Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

พินัยกรรมชีวิต สู่การจากไปด้วยใจสงบ

-A +A


         แนวคิดในเรื่องพินัยกรรมชีวิต หรือหนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาของผู้ป่วยที่อยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต (Living Will) มีผลในทางกฎหมายเป็นครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกาเนื่องมาจากกฎหมายการตายตามธรรมชาติ (Natural Death Act) ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ปี ค.ศ. ๑๙๗๖ (พ.ศ. ๒๕๑๙) เพื่อรับรองสิทธิของผู้ป่วยในการยอมรับหรือปฏิเสธกระบวนการทางการแพทย์ที่เป็นไปเพื่อยืดชีวิต (หรืออีกความหมายหนึ่งคือยืดความตายออกไป) ก่อนจะแพร่หลายไปยังรัฐและประเทศอื่นๆ 

 

กำเนิดกฎหมายการตายตามธรรมชาติ 

         นับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ ๑๙ เป็นต้นมา สังคมอเมริกันมีปัญหาเรื่องการพูดถึงความตายอย่างเปิดเผย ดัง อาร์โนลด์ ทอยน์บี (Arnold J. Toynbee) นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษได้กล่าวไว้ว่า “สำหรับชาวอเมริกัน ความตายไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของพวกเขา แต่เป็นประหนึ่งคำสบประมาทต่อสิทธิในการมีชีวิตอยู่ เสรีภาพ และการแสวงหาความสุขอันไม่สามารถตัดขาดได้ของพลเมืองอเมริกาทุกคน”  ("For Americans, death is un-American and an affront to every citizen's inalienable right to life, liberty and the pursuit of happiness.") ถ้อยคำดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงเป้าหมายในการดำรงชีวิตอยู่ของคนอเมริกันได้อย่างชัดเจน เมื่อความตายเป็นสิ่งตรงข้ามกับชีวิต จึงถูกเบียดขับออกไปจากสังคม ไม่สามารถพูดถึงได้อย่างเปิดเผย เพราะเป็นเรื่องลามก ไม่สุภาพ เหมือนกับที่ครั้งหนึ่งเรื่องเพศเคยเป็นสิ่งต้องห้ามในสังคม โดยเฉพาะในวงการแพทย์ซึ่งนอกเหนือไปจากการที่ไม่สามารถพูดถึงแล้ว การตายที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยยังถือเป็นความล้มเหลวในการทำงานของวิชาชีพแพทย์อีกด้วย เพราะแพทย์ถูกสอนให้เป็นผู้รักษาชีวิตอย่างถึงที่สุด

         ประกอบกับความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ ทำให้วงการแพทย์สามารถต่อรองกับความตายได้มากขึ้น (ยืดการตายออกไป) อาทิ การพัฒนาปอดเหล็ก (Iron Lung) เพื่อช่วยผู้ป่วยโปลิโอในการหายใจในช่วงทศวรรษ ๑๙๕๐ ซึ่งพัฒนาต่อมาเป็นเครื่องช่วยหายใจ การใส่ท่ออาหาร (NG Tube) เพื่อนำสารอาหารไปเลี้ยงผู้ป่วยที่ไม่สามารถกินอาหารได้ตามปกติ ฯลฯ ล้วนแต่ช่วยเพิ่มความสามารถของแพทย์ในการยืดชีวิตของผู้ป่วยที่ต้องตายออกไปได้อีกนับชั่วโมง เป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี แล้วแต่สภาพของผู้ป่วย แม้ในหลายกรณี ผู้ป่วยเหล่านั้นจะไม่มีโอกาสฟื้นคืนกลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนเดิมอีก 

         ความสามารถในการยืดชีวิตออกไปเป็นเวลายาวนาน เป็นผลให้การตายเป็นเรื่องที่ต้องนิยามอย่างซับซ้อนมากขึ้น การกำหนดความตายอย่างง่ายๆ ที่เคยเป็นมาแต่เดิม ด้วยการเต้นของหัวใจหรือการหายใจ จะใช้ไม่ได้สำหรับผู้ป่วยที่สวมเครื่องช่วยชีวิตเหล่านั้นเข้าไป จึงเกิดการกำหนดความตายอย่างใหม่โดยไปวัดที่การตายของสมอง เป็นต้น ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนในการวัด 

 

ปัญหาของการยืดความตายออกไป 

         พร้อมๆ กับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการยืดชีวิตออกไป ในช่วงทศวรรษ ๑๙๖๐-๗๐ สังคมอเมริกันได้เกิดค่านิยมหรืออุดมการณ์ใหม่ขึ้นมาหลายอย่าง ภายใต้บริบทการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของคนผิวสี การต่อต้านสงคราม และขบวนการแสวงหาทางออกของหนุ่มสาวชาวบุปผาชน นำไปสู่การแสวงหาคุณค่าใหม่ๆ ค่านิยมเรื่องสิทธิในการกำหนดชีวิตของตนเอง หรือศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ถูกหล่อหลอมขึ้นจากบริบทดังกล่าว 

         จึงเกิดการตั้งคำถามถึงการต้องนอนอยู่บนเตียงโดยช่วยตนเองไม่ได้ แม้จะยังมีชีวิตอยู่ ว่าเป็นการอยู่แบบมีศักดิ์ศรีหรือไม่ 

         ทำให้เกิดการถกเถียงเรื่องดังกล่าวในสังคมอเมริกันเป็นระลอกๆ จนกระทั่งเกิดกรณีของ คาเรน แอนน์ ควินแลน (Karen Ann Quinlan) ในปี ค.ศ. ๑๙๗๖ (พ.ศ. ๒๕๑๙) เมื่อหญิงสาววัย ๒๒ ปี ที่ป่วยอยู่ในภาวะโคม่า และมีอาการพัฒนาไปเป็น “ภาวะเป็นผักเรื้อรัง” นอนอยู่กับท่อช่วยหายใจและท่ออาหารนานกว่า ๑๓ เดือน ทางครอบครัวจึงตัดสินใจขออำนาจจากศาลเพื่อถอดท่อเหล่านั้นออก แต่ทางโรงพยาบาลไม่สามารถทำได้ โดยอ้างเหตุจากการที่เธอไม่ได้อยู่ในภาวะสมองตาย (หรืออีกนัยหนึ่ง ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดว่าเธอตายแล้ว) กรณีดังกล่าวทำให้วงการกฎหมายของอเมริกาเกิดการทบทวนกรอบที่จะใช้ในการตัดสินใจหากมีกรณีที่คล้ายกันเกิดขึ้นอีก จนนำมาสู่การออกกฎหมายการตามตายธรรมชาติ (Nature Death Act) ของรัฐคาลิฟอร์เนีย รับรองสิทธิของผู้ป่วยในการยอมรับหรือปฏิเสธกระบวนการทางการแพทย์ที่เป็นไปเพื่อยืดชีวิต เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างญาติผู้ป่วยและผู้ให้บริการทางการแพทย์ (บุคลากรและโรงพยาบาล) ก่อนจะคลี่คลายขยายตัวมาเป็นกฎหมายสิทธิผู้ป่วย ค.ศ. ๑๙๙๙ (พ.ศ. ๒๕๓๓) โดยระบุให้โรงพยาบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐทุกแห่ง ต้องแนะนำให้ผู้ป่วยทราบว่าตนเองมีสิทธิ์ที่จะทำหนังสือแสดงเจตนาฯ (Living Will)

 

พินัยกรรมชีวิตในสังคมไทย

         ในสังคมไทย กรณีที่ทำให้การแสดงเจตนาฯ ที่จะไม่รับการรักษาเพื่อยืดชีวิต เป็นที่รับรู้และเป็นข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง คือ กรณีของพุทธทาสภิกขุ เมื่อครั้งที่ท่านอาพาธใหญ่ด้วยอาการของโรคหัวใจเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ มีหลายคนต้องการให้ท่านได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เนื่องจากเชื่อว่ามีความพร้อมในการดูแลรักษา แต่ท่านพุทธทาสได้ปฏิเสธ โดยยืนยันว่า “ขอให้แผ่นดินนี้เป็นโรงพยาบาล และไม่หอบสังขารหนีความตาย” จนกระทั่งท่านอาพาธอีกครั้งหนึ่งด้วยอาการเส้นเลือดในสมองแตก เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ อันทำให้ท่านมรณภาพในเวลาต่อมา แม้ท่านจะเคยแสดงเจตนาไว้แล้วในการอาพาธครั้งก่อนแล้ว และย้ำกับผู้ที่ใกล้ชิดอยู่เสมอว่า ไม่ให้ช่วยชีวิตท่านอย่างผิดธรรมชาติ และต้องการมรณภาพโดยไม่มีเครื่องช่วยชีวิตใดๆ ติดตัว แต่เมื่อท่านไม่สามารถสื่อสารได้แล้ว ทำให้ท้ายที่สุด ท่านจึงถูกส่งเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลศิริราช และมี “ชีวิต” โดยต้องอยู่กับเครื่องช่วยชีวิตสารพัดอย่างไปอีก ๔๐ กว่าวัน ก่อนจะมรณภาพในวันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ 

         ในกรณีดังกล่าว ความขัดแย้งที่เป็นหัวใจสำคัญ คือ ทัศนะเกี่ยวกับชีวิตและความตายที่แตกต่างกัน ของท่านพุทธทาสภิกขุและผู้ที่ต้องการเห็นท่านมีชีวิตต่อไป รวมทั้งทัศนคติของการแพทย์สมัยใหม่ที่ยึดถือมิติทางกาย คือ การรักษาสัญญาณชีพต่างๆ อันเป็นสัญลักษณ์ของการมีชีวิตให้คงอยู่จนถึงที่สุด มากกว่ามิติด้านอื่นๆ เช่น มิติทางด้านจิตวิญญาณ จึงนำไปสู่การตัดสินใจยืดความตายของท่านออกไป และได้จุดประกายให้กับสังคมไทยเริ่มมีการพูดคุยกันถึงเรื่องสิทธิของผู้ป่วยในการแสดงเจตนาที่จะไม่รับการรักษาอย่างเป็นจริงเป็นจังนับแต่นั้นมา 

         จนต่อมาในรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้ระบุไว้ในมาตรา ๕๔ ให้มีการออกกฎหมายเพื่อดูแลคุ้มครองผู้สูงอายุ คณะทำงานในเรื่องดังกล่าวจึงได้พิจารณาประเด็นต่างๆ เพื่อใช้ในการร่างกฎหมาย ซึ่งมีเรื่องพินัยกรรมชีวิต (ชื่อในขณะนั้น) อยู่ด้วย สถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ ซึ่งเป็นเจ้าภาพในการจัดทำกฎหมาย จึงได้จัดสัมนาเพื่อพิจารณาในด้านศาสนา การแพทย์ และกฎหมาย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันว่า ประเทศไทยสมควรมีกฎหมายในลักษณะของพินัยกรรมชีวิตหรือไม่ 

 

การตายที่ดีในสังคมไทย

         สังคมไทยแต่เดิม ความตายไม่ใช่เรื่องที่แปลกแยกออกไปจากชีวิต ก่อนที่ความคิดแบบสมัยใหม่ของตะวันตกจะมาครอบงำความคิดของสังคมไทยอย่างกว้างขวาง วัฒนธรรมดั้งเดิมที่ผูกพันกับความเชื่อและภูมิปัญญาทางศาสนา รวมกับสภาพความเป็นอยู่ที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ทำให้คนในสังคมรับรู้กันได้ว่าความตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ผ่านทั้งคำสอน ประเพณี และความจริงธรรมชาติ ที่เห็นได้ทุกวันของชีวิต ดังท่านพุทธทาสภิกขุได้เคยเล่าถึงวิธีการเตรียมตัวตายของคนในสมัยพุทธกาลว่า หากเขารู้ตัวว่าจะตายก็จะทำการอดอาหาร อดน้ำ ถึงที่สุดแม้ยาก็ไม่รับ เพื่อรักษาสติสัมปชัญญะไว้ให้ได้ตายอย่างสงบ 

         การสืบทอดวัฒนธรรมการเตรียมตัวตายในรูปแบบดังกล่าว ยังคงมีให้เห็นอยู่บ้างในสังคมไทยร่วมสมัย ดังเช่น สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เคยเล่าถึงการเตรียมตัวตายของญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง เมื่อรู้ตัวว่าจะตายก็เรียกลูกหลานมาสั่งเสีย แล้วเจริญอานาปานสติภาวนาไปจนสิ้นลม หรือ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ได้เล่าถึงเรื่องคุณยายของท่านที่อายุ ๘๕ ปี พอวันหนึ่งคุณยายก็บอกว่าพอแล้ว จากนั้นจึงหยุดกินข้าวกินน้ำและตายอยู่ท่ามกลางลูกหลานด้วยความสงบและมีสติ 

         ทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงการยอมรับความตายว่าเป็นสัจธรรมอันหลีกหนีไม่ได้ และไม่จำเป็นต้องหนี หากต้องเผชิญหน้าอย่างมีสติรู้ตัวด้วยความสงบ ด้วยถือกันว่าหากทำได้จะเป็นการตายที่ดีและนำไปสู่สุคติ ต่างจากในปัจจุบันที่คนส่วนใหญ่พากันคิดไปว่า การตายไปอย่างไม่รู้สึกตัว ไม่มีความเจ็บปวดหรือวิตกกังวลใดๆ เช่น การนอนหลับแล้วตายไป เป็นการตายที่ดีและพึงปรารถนา 

 

พินัยกรรรมชีวิต สู่การจากไปด้วยใจสงบ

         ในช่วงต้นที่แนวคิดเรื่อง ลีฟวิ่ง วิว (Living Will) เข้ามาในประเทศไทย จะถูกเรียกว่า พินัยกรรมชีวิต ก่อนเปลี่ยนเป็น “หนังสือแสดงเจตนาในการรับบริการหรือปฏิเสธการรับบริการทางการแพทย์” เพื่อให้สอดคล้องและไม่สร้างความสับสนกับกฎหมายอื่นๆ เช่น กฎหมายพินัยกรรมอันเป็นเรื่องของการจัดการทรัพย์สินเมื่อเสียชีวิตไปแล้ว แต่หากพิจารณาในอีกด้านหนึ่ง คำว่า พินัยกรรมชีวิต นั้นมีความหมายที่กว้างกว่าการทำหนังสือแสดงเจตนาฯ เนื่องจากโลกตะวันตกในปัจจุบันยอมรับกันว่า กระบวนการในการทำ ลีฟวิ่ง วิว เปิดโอกาสให้คนในครอบครัวได้มาสนทนาแลกเปลี่ยนทัศนะในเรื่องความตายระหว่างกัน เอกสารแนะนำการทำ ลีฟวิ่ง วิว บางฉบับได้แนะนำให้พูดคุยเรื่องดังกล่าวกับลูกหลานที่ถึงวัยในการจัดทำลีฟวิ่ง วิว ได้ จึงทำให้การพูดถึงความตายข้ามพ้นไปจากสถานะการเป็นเรื่องต้องห้าม และสามารถนำมาพูดจากันอย่างเปิดเผยได้อีกครั้งในโลกตะวันตก 

         สำหรับสังคมไทย หลังจากการสัมนาเพื่อพิจารณากฎหมายดูแลผู้สูงอายุดังได้กล่าวไว้แล้ว แม้พินัยกรรมชีวิตจะยังไม่มีผลในทางปฏิบัติ แต่เรื่องดังกล่าวได้ถูกนำมาพิจารณาอย่างต่อเนื่องเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูประบบสุขภาพ โดยคณะกรรมาธิการสาธารณสุขวุฒิสภา ได้เสนอประเด็น “สิทธิการตายอย่างมีศักดิ์ศรี” เข้าไปอยู่ในร่างกรอบความคิดระบบสุขภาพแห่งชาติ หมวดว่าด้วยสิทธิหน้าที่ ความเสมอภาค และหลักประกันความมั่นคงด้านสุขภาพ ที่ต่อมาได้กลายมาเป็น พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ๒๕๕๐ มาตรา ๑๒ “บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติความทรมานจากการเจ็บป่วยได้” จนเกิดกระบวนการจัดทำ (ร่าง) กฎกระทรวงดังกล่าว และกำลังอยู่ในระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล ผู้ป่วย ญาติ นักกฎหมาย เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมกับสังคมไทย

         แม้ว่าจะยังเป็นที่ถกเถียงกันในเรื่องหนังสือแสดงเจตนาฯ ว่า ควรให้สิทธิหรืออำนาจในการตัดสินใจกับใครมากน้อยเพียงใด ในการจัดการเรื่องอะไร และควรกำหนดขอบเขตการกระทำหรือไม่กระทำอย่างชัดเจนหรือเปิดกว้างไว้ ฯลฯ แต่กล่าวถึงที่สุดแล้ว การหนังสือแสดงเจตนาฯ มิได้มีมิติในเรื่องสิทธิเพียงอย่างเดียว หากยังเป็นเรื่องของการทบทวนและใคร่ครวญถึงชีวิตที่ผ่านมาว่า มีสิ่งที่ติดค้างอยู่ในใจซึ่งอาจทำให้ตายไม่สงบหรือไม่ ในความหมายอย่างกว้าง หนังสือแสดงเจตนาฯ จึงอาจเป็นการช่วยให้เราสามารถปลดเปลื้องสิ่งค้างคาใจต่างๆ ทั้งในแง่ความสัมพันธ์ ทรัพย์สิน การงาน รวมถึงการรักษาพยาบาล และการจัดการเกี่ยวกับร่างกายของเราในวาระสุดท้ายด้วย

         แม้ว่ารูปแบบโดยรวมของหนังสือแสดงเจตนาฯ อาจจะเน้นที่การปฏิเสธบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพื่อยืดชีวิต ซึ่งเป็นมิติทางร่างกาย แต่หากผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการรักษาเข้าใจผู้ป่วยระยะสุดท้ายว่า ยังมีมิติอื่นๆ ที่เขาต้องการอยู่ด้วย โดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นสำคัญ จะทำให้การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเป็นองค์รวมมากขึ้น และมาตรา ๑๒ อาจเป็นช่องทางที่ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างมีศักดิ์ศรี ซึ่งมิได้หมายความว่า เมื่อผู้ป่วยปฏิเสธการรักษาทางการแพทย์ (ที่เป็นไปเพื่อยืดความตาย) แล้ว ผู้ป่วยจะไม่ได้รับการดูแลในด้านอื่นๆ อีก ดังนั้น เรื่องดังกล่าวจำเป็นจะต้องทำความเข้าใจทั้งในฝ่ายบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนว่า มาตรา ๑๒ เป็นเงื่อนไขเพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้ป่วย ญาติ และผู้ให้การรักษาได้สื่อสารกันว่า แต่ละคนมีความคิดอย่างไร มีทางออกร่วมกันอย่างไร โดยคำนึงถึงความต้องการและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นสำคัญ 

         ในการทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ดังกล่าว กระบวนการจะมีความสำคัญมากกว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เพราะหากเริ่มต้นในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่เป็นปกติ โดยการเปิดพื้นที่พูดคุยกันในครอบครัวและผู้ใกล้ชิด เพื่อให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงสิ่งที่ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ให้คุณค่าและเข้าใจวิธีคิดที่อยู่เบื้องหลังตัวหนังสือ นอกจากจะเป็นการใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาทแล้ว ยังเป็นการทบทวนความสัมพันธ์ของผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ที่มีต่อสิ่งต่างๆ ในชีวิต ช่วยให้จัดวางความสัมพันธ์ต่อสิ่งต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง จนเมื่อวาระสุดท้ายมาถึง หนังสือแสดงเจตนาฯ อาจไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป 

         มาตรา ๑๒ จึงอาจเป็นทางเลือกหนึ่งของสังคมที่จะช่วยให้ผู้อยู่ในวาระสุดท้ายได้จากไปอย่างสงบตามความประสงค์ ซึ่งจะดียิ่งขึ้นหากแพทย์ พยาบาล และประชาชน ย้อนกลับมาตั้งคำถามต่อเรื่องสำคัญที่สุด นั่นคือ “การตายที่ดีคืออะไร” จนมีความเข้าใจ และยอมรับว่าการช่วยให้ผู้ป่วยตายดีเป็นเป้าหมายอย่างหนึ่งทางการแพทย์ในที่สุด 

 

เอกสารประกอบการเรียบเรียง 

  • แก่นพุทธศาสน์. 
  • ปัจฉิมอาพาธพุทธทาสมหาเถระ. 
  • The Hour of Our Death. 
  • Western Attitude toward Death.
  • “Living Will and Will to Die” in Euthanasia: death with dignity and law.
  • ส. ศิวรักษ์, “ความตาย และการปฏิบัติต่อผู้ที่กำลังสิ้นใจ” ใน เสขิยธรรม ฉบับที่ ๕๙ มกราคม - มีนาคม ๒๕๔๗. 
  • เอกสารประกอบการสัมนาเรื่อง “พินัยกรรมชีวิต” วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๑ ห้องประชุมฉลากกินแบ่งรัฐบาล ตึกกัลยาณิวัฒนา โรงพยาบาลสงฆ์ กรุงเทพมหานคร จัดโดย สถาบันเวชศาสตร์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข.

 

 

พระไพศาล วิสาโล
วิทยากรการอบรมเผชิญความตายอย่างสงบ

 พินัยกรรมชีวิตมีความจำเป็นแค่ไหนสำหรับสังคมไทย

         ไม่จำเป็น แต่มีประโยชน์ ในเมืองนอกพินัยกรรมชีวิตเป็นสิ่งสำคัญเพราะมีเรื่องกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง ว่าถ้าแพทย์ไม่ให้การรักษาบางอย่าง เช่น ไม่ปั๊มหัวใจ ไม่ใส่ท่อ อาจจะถูกฟ้องได้ ดังนั้น การมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรจะช่วยได้ แต่ในเมืองไทย เรายังเน้นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้อยู่ เป็นเรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจ หมอว่าอย่างไรเราก็ว่าอย่างนั้น คนไข้ว่าอย่างไร หมอก็ทำตามโดยไม่ต้องมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เหมือนการยืมเงิน คนไทยเวลายืมเงินกันไม่จำเป็นต้องทำสัญญาก็ยังได้ แต่ในเมืองนอกไม่ได้ การทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรจะช่วยในเรื่องคดีได้ 

         พินัยกรรมชีวิตมีประโยชน์สำหรับการแสดงเจตนาของคนไข้ ว่าจะรักษาได้แค่ไหน รวมไปถึงว่าจะให้ใครรักษา ให้ใครมาอยู่ด้วยในเวลาที่อาการหนัก รวมถึงถ้าตายจะให้ทำกับศพของตัวเองอย่างไร ดังนั้นจึงช่วยให้คนไข้ได้ใคร่ครวญเรื่องนี้จริงจัง ถ้ามีรายละเอียดชัดเจนมากเท่าไหร่ ก็เป็นประโยชน์ต่อหมอและญาติในการดูแลเขามากเท่านั้น 

         ตัวคนไข้สามารถได้ ถ้ามีการปรึกษาหารือ หรือมีการศึกษาว่า ถ้าฉันตาย ถ้าฉันหัวใจหยุดเต้น ไม่ต้องปั๊มนะ ฉันไม่ใส่ท่อนะ มันจะมีรายละเอียดในเอกสารที่เป็นแบบฟอร์มว่า จะช่วยได้แค่ไหน

 

 มีความพยายามที่จะออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับเรื่องพินัยกรรมชีวิต สำหรับเรื่องดังกล่าวในบริบทสังคมไทยจะต้องให้ความสำคัญในเรื่องอะไรบ้าง 

         จะให้รักษาแค่ไหน หรือให้ใช้เทคโนโลยีแค่ไหน เป็นประเด็นสำคัญเลย 

         นอกจากนั้นยังต้องเข้าใจเรื่องตายดี ว่าอย่างไรถึงจะเรียกว่าตายดี และต้องเข้าใจเรื่องการแพทย์ด้วยว่า ใส่ท่อแล้วมีปัญหานะ ใส่แล้วถอดไม่ได้นะ ใส่แล้วระคายเคืองนะ ปวดนะ ในที่สุดถ้าไม่ไหวต้องเจาะคอนะ คุณต้องมีความรู้ทางการแพทย์ ต้องปรึกษาหมอด้วย ในเมืองนอก พินัยกรรมชีวิต อย่างเดียวพอ แต่ในเมืองไทยยังเป็นแบบไทยๆ พ่อแม่จะเอาอย่างนี้ แต่ลูกไม่เอา หมอก็ไม่รู้จะทำอย่างไร นี่ไม่ใช่เป็นเรื่องของกฎหมายอย่างเดียว เป็นเรื่องของสัมพันธภาพด้วย ในเมืองนอก เขาห้ามไม่ให้หมอปิดเครื่อง แม้ว่าคนไข้จะทุกข์ทรมานแค่ไหนก็ตาม แต่ในเมืองไทยทำกันบ่อย บางทีญาติขอร้อง หมอปิดเครื่องให้ก็มี แต่ในเมืองนอกหมออาจจะถูกฟ้องถ้าคนไข้ไม่ได้บอกเป็นลายลักษณ์อักษร 

 

นายแพทย์พรเลิศ ฉัตรแก้ว 
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

 แนวคิดเรื่องพินัยกรรมชีวิต มีความจำเป็นสำหรับสังคมไทยหรือไม่อย่างไร

        คำว่าพินัยกรรมชีวิตอาจฟังดูเป็นทางการและค่อนข้างไกลตัว ถ้ามองในแง่ธรรมชาติของสังคมไทยที่มีความกตัญญูและมีความเอื้ออาทร เราทุกคนต้องการทำสิ่งที่ดีที่สุดให้กับบุคคลที่เป็นที่รัก หรือผู้ป่วยที่อยู่ในการดูแล แต่ทั้งนี้คนที่ตัดสินคือเจ้าของชีวิตนั้นเอง สิ่งที่เป็นความสุขหรือมีความหมายของแต่ละคนเป็นเรื่องเฉพาะ ซึ่งเจ้าของชีวิตควรมีโอกาสได้สื่อสารให้ญาติและแพทย์ที่ดูแลต่อเนื่องได้ทราบ เพื่อให้การดูแลที่ถูกต้องเหมาะสมและสอดคล้องกับความปรารถนาในวาระสุดท้ายของแต่ละคน 

        แนวคิดเรื่องพินัยกรรมชีวิตน่าจะเป็นกุศโลบายหนึ่งที่ทำให้เราอยู่บนความไม่ประมาท เป็นจุดเริ่มต้นให้ญาติมิตร และบุคลากรทางการแพทย์มาร่วมกันปรึกษาหารือโดยเอาความปรารถนาของผู้ป่วยเป็นที่ตั้ง เพื่อปรับให้การดูแลในสถานการณ์เฉพาะหน้านั้นสอดคล้องกับเหตุปัจจัยของตัวโรค ผู้ป่วย และสังคมให้มากที่สุด สิ่งนี้ถ้าทำให้ดีน่าจะเป็นการเสริมความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ในรูปแบบการร่วมมือกันอย่างเสมอภาค ในฐานะที่แพทย์เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านข้อเท็จจริงของโรค ส่วนครอบครัวเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านชีวิตของผู้ป่วย 

        มีการศึกษาพบว่าผู้ที่แสดงความปรารถนาเรื่องการดูแลระยะสุดท้ายไว้มักอยู่ในช่วงที่กำลังจากไปอย่างสุขสงบ ญาติมีความสงบและมั่นใจว่าได้ทำสิ่งที่ดีที่สุดให้คนที่รัก มีการปรับตัวภายหลังการสูญเสียได้อย่างรวดเร็ว สำหรับบุคคลากรก็มั่นใจว่าได้ทำสิ่งที่สอดคล้องกับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดของผู้ป่วยและครอบครัว ลดความเครียด และมีพลังในการดูแลผู้เจ็บไข้คนอื่นได้ต่อไป สิ่งทั้งหมดนี้จะเป็นการสร้างสังคมที่เกื้อกูลให้ทุกคนมั่นใจว่าจะไม่ถูกทอดทิ้งในวาระสุดท้าย หรือกลัวว่าจะได้รับการรักษาที่มากเกินไป จนเกิดการสูญเสียต่ออนาคตของครอบครัวใกล้ชิด 

 

  การทำพินัยกรรมชีวิตในบริบทของสังคมไทย ควรให้ความสำคัญกับเรื่องใดบ้าง

        การทำพินัยกรรมชีวิตจะเป็นเรื่องที่ขัดกับธรรมชาติของชีวิตอย่างมาก ถ้าเราไปพยายามกำหนดสิ่งต่างๆ อย่างตายตัว เนื่องจากเราไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไร อย่างไร มีภาวะแวดล้อมอย่างไร สิ่งสำคัญคือการสร้างปัจจัยที่จะส่งเสริมการทำปรารถนาให้เป็นจริง ได้แก่ครอบครัวใกล้ชิด ต้องมีโอกาสรับรู้ความคิดความต้องการอย่างชัดเจน รู้เหตุผล เห็นความสำคัญ เพื่อที่เขาเหล่านั้นจะได้ช่วยคิดช่วยทำกันในภาวะวิกฤตได้ โดยไม่มีความขัดแย้งในใจตนเอง นอกจากนี้ควรมีการพูดคุยหารือกับแพทย์ที่รู้จัก ซึ่งให้การดูแลต่อเนื่อง เพื่อช่วยยืนยันว่าเป็นการเจ็บป่วยในวาระสุดท้าย เป็นตัวแทนสื่อสารในการดูแลโรคให้เหมาะสมกับเหตุปัจจัย คือไม่ให้เกิดการตัดสินที่เร็วเกินไป จนตัดโอกาสในการดูแลแก้ไขหรือบรรเทาความทรมาน และช้าเกินไปจนเกิดการดูแลที่มากเกินไป 

 

 พรบ.สุขภาพแห่งชาติ มาตรา ๑๒ มีข้อดี ข้อระมัดระวังอย่างไรบ้าง ก่อนที่จะนำไปใช้จริง

        ข้อดี คือทำให้เราทุกคนมีโอกาสคิดทบทวนความปรารถนาของตนเอง เป็นการสร้างโอกาสที่คนในครอบครัวจะได้มาพูดคุยร่วมกัน เป็นการแสดงออกเพื่อให้บุคลากรที่ดูแลมีแนวทางในการรักษาที่ชัดเจนขึ้น และยังเป็นการรับรองสิทธิเรื่องเลือกแนวทางการรักษาที่มีผลต่อชีวิตและความตายอย่างชัดเจน ทำให้ลดอุปสรรคทางกฎหมายที่มีผลต่อการตัดสินใจให้การดูแลทางการแพทย์ในวาระสุดท้าย แต่ทั้งนี้ไม่ควรเขียนไว้อย่างตายตัวจนอาจไม่เข้ากับสถานการณ์จริงที่อาจเกิดขึ้น จนอาจนำไปสู่ความขัดแย้งในครอบครัว หรือในทีมที่ให้การดูแล อันขัดขวางต่อการจากไปอย่างสงบได้ ในกฎกระทรวงเปิดโอกาสให้มีการเขียนความปรารถนาเป็นเรื่องเป้าหมายที่ต้องการได้รับ และกำหนดให้มีการกำหนดชื่อผู้ใกล้ชิดมาช่วยในการให้ความชัดเจนเพิ่มเติมเมื่อเหตุการณ์นั้นมาถึง ในการดำเนินการควรมีการเน้นให้มีกระบวนการที่จะทำให้เกิดความร่วมมือกับของทุกฝ่าย โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของผู้ป่วยเป็นหลัก มากกว่าการยึดตามตัวอักษร นอกจากนี้ควรมีกลไกภายในที่จะช่วยคลี่คลายความขัดแย้งในแต่ละโรงพยาบาล มากกว่าการชี้ขาดโดยกระบวนการภายนอกซึ่งอาจมีผลข้างเคียงได้มาก

 

ไพศาล ลิ้มสถิตย์
ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ 
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 แนวคิดเรื่องหนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาของผู้ป่วยที่อยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต มีความเป็นมาหรือความสำคัญอย่างไร 

        คำว่า “พินัยกรรมชีวิต” เป็นคำเรียกติดปากคนทั่วไป แปลมาจากภาษาอังกฤษคำว่า “Living Will” คือ “หนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาของผู้ป่วยที่อยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต” ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ มาตรา ๑๒ นั่นเอง แต่คำว่าพินัยกรรมชีวิตเป็นคำแปลที่ไม่ถูกต้องตามความหมายแท้จริง เพราะคำว่า “will” ในที่นี้หมายถึง ความปรารถนา  ความต้องการ ความมุ่งหมาย หรือทางเลือกของผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาฯ หรือผู้ป่วย ไม่ได้หมายถึงพินัยกรรมตามกฎหมาย เพราะฉะนั้น หนังสือแสดงเจตนาฯ ตามมาตรา ๑๒ จึงไม่เกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สิน เงินทอง หรือการทำพินัยกรรมให้แก่ทายาทของผู้ป่วยแต่อย่างใด 

        การทำหนังสือดังกล่าว เป็นสิทธิเฉพาะตัวบุคคลที่จะทำไว้หรือไม่ก็ได้ หนังสือนี้เป็นเสมือนการบันทึกความประสงค์ของผู้ป่วยที่อยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือผู้ป่วยที่ได้รับความทรมานจากการเจ็บป่วยที่ไม่สามารถบรรเทาให้ดีขึ้นได้ จนเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งต้องการเสียชีวิตอย่างสงบตามธรรมชาติ หรือตามวาระอันควร โดยไม่ต้องการถูกยื้อการตายออกไป หรือไม่อยากเป็นภาระให้แก่คนในครอบครัว ตัวอย่างเช่น กรณีอดีตนักร้องลูกทุ่งชื่อดัง ยอดรัก สลักใจ ที่ป่วยเป็นมะเร็งตับระยะสุดท้าย ได้บอกกล่าวแก่คนในครอบครัวที่จะปฏิเสธการใส่ท่อช่วยหายใจ การปั๊มหัวใจหรือใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจใดๆ หากคนไข้หยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้น โดยภรรยาและลูกได้ลงนามในหนังสือกับแพทย์ที่ให้การรักษา กรณีนี้ก็ถือเป็นการใช้สิทธิที่สอดคล้องกับมาตรา ๑๒ เพราะคุณยอดรักทราบถึงสภาพร่างกายของตนเองจากแพทย์ที่ให้การดูแลและต้องการจากไปอย่างสงบ 

 

 การทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ในบริบทของสังคมไทย ควรให้ความสำคัญกับเรื่องใดบ้าง

        การทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ มาตรา ๑๒ และการปฏิบัติตามหนังสือให้ได้ผล จะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการสื่อสารระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยหรือผู้ที่ต้องการทำหนังสือนี้ ต้องทำความเข้าใจกับผู้ทำหนังสือรวมทั้งคนในครอบครัว ญาติหรือคนใกล้ชิดด้วย แพทย์ พยาบาลควรพิจารณาจังหวะและช่วงเวลาที่เหมาะสมในการสนทนา เพื่อเลี่ยงความเข้าใจผิด เพราะคนไทยส่วนใหญ่มักไม่พูดเรื่องความตายของตนเองหรือญาติ ถือเป็นเรื่องอัปมงคล 

        นอกจากนี้ แพทย์จะต้องบอกความจริงเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยให้ผู้ป่วยและญาติทราบ ไม่ควรปิดบังหรือพยายามไม่บอกความจริงทั้งหมด แพทย์ควรบอกทางเลือกในการรักษาโรคนั้นๆ มีกี่วิธี โอกาสในการรักษาให้หายหรือมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น บอกข้อดีหรือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น แจ้งภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการรักษาตามช่วงเวลา สิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยและญาติในการตัดสินใจทำหนังสือแสดงเจตนา 

 

 กฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ มาตรา ๑๒ มีข้อดี ข้อควรระมัดระวังอย่างไรบ้างก่อนที่จะนำไปใช้จริง

        ในขณะนี้ ทุกคนสามารถทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ดังกล่าวได้ ถ้ามีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีการประกาศใช้กฎกระทรวงแต่อย่างใด โดยเนื้อหาของร่างกฎกระทรวงมาตรา ๑๒ ที่อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็น จัดทำขึ้นเพื่อวางหลักเกณฑ์ วิธีการในการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะแพทย์ พยาบาลสามารถปฏิบัติต่อผู้ป่วยที่มีหนังสือแสดงเจตนาฯ ได้อย่างถูกต้อง ในร่างกฎกระทรวงยังกำหนดให้สถานพยาบาลอาจกำหนดแนวปฏิบัติหรือระเบียบภายใน เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ของสถานพยาบาล สามารถปฏิบัติงานได้สะดวก

        สถานพยาบาลโดยเฉพาะโรงพยาบาล ควรเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่จะมีผลใช้บังคับในอนาคต ซึ่งน่าจะเป็นผลดีในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ช่วยลดความขัดแย้งของญาติผู้ป่วย อีกทั้งสังคมไทยได้เข้าสู่สังคมคนสูงอายุแล้ว กล่าวคือ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ประเทศไทยมีประชากรอายุตั้งแต่ ๖๐ ปี ประมาณร้อยละ ๑๑ ซึ่งจะทำให้บริการสุขภาพไม่สามารถรองรับได้ในอนาคตจนเข้าสู่สภาพวิกฤต จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ 

        อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังหาจุดลงตัวไม่ได้ คือ เมื่อไหร่ควรจะทำตามหนังสือแสดงเจตนาฯ เพราะคำว่าวาระสุดท้ายของชีวิต ในกฎกระทรวงจะนิยามไว้กว้างๆ นอกจากนี้ ปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือความเข้าใจระหว่างฝั่งผู้ป่วยกับแพทย์ว่า การตายที่ดีเป็นอย่างไร ถ้าหากไม่มีข้อขัดแย้ง น่าจะตกลงกันได้ง่าย แต่ถ้าไม่ตรงกันจะเป็นปัญหาใหญ่ 

        ปัจจุบัน กฎกระทรวง มาตรา ๑๒ อยู่ในช่วงรับฟังความเห็นของคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งแพทย์ พยาบาล กลุ่มผู้ป่วย และนักวิชาการด้านต่างๆ โดยจะไปรับฟังความเห็นในส่วนภูมิภาค เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น กรุงเทพฯ สงขลา แล้วจึงจะนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ประมาณปลายเดือนมิถุนายน ก่อนจะเข้าคณะรัฐมนตรีต่อไป คาดว่ากฎกระทรวงน่าจะออกมาได้ภายในปี ๒๕๕๒ จึงต้องเร่งทำงานเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎกระทรวงให้คนทั่วไปด้วย โดยเริ่มจากกลุ่มแพทย์พยาบาลก่อน 

        (อาจารย์แสวง บุญเฉลิมวิภาส ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า สังคมไทยมีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจเรื่องการตายที่พึงปรารถนา เพราะยังเข้าใจกันผิดอยู่ เช่น เมื่อผู้ป่วยอยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิต จะกินไม่ได้ ถ่ายไม่ได้ เราจะคิดว่าต้องใส่สายเข้าไป เพราะแพทย์ คนไข้ และญาติจะเข้าใจว่าเป็นสิ่งดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย ซึ่งเป็นการทำผิดมาตลอด แม้แต่พยาบาลบางส่วนยังเข้าใจว่า เราต้องให้คนไข้ตายอย่างอิ่มเอิบ แต่งานวิจัยล่าสุดของศิริราชบอกว่า สิ่งที่เราคิดว่าดีนั้น จริงๆ เรากำลังทำให้ผู้ป่วยทรมาน เพราะเมื่อถึงเวลาที่จะต้องจากไปจริงๆ ร่างกายจะไม่กิน ถ้าเราอยู่ใกล้ชิดกับชาวบ้านจะเห็นได้ชัดเลย ถึงวิถีที่เขาจากไปตามธรรมชาติ เช่น ตื่นเช้าขึ้นมา คุณยายจะบอกว่าไม่อยากกินข้าว แล้วไม่อยากกินน้ำ ไม่อยากกินอะไรเลย สักพักหนึ่ง ก็ไม่หายใจ แล้วจากไปอย่างสงบ 

        มีงานวิจัยบอกว่า ในช่วงสุดท้ายของชีวิต ร่างกายจะกลับสู่ธรรมชาติ ไม่อยากกินอะไร จะเกิดกระบวนการคีโตซิส (ketosis) ไปย่อยไขมัน และหลั่งสารเอนโดรฟีนออกมาช่วยระงับความเจ็บปวด แต่เรากลับไปทำให้กระบวนการดังกล่าวพังทลาย ดังนั้น เมื่อได้ยินเสียงโคกครากที่คอ ไม่ต้องรีบไปดูดเสมหะ เพราะจะเป็นการไปรบกวนผู้ป่วย เนื่องจากนั่นคืออาการในช่วงสุดท้ายของชีวิต 

        เรื่องดังกล่าว จำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจกับประชาชน กับแพทย์ และพยาบาล เพราะยังเป็นเรื่องใหม่ แม้แต่ในวงการแพทย์เองยังไม่ค่อยรู้เรื่อง เราจึงต้องทำให้บุคลากรทางการแพทย์รู้ และทำให้ชาวบ้านรู้ด้วย แล้วเอากฎหมายเข้าไปรองรับ ซึ่งมาตรา ๑๒ จะช่วยในเรื่องดังกล่าว เพราะผู้ป่วยระยะสุดท้ายส่วนใหญ่จะนอนอยู่บนเตียง แล้วปล่อยให้ลูกหลานทำกันไป จึงเกิดแนวคิดดังกล่าว ว่าตอนดีๆ อยู่เขียนไว้เสียจะได้หมดเรื่องไป)

 

เพียงพร ลาภคล้อยมา
วิทยากรอิสระ เรื่องธรรมชาติกับการเยียวยา

 ถ้ามีโอกาสทำหนังสือแสดงเจตนาฯ จะเขียนเรื่องอะไรบ้าง เพราะอะไร 

        จะเขียนว่า ให้งดส่งโรงพยาบาลยกเว้นเกิดอุบัติเหตุ เพราะไม่ประสงค์จะใช้เทคโนโลยีเพื่อยืดความตายออกไป แต่ในกรณีได้รับอุบัติเหตุ วิธีการทางธรรมชาติบางทีช่วยไม่ได้ ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยด้วย แต่ประเภทต้องใส่สายไม่เอา เพราะเรามีวิธีดูแลตัวเองอยู่แล้วพอสมควร และถ้าเราได้ทำอย่างดีที่สุดแล้ว คงพอ ไม่ตะเกียกตะกายจะให้ชีวิตยืดออกไปอีก เราเชื่อว่าร่างกายดูแลตัวเองได้ ถึงเวลาหนึ่งร่างกายก็ต้องจากโลกไป ไม่คิดว่าจะต้องสู้สุดชีวิตเพื่อให้มีเวลาหายใจนานอีกกี่นาทีกี่ชั่วโมง แต่ปล่อยไปตามสภาพ จะไม่ยื้อยุดเพื่อทำลายวิถีชีวิตที่เป็นไปตามธรรมชาติ 

        ในกรณีอยู่ในสภาพที่ดูแลตัวเองไม่ได้ จะทำพินัยกรรมของตัวเองไว้เพื่อให้ญาติที่อยู่กับเรารู้ว่า เรามีวิธีการดูแลตัวเองอย่างไร ว่าเราไม่อยากจะใช้ชีวิตในโรงพยาบาล คนที่ใช้ชีวิตอยู่กับเรา เข้าใจเราถึงจะวางใจได้ เพราะถ้าเขาไม่เข้าใจเรา จะทำให้ยากในการตัดสินใจ 

 

 ร่างกฎกระทรวงตามมาตรา ๑๒ เรื่องการทำพินัยกรรมชีวิตว่ามีข้อดีหรือข้อสังเกตอะไรบ้างครับ

        การมีพินัยกรรมชีวิตจะช่วยในการตัดสินใจของหมอ ข้อดีคืออย่างน้อยที่สุดเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะมีทางออกว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไร เพราะไม่อย่างนั้นหมอจะถูกกำหนดให้ต้องรักษาชีวิตเท่านั้น การยุติการรักษาทำไม่ได้ เป็นการเคารพสิทธิของเจ้าของชีวิตด้วย เพราะนอกจากเรื่องจริยธรรมของหมอแล้ว ยังมีสิ่งที่งอกออกมาในภายหลัง คือการทำธุรกิจในการรักษาพยาบาล ซึ่งอาจก่อทุกข์ให้กับทั้งผู้ป่วยและญาติที่อยู่ข้างหลัง 

        เราไม่ต้องการจากไปอย่างทรมาน แต่มีความเป็นธรรมชาติที่จะจากไป ไม่ใช่ถูกกระทำจนไม่สามารถจากไปได้โดยปกติ เพราะชีวิตไม่ใช่สักแต่ว่าร่างกายมีลมหายใจ แต่ยังมีมิติทางจิตวิญญาณอีกด้วย เราจะได้ไปอย่างไม่ทุรนทุราย เพราะถ้าเราเข้าใจเรื่องความตายอย่างแท้จริง เราจะวางมันได้ ไม่ต้องทุรนทุราย แต่สังคมทุกวันนี้ ไม่เข้าใจความตาย จึงไม่รู้สิทธิของผู้ที่กำลังจะตาย เราคิดแต่ว่าจะยื้อให้นานที่สุด ซึ่งอาจเป็นการทรมานผู้ที่จะจากไป จึงต้องทำความเข้าใจเรื่องความตายให้ชัดกับทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้อง เพราะเรื่องจิตวิญญาณสำคัญมากกว่าร่างกาย จึงควรดูแลเรื่องจิตวิญญาณตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่

  

คอลัมน์:

ผู้เขียน: