Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

การค้นหาคุณค่าและความหมายของชีวิต กับสุขภาวะทางปัญญา

-A +A

          สุขภาวะที่ดีคือการดูแลที่ครอบคลุม ๔ มิติ คือ กาย ใจ สังคม และปัญญา (จิตวิญญาณ) แต่จะทำได้อย่างไร เมื่อบุคลากรสุขภาพมีภาระงานในโรงพยาบาลล้นมือ โดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายที่เกี่ยวข้องกับมิติทางปัญญามากที่สุด 

          เครือข่ายพุทธิกากำลังทำงานขับเคลื่อนมิติสุขภาวะทางปัญญาผ่านการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เพื่อสร้าง “ทีมสุขภาพ” คือพยาบาล จิตอาสา และพระสงฆ์ ให้ช่วยกันดูแลผู้ป่วยระยะท้ายให้มีสุขภาวะที่ดี จิตอาสา หรือ อสม. เป็นกลไกที่ช่วยแบ่งเบาภาระงานในแวดวงสาธารณสุขมาอย่างยาวนานอยู่แล้ว ในขณะที่พระภิกษุสงฆ์แม้ว่าอาจจะมีส่วนร่วมในการดูแลทางด้านจิตใจบ้าง เช่นโรงพยาบาลหลายแห่งอาจจะนิมนต์พระไปรับบาตรจากผู้ป่วยและญาติ หรือแสดงเทศนาธรรมบ้าง แต่ยังเปิด “พื้นที่” ให้พระสงฆ์เข้าเยี่ยมดูแลผู้ป่วยไม่มากนัก อาจเป็นเพราะการเริ่มต้นร่วมงานกับพระสงฆ์อาจฟังดูยากเพราะความไม่คุ้นเคย (มีเรื่องราวและวิธีทำงานกับพระสงฆ์ที่น่าสนใจ ซึ่งจะนำเสนอในโอกาสต่อไป) แต่บทบาทของท่านจะส่งผลต่อการดูแลผู้ป่วยในมิติทางปัญญาอย่างสำคัญ

          จริงๆ แล้ว ผู้ป่วยระยะท้ายคือผู้ป่วยที่ใกล้ชิดความตายมากที่สุด ทำอย่างไรจึงทำให้การการดูแลช่วยให้ผู้ป่วยได้จากไปอย่างสงบ และเรียกว่าเป็นการดูแลในมิติทางปัญญา เพราะคำว่าสุขภาวะทางปัญญาอาจฟังดูแล้วเป็นเรื่องยากและน่าสับสน ถ้าหากเราเริ่มต้นด้วยการค้นหาความหมายของถ้อยคำ เราอาจต้องถกเถียงกันยาวนาน แต่ถ้าเรากำหนดขอบเขตและทำความเข้าใจให้ตรงกัน การดูแลผู้ป่วยในมิติทางปัญญาอาจไม่ใช่เรื่องยากเกินไป และที่สำคัญคือเราอาจพบว่าการดูแลที่เราทำอยู่เป็นการดูแลสุขภาวะทางปัญญาอยู่แล้วก็เป็นได้

          พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล และพระอาจารย์อธิการครรชิต อกิญจโน เป็นผู้บุกเบิกเรื่องการเยี่ยมดูแลผู้ป่วย และช่วยให้ผู้ป่วยระยะท้ายจากไปอย่างสงบมาอย่างยาวนาน การหารือกับพวกท่านเรื่องการดูแลมิติทางปัญญาร่วมกับผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ ทั้งแพทย์และนักวิชาการ*  ทำให้ได้ข้อสรุปเรื่องขอบเขตของการดูแลมิติทางปัญญาประการหนึ่ง คือ “การค้นหาความเชื่อและศรัทธาเฉพาะบุคคล(ตัวตน) ที่ไม่ใช่เรื่องศาสนาอย่างเดียว แต่ก็ไม่พ้นเรื่องศาสนาหรือศรัทธา และไม่ใช่เรื่องของเหตุผลแต่เป็นเรื่องของคุณค่า เรื่องความหมายของชีวิต” โดยการค้นหาดังกล่าวต้องอาศัยเวลา และพูดคุยสอบถามเพื่อให้ได้ข้อมูลของผู้ป่วย อาจพูดคุยกับตัวผู้ป่วยเองหรือญาติผู้ป่วยในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถสื่อสารเองได้

          ในชุมชนชนบท เราอาจสอบถามเพื่อค้นหาความหมายหรือศรัทธาในชีวิตผู้ป่วยได้ไม่ยาก เพราะผู้คนจำนวนมากยังรู้สึกใกล้ชิดกับศาสนาอยู่ เช่นอาจถามถึงศาสนาที่ผู้ป่วยนับถือ ถามถึงพระสงฆ์ที่ผู้ป่วยเคารพ การน้อมนำผู้ป่วยให้ระลึกถึงบุญกุศลและความดีที่ผู้ป่วยกระทำมา หรือนิมนต์พระที่ผู้ป่วยนับถือมาเยี่ยม จะช่วยให้จิตใจของผู้ป่วยสงบ จิตวิญญาณ (ปัญญา) ของผู้ป่วยได้รับการตอบสนอง หรืออาจนำสัญลักษณ์แทนความศรัทธา เช่น พระพุทธรูป พระเครื่อง ไม้กางเขน คัมภีร์ ฯลฯ มาให้ผู้ป่วยได้เห็นเป็นที่พึ่ง ทำให้เกิดความสงบภายใน ล้วนแต่เป็นส่วนหนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็นการดูแลผู้ป่วยในมิติทางปัญญา

          ทว่าบางครั้ง แม้เราอาจจะค้นไม่พบสิ่งที่ผู้ป่วยศรัทธา แต่สิ่งสำคัญลำดับต่อมาที่เราอาจทำเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบได้คือ การค้นหาสิ่งที่ผู้ป่วยยังค้างคาใจ และช่วยปลดเปลื้องออก หรือช่วยรับประกันว่าผู้ป่วยไม่ต้องกังวลหรือเป็นห่วงสิ่งนั้นอีกต่อไป เช่น ผู้ป่วยบางรายต้องการพบสามีที่เลิกร้างกันไปนานเพื่อบอกลา หรือผู้ป่วยบางรายห่วงหมาที่เลี้ยงไว้และกลัวว่าไม่มีคนดูแลเมื่อเขาหรือเธอต้องจากไป เป็นต้น การรับประกันเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วยที่กำลังจะจากไปให้หมดความกังวล ก็เป็นการดูแลผู้ป่วยในมิติทางปัญญาเช่นกัน

          จะเห็นว่า การดูแลสุขภาวะทางปัญญาผู้ป่วยระยะท้ายจึงไม่ใช่เรื่องยากจนเหลือวิสัย แต่ต้องอาศัยเวลาและความใส่ใจ เมื่อพยาบาลมีภาระหนักอยู่แล้ว การส่งเสริมให้พระสงฆ์เข้ามาร่วมเป็นทีมสุขภาพจึงมีความสำคัญ เพราะท่านจะเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยการดูแลด้านปัญญาได้เป็นอย่างดี  แม้ว่าพยาบาลและจิตอาสาสามารถเรียนรู้และทำบทบาทการดูแลด้านนี้ได้เช่นกัน แต่การมีพระสงฆ์ช่วยสนับสนุน จะช่วยเสริมพลัง (ความรู้สึกขลัง/ศักดิ์สิทธิ์/ได้เห็นผ้าเหลือง) และความเชื่อมั่นในการทำงานดูแลผู้ป่วยเพิ่มขึ้น เพราะบริบทสังคมไทยโดยเฉพาะชุมชนชนบทยังคงมีความเชื่อและความศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างมั่นคง

 

หมายเหตุ * การประชุมเพื่อพัฒนาหลักสูตรการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายมิติจิตวิญญาณ เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ จัดโดยโครงการขับเคลื่อนมิติสุขภาวะทางปัญญาผ่านการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เครือข่ายพุทธิกา และ สสส.

 

คอลัมน์: