Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

มรณสติ

-A +A

บทความนี้ตีพิมพ์ลงในหนังสือมรณสติ
จัดพิมพ์โดย ชมรมกัลยาณธรรม

          เราทุกคน ไม่ว่ายากดีมีจน ล้วนปรารถนาชีวิตที่ดีงาม ชีวิตที่ดีงามนั้น แต่ละคนมีความเข้าใจแตกต่างกันไป บางคนเข้าใจว่าหมายถึงชีวิตที่ถึงพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียง เกียรติยศ มีหน้าที่การงานที่มั่นคง มีครอบครัวที่อบอุ่น ส่วนบางคนมองว่าชีวิตที่ดีงามคือชีวิตที่มีธรรมะเป็นเครื่องปกปักรักษาใจและ เป็นเข็มทิศในการดำเนินชีวิต

          หลายท่านได้ใช้ความเพียรพยายามเพื่อบรรลุถึงชีวิตที่ดีงามดังกล่าว สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วเรามักจะให้ความสำคัญกับการทำให้ชีวิตที่เป็นอยู่นั้นมีความสุข ไม่ว่าจะเป็นความสุขในระดับใดก็ตาม พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือเราทุกคนปรารถนาที่จะอยู่ให้ดี แต่ว่าความจริงอย่างหนึ่งที่เราต้องตระหนักและหนีไม่พ้นก็คือ เราทุกคนต้องตาย ไม่ว่าจะอยู่ดีมีสุขเพียงใด ประสบความสำเร็จในชีวิตหรือไม่ ในที่สุดเราทุกคนก็ต้องตาย

 

วางใจให้เป็น

          ส่วนใหญ่ เรามักจะคำนึงถึงแต่เรื่องการอยู่ดี แต่มองข้ามเรื่องการตายดีไป แท้ที่จริงแล้วอยู่ดีกับตายดีเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ถ้าหากว่าเรามองไม่เห็นถึงความเชื่อมโยงดังกล่าว เราก็จะสนใจแต่เพียงการอยู่ดีเท่านั้น ทั้งที่การตายดีนับเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องคำนึงถึงด้วย ไม่ใช่นึกถึงแต่เรื่องการอยู่ดีเพียงอย่างเดียว

          เวลาพูดถึงความตาย คนส่วนใหญ่ก็จะรู้สึกเสียวสยองไปถึงหัวใจ ไม่อยากคิดหรือไม่อยากฟังแม้แต่คำว่าความตาย ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าเรามองว่าความตายเป็นสิ่งที่น่ากลัวเสียเหลือเกิน แต่ความจริงแล้ว ความตายไม่ใช่เรื่องน่ากลัวเลย สิ่งที่น่ากลัวกว่าก็คือ ใจของเรานั่นเองที่วางไว้ไม่ถูกต้อง เช่น กลัวตาย หรือไม่เข้าใจความตายดีพอ ถ้าหากว่าเรารู้จักวางใจอย่างถูกต้อง ความตายก็ไม่น่ากลัว และเมื่อถึงเวลาที่จะต้องตาย ก็สามารถตายอย่างสงบได้

          การตายอย่างสงบ เราจะเรียกว่าเป็นการตายดีก็ได้ คือตายไม่ทุรนทุราย ตายเพราะใจพร้อมน้อมรับความจริงโดยดุษณี ความจริงที่ว่านี้ก็คือความตายเป็นธรรมดาของทุกชีวิต ทุกชีวิตเมื่อเกิดแล้วก็ต้องแตกดับไป การตายดีนั้นเกิดขึ้นได้กับคนที่เตรียมพร้อมและยอมรับความจริงดังกล่าว ดังนั้น แม้ว่ายังไม่มีความปรารถนาที่จะตาย แต่เมื่อถึงเวลาตายก็สามารถจากไปอย่างสงบได้

          เราคงเคยได้ยินได้ฟังเรื่องของคนตายอย่างสงบ ตายอย่างสง่า อาจารย์โกวิท เขมานันทะ ลูกศิษย์คนสำคัญของท่านอาจารย์พุทธทาส เคยเล่าถึงทวดของท่านคนหนึ่งซึ่งเมื่อถึงวันจะสิ้นลม ท่านก็นั่งขัดสมาธิพิงเสาเรือน แล้วก็จากไปอย่างสงบในท่านั่งนั้น อาจารย์โกวิทซึ่งตอนนั้นเป็นเด็กมาก เล่าว่าคุณทวดหน้าตาอิ่มเอิบ ผิวพรรณผ่องใส ทั้งๆที่ชรามากแล้ว แต่สิ้นลมโดยไม่มีอาการที่น่ากลัวเลย เป็นการตายอย่างสงบ

          อาจารย์โกวิทยังพูดถึงคุณป้าของท่านคนหนึ่ง ซึ่งเมื่อรู้ตัวว่าจะสิ้นชีวิต ก็มีสติบอกลูกหลานให้ไปนิมนต์พระมาได้แล้ว เมื่อพระมาถึงท่านก็นอนพนมมือไว้กลางอก ฟังพระสวดแล้วก็สิ้นลมไปในท่านั้น เรียกว่าแทบจะรู้ตัวกระทั่งนาทีสุดท้ายของชีวิต เป็นการจากไปอย่างสงบ

 

อยู่แบบลืมตาย-หลงตาย

          น่าสงสัยว่าทุกวันนี้ จะมีใครสักกี่คนที่สามารถจากไปในลักษณะนั้นได้ เพราะว่าเดี๋ยวนี้เรามองความตายเป็นเรื่องน่ากลัว เป็นเพราะเห็นความตายเป็นเรื่องน่ากลัวเราจึงพยายามไม่นึกถึงมัน เราพยายามทำใจให้วุ่น ทำชีวิตไม่ให้ว่าง ส่วนหนึ่งก็เพื่อเราจะได้ไม่ต้องนึกถึงความตายที่จะต้องเกิดขึ้นกับเราอย่างแน่นอนไม่วันใดก็วันหนึ่ง

          เราทำตัวให้วุ่น ทำชีวิตไม่ให้ว่าง ทำงานทั้งวันทั้งคืน หรือไม่ก็สนุกสนานรื่นเริง เสพสุข เที่ยวห้าง แสวงหาความบันเทิง สรรหาสิ่งแปลก ๆ ใหม่ ๆ อยู่เสมอก็เพื่อจะได้ไม่ต้องนึกถึงความตาย เราจึงมีชีวิตอยู่เหมือนคนลืมตาย

          ทุกวันนี้คนที่อยู่แบบลืมตายมีเป็นจำนวนมาก คือลืมไปว่าตนเองจะต้องตาย และส่วนใหญ่เมื่อมีชีวิตอยู่แบบลืมตาย ถึงเวลาสิ้นลมก็จะมีอาการอย่างที่คนโบราณเรียกว่า หลงตาย คือตายด้วยความหลง ตายด้วยความทุกข์ทรมาน กระสับกระส่าย ยิ่งสมัยนี้มีเทคโนโลยีนานาชนิด ซึ่งในบางกรณีแทนที่จะเป็นการยืดชีวิตหรือช่วยชีวิต กลับเป็นกระบวนการยืดความตาย ก็เท่ากับว่าทำให้สภาวะหลงตายยืดยาวไปด้วยเช่นกัน

 

ภาวะตายทั้งเป็น

          แต่ก่อนจะถึงภาวะหลงตาย หลายคนจะมีชีวิตเหมือนคนตายหรืออยู่ในภาวะตายทั้งเป็น เช่น พอได้ทราบว่าตัวเองเป็นโรคร้าย เป็นมะเร็ง เป็นเอดส์ หรือเป็นโรคอะไรก็ตามที่รักษาไม่หาย ทั้งๆที่สุขภาพยังไม่ถึงกับย่ำแย่ แต่เพียงแค่ได้ฟังคำวินิจฉัยจากแพทย์ว่าตัวเองมีโรคมะเร็ง ทั้ง ๆ ที่เป็นขั้นที่หนึ่งเท่านั้น ก็เข่าอ่อน หมดเรี่ยวแรง ไม่เป็นอันกินอันนอน นอนไม่หลับ หน้าตาซีดเซียว ขาดชีวิตชีวาตั้งแต่วินาทีแรกที่รู้ข่าว อย่างนี้เรียกว่าเสมือนตายทั้งเป็น แม้ยังมีชีวิตแต่ก็เหมือนตายแล้ว นี้คือสภาพที่เกิดขึ้นกับคนในยุคปัจจุบันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีชีวิตอยู่แบบลืมตาย ก็เลยหลงตาย และก่อนที่จะหลงตายก็อยู่เหมือนตาย คือตายทั้งเป็นเมื่อได้ทราบข่าวร้าย

          จริงๆแล้ว เราไม่จำเป็นต้องอยู่ในสภาวะเช่นนั้นก็ได้ ถึงแม้ว่าความตายจะต้องเกิดขึ้นกับทุกคน ถึงแม้จะมีความจริงอยู่ว่า เราเลือกไม่ได้ว่าจะตายเพราะเหตุใด หรือเรารู้ไม่ได้ด้วยซ้ำว่า เราจะตายที่ไหน ตายเมื่อไร อายุเท่าไร ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า สิ่งที่รู้ล่วงหน้าไม่ได้ ๕ อย่าง คือ ไม่รู้จะตายด้วยเหตุใด ที่ไหน อย่างไร ด้วยอายุเท่าไร และตายแล้วจะไปไหน ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เราไม่สามารถจะเลือกได้ แม้จะเป็นเอดส์หรือเป็นมะเร็ง ก็ไม่แน่ว่าจะตายด้วยโรคนั้นๆเสมอไป

 

สิทธิในการตายอย่างสงบ

          แต่เราเลือกได้ว่า เราจะตายด้วยอาการอย่างไร จะตายด้วยความทุรนทุราย หรือตายด้วยอาการสงบ เราเลือกได้ว่าจะวางใจอย่างไรเมื่อวาระสุดท้ายมาถึง แต่ไม่ได้หมายความว่าอยู่ดีๆ เราจะเลือกได้ตามใจชอบ เราเลือกได้เพราะเราเตรียมตัวไว้ก่อน เมื่อเรารู้ว่าควรจะตายด้วยอาการอย่างไร เราก็ฝึกฝนพัฒนาจิตใจเพื่อให้ตายอย่างนั้นได้ นี้คือสิ่งที่อยู่ในวิสัยของเราที่จะทำได้ แม้เรากำหนดไม่ได้ว่าจะตายเมื่อไรและที่ไหนด้วยสาเหตุใดก็ตาม

          เราไม่รู้หรอกว่า เราจะตายด้วยโรคร้าย ด้วยอุบัติเหตุ หรือเพราะถูกทำร้าย แต่เราสามารถที่จะสร้างหลักประกันได้ในระดับหนึ่งว่า เราจะตายดีได้หรือไม่ ความตายอย่างสงบเป็นสิทธิของทุกคนจริงๆ ทุกคนในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงพระสงฆ์องค์เจ้า หรือนักปฏิบัติธรรมเท่านั้น แม้เป็นคฤหัสถ์ อยู่ไกลวัด ไม่ว่าเด็ก หรือผู้สูงอายุ แม้แต่คนที่ตายเพราะประสบอุบัติเหตุหรือตายเพราะโรคร้าย ก็มีสิทธิที่จะตายอย่างสงบได้ทุกคน

 

สิทธิย่อมมาจากหน้าที่

          แต่สิทธินี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร สิทธินี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเราทำหน้าที่อย่างถูกต้อง สิทธิกับหน้าที่ต้องไปด้วยกัน ถ้าเราทำหน้าที่อย่างถูกต้อง ไม่บ่ายเบี่ยงหลีกเลี่ยง เราก็ได้สิทธิที่จะตายอย่างสงบ สิทธินี้จะได้มาต่อเมื่อเราทำหน้าที่อย่างถูกต้อง นั่นคือหน้าที่ที่พร้อมจะตายเมื่อเหตุปัจจัยมาถึง

          ความตายเป็นหน้าที่ของทุกชีวิต สัตว์ทั่วไปไม่รู้จักหน้าที่นี้ แต่มนุษย์เราทุกคนต้องรู้จัก เมื่อรู้จักแล้วต้องทำหน้าที่นั้นให้ดี คือการเตรียมพร้อมที่จะตาย รวมทั้งการยอมรับความตายเมื่อถึงเวลา ไม่หลีกหนี ไม่คิดที่จะโกงความตาย ไม่คิดที่จะเอาชนะความตาย เพราะตระหนักดีว่ามันเป็นหน้าที่ที่จะต้องตาย เราต้องพร้อมยอมรับเมื่อเวลานั้นมาถึง

          แต่ก่อนที่เวลานั้นจะมาถึง เราก็ต้องเตรียมตัว ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่ของพ่อของแม่ หน้าที่ของข้าราชการ หน้าที่ของครู หน้าที่นั้นจะทำได้ดีเมื่อมีการฝึกฝน ฝึกปรือ หน้าที่ที่จะตายก็เช่นกัน มันเรียกร้องให้เราต้องฝึกฝนเช่นเดียวกับหน้าที่อื่นๆ

 

เตรียมพร้อมตาย

          ดังนั้นการพร้อมตายหรือการเตรียมตัวให้พร้อมที่จะตาย เป็นหน้าที่ของทุกคนโดยเฉพาะชาวพุทธที่ตระหนักดีว่าชีวิตนั้นไม่เที่ยง พร้อมตายหรือการเตรียมตัวให้พร้อมที่จะตายหมายความได้หลายประการ ประการแรก หมายถึงการระลึกถึงความตายอยู่เสมอ ไม่ใช่ความตายของคนอื่น แต่เป็นความตายของเราเอง เมื่อระลึกถึงความตายแล้ว ก็เตรียมตัวตายอยู่เสมอ การเตรียมตัวตายหมายถึงการทำหน้าที่ หรือ การใช้ชีวิตให้ดีที่สุด มีสิ่งสำคัญใดในชีวิตก็ควรเร่งรีบขวนขวายทำให้แล้วเสร็จ ไม่ให้คั่งค้าง แต่นั้นเป็นเพียงงานภายนอก ที่สำคัญพอๆกันก็คือ งานภายใน คือการเปิดใจยอมรับความจริง และฝึกใจให้รู้จักปล่อยวางสิ่งต่างๆที่คิดว่าเป็นของเรา สิ่งที่เรามี สิ่งที่เราเป็นอยู่ในขณะนี้

 

มรณสติ

          ด้วยเหตุนี้มรณสติหรือมรณานุสติจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชาวพุทธ มรณสติหรือมรณานุสติ จัดว่าเป็นกรรมฐานหนึ่งในสี่สิบ ที่พระอรรถกถาจารย์ได้รวบรวมเอาไว้ และเป็นสิ่งที่เราทุกคนควรจะน้อมนำมาประพฤติมาปฏิบัติ ถ้าหากว่าเราละเลยมรณสติ พยายามหนีความตาย พยายามปฏิเสธความตาย เราก็จะต้องถูกความตายนั้นคุกคาม ไม่ใช่แค่คุกคามชีวิตแต่คุกคามถึงจิตใจ ความตายก็เลยกลายเป็นศัตรู แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าเราระลึกถึงความตายอยู่เสมอ เจริญมรณสติอยู่เป็นประจำ จนกระทั่งคุ้นชินกับความตายที่จะเกิดขึ้นกับเราหรือกับคนที่เรารัก ความตายก็จะกลายเป็นมิตร กลายเป็นครู กลายเป็นอาจารย์ ที่จะเคี่ยวเข็ญเราให้ใช้เวลาทุกนาทีอย่างมีคุณค่า ซึ่งจะช่วยทำให้เราเข้าใกล้ธรรมะ หรือเข้าใกล้จุดหมายสูงสุดในฐานะชาวพุทธที่แท้

          มรณสติ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การนึกถึงความตายที่เกิดขึ้นกับตัวเราเท่านั้น นั่นเป็นส่วนแรกของมรณสติ มรณสติมีสองส่วน ส่วนแรก คือ การระลึกถึงความจริงว่า เราต้องตายอย่างแน่นอน แต่เท่านั้นยังไม่พอ ต้องระลึกต่อไปด้วยว่า เราสามารถจะตายได้ทุกโอกาส สามารถจะตายได้ทุกเมื่อ แม้ยังเป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่ก็ตาม สำหรับคนส่วนใหญ่ความตายเป็นสิ่งที่แย่ แต่ที่แย่กว่านั้นก็คือเราไม่รู้ว่าเราจะตายเมื่อไร อาจจะคืนนี้ อาจจะพรุ่งนี้ก็ได้

          มีภาษิตทิเบตบทหนึ่งกล่าวไว้อย่างน่าฟังว่า “ระหว่างวันพรุ่งนี้กับชาติหน้า ไม่มีใครรู้หรอกว่าอะไรจะมาถึงก่อน” เราอย่าไปคิดว่าพรุ่งนี้จะมาก่อนชาติหน้า อันนั้นไม่จริงเสมอไป เราไม่มีทางรู้เลย เพราะบางคนอาจไม่มีวันพรุ่งนี้เลยก็ได้ พ้นจากวันนี้ไปก็อาจจะกลายเป็นชาติหน้าเลยก็ได้ นี้คือความจริงที่ต้องตระหนัก คือเราต้องตายอย่างแน่นอน แต่ไม่แน่ว่าจะตายเมื่อไร เราอาจจะตายวันนี้ หรือคืนนี้ก็ได้

          ทีนี้ก็ต้องพิจารณาต่อไปว่า ถ้าเราตายในวันนี้หรือวันพรุ่งนี้จริงๆ เราเตรียมใจพร้อมหรือยัง นี้คือส่วนที่สองของมรณสติ คือการถามใจตัวเองว่า ถ้าจะต้องตายในวันนี้หรือวันพรุ่งนี้ เราทำความดีมาพอหรือยัง สิ่งสำคัญที่ควรทำ เราได้ทำหรือยัง รวมไปถึงว่า เราพร้อมที่จะปล่อยวางสิ่งที่เรามีเราเป็นหรือเปล่า

 

มรณสติสองส่วน

          สรุปว่ามรณสติมีสองส่วน หนึ่ง คือ การระลึกถึงความจริงว่าเราจะต้องตายอย่างแน่นอน และอาจจะตายในวันนี้พรุ่งนี้ก็ได้ สอง การถามตัวเองว่าเราพร้อมตายหรือยัง เราทำความดีมาพอหรือยัง ส่วนที่สองนี้จะโยงสู่การปฏิบัติ คือทบทวนว่าเราได้ทำสิ่งที่ควรทำแล้วหรือยัง ส่วนนี้หากพิจารณาถูกต้องจะกระตุ้นให้เราขวนขวายทำความดี ไม่ผัดผ่อนในการทำหน้าที่ที่สำคัญ ไม่ว่ากับตัวเอง กับครอบครัว กับพ่อแม่ ลูกหลาน หรือกับส่วนรวมด้วย หากเราทำหน้าที่เหล่านี้ครบถ้วน คือทำทั้งงานภายนอก และงานภายใน เราก็พร้อมสำหรับการพลัดพราก นั้นคือพร้อมจะไปอย่างสงบได้

          มรณสติในพระพุทธศาสนาจะต้องมีสองส่วนเสมอ เพียงแค่การระลึกถึงความตายอย่างเดียว ยังไม่ใช่มรณสติที่สมบูรณ์ จะต้องโยงมาสู่การปฏิบัติ หรือใช้ความจริงของชีวิตนั้น เป็นเครื่องกระตุ้นให้เกิดการปฏิบัติ ทั้งทำความดีและฝึกใจให้เรียนรู้ที่จะปล่อยวาง

          เมื่อพระพุทธองค์ยังทรงพระชนมชีพอยู่ พระองค์ตรัสถึงมรณสติให้พระสาวกน้อมระลึกและนำไปปฏิบัติอยู่เสมอ เมื่อพระองค์ตรัสถึงความไม่เที่ยงของชีวิต พระองค์จะไม่ตรัสเพียงเท่านั้น แต่จะตรัสต่อไปว่า ให้เร่งปฏิบัติหรือทำความดี เช่น มีพุทธพจน์ตอนหนึ่งกล่าวว่า “รีบทำความเพียรเสียแต่วันนี้ ใครเล่าจะรู้ว่าพรุ่งนี้ความตายจะมาเยือนหรือไม่” (อชฺเชว กิจฺจมาตปฺปํ โก ชญฺ?า มรณํ สุเว) บางสำนวนก็แปลว่า ความเพียรเป็นกิจที่ต้องทำวันนี้ ใครรู้ความตายแม้วันพรุ่งนี้

          ในปัจฉิมพุทธโอวาทพระองค์ก็ตรัสทำนองนี้ว่า “สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด” (วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ) สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา นั้นคือทุกชีวิตต้องตาย ดังนั้นจะต้องเร่งทำทำความเพียรให้เต็มที่ อย่าปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ เห็นได้ว่าพระองค์จะไม่ตรัสถึงความตายเฉย ๆ แต่จะเตือนให้เร่งทำความดีควบคู่ไปด้วย หรือไม่ก็ให้ถามตัวเองว่า เราทำความดีมามากน้อยเพียงใด

          ในพระสูตรบทหนึ่ง พระองค์ได้กระตุ้นให้พระสาวกเร่งทำความเพียร โดยระลึกถึงความตายอยู่เสมอ เพราะเหตุที่จะทำให้ตายนั้นมีมากมาย เช่น งูพิษกัด แมลงป่องต่อย ตะขาบกัด หาไม่ก็เพราะหกล้ม อาหารไม่ย่อย ดีซ่าน เสมหะกำเริบ หรือลมเป็นพิษ อาจจะตายเพราะถูกมนุษย์หรืออมนุษย์ทำร้ายก็ได้ จึงสามารถตายได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ดังนั้น จึงควรพิจารณาว่า บาปหรืออกุศลธรรมที่ยังไม่ได้ละ มีหรือไม่ ถ้ายังมี ก็ให้เร่งละบาปหรืออกุศลธรรมนั้น ขณะเดียวกันก็ให้หมั่นเจริญกุศลธรรมให้เพิ่มพูนทั้งกลางวันและกลางคืน

          จะเห็นว่า พระองค์ไม่ได้ตรัสเพียงแค่ให้เตือนตนเสมอว่าเราจะตายเมื่อไรไม่รู้ แต่พระองค์ยังย้ำว่าเราต้องเร่งทำความดี ละอกุศลธรรม และสร้างกุศลธรรมให้มาก

 

มรณสติในชีวิตประจำวัน

          ทีนี้ขอให้โยงกลับมาถึงเรื่องการดำเนินชีวิตในยุคสมัยปัจจุบัน การเจริญมรณสติเป็นสิ่งที่เราควรทำอยู่เสมอ เพื่อเราจะได้ไม่อยู่แบบลืมตาย ใหม่ๆการเจริญมรณสติอาจจะเกิดจากการได้ยินได้ฟังพระสงฆ์หรือครูบาอาจารย์ท่านพูดอย่างนี้ หรืออ่านพระไตรปิฎกได้พบข้อความอย่างนี้ เราฟังแล้วอ่านแล้วก็จำเอาไว้ แต่การได้ยินได้ฟังได้อ่านเท่านี้ยังไม่พอ จะต้องน้อมระลึกอยู่เสมอ การน้อมระลึกหรือการเจริญมรณสติทำได้หลายอย่าง จะยกตัวอย่างสามประการ

          หนึ่ง ซ้อมตายหรือฝึกตาย ก่อนที่เราจะหลับลองซ้อมตายดู คือนอนราบกับพื้น ทำใจผ่อนคลาย ปล่อยวางเรื่องที่กังวลไม่ว่าจะเป็นอดีตหรืออนาคต แล้วลองทำใจให้สงบ พิจารณาหรือน้อมนึกไปว่า คืนนี้อาจเป็นคืนสุดท้ายของเรา อีกไม่กี่นาทีข้างหน้าร่างนี้ก็จะไม่มีลมเข้าออก ที่เคยเคลื่อนไหวได้ก็จะแน่นิ่ง ที่เคยอุ่นก็เริ่มเย็น ที่เคยยืดหยุ่นได้ก็เริ่มแข็ง

          ในขณะที่กำลังจะหมดลม ขอให้นึกลึกถึงสิ่งต่างๆที่เรามีอยู่ เช่น ทรัพย์สมบัติเป็นต้น พิจารณาว่าเมื่อเราต้องตาย ทรัพย์สมบัติที่เราอุตส่าห์แสวงหาสะสมมา สิ่งมีค่าที่เราหวงแหนรักษาไว้ ของรักของหวงที่เราไม่อยากให้ใครมาแตะต้อง ทั้งหมดนี้เราจะเอาไปไม่ได้เลยแม้แต่อย่างเดียว จะไม่เหลืออะไรที่เป็นของเราเลย ไม่ว่าเราจะรักหรือหวงแหนแค่ไหน ทั้งหมดนี้จะต้องตกเป็นของบุคคลอื่น

          งานการก็เช่นเดียวกัน เมื่อเราสิ้นลม งานการที่เราอุตส่าห์เพียรทำมา หรือที่ยังคั่งค้างอยู่ เราจะต้องทิ้งหมด ไม่สามารถจะทำอะไรได้อีกแล้ว ลูกหลานที่เรารัก ที่เราพาไปโรงเรียนทุกวัน ที่เราได้พบทุกเช้า ที่เราแสนรักแสนห่วง เราจะต้องพรากจากเขา เช่นเดียวกับพ่อแม่ที่แก่เฒ่า เราจะต้องพรากจากเขาเหล่านั้นไปหมด ไม่สามารถที่จะดูแลหรือตอบแทนบุญคุณได้อีกต่อไป

          ลองพิจารณาทีละเรื่อง ทีละอย่างเช่น ทรัพย์สมบัติ งานการ ลูกหลาน พ่อแม่ สามีภรรยา มิตรสหาย และผู้คนที่เรารัก ที่มีความหมายต่อชีวิตของเรา ทั้งหมดนี้จะถูกพรากด้วยน้ำมือของความตาย ให้เราพิจารณาแต่ละอย่างดู แล้วถามใจเราดูว่า เราพร้อมที่จะจากทรัพย์สมบัติเหล่านั้นไปไหม เราพร้อมจะทิ้งงานการไว้ข้างหลังหรือไม่ และเราพร้อมที่จะจากลูกหลาน พ่อแม่ และคนรักไปหรือเปล่า

          การพิจารณาอย่างนี้มีประโยชน์มาก เพื่อทำให้รู้ว่า เราพร้อมที่จะปล่อยวางแค่ไหน เราพร้อมที่จะเผชิญกับความพลัดพรากสูญเสียหากเกิดขึ้นมาแบบฉับพลันทันทีหรือไม่ นั่นคือการพิจารณาเพื่อดูใจของเรา เพื่อตรวจสอบจิตใจของเรา ถ้าหากเรายังไม่พร้อม เราย่อมรู้สึกกลัว รู้สึกตื่นตระหนก รู้สึกอาลัย นั่นแสดงว่าเรายังมีบางอย่างที่ยังไม่ได้ทำ บางอย่างนั้นอาจจะหมายถึงหน้าที่จะต้องทำต่อเขา หรืออาจหมายถึงใจของเราเองที่ยังไม่พร้อมปล่อยวาง เมื่อเป็นเช่นนั้นเราก็ต้องเร่งทำหน้าที่ต่อเขาให้สมบูรณ์ และฝึกใจให้พร้อมปล่อยวาง

 

การพิจารณาทำให้เกิดปัญญา

          การพิจารณาแบบนี้ ถ้าน้อมใจให้รู้สึกว่าจะต้องตายไปจากโลกนี้จริงๆ ไม่ใช่เป็นแค่ความคิด จะทำให้เราเกิดความตื่นตัวขวนขวายที่จะทำในสิ่งที่ควรทำ เห็นความจำเป็นที่จะต้องฝึกใจให้ปล่อยวางให้ได้ สองอย่างนี้ไปด้วยกัน ถ้าเรายังรู้สึกว่าเรายังไม่ได้ทำหน้าที่ต่อใครบางคน หรือยังทำไม่สมบูรณ์ เราจะรู้สึกว่าเรายังปล่อยวางไม่ได้ แต่ถ้ารู้สึกว่าเราทำหน้าที่ต่อคนรักได้สมบูรณ์แล้ว การปล่อยวางก็เป็นเรื่องง่ายขึ้น นี้คือการพิจารณาอย่างหนึ่ง

 

งานศพตัวเอง

          สอง เจริญมรณสติโดยนึกถึงงานศพของเรา เมื่อถึงวันที่เราต้องตายและเขาบรรจุร่างของเราไว้ในโลง มีคนมางานศพ เราเห็นผู้คนมางานศพของเรา เช่น ลูกน้อง เจ้านาย ญาติมิตร เพื่อนฝูง ทีนี้ให้นึกดูว่า เราอยากให้เขาพูดถึงเราอย่างไรในงานศพของเรา เราอยากจะให้เขาสรรเสริญว่าเราเป็นคนดีมีเมตตา เป็นคนที่รักศีลรักธรรม เป็นคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่หรือไม่ ฯลฯ ถ้าเป็นเช่นนั้นเราต้องถามตัวเองว่า เราได้ทำความดีมากพอหรือยัง ที่จะให้เขาพูดถึงเราอย่างนั้น ถ้าใคร่ครวญแล้วพบว่าเรายังไม่ได้ทำความดีมากพอต่อบุคคลเหล่านั้น ก็เป็นเรื่องยากที่เขาจะพูดถึงเราไปในทางที่ดีอย่างนั้นได้ การคิดถึงงานศพของตัวเองเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้เราตื่นตัวและขวนขวายในการทำความดี

 

อสุภกรรมฐาน

          สาม พิจารณาถึงความเน่าเปื่อยของร่างกาย ดังได้กล่าวมาแล้วว่าการพิจารณามรณสติจะช่วยทำให้เราตระหนักถึงสองอย่างคือ หนึ่ง เร่งทำความดี สอง รู้จักปล่อยวาง เราอาจจะเจริญมรณสติในอีกแง่หนึ่ง คือการพิจารณาถึงร่างกายที่เราแสนรักแสนห่วง เมื่อถึงเวลาที่ต้องตาย ร่างกายที่เคยยืดหยุ่นก็จะเริ่มแข็ง ที่เคยอุ่นก็กลับเย็น ที่เคยปรุงแต่งให้สวยงามตั้งแต่ปลายผมจนถึงปลายเท้า ก็จะเริ่มสกปรก ผิวพรรณที่เปล่งปลั่งสดใสก็กลายเป็นเขียวช้ำ ที่เคยประทินด้วยกลิ่นหอมก็เริ่มส่งกลิ่นเหม็น แล้วก็อืดเน่า ที่เคยสะอาดหมดจดก็เริ่มสกปรกเพราะมีน้ำเหลืองไหลออกมาตามทวารต่าง ๆ ที่ใคร ๆ อยากอยู่ใกล้ชิด อยากกอดอยากหอมร่างนี้ ตอนนี้เขากลับรังเกียจอยากอยู่ไกล ๆ ไม่กล้าที่จะเหลียวดูด้วยซ้ำ

          มาถึงตรงนี้ลองถามตัวเองว่า ร่างกายที่เราอุตส่าห์ฟูมฟักดูแลรักษานักหนา ยังเป็นร่างกายที่สมควรหลงใหล หรือสมควรหวงแหนหรือไม่ เพราะว่าเราเองก็คงไม่อยากที่จะอยู่ใกล้กับร่างกายที่มีสภาพแบบนั้น การเจริญมรณสติแบบนี้จะช่วยให้เราคลายความยึดติดนี้ในร่างกายนี้ ไม่มัวหลงใหลภาคภูมิใจหรือหมกมุ่นกับการประดับประดาร่างกายนี้จนไม่สนใจที่ จะทำสิ่งที่มีคุณค่า วิธีนี้เหมาะสำหรับคนที่หลงใหลความงามของร่างกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่จิรังยั่งยืนเลย

          วิธีการเหล่านี้จะได้ผลดีถ้าทำในช่วงเวลาที่เราปลอดโปร่ง ใจสงบ เพราะใจจะน้อมนึกได้ชัดเจน และส่งผลถึงความรู้สึกของเรา ไม่เช่นนั้นมันจะเป็นแค่ความคิด พอเป็นแค่ความคิด เราก็อาจรู้สึกเฉย ๆ ไม่เกิดความตื่นตัวหรือขวนขวายที่จะทำความดีฝึกใจให้ปล่อยวาง

 

ทางลัดในการเจริญมรณสติ

          ยังมีวิธีการเจริญมรณสติที่ใช้เวลาน้อยและสามารถจะทำได้ในชีวิตประจำวัน ทำได้ทุกเวลา ไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงเวลาใกล้นอน เช่น เวลาเราเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นก่อนเดินทางหรือขณะเดินทาง ลองเตือนใจสักหน่อยว่า นี้อาจจะเป็นการเดินทางครั้งสุดท้ายของเรา เราออกจากบ้านแล้วอาจไม่ได้กลับบ้านอีก ถ้าบังเอิญว่านี้เป็นการเดินทางครั้งสุดท้าย เราพร้อมจะตายหรือไม่ พร้อมจะปล่อยวางทุกสิ่งหรือเปล่า หรือว่ายังมีเรื่องค้างคาใจ ยังห่วงกังวลใครบางคนอยู่ ถ้าหากยังมีสิ่งค้างคาใจหรือห่วงกังวล แสดงว่าเรามีงานบางอย่างที่ยังทำไม่เสร็จหรือยังไม่ได้ทำเลย เช่น ยังไม่ได้ตอบแทนบุญคุณพ่อแม่เลย หรือยังไม่ได้ทำความดีให้มากพอเลย หรือยังไม่ได้เตรียมใจลูกให้พร้อมรับความตายของพ่อแม่ ฉะนั้นถ้าเราถึงที่หมายโดยปลอดภัย เราจะต้องไม่นิ่งดูดาย ชะล่าใจหรือผัดผ่อนอีกต่อไป ต้องเร่งทำสิ่งนั้นให้แล้วเสร็จในขณะที่ยังมีเวลา เพราะเราไม่รู้ว่าเราจะมีอันเป็นไปเมื่อไร

          อีกวิธีหนึ่งคือ เมื่อพิจารณาว่านี้อาจเป็นการเดินทางครั้งสุดท้ายของเรา อาจเกิดอุบัติเหตุ เช่น เครื่องบินตก รถชนกัน ให้ถามใจตัวเองว่าในชั่วไม่กี่วินาทีสุดท้ายที่เรายังมีลมหายใจ เราจะวางใจอย่างไร ทำอย่างไรใจถึงจะสงบ ไม่ตื่นตระหนก ไม่ตกใจ พร้อมจะจากไปโดยไร้ความห่วงกังวล สามารถวางทุกอย่างได้ในนาทีวิกฤตนั้น อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะหากเรายังห่วงกังวล นึกถึงลูก นึกถึงคู่รัก นึกถึงพ่อแม่ ถ้าจากไปตอนนั้นเราก็ตายอย่างไม่เป็นสุข

          การตายในขณะที่จิตมีความห่วงอาลัย วิตกกังวล ย่อมเป็นการตายที่ไม่ดี ถ้าไปในสภาพจิตที่ห่วงกังวล หวาดกลัว หรือตื่นตระหนก ย่อมไปสู่ทุกคติได้เพราะจิตเป็นอกุศล ชาวพุทธที่เข้าใจเรื่องอาสันนกรรม หรือกรรมใกล้ตายย่อมทราบดีว่า ในยามที่จะสิ้นลมนั้น การระลึกถึงสิ่งที่เป็นกุศลเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะจะทำให้ไปสู่สุคติ แต่เราจะระลึกถึงสิ่งที่เป็นกุศลอย่างไร ถ้าเราไม่ฝึกอยู่เสมอ หรือซ้อมบ่อย ๆ ซ้อมที่ว่าหมายถึงซ้อมที่ใจ ไม่ใช่ซ้อมให้เครื่องบินตก ให้รถชน แต่ซ้อมที่ใจว่า ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริงๆ เราจะทำใจอย่างไร นี้ก็เป็นการเจริญมรณสติซึ่งทำได้ทุกวัน วันละหลายๆครั้ง เพราะเดี๋ยวนี้เราเดินทางกันบ่อยมาก

 

ไปเยี่ยมผู้ป่วย

          เวลาเราไปโรงพยาบาล ไปเยี่ยมผู้ป่วย ให้เราพิจารณาว่า ถ้าเราตกอยู่ในสภาพเดียวกับผู้ป่วยที่อยู่ข้างหน้าเรา เราจะวางใจอย่างไร ถามใจเราดูว่า เราพร้อมไหมที่จะอยู่ในสภาพเช่นนั้น ถ้าหากเราต้องนอนอยู่ในห้องไอซียู หรือนอนแบบอยู่ในโรงพยาบาล ไม่ใช่เป็นวัน ๆ แต่นอนเป็นอาทิตย์หรือนอนเป็นเดือน เราต้องเจอทุกขเวทนาแรงกล้า เราพร้อมหรือไม่ ส่วนใหญ่ไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้ ทั้ง ๆ ที่เราทุกคนหนีความเจ็บป่วยไม่พ้น และสักวันหนึ่งอาจเป็นโรคร้ายต้องเข้าโรงพยาบาล ดังนั้นเราจึงควรเตรียมใจรับมือกับเหตุการณ์นี้อยู่เสมอ โดยเอาผู้ป่วยที่เราเยี่ยมมาเป็นครู ผู้ป่วยบางคนอาจจะกระสับกระส่าย ทุรนทุราย หรืออาละวาด แต่ผู้ป่วยบางคนยังสงบได้ทั้ง ๆ ที่เป็นโรคร้าย กำลังจะตาย

          ไม่ว่าเขาจะอยู่ในสภาพเช่นใดก็ตาม เขาเป็นครูเราได้ทั้งสิ้น ผู้ป่วยที่ทุรนทุรายเป็นครูสอนเราว่า ที่เขาเป็นอย่างนั้นเพราะเขามีสิ่งค้างคาใจใช่ไหม ไม่เคยเตรียมใจเลยหรือเปล่า บางคนทำงานมาทั้งชีวิต พอมานอนเฉยในโรงพยาบาลก็อยู่ไม่ได้ อึดอัดกระสับกระส่าย เพราะเคยทำแต่งานไม่รู้จักคำว่าพัก เขาไม่ได้กระสับกระส่ายเพราะทุกข์กาย แต่กระสับกระส่ายเพราะทุกข์ใจต่างหาก ผู้ป่วยแบบนี้ก็เป็นครูของเราได้ เขาสอนให้เรารู้จักฝึกใจให้ปล่อยวางจากงานการบ้าง ฝึกใจให้รู้จักอยู่กับตัวเองให้ได้ คนส่วนใหญ่ไม่รู้จักอยู่กับตัวเอง ไปอยู่กับงานหรือหนีไปอยู่กับความสนุกสนาน พอต้องมาอยู่กับตัวเองหรือนอนคนเดียวในโรงพยาบาล จึงเป็นทุกข์อย่างยิ่ง

          ผู้ป่วยบางคนนอนอย่างสงบ แม้ว่าจะมีทุกขเวทนาบีบคั้นมาก หรือเป็นโรคร้ายที่รักษาไม่หาย แต่เขาก็ไม่กระสับกระส่าย เพราะทำใจยอมรับความจริงได้ คนป่วยแบบนี้ก็เป็นครูของเราได้ด้วยเช่นกัน เจอคนป่วยแบบนี้แล้วเราต้องถามตัวเองว่า เขาทำอย่างนั้นได้อย่างไร เราจะเรียนรู้จากเขาได้อย่างไร

          ถ้าเราไปเยี่ยมเขาด้วยการวางใจแบบนี้ ความเจ็บป่วยของเขาก็จะเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนให้เราเห็นความสำคัญของการฝึกตนบำเพ็ญจิต เพื่อจะได้มีความพร้อมในการรับมือกับความเจ็บป่วยในวันข้างหน้า

 

ไปงานศพ

          เวลาเราไปงานศพก็เช่นกัน เดี๋ยวนี้งานศพกลายเป็นงานสังสรรค์ในหมู่เพื่อนฝูงหรือคนรู้จักไปแล้ว ทำให้เราเสียโอกาสที่จะเกิดปัญญาจากงานศพ ที่จริงเมื่อไปงานศพ เราควรมีเวลาพิจารณาว่า ผู้ที่อยู่ในหีบศพ ครั้งหนึ่งเคยมีชีวิตอยู่เหมือนเรา และสักวันหนึ่งเราก็ต้องเป็นเหมือนเขา เขาคือครูสอนให้เราระลึกถึงความไม่เที่ยงของชีวิต เขาคือผู้ที่เตือนเราว่าสักวันหนึ่งเราจะต้องจากโลกนี้และทุกสิ่งที่เรารัก ไป ทีนี้ก็ต้องถามตัวเองว่า เราพร้อมที่จะจากโลกนี้ไปหรือยัง นอกจากนี้เรายังอาจเอาชีวิตของผู้ตายเป็นบทเรียนสำหรับเรา บางคนตายอย่างสงบเพราะทำใจปล่อยวางได้หมด บางคนตายไม่สงบ เพราะยอมรับความตายไม่ได้ พยายามยื้อชีวิตทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะตายแบบไหน เขาก็เป็นครูสอนเราได้ทั้งนั้นว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำในขณะที่เรายังมีลมหายใจอยู่

          เวลาเราอ่านหนังสือพิมพ์ พบข่าวอุบัติเหตุหรือวินาศภัย เราอย่าอ่านด้วยความอยากรู้อยากเห็น ว่าเกิดอะไรขึ้น ที่ไหน อย่างไร ลองพิจารณาดูว่าถ้าหากมันเกิดขึ้นกับคนที่เรารัก เราจะทำใจอย่างไร เราเคยนึกหรือเผื่อใจไว้บ้างไหมว่าสักวันหนึ่งมันอาจเกิดขึ้นกับคนรักหรือคนใกล้ชิดเรา การนึกคิดในทำนองนี้แม้จะดูน่ากลัว แต่ข้อดีก็คือเตือนใจให้เราทำดีกับคนใกล้ตัวอยู่เสมอ เพราะเขาจะด่วนจากไปเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ มีหลายคนที่มานึกเสียใจว่าไม่ได้ทำดีกับเขาตอนที่เขามีชีวิตอยู่ เมื่อเขาจากไปก็ทำอะไรให้เขาไม่ได้อีกแล้ว อันนี้เป็นเพราะประมาทว่าเขาจะยังอยู่กับเราไปอีกนาน

          ทีนี้ลองพิจารณาให้ใกล้ตัวขึ้นคือ ถ้าอุบัติเหตุเกิดขึ้นกับเราเอง เราจะทำใจอย่างไรในวินาทีสุดท้ายที่เรารู้สึกตัว ไม่ว่ารถชนกัน รถตกคู ไฟไหม้ แผ่นดินไหว การมองในแง่นี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องอัปมงคลเลย ตรงกันข้ามมันกระตุ้นให้เราตระหนักว่า ชีวิตของเราไม่เที่ยง ซ้ำร้ายเรายังสามารถตายได้ทุกเวลา นอกจากนั้นมันยังกระตุ้นเตือนให้เราเห็นความสำคัญของการฝึกใจ เพื่อที่จะเตรียมรับมือกับสิ่งเหล่านี้ โดยเฉพาะการเตรียมใจให้มีสติในยามคับขัน จะได้ไม่ตื่นตระหนก เราไม่ค่อยได้สนใจที่จะฝึกสติกันอย่างนี้ แต่เป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องฝึก เพราะเราไม่รู้ว่าเหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นกับเราหรือไม่

 

สูญเสียของรัก

          เวลาเราประสบความพลัดพรากสูญเสีย เงินหาย ของหาย โทรศัพท์หรือ รถยนต์ถูกขโมย เหตุการณ์แบบนี้ก็สามารถเอามาใช้ในการเจริญมรณสติได้ เพราะใช่หรือไม่ว่าความตายคือที่สุดของความพลัดพรากสูญเสีย มันเตือนใจให้เราตระหนักว่าความพลัดพรากเป็นธรรมดาของชีวิต อะไรที่เป็นของเรา มันไม่เคยอยู่กับเราไปได้ตลอด นอกจากนั้นมันยังมีประโยชน์อีกอย่างคือ ช่วยฝึกฝนจิตใจให้เรารู้จักปล่อยวาง ลองคิดดูว่า ถ้าหากว่าเงินหายหรือรถหายแล้ว เรายังทำใจไม่ได้ แล้วเมื่อถึงวันที่เราจะต้องตายจากโลกนี้ไป เราจะทำใจได้อย่างไร เพราะเราจะต้องพลัดพรากจากทุกสิ่งทุกอย่าง มีล้านก็สูญเสียล้าน มีสิบล้านก็สูญเสียทั้งสิบล้าน หากเงินร้อยเงินพันหายไป เรายังนึกเสียดายเป็นวันเป็นคืน แล้วเราจะไม่ทุกข์หรือ เมื่อเราจะต้องพลัดพรากจากเงินสิบล้านร้อยล้านที่เรามี เพราะว่าเราจะต้องตายแล้ว

          ความสูญเสียพลัดพรากจากทรัพย์สมบัติหรือผู้คน แม้จะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนา แต่มันมีประโยชน์อย่างมากหากรู้จักมอง คือนอกจากเตือนใจให้เราตระหนักถึงสัจธรรมความจริงว่าทุกอย่างไม่เที่ยง ความพลัดพรากเป็นธรรมดาของชีวิตแล้ว มันยังเป็นเครื่องฝึกใจให้เรารู้จักปล่อยวาง เพราะวันนี้ถ้าเราปล่อยวางไม่ได้ แล้ววันหน้าเราจะทำใจได้อย่างไร เราจะไม่ทุกข์กว่านี้หรือ เมื่อเราต้องพลัดพรากจากสิ่งทั้งหมดที่มีเพราะความตาย

          การสอนใจเราว่าความพลัดพรากสูญเสียเป็นธรรมดาของชีวิตก็ดี การเตือนใจเราให้รู้จักปล่อยวางก็ดี ทั้งสองอย่างคือประโยชน์ที่เราจะได้จากการสูญเสียทรัพย์สมบัติหรือพลัดพราก จากของรัก มันเป็นตัวกระตุ้นให้เราเจริญมรณสติได้ดี หากเราพิจารณาแบบนี้ เราจะไม่มัวเสียใจหรือเป็นทุกข์เมื่อประสบกับความพลัดพรากสูญเสีย ขณะเดียวกันมันก็จะเป็นบททดสอบที่ช่วยให้เรารับมือกับความตายในวันข้างหน้า ได้ดีขึ้น

          เมื่อเห็นประโยชน์อย่างนี้แล้ว เวลาของหาย ก็อย่าไปมัวเสียใจหรือเป็นทุกข์ ให้ตั้งสติแล้วถือว่าเหตุการณ์เหล่านี้เป็นครูของเรา ที่จะสอนใจและฝึกใจเรา ถ้าทำใจแบบนี้ได้ก็เรียกว่าเป็นการเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส หรือเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดี

          ทั้งหมดนี้เป็นการเจริญมรณสติอย่างย่อๆ ที่เราน่าจะทำได้ในชีวิตประจำวัน และควรทำทุก ๆ วันด้วย ที่จริงพระพุทธเจ้าตรัสถึงขั้นว่า การเจริญมรณสติเป็นสิ่งที่ต้องทำทุกลมหายใจเข้าออก มีคราวหนึ่งพระองค์ตรัสถามพระสาวกว่าเจริญมรณสติกันอย่างไร รูปแรกตอบว่า ตนระลึกอยู่เสมอว่าอาจมีชีวิตอยู่ได้อีกเพียงหนึ่งวันและหนึ่งคืนเท่านั้นก็จะตาย รูปที่สองและรูปที่สามตอบว่า ระลึกอยู่เสมอว่าอาจมีชีวิตอยู่ได้เพียงแค่หนึ่งวันหรือครึ่งวันก็จะตาย รูปที่สี่และรูปที่ห้าตอบว่า ระลึกอยู่เสมอว่าอาจมีชีวิตอยู่แค่ฉันอาหารมื้อหนึ่งหรือครึ่งมื้อก็จะตาย รูปที่หกตอบว่า ระลึกอยู่เสมอว่าอาจมีชีวิตอยู่แค่เคี้ยวอาหารได้สี่ห้าคำก็จะตาย รูปที่เจ็ดตอบว่า ระลึกอยู่เสมอว่าอาจมีชีวิตอยู่แค่ เคี้ยวข้าวได้หนึ่งคำก็จะตาย รูปสุดท้ายตอบว่า ระลึกอยู่เสมอว่าอาจมีชีวิตอยู่เพียงชั่วขณะหายใจเข้าและหายใจออกก็จะตาย

          พระพุทธเจ้าตรัสว่าหกรูปแรกยังถือว่าประมาทอยู่ คนที่ไม่ประมาทคือ ๒ รูปสุดท้ายที่พิจารณาว่า อาจมีชีวิตเพียงแค่ฉันอาหารได้แค่คำเดียว หรือแค่หายใจเข้าและออกเท่านั้นก็จะตาย เพราะฉะนั้นมรณสติจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำตลอดเวลา

 

ประโยชน์ของมรณสติ

          สรุปแล้วประโยชน์ของมรณสติ มีอยู่สามประการ ประการที่หนึ่ง การเจริญมรณสติทำให้เราขวนขวายในสิ่งที่เราชอบผัดผ่อน ในชีวิตเรามีสิ่งสำคัญมากมายที่ควรทำ แต่เราไม่ได้ทำ เพราะเราเอาแต่ผัดผ่อน ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะมันไม่มีเส้นตาย ชีวิตทุกวันนี้เป็นชีวิตที่วุ่นกับการแข่งให้ทันเส้นตาย เรามัวแต่ทำโน่นทำนี่เพราะมันมีเส้นตาย ส่วนใหญ่มักได้แก่อาชีพการงาน แต่บางทีก็เป็นงานสังคม หรือความสนุกสนานเพลิดเพลิน เช่น ต้องรีบไปห้างเพราะเทศกาลลดราคากำลังจะหมดเขตคืนนี้ หรือต้องรีบกลับไปดูละครยอดฮิตตอนสุดท้าย

          ในทางตรงข้ามสิ่งที่ควรทำ เช่น การปฏิบัติธรรม การฝึกฝนจิตใจ การให้เวลากับครอบครัว การดูแลพ่อแม่ เรามักจะผัดผ่อนเพราะมันไม่มีเส้นตาย ทำเมื่อไรก็ได้ เพราะเราคิดว่ายังมีเวลาอยู่ นั่นคือความประมาท แต่ถ้าเราระลึกถึงความตายอยู่เสมอว่าจะเกิดขึ้นกับเราหรือคนรักของเราเมื่อ ไรก็ได้ เราก็จะไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านเลยไป หรือผัดผ่อนว่าเรื่องอย่างนี้เอาไว้ทีหลัง ตรงข้ามเราจะเร่งทำสิ่งเหล่านี้ทันทีที่มีโอกาส ความ ขวนขวายไม่ผัดผ่อน พุทธศาสนาเรียกว่า ความไม่ประมาท

          ประการที่สอง มรณสติทำให้เราปล่อยวางในสิ่งที่เราชอบยึดติด เราชอบยึดติดอะไรบ้าง เราชอบยึดติดคนรัก เงินทอง ชื่อเสียง การระลึกถึงความตายเตือนใจให้เราเห็นความสำคัญของการปล่อยวาง เพราะในที่สุดเราต้องจากสิ่งเหล่านี้ไปหมด ยิ่งระลึกถึงความตายบ่อยเท่าไร ก็ปล่อยวางได้ง่ายเท่านั้น

          อย่างไรก็ตามสิ่งที่เราควรปล่อยวาง ไม่ได้มีแค่สิ่งที่เรารักหรือให้ความสุขแก่เรา แม้แต่สิ่งที่เราไม่รัก เช่น ความโกรธ ความเกลียด ความรู้สึกผิด ก็เป็นสิ่งที่เราควรปล่อยวางด้วย เพราะถ้าเราไม่ปล่อยวาง เวลาจะตาย มันก็จะทำให้เราทุรนทุราย เจ็บปวด อาจถึงกับนอนตายตามไม่หลับ บางคนทำความดีมามาก แต่เวลาจะตาย ไปนึกถึงความไม่ดีที่เคยทำ อาจจะเป็นเรื่องเล็กน้อย อกุศลที่เกิดขึ้นในใจแม้เพียงขณะเดียวสามารถพาไปสู่ทุคติได้ ความรู้สึกผิดว่าเราเคยทำความไม่ดีบางอย่างเอาไว้ หรือความโกรธแค้นพยาบาทใครบางคน มันสามารถรบกวนจิตใจในยามใกล้ตายได้ ทำให้เราตายไม่ดี ดังนั้นเราต้องรู้จักปล่อยวางสิ่งเหล่านี้ และต้องฝึกปล่อยวางเสียแต่วันนี้

          ฉะนั้น เวลาโกรธใครอย่าโกรธนาน เพราะถ้าเราโกรธใคร หากตายไปทั้งที่ยังโกรธ เราก็จะไปสู่ทุคติทันที เวลาทะเลาะวิวาทกับใคร โกรธใครจนหัวฟัดหัวเหวี่ยง ก็ขอให้นึกถึงความตายไว้บ้าง จะช่วยให้เราได้สติว่าจะโกรธกันไปทำไม อีกไม่นานก็ต้องตายจากกัน บางคนเล่าว่าพอนึกถึงความตาย ก็ได้คิดว่าเรื่องที่ทะเลาะกันนั้นเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก คนเราเวลามีความทุกข์อะไรก็ตาม ลองนึกถึงความตายบ้าง จะรู้สึกเลยว่าที่กำลังทุกข์อยู่นี้เป็นเรื่องเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับความ ตาย พอคิดอย่างนี้ได้ความทุกข์จะเบาบางหรือหลุดไปทันที

          มรณสติจะเตือนใจให้เราปล่อยวางทุกสิ่ง ไม่ว่าคนรักของหวง รวมทั้งสิ่งไม่ดีที่ติดค้างในใจ

          ประการที่สาม มรณสติช่วยเตือนให้เราเห็นคุณค่าของสิ่งที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน เราไม่ค่อยเห็นคุณค่าของวันนี้หรือวันพรุ่งนี้ เพราะเราคิดว่าเรายังจะมีเวลาอยู่ได้อีกหลายปี แต่ถ้าเรารู้ว่าเราต้องตายคืนนี้ แต่ละนาทีที่ยังมีชีวิตอยู่จะกลายเป็นสิ่งมีค่าทันที เราจะไม่ปล่อยให้ผ่านเลยไปโดยเปล่าประโยชน์หรือไร้สาระ คนที่เป็นมะเร็งแล้วรู้ว่าจะมีเวลาอยู่ในโลกนี้ได้อีกไม่กี่เดือน จะรู้สึกเลยว่าแต่ละวันมีความหมายมาก

          ในทำนองเดียวกันหากเราเตือนใจตัวเองว่าลูกหลาน คนรัก และพ่อแม่ของเรา เขาอาจจะตายวันนี้หรือวันพรุ่งนี้ก็ได้ เราจะรู้สึกเลยว่าการที่เขายังมีชีวิตอยู่กับเรานั้นเป็นสิ่งที่มีค่ามาก แต่ละวันแต่ละชั่วโมงที่เขายังอยู่กับเรา จะมีความหมายมาก เราจะไม่ปล่อยให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ เราจะให้เวลากับเขาอย่างเต็มที่ เราจะทำดีกับเขา อ่อนโยนนุ่มนวลกับเขา ไม่กระด้างหมางเมินเขา ขณะเดียวกันเราจะรู้สึกว่าการที่เขายังมีชีวิตอยู่กับเรา แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว ไม่ต้องมีชื่อเสียง ไม่ต้องมีเงินทองมาก ไม่ต้องมีบริษัทบริวารมากก็ได้ เพียงแค่คนที่เรารักยังอยู่กับเรา ยังไม่ตายไปจากเรา แค่นี้ก็นับว่าเป็นโชคดีแล้ว

          สุขภาพร่างกายก็เช่นกัน ถ้าเรารู้ว่าสักวันหนึ่งเราต้องแก่ ต้องเจ็บป่วย อาจจะพิการหรือทุพพลภาพ เราจะรู้สึกเลยว่าการมีสุขภาพแข็งแรงเป็นสิ่งที่มีค่า จะไม่ใช้ร่างกายให้สิ้นเปลืองไปอย่างไร้สาระ มีแต่จะใช้ให้เกิดประโยชน์เต็มที่ รวมทั้งสร้างความดีงามให้เกิดขึ้นแก่โลก ขณะเดียวกันก็จะตระหนักว่าการที่เรายังเดินเหินไปไหนมาไหนได้ ไม่เจ็บป่วย ไม่พิกลพิการ ก็ถือว่าเป็นโชคอันประเสริฐแล้ว ไม่ช้าก็เร็วเราจะไม่มีโอกาสทำอย่างนั้นได้อีก

          ถ้าเราหมั่นเจริญมรณสติในแง่นี้ เราจะมีความสุขได้ง่ายขึ้น เราจะพบว่าเรามีของดีอยู่กับตัวหรือรอบตัวแล้ว ไม่ต้องแสวงหาหรือดิ้นรนมากไปกว่านี้ก็ยังได้ มันจะช่วยให้เราใช้ชีวิตอย่างโปร่งเบาได้จริงๆ ขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้เราหมั่นทำความดี มรณสติจึงไม่ได้ช่วยให้เราตายอย่างสงบเท่านั้น แต่ยังช่วยกระตุ้นเตือนให้เราดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณค่า อย่างถูกต้อง ไม่ปล่อยเวลาให้เปล่าประโยชน์ หรือดำเนินชีวิตไปในทางที่เสียหาย

 

เจริญไตรสิกขา

          การเจริญมรณสติมีอานิสงส์มากดังที่กล่าวมา อย่างไรก็ตาม ถ้าเราอยากอยู่ดีและตายดี การเจริญมรณสติอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ การเจริญมรณสติเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการฝึกฝนพัฒนาตนที่เรียกว่าจิตสิกขา ยังมีจิตสิกขาอีกหลายอย่างที่เราควรทำ และนอกจากจิตสิกขาแล้ว ยังมีศีลสิกขาและปัญญาสิกขาด้วย ทั้งหมดนี้เรียกรวมว่า ไตรสิกขา คือการฝึกฝนกายวาจาจิตและปัญญาให้ถึงพร้อม

          ศีลสิกขาคือการฝึกฝนกายวาจาให้สะอาด ด้วยการทำความดี ทำบุญทำกุศล ไม่เบียดเบียนใคร ถ้าเราทำสิ่งนี้มาโดยตลอด จะเป็นปัจจัยช่วยให้เราตายดีได้ ดังพระพุทธเจ้าตรัสว่า “บุญย่อมทำให้เกิดสุขในเวลาสิ้นชีวิต” (ปุญฺ?? สุขํ ชีวิตสงฺขฺยมฺหิ) แต่เพียงแค่ศีลสิกขาก็ยังไม่พอ ต้องเจริญจิตตสิกขาด้วย เพราะแม้เราจะเป็นคนดีมีศีล แต่เราอาจต้องเจ็บป่วยด้วยโรคร้าย เช่น มะเร็ง ทำให้ทุกข์ทรมาน หรือต้องตายด้วยอุบัติเหตุ มีทุกขเวทนามารบกวนจิตใจ ถ้าเราไม่รู้จักเจริญจิตตสิกขา เช่น เจริญสติหรือทำสมาธิภาวนาเลย เราจะรับมือกับทุกขเวทนาไม่อยู่ ทำให้เราตายสงบได้ยาก

          แต่เจริญศีลสิกขาแล้ว เจริญจิตสิกขาแล้ว เรายังจำเป็นต้องเจริญปัญญาสิกขา คือการพัฒนาใจให้สว่างไสวด้วยปัญญา ซึ่งมีหลายวิธี แต่ที่สำคัญคือการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อให้เห็นความจริงของกายและใจ จนถึงขั้นที่เรียกว่า ละวางจากความยึดมั่นในตัวตนได้ เพราะว่าตราบใดที่คนเรายังมีความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน หรือมีตัวกูของกูอยู่ เราก็ยังต้องกลัวความตาย มีศัพท์ที่คนไทยเราคุ้นดีก็คือ “รักตัวกลัวตาย” คนบางคนถึงจะไม่มีทรัพย์สมบัติ ไม่มีลูกไม่มีหลาน ยากจนแสนเข็ญ แต่เขาก็ยังกลัวความตาย เพราะอะไร เพราะเขายังรักตัวอยู่ และที่รักตัวเพราะเขาคิดว่ายังมีตัวกูอยู่

 

ตายก่อนตาย

          ตราบใดที่ยังคิดว่ามีตัวกู มันก็ทำให้หวงแหนตัวกู รักตัวกู แล้วก็เลยกลัวตาย เพราะเราเชื่อว่าความตายจะทำให้พรากจากตัวกู หรือทำให้ตัวกูดับสูญ ซึ่งสัญชาตญาณส่วนลึกยอมรับไม่ได้ คนเรากลัวอะไรยิ่งกว่ากลัวสูญเสียตัวตนเป็นไม่มี แต่ถ้าหากเราเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จนถึงขั้นเห็นแจ้งว่า ตัวกูของกูไม่มีจริง มันเป็นเพียงสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมา กายก็ไม่ใช่เรา จิตก็ไม่ใช่เรา เมื่อมีปัญญาถึงขั้นนี้ก็จะปล่อยวางได้ ไม่มีตัวกูให้รักหรือหวงแหนอีกต่อไป ถึงตอนนั้น ถ้าจะตายก็ไม่มีความกลัวอีกต่อไป มันมีแต่ความตาย แต่ไม่มีผู้ตาย พูดให้ถูกต้องกว่านั้นก็คือ แม้กระทั่งความตายก็ไม่มี มีแต่การแตกดับของขันธ์หรือธาตุเท่านั้น

          การละวางความยึดมั่นถือมั่นในตัวกู ท่านอาจารย์พุทธทาสเรียกว่า “ตายก่อนตาย” คือทำให้ตัวกูดับไปก่อนที่จะสิ้นลม ที่จริงตัวกูมันไม่มีอยู่ตั้งแต่แรกแล้ว แต่เราไม่เห็นความจริงข้อนี้ จิตก็เลยปรุงแต่งตัวกูแล้วก็ไปยึดตัวกู รวมทั้งไปยึดอะไรต่ออะไรมาเป็นของกู ทำให้ต้องต่อสู้แย่งชิงกับผู้อื่นเพื่อรักษาของกู หรือมีของกูให้มาก ๆ ทำให้ทุกข์มาก ได้มาแล้วก็ยังต้องหวงแหนรักษาจนเหนื่อย ครั้นรักษาไม่ได้ก็ทุกข์อีกที่ของกูถูกแย่งไป แต่ถึงจะรวยแค่ไหน ยิ่งใหญ่เพียงใด ก็ต้องเจ็บ ต้องป่วย ต้องตาย ถ้ายังไม่รู้จักตายก่อนตาย ก็ต้องทุกข์เพราะความเจ็บ ความป่วยและความตาย

          แต่ถ้าหากเรามีสติระลึกรู้กายและใจอยู่เป็นประจำ จนเห็นธรรมชาติของกายและใจตามที่เป็นจริง ว่าไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา ปล่อยวางความยึดมั่นในตัวกูของกู ชนิดที่เรียกว่าตายก่อนตายได้ เราก็จะเป็นอิสระเหนือความตายได้ ไม่ได้แปลว่าไม่ตาย แต่หมายความว่า มีความตาย แต่ไม่มีผู้ตาย เพราะไม่มีตัวกูที่จะทำให้สำคัญมั่นหมายว่ากูตาย ไม่มีตัวกูที่ต้องรักต้องหวงแหน หรือต้องหวาดกลัวต่อความตายต่อไป

          อาตมาก็ใช้เวลามาพอสมควรแล้ว ต้องขอยุติการบรรยายแต่เพียงเท่านี้ ขออนุโมทนาทุกท่านที่ได้ร่วมกันมาทำสิ่งที่เป็นมงคล การฟังธรรมนับเป็นการบำเพ็ญบุญที่มีอานิสงส์มาก จัดเป็นอุดมมงคลอย่างหนึ่ง ขอให้บุญกุศลและมงคลดังกล่าวอำนวยผลให้ทุกท่าน เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ เพื่อมีกำลังในการทำความดี มั่นคงในศีลสิกขา จิตสิกขา และปัญญาสิกขา จนกระทั่งรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมะ กระทั่งสามารถเป็นอิสระเหนือความตาย เข้าถึงความสงบอันสูงสุด อันได้แก่พระนิพพาน อันเป็นจุดหมายของชาวพุทธทุกคนด้วยกัน เทอญ.

ที่มา:

บุคคลสำคัญ: