Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

คุณค่าความหมายภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์

-A +A

           เครือข่ายพุทธิกาทำงานสร้างทีมสุขภาพที่มีพยาบาล จิตอาสาและภิกษุสงฆ์ เพื่อร่วมกันดูแลผู้ป่วยระยะท้ายให้มีสุขภาวะที่ดีครบทั้ง ๔ มิติ โดยทุกคนในทีมสุขภาพจะเรียนรู้ และมีส่วนร่วมในการทำงานไปด้วยกัน ที่ผ่านมา เครือข่ายฯ ได้ถวายความรู้ให้กับพระสงฆ์ไปจำนวนไม่น้อย ซึ่งมีพระอาจารย์หลายท่านเห็นความสำคัญในงานดูแลผู้ป่วยระยะท้าย และทำงานอย่างต่อเนื่อง ในจำนวนพระสงฆ์ที่ผ่านการอบรมในโครงการของเครือข่ายพุทธิกาตั้งแต่ปี ๒๕๕๔-๒๕๕๖*  และโครงการต่อเนื่องในปี ๒๕๕๗-๒๕๕๙**  ทำให้ค้นพบว่ามีพระสงฆ์ท่านหนึ่งที่ได้ร่วมงานกับทีมสุขภาพดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแล้วเข้าใจถึงคุณค่าในบทบาทหน้าที่เชิงสังคมของภิกษุสงฆ์ ที่มีโอกาสได้ช่วยเหลือญาติโยมด้วยหลักธรรมอย่างเห็นผล

           พระอาจารย์ฐิติพันธุ์ อิสสรธัมโม หรือที่ทุกคนในอำเภอสนม จังหวัดสุรินทร์ รู้จักท่านดีในนาม “หลวงเฮีย” ความตั้งใจบวชครั้งแรกของหลวงเฮียเรียกว่าหนีปัญหาทางโลก ใช้ทางธรรมเป็นที่พึ่ง จากนักธุรกิจในเมืองใหญ่ มาบวชเป็นพระที่วัดป่าอตุโลบุญญลักษม์ และจำพรรษาอยู่ที่นี่ด้วยความเชื่อที่ว่า “บวชให้ชีวิตมันเฮงเฮง”

           ความตั้งใจเดิมของหลวงเฮียคือ บวชเพียงหนึ่งเดือนแล้วจะลาสิกขา ถึงขนาดถามท่านเจ้าอาวาสซึ่งบวชให้ในสองสามวันแรกว่า ฤกษ์สึกคือวันไหน แต่เจ้าอาวาสท่านไม่ได้แจ้งฤกษ์ตามที่หลวงเฮียต้องการ เพียงแต่ขอว่าให้บวชนานข้ามปีไปได้ไหม ช่วงนั้นคือเดือนพฤศจิกายน หลวงเฮียคิดว่าเพิ่มระยะเวลาจากเดิมอีกหนึ่งเดือนไม่เป็นไร ระหว่างบวชหลวงเฮียมีโอกาสศึกษาธรรมกับเจ้าอาวาส และสอนจริยธรรมให้เด็กนักเรียน ด้วยความที่หลวงเฮียเป็นคนมีความรู้ เป็นนักธุรกิจที่คิดเร็วทำเร็ว เห็นการอบรมการสอนเด็กก็อยากเข้าไปร่วมกิจกรรม เห็นความสนใจของเด็กก็อยากเข้าไปเติมเต็ม ทำให้ท่านเริ่มเห็นช่องทางในการทำงานเพิ่มขึ้น

           ต่อเมื่อได้พบกับป้ากร (กรณิภา ภาชื่น) จิตอาสาที่ทำงานทั้งในโรงพยาบาลสนมและที่วัดป่าอตุโลฯ ป้ากรจะมาช่วยงานที่วัดทุกเช้าตรู่ หลังเสร็จงานจากวัดจึงไปช่วยงานที่โรงพยาบาลสนมต่อ แต่งานหนึ่งของป้ากรที่น่าสนใจคือ การเยี่ยมดูแลผู้ป่วย เนื่องจากป้ากรอาสาทำงานทั้งสองแห่ง จึงทำให้รับรู้ข้อมูลชัดเจนเมื่อมีผู้สูงวัยป่วย เพราะจะมีคนหายไปจากวัด และมีคนเพิ่มที่โรงพยาบาล หลวงเฮียสังเกตเห็นคุณตาคุณยายที่เคยมาทำบุญเป็นประจำหายไปก็จะเริ่มสอบถามถึง หรือบ้านไหนเคยใส่บาตรทุกวันแล้วหายไปก็จะทำให้รู้ทันทีว่ามีคนป่วย หลวงเฮียกับป้ากรจึงมีโอกาสได้ดูแลผู้ป่วยสูงอายุร่วมกัน ได้ไปเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้าน และได้เชื่อมโยงการทำงานกับพี่หลิน (พัชร์ณภัค อังกลมเกลียว) หัวหน้าพยาบาลตึกผู้ป่วยใน โรงพยาบาลสนม เป็นทีมสุขภาพดูแลผู้ป่วยระยะท้ายในที่สุด

           หลวงเฮียเดินทางไปเยี่ยมผู้ป่วยนับร้อยราย ทั้งในอำเภอสนม และอำเภออื่นๆ ในจังหวัดสุรินทร์ มีโอกาสได้เพิ่มพูนความรู้กับพระอธิการครรชิต อกิญจโน ผู้สอนกรรมฐานและผู้มีประสบการณ์เยี่ยมดูแลผู้ป่วย จากประสบการณ์ที่สะสมและความรู้ที่เพิ่มพูนต่อยอด ทำให้หลวงเฮียค้นพบว่าการดูแลผู้ป่วยเป็นกิจของสงฆ์ที่มีคุณค่า ทำแล้วได้บุญกุศล เพราะการไปให้ธรรมะ ไปสอนให้ผู้ป่วยเจริญสติ รวมถึงการรับสังฆทานหรือประกอบพิธีกรรมตามแต่ผู้ป่วยหรือญาติต้องการ ทำให้เห็นความเจ็บป่วยและความตายด้วยการเข้าไปใกล้ชิดสัมผัสด้วยตัวเอง รวมถึงได้ส่งผู้ป่วยมากรายสู่การตายดีและสงบ

           จากนั้นมาจนวันนี้ เข้าสู่พรรษาที่ ๖ ของการบวช หลวงเฮียยังคงทำงานเยี่ยมดูแลผู้ป่วยระยะท้ายอย่างแข็งขันตั้งใจ แม้จะเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ แต่ทุกครั้งที่หลวงเฮียทำงาน ยังคงแสดงให้เห็นถึงความกระตือรือร้นและความมุ่งมั่น นอกจากความเมตตาที่ท่านมีพร้อมกับจิตใจที่อยากช่วยเหลือด้วยการให้ธรรมะแก่ผู้ป่วยแล้ว ท่านยังเห็นคุณค่าของงานและความสอดคล้องกับบทบาทของสงฆ์ ทำให้ไม่ว่าจะเดินทางไปที่ใด หรือมีโอกาสสนทนากับพระรูปใด ท่านจะบอกเล่าถึงการทำงานของท่าน เล่าประสบการณ์การเยี่ยมดูแลผู้ป่วย ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์และกุศล ท่านทำงานขยายเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนงานอย่างเป็นธรรมชาติและยังมุ่งหวังพัฒนางานดูแลผู้ป่วยระยะท้ายให้ดีขึ้นต่อไป

 

หมายเหตุ
* โครงการส่งเสริมบทบาทพระสงฆ์ โรงพยาบาลและชุมชนในการเยียวยาจิตใจผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้าย
** โครงการขับเคลื่อนมิติสุขภาวะทางปัญญาผ่านการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

 

คอลัมน์:

frontpage: