Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

เมื่อเหตุการณ์เฉียดตายมาเตือนให้เตรียมตัว

-A +A

 

จ๋า ชีวิตสอนอะไร

เธอนัดเจอกับเราที่บ้านเดี่ยวสีขาวใจกลางเมือง สวนสีเขียว พื้นไม้ปาเก้มันวาวอย่างดี แม้ผู้ให้สัมภาษณ์ยังไม่ปรากฎตัว แต่ข้าวของที่จัดวางในบ้านต่างบ่งบอกความเป็นตัวเธอและครอบครัว งานศิลปะของลูกชายถูกจัดวางทุกมุมในบ้าน โคมไฟแชงกาเรียเปิดไฟนวลๆ รอการมาถึง แล้ว คุณจ๋า ปฏิมา จำปาสุต ก็มาปรากฎตัวหลังจากนั้นไม่นาน เธอเพิ่งเสร็จธุระจากร้านทำผม และสวยพริ้งเกินกว่าที่เราจะคิดว่าอายุ ๕๐ ปี แต่ใช่ นี่คืออายุจริงของเธอ เธอเป็นหม้ายสาวที่มีลูกชายสองคน คนหนึ่งกำลังเรียนปริญญาโทที่ต่างประเทศ อีกคนกำลังจะเรียนจบปริญญาตรี คณะศิลปากร เธอทำงานเป็นเลขานุการที่ธนาคารแห่งหนึ่ง เรียกได้ว่า การงานดี ฐานะดี ครอบครัวดี และเช่นเดียวกับในปี ๒๕๕๖ ที่พี่จ๋าถือว่าเป็นปีที่การงานราบรื่น การเงินดี ชีวิตครอบครัวมีความสุข และมีแผนจะเดินทางไปอเมริกาเพื่อเซอร์ไพร์สลูกชายคนโต หากเปรียบเป็นทะเล คลื่นลมก็สงบ ท้องฟ้าเจิดจ้าสดใส แต่ใครจะล่วงรู้ เมื่อลมพัดเปลี่ยนทิศนำพาเรื่องราวไม่คาดฝันมาสู่เธอ

 

พายุที่ชื่อว่าก้อนเนื้อ

ตั้งแต่อายุ ๒๐ กว่าๆ จวบจนปัจจุบัน หน้าอกของพี่จ๋ามักตรวจพบซีส ถุงน้ำ และก้อนเนื้อที่มิใช่เนื้อร้าย ซึ่งเธอก็ผ่าตัดและรักษาตามอาการ เมื่ออายุเข้าสู่ ๔๐ ปลายๆ แม้ไม่ได้ไปตรวจ แต่ก็มีความกลัว ความกังวล และรู้ตัวดีว่าต้องมีแน่ๆ วันหนึ่งขณะอาบน้ำเธอคลำพบก้อนเนื้อ ด้วยใจที่คิดอยากเดินทางไกลไปหาลูกชายอย่างไร้กังวลจึงตัดสินใจไปพบคุณหมอ เมื่ออัลตราซาวน์ก็พบก้อนเนื้อ ๖ ก้อน เมื่อเจาะตรวจชิ้นเนื้อก็ไม่พบว่าเป็นมะเร็ง แต่กระนั้นก็ตาม ก้อนเนื้อมีผิวขรุขระ มีความเสี่ยงว่าหากตรวจลึกๆ อาจจะพบมะเร็งข้างในก็เป็นได้ ด้วยความร้อนใจอยากรู้ว่าเป็นอะไรและอยากพบลูก วันรุ่งขึ้นเธอจึงตัดสินใจขอผ่าตัดเลย

พี่จ๋าสารภาพตามตรงว่า ในกระบวนวินิจฉัยโรคครั้งนี้ เธอมีแต่ความกังวล กลัว และเสียขวัญ เริ่มตั้งแต่เจ้าหน้าที่อัลตราซาวน์ที่มีท่าทีดุ ไปจนถึงคุณหมอที่ให้ข้อมูลจำนวนมากเกี่ยวกับมะเร็งซึ่งทำให้วิตกและตกใจ เมื่อกลับบ้าน เธอจึงเอาแต่ร้องไห้ จิตใจกังวลไปสารพัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องลูกชายคนเล็กที่อยากส่งเสียให้เรียนปริญญาโทที่ต่างประเทศ ด้านลูกชายคนโตก็กำลังเรียนอยู่ เธอยังเก็บเงินได้ไม่เพียงพอสำหรับลูกทั้งสองเลย หากต้องอยู่ในกระบวนการรักษาที่ยาวนาน ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายและภาระอีกมากมาย ไม่แน่ใจว่าจะทำงานประจำที่ทำอยู่ได้หรือเปล่า หากต้องลาออกจะทำอย่างไร หากต้องตัดหน้าอกทิ้งจะทำเช่นไร คำถาม ความกลัว ความกังวลปรากฎขึ้นมากมาย สำหรับคนที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ดูแลทุกอย่างในบ้าน ก็อดไม่ได้ที่จะห่วงกังวล และสำหรับคนที่เคยควบคุมทุกสิ่งในชีวิตได้ คืนนั้นช่างเป็นคืนที่ยาวนานเหลือรับไหว เธอนอนกับลูกชายและแม่บ้าน แต่ทุกครั้งที่รู้สึกตัวก็เอาแต่ร้องไห้ จากผู้หญิงทำงานที่เก่งกาจกลับเต็มไปด้วยความอ่อนแอและหวาดกลัว

“เราเคยคิดว่าเราเก่ง ไม่กลัวตาย ทำไมนาทีนี้เราถึงอ่อนแอมาก มันน่าจะเป็นเหมือนกับหลายๆ คนที่ยังไม่ได้เผชิญกับเรื่องราวเหล่านี้ตรงๆ” 

ในอีกวันเธอเข้ารับการผ่าตัด เสร็จสิ้น เรียบร้อย ไม่ตรวจพบมะเร็ง เธอยิ้ม โล่งใจไปหนึ่งเปราะ นอนพักที่โรงพยาบาล ๒ คืนก็กลับบ้าน เธอหวังให้ทุกอย่างราบรื่น แต่หลังจากนั้นได้ ๒ วัน ขณะอาบน้ำครั้งแรกหลังผ่าตัดเสร็จ รู้สึกปวดเกร็งบริเวณหน้าอก เหมือนมีมือที่มองไม่เห็นบิดอกข้างซ้ายของเธอ ในขณะเดียวกันท้องก็เสีย พี่จ๋าตกใจ ร้องไห้ และเรียกหาลูกชาย ลูกพาเธอไปโรงพยาบาล ในชั่วเวลาไม่กี่นาทีขณะที่เธอนอนอยู่เบาะหลัง แผลผ่าตัดก็บวมเป่งอย่างน่าตกใจ เมื่อไปถึงโรงพยาบาลในช่วงเย็นก็มีแต่หมอและพยาบาลเวรซึ่งเสนอให้อัลตราซาวด์ซ้ำ ด้านพี่จ๋าและครอบครัวไม่เห็นว่าเป็นประโยชน์ จึงนอนรอคุณหมอเจ้าของไข้ต่อไป ระหว่างนั้นพยาบาลห้ามไม่ให้เธอร้องไห้ เดี๋ยวญาติจะเสียกำลังใจ เธอรู้สึกโกรธ เพราะกำลังจวนเจียนใกล้แย่อยู่ทุกนาที แม้พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะหยุดและดูแลตนเอง แต่อาการบวมเป่งก็หนักขึ้นเรื่อยๆ เลือดและน้ำเหลืองซึมอยู่ตลอดเวลา หนักที่หน้าอกมากจนกลัวว่ามันจะระเบิดได้ ปวดร้าวไปหมด อีกทั้งแขนซ้ายก็ชาไปทั้งแถบ

“นาทีนั้นถือว่าเป็นนาทีเฉียดตายของเรา ไม่มีใครกล้าทำอะไรเลย เราก็คิดว่า ทำอะไรสักนิดหนึ่งเถอะ อะไรก็ได้ที่ทำให้เห็นว่ากำลังเยียวยาเรา อย่าให้เรานอนรออะไรแบบนี้เลย ก็มีพยายบาลมาซับน้ำเหลือง หลังจากนั้นก็สงบลงได้ เพราะเราทำอะไรไม่ได้เลยจริงๆ นาทีนั้น พี่สาวบอกให้เราสวดอิติปิโสฯ ส่วนลูกชายคนเล็กก็มาบอกว่าไม่เป็นไร เขาดูแลตัวเองได้”

จู่ๆ เธอก็ยินเสียง “ตุ๊บ” ที่อกเธอเป็นระยะๆ แม้เอ่ยปากถามนางพยาบาลว่าได้ยินไหม แต่พวกเขาก็ไม่ได้ยินและไม่ห่วงกังวลในอาการของเธอ จนเวลาประมาณ ๓ ทุ่ม คุณหมอเจ้าของไข้มาถึงและสั่งให้ผ่าตัดด่วนทันที เธอมาทราบภายหลังว่าเส้นเลือดที่ถูกผ่าตัดเกิดปริแตกขึ้นมาโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้เธอยังรู้สึกกลัวอยู่จนถึงวันนี้ และทำให้ตระหนักว่าต้องเตรียมตัวตายอย่างจริงจังได้แล้ว

 

เหตุจากความกลัวทำให้เริ่มเตรียมตัวตาย

“สำหรับคนที่ยังไม่เคยเจอความตาย ยังไม่รู้หรอกว่าเวลาที่เฉียดตายมันน่ากลัวมากแค่ไหน เราขาดสติ ขาดความนึกคิด ร้องไห้ กลัว ฉะนั้น พอเราเฉียดตาย เรารู้สึกว่าเราควรต้องเปลี่ยนแปลง เรายังไม่ได้ทำอะไรบ้าง กลับมาทบทวนตัวเองว่า เราพร้อมไหม เราทำสิ่งต่างๆ ได้ดีพอหรือยัง ถ้าเราจะต้องตายไป”

หลังออกโรงพยาบาลคราวนั้น คุณจ๋าเตรียมการชีวิตหลายเรื่อง เรื่องแรกจัดการทรัพย์สิน เตรียมเงินก้อนหนึ่งไว้สำหรับการศึกษาของลูก เตรียมกระเป๋าเอกสารที่บรรจุเอกสารสำคัญ พับหน้าสำคัญของหนังสือเกี่ยวกับการเตรียมตัวตายไว้ให้ลูกชายอ่านเพื่อจะได้เข้าใจว่าคุณแม่ต้องการอะไรในวาระสุดท้าย เรื่องที่สองคือเตรียมใจ แน่นอนว่าความกลัวนั้นยังปรากฎชัดในความรู้สึก แต่ด้วยความกลัวนี่เองที่ทำให้เธอจริงจังกับการเตรียมความพร้อมรับมือกับความตายที่ไม่อาจคาดเดาได้ ในขั้นต้น เธออ่านหนังสือธรรมะเกี่ยวกับเรื่องความตายมากขึ้น พยายามทบทวนว่าชีวิตที่ผ่านมาได้ทำผิดต่อใครที่ไหนหรือเปล่า และต้องให้อภัยใครบ้าง และพยายามอย่างยิ่งที่จะขยันหมั่นเพียรฝึกปฏิบัติพัฒนาสติให้เข้มแข็ง

“เมื่อก่อน เราอยากตายแล้วเป็นนางฟ้า แต่ตอนนี้พี่ไม่อยากแล้ว เพราะชีวิตมันคงเวียนไม่จบ ลงนรกแล้วขึ้นสวรรค์ๆ วนไปเรื่อยๆ ถ้าถามว่าหวังนิพพานไหม ก็หวัง แต่มันไกล ซึ่งพระทุกองค์ก็บอกว่าถ้าเพียรให้ถูกก็จะถึง เวลานั่งสมาธิแล้วบอกตัวเองว่า พอ เลิก บางทีก็ถามตัวเองว่า เราเพียรจริงๆ ไหม พบว่า ยัง ฉะนั้น ตอนนี้กำลังทำสิ่งที่เรียกว่า เพียรจริงๆ” 

แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้อยู่ในระหว่างทางการฝึกฝน จะตื่นนอน เดิน นั่ง กินข้าว ก็พยายามทำไป ทั้งการรักษาศีล ๕ และฝึกมรณานุสติ 

 

โจทย์ที่ต้องก้าวข้าม

เหตุการณ์เฉียดตายทำให้เธอเห็นชัดว่ายังยึดติดกับลูกมาก เป็นห่วงไปสารพัด เพราะเป็นคนที่รักและชอบอยู่กับลูกมากที่สุด ฉะนั้น หากมีชีวิตเหลืออีกเพียง ๗ วัน เธอจะตายที่ไหนอย่างไรก็ได้ แต่ขอให้พอมีสติและมีลูกชายทั้งสองคนอยู่ข้างๆ 

“อีกเรื่องที่ต้องฝึกคือการปล่อยการยึดติดในตัวลูก โดยเฉพาะคนเล็ก เพราะเขาค่อนข้างห่วงเรา เราก็ห่วงเขา  ห่วงกันไปห่วงกันมา เป็นความยึดติดที่มากที่สุด กับลูกคนโตนี่เขาไปเรียนต่อนานแล้ว โตมากแล้ว ความห่วงเลยเป็นใยบางๆ แต่กับคนเล็ก แม้ว่าเขาโตแล้วและกำลังจะเรียนจบ แต่ก็ยังมีนิสัยที่เราเป็นห่วง คือเป็นที่นิ่ง มีธรรมะ แต่ถูกเป็นถูก ผิดเป็นผิด ฉะนั้น จะแรง เราก็ห่วง ถ้าเขาไปแรงกับคนที่ยอมเขา ถามว่าพี่เห็นด้วยกับเขาไหม เห็นด้วย แต่ถึงไม่ถูก ก็ไม่ต้องไปแรงกับมันก็ได้”

แม้ว่าจะห่วงลูกคนนี้มากที่สุด แต่ลูกคนนี้ก็เป็นเหมือนเพื่อนคู่คิด และคอยเตือนสติคุณแม่บ่อยๆ จนเธอเอ่ยชมว่าลูกมีธรรมะที่ลึกซึ้ง คิดวิเคราะห์อะไรได้ชัดเจน อีกทั้งยังฝากฝังให้ลูกช่วยเตือนสติแม่ให้คิดถึงเรื่องที่เป็นกุศลในห้วงเวลาก่อนสิ้นใจ 

นอกจากนี้ ยังมีหลายความสัมพันธ์ที่ทำให้เธอกลับไปทบทวนตนเอง และพบว่ายังให้อภัยคนกลุ่มหนึ่งไม่ได้อย่างหมดใจ ด้วยความรู้สึกเสียใจและน้อยใจยังฝังอยู่ลึกๆ ในบางคืนถึงกับเก็บไปเอาฝันร้าย

“เราไม่คิดแก้แค้นและพยายามแก้ไขความรู้สึกนี้อยู่ แต่คงยังฝังในจิตใต้สำนัก ยังเป็นเรื่องที่ติดค้างอยู่ในใจ เวลาที่เจอกันก็ยังขุ่นมัว แต่พอไม่เจอก็อาจจะหนีปัญหา สำหรับพี่ พี่คิดว่าไม่ใช่แค่ว่าเขาทำไม่ดีกับเรา เราคงไม่ดีกับเขาด้วย ฉะนั้น เราพยายามทำตรงนี้คืออโหสิกรรมให้เขา”

 

ชีวิตที่เหมือนการเล่นเปียโน

แม้ชีวิตคุณจ๋า ณ ขณะนี้จะดูดี ง่าย และสวยงาม แต่เมื่อถามถึงชีวิตที่ผ่านมา เธอเล่าให้ฟังว่าเธอได้อยู่ในวาระแห่งความตายของแม่และพ่อ ด้วยเพราะเป็นลูกสาวคนสุดท้ายของบ้าน คุณแม่จึงเสียชีวิตตั้งแต่เธอยังเล็ก ขณะนั้น เธอเป็นเพียงเด็กสาวอายุ ๑๒ ปี ญาติไม่ได้บอกว่าแม่เป็นอะไร มารู้ในตอนท้ายว่าเป็นโรคมะเร็ง จึงไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจอะไรนัก การจากไปอย่างไม่มีวันกลับทำให้เธอที่ใกล้ชิดกับคุณแม่รู้สึกเคว้งคว้างและเงียบเหงา เธออยู่กับคุณพ่อซึ่งไม่สนิทนักเพียงลำพัง ด้านพี่ๆ ก็เติบโตและใช้ชีวิตของตนเอง ฉะนั้น เมื่อโตเป็นสาว มีแฟน มีงาน จึงทุ่มเทให้กับความรักและการงาน แต่ไม่เคยทิ้งคุณพ่อไปไหน แม้ในวาระสุดท้ายของชีวิตที่ท่านจากไปด้วยโรคเบาหวาน เธอรู้สึกโชคดีที่ได้ดูแลคุณพ่อ แม้ว่าจะทำไม่ได้หมดจดไปทั้งหมด มีฮึดฮัดและอึดอัดต่อกันบ้าง ชีวิตมีขึ้นมีลง มีรัก มีหย่าร้าง มีสุข มีทุกข์ ทางหนึ่งเธอหาทางออกด้วยการอ่านหนังสือ อีกทางหนึ่งคือเข้าใจว่าชีวิตก็เป็นอย่างนี้

“พี่เคยเป็นครูสอนเปียโนเด็ก ท่อนไหนไม่คล่อง เราก็เอามาซ้อมกัน เวลาที่เราซ้อมทั้งเพลงแล้วผิดสักจุดหนึ่ง ทุกคนจะเหมือนกันหมดคือหมดหวัง เละเทะไปหมดทั้งเพลงที่เหลือ ทั้งๆ ที่ซ้อมมาอย่างดี ฉะนั้น เวลาเล่นเปียโน เราจะบอกน้องๆ ว่า ผิดก็เริ่มใหม่ อย่าไปนึกถึง ถ้าผิดอีกใช่ไหม ก็เริ่มใหม่ เพราะเดี๋ยวมันก็ผิดอีก มีอีกหลายหน้าให้ผิด ชีวิตมันก็ไม่ต่างกับการเล่นเปียโน สะดุดแล้ว ก็ลุกให้ได้ บางครั้งอาจจะล้มนานหน่อย เวลาที่เราเจอเรื่องทุกข์มาก แต่อย่าหยุด พ่อแม่ตาย แฟนเลิกกัน สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ข้ออ้างให้เรามีชีวิตที่ไม่ดี”

ชีวิตช่วงนี้อาจจะเป็นบทเพลงที่บรรเลงไปอย่างเรียบง่าย งดงาม เพราะความสุขของเธอคือการได้อยู่กับลูกๆ และได้ทำสิ่งที่ตั้งใจ วันไหนได้สวดมนต์ ได้นั่งสมาธิอย่างที่ตั้งใจไว้ ก็รู้สึกมีความสุขแล้ว การงานหรือการเงินก็คาดหวังแค่พอมีใช้ จากเมื่อก่อนที่เคยฝากความสุขไว้กับการงาน แต่หลังจากเกิดเหตุก็คิดได้ว่าจะตำแหน่งไหนก็ไม่สำคัญ เจ้านายก็ด่าก็ไม่เป็นไร ถือเป็นเรื่องขี้ปะติ๋ว หากเทียบกับชีวิตที่จะสิ้นลงโดยที่ยังไม่ทำอะไร สำหรับเธอแล้วการได้ “เป็น” อะไร ไม่สำคัญเท่ากับได้ทำสิ่งที่ตั้งใจอย่างครบถ้วนและดีที่สุดแล้วหรือยัง

 

ที่มา:

คอลัมน์:

บุคคลสำคัญ: