Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

เมื่อกลิ่นเหล้าจาง

-A +A

          ภาพของลุงป้าที่จับคู่กันอยู่ในห้องผู้ป่วยสามัญ คนหนึ่งนอนป่วยบนเตียง อีกคนก็อยู่โยงเฝ้าไข้อย่างโดดเดี่ยวไร้ลูกหลานญาติมิตร น่าจะเป็นภาพที่พบเห็นได้ไม่ยาก มีบางคู่อยู่กันจนตายพรากจากกัน คนที่เหลือบางครั้งจะถือห่อผ้าบรรจุเถ้าอัฐิเดินมาร่ำลาทีมแพทย์และพยาบาลพร้อมการขอบคุณเป็นครั้งสุดท้าย นี่เป็นภาพที่คุ้นเคยสำหรับโรงพยาบาล ม.อ. ศูนย์รวมการรักษามะเร็งของจังหวัดภาคใต้ตั้งแต่อ่าวบ้านดอนจรดชายแดนมาเลเซีย

           เช่นเดียวกับป้าดาและลุงรินทร์ ป้าดาเป็นมะเร็งปากมดลูกระยะสุดท้าย มีลุงรินทร์เฝ้าไข้อย่างโดดเดี่ยวมาร่วมเดือน อาการของป้าดาทรุดหนักลงทุกวันเพราะมะเร็งได้ลามกระจายไปทั้งร่าง ถึงขั้นโคม่าสติฟั่นเฟือน ส่วนลุงรินทร์ระยะหลังก็เริ่มย่ำแย่ลงไม่แตกต่างกัน เพราะแกหันไปพึ่งเหล้า จากที่ดื่มพอคลายกลุ้มก็เพิ่มดีกรีเมาหนักขึ้นทุกวัน จนกลิ่นเหล้าคลุ้งมาแต่ไกล เป็นที่หนักอกหนักใจของทีมแพทย์และพยาบาลในหอผู้ป่วย 

           กรณีของป้าดาการรักษาทำได้เพียงการเยียวยาตามอาการของโรค เพราะป้าดาโคม่าขาดสติไม่สามารถสื่อสารบอกเล่าความต้องการ ส่วนลุงก็เอาแต่เมา จึงเป็นธรรมดาที่ทีมแพทย์และพยาบาลจะดูแลรักษากันไปตามหน้าที่ จนดูเหมือนป้าดากลายเป็นคนไข้ตกสำรวจขาดการใส่ใจเป็นพิเศษ แต่ที่น่าเวทนาก็คือ ป้าดาแม้จะโคม่าขาดสติ ชีวิตเหลือเวลานับถอยหลัง แต่กลับดิ้นทุรนทุรายหนักขึ้นทุกวัน มือเท้าเหยียดเกร็งจนต้องถูกมัดตรึงกับราวเหล็กรอบเตียง คงเป็นเพราะป้าดามีเรื่องวุ่นวายที่ถูกเก็บกดอยู่ภายในใจ 

           กรณีของป้าดาและลุงรินทร์อยู่ในความรับรู้ของคุณฟ่ง ซึ่งเวลานั้นเธอเพิ่งเริ่มหันมาสนใจช่วยเหลือผู้ป่วยหนักระยะสุดท้ายได้ไม่นาน คุณฟ่งสังเกตว่า แม้ลุงป้าคู่นี้จะอยู่เคียงข้างกันตลอดเวลา แต่ดูเหมือนทั้งคู่จะขาดปฏิสัมพันธ์ ไม่มีสัมผัส ไม่มีการพูดคุยสื่อสาร ป้ายิ่งดิ้นรน ลุงก็ยิ่งกลัดกลุ้มต้องดื่มเหล้าเพิ่ม หรือคิดในทางกลับกัน กลิ่นเหล้ายิ่งแรง ป้าก็ยิ่งเพิ่มแรงทุรนทุราย จนดูเหมือนว่านี่จะไม่ใช่การเฝ้าไข้ปกติเสียแล้ว แต่เป็นการทำสงครามที่ทั้งคู่ถาโถมความทุกข์ใส่กันโดยไม่รู้ตัวมากกว่า ภาพและกลิ่นเหล้าที่ชวนหดหู่ของลุงป้าคู่นี้ ได้ขยายกำแพงที่มองไม่เห็นขวางกั้นป้าดาจากทีมแพทย์พยาบาลโดยไม่รู้ตัว เพราะมีแต่ภาพที่ชวนหดหู่สิ้นหวัง

           และวันหนึ่งคุณฟ่งตัดสินใจเข้าหาให้เวลากับลุงป้าคู่นี้ “พี่เข้าไปโดยไม่ได้คาดหวัง ลองดูด้วยความสงสาร คิดถึงตอนที่ตัวเองโคม่าอยู่เจ็ดวัน พี่รับรู้ได้ยินเสียงรอบตัวทั้งหมด พี่จึงคิดว่าป้าดาน่าจะมีญาณรับรู้ สังเกตจากอาการทุรนทุรายที่รุนแรงมากขึ้น คงจะมีสาเหตุ” คุณฟ่งเข้าไปคุยทักทายลุงรินทร์ แกตอบไม่ค่อยรู้เรื่อง อาจด้วยเพราะเมาได้ที่หรือรำคาญขี้เกียจตอบก็เป็นได้ คุณฟ่งจึงหันไปคุยกับป้าดาแทน ถามไถ่อาการ สัมผัสตัวบีบนวดทำเสมือนป้าดายังมีสติรับรู้โต้ตอบได้ ลุงรินทร์ทนไม่ได้ก็โพล่งขึ้นว่า “คุณพยาบาลคุยไปทำไม ป้าแกไม่รู้เรื่องแล้ว” 

           คำพูดที่หลุดจากปากลุงรินทร์นี้สำคัญ เพราะเท่ากับลุงได้เปิดใจสื่อสารกับคุณฟ่งแล้ว คุณฟ่งจึงไม่ปล่อยโอกาสหลุดลอยรีบสานต่อทันที “ลุงรู้ได้อย่างไรล่ะว่าป้าแกไม่รู้เรื่อง ป้ายังรับรู้ได้ทุกอย่างนะ เพียงแต่ป้าป่วยหนักจนพูดไม่ได้เท่านั้น ฉันว่าป้ารู้ด้วยว่าลุงเมาเหล้ามาหลายวันแล้ว ไม่เชื่อลุงมาลองคุยกับป้าดูสิ ป้ายังรู้เรื่องอยู่” คุณฟ่งตั้งใจพูดท้าทาย

           คุณฟ่งใช้เวลาอยู่ไม่น้อยกระเซ้าท้าทายลุงรินทร์หลายรอบ และท้ายที่สุดก็ดูเหมือนได้ผล ลุงรินทร์ลุกขึ้นมาข้างเตียง คุณฟ่งบอกลุงให้กุมมือป้าไว้แล้วลองคุยกับป้าดู

           ลุงรินทร์ยอมทำตามโดยปราศจากความเชื่อมั่น “นี่ ฉันอยู่นี่นะ ฉันไม่เคยไปไหนเลย ได้ยินฉันไหม”

           ไม่มีปฏิกิริยาตอบจากป้าดา อาการกระสับกระส่ายยังคงเดิม คุณฟ่งยังยืนยันให้ลุงรินทร์พูดกับป้าต่ออีก 

           “นี่ฉันเอง ฉันอยู่นี่แล้วนะ ฉันอยู่นี่ตลอดเลยแหละไม่เคยทิ้งแกไปไหนเลย อยู่ข้างๆ แกนี่แหละไม่เคยไปไหน”

           ลุงรินทร์หันมามองหน้าคุณฟ่ง ด้วยสีหน้าตำหนิอย่างผู้มีชัย เพราะลุงเชื่อว่าป้าดาไม่มีทางรู้เรื่องอะไรอีกแล้ว ไม่พูดไม่จาเอาแต่ดิ้นทุรนทุรายมาเป็นอาทิตย์ๆ แล้ว แต่ทันใดนั้นเอง คุณฟ่งก็ชี้ให้ลุงรินทร์ดูที่ขอบดวงตาของป้า มีน้ำตานองเบ้าและยังไหลเป็นทางอย่างชัดเจน ลุงจ้องมองสายน้ำตาของป้าอย่างไม่เชื่อสายตาตัวเอง ยิ่งกว่านั้น ลุงรินทร์ยังสัมผัสได้ถึงมือป้าดาไขว่คว้าอย่างมีเป้าหมาย ตั้งใจจะบีบที่มือของลุงรินทร์ 

           นี่เป็นสัญญาณการสื่อสารครั้งแรกที่ลุงรินทร์ได้รับจากป้าดาในรอบหลายสัปดาห์ แกดีใจอย่างลิงโลด เพราะแกรู้สึกตลอดเวลาว่าป้าคล้ายจะจากไปแล้วในความรับรู้ แต่สัญญาณที่เกิดขึ้นเท่ากับว่าป้ายังอยู่ ยังมีสติรับรู้สมบูรณ์ และสามารถโต้ตอบตามกำลังที่เหลืออยู่

           “เพราะลุงเอาแต่เมา ป้าจึงไม่รู้จะบอกกับลุงอย่างไรนะสิ ที่ป้ากระสับกระส่ายหนักขึ้นเพราะห่วงสุขภาพลุงที่เอาแต่กินเหล้านี่แหละ ไม่รู้หรือ” คุณฟ่งอาศัยจังหวะนี้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลุงในทันที

           “ครับ ครับ ผมเลิกกินเหล้าแล้ว ผมสัญญา นี่ป้าฉันสัญญานะว่าฉันจะเลิกกินเหล้าเด็ดขาด เชื่อคำพูดฉันได้” ลุงรินทร์รับปากคุณฟ่งพร้อมกับสัญญากับป้าดาโดยไม่ต้องรอคำแนะนำ 

           ลุงรินทร์เปลี่ยนไปเป็นคนละคน เหมือนจะสลัดฤทธิ์แอลกอฮอล์ที่ค้างในเลือดทิ้งแทบจะทันที แกเริ่มเล่าความทุกข์ให้คุณฟ่งฟังเหมือนการสารภาพบาป เล่าถึงความทุกข์ในชีวิต ที่ต้องดิ้นรนรับจ้างกรีดยางกันสองคน จนวันหนึ่งป้าดามาล้มป่วย ต้องพากันมารักษาจนสิ้นเนื้อประดาตัว อาชีพรับจ้างกรีดยางต้องหยุด ลุงรินทร์เล่าถึงลูกชายคนเดียวที่โตเป็นหนุ่มทำงานอยู่กรุงเทพ ฯ มีกำหนดอีกห้าวันจะลงมาเยี่ยมแม่ ไม่รู้ว่าป้าดาจะอยู่ถึงหรือเปล่า 

           คุณฟ่งสงบรับฟังเรื่องราวชีวิตของลุงป้าคู่นี้ ที่ต้องต่อสู้คู่กันมาตลอดชีวิต นานหลายนานกว่าเรื่องราวจะปลดปล่อยออกมาจนหมด นี่เป็นความทรงจำที่ลุงเก็บมาครุ่นคิดแกล้มเหล้าอยู่คนเดียวตลอดหลายสัปดาห์ และเป็นครั้งแรกที่ได้ปลดเปลื้องให้บุคคลภายนอกรับรู้ เมื่อลุงเล่าจนโล่งใจจนดูเหนื่อยไม่น้อย คุณฟ่งสังเกตเห็นอาการกระสับกระส่ายของป้าดาได้ผ่อนคลายลงด้วย เธอจึงแนะนำให้ลุงรินทร์ไปอาบน้ำชะล้างกลิ่นเหล้าและความหมักหมมทั้งทางกายและใจให้หมด แล้วค่อยมาอยู่เฝ้าไข้ป้าดา คุณฟ่งยังแนะนำว่า ให้ลุงคอยพูดคุยให้กำลังใจป้าดาให้ต่อสู้อยู่ต่ออีกห้าวัน รอเวลาลูกชายกลับมาทันดูใจเป็นครั้งสุดท้าย 

           ..................................

           วันรุ่งขึ้นที่เตียงป้าดา กลิ่นเหล้าจางหายไปไม่เหลือร่องรอย ลุงรินทร์เปลี่ยนไปเป็นคนละคน และไม่น่าเชื่อป้าดาก็ดูสงบ มือเท้าปล่อยวางข้างกายอย่างผ่อนคลาย มันเหมือนการสลับฉากจากวันวานเป็นหนังคนละม้วน จนทีมแพทย์พยาบาลต่างไม่เชื่อในสายตา ทุกคนแปลกใจต้องเดินมาดูกันราวจะเกิดเหตุการณ์สำคัญ และแน่นอนเวลาที่เหลือห้าวันสุดท้ายของชีวิตป้าดาทุกนาทีมีค่ายิ่ง ภาพของลุงที่กุมมือป้าคอยบีบนวด บทสนทนาพูดคุยที่คอยให้กำลังใจมีเป็นระยะ แม้ว่าจะเป็นการสื่อสารโดยคำพูดเพียงฝ่ายเดียวก็ตาม 

           เมื่อถึงวันที่ห้า การปรากฏกายของลูกชายที่หนุ่มฉกรรจ์ และแทบจะเป็นจังหวะเดียวกันที่ความดันเลือดและสัญญาณชีพจรของป้าดาก็เริ่มลดระดับลงพร้อมๆ กัน ป้าดาได้ใช้กำลังเฮือกสุดท้ายต่อสู้รอการกลับมาของลูกชาย เมื่อพร้อมหน้าป้าดาก็ปลดปล่อยทุกสิ่งให้คลี่คลายตามธรรมชาติ จนกระทั่งถึงเวลาแห่งลมหายใจเฮือกสุดท้าย และสัญญาณชีพจรอ่อนลงจนหยุดนิ่ง ไม่มีความทุรนทุรายหลงเหลือ มีแต่ความสงบ สัมผัสได้ถึงจิตใจที่อิ่มเอิบ เป็นการตายที่สมบูรณ์แบบและงดงาม

           และที่สำคัญ ป้าดาและลุงรินทร์คือผู้หยิบยื่นความสำเร็จครั้งแรกแก่คุณฟ่ง ในภารกิจนำพาคนไข้ระยะสุดท้ายให้สิ้นลมอย่างสงบและงดงาม ความตายของป้าดา ได้ยืนยันถึงความเป็นไปได้ที่จะปรับเปลี่ยนจากสภาพของความสิ้นหวัง จากอาการกระสับกระส่ายดิ้นรน ให้คลายคืนสู่ความสงบ รอคอยเวลาของความตายอย่างไม่ทุกข์ทรมาน และถึงที่สุดสามารถก้าวข้ามสู่ภพภูมิใหม่อย่างงดงาม 

           คุณฟ่งไม่เคยลืมเลือนเรื่องราวของป้าดากับลุงรินทร์ ผู้มาพร้อมกลิ่นเหล้า และเมื่อกลิ่นเหล้าจางหาย ผลลัพธ์ที่ติดตามมาคือความตายที่สงบและงดงามของป้าดา เรื่องราวทั้งหมดได้หยิบยื่นความมั่นใจและกำลังใจที่สำคัญและมีค่ายิ่งกับคุณฟ่ง ที่จะก้าวเดินต่อไปในภารกิจที่รับปากไว้ในนิมิตประหลาดกับคณะยมทูตทั้งห้า 

 

 

จากหนังสือ “เพื่อรอยยิ้ม เมื่อสิ้นลม” เขียนโดย สง่า ลือชาพัฒนพร 
จากประสบการณ์ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของกานดาวศรี ตุลาธรรมกิจ
อาทิตย์อัสดง ขอนำมาตีพิมพ์เพื่อให้เผยแพร่ในวงกว้างยิ่งขึ้น

 

 

คอลัมน์: