Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

โรคพุ่มพวง กับชีวิตที่ไม่ห่วงอะไรอีกแล้วของคุณต้อย ณัทยา

-A +A

          ไม่น่าเชื่อว่า ผู้หญิงวัยกลางคนที่นั่งอยู่ข้างหน้าตรงนี้ เมื่อหลายเดือนก่อน จะป่วยหนักจนแพทย์แผนปัจจุบันถึงกับเอ่ยปากว่า ธาตุไฟของเธอแตก ระบบอวัยวะภายในไปหมดแล้ว

          “ปวดบวมตามร่างกาย ปวดตามข้อแล้วก็บวม เหมือนเราจะมีไข้ เดินไม่ไหว พี่ที่ออฟฟิศเลยพาไปส่งโรงพยาบาล เพราะไม่น่าจะไหวแล้ว เราก็บอกหมอว่า ขอให้ตรวจโรคนี้ (เอสแอลอี) ไปเลย หมอก็ตรวจเลือด พอกลับจากโรงพยาบาลก็มาพัก มันหมดความรู้สึก แล้วก็สลบไปเลย ๑๐ กว่าชั่วโมง”

          คุณต้อย หรือ ณัทยา เกตุทอง รู้ตัวว่าป่วยเป็นโรคเอสแอลอีขั้นรุนแรง เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๕๗ หลังจากที่เธอถูกพาส่งโรงพยาบาลในครั้งนั้น

          ... 

          เอสแอลอี หรือที่คนไทยรู้จักกันในนาม “โรคพุ่มพวง” คือโรคแพ้ภูมิตัวเอง อาการหลักๆ คือ เม็ดเลือดขาวต่ำ เกร็ดเลือดต่ำ ปวดบวมตามข้อ และติดเชื้อ เกิดการอักเสบได้ง่ายมาก ก่อนหน้านี้ เธอเคยสงสัยอยู่เนืองๆ ว่าตัวเองจะเป็นโรคนี้ เพราะไม่สบายบ่อยๆ ทุกครั้งที่ตรวจสุขภาพประจำปี เม็ดเลือดขาวของเธอจะต่ำกว่าเกณฑ์อยู่เสมอ อีกทั้งพี่สาวสองคนของเธอก็เสียชีวิตไปด้วยโรคนี้เมื่อหลายปีก่อน เธอเคยขอให้หมอตรวจหาโรคเอสแอลอี แต่ตอนนั้นหมอยังตรวจไม่ได้ บอกว่าต้องมีองค์ประกอบหลายอย่างถึงจะตรวจเจอ

          “ตกใจเหมือนกันนะคะ คือตอนนั้นมันห้าสิบ-ห้าสิบ แต่พอคุณหมอบอกก็จิตตกไปนิดหนึ่ง นั่งน้ำตาไหลเหมือนกัน เพราะว่ามันหลายอย่าง คิดถึงพี่สาว ๒ คนที่เสียไป ลูกเขายังเล็กอยู่ เราก็ลูกเล็กเหมือนกัน แล้วก็คิดถึงแม่ กลัวแกเสียใจ เราก็จิตตกไปประมาณ ๒-๓ ชั่วโมง นั่งกินกาแฟ กินช็อคโกแลตไป แล้วก็บอกหลานว่า ไม่เป็นไร ดีกว่าถูกรถชนตาย ยังมีเวลาอีกตั้งเยอะ ดีกว่าเป็นมะเร็งระยะที่ ๓ ยังพอมีเวลาเตรียมตัว”

          ... 

          การที่คุณต้อยทำใจได้เร็วขนาดนี้ เธอบอกว่าอาจเป็นเพราะเธอเคยผ่านมรสุมร้ายๆ ในชีวิตมามากมาย และมีธรรมะเป็นที่พึ่งทางใจ 

          “เราอาจจะเคยปฏิบัติธรรม ก็เลยคิดว่าเรื่องนี้มันอยู่กับตัวเราตลอด ความตายคือเรื่องที่ต้องเจอไม่ช้าก็เร็ว เกิด แก่ เจ็บ ตาย ยังไงก็หนีไม่พ้น เลยไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่คิดว่ายังโชคดีที่เรารู้ก่อน จะได้เตรียมตัว ยังมีเวลาที่จะทำอะไรได้อีกนิดหน่อย ถ้าเราถูกรถชนตายไป เราจะไม่มีเวลาที่จะทำอะไรเลย” 

          โรคเอสแอลอีเป็นโรคที่รักษาไม่หาย ผู้ป่วยต้องใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังมาก ไม่มีใครบอกได้ว่า อาการจะกำเริบเมื่อไหร่ หรือจะทรุดไปเลยเมื่อไหร่ ซึ่งคุณต้อยเคยเห็นตัวอย่างจากพี่สาวทั้งสองคนมาแล้ว

          “ช่วงที่อาการหนักๆ เราจะทำอะไรไม่ได้เลย แต่พอดีขึ้นก็จะเริ่มสวดมนต์ นั่งสมาธิ... ถือว่าช่วยได้เยอะมาก แล้วก็ทำตามที่คุณหมอบอก เช่น ออกกำลังกาย ทุกวัน แล้วพักผ่อนห้ามต่ำกว่า ๘ ชั่วโมงนะ แล้วก็ห้ามเครียด โดยเฉพาะยา ขาดไม่ได้เลยแม้แต่เม็ดเดียว

          “โรคนี้จะโดนแดดก็ไม่ได้ โดนแดดจัดๆ ก็จะไปเลย จะไปที่แออัดก็ไม่ได้ อาจจะติดเชื้อได้ง่าย ไปเยี่ยมผู้ป่วยที่ติดเชื้อหรือไปงานศพผู้ติดเชื้อก็ไม่ได้ จากชีวิตที่เราทำอะไรได้ปกติก็จะบีบลง” 

          แต่คุณต้อยไม่ได้คิดน้อยใจในโชคชะตา เธอกลับมองความเจ็บไข้ของเธอไปในทางบวก 

          “ตอนนี้คิดอย่างเดียวว่า ดีนะที่เป็น เพราะว่าจะได้ทำแต่บุญกุศล แล้วก็จะได้ไม่ต้องไปคิดร้ายอะไรกับใคร ปล่อยวางได้หลายเรื่อง เพราะเราไม่รู้ว่าจะไปเมื่อไหร่ เราก็หมั่นเก็บบุญกุศลของเราไว้ แล้วรอวันอย่างเดียว วันไปจะได้ไปสงบ ก็ปฏิบัติไปเรื่อยๆ เรื่องความโกรธ ความโมโห หรืออะไรพวกนี้ก็ปล่อยวางได้เยอะ ยิ่งทรัพย์สมบัติเงินทองก็ปล่อยได้ ปล่อยวางได้” 

          ...

          เอสแอลอียังทำให้คุณต้อยใช้ชีวิตด้วยความประมาทน้อยลงด้วย เธอบอกว่าถ้าหากยังสบายดีอยู่ อาจจะเผลอไปทำชั่วทำเลวก็ได้ แล้วก็จะสะสมบาปไปเรื่อยๆ แต่การที่ความตายอยู่ใกล้กับเธอตลอดเวลา ไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไหร่ ทำให้เธอได้คิดและใช้เวลาที่เหลืออยู่เตรียมตัวตายในทุกๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องสำคัญ คือลูกสาวคนเดียวที่อยู่กับเธอมาตลอดตั้งแต่แยกทางกับสามี

          “ตอนนี้ เราทำพินัยกรรมไว้ให้ลูก ว่าถ้าเราจากไป เขาจะอยู่ยังไง ใครจะเป็นคนดูแลเขา แล้วก็เรื่องของการศึกษา เขาจะได้เงินมาจากไหน เราจะเตรียมไว้ให้หมดว่า เขาจะได้อะไรบ้างตอนที่เราเสียไปนะคะ ทำไว้ให้เสร็จ แล้วก็จะสอนเขาว่าการจากการพรากกันเป็นเรื่องปกติ ลูกรู้ ก็บอกว่าเกิดมาก็ต้องจากกันนะ เพราะอย่างนี้ๆ แม่เป็นโรคนี้นะ ก็จะบอกเขา เขาก็ค่อนข้างเข้าใจ”

          “ส่วนคุณแม่ก็ลูกเยอะ พี่น้องก็จะเป็นคนดูแลให้ เราปลอบท่านเรียบร้อยแล้ว ตอนแรกอาจจะมีฟูมฟาย ร้องไห้ เพราะว่าลูกเสียไป ๒ คนแล้ว แต่ทีนี้ พอเห็นเราเข้มแข็ง ท่านก็เข้มแข็งไปด้วย” 

          แม้กระทั่งหนังสืองานศพ คุณต้อยก็เตรียมตัวเขียนเรื่องการปฏิบัติธรรมของตัวเอง ว่าได้อะไรบ้าง เจออะไรบ้าง เพื่อให้นำไปพิมพ์ในหนังสือธรรมะแจกในงานศพของเธอเอง 

          …

          ด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง ทำให้เธอกลายเป็นคนที่ต้องคอยปลอบโยนญาติมิตร เวลาที่พวกเขาร้องไห้โศกเศร้ากับโรคร้ายที่เธอเป็น และยังเป็นคนคอยเตือนให้พวกเขาไม่ประมาทกับชีวิต

          “อย่างน้องๆ ที่ทำงาน ก็จะบอกให้รีบทำบุญ อย่าผัดวันประกันพรุ่ง อะไรที่ดีที่คิดว่าดีให้รีบทำ ถ้าเกิดวันนี้ตายไป พรุ่งนี้จะได้ใส่บาตรมั้ย จะได้ทำบุญมั้ย เขาก็เปลี่ยนความคิด ดูเราเป็นตัวอย่าง หมั่นไปทำบุญของเขาทุกวัน ทำดีกับพ่อแม่”

          แม้กระทั่งในวาระสุดท้ายของชีวิต เธอยังเลือกที่จะไม่รับการรักษาแบบยื้อชีวิต ที่จะทำให้เธอต้องทรมานจากการใส่ท่อระโยงระยาง

          “เขาจะมีหนังสือแสดงเจตจำนงฯ ก็แอบทำไว้ แล้วบอกญาติพี่น้อง บอกทุกคนไว้แล้วว่า ห้ามเด็ดขาด ห้ามมาเจาะ ห้ามมาอะไร ถ้าเกิดรู้ว่ารักษาไม่ได้ คือ มันระยะสุดท้ายแล้ว เราขอไปอย่างสงบ ให้เรามีสติถึงสุดท้าย เพราะบางทีถ้าเราเจ็บปวดมากๆ สายระโยงระยางเจาะ เราไม่รู้ว่าเราจะมีสติหรือเปล่าตอนไป”

          ในด้านวัตถุ คุณต้อยไม่ห่วงอะไรอีกแล้ว เหลืออยู่สิ่งเดียวเท่านั้นที่เธอยังเป็นห่วงอยู่ในขณะนี้ นั่นคือ จิตในขณะที่กำลังจะตาย 

          “อาจจะเป็นห่วงนิดหนึ่งตรงที่ได้เคยปฏิบัติธรรม แล้วก็อ่านหนังสืออย่างเช่นว่า ตอนที่จะไปจริงๆ จิตจะเป็นยังไง ถ้าจิตเรายังห่วงหรือว่ากังวลหรือจะเจ็บป่วยหรืออะไรอย่างนี้ เราก็จะไม่ได้ไปดี อาจจะเป็นห่วงตรงนั้นเล็กๆ อยู่ว่า ถ้าเกิดร่างกายมันทรมานมากๆ เราจะยึดติดกับร่างกายมั้ย หรือจะปล่อย แต่ตอนนี้ยังพอมีเวลาปฏิบัติอยู่ คิดว่าน่าจะทำได้ น่าจะปล่อยวางได้” 

          ...

          แม้จะไม่สามารถไปวัดปฏิบัติธรรมได้อย่างที่เคยปฏิบัติมาในอดีตอีกต่อไป แต่เธอพยายามสวดมนต์ นั่งสมาธิอยู่ที่บ้านทุกเวลาที่มีโอกาส เพื่อการจากไปโดยสงบอย่างแท้จริงในวาระสุดท้ายของชีวิต

          “ต้องบอกเลยว่าโชคดีจริงๆ ที่เจอธรรมะ สิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตตอนนี้บอกเลยว่า คือ เราได้เจอศาสนาพุทธ ได้ปฏิบัติธรรม จริงๆ แล้ว...เราถึงอยากนิพพานก่อน อยากฝึก อยากปฏิบัตินิพพาน แต่เรารู้เลยว่าชาตินี้เราทำไม่ได้แน่ แล้วก็ไม่ได้ห่วงว่า หลังตายไปแล้วจะเป็นยังไงนะคะ คืออยู่กับปัจจุบัน เราคิดว่าถ้าปัจจุบันเราทำดีแล้ว เราคงไม่ไปอบายภูมิหรอก คิดว่าเราก็ปฏิบัติให้ดีที่สุด คือสูงสุดในชีวิตเท่าที่จะทำได้” 

          “บางทีตอนนี้เวลานอนหลับก็คิดไว้ก่อน พรุ่งนี้อาจจะไม่ได้ตื่นนะ ก็ฟังซีดีธรรมะของหลวงพี่ไพศาล (วิสาโล) ขับรถไปก็ฟัง ท่านจะบอกว่าให้คิดว่าเป็นวันสุดท้าย ลองฝึกจิตดูว่าถ้าเราตายไป ณ ตอนนี้ นี่คือการนอนครั้งสุดท้าย ก็พยายามฝึกอยู่”

 

คอลัมน์:

บุคคลสำคัญ: