Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

จิตอาสาดูแลผู้ป่วย สิ่งแวดล้อมของโพธิจิต

-A +A

           "ทำงานจิตอาสาแล้วมีความสุขค่ะ อะไรๆ ในชีวิตก็ดีขึ้น" คุณสายใจ ใจมั่น จิตอาสาดูแลผู้ป่วยใน “ทีมใส่ใจ...ใจใส” โรงพยาบาลสุรินทร์พูดถึงงานจิตอาสาของตนด้วยใบหน้าสดชื่น เบิกบาน

 

           คำว่า "จิตอาสา" ในปัจจุบัน ดูจะเป็นที่นิยมเรียกขานมากกว่าคำว่า "อาสาสมัคร" ไปเสียแล้ว แม้ทั้งสองคำจะหมายถึงภารกิจการทำงานที่ไม่แตกต่างกัน แต่ในความเป็นจริงคำว่าจิตอาสาดูจะยกย่องมิติของจิตใจที่เสียสละ มีน้ำใจ ของผู้ทำงานเพื่อผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทนนมากกว่าคำว่าอาสาสมัคร

           เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าการให้การดูแลความเจ็บป่วยของผู้ป่วยระยะสุดท้ายจากแพทย์และพยาบาลเพียงอย่างเดียวนั้น ไม่เพียงพอต่อการดูแลมิติทางจิตใจและจิตวิญญาณ เพราะลำพังการรักษาพยาบาลทางกายที่ต้องอาศัยความรู้ทางวิชาชีพเพียงอย่างเดียวก็ต้องทุ่มเททั้งเวลา แรงกาย แรงใจ อย่างมากแล้ว การให้การดูแลสนับสนุนทางจิตใจจึงจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยจากคนนอกสถานพยาบาล จิตอาสาดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายจึงเป็นทางออกของสถานการณ์

           ทั้งนี้ เพราะจิตอาสาในชุมชนมีความสามารถในหลายด้าน เช่น สามารถจัดสรรเวลาในการดูแลได้มากกว่า มีพื้นฐานทางสังคมวัฒนธรรมร่วมกันกับผู้ป่วย ทำให้มีความคุ้นเคยในการพูดคุยและให้การดูแลผู้ป่วยอย่างเป็นกันเอง สามารถนวดคลายกล้ามเนื้อ มีเวลาในการรับฟังความทุกข์ทั้งกายและใจของผู้ป่วยและญาติได้มากกว่า

           ยิ่งผู้ป่วยรักษาตัวในชุมชน โอกาสที่พยาบาลจะเข้ามาให้การดูแลก็ยากขึ้นไปอีก แต่จิตอาสาที่อยู่ในชุมชนเดียวกันย่อมเข้ามาให้การดูแลทางกายในเรื่องพื้นฐานได้มาก

           อย่างไรก็ตาม รูปแบบของจิตอาสาในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายก็มีรูปแบบที่หลากหลาย ผู้เขียนจึงรวบรวมการจัดกลุ่มองค์กรจิตอาสาออกเป็นสองกลุ่ม

 

องค์กรจิตอาสาในชุมชน 

           หลายท่านคงคุ้นเคยกับ อสม. หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน จิตอาสาดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายก็มีการจัดรูปแบบไม่แตกต่างกันมากนัก คืองานส่วนใหญ่จะดูแลผู้ป่วยที่อยู่ในชุมชน ผู้บริหาร อสม.อาจจัดให้มีงานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเป็นหนึ่งในงานอื่นๆ มีอยู่หลากหลายของอสม. แต่ อสม.ก็มักมีงานประจำอื่นๆ ที่ต้องดูแลมากมายอยู่แล้ว โรงพยาบาลหรือองค์กรชุมชนบางแห่งจึงจัดให้มีองค์กรจิตอาสาสำหรับดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเป็นการเฉพาะ ซึ่งอาจไปรวมอยู่ในงานดูแลผู้สูงอายุ หรืองานดูแลผู้พิการ องค์กรจิตอาสาในชุมชนมักมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ให้การดูแลสนับสนุนและอาจร่วมมือกับโรงพยาบาลในชุมชน เช่น รพ.สต. หรือ รพช.

 

องค์กรจิตอาสาในโรงพยาบาล 

           โรงพยาบาลมักประสบกับปัญหาขาดแคลนกำลังในการบริการพื้นฐานแก่ผู้ป่วย การสร้างองค์กรจิตอาสาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาดังกล่าว อาสาดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือ "อาสาข้างเตียง" ก็เป็นงานหนึ่งที่จิตอาสาสามารถทำได้ หลักการสำคัญคือการอยู่เป็นเพื่อนกับผู้ป่วย การรับฟังอย่างลึกซึ้ง การอำนวยความสะดวกช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ เช่น การพลิกตะแคงตัวผู้ป่วย การช่วยลงไปซื้อของ การช่วยรับส่งนิมนต์พระสงฆ์ที่จะมารับสังฆทาน เป็นต้น องค์กรลักษณะนี้โรงพยาบาลหรือวอร์ดผู้ป่วยมักเป็นผู้ให้การสนับสนุนจิตอาสาด้วยตนเอง ขอบข่ายการทำงานจึงมักอยู่ในโรงพยาบาลเป็นส่วนใหญ่

 

           จิตอาสาไม่ได้เข้ามาทำงานเพื่อผลประโยชน์ตอบแทนเป็นหลัก แต่ก็ไม่ได้หมายความจิตอาสาจะไม่คาดหวังหรือต้องการการสนับสนุนใดๆ เลย สิ่งสำคัญที่ผู้จัดองค์กรจิตอาสาทั้งในโรงพยาบาลหรือชุมชนจำเป็นคำนึงถึง มีดังต่อไปนี้

 

การเตรียมพร้อมจิตอาสา 

           งานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายต้องการความรู้ ทักษะ และทัศนคติเป็นการเฉพาะ จึงต้องมีการอบรมฝึกฝนและประเมินว่าจิตอาสามีความพร้อมอย่างเพียงพอ การดูแลสุขภาพตนเองทั้งร่างกายและจิตใจก็สำคัญมิฉะนั้นจิตอาสาอาจไปเพิ่มภาระและความทุกข์แก่ผู้ป่วยแทนที่จะช่วยแบ่งเบา

 

การจัดระบบจิตอาสา 

           เช่นเดียวกับการทำงานอื่นๆ ที่ย่อมต้องมีระบบระเบียบกฎเกณฑ์ แม้ไม่กำหนดเป็นลายลักษณ์อักษร ก็ควรสร้างวัฒนธรรมองค์กรของจิตอาสา เช่น ไม่แสวงหาประโยชน์จากผู้ป่วย การรักษาความลับของผู้ป่วย การจัดการให้การเบิกจ่ายมีความโปร่งใสและเป็นธรรม ทั้งนี้เพื่ออำนวยให้เกิดบรรยากาศที่ดีการทำงานร่วมกันในระยะยาว ผู้ดูแลองค์กรจิตอาสาจำเป็นต้องออกแบบระบบคัดกรอง ระบบตารางการทำงานดูแลผู้ป่วย การสนับสนับสนุนพัฒนา องค์กรจิตอาสาควรมีขนาดที่ไม่ใหญ่โตเกินไปและอยู่วิสัยที่สามารถบริหารจัดการได้โดยไม่เป็นภาระบีบคั้นผู้ดูแลจนเกินไป

 

การจัดการทางการเงิน 

           จิตอาสาไม่ต้องการข้าวของเงินทองจากงานอาสาสมัครในลักษณะ "ทำงานแลกเงิน" แต่องค์กรผู้ดูแลก็ควรสนับสนุนค่าใช้จ่ายตามความเหมาะสม เช่น ค่าของฝาก ค่าเดินทางบางส่วน กระบวนการตกลงทางการเงินควรอาศัยการมีส่วนร่วมเพื่อลดความขัดแย้งในการทำงาน ลดบรรยากาศที่ทำงานแล้วไม่เป็นสุข ความคับข้องใจเรื่องเงินๆ ทองๆ มักจะเป็นชนวนขยายความขัดแย้งในเวลาต่อมา 

 

การสร้างความรับรู้ร่วมกันว่าเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน 

           จิตอาสามักต้องการการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน หรือโรงพยาบาล ซึ่งจะช่วยสร้างความภาคภูมิใจ ส่งเสริมคุณค่าในตัวเองของจิตอาสา เสื้อทีม ป้ายติดเสื้อ ป้ายทีมงาน เกียรติบัตร สิทธิประโยชน์ในการดูแลสุขภาพเล็กๆ น้อยๆ จากโรงพยาบาล ความเคารพนับถือให้เกียรติจากผู้คนในโรงพยาบาลหรือองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นโดยเฉพาะจากหัวหน้าองค์กรว่าเป็นคนที่เสียสละมีน้ำใจ ตลอดจนความสัมพันธ์กลมเกลียวในทีมงาน เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้จิตอาสามีกำลังใจในการทำงานต่อไปอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย

 

การเรียนรู้ การให้เยียวยาจิตใจซึ่งกันและกัน 

           คุณสมบัติของมนุษย์อย่างหนึ่งคือความรักในการเรียนรู้ ความรู้ที่จิตอาสาได้รับในเรื่องการดูแลความเจ็บป่วยทั้งทางกายและทางใจเป็นเสมือนกำไรจากการทำงานจิตอาสา นอกจากนี้การทำงานกับผู้ป่วยหรือทำงานเป็นทีมจิตอาสาอาจพบกับความรู้สึกท้อแท้หดหู่ สะเทือนใจ การพูดคุยรับฟังแลกเปลี่ยนสะท้อนความรู้สึกจึงเป็นกระบวนการกลุ่มที่จำเป็นเช่นเดียวกัน

 

           มนุษย์มีศักยภาพที่เมล็ดพันธุ์แห่งความกรุณาในใจจะเบ่งบานเติบโตเป็นต้นไม้แห่งความเอื้ออาทร แต่เมล็ดพันธุ์นั้นต้องการสิ่งแวดล้อมที่เอื้อเฟื้อ ผู้เขียนเชื่อว่าองค์กรจิตอาสาเป็นสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมในการบ่มเพาะความกรุณาในใจของผู้คน ยิ่งทำงานกับผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ความแก่ เจ็บ ตายได้ปรากฏให้ผู้ดูแลได้เห็นแจ่มชัดด้วยแล้ว เมล็ดพันธุ์แห่งปัญญาก็ยิ่งมีโอกาสงอกงามเติบโตไปพร้อมๆ กับเมล็ดพันธุ์แห่งความกรุณา

           ต้นไม้ที่เติบจากเมล็ดนั้นก็ใช่อื่นใด นอกจากต้นโพธิ์แห่งความรู้ ความตื่น และความเบิกบาน 

คอลัมน์: