Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

ความตายบนท้องถนนของคนไร้บ้าน

-A +A

          “คนไร้บ้าน” เป็นปรากฏการณ์ของความเปลี่ยนแปลงทางสังคม จากการเคลื่อนย้ายแรงงานภาคการเกษตรในชนบทเข้าสู่ภาคอุตสหากรรมในเมืองใหญ่ จนเกิดการกระจุกตัวกลายเป็นชุมชนแออัด และวิวัฒนาการต่อมาเป็นคนไร้บ้านในที่สุด โดยเริ่มจากประเทศต้นแบบอุตสาหกรรมอย่างเช่น ยุโรป หรืออเมริกา ก่อนขยายตัวไปสู่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของมหานครที่พบเห็นได้ทั่วไป ที่นับวันจะกลายเป็นปัญหา และเริ่มได้รับความสนใจใคร่ทำความรู้จักมากขึ้น

          แต่เชื่อหรือไม่ ที่สหรัฐอเมริกาเองเพิ่งเริ่มให้ความสนใจศึกษาประสบการณ์ในช่วงสุดท้ายของชีวิตคนไร้บ้านและกลุ่มคนชายขอบต่างๆ เมื่อไม่นานมานี้เอง เนื่องจากเป็นกลุ่มประชากรที่นับวันจะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และมีความเสี่ยงในเรื่องการตายมากที่สุด คนไร้บ้านในเมืองใหญ่ๆ ของสหรัฐฯ เช่น แอตแลนตา ซานฟรานซิสโก หรือซีแอตเติล มีอายุเฉลี่ยแค่ ๔๐-๔๗ ปี เพราะพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงระบบการดูแลสุขภาพ ขาดทรัพยากรและความสัมพันธ์ที่จำเป็นต่อการดูแลอย่างเหมาะสมในระยะสุดท้ายของชีวิต 

          จึงมีคณะวิจัยเข้าไปสำรวจความต้องการและความกังวลของกลุ่มคนไร้บ้านต่อการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยใช้กระบวนการสนทนากลุ่ม (focus group) ของคนไร้บ้านจำนวน ๕๓ คนที่คัดเลือกมาจากหน่วยบริการคนไร้บ้านในเมืองมินเนอาโปลิส และเซนต์พอล รัฐมินเนโซตา ซึ่งมีอายุเฉลี่ย ๔๗ ปี ในสามประเด็นหลัก ได้แก่ เรื่องส่วนบุคคล เรื่องความสัมพันธ์ และเรื่องสิ่งแวดล้อมของการดูแลในระยะสุดท้ายของชีวิต 

          จากการศึกษาพบว่า คนไร้บ้านมีประสบการณ์ส่วนตัวและความรู้สึกเกี่ยวกับความตายและการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแตกต่างจากประชากรกลุ่มอื่นเป็นอย่างมาก กล่าวคือ

          เรื่องส่วนบุคคล คนไร้บ้านล้วนมีประสบการณ์ที่เลวร้ายและน่ากลัวต่อการป่วยหนักและความตายของคนที่รัก คนรู้จัก หรือของตนเองอย่างต่อเนื่อง รวมถึงตระหนักว่าการดูแลในระยะสุดท้ายอยู่เหนือการควบคุมของผู้ป่วยและครอบครัว เช่น "อีกแค่สองสัปดาห์ แม่จะมีอายุ ๙๔ ปี แต่ท่านต้องมาจากไปเสียก่อน แม่ถูกบังคับให้เข้าไปในสถานดูแลผู้สูงอายุ ต้องสูญเสียอิสรภาพ" และไม่ตอบสนองต่อความทุกข์ของพวกเขาอีกด้วย "เมื่อเขากำลังจะตาย...ในชั่วโมงสุดท้ายของชีวิต เขาปวดมาก ฉันทำได้แค่ขอให้หมอทำอะไรสักอย่างกับความปวดของเขา แต่พวกหมอไม่เคยทำ" จึงทำให้คนไร้บ้านมีทัศนคติไม่ดีต่อการแทรกแซงต่างๆ ไม่ว่าจะมาจากใคร เพราะกลัวจะสูญเสียการควบคุมไป 

          คนไร้บ้านมีความกลัวและความไม่แน่ใจหลายอย่างคล้ายๆ กับคนมีบ้าน เช่น "ไม่ต้องยืดชีวิตฉัน ฉันไม่ต้องการจะนอนเป็นผัก..." แต่สาเหตุของความกลัวดังกล่าวมาจากความอ่อนแอ และความรู้สึกไร้ศักดิ์ศรีของการไม่มีบ้านปะปนกัน พวกเขายังกลัวว่าจะต้องตายโดยไม่มีใครรู้จัก ไม่มีใครพบ สังเกตและจดจำ รวมถึงเรื่องราวหลังการตาย เช่นการจัดการกับร่างกาย พวกเขาเชื่อว่าร่างกายของคนไร้บ้านจะถูกเผาอย่างปกปิด หรือถูกใช้ทดลองทางการแพทย์อีกด้วย

          แต่นอกจากความกลัวและความรู้สึกเลวร้ายต่างๆ ที่ต้องเผชิญแล้ว คนไร้บ้านก็ยังมีความปรารถนาและความหวังที่หลากหลายไม่ต่างจากคนมีบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการกลับไปคืนดีกับคนที่รัก หรือหลีกเลี่ยงการถูกแทรกแซง คนไร้บ้านส่วนใหญ่แค่อยากได้รับความเห็นอกเห็นใจจากทุกคนในเวลาตาย ที่น่าสนใจคือ พวกเขาต้องการให้ควบคุมอาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งความปวด ซึ่งไม่แตกต่างจากคนทั่วไปเลย และที่สำคัญคือ พวกเขาต้องการได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพ

          มิติทางด้านจิตวิญญาณและศาสนาเป็นอีกวิธีหนึ่งในการแสวงหาความสุขและคำปลอบประโลมใจเมื่อต้องเผชิญกับความตาย แม้ความตายทางกายภาพจะเป็นเรื่องเฉพาะตัว แต่ศาสนาทำให้เชื่อว่าดวงวิญญาณของคนไร้บ้านอย่างพวกเขาจะไม่โดดเดี่ยว

          ความสัมพันธ์เป็นเรื่องที่ซับซ้อนและเปราะบาง คนไร้บ้านบางคนมองว่าการตายเป็นโอกาสสำหรับการคืนดี แต่ผู้เข้าร่วมการวิจัยส่วนใหญ่ไม่ต้องการติดต่อกับครอบครัวในขณะที่กำลังจะตายหรือหลังจากตายไปแล้ว เพราะรู้สึกว่า ครอบครัว "ทอดทิ้ง" พวกเขา และไม่มีสิทธิจะเรียกร้องความสัมพันธ์ หรือมีอำนาจต่อการตายของเขา แม้กระทั่งการมีอำนาจตัดสินใจแทน ในขณะที่บางคนกลัวว่า ครอบครัวจะไม่เห็นใจพวกเขา แต่มีหลายคนที่ไม่ต้องการเป็นภาระให้กับครอบครัว ทั้งในด้านอารมณ์ความรู้สึกหรือการเงิน ตลอดจนกลัวว่าจะเปิดเผยสถานะความเป็นคนไร้บ้านของพวกเขา และท้ายที่สุด หลายคนได้พบเพื่อนและหน่วยงานที่ไว้วางใจได้ให้ตัดสินใจแทนเมื่อใช้ชีวิตบนท้องถนนอยู่แล้ว

          แต่โดยมาก สังคม รวมถึงตำรวจ ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ และเจ้าหน้าที่หน่วยบริการสังคม มักปฏิบัติต่อคนไร้บ้านอย่างปราศจากความเคารพหรือเห็นใจ พวกเขาได้รับบริการอย่างเชื่องช้าและเลวร้ายที่ศูนย์ดูแลสุขภาพ และรู้สึกว่าระบบบริการสังคมทอดทิ้งพวกเขา มีเพียงผู้ให้บริการจำนวนน้อยที่มีความเห็นอกเห็นใจพวกเขา 

          สิ่งแวดล้อมในการดูแล ทัศนคติผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพถูกอ้างถึงมากที่สุดว่าเป็นอุปสรรคต่อการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ดี รองลงมาคือ การดูแลเข้าไม่ถึงหรือไม่เหมาะสมเพียงพอ เพราะขาดเงิน ความยากจน และอคติเกี่ยวกับคนไร้บ้าน เช่น การไม่ใช้ยาแก้ปวด (จำพวกมอร์ฟีน) เพราะความกลัวว่าจะถูกนำไปใช้อย่างผิดๆ เป็นต้น

          ถ้าจะยกระดับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในกลุ่มคนไร้บ้าน ผู้เข้าร่วมการวิจัยเสนอว่า ควรให้การศึกษาเรื่องการดูแลการตายต่อบุคลากรสุขภาพและคนไร้บ้านโดยตรง  รวมถึงมีรูปแบบการวางแผนดูแลรักษาล่วงหน้าที่จะช่วยรักษาความเป็นอิสระในการตัดสินใจ และที่สำคัญคือ การมีที่พักพิงโดยเฉพาะเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการตายในหมู่คนไร้บ้าน

          ล่าสุด สถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ยอมรับถึงการขาดแคลนงานวิจัยที่ศึกษากลุ่มคนชายขอบที่อาจได้รับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายไม่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะคำอธิบายในเชิงลึกของความกังวลและความต้องการของคนชายขอบจากมุมมองของพวกเขาเอง การศึกษาวิจัยดังกล่าวจึงนับเป็นก้าวสำคัญในการปรับปรุงแนวทางการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้ครอบคลุมและตอบสนองความต้องการของประชากรทุกกลุ่มในสังคมอย่างเท่าเทียมกันต่อไป 

          เรื่องราวจากงานวิจัยดังกล่าว ดูเผินๆ อาจยังเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับประเทศไทยที่ระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายยังอยู่ในช่วงริเริ่ม แต่ถ้าเราเชื่อว่า การตายดีเป็นสิทธิสำหรับคนทุกคน ไม่เว้นแม้แต่คนยากคนจนหรือด้อยสิทธิด้อยโอกาสที่อยู่สุดชายขอบของสังคมเมืองอย่างคนไร้บ้าน การทำความเข้าใจความคิด ความกลัว และความต้องการของประชากรกลุ่มดังกล่าว ย่อมเป็นสิ่งที่ควรให้ความใส่ใจ หรืออยู่ “ในสายตา” ของผู้เกี่ยวข้องเสมออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เก็บความจาก http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC1829423/
ภาพจาก globalnews

 

คอลัมน์:

ผู้เขียน: