Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

Tomorrow (๒)

-A +A

 อ่านตอนที่แล้ว >> Tomorrow (๑)

ความเดิม : ศัลยแพทย์หนุ่ม “โมริยามา โคเฮ” ละทิ้งชีวิตหมอผ่าตัดไปแปดปี หนีมาเป็นพนักงานเทศบาลอยู่ในเมืองเล็กๆ ริมทะเล หลังจากเกิดการรักษาผิดพลาดจนทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต หากชะตาก็ผกผันให้เขาต้องตะโกนก้องประกาศออกมาว่า “ผมเป็นหมอครับ” เพราะเห็นภาพพยาบาลสาวผู้อุทิศตน ไอโกะ ทานากะ ลงมือเจาะคอคนไข้ทั้งที่ขาดความรู้ความชำนาญ แล้วหลังจากนั้น เขาก็กุมมืออันสั่นเทาด้วยความกลัวของเธอไว้อย่างปลุกปลอบ เสมือนหนึ่งกุมมือกันเดินหน้าเข้าสู่การแก้ไขปัญหาฟื้นฟูโรงพยาบาลชุมชนนิชิยามามูโรร่วมกัน

 

ตอนที่ ๖ โรงพยาบาลถูกฟ้องร้อง 

ความจริงของผู้ป่วยที่โหดร้าย

          มีผู้ป่วยบางประเภทที่เห็นโรงพยาบาลเป็นโรงแรม เห็นบุคลากรทางการแพทย์เป็นพนักงานบริการที่จะเรียกใช้เมื่อไหร่ได้ มีทั้งการละเมิดทางเพศ ติติงเรื่องอาหาร ฯลฯ อยู่เหมือนกัน 

          ตอนที่หกนี้ ภาพยนตร์นำเสนอเรื่องของนักเขียนนิยายโรแมนติกสาวใหญ่ผู้เอาแต่ใจตัวเอง เธอต้องมานอนโรงพยาบาล เพราะคิดว่าตัวเองป่วยเพียงเล็กน้อย ผ่าตัดครั้งเดียวก็จะหายเป็นปกติ เธอขี้หงุดหงิด (โดยเฉพาะเวลาที่เขียนนิยายไม่ออก) มักเรียกพยาบาลให้วิ่งไปวิ่งมาอย่างไร้เหตุผล ไอโกะพยายามที่จะดูแลเธอ โดยพูดปลอบว่าเธอเป็นคนมีพรสวรรค์ มีความสามารถพิเศษ แต่เธอก็ย้อนว่า “ถ้าไม่เคยอ่านหนังสือของฉันก็ไม่ต้องมาตัดสินอะไร” 

          เมื่อผลการตรวจพบว่าเธอป่วยหนักกว่าที่คาดไว้ และคงจะต้องเสียชีวิตในเวลาไม่เกินสามเดือน โมริยามาก็ยอมสูบบุหรี่บนดาดฟ้าโรงพยาบาลเพื่อพูดคุยกับเธอ เขาพบว่าเธอผิดหวังในชีวิตและรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไร้ค่า หนังสือเล่มแรกที่เธอเขียนตามอุดมการณ์และเป็นตัวของเธอเองมียอดพิมพ์และยอดขายต่ำ ทำให้ในเล่มถัดๆ มา เธอจำต้องเขียนนิยายโรแมนติกไร้สาระเพื่อเลี้ยงชีพ เธอจึงเจ็บปวดทุกครั้งที่มีคนชื่นชมความสามารถปลอมๆ นั่น 

          แล้วเมื่อปมปัญหาภายในของคนป่วยอย่างเธอ ถูกพัวพันกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรของโรงพยาบาล ทุกคนต้องทำงานหนักเกิน ทำให้เกิดข้อผิดพลาดจากการให้ยาเกินขนาดจนเธอเกือบเสียชีวิต ผู้จัดการส่วนตัวของเธอข่มขู่ เรียกเงินจากโรงพยาบาลในช่วงที่เธอยังไม่ฟื้น แต่เอนโดะอ่านเกมออกว่า เขาไม่ได้ต้องการเอาผิดใคร แต่หากต้องเสียนักเขียนในสังกัดคนหนึ่งไป ก็ต้องได้ผลตอบแทนบ้าง เธอจึงไปขอให้นักการเมือง (ส.ส.) สนับสนุน และเจรจาต่อรอง 

          เมื่อนักเขียนฟื้นขึ้นมา โดยได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากพยาบาลที่ส่งสารถึงจิตไร้สำนึกว่า “แม้เธอจะมีชีวิตอีกเพียงวันเดียว พยาบาลก็อยากเห็นสีหน้าที่มีความสุขของผู้ป่วย” ไอโกะเองก็พยายามเสาะหาหนังสือเล่มแรกที่เธอเขียนมาให้ เธอจึงเปลี่ยนใจจากการฟ้องร้องมาเป็นเขียนหนังสือเล่มใหม่ได้อีกหนึ่งเล่มก่อนเสียชีวิตืชื่อ พระอาทิตย์ขึ้นอีกครั้ง อุทิศให้โรงพยาบาลชุมชน และบุคลากรที่ทำงานเพื่อรอยยิ้มของคนป่วยแทน

 

ตอนที่ ๗ คนไข้ที่ถูกละเลย เหตุผลที่มาของน้ำตา

          เมื่อมีข่าวว่าเกิดการรักษาผิดพลาด ขาดแคลนหมอ แผนฟื้นฟูอาจล้มเหลว นักการเมืองที่กำลังจะเลือกตั้งจึงเบี่ยงเบนไปทำแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อหาเสียง ส.ส. เริ่มให้อิทธิพบกดดันเอนโดะที่ขอโอกาสครั้งสุดท้าย โดยแก้ปัญหาด้วยการตั้งทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ (ดึงตัวหมอเก่งๆ จากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยและตั้งผลตอบแทนให้สูงลิบลิ่ว) เธอประกาศว่าจะทำให้เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางให้ได้ภายในเวลาหกเดือน แล้วเริ่มเดินหน้าปฏิรูปด้วยการปิดแผนกให้บริการที่ไม่มีกำไร ตัดค่าแรงพนักงานลงอีกร้อยละ ๓๐ 

          โมริยามาทนทำตามนโยบายของเอนโดะไม่ได้อีกต่อไป แม้จะรู้ว่าเธอพยายามทำเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดี แต่ “ถ้าเปลี่ยนมาเป็นแบบนี้ ก็ไม่มีประโยชน์อะไร” โมริยามาพยายามเสนอแผนพบกันครึ่งทาง โดยบอกให้เอนโดะทำส่วนเฉพาะทางของเธอไป ส่วนเขาจะเริ่มหาหมอที่กำลังต้องการย้าย หรือลาออกจากโรงพยบาลชุมชนอื่นๆ หมอตามคลินิก หรือหมอที่ไม่ต้องการอยู่เมืองใหญ่ ทางอินเทอร์เน็ต ขณะเดียวกัน ก็ไปขอร้องให้หมอเพื่อนร่วมงานอีกสองคน ช่วยใส่ใจติดตาม ช่วยคนไข้ที่บริษัทประกันไม่ยอมจ่ายค่ารักษา (เพราะโรงพยาบาลตรวจเช็คอาการไม่ละเอียดพอ) 

          แต่ในขณะเดียวกัน เอนโดะก็เริ่มไล่พนักงานออก บุคลากรจึงเริ่มระส่ำระสาย ทำให้ความใส่ใจผู้ป่วยน้อยลง จนทำให้เด็กมาโกโตะที่เป็นหืดหอบอาการกำเริบจนเกือบเสียชีวิต เอนโดะซึ่งผูกพันกับมาโกโตะเพราะคิดว่าเป็นเด็กที่แม่ไม่รักเช่นเดียวกับเธอ จึงส่งมาโกโตะไปให้สถานสงเคราะห์ 

          โมริยามาสืบรู้ว่าเอนโดะมีแม่ที่กำลังป่วยหนัก ต้องใช้เงินมหาศาลในการยื้อชีวิตไว้ เขาเริ่มเข้าใจว่าเหตุใดเอนโดะถึงได้ดูเย็นชา ทั้งยังพยายามขัดขวางแผนฟื้นฟูของเขาอย่างไร้หัวใจ หัวหน้าพยาบาลเริ่มเครียดที่ทุกคนเห็นแก่ความอยู่รอดของตัวเองมากกว่าผู้ป่วย 

 

ตอนที่ ๘ หัวหน้าพยาบาลล้มป่วย 

ความสุขของผู้หญิง แต่งงานหรือทำงาน

          ชีวิตพยาบาลส่วนใหญ่จะใกล้เคียงกันคือ แทบไม่มีเวลาให้ครอบครัวหรือแม้แต่จะดูแลตัวเอง ซึ่งขัดกับความคิดที่ว่า “หากจะทำให้คนอื่นมีความสุข ตัวเองจะต้องมีความสุขก่อน” หัวหน้าพยาบาล เพื่อนรัก เพื่อนร่วมงานของแม่ไอโกะคนนี้ เมื่อรู้ว่าตัวเองป่วยก็ยอมทน เพราะไม่อาจทิ้งงานและน้องๆ เพื่อนร่วมงานไปได้ และในที่สุดก็ตัดสินใจเดินไปบอกคนรักว่า ไม่พร้อมสำหรับการมีครอบครัว แต่งงาน มีลูก ซึ่งนั่นก็คงหมายถึงการบอกเลิกกลายๆ เพราะเธอป่วยจนถึงขั้นจะต้องตัดมดลูกทิ้ง หากโมริยามาก็ใช้ความสามารถเฉพาะตัวของเขารักษาเธอจนได้ ขณะที่ไอโกะก็ตามไปบอกความจริงกับคนรักของเธอ เขาจึงกลับมาหาแล้วบอกเธอว่าจะรักและรอเธอตลอดไป โดยไม่สนใจเรื่องลูก (หากมีลูกด้วยกันไม่ได้) เขาจะเป็นฝ่ายดูแลเธอเอง 

 

ตอนที่ ๙ ความตายของภรรยา ปิดโรงพยาบาล 

และจดหมายจากบุคคลสำคัญ

          ที่จริงแล้วผู้เขียนอยากจะตั้งชื่อตอนนี้ใหม่ว่า “พินัยกรรมชีวิต” จากแพทย์หญิงมาซาเอะ เธอแต่งงานแล้วลาออกจากโรงพยาบาลไปทำงานคลินิก เพื่อจะได้มีเวลาเป็นแม่บ้าน ดูแลสามีและลูกชาย แต่เมื่อต้องสูญเสียลูกชายไป จึงเหลือเพียงเธอกับสามี (ผู้จัดการทั่วไปของโรงพยาบาล) สองคนจึงรักและผูกพันกันมาก เธอเขียนพินัยกรรมชีวิตไว้ให้เปิดในวันที่สมองไม่สั่งการแล้วว่า ขอตายอย่างสง่างาม (ไม่ให้ยื้อด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ใดๆ) แต่ที่พิเศษมากคือ เธอเขียนต่อไปว่า “หากคนรักต้องการจะยื้อไว้ ก็ให้ทำได้จนกว่าใจของเขาจะสงบลง” 

          แพทย์หญิงคนนี้เองที่ให้แนวคิดกับโมริยามาในการแก้ปัญหาการขาดทุนสะสมจนโรงพยาบาลจะต้องถูกปิดว่า โรงพยาบาลกับคลินิกควรร่วมมือกันดูแลชุมชน คลินิกขาดเครื่องมือทางการแพทย์ ขณะที่โรงพยาบาลขาดแคลนหมอ และหากสองส่วนนี้เกื้อกูลกันได้ ชีวิตคนในชุมชนก็จะได้รับการดูแลอย่างไม่ต้องติดข้อจำกัดเรื่องเงินทองจนเกินไป 

          ในวาระสุดท้ายของเธอที่สามีตกลงใจให้ถอดสายนั้น สะท้อนความพยายามของเอนโดะที่ตัดสินใจจะถอดสายเครื่องยืดอายุทั้งหลายออกจากแม่ของเธอเช่นกัน แต่ต่างกันลิบลับในเชิงอารมณ์ความรู้สึก 

          แรกทีเดียวนั้น เอนโดะต้องการยืดอายุแม่เพราะต้องการได้ยินคำว่า “เสียใจ” ที่แม่ทิ้งเธอไป “ยกโทษให้แม่ด้วย เรามาเริ่มต้นกันใหม่เถอะนะ” แต่เมื่อโมริยามาพบหลักฐานในกระเป๋าสตางค์ที่บ่งบอกว่าแม่ของเอนโดะเฝ้าติดตามข่าวคราวของเธอมาโดยตลอด ใจของเอนโดะจึงสงบลง ไอโกะบอกเอนโดะว่า “คุณหมอเป็นคนรวย มีสตางค์มาก สามารถยื้อชีวิตแม่ไว้ได้ในโรงพยาบาลเอกชนราคาแพง ยื้อต่อไปเถอะ จนกว่าคุณหมอจะได้ยินเสียงจากหัวใจของตัวเอง เสียงของแม่...” เอนโดะตอบว่า “ฉันน่าจะได้รู้อะไรๆ เร็วกว่านี้ เราคงทำงานฟื้นฟูโรงพยาบาลด้วยกันอีกแบบหนึ่ง...ฉันเสียใจ” 

 

ตอนที่ ๑๐ โรงพยาบาลอย่าตายนะ 

การรวมกันเพื่อความอยู่รอดและการสู้ร่วมกัน

          หลังจากที่เอนโดะเดินจากไป สภาเมืองก็มีมิติให้ปิดโรงพยาบาลโดยให้เหตุผลว่า ถ้าไม่ปิด ไม่เพียงแต่โรงพยาบาลจะล้มละลาย หากเมืองทั้งเมืองก็จะต้องล้มละลายไปด้วย ให้ทุกคนเริ่มต้นใช้ชีวิตกับงานใหม่ 

          ไอโกะมาพบโมริยามาที่เดินวนเวียนอยู่คนเดียวในโรงพยาบาล ทั้งสองประสานมือ ประสานใจกันสู้ต่อ โดยใช้แผนการเข้าหามวลชน ชุมชน ออกแบบสอบถามว่า คนในเมืองนี้ยังต้องการโรงพยาบาลอยู่ไหม ไอโกะออกไปสอบถามความคิดเห็นผู้คนในงานเทศกาลริมหาด ซึ่งก็ได้รับความสนใจเพียงเล็กน้อย ด้วยพวกเขาต่างก็สนใจแต่เรื่องเฉพาะหน้า ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องทำมาหากิน ขณะที่บางคนก็สนับสนุนให้สร้างรีสอร์ทแทนโรงพยาบาลตามนโยบายนักการเมือง 

          แต่แล้วก็เกิดอุบัติภัยร้ายแรงขึ้นในงานเทศกาล นั่นเป็นเหตุให้บุคลากรทุกคนกลับมาพบกันที่โรงพยาบาลอีกครั้ง ทำหน้าที่อุทิศตนเพื่อผู้อื่น และเพื่อคนที่ตนรัก ทั้งได้รับความร่วมแรงร่วมใจจากทุกๆ คนในชุมชน ด้วยมีญาติพี่น้องบาดเจ็บและไม่สามารถจะขนย้ายพวกเขาไปไกลๆ ได้ เรียกว่าสถานการณ์นำพาให้มาร่วมทุกข์กันถ้วนหน้า สำหรับโมริยามา เขาสามารถเรียกไอโกะจากความตายให้คืนกลับมาร่วมงาน ร่วมชีวิตกันได้ 

          ฉากสุดท้ายบนดาดฟ้าโรงพยาบาล ไอโกะบอกว่า “ฉันอยากเฝ้ามองพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้า ตรงนี้กับคุณทุกๆ วัน (เธอหมายถึงต้องอยู่เวรทำงานด้วยกันทั้งคืน)” โมริยามายิ้มพลางตอบว่า “อืม แต่ผมอยากให้เรามีวันฝนตก ที่จะนอนตื่นสายๆ ด้วยบ้างนะ (หากเขามีความนัยอันหมายถึงการใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน)” แล้วทั้งสองก็ประสานมือกันคืนชีวิตให้โรงพยาบาลชุมชนเล็กๆ แห่งนี้ อีกครั้ง

 

 

คอลัมน์: