Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

ศิลปะบำบัด ศิลปะเยียวยาใจ

-A +A

           เมื่อกล่าวถึงคำว่า “ศิลปะ” โดยทั่วไปเรามักเข้าใจกันว่า คือ กิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อการผ่อนคลายและความสุขสนุกสนาน

           แต่ในปัจจุบัน ศิลปะได้ขยายตัวเข้าไปสู่เขตแดนของการแพทย์ที่สามารถนำมาเยียวยาผู้คนได้อีกด้วย เรียกกันว่า “ศิลปะบำบัด” ซึ่งมีความหมายกว้างๆ คือการใช้กิจกรรมทางศิลปะเพื่อวินิจฉัยหาข้อบกพร่อง ความผิดปกติบางประการของกระบวนการทางจิตใจ และช่วยในการบำบัดรักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพให้ดีขึ้น 

           แม้แนวทางการใช้ศิลปะบำบัดเพื่อเยียวยาผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรังหรือผู้ป่วยโรคระยะสุดท้ายจะยังไม่แพร่หลายมากนัก แต่ก็เริ่มเป็นที่รู้จักและนับวันจะมีผู้สนใจเข้ามาศึกษาศาสตร์ดังกล่าวมากขึ้นเรื่อยๆ อาทิตย์อัสดง ขอนำผู้อ่านไปรู้จักกับโลกแห่งศิลปะบำบัดซึ่งในเมืองไทยเองเริ่มมีหลากหลายสกุล ผ่านสองนักศิลปะบำบัดผู้มีส่วนบุกเบิกวงการดังกล่าวมานานเกือบสิบปี 

           คนหนึ่งเป็นแพทย์ ผู้ค้นพบความต้องการที่แท้จริงของตัวเองจากการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย นำไปสู่การพลิกเปลี่ยนชีวิตจากการเป็นแพทย์สู่นักศึกษาศิลปะในต่างแดน และค้นพบศาสตร์แห่งศิลปะบำบัด ก่อนจะต่อยอดและผนวกรวมศาสตร์แห่งความรักและการเยียวยาเข้ามาเป็นเนื้อเดียวกันอีกครั้งในที่สุด

           อีกคนหนึ่งเป็นนักศึกษาศิลปะหนุ่มนักแสวงหาผู้ฝ่าฟันสู่เส้นทางสายศิลปะบำบัดในแนวมนุษยปรัชญายังดินแดนต้นกำเนิด ประเทศเยอรมัน ก่อนจะกลับมาบุกเบิกและลงหลักปักฐานงานแห่งความรักนี้ในเมืองไทย

 

จากแพทย์สู่นักศิลปะบำบัดเพื่อผู้ป่วยโรคระยะสุดท้าย


           
“นิยามของศิลปะบำบัดในต่างประเทศไม่เหมือนกับในเมืองไทย” พญ.พัชรินทร์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง หรือหมอโจ้ กล่าว “เรารู้กันอยู่แล้วว่า ศิลปะสามารถช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและสนุก คนไทยส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่านั่นคือที่มาของคำว่าศิลปะบำบัด ซึ่งถูกเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น จริงๆ แล้วศิลปะที่นำมาใช้ในการบำบัดสามารถทำได้มากกว่านั้นมาก ในต่างประเทศ ศิลปะบำบัดไม่ได้หยุดแค่การผ่อนคลาย บางครั้งไม่สนุกด้วยซ้ำ แต่ทำเพื่อเปิดประตูเข้าไปสู่ปัญหา เผชิญหน้าแล้วเรียนรู้ที่จะจัดการหรือลงมือทำอะไรบางอย่าง เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตให้มีความสุขขึ้น” 

           หลังกลับจากการศึกษาทางศิลปะและศิลปะบำบัดในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๘ หมอโจ้อาสาตัวเองเข้าไปทำศิลปะบำบัดกับผู้ป่วยเด็ก รพ.จุฬาฯ ในขณะเดียวกันก็ก่อตั้งศูนย์ศิลปะเพื่อการบำบัดและพัฒนาที่โรงเรียนรุ่งอรุณ ทำอยู่ปีกว่าๆ เธอก็พบว่าการทำงานกับผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็งทำให้เธอรู้สึกเชื่อมโยงกับจิตวิญญาณของตัวเองอย่างแนบแน่น จึงตัดสินใจทุ่มเทให้กับการเยียวยาผู้ป่วยด้วยศิลปะบำบัดที่ รพ.จุฬาฯ เป็นหลัก ก่อนจะขยายจากการทำคนเดียวมาเป็นกลุ่ม ต่อมาได้ขยายงานภาคอาสาสมัคร และเพิ่มเติมบริการห้องสมุดเคลื่อนที่สำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังและโรคระยะสุดท้ายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ในปัจจุบัน โครงการฯได้เติบโตและพัฒนาไปเป็นศูนย์ศิลปะบำบัดฮิวแมนเซ็นเตอร์ (องค์กรสาธารณประโยชน์) ซึ่งสามารถให้บริการครอบคลุมไปถึงผู้ป่วยที่โรงพยาบาลเด็กหรือสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีอีกด้วย 

           พญ.พัชรินทร์ หรือหมอโจ้ ย้อนความหลังเมื่อครั้งเริ่มบุกเบิกงานศิลปะบำบัดของตนเองว่า ความตั้งใจแรกสุดคือ อยากใช้ศิลปะบำบัดเยียวยาจิตใจผู้ป่วยเด็กโรคระยะสุดท้ายที่รักษาไม่หายแล้ว รวมถึงผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องรักษาตัวยาวนานจนชีวิตและตัวตนเดิมต้องเปลี่ยนไป วิธีการก็คือเตรียมวัสดุศิลปะที่มีความหลากหลาย เช่น แป้งโดว์ สีน้ำ กระดาษ กาว กรรไกร ที่สำคัญคือ ต้องเตรียมให้สอดคล้องกับความถนัด ข้อจำกัด และพัฒนาการของเด็ก เพื่อให้เด็กๆ ได้แสดงออก ได้เล่าเรื่องราวของตัวเองผ่านงานศิลปะ ทำไปสัก ๓-๔ ครั้ง ก็จะพอได้ข้อมูลว่าเด็กๆ ต้องการความช่วยเหลือตรงจุดไหน 

 
         
หมอโจ้ยกตัวอย่างหนึ่งที่กำลังทำงานด้วยกันว่า “เด็กป่วยโรคมะเร็งอายุ ๖ ขวบ มาจากครอบครัวที่ไม่ค่อยสนใจกัน คุณแม่ไม่ค่อยอยู่ติดบ้าน เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ปล่อยเธอไว้กับยาย ให้ยายเลี้ยง เธอโตมาด้วยความรู้สึกว่าแม่ไม่รัก เมื่อเป็นมะเร็งผมร่วงหมด จากสมัยก่อนที่ผมยาว แม่เคยชมว่าน่ารัก เพื่อนๆ ชอบมาเล่นด้วย ตอนนี้เธอรู้สึกว่าตัวเองน่าเกลียด แม่ไม่มาเยี่ยม เอามาทิ้งไว้ที่โรงพยาบาลแล้วก็หายไป เด็กหญิงย้อนนึกถึงเวลาที่อยู่กับแม่แล้วบอกว่าอยากทำวิกผม ตอนแรกเราก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเด็กถึงอยากได้วิกผม จนเมื่อได้ลงมือทำงานด้วยกันไประยะหน่ึง เธอจึงเล่าออกมาว่า การไม่มีผมเลวร้ายมากขนาดไหน ต้องทำผมให้ได้ เพื่อให้แม่กลับมารักเหมือนเดิม วิธีคิดแบบนี้จะจริงหรือสมเหตุสมผลหรือไม่นั้น ไม่สำคัญ กรณีนี้ สิ่งสำคัญก็คือ นักศิลปะบำบัดต้องรู้ให้ทันว่าเส้นผมมีความหมายอย่างไรสำหรับเด็กคนนี้ และจะออกแบบกระบวนการอย่างไรต่อไปเพื่อให้เด็กก้าวพ้นอุปสรรคไปสู่การเติบโตและการเตรียมตัวรับสถานการณ์ที่โรคมะเร็งจะนำพามาในวันข้างหน้าให้ได้" 

           “การใช้ศิลปะจะช่วยให้เข้าใจความต้องการของผู้ป่วยได้ง่ายกว่าการพูดคุย เพราะศิลปะมีลักษณะไม่คุกคาม ผู้รับการบำบัดจึงไม่ต้องใช้กลไกป้องกันตัวเองมากนัก... ในส่วนของนักศิลปะบำบัด หนึ่งในหน้าที่ที่ต้องทำคืออ่านสาร/ข้อมูลที่ซ่อนอยู่ ซึ่งสารส่วนใหญ่จะอยู่ในกระบวนการมากกว่าในผลลัพธ์สุดท้าย (ผลงานที่ทำเสร็จแล้ว) ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยวาดอะไรบางอย่างลงไปในงานแล้วลบทิ้งหรือวาดทับ ถ้าเราดูเพียงผลลัพธ์สุดท้าย เราอาจจะมองไม่เห็นร่องรอยของสิ่งที่มีอยู่ก่อน ข้อมูลสำคัญๆ จะหล่นหายไป สำหรับนักศิลปะบำบัด ชิ้นงานเป็นเพียงผลพลอยได้ของกระบวนการ เปรียบเสมือนรอยเท้าบนหาดทราย เราสามารถรู้เพียงว่ามีคนเดินมา แต่ไม่มีทางรู้ว่าเป็นใคร เดินด้วยความรู้สึกอย่างไร เขาเดินอย่างสนุกสนานหรือเดินเนิบนาบเศร้าสร้อย ถ้าเราไม่ได้นั่งดูอยู่ เราจะไม่ได้ข้อมูลเหล่านี้เลยเพราะมันไม่ถูกบันทึกไว้บนหาดทราย เช่นเดียวกันกับการทำศิลปะบำบัด ถ้าเราไม่อยู่ร่วมตลอดกระบวนการ เราก็จะได้เห็นเพียงรอยเท้าบนหาดทราย จึงไม่อาจเข้าถึงและเข้าใจผู้รับการบำบัดได้อย่างแท้จริง”

 

           ศิลปะบำบัดเป็นทั้งเครื่องมือในการเข้าไปสังเกต รับฟัง ยอมรับผู้ป่วยอย่างที่เป็น แล้วจะเห็นแง่มุมบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวด้านลบ ความเจ็บปวด หรือความภาคภูมิใจของเขา ... เมื่อได้ข้อมูลแล้ว รู้ว่าปัญหาของผู้ป่วยคืออะไรแล้ว จึงมาพิจารณาต่อไปว่า เครื่องมืออะไรจึงจะช่วยเยียวยาเขาได้ ซึ่งไม่จำกัดว่าต้องเป็นศิลปะประเภทไหน แต่งบทกวีก็ได้ ทำนิทานก็ได้ ป้ันประติมากรรมก็ได้ แล้วแต่ความเชี่ยวชาญของผู้บำบัดและความถนัดของผู้ป่วย 

           ในระหว่างกระบวนการ ศิลปะจะทำหน้าที่หลายๆ อย่าง ครั้งแรกๆ อาจเป็นเครื่องมือสร้างความสัมพันธ์ ต่อมาเป็นช่องทางเก็บเกี่ยวข้อมูล บางครั้งศิลปะทำหน้าที่ตั้งคำถาม บางจังหวะเป็นเครื่องถ่ายเทพลังงานที่ล้นทะลักอยู่ภายใน บางทีก็เป็นเครื่องบอกทาง และหลายๆ โอกาสก็นำไปสู่ความเข้าใจอะไรๆ ที่มีนัยสำคัญสำหรับการดำรงชีวิต 

           เป้าหมายของการทำศิลปะบำบัดคือ การเข้าถึงสมดุลหรือจุดที่ชีวิตจะดำรงอยู่ได้อย่างมีความสุข (ตามสมควร) ปัญหาบางอย่างอาจไม่สามารถทำให้หมดไปแต่คนจะต้องดำรงอยู่ให้ได้ด้วยศักยภาพที่มีอยู่ และมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความเป็นจริง เช่น ถ้าทำศิลปะบำบัดกับผู้ป่วยโรคมะเร็ง เป้าหมายไม่ใช่ทำโรคมะเร็งให้หายไป หากแต่เป็นการช่วยเหลือให้คลี่คลายจากความทุกข์ ความกลัว ไม่ว่าจะเป็นกลัวเจ็บ กลัวพลัดพราก หรือ กลัวตาย ดึงศักยภาพในตัวออกมาใช้ เพื่อเคลื่อนกลับไปสู่ตัวตนเดิมที่เคยเป็น เคยมีความสุขอย่างไรก็ให้สามารถมีความสุขได้อย่างนั้น ด้วยการเข้าถึงความจริงที่ว่า ความเจ็บป่วยหรือความตายเป็นเพียงเหตุการหนึ่ง หรือเรียกว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่ใช่ทั้งหมด นี่คือการต้อนรับชีวิตอย่างซื่อตรง และอ่อนน้อมต่อธรรมชาติ และเป็นหนทางไปสู่การดำรงอยู่อย่างสมศักดิ์ศรี

 

           ศิลปะบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคระยะสุดท้าย นอกจากจะช่วยให้ผู้ป่วยได้ใช้ศักยภาพของตนนำตนกลับไปสู่สมดุลของชีวิตแล้ว ยังเป็นโอกาสในการประมวลภาพชีวิตและการเตรียมตัวสำหรับวาระสุดท้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้มีโอกาสค้นหาและสะสางความต้องการของตนเอง ผ่านการสร้างสรรค์งานศิลปะรูปแบบต่างๆ ซึ่งเป็นการตระเตรียมที่สำคัญเพื่อการจากลาอย่างสงบและเป็นอิสระ ปราศจากภาระหรือความห่วงกังวล ช่วงเวลาของศิลปะ เป็นช่วงเวลาพิเศษที่ผู้ป่วยจะได้ถอนตัวออกมาจากความป่วยไข้ ไม่จมจ่อมอยู่กับโรค หรือความเจ็บป่วยที่กำลังเผชิญอยู่มากจนเกินไป เพราะศิลปะจะช่วงชิงเอาเวลาและพลังงานออกมาจากความห่วงกังวล แล้วเอาพลังงานนั้นไปใช้พิจารณาแก่นของปัญหาให้ชัดๆ ทำให้เกิดความเข้าใจและการคลี่คลายปัญหา แม้จะเป็นเพียงการคลี่คลายทางความรู้สึก แต่ก็สามารถทำให้ผู้ป่วยได้ใช้เวลาที่เหลืออยู่ด้วยใจที่สงบลง ไม่ร้อนรุ่มหรือหมกมุ่นอยู่กับปัญหาที่ไม่มีทางออก 

           ในเวลาอย่างนั้น หน้าที่ของครอบครัวหรือคนรอบข้างคือ สนับสนุนการค้นหาและตอบสนองสิ่งที่เป็นความปรารถนาสูงสุดของผู้ป่วยโรคระยะสุดท้าย สิ่งใดทำแล้วเป็นสุข สิ่งใดช่วยเติมเต็มความรู้สึก สิ่งใดช่วยยกระดับจิตใจให้เข้าสู่ความสงบ สิ่งเหล่านั้นคือสิ่งที่ทำให้ชีวิตในระยะสุดท้ายมีความหมาย มีความสมบูรณ์ 

 

           ที่สุดแล้ว หมอโจ้เห็นว่า การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายไม่ใช่เรื่องของผู้เชี่ยวชาญฝ่ายเดียว แต่เป็นเรื่องพื้นฐานของมนุษย์ มนุษย์ที่จะต้องอยู่ร่วมกันอย่างให้เกียรติ เพราะสิ่งที่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายต้องการมากสุดคือคนที่เข้าใจ รับฟัง ไม่มีวาระของตัวเองเข้าไปเบียดแทรก มนุษย์ธรรมดาที่รู้ขอบของตนเองและเคารพขอบของคนอื่น จะไม่ไปรบกวนคนอื่น ไม่วิพากษ์วิจารณ์ ไม่อบรมสั่งสอนด้วยเชื่อว่าตัวเองมีความรู้ดีกว่า หรือตัวเองมีทางออกที่วิเศษกว่าแล้วไปบอกเขา หากแต่จะฟังเขาอย่างเคารพ และนั่นคือสิ่งสูงสุดที่มนุษย์เราจะทำให้กันได้ ผู้ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายไม่จำเป็นต้องเชี่ยวชาญศิลปะ แต่ต้องเคารพเขาทั้งการกระทำและคำพูด 

 

จากนักศึกษาศิลปะสู่นักศิลปะบำบัดในแนวมนุษยปรัชญา

           “ศิลปะแนวมนุษยปรัชญามีความหมายกว้างมาก มีด้วยกัน ๗ แขนง ได้แก่ สถาปัตยกรรม ปั้น การวาดระบาย การเคลื่อนไหว การละคร ศิลปะสำหรับสังคมหรือศิลปะในการดำรงชีวิตโดยมีหลักมนุษยปรัชญาเป็นแกนกลาง ศิลปะที่ใช้ในการศึกษาและเยียวยาบำบัดจึงเป็นศิลปะที่สูง ที่กระทบและสัมผัสวิญญาณและจิตวิญญาณของมนุษย์ จึงไม่ใช่ศิลปะว่า ทุกแขนงทุกประเภทจะเหมาะกับการเยียวยา หรือทำงานด้านในของมนุษย์คนใดคนหนึ่ง” อนุพันธ์ พฤกษ์พันธ์ขจี หรือครูมอส นักศิลปะบำบัดในแนวมนุษยปรัชญา ของ รูดอล์ฟ สไตเนอร์ (Rudolf Steiner) กล่าว

           ศิลปะบำบัดในแนวมนุษยปรัชญาถือกำเนิดในทศวรรษ ๑๙๒๐ เมื่อมีการพัฒนาการแพทย์แนวมนุษยปรัชญาขึ้น และนำไปใช้เป็นครั้งแรกในคลินิกประเทศสวิตเซอร์แลนด์ 

           มนุษยปรัชญา (Anthroposophy)  มีแนวคิดว่า รากฐานของความเข้าใจมนุษย์ประกอบด้วยสามส่วนหลัก คือ ความคิด ความรู้สึกและเจตจำนง ปฏิสัมพันธ์อย่างสมดุลตามช่วงเวลาการเติบโต ภาวะความเจ็บป่วยด้วยโรคทางกายหรือโรคทางใจ ไม่ว่าจะเพศหรือวัยใด เกิดจากสามสิ่งดังกล่าวสูญเสียความสมดุล ส่งผลต่อทางกาย (กระบวนการเผาผลาญร่างกาย) ทางใจ (ระบบหมุนเวียนของโลหิตและการทำงานของหัวใจ) ทางความคิด (ระบบประสาทและการทำงานของสมอง)

           การแพทย์แนวมนุษยปรัชญาจึงเป็นการแพทย์องค์รวม และในยุโรปจะเรียกว่าการแพทย์ขยาย คือต้องจบแพทย์หลักก่อนแล้วจึงมาเรียนมนุษยปรัชญา ทำให้การทำศิลปะบำบัดแตกต่างจากสายอื่นๆ เพราะมองความเจ็บป่วยและสาเหตุต่างกัน

           ศิลปะบำบัดในแนวมนุษยปรัชญาจึงไม่ใช่แค่เพียงศิลปะเพื่อการระบายออกหรือแสดงอารมณ์ เพราะมนุษย์ไม่ใช่มีแค่ลมหายใจออก เหมือนศิลปะแนวระบายออกหรือเอ็กซ์เพรส แต่ยังมีลมหายใจเข้า เหมือนศิลปะแนวประทับความรู้สึกเข้ามาข้างในหรืออิมเพรส การบำบัดโดยใช้คิลปะ จึงเป็นการกระทำเพื่อสร้างสมดุล หรือขจัดภาวะติดขัด การถูกกดภายใน ให้หลุดหรือคลายออก แล้วเกิดความสงบสุขภายในจิตใจ โดยผู้รับการบำบัดจะปฏิบัติโดยรับประสบการณ์จากภายนอกเข้าไปไว้ในตัว ไม่ว่าจะเป็นการทำงานกับสี กับวัสดุ หรือกับเนื้อหาที่มีความงาม แล้วเกิดการสร้างสรรค์จากภายในเพื่อถ่ายทอดออกมาอีกครั้ง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาจิตวิญญาณในที่สุด

           โดยรายละเอียดของการรักษาจะแตกต่างกันไปตามอาการป่วยที่สัมพันธ์กับอวัยวะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้วยการวาด ระบาย รวมไปถึงการใช้วัสดุ ไม่ว่าจะเป็นสีน้ำ สีเทียน หรือสีจากพืช ที่ต้องมีความบริสุทธิ์ และเหมาะกับอาการป่วยของคนไข้ เช่น ผู้ป่วยในสภาวะปวดหรืออักเสบ จะไม่ใช้สีที่แรง หรือทึบแสง แต่ใช้สีที่สว่าง ที่โปร่งใส เพื่อให้ชีวิตระยะสุดท้ายของคนไข้มีความสุขที่สุด

           แต่แนวคิดสำคัญที่ทำให้ศิลปะบำบัดในแนวมนุษยปรัชญาแตกต่างจากทุกสายการบำบัด คือการมองเรื่องชีวิตในโลกหน้าด้วย เพราะมนุษยปรัชญาเชื่อว่า ชีวิตมนุษย์คือการเดินทางมาและต้องเดินทางต่อไป การเยียวยาผู้ป่วยจึงต้องการให้จิตวิญญาณของผู้ป่วยเดินทางต่อไปได้มากกว่ากาย ซึ่งมาถึงที่สุดแล้ว ศิลปะบำบัดจึงเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมตัวเพื่อเดินทางต่อไปในภายภาคหน้า

 

กระบวนการ เทคนิค และวัสดุ

           เมื่อแพทย์วินิจฉัยและส่งต่อผู้ป่วยมายังนักศิลปะบำบัดแล้ว ในการบำบัด ๒-๓ ครั้งแรก จะต้องพูดคุยถึงประเด็นที่อยากให้ช่วย ทำความรู้จัก ในผู้ป่วยระยะสุดท้ายจะไม่คุยมากนัก แต่หากเป็นเด็กจะคุยละเอียดว่า ตอนเล็กๆ เป็นอย่างไร เขาใช้ชีวิตอย่างไร มีความทุกข์ จุดเปลี่ยน การตัดสินใจใหญ่ๆ อะไร เรียกว่าอัตชีวประวัติบำบัด จะทำให้เขาเห็นว่าชีวิตมนุษย์ในแต่ละช่วงเวลาล้วนมีความสัมพันธ์กัน ความเจ็บป่วยในปัจจุบันจะตรงกับชีวิตวัยเด็กตอนอายุเท่าไหร่ เพียงแต่อยู่ในรูปแบบอื่น การถูกกระทำทางอารมณ์ การสูญเสียในวัยเด็ก มีโอกาสทำให้เราเจ็บป่วยทางจิตวิญญาณ และแสดงอาการออกมาที่กายได้อีก รวมถึงการให้ผู้ป่วยทำงานศิลปะ โดยนักศิลปะบำบัดจะเฝ้ามองว่า ผู้ป่วยมีรูปแบบและวิธีการในการทำงานศิลปะ "อย่างไร" ไม่ใช่ทำ "อะไร"

           "เราต้องคอยดูเขา ว่าเขาทำงานอย่างไร ทำเร็ว หรือทำช้า ใช้สีโทนร้อนหรือโทนเย็น รูปทรงที่เขาปั้นเล็กหรือใหญ่ เป็นรูปทรงปิดหรือเปิด เราไม่มานั่งดูว่าเขาวาดอะไร แต่เราต้องดูว่าเขาวาดมันอย่างไร" 

           ข้อมูลต่างๆ ข้างต้น เป็นเรื่องที่นักศิลปะบำบัดต้องเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจว่าจะต้องทำงานกับผู้ป่วยอย่างไร ผู้ป่วยคนนี้ จะต้องใช้สีน้ำ สีเทียน สีชอล์ค หรือไม่ควรจะวาด แต่ให้หันไปปั้นแทน เป็นต้น

           ครูมอส ยกตัวอย่างการทำงานจริงของตนเองว่า สำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ตัวโรคจะทำให้ผู้ป่วยไม่สมบูรณ์ทั้งด้านกายและภายใน โดยปกติจึงต้องใช้สีน้ำแบบแห้ง (Veil painting) วาดซ้อนทับเป็นชั้นๆ ไม่ระบายสีแบบเปียกบนเปียก ซึ่งทำให้ภาพดูเลื่อนไหลไร้รูปทรง การทำงานแบบนี้ช่วยพื่อทำให้ผู้ป่วยมีพลังชีวิตขึ้นมาจนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต 

           ศิลปะบำบัดในแนวมนุษยปรัชญาจึงให้ความสำคัญกับเรื่องเทคนิคอย่างสูงว่า จะวาดอะไร เนื้อหาอะไร เพราะไม่ว่าจะเป็น สีน้ำ สีเทียน สีฝุ่น สีดินสอ หรือรูปวาดในยุคต่างๆ ล้วนเป็นยาได้หมด เรียกว่าเป็น “บทเรียนสำหรับการบำบัด” เช่น การให้พลังชีวิต อาทิ ฤดูกาล ต้นไม้ที่อยู่ในฤดูหนาว ร้อน ใบไม้ร่วง ใบไม้ผลิ หรือกระบวนการเปลี่ยนของชีวิต อาทิ ลูกอ๊อด กลายเป็นกบ หนอน ดักแด้ ผีเสื้อ 

           “บทเรียนสำหรับการบำบัด” ดังกล่าว ล้วนเป็นกระบวนการเยียวยา เพราะมันมีชีวิต ให้ชีวิต และเป็นโครงความคิดให้นักศิลปะบำบัดเลือกนำไปใช้ให้เหมาะกับผู้ป่วย 

           ในคลินิกโรคมะเร็ง ศิลปะบำบัดในแนวมนุษยปรัชญาแบ่งการบำบัดเป็นหลายอย่าง แต่จะมีแค่บางอย่างเหมาะกับผู้ป่วยระยะสุดท้าย คือการทำงานกับพลังชีวิต เช่น มีการศึกษาปั้นดินบำบัดเฉพาะทาง ทำงานกับรูปทรง กับการเคลื่อนไหว เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีภาวะทางอารมณ์ บางคนซึมเศร้า มีความทุกข์มาก เพราะนึกถึงแต่การสูญเสีย รูปวาดของแต่ละคนจึงไม่ให้ความรู้สึกประทับอยู่ที่พื้นดิน แต่จะให้ความรู้สึกลอยๆ เหมือนไม่คิดว่าตัวเองยังมีชีวิตอยู่ นักศิลปะบำบัดจึงทำให้ผู้ป่วยกลับมาอยู่กับปัจจุบัน อยู่บนพื้นดิน ได้รับพลังชีวิตที่ดี

           ผนวกกับแนวคิดทางการแพทย์แนวมนุษยปรัชญาว่า แต่ละความเจ็บป่วยมีความสัมพันธ์กับอวัยวะ อุปนิสัย และธาตุทางธรรมชาติอะไรบ้าง แล้วหาวัสดุที่เหมาะกับอวัยวะดังกล่าวโดยตรง เช่น ตับเป็นอวัยวะของชีวิต ใครไม่มีพลังชีวิตให้ไปดูที่ตับ แล้วเราจะให้การวาดแบบไหนเพื่อช่วยให้การทำงานของตับดีขึ้น ตลอดจนการใช้วัสดุจากธรรมชาติ เช่น สีจากพืชที่ไม่ผ่านกระบวนการปรุงแต่งทางเคมี (โดยกระบวนการเกษตรไบโอไดนามิก) อีกด้วย 

           ทั้งหมดคือกระบวนการของการเปลี่ยน ไม่ได้กังวลที่ผล ชิ้นงานไม่ใช่ทั้งหมด แต่ชิ้นงานอาจจะดีได้เอง ถ้ากระบวนการสงบ จึงต้องดูระหว่างทางด้วย แต่ถึงแม้ว่าชิ้นงานอาจจะไม่ดี แต่กระบวนการดี สงบ มีความสุข ก็ถือว่าน่าพอใจ

  

อนาคตศิลปะบำบัดในเมืองไทย

           แม้ในปัจจุบัน แนวทางการใช้ศิลปะบำบัดเพื่อเยียวยาผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรังหรือผู้ป่วยโรคระยะสุดท้ายจะยังไม่แพร่หลายมากนัก แต่ก็เรียกได้ว่ามีขยายตัวอย่างต่อเนื่องและนับวันจะได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ดังจะเห็นได้จากเริ่มมีนักศิลปะบำบัดรุ่นใหม่ๆ ที่ไปร่ำเรียนจากเมืองนอกกลับมาทำงานในเมืองไทย รวมถึงมีผู้สนใจแสวงหาเรียนรู้อยู่ในประเทศอีกจำนวนไม่น้อย 

           แต่ครูมอสกล่าวว่า งานศิลปะบำบัดในแนวมนุษยปรัชญาไม่ใช่เดลิเวอรีที่จะเอาไปใช้ได้เลย แต่ต้องอาศัยเวลาศึกษาให้ลงลึกไปเรื่อยๆ ไม่มีการเรียนแบบคอร์สเดียวแล้วจะเอาไปทำได้ดี แต่หากมีหัวใจที่อยากจะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ แล้วสนใจแนวทางดังกล่าว จะต้องให้เวลากับตัวเอง

 

           อย่างไรก็ดี ศิลปะบำบัดในแนวมนุษยปรัชญาในเมืองไทยกำลังก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง โดยในปีหน้า จะมีการเปิดอบรมการแพทยมนุษยปรัชญา หลักสูตร ๕ ปี เพื่อยกระดับรู้ให้สูงขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากปัญหาของโรคที่ซับซ้อนขึ้น 

           รวมถึงกำลังจะมีนักศิลปะบำบัดในแนวมนุษยปรัชญา หลักสูตร ๓ ปี สำหรับผู้สนใจอย่างจริงจัง ซึ่งจะต้องปฏิบัติผ่านการทำศิลปะอย่างเข้มข้น เพื่อเรียนรู้ว่าศิลปะให้ความรู้สึกอย่างไรกับตัวเอง เพราะศิลปะต้องยกระดับจิตใจนักเรียนก่อน ฝึกฝนตัวเองจนเข้าใจก่อนนำไปทำงานจริง แต่ต้องสามารถใช้หัวใจตอบว่าความรู้สึกที่เห็นคืออะไร เพราะศิลปะแนวทางนี้มุ่งที่จิตวิญญาณนั่นเอง 

           เช่นเดียวกับฮิวแมนเซ็นเตอร์ที่จัดการอบรมศิลปะบำบัดเพื่อเด็กพิเศษ และผู้ป่วยระยะสุดท้าย ให้กับแพทย์ พยาบาล ครู อาจารย์ นักสังคมสงเคราะห์ และนักจิตวิทยา ที่ทำงานในพื้นที่อยู่แล้ว ก้าวที่สำคัญของฮิวแมนเซ็นเตอร์ คือ การทำหลักสูตรชุดใหญ่สำหรับคนทำงานที่ต้องการความรู้แบบครบถ้วน หลักสูตรนี้ได้มาตรฐานจากประเทศแคนาดา ซึ่งฮิวแมนเซ็นเตอร์จัดเต็มให้และเรียนจบได้ภายใน ๒ ปี เชื่อว่านักศิลปะบำบัดกลุ่มนี้จะเป็นกำลังสำคัญให้กับวงการศิลปะบำบัดต่อไปในอนาคต

 

* มนุษยปรัชญา คิดค้นโดย รูดอล์ฟ สไตเนอร์ ชาวเยอรมัน (๒๕ กุมภาพันธ์ ค.ศ.๑๘๖๑ – ๓๐ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๒๕) เป็นการศึกษาเรื่องธรรมชาติของมนุษย์และการแสวงหาความจริงของมนุษย์ปรัชญา (Anthroposophy) ถือเป็นศาสตร์แห่งจิตวิญญานที่แสวงหาความจริงจากการรับรู้ของทั้งกายและจิต ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่มิได้แยกจากอารมณ์ความรู้สึก แต่อยู่คู่กันอย่างกลมกลืนจะนำมนุษย์ไปสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง นั่นคืออิสระและการหลุดพ้น

** พญ.พัชรินทร์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง หรือหมอโจ้ จบแพทยศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศึกษาเฉพาะทางด้านจิตเวชที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ค้นพบความต้องการของชีวิตโดยได้แรงบันดาลจากผู้ป่วยระยะสุดท้ายคนหนึ่ง จึงเริ่มศึกษาศิลปะอย่างจริงจัง ศึกษาศิลปะบำบัดในอเมริกานานหลายปี ก่อนจะกลับมาทำงานศิลปะบำบัดเพื่อดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังและโรคระยะสุดท้ายอย่างต่อเนื่อง เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งศูนย์ศิลปะบำบัดฮิวแมนเซ็นเตอร์ (องค์กรสาธารณประโยชน์) (http://www.art4human.com) เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และทำกิจกรรมศิลปะเชิงบำบัดเยียวยาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ ฯลฯ

*** อนุพันธ์ พฤกษ์พันธ์ขจี หรือครูมอส จิตรกรและนักศิลปะบำบัดในแนวมนุษยปรัชญาที่ทำงานบำบัดมากว่าสิบปีทั้งกับเด็กและผู้ใหญ่ในหลากหลายบริบท จบครุศาสตร์ประถมศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเรียนศิลปะบำบัดมาจากประเทศเยอรมัน ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการศิลปะบำบัดในแนวมนุษยปรัชญาของประเทศไทย (www.arttherapythai.com) ประจำอยู่ที่โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์ โรงพยาบาลมนารมย์ มีรักคลินิก และยังทำงานศิลปะส่วนตัวที่ สตูดิโอ Art Inner Place อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

 

คอลัมน์:

ผู้เขียน: