับสวดมนต์เล็กๆ กับคุณแม่ ถามคุณแม่อีกครั้งว่าอยากทำงานประดิษฐ์เพื่อหารายได้พิเศษไหม ป้าอาสาพอจะมีทักษะถักหมวกไหมพรม คุณแม่ตกลงว่าจะลองทำดู ได้ขออนุญาตติดต่อกับน้องทางโทรศัพท์เพราะคิดว่าได้ดูแลกันต่อเนื่องและมีพัฒนาการซึ่งกันและกันแล้ว คุณแม่พูดย้ำเรื่องน้องต้องเสียชีวิตภายในสองปี เรารับฟังและบอกว่าเวลาจะเหลือเท่าไหร่ก็ตาม ขอให้เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดและช่วยให้น้องสบายตัวสบายใจให้ได้มากที่สุดซึ่งคุณแม่ทำได้ดีอยู่แล้ว 

          ได้โทรฯ ถามอาการน้องสองครั้ง น้องดีใจมากมาคุยด้วย เขาถามป้าอาสามากมาย ป้ากินข้าวยัง กินกับอะไร ป้าจะไปไหน อยู่ที่ไหน ไปทำไม ฯลฯ และเราก็ถามถึงตัวน้องเอง พี่ๆ คุณแม่และคุณพ่อ น้องเล่าว่าใครทำอะไรอยู่บ้าง ป้าอาสาก็ชมว่าคนนั้นเก่ง คนนี้เก่ง ในการทำหน้าที่ของตัวเอง น้องภูมิใจตัวเองและคนรอบตัว เราคุยกันอย่างอิ่มเอมใจ อยากจะบอกว่าน้องก็เติมพลังให้ป้าอาสาด้วยเหมือนกัน  คุณแม่ของน้องก็ถามถึงคุณแม่ของป้าอาสาที่กลับไปเยี่ยมดูแลที่ต่างจังหวัดด้วยเช่นกัน

 

สิ่งที่ได้รับ

          - ธรรมะจากเด็กๆ ซึ่งจิตใจใสบริสุทธิ์ ปล่อยวางอารมณ์เจ็บปวดทางกายได้มากกว่าผู้ใหญ่

          - เด็กๆ มีความรับผิดชอบต่อสุขภาพตนเอง ยอมให้ความร่วมมือดูดเสมหะ ยอมอดอาหาร ค่อยๆ ทานขนมที่ชอบเพียงเพื่อรู้รสแค่พอประมาณ กดไซริ้งทานยาเอง ช่วยพยาบาลกดเครื่องตรวจวัด เช่น ปรอท เครื่องวัดออกซิเจน

          - อาสามิได้เป็นผู้ให้ เพียงแต่เป็นคนตัวเล็กๆ ที่ได้รับโอกาสเข้าไปร่วมแบ่งปันบางสิ่งบางอย่าง และได้รับข้อคิดบทเรียนดีๆ กลับมาทุกครั้ง รวมทั้งความอิ่มเอมใจเมื่อได้รับความไว้วางใจ ประสบการณ์ที่ได้รับยังนำมาแบ่งปัน บอกเล่าและใช้กับคนใกล้ตัวด้วย ได้บอกเล่าและนวดขาเท้าให้คุณแม่อายุ 80 ปี ที่ล้มและไม่เดินอยู่หลายวัน

          - ได้เห็นความผูกพัน น้ำใจ และความปรารถนาดีที่มีต่อกัน ระหว่างผู้ป่วย ญาติ และอาสา  เผื่อแผ่ไปญาติและคนรอบตัว

          - การให้และการเตรียมตัวเผชิญความตายของคนตัวเล็กๆ ในครอบครัวเล็กๆ ทุกครั้งที่นอน รพ.เป็นเวลานาน น้องจะได้รับบริจาคของเล่นและตุ๊กตาจำนวนมาก ได้นำกลับไปแจกเพื่อนๆแถวบ้านอย่างเต็มใจ เพราะคุณแม่บอกว่าให้ตอนนี้เพื่อนๆ จะได้นำไปเล่นไปใช้  ถ้าให้ตอนที่น้องเสียชีวิตแล้วคงไม่มีใครอยากได้

อรทัย  ลิ้มตระกูล (เปิ้ล)
อาสาข้างเตียงรุ่น 7 

ที่มา: