Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

สารคดีพิเศษ เตรียมตัวก่อนเดินทางครั้งสุดท้าย

-A +A

สารคดีพิเศษ เตรียมตัวก่อนเดินทางครั้งสุดท้าย
: เผชิญความตายด้วยใจสงบ
เรื่อง : วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง 
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

“ไม่เคยตายหรือ !”

    * ถึงไม่เคยมีใครตะโกนใส่หน้าคุณโดยตรงก็เถอะ เชื่อว่าคำนี้คงต้องเคยผ่านเข้าหูคุณ
    * คนเขามักตะคอกใส่กันยามเดือดดาล ในทำนองต้องการให้กลัว มากกว่าจะต้องการคำตอบจริง ๆ
    * ก็อย่างที่ทุกคนรู้ หรืออย่างคนที่ถูกถามตอบกลับอย่างท้าทาย ไม่ยอมลดราวาศอก
    * “คนเราเกิดครั้งเดียว ตายครั้งเดียว” (ถ้าเคยตายก็คงไม่อยู่ให้ถาม)
    * แต่ ตามความจริง เราต่างก็มีความกลัวตายอยู่โดยสัญชาตญาณ และยิ่งในปัจจุบันที่เรื่องความตายถูกกันไว้ห่างไกลจากชีวิต ผู้คนก็ยิ่งหวาดหวั่นและไม่รู้จักความตายมากขึ้น จนบางครั้งแค่การพูดถึงเรื่องความตายก็ถือเป็นอัปมงคล
    * การเจ็บและตายอยู่ที่โรงพยาบาล และจบในเมรุเผาศพทันสมัยที่มิดชิด ลึกลับ
    * เราเฉยเมยกับความตายของคนที่ไม่เกี่ยวข้องผูกพัน หรือหากร่วมรับรู้ก็มักเป็นไปในทำนองไทยมุงที่อยากรู้อยากเห็น
    * ถึงวันที่คนใกล้ชิดหรือใครสักคนที่เรารัก-จากไป เราก็โศกเศร้าอาลัยกันอย่างสุดใจ
    * โดยมักไม่ได้นึกถึงความตายของตัวเอง !
    * จริงหรือไม่--คุณตอบตัวเอง?
    * เราอยู่ในยุคของการลืมความตาย และหนีความตาย ทั้งที่หนีอย่างไรก็ใช่จะพ้น
    * เทคโนโลยี เครื่องมือทางการแพทย์สำหรับยืดชีวิตถูกคิดค้นพัฒนานำมาใช้ อาจช่วยต่อลมหายใจให้คนป่วยได้บ้าง แต่ก็แลกมาด้วยความอึดอัดทุกข์ทรมานและค่าใช้จ่ายที่สูงลิ่ว สุดท้ายชีวิตก็ยังคงต้องแตกดับไปตามหน้าที่ของสังขาร
    * ธรรมาจารย์ด้านความตายชาวทิเบตท่านหนึ่ง บอกว่า คนเราอยู่อย่างไร ก็ตายอย่างนั้น
    * พระไพศาล วิสาโล พระสงฆ์ผู้ริเริ่มเผยแพร่หลักปฏิบัติเพื่อการเผชิญความตายอย่างสงบในเมืองไทยจึงเชื่อว่า
โลกจะเปลี่ยนโฉมหน้า ถ้าผู้คนในสังคมตระหนักในความตาย

 



          “ที่ว่าสังคมและการดำเนินชีวิตจะเปลี่ยนไป ถ้าผู้คนมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อเรื่องความตายนั้นเป็นอย่างไรครับ”

          “ประเด็นนี้พูดยาวนะ”

          พระไพศาล วิสาโล ประธานเครือข่ายพุทธิกา ผู้ริเริ่มโครงการเผชิญความตายอย่างสงบ เกริ่นสั้นๆ ก่อนอธิบายขยายความต่อด้วยน้ำเสียงและท่าทีราบเรียบ แต่สาระในถ้อยคำนั้นหนักแน่นอยู่ในตัวมันเอง

          ทุกวันนี้คนจำนวนไม่น้อยเอาเงินเอาความสำเร็จเป็นเป้าหมาย เอาแต่เสพสุขโดยหลงลืมความตาย อยู่แบบลืมความตาย หรือบางคนนึกถึงแต่คิดว่าไหนๆ ก็ตาย ขอเสพสุขให้เต็มที่ โดยไม่ได้คิดว่าความตายไม่ใช่จุดสิ้นสุดของชีวิต

          แต่ถ้าคนเรานึกถึงความตาย จะไม่มุ่งหาเงินทองอย่างเดียว แต่จะมุ่งสร้างความดี ทำชีวิตให้มีคุณค่า มีความอ่อนโยนต่อทุกสิ่งที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าญาติมิตร ครอบครัว ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม

          คนส่วนใหญ่มักบอกว่าครอบครัวเอาไว้ก่อน การปฏิบัติธรรมเอาไว้ก่อน ไว้ให้มีเวลาแล้วค่อยทำ แต่หลายคนไม่ได้ทำ เพราะความตายอาจมาเมื่อไรก็ได้

          พิธีกรรายการทีวีคนหนึ่งก็เคยพูดอย่างนี้ แต่เขาพบว่าเขาเป็นมะเร็งเมื่อทำงานมาได้ ๑๐ กว่าปี จากที่ตั้งใจว่าจะทำงาน ๒๐ ปี แล้วกลับมาอยู่กับครอบครัว แต่ก็ไม่ได้ทำ เขาก็มานึกเสียใจว่าชีวิตที่ผ่านมา เขาไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัวเลย เพราะคิดแต่ว่าขอทำงานก่อน ครอบครัวไว้ทีหลัง

          ความตายจะมาเมื่อไรเราไม่รู้ ไม่สามารถบอกล่วงหน้าได้ แต่ถ้าระลึกถึงเรื่องนี้ เราจะใช้เวลาที่มีอย่างมีความหมายมากที่สุด ใช้เวลาแต่ละนาทีไปอย่างมีประโยชน์ การเที่ยวหาความสนุกสนานอาจไม่ใช่สิ่งสำคัญอีกต่อไป ครอบครัว การทำความดี การฝึกจิตฝึกใจ จะกลายเป็นเรื่องสำคัญกว่า

          การนึกถึงความตายจะทำให้เราขวนขวายในสิ่งที่เราชอบผัดผ่อน และปลดเปลื้องในสิ่งที่เราชอบยึดติด

          หลายคนชอบผัดผ่อนในเรื่องที่ดี การไปวัด ปฏิบัติธรรม ไปเยี่ยมเยียนพ่อแม่ บางคนชอบผัดผ่อนไว้ก่อน แต่พอรู้ว่ามีเทศกาลลดราคาที่ห้างสรรพสินค้าก็ไปกันใหญ่ เรื่องที่ไม่จำเป็นนี่รีบเร่ง แต่เรื่องที่สำคัญผัดผ่อน หากตระหนักว่าเราอาจตายเมื่อไรก็ได้ อะไรที่สำคัญจึงควรทำเสีย

          แต่ในเรื่องที่ไม่ดีเราชอบยึดติดนัก ใครด่าเราจำมั่น โกรธใครเกลียดใครนี่จำแม่น มันเป็นทุกข์ยิ่งกว่าติดคุก ที่เศร้าเสียใจก็จมอยู่กับมัน แต่หากรู้เรื่องความตาย จะช่วยกระตุ้นให้เราปล่อยวาง จะโกรธไปทำไม ไม่นานก็ตายจากกันแล้ว

          ความตายไม่แน่นอนสำหรับเรา และไม่แน่นอนสำหรับคนอื่น การพบกันครั้งนี้อาจเป็นครั้งสุดท้ายก็ได้ อาจจะไม่ได้พบกันอีก ถ้าเราระลึกได้เช่นนี้ เราก็จะปฏิบัติต่อกันอย่างอ่อนโยน ที่ด่ากัน ทะเลาะกัน แล้วคิดว่าไว้วันหลังค่อยคืนดีกัน มันอาจสายไปก็ได้ เขาอาจจากไปก่อนได้คืนดีกัน แต่ถ้าเราตระหนักว่าเขาจะไปเมื่อไรก็ไม่รู้ เราก็จะเร่งที่จะคืนดีกัน หรือไม่อยากทะเลาะกันเลยก็เป็นได้ เวลาของหาย การงานล้มเหลว คนส่วนใหญ่กลุ้มเป็นทุกข์เหลือเกิน แต่พอนึกถึงความตาย เรื่องพวกนี้กลายเป็นเรื่องเล็ก ทำให้ปล่อยวางได้

          คนที่เข้าใจเรื่องความตายถูกต้อง จะดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง ไม่บริโภคเสพสุขอย่างเอารัดเอาเปรียบกัน สังคมทุกวันนี้เป็นสังคมบริโภคนิยมที่มองความตายแบบปกปิด ไม่รับรู้ หลงลืม เหมือนคิดว่าเราจะเป็นอมตะ เลยพยายามสร้างและสะสมอะไรมากมายราวจะอยู่ค้ำฟ้า สะสมทรัพย์สินราวกับว่าจะได้ใช้ชั่วฟ้าดินสลาย เราจึงไม่เคยพอ แต่ถ้าเราคิดได้ว่าอายุคนเราอาจแค่ร้อยปี ก็จะตระหนักว่าการมุ่งหาเงินทองมาเป็นพันล้านหมื่นล้านก็เป็นความโง่อย่าง หนึ่ง โดยเฉพาะหากคิดว่าจะเอาเงินเหล่านั้นมาเพื่อเสพสุข เพราะไม่มีทางจะใช้ได้หมด สุดท้ายก็เป็นของคนอื่น

          สังคมและอารยธรรมจะเปลี่ยนไป ถ้าเราตระหนักถึงความตาย

          อารยธรรมของทุกสังคมถูกกำหนดด้วยความเข้าใจเกี่ยวกับความตาย อย่างสังคมอียิปต์เขาคิดว่าคนตายแล้วจะฟื้นขึ้นใหม่ เลยสร้างพีระมิด สร้างศาสนสถานใหญ่โต เอาศพใส่ไว้ด้วยความหวังว่าสักวันจะได้ฟื้นขึ้นมา

          ถ้าเราเข้าใจดีว่าความตายจะเกิดกับเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ไม่รู้ เราจะระมัดระวังในการดำเนินชีวิตมากขึ้น ขณะเดียวกัน เมื่อเราตระหนักว่าความตายไม่ใช่สิ่งน่ากลัวเสมอไป ความตายอาจเป็นโอกาสแห่งการยกระดับจิตใจ ก็จะกล้าเผชิญความตายมากขึ้น และผ่านพ้นความตายไปได้ด้วยใจสงบ

          พระไพศาล วิสาโล เดิมเป็นคนกรุงเทพฯ ร่วมอยู่ในขบวนการนักศึกษา ในเหตุการณ์ล้อมปราบเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เคยทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนด้านศาสนาเพื่อการพัฒนา หลังบวชท่านไปจำพรรษาอยู่ที่ชัยภูมิ ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และเป็นประธานในองค์กรเอกชนด้านพุทธศาสนาที่ชื่อ เครือข่ายพุทธิกา

          ท่านเล่าต่อว่า ความสนใจเรื่องความตายนั้นมีมาตั้งแต่วัยหนุ่ม ตอนหลังได้แปลงานเขียนของ โซเกียล รินโปเช ธรรมาจารย์ชาวทิเบต ทำให้ได้เห็นการเตรียมตัวตายที่ดีขึ้น ช่วงหลังมีคนนิมนต์ไปพูดแล้วได้รับความสนใจมาก จึงคิดว่าน่าจะมีการจัดอบรมเรื่องนี้ มีคนเห็นด้วยเข้าร่วมเป็นทีมงาน จนกลายเป็นโครงการขึ้นมา

          “เริ่มมาจากความพยายามที่จะแก้โจทย์ส่วนตัว แต่ต่อมาก็ได้เผื่อแผ่ไปถึงคนอื่นด้วย”

          พระไพศาล วิสาโล ย้อนไปถึงจุดเริ่มต้น ก่อนจะมาเป็นโครงการอบรมที่มีชื่อท้าทายคนฟังอย่างตรงไปตรงมาว่า

          เผชิญความตายอย่างสงบ

          “ทีแรกก็มีคนแนะนำให้ใช้ว่า สุนทรียมรณัง อะไรทำนองนั้น แต่เราคิดว่ามันจะปรุงแต่งเกินไป รู้สึกว่าทุกวันนี้เรากลัวความตาย จนคำว่าความตายกลายเป็นคำที่อุจาด”

          ท่านเห็นว่า เราคงเผชิญหน้ากับความตายอย่างสงบไม่ได้ ถ้าแม้แต่คำว่า “ความตาย” ยังเป็นเรื่องรับไม่ได้

          “การเผชิญหน้ากับความตายเป็นสิ่งจำเป็น การนึกถึงความตายมีประโยชน์ ทำให้เราไม่ประมาท เราควรพร้อมที่จะคุยเรื่องความตาย ! เหมือนเป็นสิ่งธรรมดาที่อาจเกิดในชีวิตประจำวัน จึงตั้งชื่อโครงการแบบตรงตัวเลย”


 

          เป็นที่น่าตื่นเต้นและน่ายินดี กับการที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (มอ.) จังหวัดสงขลา มีหน่วยอาสาสมัครให้คำปรึกษาช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้าย

          แพทย์พยาบาลกลุ่มหนึ่งที่ทำงานประจำ ของตนกันอยู่แล้วตามตำแหน่งหน้าที่ ได้ร่วมกันทำงานในรูปอาสาสมัครเพื่อช่วยเยียวยาจิตใจคนไข้ด้วย นอกเหนือจากการรักษาตามหลักการแพทย์

          ในชื่อ Palliative Care (พัลเลียทีฟแคร์)

          ถอดความตามตัวคือ การดูแลแบบประคับประคอง

          แต่โดยการปฏิบัติจริงก็คือการรักษาแบบบรรเทาอาการสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถ รักษาให้หายขาดได้แล้ว และให้การดูแลเรื่องจิตใจของผู้ป่วยและญาติ

          มีชื่อในภาษาไทยว่า ชีวันตาภิบาล

          เป็นชื่อที่ไม่บอกความจะแจ้งตรงไปตรงมา อย่างโครงการเผชิญความตายอย่างสงบ ของเครือข่ายพุทธิกา

          “ความจริงก็คือกลุ่มดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย แต่ถ้าเราใช้ชื่อนี้ คงแนะนำตัวกับคนไข้ลำบาก”

 



          นายแพทย์เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี พูดถึงชื่อหน่วย และว่าที่จริงแล้วแนวคิดนี้ไม่จำกัดอยู่แต่กับผู้ป่วยที่หมดทางรักษาเท่านั้น ก็อย่างที่พระไพศาล วิสาโล กล่าวแล้ว การระลึกถึงความตายเป็นเรื่องที่มีประโยชน์-สำหรับทุกคน

          หน่วยชีวันตาภิบาลที่ปฏิบัติการอยู่ในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์มาระยะหนึ่งแล้ว มีหลักคิดและทิศทางการทำงานที่ชัดเจนยิ่งขึ้น หลังการร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ เผชิญความตายอย่างสงบ กับเครือข่ายพุทธิกา และเสมสิกขาลัย

          “ผมเป็นหมอรังสีรักษา” หมอเต็มศักดิ์พูดถึงการงานตามหน้าที่ “คนไข้ของผมครึ่งต่อครึ่งรักษาไม่หายแล้ว ถ้าเอาตามหลักการแพทย์ก็หมดหนทางอยู่ตรงนี้ เราก็รู้สึกว่ายังให้คนไข้ได้ไม่เต็มที่”

          ย้อนไปสมัยเรียนอยู่ที่ประเทศอังกฤษ นพ. เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี เจอกับหมอฝึกหัดรังสีรักษาคนหนึ่ง ใกล้สอบรับวุฒิเป็นผู้เชี่ยวชาญแล้ว เขาก็ลาออกไปเป็นหมอพัลเลียทีฟแคร์ และหมอคนนั้นก็ดูแลคนไข้อย่างดี หมอเต็มศักดิ์ชื่นชมและประทับใจ และนั่นเป็นครั้งแรกที่หมอหนุ่มจากเมืองไทยได้รู้จักเรื่องพัลเลียทีฟแคร์

          “แต่กลับมาผมก็ยังเป็นหมอรังสีรักษา จนวันหนึ่งได้เข้ารับการอบรม”

          “คนเจ็บหนักอยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิต การเยียวยาทางกายมีความสำคัญน้อยกว่าทางจิตใจด้วยซ้ำ”

          พระไพศาล วิสาโล พูดถึงประเด็นที่หลักการแพทย์สมัยใหม่ไม่ได้ประเมิน แล้วนำเสนอชุดความคิดที่ศึกษาค้นคว้ามาอย่างเป็นระบบ

          คนเป็นโรคร้ายที่รักษาไม่หาย เมื่อไม่สามารถวางใจให้ถูกต้องได้ก็ทุกข์ทรมานและตายไปกับความทุกข์ คนที่ทุกข์ยังรวมถึงญาติพี่น้องด้วย

          การทุ่มเทการรักษาบางครั้งไม่ได้ช่วยให้หายจากโรค แต่เป็นการยืดลมหายใจ ตัวผู้ป่วยก็ทุกข์ คุณภาพชีวิตไม่ได้ดีขึ้น ซึ่งยังส่งผลเสียต่อเพื่อนร่วมสังคมด้วย เพราะทรัพยากรบุคคล หมอ พยาบาล เตียงคนไข้ รวมทั้งเทคโนโลยีที่จะช่วยผู้ป่วยที่มีโอกาสรอด ถูกนำมาใช้เพื่อยืดลมหายใจผู้ป่วยที่หมดทางรักษา แทนที่จะปล่อยให้เขาจากไปอย่างสงบ

          สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ตรงที่ว่าเราทุ่มเทไปที่เรื่องเทคโนโลยีมากน้อยเท่าใด แต่อยู่ที่ว่าเราให้ความสำคัญเรื่องกายจนลืมเรื่องใจ เมื่อไม่ให้ความสำคัญกับจิตใจก็คิดว่าไม่มีทางอื่นนอกจากต้องยื้อชีวิตไว้ ให้นานที่สุด เพราะเป็นเรื่องเดียวที่ทำได้ คนส่วนใหญ่ที่ยื้อเพราะไม่รู้ว่ามีวิธีอื่นที่ทำได้ ช่วยได้ บางทีเมื่อรู้เขาก็ไม่ยื้อ

          เมื่อไม่ฝืนหรือปฏิเสธความตาย แต่ยอมรับและเผชิญกับความเป็นจริงอย่างดีที่สุด ก็จะพึ่งเทคโนโลยีน้อยลง

          ความตายไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว อาจเป็นวิกฤตทางร่างกาย แต่คือโอกาสทางจิตใจ ที่เราสามารถเข้าถึงความสงบได้ในวาระสุดท้ายของชีวิต จากประสบการณ์ในการทำงานเรื่องนี้พบว่า คนธรรมดาไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ ฆราวาส สามารถตายอย่างสงบได้

          หลายคนบอกว่าเขาตัดสินใจไม่ผิด ผู้ป่วยได้ตายอย่างสงบ แทนที่จะเสียใจ เขาได้ความปีติที่ได้ให้สิ่งที่ดีแก่ผู้ป่วย ในหลายกรณี ความตายไม่ใช่เรื่องน่าเศร้า ความตายอาจนำความปลื้มปีติมาให้ หากเป็นการตายอย่างสงบ ซึ่งตรงกันข้ามกับคนที่ยื้อยุดฉุดชีวิตเอาไว้ ระหว่างนั้นคนป่วยก็ทุกข์ ญาติก็ทุกข์

          ความตาย ถ้าเป็นการตายอย่างสงบ จะเยียวยาผู้ป่วย เยียวยาญาติมิตรด้วย ซึ่งมิตินี้การแพทย์ไม่สนใจ เพราะเขาวัดอัตราความสำเร็จกันตามระยะเวลาที่รอด

          สิ่งที่พระไพศาลพูดในประเด็นท้ายสุดนี้ เป็นความจริงที่นายแพทย์เองก็ยอมรับ

          “เดิมหมอมะเร็งจะดูระยะรอดชีวิตเป็นสำคัญ ทำทุกวิถีทาง ผ่าตัด ให้ยา ฉายแสง วัดกันเป็นวันๆ ให้ได้ชีวิตที่ยาวขึ้น แต่ไม่ได้ดูว่าอยู่อย่างไร รู้สึกตัวหรือไม่ ปั๊มกันเท่าใด ใช้เครื่องช่วยหายใจหรือเปล่า ตอนหลังจึงมีการมองเรื่องคุณภาพชีวิตกันมากขึ้น”

          หมอเติมศักดิ์ ผู้ริเริ่มนำหลักพัลเลียทีฟแคร์มาใช้ในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ บอกว่า ศาสตร์นี้เริ่มในต่างประเทศเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา ส่วนตามโรงพยาบาลในเมืองไทยนั้นน่าจะไม่เคยมีมาก่อน

          “ที่เป็นระบบชัดเจนน่าจะยังไม่เคยมี แต่ที่ทำกันตามธรรมชาติคงมีมานานแล้ว”

          เราคงพอระลึกได้ ยามที่อยู่ต่อหน้าคนกำลังจะสิ้นใจ คนที่ยังอยู่จะเอาใจช่วยให้เขาได้ไปดี

          “ไปดีเถิดนะ”

 



          “การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย น่าจะเรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมองค์กรของโรงพยาบาล มอ. ไปแล้ว”



          นายแพทย์สกล สิงหะ ประธานหน่วยชีวันตาภิบาลคนปัจจุบัน ประเมินสถานการณ์ตามที่เป็นอยู่จริง

          “สิ่งที่เราต้องการสำหรับผู้ป่วยที่หมดทางรักษาแล้ว ไม่ใช่การหาย ได้ออกจากโรงพยาบาล แต่ให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทำให้เกิดกระบวนทัศน์ในการทำงานนี้ ตอนนี้มีการใส่เรื่องนี้ไว้ในคณะแพทยศาสตร์ด้วย มีการพิมพ์ตำราออกมา นักศึกษาแพทย์ที่นี่จะได้เรียนวิชานี้

          “นอกจากการรักษาทางการแพทย์ เราต้องช่วยในทางจิตใจด้วย” หมอสกลพูดถึงหลักในการทำงาน และขยายความต่อว่า

          “จิตวิญญาณเป็นเรื่องลึกซึ้ง ละเอียดอ่อน จะช่วยใครให้ได้ดีที่สุด ต้องเข้าใจเขาก่อน การช่วยผู้ป่วยจึงต้องเริ่มจากการประเมิน วางแผนเป็นรายบุคคล ไม่ใช่ใช้ประสบการณ์กลุ่ม ไม่อย่างนั้นอาจกลายเป็นความทุกข์ของเขาก็ได้”

          จากนั้นหมอสกลก็ลงรายละเอียดให้เห็นภาพการปฏิบัติงาน

          “เรามีอาสาสมัครทุกศาสนาอยู่ในโรงพยาบาล ถ้าเป็นศาสนิกในศาสนาที่มีพระเจ้า ความตายอาจไม่ใช่เรื่องน่ากลัว เพราะทำให้เขาได้คืนกลับไปหาพระเจ้า ความเชื่อนี้ช่วยได้มาก เราจึงจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อและอนุญาตให้เขาทำพิธีกรรมต่างๆ ในโรงพยาบาลได้ ตามหลักการตายดีที่แต่ละศาสนากำหนดไว้ อย่างมุสลิมเขาจะใช้การอ่านคัมภีร์ยาซีน นอกจากนี้ชาวมุสลิมเวลามีคนในหมู่บ้านเจ็บป่วย เพื่อนบ้านจะมาเยี่ยม เอาของมาช่วยเหลือที่โรงพยาบาล มากันเป็นรถกระบะ ๒๐-๓๐ คน ตอนแรกเราก็รู้สึกลำบากใจ เพราะตามกฎของโรงพยาบาลให้เยี่ยมได้ครั้งละ ๒-๓ คน เขามาเยอะเกินไป และบางทีก็ยังไม่ใช่เวลาเยี่ยม เราไม่รู้ไม่เข้าใจ ปรากฏว่าคนที่มาเยี่ยมก็เป็นทุกข์ เพราะเขาไม่สามารถปฏิบัติตนเป็นมุสลิมที่ดี คนไข้ก็นอนกระวนกระวายว่าฉันเป็นมุสลิมที่ดีหรือเปล่า จึงไม่มีคนมาเยี่ยม ทุกคนเป็นทุกข์หมด คนที่มีความสุขคือแพทย์ พยาบาล หอผู้ป่วยโล่ง เป็นระเบียบ แต่พอเข้าใจเรื่องนี้ เราเปลี่ยนวิธีคิดใหม่หมด เพราะเห็นความสำคัญว่าเป็นหน้าที่ทางสังคมและจิตวิญญาณของชาวมุสลิม พอเขามาเยี่ยมแล้วรู้ว่าเรื่องทางการแพทย์ช่วยไม่ได้แล้ว เขาก็ยอมรับความตาย พร้อมจะเอาคนไข้กลับบ้าน ให้ได้เสียชีวิตในท่ามกลางการแวดล้อมด้วยคนที่เขารัก คือการตายดี”

          สำหรับคนไข้ส่วนใหญ่ของโรงพยาบาล มอ. ซึ่งเป็นพุทธศาสนิกชนนั้น ตามประสบการณ์ หมอสกลบอกว่ามีหลายระดับความเชื่อ

          “ถ้าเป็นพุทธ เราจะถามเขาว่าปรกติสนใจอะไรบ้าง ทำสมาธิ ไหว้พระสวดมนต์ ฟังเทศน์ฟังธรรม บางทีไม่มีสิ่งที่เขาต้องการ แต่แค่เราถาม เขาก็สัมผัสได้ถึงความเอื้ออาทรระหว่างกัน บางคนอาจต้องการให้พระมาสวดมนต์ข้างเตียง ทำบุญ ซึ่งเราอนุญาตทุกอย่าง ให้ทำพิธีกรรมข้างเตียงคนไข้ได้ และถ้าต้องการพระเราก็นิมนต์มาให้ บางหอผู้ป่วยนิมนต์พระมารับสังฆทานทุกเดือน”

          และทั้งนี้การรักษาด้านร่างกายก็ดำเนินควบคู่ไปด้วย

          “ในรายที่รู้แล้วว่าไม่รอด เราก็ต้องทำเต็มที่ เพราะเป็นศักดิ์ศรีของคนไข้ ไม่ใช่ไปบอกเขาว่า ตายดีต้องไปตายที่บ้าน เพียงแต่เราบอกทางเลือกกับเขา เราเล่าทางที่เป็นไปได้ให้ญาติฟัง แต่การจะกลับบ้านต้องมาจากเขา ต้องไม่ให้เขารู้สึกว่าเราไล่”

          นายแพทย์สกล สิงหะ เชื่อเหมือนที่พระไพศาล วิสาโล เชื่อ ว่าถ้าคนสนใจเรื่องการตายดี จะเกิดการเปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่ของคนทั้งประเทศ “เพราะคนเราจะตายดีได้ ต้องอยู่ดีก่อน เรื่องนี้จะปลุกกระแสความเป็นมนุษย์ขึ้นมาอีกครั้ง”

          พระไพศาลพูดถึงการ “ตายดี” ว่า ในความเห็นของคนทั่วไป ส่วนใหญ่หมายถึงการตายโดยไม่เจ็บปวด ไม่ทุรนทุราย ไม่น่าเกลียด ไม่มีใครทำให้ตาย รวมถึงเป็นการตายท่ามกลางคนที่รัก ญาติมิตรอยู่พร้อมหน้า ไม่จากไปอย่างโดดเดี่ยวอ้างว้างในสถานที่ไม่คุ้นเคย

          คนชนบทคงยังพอมีภาพความจำเหลืออยู่ คนเฒ่าคนแก่สมัยก่อนยามเจ็บไข้ใกล้ฝั่งมักไม่อยากให้ลูกหลานพาไปโรงพยาบาล แต่พอใจที่จะหลับตาตายอยู่ที่บ้าน

          จนเมื่อระบบสาธารณสุขในโรงพยาบาลมีความเจริญรุดหน้าจนกลายเป็นกระแสหลักสาย เดียวในการดูแลสุขภาพของผู้คน และลูกหลานสมัยใหม่ได้เรียนหนังสือสูงๆ ขึ้น คนแก่เฒ่าจึงมักถูกบังคับเอาเข้าโรงพยาบาล ซึ่งมีทั้งที่ยอมตามใจลูกหลาน ไม่เต็มใจ หรือไม่ก็ถูกพามาโดยไม่รู้สึกตัว

          เหตุการณ์ทำนองนี้มีตัวอย่างอยู่ทั่วไปในชีวิตจริง ในหนังสือ บทเรียนจากผู้จากไป ก็มีเรื่องเล่าจากทนายความชื่อ อติวัณณ์ จันทร์ช่วย เล่าประสบการณ์ที่เกิดในครอบครัวตัวเองว่า ตอนคุณยายอายุ ๙๔ ปี ได้บอกกับลูกๆ ว่า หากท่านเป็นอะไรไปจนไม่สามารถพูดจาได้ ขออย่านำท่านไปโรงพยาบาล อย่าให้หมอเจาะหรือใส่ท่อใด ๆ เพราะคุณยายเคยเห็นคนอื่นๆ โดนทำแล้วรู้สึกกลัว และคิดว่าตนอายุมากแล้ว หากจะตายก็ขอตายอย่างสงบอยู่ที่บ้านกับลูกหลานจะดีกว่า ครั้นคุณยายล้มป่วย หมดสติ ไม่สามารถพูดคุยหรือขยับตัวได้ ก็เกิดความขัดแย้งขึ้นในหมู่ญาติพี่น้อง กลุ่มลูกหลานที่มีการศึกษาสูงอยากให้ไปรักษาที่โรงพยาบาล ในที่สุดก็ตัดสินใจฝ่าฝืนคำสั่งที่คุณยายสั่งไว้ ด้วยการพาคุณยายเข้าโรงพยาบาล ทำให้คุณยายได้รับการดูแลแบบที่คุณยายไม่ต้องการเลยแทบทั้งหมด สิ่งที่คนในครอบครัวได้พบคือ หมอไม่เคยมีเวลาพอที่จะอธิบายอาการและขั้นตอนการรักษาให้ญาติทราบ ในห้องที่คุณยายนอนรักษาตัวนั้นเต็มไปด้วยผู้ป่วยสารพัดโรค มีเสียงดังมากจนเรียกได้ว่าวุ่นวาย เป็นบรรยากาศที่ไม่น่าอยู่เอาเสียเลยสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่กับความสงบมา ตลอดชีวิต คุณยายที่ไม่รู้สึกตัว นอนน้ำตาซึมตลอดเวลา ท้ายที่สุดคุณยายก็เสียชีวิตโดยที่ลูกหลานไม่เคยมีโอกาสได้ร่วมตัดสินใจเลยว่า หากอาการไม่สามารถรักษาได้ จะให้ท่านกลับบ้านหรือไม่ หรือมีทางเลือกอะไรอย่างอื่นอีก ทุกอย่างอยู่ในมือหมอทั้งหมด ญาติไม่ได้รับสิทธิที่จะร่วมตัดสินใจเลยจนวินาทีสุดท้าย

          “การให้ความสำคัญเรื่องจิตใจแก่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายเป็นสิ่งสำคัญ” พระไพศาล วิสาโล ให้ความเห็น แล้วเล่าถึงเหตุการณ์สมัยพุทธกาลตามที่มีบันทึก

          ในครั้งที่พระติสสะล้มป่วยด้วยโรคร้าย มีตุ่มหนองขึ้นเต็มตัว พระพุทธเจ้าทรงทราบก็เสด็จไปดู ช่วยอาบน้ำผลัดเปลี่ยนสบงจีวรให้ จนพระติสสะสบายตัวและรู้สึกดีขึ้น พระพุทธองค์ก็ตรัสว่า “อีกไม่นานกายนี้ก็จะนอนทับแผ่นดิน ปราศจากวิญญาณ เหมือนท่อนไม้ที่ถูกทิ้งแล้ว หาประโยชน์ไม่ได้”

          พระติสสะพิจารณาตาม

          เมื่อพระพุทธองค์ตรัสจบ พระติสสะก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ พร้อมกับดับขันธ์ไปในเวลาเดียวกัน

          “แต่คนธรรมดาสามัญ ที่ไม่ใช่พระ ที่เคยเป็นผู้มีความยึดติดมาก่อน ก็สามารถตายอย่างสงบได้ แม้โรคร้ายไข้เจ็บรุมเร้าทำความเจ็บปวดให้แก่ร่างกาย แต่ถ้ามีคนแนะนำให้เขาวางจิตใจได้ถูกต้อง รักษาใจให้เป็นปรกติ ก็สามารถผ่านพ้นความเจ็บปวดทางกายได้ และผ่านความตายได้อย่างสงบ ที่เราเรียกว่าตายดี”

          ส่วนที่ว่า บรรลุธรรม ในภาวะจิตสุดท้ายนั้น พระไพศาลอรรถาธิบายว่า

          การบรรลุธรรม คือการเห็นว่าสังขารไม่เที่ยง เป็นทุกข์ จากที่เคยยึดติดว่าต้องเที่ยง พอเจ็บไข้ใกล้ตาย ยิ่งยึดติดเท่าไรก็ยิ่งเจ็บปวด ยิ่งทุกข์ ยามใกล้ตาย ธรรมชาติจะแสดงตัวชัดในเรื่องนี้ ธรรมชาติกำลังตะโกนว่า สังขารไม่เที่ยงและเป็นทุกข์ ถ้ามีสติก็จะได้คิดแล้วปล่อยวาง เมื่อปล่อยวางจิตก็หลุดพ้น

          บรรลุธรรม คือจิตหลุดพ้น เพราะเกิดปัญญา เห็นความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่ใช่ตัวตนของสังขาร

          ภาวะเจ็บป่วยมันสอนใจได้ดี ตอนมีสุขอาจเกิดความลุ่มหลงได้ง่าย คนที่ประสบความสำเร็จยิ่งมีความมั่นใจว่าทุกอย่างอยู่ในอำนาจ อยู่ในกำมือเรา อยากให้รวยก็ได้รวย อยากชนะก็ชนะ แต่เมื่อใกล้ตายนี่เห็นชัดเลยว่า สังขารนอกจากไม่เที่ยงเป็นทุกข์แล้ว ยังไม่อยู่ในกำมือและการควบคุมของเรา เราอยากให้หายก็ไม่หาย ไม่อยากให้ปวดก็ปวด นั่นธรรมชาติกำลังแสดงธรรมใส่หน้าเราว่า สังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยงโว้ย สังขารเป็นทุกข์โว้ย ทำให้เกิดปัญญาหากมีสติ แต่ถ้ายิ่งดื้อรั้นก็ยิ่งปวดยิ่งทุกข์

          ความตายเหมือนก้อนหิน ใหญ่และหนัก แต่ถ้าไม่ไปแบกก็ไม่หนัก ที่เป็นทุกข์เพราะไปแบก ปล่อยวางก็เบา

          บรรลุธรรมก็ตรงนี้



          พระไพศาล วิสาโล จึงให้ข้อสรุปเกี่ยวกับชีวิตว่า ตลอดช่วงชีวิตที่ดำเนินไป คือโอกาสให้เราได้ฝึกฝนตนเองจนพร้อมเผชิญหน้าความตายในวาระสุดท้าย

          ครั้งหนึ่ง หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ศิษย์รุ่นแรกๆ ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ไปเยี่ยมภิกษุรูปหนึ่งที่อาพาธใกล้มรณภาพ

          เมื่อเห็นท่านมา พระรูปนั้นลุกขึ้นกราบแล้วล้มตัวลงนอนตามเดิม หลวงปู่ดูลย์ยิ้มรับแล้วพูดว่า

          “การปฏิบัติทั้งหลายที่เราพยายามปฏิบัติมา ก็เพื่อจะใช้ในเวลานี้เท่านั้น”

 

 



          แต่การเดินทางสู่วาระสุดท้ายอย่างสงบและสวยงาม ไม่จำกัดอยู่กับสมณเพศเท่านั้น ก็อย่างที่พระไพศาล วิสาโล พูดจากประสบการณ์ที่ได้พบ ปุถุชนคนธรรมดาสามัญ หรือแม้แต่คนที่เคยมีความยึดติดมาก่อน ก็สามารถจากไปอย่างสงบได้ หากในวาระสุดท้ายมีคนแนะให้เขาวางจิตใจได้ถูกต้อง

          พยาบาลที่มีประสบการณ์อยู่กับเรื่องนี้มาเป็น ๑๐ ปีก็ยืนยันความจริงนี้

          “คนทั่วไปไม่ค่อยรู้ว่ายังมีทางที่ช่วยเขาได้อีกเยอะ” กานดาวศรี ตุลาธรรมกิจ กล่าวถึงกลุ่มผู้ป่วยระยะสุดท้าย

          โดยตำแหน่งเธอเป็นพยาบาลรังสีรักษา โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ แต่ใช้เวลานอกหน้าที่ราชการให้ความช่วยเหลือทางจิตใจแก่ผู้ป่วยมาเป็น ๑๐ ปีแล้ว ตามพันธสัญญาที่เธอเคยให้ไว้กับตัวเองเมื่อคราวผ่านเหตุการณ์เฉียดตาย

          “คนไข้เมื่อถึงระยะสุดท้าย ยาและเครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์อาจช่วยอะไรได้ไม่มาก ความรักความเมตตาจากญาติ คนรอบข้าง และการนำจิตใจคนไข้เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยตายดี”

 

          กานดาวศรีบอกว่า งานอาสาสมัครแบบที่เธอทำอยู่ ทุกคนสามารถทำได้ ไม่ต้องอาศัยความรู้หลักวิชาการอะไรมากมาย

          “คนร้อยทั้งร้อยต้องตายเหมือนกัน หัวใจหยุดเต้น สมองหยุดทำงาน แต่การตายทางจิตวิญญาณไม่เหมือนกัน ถ้าเข้าใจตรงนี้จะรู้ว่าต้องทำอย่างไร และไม่มีสูตรสำเร็จ ที่ใช้กับคนนี้อาจใช้กับอีกคนไม่ได้ ปูมชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน”

          แต่โดยส่วนตัวเธอเองนั้น กานดาวศรีบอกว่าเธอใช้หลักพรหมวิหาร ๔ เป็นธรรมประจำใจ

          “ใช้เมตตา กรุณา เป็นหลัก และต้องตั้งสติให้ดีว่าจะวางตัวเราไว้ตรงไหน จะช่วยอะไรเขาได้บ้าง ไม่ตกใจหรือโกรธกับปฏิกิริยาของผู้ป่วยที่บางครั้งก็ก้าวร้าว คนไข้นั้นอ่อนแอทั้งร่างกายและอารมณ์ ถ้าเราไม่มีสมาธิจะช่วยเขาไม่ได้ และบางครั้งถ้าทำแล้วไม่สำเร็จก็ต้องวางอุเบกขาได้ แต่ประเมินว่าราว ๙๐ เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป คนไข้ที่เราช่วย ตายดี”

          กานดาวศรีเล่ากรณีตัวอย่างผู้ป่วยเด็กคนหนึ่งที่เพิ่งจากไปเมื่อไม่นาน

          เด็กชายอายุ ๑๐ ปี เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวระยะสุดท้าย แม่เขาก็สอนให้ลูกเตรียมตัวมาตลอดว่า “ถ้าลูกไม่หาย ลูกก็ต้องจากแม่ไป หรือถึงลูกหาย แม่ก็ต้องแก่แล้วจากลูกไป ไม่วันใดก็วันหนึ่งเราต้องจากกัน”

          เวลามีเด็กรุ่น ๆ เดียวกับเขาตายในโรงพยาบาล แม่ก็จะบอกว่า

          “เพื่อนไปสวรรค์แล้ว วันหนึ่งลูกก็ต้องไป”

          แม่มองความตายเป็นสิ่งสวยงาม และสอนให้ลูกนึกถึงท่านพุทธทาสอยู่เสมอ แม่เคยพาเขาไปสวนโมกข์อยู่เป็นประจำ

          สองอาทิตย์สุดท้ายเขาไปใช้ชีวิตอยู่ที่บ้าน แต่ต้องกลับมาโรงพยาบาลก่อนเสียชีวิตเพราะท้องเสีย ก็บอกให้เขานึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นึกถึงความดีที่เคยทำมา เราเองก็ช่วยอธิษฐานจิตให้เขาผ่อนคลาย สักพักเขาไอ ที่ครอบออกซิเจนหลุด เราหยิบครอบให้อีกครั้ง เขาบอกว่าไม่ต้องช่วยแล้ว เขาย้ำว่าไม่เอาแล้ว และหันมาบอกแม่ว่า “หม่าม้า ผมลาก่อน”

          แม่เริ่มร้องไห้ บอกหมอว่าปล่อยให้เด็กไปสบาย

          แล้วเด็กก็พูดขึ้นมาว่า “ผมกำลังจะตายแล้วหรือ”

          แม่ก็เริ่มสะอื้นอีก เราช่วยโอบไหล่ให้เธอสงบ

          แล้วหันไปพูดกับเด็กว่า “ใช่ ลูกกำลังจะตาย แต่ไม่มีอะไรน่ากลัว ข้างหน้ามีท่านพุทธทาสและเพื่อนๆ รออยู่ หนูเป็นเด็กที่กล้าหาญ หนูไปสิ ก้าวไปอย่างช้าๆ อย่างงดงาม ข้างๆ มีป้ากับแม่อยู่”

          เขาก็ค่อยๆ หายกระสับกระส่าย แม่ช่วยท่อง พุท-โธ พุท-โธ จนเด็กสิ้นลมหายใจ

          นี่เป็นเหตุการณ์หนึ่งในประสบการณ์ตรงที่ทำให้กานดาวศรีเชื่อว่าทุกคนสามารถ ตายอย่างสงบได้ ไม่เว้นแม้แต่เด็ก ๆ หากได้รับการนำทางที่ถูกต้อง และมีการเตรียมตัวเตรียมใจมาก่อนด้วย

          เธอบอกด้วยว่า หน้าตาของคนไข้ทุกคนที่เธอได้อยู่ใกล้ ไม่เคยเลือนไปจากความจำ บางคนจากไปเป็น ๑๐ ปี นึกขึ้นมาเธอยังจำหน้าได้

          คนไข้คนแรกที่เธอไปช่วย เป็นคนไข้ที่ไม่รู้สึกตัวแล้ว แต่พอเธอไปนั่งคุยด้วย คนไข้น้ำตาไหล

          ฟังดูอาจเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อและไม่อาจยืนยันได้แน่นอน ว่าผู้ป่วยที่หมดสติจะสามารถรับรู้อะไรได้ แต่มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวพันกับเรื่องทำนองนี้อยู่มากมาย

          หญิงชราชาวสกอต ชื่อแม็กกี นั่งเศร้าอยู่ข้างเตียงสามีที่อยู่ในภาวะโคม่าและใกล้ตาย เธอเสียใจที่ไม่เคยบอกสามีว่า เธอรักเขาเพียงใด มาคิดได้ก็เมื่อเขาหมดสติ ไม่ตอบสนองใด ๆ แล้ว แต่พยาบาลแนะนำให้เธอพูดทุกอย่างที่อยากพูด เพราะเขาอาจยังได้ยินคำพูดของเธอ

          เธอจึงใช้เวลาอยู่กับเขาอย่างเงียบๆ แล้วบอกเขาว่า เธอรักเขาอย่างสุดซึ้ง และมีความสุขที่ได้อยู่กับเขา

          จากนั้นก็กล่าวคำอำลากับเขา “ยากมากเลยที่ฉันจะอยู่โดยไม่มีเธอ แต่ฉันไม่อยากเห็นเธอทุกข์ทรมานอีกต่อไป ฉะนั้นหากเธอจะจากไปก็ไปเถิด”

          พูดจบสามีของเธอก็หายใจเฮือกยาวแล้วสิ้นใจอย่างสงบ

          อีกเรื่องหนึ่ง เล่ากันว่าครั้งหนึ่งท่านติชนัทฮันห์ พระเซนชาวเวียดนาม ไปเยี่ยมมิตรชาวอเมริกันชื่อ อัลเฟรด แฮสเลอร์ ซึ่งอยู่ในภาวะโคม่า ใกล้จะสิ้นลม ท่านนั่งลงข้างเตียงอัลเฟรด แล้วพูดถึงประสบการณ์อันน่าประทับใจที่ทั้งสองได้ผ่านมาร่วมกันเมื่อครั้ง เรียกร้องสันติภาพในสงครามเวียดนาม

          ท่านติชนัทฮันห์พูดอยู่ประมาณ ๔๐ นาที

          เมื่อพูดจบ อัลเฟรดลืมตาขึ้นพูดว่า “วิเศษ ๆ”

          จากนั้นเขาก็หลับตา ๒ ชั่วโมงต่อมาเขาก็จากไปอย่างสงบ

 



          มีรายงานการวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ว่า ผู้ป่วยในภาวะโคม่ายังสามารถรับรู้ได้

          รายงานของนายแพทย์พิมฟอน ลอมเมล ซึ่งสัมภาษณ์ผู้ป่วย ๓๔๓ รายที่รอดชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้น ได้ผลสรุปว่าผู้ป่วยร้อยละ ๑๘ จดจำเรื่องราวที่เกิดขึ้นขณะที่ไร้ความรู้สึกได้อย่างแม่นยำ

          และรายงานของนักวิจัยชาวอังกฤษอีกชิ้นพบว่า ผู้ป่วยร้อยละ ๑๑ สามารถจำเหตุการณ์ในขณะที่ตัวเองหมดสติได้

          พระไพศาลจึงเชื่อว่านี้เป็นข้อบ่งชี้ว่า จิตเป็นคนละส่วนกับสมอง ในภาวะที่สมองหยุดทำงานหรือไม่ทำงานตามปรกติ จิตยังสามารถรับรู้ แต่อาจไม่ชัดเจนเท่าในยามปรกติ และไม่อาจบัญชาให้ร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอกได้ ดังนั้นคำพูดหรือการกระทำของคนรอบตัวผู้ป่วยยังสามารถส่งผลทั้งในทางบวกและ ลบต่อผู้ป่วยได้ หมอ พยาบาล และญาติ จึงควรปฏิบัติต่อผู้ป่วยที่หมดสติประหนึ่งคนปรกติ

          กานดาวศรีเองก็เคยผ่านประสบการณ์ด้วยตัวเองในเรื่องนี้

          ตอนท้องลูกคนแรกเธอมีอาการครรภ์เป็นพิษอย่างรุนแรง ไม่ได้สติอยู่ในห้องไอซียูหลายวันหลายคืน ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ รวมทั้งถูกปั๊มหัวใจด้วย ซึ่งระหว่างนั้นเธอบอกว่าได้ยินเสียงหมอพยาบาลวุ่นวายไปหมด และมีช่วงหนึ่งเธอเห็นว่ามีผู้จะมารับตัวเธอ

          “เราไม่เคยคิดเคยเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจเลย แต่รู้สึกว่าเห็นยมทูตจะมารับตัว เราบอกตัวเองว่ายังไม่อยากตาย ลูกก็เพิ่งผ่าออกมา จะทำอย่างไรกัน”

          “เป็นเรื่องพูดยาก” พระไพศาลให้ความเห็นต่อเรื่องที่คนใกล้ตายมองเห็นยมทูต

          “แต่ถ้าตอบอย่างหลวงปู่ดูลย์ ท่านบอกว่า ที่เห็นน่ะจริง แต่สิ่งที่เห็นนั้นไม่จริง”

          แต่อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์เฉียดตายคราวนั้นได้กลายเป็นจุดพลิกเปลี่ยนชีวิตของกานดาวศรีไปเลยก็ว่าได้

          “ก็ขอต่อรองกับคนที่มารับ ว่าขออยู่ต่อได้ไหม จะทำงานทำความดีเต็มที่ทั้งในหน้าที่และนอกหน้าที่ จากนั้นมาก็ช่วยเหลือผู้ป่วยมาตลอด จนเมื่อโรงพยาบาล มอ. ตั้งหน่วยชีวันตาภิบาล เขาก็ชวนเข้าร่วมทีมทำด้วยกัน ทุกวันนี้ภาพคราวนั้นยังกลับมาเตือนเราอยู่เสมอ”

          ธรรมสรณ์ ขุนรักษ์ ก็เป็นอีกคนที่ประสบการณ์ความเจ็บปวดของตัวเองเป็นแรงผลักให้อยากช่วยคนอื่น

          “ตอนผ่าตัดคลอดลูก รู้สึกเจ็บมาก ร้องให้คนอื่นช่วย หมอฉีดมอร์ฟีนให้ทุกชั่วโมง ก็ยังไม่หายเจ็บ ซึ่งเราก็เคยเห็นคนไข้แบบนี้มาก่อน”

          ธรรมสรณ์เป็นพยาบาลหอผู้ป่วยนรีเวช คนไข้ของเธอส่วนใหญ่เป็นโรคมะเร็ง ได้รับการฉายแสง ให้เคมีบำบัดไป ๒-๓ ปี ก็มักจะต้องกลับมาอีก เธอเห็นความทุกข์ของคนไข้และญาติ แต่ยังไม่รู้จะช่วยอย่างไร

          ต่อมาเธอผ่าตัดคลอดลูกคนที่ ๒ อีกครั้ง เธออาศัยประสบการณ์จากการผ่าตัดครั้งแรก รับมือกับความเจ็บปวดด้วยการกำหนดจิตใจตัวเอง แทนการหวังพึ่งหมอหรือยาแก้ปวด “ก็ได้บทเรียนมาใช้ว่าถ้าทำให้จิตใจของคนไข้สบาย เขาก็จะมีความสุข สงบ”

          ธรรมสรณ์สนใจพุทธศาสนา เคยศึกษาธรรมจากสวนโมกข์ตั้งแต่เป็นนักศึกษาพยาบาล และได้นำมาใช้จริง

          “ช่วยเสริมการรักษาให้แก่คนไข้ที่ไม่สามารถรักษาได้แล้วจริงๆ อย่างมะเร็งระยะที่ ๒ หรือระยะที่ ๓ ขึ้นไป หมออาจคาดหวังว่าจะมีชีวิตอยู่ได้แค่ ๓ ปี ๕ ปี แต่ความคาดหวังของญาติและคนไข้อาจไม่ใช่ เราจึงต้องให้เขามีทางเลือกหรือมีความสุขกับช่วงชีวิตที่มีอยู่ ซึ่งความสุขที่เกิดขึ้นได้นี้ เรามองว่าเป็นความสุขทางใจมากกว่า ทำให้เขาเข้าใจและยอมรับความเจ็บป่วยได้ เราพูดกับคนไข้เสมอว่าทุกข์กายอย่าได้ทุกข์ใจ”

          เริ่มจากการทำโดยส่วนตัว ต่อมาก็มีคนชวนไปเป็นอาสาสมัคร ทำกิจกรรมพุทธศาสนาในโรงพยาบาล ให้คนไข้มีโอกาสทำบุญ ใส่บาตร ถวายสังฆทาน สวดมนต์ไหว้พระ ฟังธรรม ในแต่ละหอผู้ป่วย

          นายแพทย์เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี ผู้ก่อตั้งหน่วยชีวันตาภิบาลในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ กล่าวตั้งแต่ต้นว่า หมอพยาบาลทุกคนเข้ามาทำงานนี้ด้วยใจ ไม่ใช่การบังคับหรือเป็นภาระหน้าที่ตามความรับผิดชอบแต่อย่างใด

          ธรรมสรณ์ก็เช่นกัน เธอบอกว่า “ทำเพราะอยากทำ ตามความเชื่อส่วนตัวรู้สึกว่าการรักษาสมัยใหม่ไม่ได้ช่วยคนเป็นโรคร้ายระยะ สุดท้ายจริง ๆ เราเชื่อว่าในช่วงนี้ใจสำคัญกว่ากาย ก็อยากถ่ายทอด แล้วก็พบว่าจริง เพราะได้เห็นว่าเมื่อใจเขาสงบ มันก็ไม่ทุกข์ทรมาน”

          หมอบางคนกล่าวว่าพยาบาลนั้นใกล้ชิดคนไข้ยิ่งกว่าหมอเสียอีก ความจริงก็เป็นเช่นนั้น เพราะพยาบาลประจำอยู่ในหอผู้ป่วยตลอดเวลา

          “เราทำงานเกือบทุกวัน เห็นภาพความเจ็บปวดอยู่ทุกชั่วโมง แต่แค่เห็นพยาบาลที่อ่อนโยน ยิ้มแย้มแจ่มใส คนไข้ก็สบายใจแล้ว ความสุขของฉันคือทำด้วยใจที่ไม่คาดหวังอะไร ไม่รู้สึกว่าตัวเองเสียสละอะไร งานอาสาสมัครไม่จำเป็นต้องสละอะไร เราแค่ไปหาเขา ช่วยให้เขาสบายใจ แล้วคนที่ได้มากกว่าคือเรา”

          หมอสกล สิงหะ ก็ให้ความเห็นไปในทางเดียวกันนี้ ในทำนองว่า “คนแรกที่เปลี่ยนคือคนทำ จะทำให้เราอยู่อย่างไม่ประมาท และมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่า มีความหมาย”

          กานดาวศรีก็เช่นกัน เธอบอกว่าการอยู่กับคนไข้ทำให้เธอรู้สึกตัวว่า ความตายอยู่แค่ปลายจมูก

          “ได้ข้อคิดว่าวันหนึ่งเราก็ต้องตาย เพียงแต่ว่าเราจะตายแบบไหน ตายอย่างไร ถ้ามีสติก็จะไม่หวาดหวั่นหรือยึดติดสังขาร ปล่อยวางทุกอย่าง ไม่ยึดมั่นถือมั่น ทำจิตให้เป็นกุศล ตายแล้วเราไม่รู้หรอกว่าไปไหน แต่รู้ตามหลักศาสนาคือ ถ้าเราทำดี จิตสงบดี จะไปสู่ภพภูมิที่สูง”

          ชีวิตและการงานของกานดาวศรีอยู่กับคนที่เจ็บป่วย เห็นคนจากไปต่อหน้าต่อตาก็มาก

          “บางคนเป็นเหมือนสิ่งที่เคยทำในอดีต เสียงร้องออกมาเหมือนหมู บางคนก็เหมือนไก่ คนเล่นไก่ชนก็ผงกหัวเหมือนไก่ชน” เธอเล่าภาพวาระสุดท้ายของบางคน

          “แต่ถ้าเราอยู่ด้วย จะให้เขานึกถึงความดีที่เคยทำมา เพราะไม่ว่าใครก็ย่อมต้องมีความดีในชีวิต”

          พระไพศาล วิสาโล พูดถึง “ความดี” ในชีวิตคนเราว่า ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นการบริจาคทานหรือการทำบุญกับพระเท่านั้น

          “พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกมาจนโต ให้ลูกพึ่งพาตัวเองได้ เป็นคนดี มีความเจริญก้าวหน้า นี่เป็นความดีที่น่าระลึกถึง หรือความดีของลูกที่มีความกตัญญู เลี้ยงดูพ่อแม่ด้วยความรัก ความซื่อสัตย์ต่อคู่ครอง หรือความดีในการเอื้อเฟื้อเพื่อน ให้อภัยเพื่อน การสละเงินทองความสุขส่วนตัวเพื่อมิตรสหาย ช่วยคนตาบอดข้ามถนน ช่วยเหลือสัตว์ที่อดอยากเดือดร้อน หรือความดีที่ทำกับพระศาสนา ทำบุญ สร้างศาลา กุฏิ หรือการประพฤติปฏิบัติธรรม เหล่านี้คือความดีที่เราสามารถระลึกถึง หรือช่วยให้คนใกล้ตายระลึกถึงความดีเหล่านี้ ให้เกิดความภูมิใจ และมั่นใจว่าตนจะได้ไปสู่สุคติ”

          ท่านให้ความเห็นด้วยว่า ภพภูมิหลังความตายหรือโลกหน้าอาจเป็นเรื่องพิสูจน์ยาก แต่ที่ประจักษ์ได้เดี๋ยวนี้คือประโยชน์ที่ได้รับในชาติปัจจุบัน

          “คนที่จิตสงบ จะตายอย่างไม่ทุรนทุราย ไม่กระสับกระส่าย เขาไปสวรรค์หรือไม่ เราไม่รู้ แต่เราเห็นว่าเขาไปอย่างสงบ ซึ่งดีกับตัวเขาและดีต่อญาติมิตร สิ่งที่ปรากฏต่อหน้ามันพิสูจน์ได้ในเดี๋ยวนั้น”

          ความภูมิใจในสิ่งที่เคยทำมา และความมั่นใจในอานิสงส์ของความดี เป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนใกล้ตาย ซึ่งกำลังจะสูญเสียโลกที่ตนรู้จัก เต็มไปด้วยความกลัว กังวล โดดเดี่ยวอ้างว้างอย่างไม่เคยประสบมาก่อน และก็เป็นอุทาหรณ์ให้คนที่ยังอยู่ได้ตระหนักชัดว่า ทรัพย์สินเงินทองที่สะสมไว้ล้นฟ้านั้น ล้วนแต่ไม่สามารถเอาไปได้

          ความดีเท่านั้น ที่ได้ใช้จนลมหายใจสุดท้าย

 

 


          คงเป็นเรื่องดี ถ้าแนวคิดเรื่องพัลเลียทีฟแคร์แพร่หลายไปทั่วทุกโรงพยาบาล ปัจจุบันแนวคิดนี้ยังไม่อยู่ในแผนนโยบายของระบบสาธารณสุขไทยอย่างเป็นทางการ แต่ในโรงพยาบาลบางแห่งมีหน่วยดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองเกิดขึ้นแล้วจากการ ริเริ่มของบุคลากรภายในสถานพยาบาลเหล่านั้น นอกจากที่สงขลา ขอนแก่น ก็ยังมีที่นครปฐมด้วย



          ที่โรงพยาบาลนครปฐม กลุ่มดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเกิดจากการริเริ่มและการนำของนายแพทย์คมสรรค์ พงษ์ภักดี

          “ผมดูแลคนไข้ในหน่วยระงับปวด ก็เห็นว่าความป่วยไข้มันมีความซับซ้อน มีภาวะทางจิตใจรองรับด้วย บางทีปวดส่วนเล็ก ๆ แต่ความเจ็บปวดในใจมันรุนแรงและบีบคั้นให้เจ็บมากขึ้น บางครั้งการงานที่เราทำก็เป็นความเคยชิน การเห็นความทุกข์คนอื่นซ้ำซากก็เป็นความเคยชินไปด้วย ซึ่งการดูแลคนไข้ใกล้ตายไม่ควรเป็นอย่างนั้น แต่ต้องมองเห็นเขาเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ ยิ่งพอเราเป็นเองก็คิดว่าน่าจะทำอะไรได้มากกว่าที่เป็นอยู่”

          หมอคมสรรค์เล่าว่า เมื่อต้นปี ๒๕๔๗ เขาเริ่มมีอาการหนังตาตก ปวดกล้ามเนื้อคอ เมื่อไปตรวจเอกซเรย์ก็พบเนื้องอกในทรวงอก ระหว่างรอการผ่าตัด ก็เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงด้วย

          “ธรรมชาติของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงอาจเกิดขึ้นโดยไม่เกี่ยวข้องกับอะไรก็ได้ แต่ร้อยละ ๓๐ มีโรคมะเร็งต่อมไทมัสร่วมอยู่ด้วย และโดยทั่วไปเป็นเนื้องอกธรรมดา แต่ของผมเป็นมะเร็งซึ่งแพร่กระจายไปสู่ปอด ต้องผ่าตัดเปิดหน้าอกแล้วให้ยา ให้เคมีบำบัด ผมร่วง อ้วกแล้วอ้วกอีก ฉายแสงก็โทรมสุดขีด แล้วกล้ามเนื้ออ่อนแรงก็ไม่ได้เป็นครั้งเดียว แต่เกิดขึ้นเรื่อย ๆ และมะเร็งก็มีเวลาของมัน”

          หมอคมสรรค์บอกว่า จากนั้นชีวิตเขาก็เปลี่ยนไปหมด เหมือนกับว่าโลกที่เคยเป็นไม่ใช่โลกของเราอีกต่อไปแล้ว เหมือนถูกกักบริเวณหรือถูกเปลี่ยนไปสู่โลกที่ไม่รู้จัก

          “วันหนึ่งไปเดินห้างแล้วก็เหนื่อยหมดแรงอยู่กลางห้าง คิดว่าต้องตายแน่แล้ว แต่รอดมาได้ วันนั้นจึงตั้งใจเลยว่าไม่อยากมีความทุกข์แบบนั้นอีก ไม่อยากอยู่กับความทุกข์ไปจนวันตายโดยไม่รู้อะไรเลย”

          เดือนสิงหาคม ๒๕๔๘ หมอคมสรรค์กับพยาบาลกลุ่มหนึ่งในโรงพยาบาลนครปฐม เข้ารัการอบรมเผชิญความตายอย่างสงบ ที่เครือข่ายพุทธิการ่วมกับเสมสิกขาลัยจัดขึ้นครั้งแรก จากนั้นก็นำหลักการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเข้ามาใช้ในโรงพยาบาลนครปฐม

          “เมื่อไปนำเสนอกับคนไข้ ผมย้ำทุกครั้งว่านี้เป็นทางเลือก ผมไม่เอาเรื่องที่ตัวเองใช้ไปบังคับให้คนอื่นทำ”

          หมอคมสรรค์เล่าถึงงานที่เขาและเพื่อนพยาบาลในกลุ่มทำกันอยู่

          “จะถามเขาก่อนว่าชอบอะไร ชอบทำบุญใส่บาตร สวดมนต์ไหว้พระ ก็ชวนเขาทำ แต่ไม่จำกัดอยู่แค่เรื่องศาสนา บางคนชอบฟังเพลงก็เปิดเพลงให้ฟัง บางคนชอบอยู่กับญาติมิตรที่รายล้อมทำให้เขารู้สึกถึงความอบอุ่น ความผูกพันในครอบครัว ช่วยให้เขาเผชิญหน้ากับความตายได้อย่างสงบ”

          หมอเล่าให้ฟังถึงคนไข้บางรายที่เคยให้ความช่วยเหลือ

          “คนไข้คนหนึ่ง ลูก ๆ ยอมรับแล้วว่าแม่คงไม่ไหว แต่ลูกสาวคนสุดท้องที่เพิ่งมาถึง บอกว่าต้องปั๊มอีก อาจเพราะไม่ได้ดูแลกันมาก่อน เท่าที่สังเกตดู คนที่ไม่ค่อยได้ดูแลกัน มักมีความขัดแย้งในใจสูง เลยต้องแสดงการทำอะไรเพื่อคนไข้มาก เพราะความรู้สึกผิดในใจหรือไม่ อันนี้ผมขอไม่พูดถึง ผมก็คุยกับเขาตรง ๆ ว่า คุณยายอายุเกือบ ๙๐ แล้ว การปั๊มอาจทำให้ซี่โครงหัก เจ็บปวดทรมาน แล้วถึงอย่างไรก็ไม่ใช่จะทำให้คนไข้ฟื้นขึ้นมาเป็นปรกติได้ แล้วจะทรมานไปเพื่ออะไร การยืดลมหายใจออกไป เป็นความต้องการของเรา หรือของคนไข้กันแน่ ผมบอกเขาด้วยว่าไม่ได้ต้องการก้าวก่ายเรื่องในครอบครัว ไม่ได้ชักจูงโน้มน้าวให้เชื่ออะไร แต่สิ่งที่ต้องการจะบอกคือ วาระสุดท้ายเป็นสิ่งสำคัญ เป็นโอกาสสุดท้ายที่จะได้อยู่กับคนรักซึ่งหาไม่ได้อีกแล้ว ในที่สุดเขาก็เข้าใจ และยืนอยู่ข้างเตียงจนคนไข้เสียชีวิต ทุกคนได้รับรู้การเปลี่ยนแปลงของคนที่เขารักจนวาระสุดท้าย”

          ก็เหมือนกับการรักษาในระบบการแพทย์สมัยใหม่โดยทั่วไป หมอคมสรรค์บอกว่า เดิมคนไข้ของเขาก็จะได้รับการดูตามหลักการ ถ้าหยุดหายใจ หมอก็ช่วยปั๊ม ใส่ท่อช่วยหายใจ ให้ยากระตุ้น ตามกระบวนการรักษา

          “การรองรับในบริบทของสิ่งแวดล้อมรอบตัวคนไข้เราไม่ค่อยได้ทำ แต่หลังจากมีเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเกิดขึ้น จากเดิมที่ไม่อนุญาตให้ญาติเข้ามาในห้องไอซียู เราก็ยอมให้เข้ามาได้ ให้โอกาสเขาอยู่ด้วยกันจนวาระสุดท้าย ผมคิดว่าเป็นความรู้สึกที่ดีต่อคนไข้และญาติ”

          ห้องผู้ป่วยหนัก (ไอซียู) ศัลยกรรม โรงพยาบาลนครปฐม ญาติสามารถเข้าออกได้ตามเวลาเยี่ยม และเยี่ยมได้ตลอดเวลาสำหรับผู้ป่วยหนักระยะสุดท้าย

          ตึกศัลยกรรม เป็นการรักษาเกี่ยวกับการผ่าตัด ซึ่ง สำลี คิมนารักษ์ หัวหน้าพยาบาลห้องไอซียูศัลยกรรม บอกว่าปัจจุบันสัดส่วนผู้ป่วยราวครึ่งหนึ่งมาจากอุบัติเหตุ

 



          “คนไข้ไอซียูไม่ได้หมายถึงผู้ป่วยระยะสุดท้ายทุกคน โครงการนี้จึงได้ใช้กับคนไข้หลายกลุ่ม” สำลีประเมินและเล่าถึงผลที่เกิดขึ้น

          “การอบรมธรรมะสอนให้เราทำจิตให้สงบ ปรกติวิชาชีพพยาบาลก็สอนให้นึกถึงจิตใจของคนไข้ แต่การได้รับการอบรมจากโครงการนี้ช่วยให้พยาบาลอ่อนโยน นุ่มนวลขึ้น และได้ข้อคิดว่าการเจ็บไข้เป็นเรื่องปรกติธรรมดา การกระทำต่างหากที่จะทำให้เราใช้ชีวิตที่เหลืออย่างมีความหมาย”

          เช้าวันศุกร์ของทุกสัปดาห์ จะมีการนิมนต์พระเข้ามารับบิณฑบาตในห้องไอซียู คนไข้ได้ใส่บาตรจากบนเตียง และถ้ามีคนไข้เสียชีวิต พระก็ประกอบพิธีกรรมให้ได้หากญาติต้องการ

          ศุกร์ปลายเดือนมิถุนายน วีระชัย ชัยบุญธรรม นอนไม่ได้สติอยู่บนเตียงคนไข้ในห้องไอซียูกับคนไข้รายอื่น ๆ อีกราว ๑๐ คนในสภาพเจ็บป่วยหนักไม่ต่างกัน ร่างกายของทุกคนสอดท่อต่อสายระโยงระยางเชื่อมกับจอรายงานสภาพร่างกาย บางเตียงมีญาติห้อมล้อม ขณะที่บางคนนอนอยู่โดดเดี่ยว มีพยาบาลคอยเวียนไปดูอาการตามเวลา

          เมื่อพระมาถึง สาหร่าย ภรรยาของวีระชัย จับมือเขายกภัตตาหารใส่ลงในบาตรพร้อมทั้งบอกกล่าวกับเขา แม้สามีจะไม่รู้สึกตัว แต่นางบอกว่ารู้สึกดีที่ได้ช่วยให้เขาได้ทำบุญใส่บาตร จะได้อุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร จะได้สิ้นเวรต่อกัน และช่วยให้สามีหายไวๆ นางบอกว่านี่เป็นครั้งแรกที่ได้ใส่บาตรในโรงพยาบาล สามีของนางเพิ่งเข้าโรงพยาบาลเมื่อ ๖ วันก่อน เนื่องจากประสบอุบัติเหตุจากการขับมอเตอร์ไซค์

          อีกรายเป็นคนไข้หญิง อายุ ๗๖ ปี นอนไม่รู้สึกตัวอยู่ในห้องไอซียูมาระยะหนึ่งแล้ว หมอแจ้งกับญาติตามความจริงว่า โอกาสที่จะหายได้กลับบ้านราว ๕๐ : ๕๐ ลูกสาวที่มาเยี่ยมและพาแม่ใส่บาตร บอกว่ายังทำใจได้ไม่เต็มร้อย แต่ก็ไม่อยากให้แม่ทุกข์ทรมานไปมากกว่านี้ “ก่อนล้มป่วย แม่ก็บ่นว่าเบื่อการกินยาแล้ว แม่คงทรมาน เพราะเป็นหลายโรค และต้องกินยาต่อเนื่องมาเป็นสิบปีแล้ว”

          คนไข้ไม่รู้สึกตัว แต่ผู้เป็นลูกสาวบอกว่า ทุกครั้งที่จับมือแม่ใส่บาตร แม่มีอาการตอบสนอง

          โดยส่วนตัว จาระไน เที่ยงประคอง ลูกสาวคนไข้หญิงวัย ๗๖ ปี บอกว่าประสบการณ์จากการดูแลแม่ที่ป่วย และการศึกษาธรรมะจากหลายๆ ที่ ทำให้จิตใจของเธอสงบเย็นลง และตระหนักในความจริงว่า สังขาร ทรัพย์สมบัติไม่ใช่ของเรา ทำให้เธอคิดไปถึงการบริจาคร่างกายเมื่อตัวเองสิ้นชีวิต

          “เราไปแล้ว ถ้าร่างกายเกิดประโยชน์กับคนอื่นก็โอเค อยากช่วยคนที่จำเป็นต้องใช้”

          พระเดินรับบิณฑบาตจากคนไข้จนครบทุกเตียง ที่ไม่มีญาติอยู่ พยาบาลก็จะพาใส่ เสร็จสิ้นแล้วเสียงพระเจริญพระพุทธมนต์ก็ดังก้องไปทั่วห้อง

          “คนเราเกิดมาแล้วก็ต้องมีแก่เจ็บตายทุกคน” หัวหน้าพยาบาลห้องไอซียูศัลยกรรมพูดถึงสัจธรรมของชีวิต และฝากข้อคิดถึงคนที่ยังไม่เจ็บป่วย

          “ก่อนจะถึงวาระสุดท้ายของชีวิต อยากให้เราทำแต่สิ่งที่ดี ถึงเวลาเจ็บป่วยก็ให้คิดได้ ปล่อยวางสิ่งที่เคยยึดติด”

          นอกเหนือจากการงานตามหน้าที่ในเวลาราชการ หมอคมสรรค์ พงษ์ภักดี ยังคงแวะเวียนไปให้คำปรึกษาคนไข้ตามตึกต่าง ๆ อยู่เป็นนิจ

          ช่วงนี้มีรายหนึ่งที่หมอแวะไปเยี่ยมเยียนพูดคุยอยู่สม่ำเสมอ เป็นคนไข้โรคมะเร็ง เข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลนครปฐมอยู่ ๖ เดือนแล้ว เธอยินดีเปิดเผยตัวและให้เปิดเผยชื่อ

          “เราอยากให้เป็นวิทยาทานแก่คนอื่น และได้เป็นบุญกับเราด้วย” กฤษณา ตั้งเหรียญทอง คนไข้หญิงอายุ ๔๗ ปี พูดด้วยหน้าตายิ้มแย้ม น้ำเสียงแจ่มใส เพียงผิวพรรณที่ดูออกซีดเล็กน้อย ที่พอให้สังเกตได้ว่าเธอกำลังเจ็บป่วย แต่ใบหน้ายังคงเค้าของความเป็นคนสวย

          “ตอนแรกมาไม่ไหวเลย” กฤษณาเล่าอาการของตัวเอง เปรียบเทียบกับปัจจุบัน “สั่นไปหมด ต้องให้ออกซิเจน หมอปรับเปลี่ยนยาให้ก็ดีขึ้น หมอคมสรรค์มาคุย ก็ทำให้เราไม่เครียด ทำให้รู้สึกว่าตัวหมอเองยังสู้ เรามีแรงเท่าใดก็ต้องสู้ สู้เท่าที่สู้ได้”

          เธออยากให้ประสบการณ์ชีวิตของตัวเองเป็นบทเรียนและกำลังใจแก่คนอื่น

          “ถ้าใครเป็นอย่างนี้ก็อย่าท้อ ให้สู้กับมัน เมื่อเขามาอยู่กับเราแล้ว ใจต้องมาเป็นหนึ่ง ทำใจให้ได้ ยอมรับว่าเราเป็นแล้ว ไม่หาย ให้คุณมีเงินท่วมหัว มันก็ไม่หาย เห็นไหมบางคนเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนอะไรทุกอย่างก็สู้ไม่ได้ เราหนีความตายไม่พ้นหรอก แต่อย่าให้เขามาเอาชนะเราง่าย ๆ”

          หลังรับการรักษามาจนเดี๋ยวนี้ อาการของเธอดีขึ้นจนลุกเดินไปไหนเองได้ หมออนุญาตให้เธอกลับบ้านได้ในเร็วๆ นี้ ซึ่งเธอก็ยินดีว่าจะได้เปลี่ยนบรรยากาศบ้าง ไม่ต้องอุดอู้อยู่แต่ในห้องผู้ป่วย แต่อยู่โรงพยาบาลดีที่มีที่ปรึกษา

          พบกันแต่ละครั้งก็มีเรื่องให้คุยกันตั้งแต่เรื่องสัพเพเหระจนถึงเรื่องความเจ็บไข้

          “ตอนแรกที่ไปตรวจที่สถาบันมะเร็ง ดิฉันร้องไห้เลย” กฤษณาเล่าความหลังให้หมอฟัง

          “หมอเขาบอกไม่อ้ำอึ้งเลย เหมือนระเบิดลง ดิฉันชาไปทั้งตัว”

          “ผมว่ามันเป็นศิลปะนะ” หมอคมสรรค์แลกเปลี่ยน “การจะบอกข่าวร้าย เป็นเรื่องสะเทือนอารมณ์ ต้องมีวิธีการ ไม่โกหก พูดความจริง แต่ไม่ทำให้ความรู้สึกของคนไข้เสีย”

          “หลังรู้ผล ไม่ติดต่อเพื่อนเลยราว ๒ เดือน เพื่อนโทรมา และมารับเราออกไปข้างนอก ได้คุยกับคนโน้นคนนี้ ก็เริ่มทำใจได้มาแต่นั้น ดีที่ญาติก็ไม่ทิ้ง เพื่อนก็มาเยี่ยม เปลี่ยนเราให้ต้องสู้”

          กฤษณาเล่าเรื่องของเธอไปเรื่อยๆ

          “ช่วงแรกไม่ได้เข้าโรงพยาบาลเลย รักษาชีวจิต กินผัก ผลไม้ ทำดีท็อกซ์ กลับไปอยู่บ้านสวนที่จันทบุรี แล้วเกิดล้มจึงต้องเข้าโรงพยาบาล เดินไม่ได้อยู่ครึ่งปี ตอนนี้พอเดินไปไหนมาไหนได้ ซึ่งถือว่าดีมากแล้ว และเป็นบุญอย่างหนึ่งว่าเราไม่เจ็บไม่ปวด”

          “เป็นความโชคดีในความโชคร้าย” หมอคมสรรค์เสริม แล้วเล่าเรื่องของตัวเองให้คนไข้ฟังบ้าง

          “ของผมฉายแสงด้วย ผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออก ให้เคมีบำบัด แล้วฉายแสง”

          “เคมีบำบัดนี่อะไรคะคุณหมอ ที่เขาเรียกให้คีโมใช่ไหม”

          “ใช่ จะเป็นสูตรตามชนิดของมะเร็ง ผมให้มา ๔ ครั้ง คุณกฤษณาให้มา ๕-๖ ครั้งใช่ไหมครับ”

          “ค่ะ ทีแรกก็ว่าดี ผมไม่ร่วงเลย ผ่านไป ๒-๓ วัน เอามือเสยผม โอ้ หลุดติดมือมาเป็นกระจุกเลย”

          “เคมีบำบัดระงับการเติบโตของเซลล์เนื้อร้าย รวมทั้งเซลล์ดีด้วย ฉะนั้นผมจะร่วง เพราะผมเป็นเซลล์ที่มีการเติบโตเร็ว ก็แล้วแต่ชนิดของเคมี บางคนผมไม่ร่วง แต่กินข้าวกินน้ำไม่ได้ก็มี ผมนี่อ้วกอยู่สามวันสามคืน”

          “ดิฉันฟื้นเร็ว ให้วันนี้ วันรุ่งขึ้นก็ฟื้น”

          “แสดงว่าร่างกายปรับตัวได้ดี”

          หมอคมสรรค์ยิ้มอ่อนโยน

          “เหนื่อยหรือยังครับ คุยกันนานแล้ว”

          “คุยได้หลายชั่วโมง ทะเลาะกับลูกทีเป็นชั่วโมง” ประโยคหลังเธอพูดเป็นทีเล่น

          “อย่าทะเลาะกันมาก เดี๋ยวต้องไปอยู่ที่บ้านด้วยกันแล้ว”

          “ถ้าไม่ต้องเฝ้าดิฉันที่โรงพยาบาล ลูกชายบอกว่าอยากจะกลับไปเรียนต่อ”

          “กลับไปอยู่บ้านคุณกฤษณาก็ระวังตัวด้วย อย่าให้หกล้มอีก”

          “ค่ะ คงไม่แล้ว หรือถ้าเกิดขึ้นอีกก็คงไม่เข้าโรงพยาบาลแล้ว เข้าวัดเลย”

          คนฟังอึ้ง

          “พูดเล่น ยังอยากเห็นคุณหมออยู่”

          เดินจากห้องคนไข้มาแล้ว หมอคมสรรค์บอกว่า กับผู้ป่วยทุกคนที่ให้คำปรึกษา เขาไม่คาดคั้นคาดหวังผล

          “ได้แค่ไหนเอาแค่นั้น ไม่มีเรื่องความอยากเป็นแรงผลักดัน เราไม่สามารถบังคับใจคนไข้ได้ เราทำเหตุให้เต็มที่ ส่วนเรื่องผลก็เป็นเรื่องของผล ไม่เกี่ยวกับเราแล้ว”

          เรื่องชีวิตส่วนตัวและครอบครัวก็เช่นกัน

          “ผมบอกเมียเลยว่า ถ้าผมตายคือจบ เหลือจากนั้นทุกคนต้องดูแลช่วยเหลือตัวเอง ทุกวันนี้ผมทำหน้าที่ของความเป็นพ่อ ดูแลทุกคนเต็มที่ทั้งร่างกายและจิตใจ เท่าที่กำลังของผมมี จนวาระสุดท้ายผมต้องดูแลตัวเอง หลังจากนั้นไปทุกคนก็ต้องดูแลตัวเอง ตอนนั้นพ่อผมตายด้วยอุบัติเหตุ จากนั้นมาเราก็ทำหน้าที่ของตัวเอง ตั้งใจเรียนหนังสือ อยู่ในครอบครัวของเราให้ได้ เราต้องช่วยเหลือตัวเอง ไม่ใช่ที่จะให้คนตายต้องมาเป็นกังวล”

          เขาอยู่กับงานช่วยเหลือผู้ป่วยใกล้ตายมาระยะหนึ่งแล้ว เมื่อถามตัวเองว่าพร้อมจะเผชิญความตายไหม

          หมอคมสรรค์ตอบว่า

          “ผมเคยถามหลวงพ่อว่า เวลาจะตายจริง ๆ ผมต้องทำอย่างไร ท่านว่าถ้ายังไม่ถึงจุดที่ต้องตาย ก็ไม่เห็นต้องหวาดหวั่นอะไร แต่วันหนึ่งถ้าร่างกายมันไม่ไหวจริง ๆ อย่างไรก็ต้องตาย หนีไม่รอด ถ้าฝึกใจมาดี เรียนรู้มาดี จิตสุดท้ายจะตั้งมั่นขึ้นมา ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม พูดได้แต่ทำยาก ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ซ้ำแล้วซ้ำอีก”

          คงอย่างที่อริยสงฆ์รูปนั้นว่าไว้

          ที่เพียรปฏิบัติมาชั่วชีวิต ก็เพื่อจะใช้ในเวลาสุดท้ายเท่านั้น

 

 



          การรู้จักและเข้าใจความตายนั้น ด้านหนึ่งก็เพื่อจะช่วยให้คนที่จากไปได้ไปดี แต่มากกว่านั้นก็คือผลที่เกิดแก่ตัวผู้เรียนรู้เอง

          เป็นความจริงว่า ความตายในสายตาปุถุชนทั่วไปคือ ภาวะจนตรอกที่เรามีแต่จะต้องแพ้พ่ายสถานเดียว แต่กับคนที่ยอมรับและเข้าใจความตาย นั่นเป็นโอกาสแห่งความเจริญงอกงามของชีวิตด้านจิตวิญญาณ

          การตายจึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ต้องเรียนรู้ ไม่ใช่แค่เพื่อไปเกิดในภพภูมิใหม่ที่พึงปรารถนา หากแต่จุดหมายสูงสุดคือวิมุติหรือความหลุดพ้น

          ท่านพุทธทาสแนะวิธีปฏิบัติเพื่อการเข้าสู่ภาวะที่ท่านเรียกว่า “ดับไม่เหลือ” ไว้ดังนี้

          วิธีหนึ่ง ให้มีความดับไม่เหลือแห่งความรู้สึกยึดถือ "ตัวกู" หรือ "ของกู" อยู่เสมอในชีวิตประจำวัน

          “การดับไม่เหลือในที่นี้ก็คือ อย่าให้ ตัวกู เกิดขึ้นมาได้ เมื่อแม่ของมันคืออวิชชา ก็ให้ฆ่าแม่ของมันเสียด้วยวิชชา หรือปัญญาที่ว่า ไม่มีอะไรควรยึดมั่นถือมั่น แม้แต่สิ่งที่เรียกว่านิพพาน”

          อีกวิธี ท่านแนะให้ “ตกกระไดพลอยโจน”

          คือ

          “ในเวลาจวนเจียนจิตจะดับนี้ อยากกล่าวว่ามันง่ายเหมือนตกกระไดแล้วพลอยโจน ไหน ๆ ก็เมื่อร่างกายนี้มันอยู่ต่อไปไม่ได้อีกแล้ว จิตหรือเจ้าของบ้านก็พลอยกระโจนตามไปเสียด้วยก็แล้วกัน ให้ปัญญามันกระจ่างขึ้นมาในขณะนั้นว่า ไม่มีอะไรที่น่าจะกลับมาเกิดใหม่ เพื่อเอา เพื่อเป็น เพื่อหวัง อะไร อย่างใด ต่อไปอีก”

          หรือ

          “สมมุติว่า ถูกควายขวิดจากข้างหลัง หรือรถยนต์ทับ หรือตึกพังทับ ถูกลอบยิง หรือถูกระเบิดชนิดไหนก็ตาม ถ้ามีความรู้สึกเหลืออยู่แม้สักครึ่งวินาทีก็ตาม จงน้อมจิตไปสู่ความดับไม่เหลือ หรือทำความดับไม่เหลือเช่นว่านี้ให้แจ่มแจ้งขึ้นใจ เหมือนที่เคยฝึกอยู่ทุกค่ำเช้าเข้านอน ขึ้นมาในขณะนั้น แล้วให้จิตดับไป ก็เป็นการเพียงพอแล้วสำหรับการตกกระไดพลอยโจนไปสู่ความดับไม่มีเชื้อเหลือ”

          แต่

          “หากจิตดับไปเสีย โดยไม่มีเวลาเหลืออยู่สำหรับให้รู้สึกได้ดังว่า แปลว่าถือเอาความดับไม่เหลือที่เราพิจารณาและมุ่งหมายอยู่เป็นประจำใจทุกค่ำ เช้าเข้านอนนั่นเอง เป็นพื้นฐานสำหรับการดับไป เป็นการดับไม่เหลืออยู่ดี ไม่เสียท่าทีแต่ประการใด”

          ว่าด้วยเรื่องการตกกระไดพลอยโจนนี้ ท่านพุทธทาสภิกขุยังรจนาไว้ในบทกวีชื่อ “ผู้ดับไม่เหลือ” (ตอนท้าย) ว่า

          เมื่อเจ็บไข้ ความตาย จะมาถึง
          อย่าพรั่นพรึง หวาดไหว ให้หม่นหมอง
          ระวังให้ ดีดี นาทีทอง
          คอยจดจ้อง ให้ตรงจุด หลุดได้ทัน

          หนึ่งนาที สุดท้าย อย่าให้พลาด
          ตั้งสติ ไม่ประมาท เพื่อดับขันธ์
          ด้วยจิตว่าง ปล่อยวาง ทุกสิ่งอัน
          สารพันนั้น ไม่ยึดครอง เป็นของเรา

          ตกกระได พลอยกระโจน ให้ดีดี
          จะถึงที่ จุดหมาย ได้ง่ายเข้า
          สมัครใจ ดับไม่เหลือ เมื่อไม่เอา
          ก็ดับเรา ดับตน ดลนิพพาน


 

เอกสารประกอบการเขียน
โซเกียล รินโปเช. ประตูสู่สภาวะใหม่. ๒๕๔๔
นพ. เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี บรรณาธิการ. บทเรียนจากผู้จากไป. ๒๕๔๙
พระไพศาล วิสาโล. การช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วยวิธีการแบบพุทธ. ๒๕๔๙
พระไพศาล วิสาโล. เผชิญความตายอย่างสงบ. ๒๕๔๙

ขอขอบคุณ
- หน่วยชีวันตาภิบาล โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (มอ.)
- กลุ่มดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย โรงพยาบาลนครปฐม
- เสมสิกขาลัย
- โครงการเผชิญความตายอย่างสงบ

ที่มา: