Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

นับถอยหลัง...เพื่อเผชิญความตายอย่างสงบ

-A +A

           เมื่อบอกเพื่อนๆ ว่าจะไปอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "เผชิญความตายอย่างสงบ" กับเครือข่ายชาวพุทธเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคมไทย และเสมสิกขาลัย เพื่อนถามทันทีว่า "ไปอบรมเรื่องอะไร ทำไมชื่อน่ากลัวจัง" ฉันตอบเพื่อนไปว่า "ไม่เห็นจะน่ากลัวตรงไหน ทุกคนล้วนต้องตายด้วยกันทั้งนั้น ที่เธอรู้สึกว่าความตายเป็นเรื่องน่ากลัวเพราะเธอไม่ได้ทำความรู้จักคุ้นเคย กับมันต่างหาก"

           เพื่อนของฉันก็เหมือนกับคนส่วนใหญ่ในสังคมปัจจุบันที่มองว่าความตายเป็น เรื่องน่ากลัว เป็นความอุจาด เป็นความสูญเสีย และเป็นเรื่องไม่เป็นมงคล ไม่สมควรหยิบยกขึ้นมาพูดถึงให้เป็นลางร้าย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการศึกษา ค่านิยม ความเชื่อ และวิทยาการสมัยใหม่จากตะวันตกที่หล่อหลอมความเชื่อเช่นนั้นให้กับพวกเขา สังคมสมัยใหม่คุ้นเคยกับภาพผู้ป่วยที่ปราศจากสติ มีเพียงลมหายใจรวยรินกับเครื่องช่วยชีวิตระโยงระยางอยู่รอบเตียงในโรงพยาบาล คุ้นเคยกับการทำฌาปนกิจศพอย่างปกปิดมิดชิด ทั้งที่ครั้งหนึ่งเราเคยอยู่ในสังคมภูมิปัญญาตะวันออกที่เชื่อว่า ความแก่มีอยู่ในความหนุ่มสาว ความตายมีอยู่ในทุกชีวิตและทุกขณะของชีวิต เราเคยยึดมั่นกับการครองสติตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต และน้อมรับความตายอย่างเห็นเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต เราเคยคุ้นเคยกับพิธีกรรมเกี่ยวกับความตายที่กระทำอย่างเปิดเผยและก่อให้ เกิดมรณสติหรือการปลงสังขารแก่ผู้ที่อยู่เบื้องหลัง และเราเคยเชื่อว่าความตายมิใช่การสิ้นสุด เพราะแม้ความตายจะถือเป็นวิกฤตทางกาย

           แต่ในแง่ของจิตใจแล้ว ความตายคือโอกาส เช่น โอกาสที่หันมามองชีวิตในอีกมิติหนึ่ง อีกระนาบหนึ่ง เพื่อค้นหาความหมายของการมีชีวิตอยู่อย่างแท้จริง หลายคนหัวใจถูกเปิดกว้างขึ้นในวันที่ได้รู้ว่าเวลาของชีวิตบนโลกนี้เหลือ น้อยลงทุกขณะ และพร้อมจะเปิดสายตาและหัวใจเพื่อต้อนรับการมองเห็นและการรับรู้อย่างใหม่ และนั่นคือ "ธรรม"

           ดังที่พระไพศาล วิสาโล วิทยากร "เผชิญความตายอย่างสงบ" ได้กล่าวไว้ในระหว่างการอบรมว่า...“การตายสามารถเป็นทั้งประโยชน์ตนกับประโยชน์ท่านด้วย เช่น อุทิศศพให้กับโรงพยาบาล อุทิศให้กับวัดเพื่อเจริญอสุภะ หรือจัดงานศพที่ให้อนุสติกับผู้คนก็จะดีขึ้นไปอีก ที่สำคัญการตายสามารถเป็นประโยชน์แก่เราอย่างแท้จริง ไม่ทุกข์ การตายนั้นสามารถยกระดับจิตวิญญาณ เข้าใจธรรมะ เข้าใจความเป็นจริงของสรรพสิ่งมากขึ้น เพราะฉะนั้นจงใช้การตายเพื่อการบรรลุธรรม ไม่ใช่แค่การไม่ทุกข์ทรมานอย่างเดียว"

 

เหตุใดเราจึงกลัวความตาย

           “ทำไมเราจึงกลัวความตาย" คำถามนี้ถูกตั้งขึ้นในระหว่างการอบรม และได้รับคำตอบที่หลากหลายจากผู้เข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็น กลัวความเจ็บปวดทรมาน กลัวการจากพราก กลัวชีวิตหลังความตาย ฯ ซึ่งพระไพศาล วิสาโล ได้ให้คำตอบอย่างลึกซึ้งและชัดเจน โดยแบ่งออกเป็น ๒ ประเด็น ดังนี้

           หนึ่ง - เรากลัวความตายเพราะคนเรามักกลัวสิ่งที่ยังมาไม่ถึง อันเนื่องมาจากจิตของเราที่คิดปรุงแต่งไปเองต่างๆ นานา ยิ่งการที่ชั่วชีวิตของเราถูกกีดกันให้มิได้เห็นความตาย หรือไม่เคยเห็นการตายอย่างสงบมาก่อน ก็ยิ่งง่ายต่อการปรุงแต่ง

           สอง - เรากลัวความตายเพราะกลัวตัวตนจะดับสูญ กลัวความตายมารื้อถอนมันทิ้ง ทั้งๆ ที่มันพยายามจะเป็นอมตะ เพราะฉะนั้นยิ่งตัวตนใหญ่เท่าไร ก็ยิ่งกลัวความตายเท่านั้น

           ประเด็นดังกล่าวได้นำไปสู่ประเด็นใหม่ที่น่าสนใจยิ่ง นั่นคือสภาพการตายที่พึงประสงค์ของเรามีลักษณะอย่างไร คำตอบที่ได้จากผู้เข้าร่วมอบรมดูจะคล้ายคลึงกันมาก เช่น ตายโดยมีสติสัมปชัญญะครบถ้วน เพื่อจะได้สัมผัสและรับรู้ ณ ห้วงเวลานั้นอย่างแจ่มชัด ตายโดยแวดล้อมด้วยคนที่เรารักและรักเรา และมีหลายคนปรารถนาที่จะตายที่บ้านของเราเอง

           แต่ดูเหมือนว่าการตายที่พึงประสงค์เหล่านี้เป็นไปได้ไม่ง่ายนักภายใต้กรอบคิดของการแพทย์ตะวันตกสมัยใหม่ที่กำลังครอบเราอยู่

 

ความตายกับการแพทย์สมัยใหม่

           นายแพทย์เชอร์ บี ทูแลนด์ กล่าวไว้ในหนังสือ "How We Die เราตายอย่างไร"  ว่า "..ในปัจจุบัน ars moriendi๒ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก ด้วยข้อเท็จจริงแห่งความพยายามของเราที่จะซ่อนเร้น และกระทำให้ถูกสุขอนามัย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความพยายามที่จะป้องกันไม่ให้ความตายนั้นเกิดขึ้น อันนำมาสู่ฉากการเสียชีวิตบนเตียงผู้ป่วยซึ่งเกิดขึ้นในสถานที่อันถูกปิดบัง ด้วยความเชี่ยวชาญพิเศษต่างๆ อาทิ หน่วยอภิบาลผู้ป่วยหนัก แผนกวิจัยโรคมะเร็ง และห้องฉุกเฉิน เป็นต้น การตายที่ดีค่อยๆ กลายเป็นมายาคติมากขึ้นทุกที อันที่จริง เรื่องราวส่วนใหญ่ของมันก็เป็นมายาคติอยู่แล้ว ทว่าไม่เคยเป็นมากเท่านี้มาก่อน เนื้อหาหลักของมายาคติดังกล่าว คือภาพอุดมคติของ "การตายอย่างมีศักดิ์ศรี" ที่เราถวิลหา..”

           เหตุใดการแพทย์สมัยใหม่จึงมีแนวทางการปฏิบัติเช่นนี้ต่อผู้ป่วยใกล้ตาย คำตอบคือ นั่นเพราะวิธี การของการแพทย์สมัยใหม่ตกอยู่ภายใต้แนวคิดที่ว่า "ความตายคือการสิ้นสุด" ดังนั้นมันจึงเป็นการชอบธรรมที่จะยื้อชีวิตผู้ป่วยไว้ให้นานที่สุด และนอกจากจะปฏิเสธความตายแล้ว อีกสิ่งที่ถูกการแพทย์สมัยใหม่ปฏิเสธไปพร้อมๆ กัน ก็คือความเจ็บปวด การให้ความสำคัญกับร่างกายมาก จนกระทั่งมองไม่เห็นประโยชน์ของความเจ็บปวด ส่งผลให้วิธีจัดการต่อผู้ป่วยเต็มไปด้วยตัวยาและเทคนิคที่บั่นทอน และทำลายสติสัมปชัญญะในวาระสุดท้ายของพวกเขา จนไม่สามารถเผชิญความตายอย่างมีสติได้เลย ซึ่งการตายในลักษณะเช่นนั้นถือเป็น "การตายที่ผิดธรรมชาติ" โดยแท้

           พระไพศาล วิสาโล กล่าวสรุปได้อย่างน่าสนใจว่า "การแพทย์สมัยใหม่ทำให้เรามองเห็นความจริงด้านเดียวเฉพาะมิติทางร่างกาย ในขณะที่บริโภคนิยมทำให้เรามองไม่เห็นความจริงของชีวิตเลย" และข้อสรุปประการหลังได้นำไปสู่ข้อขบคิดในประเด็นที่เข้มข้นต่อไป

 

ที่ทางของความตายในยุคบริโภคนิยม

           ในยุคบริโภคนิยม ความตายถูกทำให้เป็น "สินค้า" และก็เป็นสินค้าที่ขายดีติดอันดับต้นๆ เสียด้วย กรรมวิธีง่ายๆ คือ นำความตายมาปรุงแต่งในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เกม ภาพยนตร์ ละคร ข่าว หนังสือ โดยทำให้ความตายมีลักษณะต่างๆ กันไป เช่น น่ากลัว ตื่นเต้น ลึกลับ สยดสยอง และนำเสนอชีวิตหลังความตายที่น่าประหวั่นพรั่นพรึง เหล่านี้ล้วนส่งผลให้ผู้บริโภคมองความตายด้วยท่าทีหวั่นหวาด ปฏิเสธ หลีกหนี หรือไม่ก็เห็นเป็นความตื่นเต้น ตื่นตาตื่นใจ (ในกรณีที่มันไม่ได้เกิดกับตนเองและคนใกล้ชิด)

           เมื่อหน้าที่การนำเสนอความจริงของสื่อในยุคบริโภคนิยมถูกเบี่ยงเบนและครอบงำด้วยอำนาจทุนและการเมือง ในขณะที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็มีพฤติกรรมการเสพสื่อโดยมิได้พิจารณาใคร่ครวญ อีกทั้งละเลยการน้อมเอามาใส่ตัวโดยสิ้นเชิง เมื่อวัฏจักรดังกล่าวหมุนซ้ำไปซ้ำมาหลายๆ รอบ ก็ย่อมเข้าทำนอง "ทฤษฎีกบตายในน้ำเย็น" กล่าวคือ เมื่อ เสพนานไปก็ทำให้รู้สึกเคยชิน ด้านชา ไม่รู้สึกรู้สม และสุดท้ายก็ตายอยู่ในน้ำร้อนโดยไม่คิดที่จะกระโดดหนีเอาชีวิตรอด เพราะไม่ได้ตระหนักมาก่อนว่าน้ำรอบตัวกำลังเดือดปุดๆ

           นอกจากพฤติกรรมการเสพสื่อข้างต้นแล้ว คนในยุคบริโภคนิยมยังมีท่าทีต่อตัวตนและความตายที่น่าหยิบยกมาศึกษาอีก ประการหนึ่ง นั่นคือ การต้องการความสืบเนื่องของตัวตน วิธีคิดดังกล่าวเป็นผลผลิตอันสืบเนื่องมาจากความกลัวตัวตนดับสูญตามที่ได้ กล่าวไปแล้วข้างต้น และวิธีคิดแบบนี้เองที่ทำให้หลายต่อหลายคน พยายามสรรหาวิธีสร้างความยั่งยืนสืบเนื่องของตัวตนภายหลังการตาย ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็มีหลากหลายแตกต่างกันไป สุดแต่ใครจะสรรหา อาทิ อนุสาวรีย์, วัตถุ, ชื่อเสียง, บริษัท, เงินทอง ฯลฯ

 

ตายก่อนตาย : เมื่อวันนี้คือวันแรกของวันที่เหลืออยู่

           เป็นความจริงที่ว่าเมื่อเราเลิกวิ่งหนีสิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วหันมามองมันอย่างเต็มตา เราก็จะได้รู้จักมันจริงๆ และหาเราพิจารณามันมากขึ้น เราก็ย่อมรู้จักมันลึกซึ้งมากขึ้น ความตายเองก็ไม่ต่างไปจากนี้ ดังนั้นวิธีการที่จะทำให้เรารู้จักความตายมากขึ้นก่อนที่จะมันจะมาเยือนเรา จริงๆ ก็น่าจะเป็น "การตายอย่างมีชีวิต"

           พระไพศาล วิสาโล กล่าวว่า "คนเรานั้นยึดถือตัวตนในระดับที่ลึกซึ้งยิ่งนัก แม้แต่คำว่า "ฉันต้องตาย" ก็ยังเป็นการยึดตัวตน เพราะแท้จริงแล้ว มีแต่ความตาย แต่ไม่มีผู้ตาย มีความเจ็บปวด แต่ไม่มีผู้เจ็บปวด นั่นคือการเป็น "ผู้เห็น" แต่ไม่เป็น "ผู้เป็น" ทำได้ดังนี้แล้วความตายก็จะไม่น่ากลัวอีกต่อไป"

           สอดคล้องกันกับที่ท่านพุทธทาสกล่าวถึง "ตายก่อนตาย" ไว้ว่า ตายก่อนตายคือการตายจากความยึดมั่นถือมั่น การไม่มีตัวตนตลอดเวลา ซึ่งตรงข้ามกับตายเมื่อตาย ที่เป็นการตายของคนมีตัวตน เพราะฉะนั้นในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่เราจึงควรฝึกตายก่อนตายเพื่อจะได้ไม่ รู้จักตายอีกต่อไป

           ในระหว่างการอบรม ฉันมีโอกาสได้ฝึกทำมรณสติร่วมกับผู้เข้าอบรมคนอื่นๆ เพื่อเตรียมพร้อมรับความตายที่สามารถมาเยือนเราได้ทุกขณะ และเป็นการฝึกละทิ้งตัวตนเพื่อไปหาสิ่งที่เป็นตัวตนที่แท้จริง เมื่อผนวกเข้ากับกิจกรรมก่อนหน้านี้ที่เราได้ทำ เช่น การทำบุญอุทิศส่วนกุศล การเขียนจดหมายถึงผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และการเขียนพินัยกรรมชีวิต ก็ทำให้ฉันมองเห็นความตายที่แทรกซึมอยู่ในชีวิตได้ชัดเจนขึ้น ความตายเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิต และรอวันแสดงตนโดยไม่สะกิดเตือนเราล่วงหน้า จึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องเตือนตัวเองให้น้อมรับการมาเยือนของมันอย่าง สงบ เพื่อจะได้มองเห็นความงดงามของความตายได้ด้วยสติและหัวใจของเราเอง

           หากนับถอยหลังไป และวันนี้คือวันแรกของวันที่เหลืออยู่ ฉันรู้แล้วว่าต้องทำอย่างไรกับชีวิตที่เหลืออยู่

 

ที่มา:

บุคคลสำคัญ: