Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

เหมือนรู้ว่าต้องจากกัน

-A +A

         “หมอๆ ช่วยดูให้ฉันหน่อยสิว่า ผัวฉันมีข้าวกินหรือเปล่า” นั่นเป็นเสียงของป้าแสงคนไข้ที่มาด้วยอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งเกิดจากมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ ป้าแสงได้รับการรักษาได้ทันเวลาแต่ยังต้องเฝ้าสังเกตอาการในห้องผู้ป่วยหนักอายุรกรรม โดยมีลุงปุ่นสามีเฝ้าอยู่หน้าห้องไอซียูตลอดเวลา

         “ป้าไม่ต้องห่วงลุงนะ พวกหนูให้โรงครัวจัดอาหารเผื่อลุงด้วย” ฉันบอกป้าแสง

         “ไม่ใช่ข้าวเหนียวกับลาบ มันจะอร่อยรึ” แกบ่นพึมพำ

         ป้าแสงเล่าให้ฟังว่า แกกับลุงปุ่นเป็นคนภาคอีสาน ต่างลงมาหางานทำที่กรุงเทพฯ มาเจอกันและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันมา ๑๐ กว่าปี ไม่มีลูก ช่วยกันทำมาหากิน ย้ายถิ่นฐานมาเรื่อยๆ จนมาเป็นคนงานก่อสร้างที่บริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม ทั้งสองทำงานเก็บเงินได้ ๗,๕๐๐ บาท ก็เดินทางกลับไปบ้านเพื่อดูแลพ่อของป้าแสงที่ตาบอดและชรามากแล้ว จนเงินหมดทั้งสองกลับมาทำงานต่อได้สักพัก ป้าก็ล้มป่วยลง

         ฉันชมป้าถึงความกตัญญูที่มีต่อพ่อจะช่วยให้ป้าผ่านอุปสรรคทุกอย่างไปได้ เรื่องราวของทั้งสองเหมือนจะจบแค่นั้นเมื่อป้าย้ายออกจากไอซียูและได้กลับบ้าน

         สามเดือนต่อมา 

         ป้าแสงกลับมารักษาที่โรงพยาบาลอีกครั้งด้วยอาการหายใจเหนื่อยหอบมาก จนต้องใส่ท่อช่วยหายใจและใช้เครื่องช่วยหายใจในห้องไอซียู ถึงแม้ว่าป้าจะรู้สึกตัวสามารถสื่อสารด้วยการเขียนบ้าง แต่ครั้งนี้อาการของป้ามีแนวโน้มที่จะไม่ตอบสนองต่อการรักษา ป้าเองก็ดูหงุดหงิดง่ายขึ้น กระสับกระส่าย ทางทีมพยาบาลจะคอยบอกป้าไม่ต้องห่วงเรื่องอาหารของลุง เพราะพนักงานโรงครัวจะจัดอาหารให้ลุงทุกมื้อ บางครั้งทีมพยาบาลให้เงินลุงไว้ใช้ส่วนตัวบ้าง เพราะการไม่ได้ไปทำงานนั้นทำให้ขาดรายได้ ส่วนป้านั้นมักไม่ยอมให้ลุงไปทำงาน ถ้าวันไหนที่ลุงไปทำงานก็จะรีบกลับมาให้ทันเวลาเยี่ยมช่วงเย็น เมื่อถึงเวลาเยี่ยมลุงจะรีบเข้ามาอยู่ที่ข้างเตียงคอยบีบนวดให้ป้า ป้าจะงอนตีลุงบ้าง ทำท่าไล่ลุงออกจากห้องบ้าง บางครั้งก็ตีเบาะที่นอน ท่าทางกระฟัดกระเฟียด แต่ลุงก็ไม่เคยแสดงความโกรธแต่อย่างใด เหตุการณ์นี้ทำให้ทีมพยาบาลรู้สึกเห็นใจ สงสารลุงที่เหนื่อย วิ่งไปมาไม่ได้พัก ยังมาเจอป้าโกรธ พวกเราพูดคุยปลอบโยนป้าไม่ให้โมโหใส่ลุง ดูเหมือนจะไม่เป็นผล ซึ่งทำให้หัวข้อหนึ่งในการส่งเวรของทีม คือเรื่องป้าแสงเอาแต่ใจตัวเอง 

         หนึ่งอาทิตย์ผ่านไป อาการไม่ตอบสนองต่อการรักษาของป้าแสงชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ หายใจหอบมากจนแพทย์ต้องใช้ยาคลายกล้ามเนื้อทางหลอดเลือดเพื่อบรรเทาอาการหายใจเหนื่อยหอบ แต่ฤทธิ์ยาทำให้ป้ามีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงคล้ายหลับตลอดเวลา แพทย์คุยอาการ แผนการรักษากับลุงปุ่นบ่อยมาขึ้น ทุกครั้งลุงปุ่นจะนิ่งเงียบ พยักหน้า และน้ำตาไหล อาการที่เปลี่ยนแปลงเหมือนเป็นสัญญาณเตือนว่า การจะต้องจากกันนั้นใกล้เข้ามาทุกขณะ

         เช้าวันหนึ่งหลังจากออกเวรดึกแล้ว ฉันนั่งคุยกับลุงปุ่นที่หน้าห้องไอซียู ลุงไม่ได้ไปทำงาน ๓ วันแล้ว เพราะป้าขอร้องไว้และตัวลุงเองรู้สึกเป็นห่วงจนไม่อยากห่างภรรยาเช่นกัน 

         “อยู่หน้าห้องไอซียู เวลาคุณหมอเปิดประตูเข้าออก ฉันก็จะคอยชะเง้อ มองเห็นเตียงแกก็ยังดี” นั่นเป็นเหตุผลที่ลุงนั่งอยู่ตรงประตูหน้าห้องไอซียู

         “หมอได้คุยเรื่องอะไรกับลุงบ้าง” ฉันถามเพื่อประเมินการรับรู้ของลุง

         “หมอบอกว่า ป้าแกคงไม่ไหวแล้ว ลุ..ง ลุ...ง ก็พยายามทำใจนะ” ลุงแสงสะอื้น น้ำตาไหล

         “เรื่องจะป๊ง จะปั๊ม ลุงก็ไม่เอาหรอก บอกคุณหมอไปแล้ว กลัวแกเจ็บ สงสารแก”

         ฉันบีบต้นแขนลุงเบาๆ ให้กำลังใจ “ลุง ลุงเข้มแข็งมาก หนูเห็นป้าทำท่าโมโหใส่ลุง ห้ามลุงไปทำงาน บางครั้งก็ตีลุงด้วย ลุงรู้สึกอย่างไร” ฉันอยากรู้ความรู้สึกของลุงเรื่องนี้เหมือนกัน

         “โอ๊ย คุณหมอ ฉันไม่เคยโกรธแกเลย แกไม่สบายใส่ท่อจะพูดก็ไม่ได้ เขียนมาก็ไม่เป็นตัว อ่านได้บ้างไม่ได้บ้าง แกพยายามจะพูด ฉันไม่เข้าใจ แกเลยหงุดหงิด อยู่ด้วยกันมาไม่เคยจากกันเลย แกคงกลัวว่าถ้าฉันไปทำงานแล้ว พอตอนกลางวัน เตียงอื่นมีญาติมาเยี่ยมกันหมดยกเว้นเตียงแกคนเดียวคงเหงา ตอนดีๆ นะคุณหมอ อยากกินอะไรแกก็ซื้อมาทำให้ นึ่งข้าวเหนียวทีละเยอะๆ หมูไก่ไม่ได้ขาด ทำลาบให้กินเกือบทุกวัน แกดูแลลุงดี”

         ดวงตาเศร้าสร้อยของลุงมีประกายขึ้นเมื่อได้เล่าย้อนความหลังที่มีความสุข แต่สำหรับฉันเหมือนมีก้อนอะไรบางอย่างจุกอยู่ที่คอ ความรู้สึกละอายเกิดขึ้นในใจ เราไปตัดสินคนไข้ด้วยความรู้สึกที่ไม่ถูกใจของเราเอง เราเห็นคนไข้หงุดหงิดเราบอกว่าดื้อ เอาแต่ใจ บางครั้งเรามองข้ามสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายในการกระทำเหล่านั้น เราไม่รู้หรอกว่าเบื้องหลังชีวิตคู่นั้นทั้งสองผ่านสุขทุกข์ร่วมกันมาอย่างไร มีแต่คนสองคนเท่านั้นที่รู้ 

         เราไม่มีสิทธิ์ไปตัดสินใครด้วยการเห็นเพียงน้อยนิดของเรา นี่คือสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากคนไข้และญาติ

         “ลุง ลุงรู้ไหมว่าป้าเป็นห่วงเรื่องอะไร” ฉันตั้งสติ คุยกับลุงปุ่นต่อ

         “แกห่วงพ่อแกที่อยู่บ้านนอก ตอนโทรไปบอกว่าป้าแกป่วย คนเล่าว่าพ่อแกร้องไห้สงสารลูก อยากมาหา แต่แกตาบอดแล้วก็ไม่มีใครพามาหรอก มันต้องใช้เงินนะหมอ ทุกทีเวลาไปไหนมาไหน ไปทำงานแกยังเอารูปพ่อใส่กระเป๋าไปด้วยเลย แต่ตอนแกป่วยคราวนี้รีบออกมา ทิ้งกระเป๋าไว้ที่บ้าน”

         เมื่อเจอช่องความห่วงกังวลของป้าแล้ว เป็นโอกาสดีที่จะได้ช่วยป้าให้มีพ่ออยู่ใกล้ๆ แม้เป็นเพียงรูปถ่ายก็ตาม จึงแนะนำให้ลุงกลับไปเอารูปพ่อของป้าที่บ้าน ซึ่งลุงปุ่นเข้าใจเป็นอย่างดี

         “แล้วมีเรื่องอื่นอีกไหมลุง” ฉันถามต่อ

         “แกก็คงห่วงลุงแหละหมอ ตอนแกป่วยครั้งนี้ก่อนย้ายเข้าไอซียูหนึ่งวัน แกพูดว่า ตาปุ่น ถ้าข้าไม่อยู่แล้วแกจะอยู่คนเดียวได้ไหม แล้วข้าก็ขออโหสิกรรมแกด้วยที่ต้องมาลำบาก คอยเช็ดขี้เช็ดเยี่ยวให้ข้า” ลุงเล่าไปร้องไห้ไป ฉันคิดเองว่าคงเพราะเหตุนี้ป้าถึงอยากเห็นหน้าลุงตลอด เพราะรู้ว่าอีกไม่นานต้องจากกันชั่วชีวิต

         เช้านี้ เส้นทางกลับบ้านของฉันพร่าเลือนนองไปด้วยน้ำตา...ทั้งเศร้าใจและซึ้งใจ

         เย็นวันนั้น ฉันเวรบ่ายได้รับมอบหมายให้ดูแลป้าแสงเช่นเดิม ฉันตัดสินใจไม่เพิ่มปริมาณการให้ยาคลายกล้ามเนื้อแก่ป้า แม้จะยังเหนื่อยแต่การเพิ่มหรือเสริมเป็นโดสๆ ที่ผ่านก็ไม่ได้ทำให้อาการลดลง ฉันอยากให้ป้าได้มีสติ ลืมตาเห็นหน้าพ่อ ลุงปุ่นกลับมาพร้อมรูปถ่ายขนาดเท่าโปสการ์ด เป็นรูปชายชราผมขาวโพลนยืนยิ้มท่าทางอารมณ์ดี ฉันติดรูปไว้ในตำแหน่งที่ป้าแสงสามารถมองเห็นได้ 

         “ป้าแสง ลุงปุ่นเอารูปพ่อมาให้แล้วนะ ลุงรู้ว่าป้าคิดถึงพ่อ โทรไปบอกที่บ้านนอกแล้ว ทุกคนจะช่วยดูแลพ่อแทนป้านะ ป้าเป็นลูกกตัญญู ความดีของป้าจะคุ้มครองป้าและพ่อของป้าด้วย” ฉันจับมือป้าแสงพูดช้าๆ ชัดๆ ป้าแสงแสดงการรับรู้ด้วยการขมวดคิ้วและค่อยๆ พยายามลืมตา อย่างยากลำบาก มองมาที่รูปถ่าย สักพักน้ำตาป้าค่อยๆ ไหล

         ฉันให้ลุงมายืนฝั่งเดียวกับระดับสายตาของป้า “ป้า สำหรับลุง วันนี้หนูซื้อข้าวเหนียวกับลาบมาให้เป็นมื้อเย็นนะ ถึงมันไม่อร่อยเท่าป้าทำ แต่เป็นของที่ป้าชอบทำให้ลุง ไม่ต้องกลัวลุงอดนะ” ฉันรู้สึกถึงแรงบีบเบาๆ จากมือป้าแสง หลังจากนั้นปล่อยให้ทั้งสองอยู่ด้วยกันจนหมดเวลาเยี่ยม

         ราวหนึ่งชั่วโมงต่อมา จู่ๆ ลุงปุ่นผลุนผันเข้ามาที่เตียงป้าแสง แกยัดเงินจำนวนหนึ่งใส่มือภรรยาบอกว่าเพิ่งนึกได้ว่าป้าแสงเคยอยากได้เงิน ๑๐๐ บาทเอาไว้ติดตัว ร้องขอตั้งแต่ตอนยังพูดได้ แต่ที่ผ่านมาไม่มีเงินเหลือเลย

         “วันนี้ผมมีเงิน ๖๐ บาท ผมจะให้แกไว้นะหมอ” คำพูดลุงปุ่นทำให้พวกเราถึงกับอึ้ง เพราะที่ผ่านมาลุงไม่ได้ไปทำงานจึงขาดรายได้ เงินส่วนนี้เป็นเงินที่ลุงเจียดไว้จากที่ทีมพยาบาลให้ลุงไว้ใช้ส่วนตัว

         “ป้าอยากได้ ๑๐๐ บาทไม่ใช่หรือลุง ลุงเอาตังค์นี่ให้ป้านะ แล้วเก็บ ๖๐ บาท เอาไว้” น้องในทีมพยาบาลคนหนึ่งหยิบเงินตนเองส่งให้ลุงแสง

         “ขอบคุณนะหมอ” แกยกมือไหว้ เอาเงิน ๑๐๐ บาทใส่มือภรรยาแล้วพูดเป็นภาษาอีสาน

         “ลุงบอกแกว่ามีเงินแล้ว กลับไปบ้านนะ กลับไปที่ที่มา” ลุงปุ่นแปลให้ฟัง แล้วยืนจับมือป้าอยู่อย่างนั้น

         ประมาณ ๕ นาทีต่อมา คลื่นหัวใจของป้าแสงช้าลงและเป็นเส้นตรงต่อหน้าต่อตาทีมพยาบาล ป้าแสงจากไปอย่างสงบเหมือนปิดสวิทซ์ไฟ ดอกไม้ ธูปเทียนถูกนำมา ให้ใส่มือป้า มีเงิน ๑๐๐ บาท และรูปพ่อของป้าแสง พวกเราและลุงปุ่นช่วยกันจับมือป้าพนมมือ 

         “ไปไหว้พระเด้อ นึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เอ็งบ่ต้องห่วงใดๆ ข้าอยู่คนเดียวได้ รูปพ่ออยู่นี่ด้วย กลับบ้านเด้อ” ลุงปุ่นยืนจับมือป้าแสงไว้ แกร้องไห้อย่างเงียบๆ เหมือนกลัวว่าป้าแสงจะได้ยินแล้วเป็นห่วง พวกเรารวบรวมเงินจากทีมพยาบาลในเวรได้จำนวนหนึ่ง ติดต่อขอบริจาคโลงศพจากห้องศพ และขอให้เจ้าหน้าที่ห้องศพฉีดยาฟอร์มาลีนให้ฟรี ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี

         “ลุงจ๊ะ พวกหนูรวบรวมเงินมาช่วยงานศพป้าได้มาจำนวนหนึ่งไม่มากหรอกนะลุง” ฉันเป็นตัวแทนมอบซองเงินให้ลุงปุ่น

         ลุงปุ่นยกมือไหว้รับซองทั้งน้ำตา “ขอบคุณนะหมอ มากน้อยไม่สำคัญ สำคัญที่มีน้ำใจ ยายแสงมันก็คงขอบคุณเหมือนกัน คนที่บ้านเราถือกันว่าถ้าใครจะตายต้องมีเงินตัดตัวไปด้วย วันนี้มันสมหวังแล้ว”

         ประโยคตรงๆ ซื่อของลุงทำให้พวกเราตื้นตันใจและประทับใจในความรักที่มีต่อกัน เรื่องราวของลุงปุ่นและป้าแสงแม้เวลาผ่านไปก็ยังฉายชัดในความทรงจำของทีมที่ทำงานในวันนั้น เพราะทำให้เราได้เห็นแล้วว่าไม่ว่าจะยากจนอย่างไร ความรักก็ทำให้เราไม่ทิ้งกันจนถึงวันสุดท้าย

คอลัมน์: