Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

ร่วมมือประสานใจเยียวยา

-A +A

         การทำงานร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เป็นหัวใจสำคัญของโครงการส่งเสริมบทบาทพระสงฆ์ โรงพยาบาลและชุมชนในการเยียวยาจิตใจผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้าย (สังฆะดูแลผู้ป่วย) การดูแลผู้ป่วยอย่างมีส่วนร่วมระหว่างบุคลากรสุขภาพ พระสงฆ์ และจิตอาสาเป็นความท้าทายอย่างมากเพราะแต่ละภาคส่วนต่างก็มีเอกลักษณ์ วิถีการทำงานที่ต่างกัน

         อย่างไรก็ตาม การร่วมมือข้ามหน่วยงานก็ได้เกิดขึ้นแล้วในสังฆะการดูแลผู้ป่วย ผู้เขียนได้เห็นการร่วมมือดูแลระหว่างบุคลากรสุขภาพ จิตอาสา และพระสงฆ์ทั้งในระดับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) อย่างไรก็ตาม ระดับความร่วมมือมีความเข้มข้นมากน้อยต่างกันตามปัจจัยความพร้อมของพื้นที่ บางพื้นที่สามารถประสานความร่วมมือจนจิตอาสา พระสงฆ์ สามารถเข้าไปทำกิจกรรมในโรงพยาบาลและในชุมชนได้เป็นประจำและต่อเนื่อง บางพื้นที่เกิดการเยี่ยมในระยะสุดท้ายที่บ้าน จัดร่วมกันจัดพิธีกรรมนำทางผู้ป่วยสู่การตายที่สงบ

         ในพื้นที่ทั้งสามภาคภูมิภาค โครงการฯ ได้มีส่วนขับเคลื่อนให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในขั้นตอนต่างๆ จนกระทั่งเกิดความร่วมมือทั้งในขั้นเตรียมการ ขั้นจัดอบรมจิตอาสาในชุมชนและพระสงฆ์จิตอาสา ขั้นเยี่ยมดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนขั้นจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อพัฒนาระบบการเยี่ยมดูแลให้ดียิ่งขึ้น 

         เป็นเรื่องที่น่าศึกษาว่า ความร่วมมือต่างหน่วยงานเกิดขึ้นได้อย่างไร ผู้เขียนสังเกตว่าในพื้นที่ที่สามารถสร้างความร่วมมือจนเกิดการเยี่ยมดูแลผู้ป่วยอย่างเป็นระบบและมีส่วนร่วมมีปัจจัยสำคัญต่างๆ ดังต่อไปนี้

         ๑. ความศรัทธา เห็นคุณค่าของงานดูแลจิตใจผู้ป่วย สิ่งหนึ่งที่หน่วยงานต่างๆ ยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือ ก็เพราะเห็นคุณค่าในงานดูแลจิตใจของผู้ป่วย เพราะการช่วยเหลือผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตช่วงสุดท้ายจนกระทั่งผู้ป่วยตายอย่างสงบงามนั้น เป็นความสุขแก่ผู้พบเห็น ผู้ให้ความช่วยเหลือรู้สึกถึงคุณค่าของตนเอง เกิดความภาคภูมิใจในชีวิตและการงาน รอยยิ้มคือสิ่งที่เห็นได้เสมอในการเยี่ยม พยาบาลบางคนพบคุณค่าของวิชาชีพพยาบาลจากงานดูแลผู้ป่วยระยะท้าย “เพิ่งรู้ว่าทำงานเพราะหน้าที่ กับทำงานด้วยใจมันต่างกันอย่างนี้นี่เอง”

         ๒. เคารพให้เกียรติ เห็นคุณค่าของกันและกัน แม้บุคลากรสุขภาพ จิตอาสา และพระสงฆ์ จะมีความสามารถ ทักษะ ความรู้ที่แตกต่างกัน แต่การทำงานอย่างร่วมกันที่ประสบความสำเร็จย่อมต้องทำงานด้วยความเคารพให้เกียรติซึ่งกันและกัน ชื่นชมความสามารถของคนอื่นในทีม เป็นความสัมพันธ์แบบเพื่อนมากกว่าผู้นำ-ผู้ตาม นอกจากนี้ ผู้เขียนยังพบว่าการให้อิสระซึ่งกันและกัน ให้โอกาสทำงานตามความพร้อม ยังทำให้ทีมงานสบายใจที่จะทำงานระยะยาว บางทีมบุคลากรสุขภาพจะสนับสนุนให้จิตอาสาแสดงบทบาทนำในการดูแล ความเชื่อมั่น วางใจในกันและกันเป็นปัจจัยให้การพัฒนาทีมงานเป็นไปอย่างรวดเร็ว

         ๓. การเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ ให้อภัย การทำงานข้ามหน่วยงานแบบแนวราบเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก โดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประสานความร่วมมือเป็นเรื่องใหม่ ดังนั้นจึงเป็นธรรมดาที่การทำงานจะมีความติดขัด ไม่ราบรื่น ทั้งจากโครงสร้างของระบบสุขภาพ โครงสร้างสงฆ์ และข้อจำกัดของจิตอาสา ดังนั้นการให้อภัยจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้สามารถทำงานร่วมมือกันต่อไปได้ สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ทั้งในแง่ของทักษะการเยี่ยมและการทำงานเป็นทีม การเปิดใจเรียนรู้และการให้อภัยนั้นขาดไม่ได้เลยในกระบวนการประสานความร่วมมือ

         ๔. มีโครงสร้างพื้นฐานจำเป็นในการร่วมมือ การร่วมมือกันตามธรรมชาติเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่การเยี่ยมดูแลอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องจำเป็นต้องได้รับปัจจัยพื้นฐานสนับสนุนการร่วมมืออย่างเพียงพอ ปัจจัยดังกล่าวประกอบด้วย ท่าทีสนับสนุนส่งเสริมจากผู้บริหารโรงพยาบาลหรือผู้บริหารวัด การได้รับการฝึกฝนอบรมความรู้และทักษะการดูแลผู้ป่วยที่จำเป็น การทำความรู้จักกันระหว่างทีมเยี่ยม การจัดสรรเวลาเพื่อให้เกิดการเยี่ยมร่วมกันและแลกเปลี่ยนบทเรียนประสบการณ์เพื่อพัฒนาศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยของแต่ละฝ่าย

         สำหรับบุคลากรสุขภาพสิ่งจำเป็นคือ การได้รับเวลาในการแสวงหาความร่วมมือและทำงานร่วมกันกับอาสาสมัครและพระสงฆ์จิตอาสา การคุยเล่น การกินข้าวด้วยกัน การออกเยี่ยมดูแลร่วมกันคือส่วนหนึ่งของการทำงานแสวงหาความร่วมมือ ผู้บริหารและเพื่อนร่วมงานที่แสดงความเข้าใจวิถีการทำงานอย่างมีส่วนร่วมดังกล่าว จะช่วยให้กำลังใจคนทำงานประสานงาน ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยให้ทีมทำงานด้วยความสบายใจ ผ่อนคลาย กิจการงานดูแลผู้ป่วยอย่างมีส่วนร่วมย่อมก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วและมั่นคง

         การประสานงานร่วมมือข้ามหน่วยงานไม่เพียงช่วยให้งานดูแลจิตใจผู้ป่วยดีขึ้นเท่านั้น แต่หากไม่มีการร่วมมือกันระหว่างโรงพยาบาล พระสงฆ์ และชุมชน ก็ยากที่การดูแลมิติจิตใจจะเกิดขึ้น เพราะลำพังพระสงฆ์เองก็แทบไม่มีโอกาสทำงานด้านการเยียวยาความเจ็บป่วยเลยหากไม่มีบุคลากรสุขภาพมานิมนต์ ในขณะที่หากไม่มีพระสงฆ์มาชี้ให้เห็นความสำคัญของการดูแลจิตใจ บุคลากรสุขภาพก็อาจติดกับดักของการดูแลกายเพียงมิติเดียว

         การร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานจึงทำให้มิติจิตใจของผู้ป่วยได้รับการดูแลใส่ใจ นอกจากนี้การร่วมมือกันยังทำให้เกิดการแบ่งปันทรัพยากร งบประมาณ อุปกรณ์ ความรู้ทักษะ หรือแม้กระทั่งกำลังใจจากกันและกัน เพียงประชุมสรุปงานก็สามารถจัดหาเตียงนอน หรือทุนสนับสนุนการเยี่ยมจากในวงประชุมนั้นเลย 

         อย่างไรก็ตาม การร่วมมือประสานงานดูแลผู้ป่วยไม่เป็นเพียงแนวคิดที่จำกัดอยู่เพียงองค์กรสุขภาพ ศาสนา และจิตอาสาในชุมชนเท่านั้น แต่ยังต้องพัฒนาความร่วมมือผู้ดูแลที่เป็นญาติ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรการศึกษา และอื่นๆ เพื่อให้ผู้ป่วยระยะท้ายมีคุณภาพชีวิตและการตายที่ดีอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การร่วมมือระหว่างหน่วยงานเหล่านี้เป็นสิ่งท้าทาย แต่ก็เชื่อว่าไม่ยากเหลือวิสัยหากหน่วยงานต่างๆ ได้ทำงานประสานมือกันด้วยจิตที่มีศรัทธา เมตตา เคารพซึ่งกันและกัน และพร้อมให้อภัย

คอลัมน์: