Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

สวัสดีความตาย ยินดีที่ได้รู้จัก

-A +A

            เพราะเคยถูกความตายมาทักทายอย่างไม่ทันได้ตั้งตัวครั้งหนึ่ง ทำให้ คุณรัศมี มณีนิล นักจัดรายการวิทยุเพื่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว เริ่มตระหนักว่า ความตายวนเวียนอยู่ใกล้ตัวจนต้องหันมาใส่ใจทำความรู้จักกันมากขึ้น

            “เคยมีเหตุการณ์ช่วงที่ไม่สบายมากๆ ตอนนั้นไปญี่ปุ่นและไปออนเซน พอออกมารู้สึกว่าร่างกายมันเบา ก็เลยติดใจว่าออนเซนน่าจะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยเยียวยาเรา พอมารู้ว่าที่พระราม ๔ มีออนเซนญี่ปุ่นเปิดใหม่ ก็เลยไปลอง แต่ช่วงที่ไปออนเซน ร่างกายอ่อนแอ ไม่ค่อยมีแรง แล้วเราก็เลือกไปอยู่บ่อที่อุณหภูมิสูง แช่นานเพราะอยากหาย ปรากฏว่าพอขึ้นมารู้สึกมึนหัว หน้ามืดเป็นระยะๆ แต่ก็คิดว่าไม่เป็นไรเพราะเราฝึกโยคะมา ก็จะรู้จักวิธีคุมลมหายใจ ทีนี้ตอนที่กำลังจะเปลี่ยนเสื้อผ้าอยู่หน้าล็อคเกอร์ ก็เป็นลม วูบหมดสติไปไม่รู้ตัวเลย มารู้สึกตัวอีกทีพนักงานมาปลุก Ma’am Are you O.K.? เราก็ อยู่ที่ไหน เรามานอนที่พื้นได้ยังไง อยู่ในชุดบิกินีด้วย เพราะว่าออนเซนเขาให้ใส่บิกินี แล้วเขาก็พาไปห้องพัก ไปนอนนิ่งๆ 

            “ตอนนอนอยู่ไม่อยากพูดกับใคร ไม่อยากเจอใคร ไม่อยากอะไรทั้งสิ้น อยากอยู่กับตัวเอง เงียบ ดิ่งลึกลงไปกับตัวเอง ตอนนั้นนึกถึงว่านี่เรากำลังจะตายหรือเปล่า เพราะว่าออนเซนก็ทำให้คนตายได้นะกับการแช่น้ำร้อน ถ้าหากว่ามันมีปัญหาความดัน หัวใจ ซึ่งตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าสุขภาพเราเป็นอย่างไร อยู่ๆ มันวูบไปเลย ซึ่งเราไม่เคยเป็น นั่นเป็นครั้งที่รู้สึกว่าคิดถึงเรื่องความตายมากที่สุด แล้วก็นึกว่า เอ๊ะ เรามีอะไรที่ยังไม่ได้ทำอีก แต่ก็มีความรู้สึกว่า ถ้าตายก็โอเคนะ เพราะเราไม่ได้มีภาระอะไรมากมาย ลูกเต้าเราก็ไม่มี อะไรต่ออะไรเราก็ทำมาพอสมควรแล้ว ก็ไม่ได้มีห่วงอะไร จิตใจก็สงบดี แล้วก็ไม่ได้อยากเจอใคร ถ้าตายก็ขอตายคนเดียว ตายอย่างสงบๆ แล้วก็อยู่กับมันจริงๆ 

            “พอขับรถกลับบ้านก็โทรไปหาเพื่อน แล้วก็บอกว่าพรุ่งนี้ช่วยโทรมาหาด้วยนะ ถ้าเกิดว่าโทรมาแล้วไม่ตื่นก็มาเคาะประตูห้องด้วย เพราะเราไม่รู้ว่าการที่เราเป็นลมแล้วฟื้นขึ้นมา ระบบในร่างกายเราเป็นอย่างไร หรือเราอาจจะหลับแล้วตายไปเลยก็ได้ ปกติเป็นคนที่ชอบคิดเผื่ออยู่แล้วว่าความตายประมาทไม่ได้ คือช่วงหลังคนใกล้ชิดเริ่มตาย คนที่เรารู้จักห่างๆ เพื่อนของเพื่อน ญาติของเพื่อน เริ่มไปงานศพมากขึ้น ทั้งศพของคนรุ่นพ่อแม่ซึ่งอยู่ในวัยอันควร และก็ศพของคนที่อายุ ๔๐-๕๐ ทั้งที่เป็นมะเร็งตาย ทั้งที่ตายด้วยอุบัติเหตุ อย่างมีกรณีหนึ่งเป็นน้องชายของเพื่อน แม่เขาเป็นมะเร็งแล้วก็มาผ่าตัดที่กรุงเทพฯ ลูกเต้าก็เป็นห่วง กลัวว่าแม่จะตาย ก็ดูแลแม่อย่างดี รวมไปถึงผู้ชายคนนี้ด้วย แต่ปรากฏว่าวันดีคืนดีผู้ชายคนนี้ก็ประสบอุบัติเหตุตายก่อนแม่ที่เป็นมะเร็ง ทั้งๆ ที่เขาเป็นห่วงแม่ ดูแลแม่อย่างดี กลัวว่าแม่จะตาย แต่มันไม่แน่นอนไง ในที่สุดแม่ต้องไปเผาศพลูก กรณีนี้ก็รู้สึกว่าชีวิตไม่แน่จริงๆ คนที่เป็นมะเร็ง คนที่เป็นเอดส์ใครจะรู้ คนที่สงสารเขาอาจจะตายก่อนก็ได้ เขาอาจจะตายทีหลังก็ได้ มันไม่แน่นอน เพราะความตายมาได้ในหลายรูปแบบหลายอายุ ตรงนี้เลยทำให้รู้สึกว่า มันไม่ใช่เรื่องไกลตัว 

            “เวลาที่คิดอย่างนี้ ก็ส่งผลให้เราพยายามทำใจ อย่างเช่นเมื่อก่อน ตอนยังไม่ได้ขับรถ เวลาซ้อนมอเตอร์ไซค์แล้วบางทีเราคิดในเรื่องที่ไม่ค่อยดี พอคิดถึงเรื่องความตาย เราก็จะรู้สึกว่าไม่ได้นะ เกิดมอเตอร์ไซค์ขับไปชนปึ้ง ตอนนี้เราจะไปเกิดที่ไหน เพราะฉะนั้นเวลาที่ซ้อนมอเตอร์ไซค์หรืออยู่ในสถานการณ์เสี่ยง ก็จะพยายามมีสติคิดดีไว้ก่อน กลับมาอยู่กับตัวเอง สวดมนต์ หรือว่าทำอะไรที่ทำให้ใจเราอยู่ในตำแหน่งที่ดีๆ ไม่คิดอะไรไปในทางที่ชั่วๆ หรือว่าไปคิดอะไรที่เป็นอกุศล เผื่อว่าถ้าเราตายไปก็จะได้ไปสู่ที่ดี เพราะเราไม่รู้ว่าชั่วขณะใดขณะหนึ่ง เราอาจจะวูบแล้วตายไปเลยก็ได้ โดยเฉพาะเวลาที่เราเดินทางนั่งรถ หรือเวลาที่คิดถึงคนที่เราเกลียด คนที่เป็นเจ้ากรรมนายเวรเรา ตายล่ะไปคิดถึงเขามากๆ ตายไปถ้าไปเกิดเป็นลูกเขาทำไงล่ะ ไม่เอาๆ หยุดคิดๆๆ ก็จะช่วยตัดอกุศลในใจ อันนี้ในแง่ของใจ 

            “ส่วนในด้านของอย่างอื่น อย่างแม่นี่ เราก็จะรู้สึกว่า แม่เขาอยู่ไกล เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะทำให้เขามีความสุขได้ก็ไม่เชิงเป็นเรื่องเงินอย่างเดียว มันเป็นเรื่องแบบไปกอดเขาบ้าง ไปบอกรักเขาบ้าง ซึ่งแต่ก่อนเราไม่เคยทำ พอเราลองทำก็ดีนะ เขาก็แฮปปี้มีความสุข พอเวลาที่กลับไปบ้านแล้วจะกลับมากรุงเทพฯ เราก็จะไปกอด เขาก็จะอวยพรให้ เหมือนเขาก็จะรอ ก็จะรู้สึกว่านี่เราหมดห่วงแล้ว เพราะว่าเราจัดรายการวิทยุ ก็จะมีลูกหลายคนที่พ่อแม่ตายไปแล้วบอกว่าเสียดายไม่ได้ทำนั่นไม่ได้ทำนี่ให้พ่อแม่ เราก็รู้สึกโจทย์นี้เราจบแล้ว เพราะว่าเราก็บอกรักเขา เราก็กอดเขา ทำในสิ่งที่เราคิดว่าเราควรจะทำ ดูแลเขา อันนี้ก็คิดบนพื้นฐานที่ว่า เกิดตายไปแล้วไม่ได้ทำเดี๋ยวเสียใจ หรือถ้าเกิดแม่ตายไป เราไม่ได้ทำ เราจะเสียใจ เราก็ทำของเราไปเต็มที่ อันนี้ก็มีผลจากการที่เรานึกถึงว่า มันไม่แน่ ถ้าตายขึ้นมาใครจะรู้ได้ 

            “หรือตอนที่ไปเข้าคอร์สวิปัสสนาของท่านโกเอ็นกา เราไม่เคยรู้ว่าการนั่งอยู่กับที่หนึ่งชั่วโมงมันจะเจ็บปวดทรมานขนาดนี้ น้ำตาไหลเลย แต่วิปัสสนาคือการมองโดยที่ไม่เอาใจเข้าไปยุ่ง ในคอร์สนี้ก็ทำให้เราเรียนรู้ว่า นี่แค่สถานการณ์สมมติที่เราสร้างขึ้นมาเพื่อให้เราได้เห็นเวทนา เห็นความเจ็บปวด แต่ถ้าเป็นสถานการณ์จริงกับความเจ็บปวดที่มีตามธรรมชาติ เราไม่ได้สร้างขึ้นมา แล้วเราห้ามมันไม่ได้ แล้วเธอจะทำอย่างไร หรือถ้าเกิดเวลาจะตาย เราไม่เคยซ้อมมาก่อนเลย เราก็คงหัวใจกระเจิดกระเจิงไปเหมือนกัน เลยรู้สึกว่าการที่มีโอกาสได้เข้าคอร์สปฏิบัติที่โหดๆ ได้เห็นเวทนา เหมือนเป็นการซ้อมว่าเราไม่รู้ว่าเราจะตายแบบไหน เราจะเจ็บปวดทรมานแค่ไหน อาจจะไม่ได้ถึงขั้นซ้อมใหญ่ แต่อย่างน้อยๆ มันได้ชิมลางว่า เราจะอยู่กับความเจ็บปวดอย่างไร โดยที่ใจเราจะไม่หงุดหงิดมาก เพราะตอนที่ไปครั้งแรกจะหงุดหงิดมาก พอเจ็บปุ๊บก็หงุดหงิด พอหงุดหงิดก็ยิ่งโกรธ มันก็ได้เรียนรู้ ได้เห็นว่าใจกับความหงุดหงิดเป็นสมการที่มีความสัมพันธ์กัน ยิ่งใจหงุดหงิด ความเจ็บก็ยิ่งเพิ่ม แต่ถ้าเกิดเราจัดการใจได้ เวทนาทางกายก็จะเบาบางลง 

            “อันนี้ก็เป็นตัวทำให้เราซ้อมว่า อ๋อ ถ้ามีความเจ็บปวดขึ้นมา หลักการมันมีอยู่ตรงนี้นะ เราได้รู้จักมันแล้วนะ แต่เราก็ไม่รู้หรอกว่า ถ้าเราเกิดเป็นมะเร็งจริง เราจะเอาไหวไหม ก็ต้องไปวัดกันที่ของจริงว่า เราจะทำได้แค่ไหน แต่อย่างน้อยๆ เราได้เรียนรู้วิชาและได้เห็นสถานการณ์สมมติแบบนิดๆ หน่อยๆ ที่จะทำให้เราได้ตระหนักว่า ของบางอย่างต้องรู้ไว้ก่อน ต้องมีโอกาสซ้อมๆ กันบ้างเหมือนกัน เพราะว่าพอไปถึงตอนนั้น ถ้าไม่รู้อะไรเลย หรือว่าไม่เคยซ้อมอะไรเลย มันเอาไม่อยู่ มันไม่ทันไง ซึ่งก็จะเชื่อมโยงได้ว่า ต่อไปถ้าจะตาย เราจะเอาอยู่ไหม เราจะตายอย่างไรไม่รู้ ก็ฝึกไว้ก่อน เหมือนคนจะต้องว่ายน้ำ ถ้าคุณจะไปฝึกตอนที่เรือแตกก็คงไม่ทัน ต้องฝึกตอนนี้ แต่จะว่ายแข็งขนาดไหนไม่รู้ แต่อย่างน้อยๆ คุณก็ว่ายน้ำเป็น 

            “เวลาที่ระลึกถึงความตาย ทำให้เราได้มาสำรวจว่า มีอะไรที่จะเป็นสิ่งค้างคาใจที่ยังไม่ได้ทำ แล้วเวลาที่เราโกรธกับใครไม่พอใจ พอมานึกอีกทีว่า ถ้าเกิดเขาตายไปวันนี้ เราก็คงเสียใจ พอคิดได้อย่างนั้นก็ช่างมันเถอะ ดีกว่ามันตายแล้วกัน มันทำเราแค่นี้ก็ดีกว่ามันตาย ไม่เป็นไรหรอก อันนี้ในกรณีของคนที่เรารัก บางเรื่องที่เราโกรธหงุดหงิด แต่ยังมีเขา ทำให้หงุดหงิด ก็ยังดีกว่าไม่มีเขาหรือเธอทำให้หงุดหงิดอีกแล้ว 

            “การระลึกถึงความตายจึงมีประโยชน์ เพราะถ้าหากเราไม่คิดถึงความตายเลย มันไม่มีใครรู้ว่าความตายจะเป็นอย่างไรไง แล้วถ้าไปเจอความตายเหมือนกับไปเจอคนที่เราไม่รู้จัก แปลกหน้า เราจะสัมพันธ์กับเขาอย่างไรล่ะ อย่างน้อยๆ ก็เหมือนกับเราจะไปดินแดนสักที่หนึ่ง จะไปเที่ยวคุณยังต้องหาข้อมูลเลยว่าพม่าเป็นอย่างไร เขาใช้เงินสกุลไหน อาหารเขาเป็นอย่างไร พูดภาษาอะไรกัน แล้วนี่คือความตายที่จะพาเราไปสู่ภพภูมิใหม่ จะมีจริงหรือไม่มีจริงเราก็ไม่รู้ แต่ถ้ามีจริงขึ้นมาแล้วเราไม่ได้เตรียมล่ะก็แย่เหมือนกันนะ แต่ถ้าเกิดสมมติถึงตอนนั้นมันไม่มีจริง เตรียมไว้ก่อนก็ไม่เสียหาย เพราะฉะนั้นเราก็รู้สึกว่าทำเต็มที่ เตรียมให้เต็มที่ หาข้อมูลบ้าง ทำความรู้จักกับเขาบ้าง เผื่อเจอเขาเร็วกว่ากำหนดที่ควร เราก็จะได้ไม่ตื่นตระหนก ไม่ตื่นเต้นอะไรมากนัก 

            “แต่อันหนึ่งที่คิดเอาไว้ค่อนข้างแน่ก็คือว่า ถ้าเวลาตาย เราอยากจะตายแบบสงบๆ คนเดียว ไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องมีคนที่รักมาห้อมล้อม ไม่ค่อยมีภาพครอบครัว เพราะรู้สึกว่า ถ้าเขาร้องห่มร้องไห้ เราก็คงห่วง หรือถ้าเกิดไม่มีคนร้องไห้ เราก็คงจะเสียใจไปอีกแบบ รู้สึกว่าความตายนี่ ชีวิตหนึ่งก็ตายได้หนเดียว สำหรับเรา ความตายเป็นเรื่องเฉพาะตัวและเป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ เลยอยากตายคนเดียวอย่างสงบๆ ในบรรยากาศที่จะทำให้เราดื่มด่ำกับมันได้นิดหนึ่งว่า ตอนนี้จะตายแล้วนะ รู้สึกว่ามันน่าจะเป็นช่วงเวลาที่ได้อยู่กับตัวเองอย่างจริงจัง อยู่กับความตาย ได้มีเวลาที่จะพิจารณาชีวิตนิ่งๆ สบายๆ ไหนๆ ก็เป็นคนสบายๆ อยู่แล้ว เวลาจะตายก็ขอแบบสบายๆ ไม่รีบไม่ร้อน แล้วก็ไม่ต้องมาฟูมฟายอะไรมากมาย ไม่ต้องมาจับไม้จับมือก็ได้ อยู่คนเดียว นี่คือความตายในภาพที่คิดนะ”

 

 

คอลัมน์:

ผู้เขียน: