Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

กราบอัษฎางคประดิษฐ์ ๑๐๘ ครั้ง เพิ่มพลังชีวิต

-A +A

          ฉบับที่แล้วได้เล่าถึงการหายใจแบบหยินหยาง หนึ่งในเคล็ดลับหน้าใส ใจสว่าง สุขภาพดี มีพลังชีวิตเพิ่มขึ้นของคุณอนัญญา ผลจันทน์ ที่ได้เรียนรู้จากการไปเข้าอบรมปราณสมาธิกับดร.บัวตั๋น เธียรอารมณ์ ที่สถาบันสุขศาสตร์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ อีกวิธีที่คุณอนัญญาฝึกคู่กันกับการหายใจหยินหยาง คือ การกราบอัษฎางคประดิษฐ์ประยุกต์ (Mindfulness Movement) ซึ่งดร.บัวตั๋นได้ประยุกต์จากการกราบแบบทิเบตที่จะต้องให้อวัยวะ ๘ ตำแหน่งสัมผัสพื้น คือ หน้าผาก ฝ่ามือทั้งสอง หน้าอก หัวเข่าทั้งสอง และปลายเท้าทั้งสอง โดยปรับปรุงการกราบบางท่าและเพิ่มเติมการยืดตัวแบบท่างูของโยคะเข้าไป รวมทั้งผสมผสานการหายใจขณะกราบเพื่อเป็นการเปิดปราณให้ร่างกายเบาสบาย เลือดลมเดินดี พลังชีวิตไหลเวียนได้ดีขึ้น หนึ่งการกราบจึงให้หายใจได้ไม่เกินสองครั้ง ใครที่กราบจนชำนาญจะสามารถหายใจเพียงครั้งเดียวตลอดการกราบหนึ่งครั้ง คุณอนัญญาเธอกราบอัษฎางคประดิษฐ์วันละ ๑๐๘ ครั้ง แล้วจึงหายใจแบบหยินหยาง ซึ่งเมื่อทำต่อเนื่องสม่ำเสมอก็พบว่าสุขภาพดีขึ้น อารมณ์ดีขึ้น และมีพลังชีวิตเพิ่มขึ้นด้วยค่ะ

          เรามาเตรียมอุปกรณ์สำหรับการกราบกันก่อน โดยหาเบาะรองกราบซึ่งอาจใช้เสื่อหรือเบาะโยคะก็ได้ แต่ควรจะมีปลอกหรือผ้าปูเนื้อนุ่มๆ ลื่นๆ คลุมไว้ เพื่อสะดวกเวลาสไลด์มือกราบ ส่วนท่าการกราบอัษฎางคประดิษฐ์ประยุกต์จะกราบเป็นขั้นตอนดังนี้ (ดูภาพประกอบ)

 

ดร.บัวตั๋น เธียรอารมณ์ สาธิตการกราบอัษฎางคประดิษฐ์ประยุกต์ (Mindfulness Movement)
ขอขอบคุณ ภาพประกอบจากนิตยสารขวัญเรือน

 

  1. ท่าเตรียม ยืนพนมมือระหว่างอก หายใจเข้า
  2. ผายมือออกด้านข้าง หงายฝ่ามือขึ้น
  3. วาดมือขึ้นมาพนมไว้เหนือศีรษะ (หายใจเข้าให้สุดเมื่อถึงท่านี้ แล้วกลั้นไว้)
  4. ลดมือลงให้ปลายนิ้วจรดคาง
  5. เลื่อนมือลงมาวางไว้ระหว่างอก
  6. คุกเข่าลง
  7. วางมือทั้งสองบนพื้นหน้าหัวเข่า
  8. สไลด์มือและตัวไปข้างหน้า หายใจออก
  9. เหยียดแขนทั้งสองไปด้านหน้า ให้หน้าผาก ฝ่ามือ หน้าอก เข่า และปลายเท้าสัมผัสพื้น
  10. ยกมือขึ้นไหว้เหนือศีรษะ
  11. ลดมือวางลงด้านหน้า
  12. เลื่อนมือมาไว้ข้างลำตัวบริเวณบ่าทั้งสองข้างแล้วยืดตัวขึ้นเหมือนท่างูของโยคะ หายใจเข้า
  13. นั่งคุกเข่า พนมมือ
  14. ลุกขึ้นยืน หายใจออก กลับสู่ท่าเริ่มต้น

          ระหว่างที่กราบอาจเปิดเพลงบรรเลงเบาๆ คลอไปด้วยเพื่อสร้างบรรยากาศผ่อนคลายและช่วยให้มีสมาธิดีขึ้น คุณอนัญญากล่าวถึงเทคนิคส่วนตัวว่า เธอจะระลึกรู้ร่างกายทุกขณะที่เคลื่อนไหวในแต่ละท่า ซึ่งจะช่วยให้มีสมาธิจดจ่อได้ดีขึ้น ผู้เขียนเองก็ทำตามที่เธอแนะนำ และเมื่อใดที่เผลอคิดเรื่องอื่นระหว่างที่กราบ เมื่อรู้สึกตัวก็จะกลับมารับรู้อยู่ที่ท่าทางการกราบต่อไป การกราบอัษฎางคประดิษฐ์ประยุกต์จึงเปรียบเหมือนกับการเดินจงกรมดังที่คุณอนัญญาได้กล่าวไว้เมื่อฉบับที่แล้ว

          คุณอนัญญากล่าวว่าสำหรับเธอ เวลาที่ดีที่สุดสำหรับการกราบคือช่วงเช้าตรู่ ซึ่งอากาศดี สดชื่น เย็นสบาย ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเต็มที่มาตลอดคืน และยังได้เห็นแสงแรกของพระอาทิตย์ อย่างไรก็ตาม เราสามารถกราบเวลาใดก็ได้ที่สะดวก และไม่จำเป็นต้องกราบเวลาเดิมทุกครั้ง ขอเพียงจัดเวลาให้ได้ทำอย่างสม่ำเสมอทุกๆ วันก็พอ เมื่อเริ่มกราบใหม่ๆ อาจต้องอาศัยความตั้งใจจริงและความเพียรเป็นหลัก เพื่อต่อสู้กับความขี้เกียจและความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า เพราะเมื่อกราบครั้งแรกกล้ามเนื้อที่ยึดตึงจะถูกยืดออก ร่างกายจะร้อนผ่าว หน้าแดง หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกพรั่งพรูทั้งตัวเหมือนได้ออกกำลังกายมาอย่างหนัก สองสามวันแรกจึงอาจจะปวดเมื่อยตามร่างกาย แต่ถ้าอดทนทำต่อเนื่องไปสักระยะเมื่อร่างกายปรับสมดุลได้ก็จะรู้สึกเหนื่อยน้อยลง และมีความคล่องตัวมากขึ้น อาจารย์บัวตั๋นอธิบายว่ากราบแรกๆ น้ำมูกจะไหล เมื่อกราบต่อไปเหงื่อจะออก ตัวร้อน เมื่อกราบต่อไปอีกลมจะออก ดังนั้น ถ้ารู้สึกอยากผายลมก็ให้ปล่อยไปตามธรรมชาติ เพื่อให้ปราณไหลเวียนดี หากใครที่กราบๆ ไปแล้วเกิดอาการมึนหรือปวดศีรษะ เมื่อยล้ามากกว่าปกติ อาจจะเป็นเพราะว่าหายใจไม่สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหว ให้พักโดยการหายใจแบบหยินหยางเพื่อให้หายอ่อนล้าก่อน แล้วค่อยกราบใหม่ ผู้เขียนเองเมื่อเริ่มต้นกราบก็กราบตามกำลัง ไม่หักโหม เพียงแค่ ๕๐ ครั้งต่อวัน เมื่อกราบไปสักระยะและรู้สึกว่ามีกำลังกายและกำลังใจมากขึ้นก็ค่อยเพิ่มเป็น ๑๐๘ ครั้ง วิธีนี้จะช่วยให้ไม่กดดันจนเกินไปและมีกำลังใจที่จะทำได้อย่างต่อเนื่องค่ะ

          สำหรับประโยชน์ของการกราบสม่ำเสมอ เบื้องต้นจะช่วยให้แข็งแรง สุขภาพดีขึ้น หน้าท้องยุบลง ฝ้าบนใบหน้าจางลง ระบบย่อยดีขึ้น นอนหลับดีขึ้น เมื่อกราบไปถึงจุดหนึ่งจะพบว่าร่างกายและจิตใจเป็นระบบระเบียบและสัมพันธ์กันอย่างสมดุล ใจจะนิ่งขึ้น กายและใจมีพลังเพิ่มขึ้น เมื่อจิตนิ่ง มีกำลัง จะช่วยให้มีสติดี สามารถรับมือกับปัญหาอุปสรรคต่างๆ ได้อย่างมั่นคง ผู้เขียนเองสังเกตว่าเมื่อใดที่ได้กราบอย่างสม่ำเสมอจิตใจจะมั่นคง เข้มแข็ง มีสติดีกว่าปกติ สามารถทำความเข้าใจกับพฤติกรรมของหลานแฝดซึ่งเป็นเด็กพิเศษได้ง่ายขึ้น ซึ่งช่วยให้เรายอมรับและรับมือกับพฤติกรรมนั้นได้สบายๆ ไม่ปรี๊ดแตกง่ายเหมือนช่วงที่เว้นการกราบไปหลายวัน หรือหากโกรธขึ้นมาจริงๆ ก็จะหายเร็วและไม่เก็บอารมณ์สะสมไว้เหมือนก่อนๆ ส่วนเรื่องสุขภาพสังเกตว่าจะเป็นหวัดน้อยลง เพียงแค่รู้สึกเจ็บคอเหมือนจะเป็นหวัด ก็จะกินฟ้าทะลายโจรกันไว้แล้วกราบสม่ำเสมอ อาการเจ็บคอก็หายไป ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่เจ็บคอเมื่อไหร่อาการหวัดจะตามมาทันที คุณอนัญญาก็เคยเล่าว่าตั้งแต่กราบก็ไม่เป็นหวัดต่อเนื่อง ๖ เดือนได้สบายๆ จากปกติจะเป็นหวัดทุกเดือน อานิสงค์จากการกราบนี่เห็นผลทันตาจริงๆ ค่ะ อย่างไรก็ตาม อาจารย์บัวตั๋นบอกว่าผลที่ได้จะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและจิตใจ เราจึงควรสังเกตตัวเองเสมอๆ จึงจะรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ที่สำคัญควรกราบสม่ำเสมอทุกๆ วัน หากวันไหนเหนื่อยมากก็อาจกราบเพียง ๙ ครั้ง เพื่อให้ร่างกายเคยชินไว้ เพราะถ้าเว้นการกราบนานกว่า ๗-๑๐ วัน เหมือนจะต้องนับหนึ่งใหม่ตั้งแต่ต้น

          ส่วนใครที่กราบจนชำนาญอยู่ตัวแล้ว อาจเพิ่มจำนวนการกราบให้มากขึ้นเพราะยิ่งฝึกฝนมากกำลังจะยิ่งมาก อาจารย์บัวตั๋นเล่าว่าเคยกราบถึงวันละ ๕๐๐ ครั้ง รู้สึกเหมือนจะยกภูเขาได้ คือพลังนิ่งมากเหมือนกับได้นั่งสมาธิ ๓ ชั่วโมง ส่วนคุณอนัญญาเธอก็เพิ่มเติมกิจกรรมอื่นๆ เข้าไปเป็นซีรีส์ กล่าวคือ กราบอัษฎางคประดิษฐ์ ๑๐๘ ครั้ง จากนั้นสวดมนต์อิติปิโส ๓ จบ แล้วหายใจแบบหยินหยาง และปิดท้ายด้วยการนั่งสมาธิขยับมือ ๑๔ จังหวะตามแนวทางของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ ๑ ชั่วโมง เป็นเวลาที่เธอให้สำหรับการชำระล้างสิ่งตกค้างภายในจิตใจ เติมพลังให้ชีวิต เรียกได้ว่าการกราบอัษฎางคประดิษฐ์ประยุกต์และการหายใจแบบหยินหยาง เป็นทางเลือกในการเยียวยาและดูแลตนเองที่ให้ประโยชน์ทั้งในด้านสุขภาพกายที่แข็งแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และสุขภาพใจคือจิตที่ตั้งมั่น มีพลัง และมีความสุข เมื่อกายและใจผนึกกำลังรวมเป็นหนึ่งอย่างสมดุล พลังชีวิตก็เพิ่มพูนพร้อมที่จะรับมือกับทุกสถานการณ์ที่เข้ามาในชีวิตได้อย่างมั่นคงและโปร่งเบา...มากราบทุกวันกันเถอะค่ะ.

คอลัมน์:

ผู้เขียน: