Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

หมออย่าบอกแม่นะครับว่าเป็นมะเร็ง

-A +A

            “หมออย่าบอกแม่นะครับว่าเป็นมะเร็ง”

            ฉันรู้สึกประหลาดใจที่เห็นผู้ชายร่างใหญ่พูดไปร้องไห้ไป ผิดกับภาพลักษณ์ของเขาในครั้งแรกที่พบกันที่แผนกตรวจผู้ป่วยนอก ซึ่งเป็นวันที่ฉันได้รับปรึกษาให้ช่วยดูแลครอบครัวของเขาที่มีแม่เป็นผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย

            หลังจากได้ฟังประโยคนี้ ความคิดแว่บแรกฉันรู้สึกขัดแย้งในใจอย่างมาก เพราะในฐานะแพทย์ ฉันอยากจะปกป้อง “สิทธิของผู้ป่วย” ที่ถูกปิดบัง เพราะฉันได้เรียนรู้มาว่า การปกปิดข่าวร้ายกับผู้ป่วย อาจทำให้เขาไม่มีสิทธิดูแลรักษาตัวเอง แต่ฉันเองก็ตกใจกับภาพที่เห็นและรู้สึกกลัวว่าจะช่วยเหลือชายหนุ่มตรงหน้าให้รู้สึกดีขึ้นมาไม่ได้ 

            หากเป็นเมื่อก่อน ฉันคงจะรีบใช้คำพูดโน้มน้าวให้เขาเข้าใจในสิ่งที่ฉันยึดถือว่า “ควรจะต้องบอกผู้ป่วย” โดยไม่ทันได้ไถ่ถามถึงที่มาที่ไปของการตัดสินใจของชายหนุ่มคนนี้ ในครั้งนี้ฉันฟังเรื่องราวของเขาอย่างใจเย็น

            “ผมไม่ได้บอกแม้กระทั่งพี่ๆ ของผมครับ ถ้าบอกพวกเค้าไปแล้ว เค้าก็จะเอาแต่ร้องไห้ พอเจอหน้าคุณแม่ก็เอาแต่ร้องไห้ ผมก็เลยไม่อยากเห็นภาพนั้น” ชายหนุ่มเล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงสะอื้นแบบกลั้นไม่อยู่

            “ภาพนั้น?” ฉันพูดทวนด้วยความสงสัยใคร่รู้

            “ตอนนั้นคุณหมอนัดตรวจคุณแม่ ช่วงที่ผมไปธุระที่ต่างจังหวัด พี่สาวเลยพาคุณแม่มาหาหมอที่นี่ เพื่อฟังผลตรวจกระดูก คุณหมอเค้าก็พูดโพล่งขึ้นมาว่า อาจจะเป็นมะเร็งที่ลามไปกระดูก พี่สาวผมก็ร้องไห้เลย เค้านั่งกอดคุณแม่ในห้องหมอ ก็คือคุณแม่เค้าก็มาเล่าให้ฟังว่า ท่านก็ไม่สบายใจ ผมก็เลยไม่อยากเห็นภาพนั้นอีก ไม่อยากให้แม่เห็นภาพผมกับพี่มานั่งร้องไห้” ชายหนุ่มพูดด้วยเสียงเครือและร้องไห้อีกครั้ง

            ความขัดแย้งในใจฉันเวลานี้เริ่มคลายลง ความคิดอยากช่วยเหลือความรู้สึกชายหนุ่มกลับมีมากกว่า เพราะฉันรับรู้ได้ถึงความอ่อนแอของจิตใจเขาในเวลานี้ และเปลี่ยนความคิดของฉันที่จะพยายามบอกความจริง มาเป็นการทำความรู้จักผู้ป่วยและครอบครัวมากขึ้น

            “คุณแม่เป็นคนเข้มแข็งครับ แม่ไม่เคยกลัวอะไร เมื่อ ๗-๘ ปีก่อนที่จะป่วยครั้งนี้ คุณหมอเค้าไปตรวจเจอก้อนเนื้อที่กระเพาะ ตอนนั้น คุณหมอถามคุณแม่ว่า มีญาติมาด้วยไหม อยากพบญาติ แล้วให้คุณแม่ออกไปข้างนอก ผมอยู่พอดีจึงเข้าไปนั่งคุยกับคุณหมอ เค้าก็บอกผมว่าคุณแม่มีโอกาสเป็นมะเร็งสูง

            ตอนนั้นพูดง่ายๆ คือ ผมจิตตกไปเลย เคว้งไปเลย ผมงงไปหมด ผมเดินออกไปนอกโรงพยาบาลยังไง ผมยังไม่รู้ตัวเลย (เสียงเครือ) ต้องโทรไปหาคุณน้าที่เป็นพยาบาลที่นี่ พูดกับเค้าไม่รู้เรื่องเลย ได้แต่ร้องไห้ คุณน้าเค้ามาหาผมทันที ก็เลยได้คุยกับคุณน้า เค้าก็บอก โอ้ย แค่นี้เอง ไม่เป็นไรหรอก เค้าก็ปลอบผม ผมจึงค่อยๆ สงบสติอารมณ์ได้ หลังจากนั้นก็พาคุณแม่ไปตัดชิ้นเนื้อไปถึง ๔-๕ ครั้งครับ สุดท้ายคุณหมอก็บอกไม่ใช่มะเร็ง”

            "พวกผมก็เหมือนกับคนจีนครับ ถ้ารู้แล้วมานั่งคร่ำครวญว่าเป็นกัน มันกลัวจะยิ่งทรุดหนักลงไป

            เหมือนกับพวกญาติที่เห็นๆ มาส่วนมากก็จะปิดกันหมด อย่างลูกๆ ของคุณน้าเค้าก็ปิดไม่ให้รู้ ขนาดคุณแม่เองยังเคยปิดคุณพ่อไม่ให้รู้ว่าเป็นมะเร็ง แต่ในที่สุดพอคุณพ่อถาม คุณแม่เค้าก็บอกไป แต่ว่าจนถึงตอนนี้คุณพ่อเค้าก็ยังดูรับไม่ได้ ซึมเศร้า หงุดหงิดง่าย ไม่ค่อยพูดกับใครครับ (เสียงเครือ)”

            ฉันพอจะเห็นภาพครอบครัวของเขาแล้ว ด้วยความเป็นคนจีนอยู่กันอย่างเป็นครอบครัวใหญ่ การตัดสินใจหลายๆ อย่างจึงไม่ได้อยู่ที่คนคนเดียว ครอบครัวก็มีส่วนร่วมด้วยเช่นกัน การตัดสินใจที่เขาเรียนรู้มาจากประสบการณ์สูญเสียหลายครั้ง ล้วนแต่เป็นการปิดข่าวร้ายไม่ให้ผู้ป่วยสะเทือนใจ และจะทำให้สะเทือนกันไปทั้งครอบครัว ภาพที่เห็นคุณพ่อรับกับข่าวร้ายไม่ได้ แม้กระทั่งตัวชายหนุ่มเองที่รับรู้ว่าคุณแม่อาจจะเป็นมะเร็ง ภาพนั้นยังฝังติดอยู่ในใจ แม้เวลาจะล่วงไปนานหลายปีแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่อยากให้เกิดขึ้นกับแม่ของเขาอีก ในเวลานี้สภาพจิตใจเขาอ่อนแอมากเกินจะรับเรื่องหนักๆ อื่นๆ ได้ไหว อาจเป็นเพราะเขาเลือกที่จะแบกรับความเศร้าสะเทือนใจทั้งหมดไว้เพียงคนเดียว อีกทั้งยังต้องจัดการเรื่องต่างๆ แทนผู้ป่วย ยังไม่รวมถึงความรู้สึกของเขาเองในฐานะลูกที่จะสูญเสียแม่ไป ต้องลาออกจากธุรกิจส่วนตัวที่กำลังไปได้ดี เพื่อมาเป็นผู้ดูแลเต็มตัว ไม่อยากพูดคุยกับเพื่อนๆ เพราะไม่อยากแม้แต่จะพูดเรื่องคุณแม่ให้เสียใจอีก เพราะเป็นการตอกย้ำซ้ำๆ ว่าแม่เป็นมะเร็ง จนถึงวันนี้เขาก็ยังรับไม่ได้กับเรื่องมะเร็งของคุณแม่ ฉันได้เคยแบ่งปันข้อดีข้อเสียของการปิดข่าวร้าย ซึ่งเขารับรู้และเข้าใจดีในสิ่งที่ฉันต้องการจะบอก แต่ก็ตัดสินใจปกปิดต่อไป

            “ผมก็คิดว่าคุณแม่เค้ารู้ แต่ท่านไม่พูด ก็เหมือนกับว่า เออ อยากปิด พวกลูกสบายใจก็เอาอย่างงั้น ก็ ปิด ด้วยความที่อยู่กับคุณแม่มานาน ผมมั่นใจว่าคุณแม่ก็ไม่ถาม เพราะเค้ารู้ว่าถามผมแล้วพวกผมจะไม่สบายใจ เค้าก็จะไม่ถาม”

            ฉันมีโอกาสได้ดูแลครอบครัวนี้จนกระทั่งผู้ป่วยเสียชีวิตในไม่กี่สัปดาห์ต่อมา ฉันเลือกที่จะไม่เอาเรื่องการปกปิดข่าวร้ายมาเป็นอุปสรรคในการดูแล ไม่ตั้งแง่ในใจเหมือนแต่ก่อนว่า ฉันต้องแก้ปัญหาเรื่องการปกปิดก่อน เพื่อให้การดูแลราบรื่น

            หลังจากผู้ป่วยเสียชีวิต ๔ เดือน ฉันได้พูดคุยกับชายหนุ่มคนนี้อีกครั้ง

            “ตอนนั้นที่คุยกันเรื่องบอกคุณแม่ว่าเป็นมะเร็งดีไหม ในความคิดของผมคือ แต่ละครอบครัวก็ไม่เหมือนกัน ผมรู้จักครอบครัวผมดี วิธีนี้น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับครอบครัวผม ลึกๆ แล้วในตอนนั้นที่คุยเรื่องนี้...คือมัน สะเทือนใจ ว่า เออ ทำไมต้องมาถามย้ำ”

            ฉันคิดว่า อาจไม่มีสูตรสำเร็จว่าเราควรบอกหรือไม่บอกข่าวร้ายแก่ผู้ป่วย เพราะแต่ละครอบครัวไม่เหมือนกันประเด็นสำคัญของการดูแลครอบครัวนี้ อาจจะไม่ได้อยู่ที่ควรบอกหรือไม่ควรบอก แต่สิ่งที่ครอบครัวต้องการ คือ การทำความเข้าใจและช่วยเหลือครอบครัวให้ผ่านพ้นช่วงที่ยากลำบากที่สุดจากการเผชิญข่าวร้ายในครั้งนี้โดยให้เกิดผลเสียต่อครอบครัวน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะเราไม่ได้ช่วยแค่ตัวผู้ป่วยที่กำลังจะจากไป แต่เราจำเป็นต้องคำนึงถึงคนที่จะอยู่ต่อไปกับความรู้สึกและภาพที่ติดตาไปชั่วชีวิต

 

รัชดาพร บุญญาภิสมภาร (พญ.)
คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

คอลัมน์: