Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

เคล็ดลับ จับหัวใจคนไข้

-A +A

          ผมเดินทางลึกเข้าไปในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่ง ในอำเภอนาฝาย จังหวัดชัยภูมิ เพียงเพื่อสนทนากับพระรังสิยา ถิระปญฺโญ ศิษย์ของพระอาจารย์ครรชิต อกิญฺจโน วิทยากรประจำโครงการสังฆะกับการดูแลผู้ป่วย เครือข่ายพุทธิกา เพื่อถามไถ่ถึงเคล็ดลับ จับหัวใจคนไข้ ที่ท่านเพิ่งเรียนรู้มาในเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ ทว่าได้ผลจนเป็นขวัญใจคนไข้ของชุมชนใกล้- ไกล วัดวีรวงศาราม อารามประจำของท่านทั้งสอง

          พระรังสิยา เล่าถึงประสบการณ์การเยียวยาผู้ป่วยรายแรก ว่าเกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ "วันนั้น พระอาจารย์จะไปยื่นหนังสือที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน แต่เมื่อตะโกนเรียกก็ไม่มีใครตอบ อาตมาเข้าไปในบ้านก็พบผู้ชายคนหนึ่งนอนป่วยอยู่บนเตียง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ถามดูก็พบว่าเขาถูกรถชน รักษาก็ไม่หาย" เมื่อสนทนาเป็นเบื้องต้นจึงกล่าวลา พรุ่งนี้จะมาเยี่ยมใหม่ 

          วันรุ่งขึ้นพระรังสิยา นำนมกล่องแพ็คหนึ่งมาเยี่ยม หลังจากปราศรัยกันพอสมควร พระรังสิยาจึงชวนผู้ป่วยทำอะไรบ้างอย่าง 

          "มาสิ พระอาจารย์จะพาไปดูอะไร" 

          "ผมไปไม่ได้หรอกอาจารย์ ผมลุกไม่ไหว" คนไข้ตอบ

          พระรังสิยากล่าว "ไม่ต้องไปไหนหรอก อยู่ตรงนี้แหละ คราวนี้หงายมือซิ” คนไข้หงายมือ

          คราวนี้ให้ตั้งใจคว่ำมือ ...ตั้งใจหงายมือ ฯลฯ"

          คนไข้ตั้งใจหงาย-คว่ำมือทำตาม ทำสักพักสายตาก็หลุดลอยไป พระอาจารย์จึงสะกิดคนไข้ "นั่นเห็นไหม เมื่อสักครู่ไปจมอยู่กับความคิดใช่ไหม อย่าไปจมแบบนั้น ให้กลับมานี่ กลับมาตั้งใจหงายมือ คว่ำมือนี้" 

          พระอาจารย์ไปเยี่ยมและพาผู้ป่วยเจริญภาวนาโดยไม่รู้ตัวเช่นนั้นอยู่สามวัน จากนั้นจึงไปเยี่ยมอาทิตย์ละครั้ง สองอาทิตย์ต่อมา คนไข้ก็ลุกนั่งได้  จากนั้นก็ยกมือไหว้ได้ กินข้าวได้ แปรงฟันเองได้ ปัจจุบันคนไข้หายจากความป่วยไข้ ช่วยเหลือตัวเองได้อย่างสมบูรณ์

          "พระอาจารย์สอนเรื่องการวางจิตใจให้คนไข้ พอจิตใจดี ร่างกายก็จะปรับสภาพตามได้เอง" พระรังสิยากล่าวสรุปบทเรียนจากการเยียวยาจิตใจคนไข้ ตลอดขั้นตอนกระบวนการเยียวยาจิตใจ พระรังสิยาไม่ได้พูดคำว่า "ธรรมะ" เลย หากแต่ทำให้ผู้ป่วยได้มีประสบการณ์ตรงกับการเจริญสติภาวนา ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการอยู่กับความทุกข์ทางกาย แต่จิตใจไม่ได้พลอยเป็นทุกข์ไปด้วย

          หลังจากที่พระรังสิยาประสบความสำเร็จจากการเยี่ยมเยียวยาจิตใจคนไข้คนแรก ก็เกิดจากความมั่นใจในการเยี่ยมคนไข้รายต่อไป ยิ่งเยี่ยมก็ยิ่งได้เรียนรู้ เกิดความสุข สนุก ที่ได้ช่วยเหลือผู้ป่วย ในบางรายพระรังสิยาดูแลอย่างต่อเนื่องจวบจนผู้ป่วยเผชิญความตายอย่างสงบ

          "ความรู้ ประสบการณ์ในการเยี่ยมผู้ป่วย ก็อาศัยจากที่เคยเห็นจากครูบาอาจารย์ท่านได้ทำกับผู้ป่วย" อีกส่วนหนึ่งก็ได้เรียนรู้จากการลองผิดลองถูกจากประสบการณ์จริงในการเยี่ยมคนไข้ การสังเกตอย่างใกล้ชิดถึงสีหน้า แววตา ปฏิกิริยาของผู้ป่วย ย่อมทำให้รู้ถึงสภาพอารมณ์ ความคิด จิตใจของผู้ป่วย ทั้งนี้การมีสติรู้ตัวอยู่กับปัจจุบันมีส่วนสำคัญอย่างมากในการประเมินสิ่งต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นและดำเนินไป

          เมื่อถามพระรังสิยาว่า ท่านมีเคล็ดลับอะไรในการเยียวยาจิตใจผู้ป่วย ท่านให้คำตอบว่า "การไปเยี่ยมผู้ป่วยไม่ใช่เราเอาความรู้ไปยัดเยียดให้เขา เคล็ดลับของการเยี่ยมคือไปฟังผู้ป่วย ถามเขา แล้วตั้งใจฟังเขา บีบนวดมือไม้ของเขา เหมือนกับว่าเราเป็นลูกหลาน อีกอย่างหนึ่ง การไปเยี่ยมทำให้อาตมาได้ความรู้มากนะ ถึงจะเป็นผู้ป่วยแต่เขาให้ความรู้แก่อาตมาเยอะแยะเลย"

          เคล็ดลับอีกประการหนึ่งคือ ถามความดีงามของผู้ป่วย “การไปเยี่ยมไม่ใช่เรื่องยาก ถามเขาว่าเวลาไปวัดทำอะไรบ้าง คนไข้ก็จะเล่าความดีให้เราฟัง คนเราพอได้เล่าความดีของตัวเองก็จะยิ้มแย้มแจ่มใส มีจิตใจแช่มชื่นเบิกบาน”

          “การไปเยี่ยมผู้ป่วยช่วยให้อาตมาได้พัฒนาจิตใจมากเลยนะ เพราะไปเยี่ยมผู้ป่วยต้องมีใจที่นิ่ง เป็นการฝึกใจไปในตัว การเยี่ยมผู้ป่วยทำให้อาตมารู้สึกว่าชีวิตมีค่าขึ้นเยอะ แต่ก่อนเราคิดว่าชีวิตของเรานี้มีประโยชน์แล้วนะ แต่พอมาเยี่ยมผู้ป่วย มันทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตของเราได้เอื้อประโยชน์ต่อคนอื่นมากขึ้นไปอีก”

          ผมได้ฟังเรื่องเล่าของพระรังสิยาด้วยหัวใจพองโต สนุกสนานและเบิกบาน การทำงานเร้ากุศลในใจผู้ป่วย ด้วยท่าทีที่เป็นกุศล แบบนี้กระมัง ที่เป็นยอดเคล็ดลับ จับหัวใจคนไข้ รวมถึงพวกเราทุกคน

 

คอลัมน์: