Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

เพื่อนของเราชื่อ “ความตาย”

-A +A

          แมงมุมเพื่อนรัก เป็นหนังสือวรรณกรรมที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ผู้เขียนได้อ่านครั้งแรกร่วมเกือบสามสิบปี จำได้ถึงความประทับใจ ซาบซึ้งกับมิตรภาพระหว่างเพื่อนต่างสายพันธุ์ คือนางแมงมุม ชาร์ลอต (เธอเป็นผู้หญิงนะ) กับเจ้าลูกหมูตัวน้อย วิลเบอร์ และตื่นเต้นกับกับเรื่องราวว่าชาร์ลอตจะช่วยเพื่อนของเธอในแบบแมงมุม แมงมุมได้หรือไม่

          เรื่องราวเริ่มต้นด้วยมิตรภาพระหว่างลูกสาวเจ้าของบ้านกับเจ้าลูกหมูตัวน้อย ความรักในเจ้าลูกหมูช่วยปกป้องเจ้าหมูน้อยได้ในช่วงหนึ่ง แต่ก็ไม่ตลอดไป ชะตาชีวิตของเจ้าลูกหมูถูกกำหนดไว้แล้ว วันหนึ่งมันจะต้องเป็นอาหารของมนุษย์ เพียงแต่ว่าเมื่อไรเท่านั้นเอง 

          มันจะต้องตายแน่ๆ แต่มันจะทำอะไรได้... เว้นแต่ปาฏิหารย์เท่านั้นที่จะช่วยมันได้

          แล้วชีวิตของมันก็พบปาฏิหาริย์จริงๆ นั่นก็คือ มิตรภาพ ที่นำไปสู่การช่วยชีวิตเจ้าวิลเบอร์ ชาร์ลอตและผองเพื่อนในโรงนาช่วยกันหาทางออก ชาร์ลอตใช้พรสวรรค์ที่มีอยู่ คือการทักทอใยแมงมุมออกเป็นถ้อยคำต่างๆ ผู้คนต่างตกตะลึงกับปรากฏการณ์ที่เหนือธรรมชาติ ถ้อยคำที่บอกคุณสมบัติของเจ้าลูกหมูถูกถ่ายทอดออกมา “อ่อนโยน สดใส พิเศษ” ชาร์ลอตอาจเห็นอะไรบางอย่างในเพื่อนของเธอ แล้วถ่ายทอดออกมา เท่าๆ กับที่มนุษย์ก็คงรู้สึกได้ว่า ถ้อยคำเหล่านี้ช่างกระทบจิตใจของตนเหลือเกิน อย่างน้อยการได้มีประสบการณ์รำลึกกับเรื่องนี้ คงเป็นความสุขใจ ประทับใจเหมือนชาวเมืองและพวกเราที่มีความสุขยามได้รำลึกถึงประสบการณ์ดีๆ ในชีวิตที่ผ่านมา

          กลับมาปัจจุบัน เมื่อผู้เขียนได้ย้อนอ่านอีกครั้ง สาระอันใหม่ที่เคยถูกมองข้าม ก็คือตัวร้ายของเรื่องราว ศัตรูที่ชาร์ลอตและวิลเบอร์พยายามต่อสู้ คือชะตาที่ถูกกำหนดไว้แล้วในทุกชีวิต คือความตาย สภาพการตายที่เลวร้าย การตายก่อนวัยอันควร การตายจากการถูกฆ่าโดยไม่ยินยอมพร้อมใจ แน่นอนว่าเราทุกคนต่างมีความตายรออยู่ แต่อย่างน้อยก็ขอให้ความตายนั้นเป็นการตายที่ดี การตายที่ไร้ความรุนแรง แต่นี่เจ้าวิลเบอร์จะต้องถูกฆ่า ไม่ไหวแน่ๆ การตายแบบนี้ไม่ไหว 

          เหมือนกับพวกเราทุกคน ที่ต่างหลีกเลี่ยงการตาย ต่อรองโดยทุกวิธีการ เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อเรารับทราบว่าความตายกำลังทำนัดหมาย เช่น โรคภัยมะเร็งกำลังแวะเวียน ข่าวสารที่แจ้งว่าคนรัก คนสำคัญของชีวิตเรากำลังเจ็บไข้ ล้มป่วย หรือลาจากโลกนี้ไป ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นคือ ความโกรธเกรี้ยว ความเศร้าเสียใจ การต่อรอง ความทุกข์ทรมาน และจบลงที่การยอมรับในที่สุด และเมื่อเรายอมรับการตายได้ สิ่งที่ปรารถนาที่สุดคือการตายดี การตายเมื่อสมควรแก่เวลา การตายที่ไร้ความรุนแรง การตายที่สามารถนำเราไปสู่สุคติ 

          วรรณกรรมเยาวชนชิ้นนี้สะท้อนแง่มุมมิตรภาพความรักระหว่างเพื่อนที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ฉากการตายของชาร์ลอตที่ถูกนำเสนอและแฝงสาระสำคัญแก่ผู้อ่านเยาวชนให้เรียนรู้ผ่านเรื่องราวว่า ชีวิตที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น ได้ทะนุถนอมมิตรภาพ เมื่อความตายมาเยี่ยมเยียน ความตายนั้นย่อมเป็นดอกไม้ที่โปรยปรายเพื่อให้ฉากชีวิตได้จบลงอย่างสมบูรณ์

          เราทุกคนต้องพบความตาย วันหนึ่งความตายในฐานะเพื่อนที่รักต้องมาเยี่ยมเยียน มันเป็นวงจรชีวิตที่พึงมีพึงเป็น การตายเกิดขึ้นเพื่อให้การเกิดมีขึ้นได้ เหมือนกับลูกๆ ของชาร์ลอตที่ได้ถือกำเนิดเพื่อให้วัฎจักรชีวิตดำเนินต่อไป โดยมีช่องว่างระหว่างการเกิดกับการตาย คือการดำรงดำเนินอยู่ 

          น่าสนใจว่าในระหว่างการดำรงชีวิต เราก็ต้องอาศัยชีวิตและการตายของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ มาหล่อเลี้ยงชีวิตเรา เหมือนกับที่ชาร์ลอต แมงมุมเพื่อนรักของวิลเบอร์ที่มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการดักจับแมลงเป็นอาหาร ชีวิตต่อด้วยชีวิต ดูเหมือนเป็นเรื่องโหดร้าย แต่ชีวิตก็เป็นเช่นนี้เอง สิ่งสำคัญคือ เมื่อชีวิตเราอยู่ได้เพราะการเกื้อกูลจากชีวิตอื่นๆ เราจะให้หรือใส่ความหมายอะไรกับชีวิตที่ดำรงอยู่บ้าง

          ย้อนกลับไปในจินตนาการอีกแนวทางหนึ่ง จะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตล่ะ ถ้าเพื่อนของเรา คือความตายไม่มาหาเรา ปล่อยให้เรามีชีวิตอมตะ แต่สิ่งรอบตัวเราเกิดใหม่ ล้มตาย หมุนเวียนเปลี่ยนไปตามกาลเวลา นี่คืออีกมุมมองของจินตนาการความตายที่ถูกสร้างสรรค์จากวรรณกรรมชื่อดัง ชั่วนิรันดร์ หรือ Tuck’s everlasting อันเป็นเรื่องราวชีวิตของครอบครัวทัค สมาชิกของครอบครัวทัคเร่ร่อนเดินทางกระจัดกระจายไป ไม่สามารถอาศัยปักหลักอยู่ไหนได้นาน เพราะต้องแบกกุมความลับสำคัญ พวกเขามีกำหนดนัดหมายเพื่อพบปะนัดรวมครอบครัวกันสักครั้งในปีหนึ่ง 

          แต่ในปีที่เกิดเรื่องราว และเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง นั่นคือชายคนหนึ่งสังเกตความผิดปกติของครอบครัวนี้ ติดตามจนในที่สุด ก็พบความลับสำคัญ นั่นคือครอบครัวทัคทุกคนเป็นอมตะ จากการดื่มน้ำอมฤตใต้ต้นไม้ใหญ่ในเขตพื้นที่ของหนูน้อยวินนี เด็กหญิงตัวเอกที่บังเอิญพบความลับอันน่ากลัวนี้ด้วยเช่นกัน สิ่งสำคัญคือ ครอบครัวทัคจำเป็นต้องให้วินนีรู้และเข้าใจให้ถ่องแท้ว่าชีวิตกับความตายหมายถึงอะไร 

          วรรณกรรมเรื่องนี้ชี้ประเด็นสำคัญผ่านตัวละคร คือหัวหน้าครอบครัวทัค ที่อธิบายให้วินนีได้เข้าใจลึกซึ้งว่า แท้จริง ความตายกับชีวิตคือ ๒ ด้านของเหรียญเดียวกัน เราไม่สามารถเลือกสิ่งหนึ่ง แล้วปฎิเสธอีกสิ่งหนึ่ง เพื่อที่จะเติบโตเป็นเด็กน้อย ภาวะทารกในตัวเราจะต้องตายจากไป เช่นกัน ภาวะความเป็นเด็กในตัวเราก็ต้องตายจากไปเพื่อให้ภาวะความเป็นผู้ใหญ่เข้ามาแทนที่ เซลล์ในร่างกายต้องหลุดลอกและตายไป เพื่อให้เซลล์ใหม่เติบโตมาแทนที่ ทุกขณะที่ชีวิตดำรงอยู่ จึงมีความตายคอยขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลังเสมอมา

          ชีวิตที่ไม่มีความตาย จึงกลับกลายเป็นไม่มีชีวิต สิ่งน่าสนใจ คือมุมมองต่อเรื่องนี้ของตัวละครต่างๆ ในครอบครัวมีความแตกต่างกันออกไป ลูกชายคนเล็กมองในแง่โอกาสของการผจญภัย ขณะที่คนอื่นมีแต่ความเศร้าต่อโศกนาฏกรรมชีวิต และความอาลัยต่ออดีตที่ผ่านมา

          ในด้านหนึ่ง ครอบครัวทัคก็ปรารถนาให้วินนีได้เป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวของตน หมายถึงการเป็นอมตะด้วย ในขณะที่อีกด้านหนึ่งนั้น พวกเขารู้ดีว่า ภาวะเช่นนี้ไม่ใช่ภาวะที่พึงปรารถนานัก เพราะถ้าเลือกได้ พวกเขาขอเลือกการมีชีวิตที่มีความตายรอคอยอยู่

          เรื่องราวเริ่มยุ่งยาก เมื่อเกิดเหตุฆาตกรรมเพื่อปกปิดความลับ และต้องมีการหลบหนี...ขณะที่วินนีต้องตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่ คือการเลือกที่จะมีหรือไม่มีเพื่อน คือความตายรอคอยอยู่หรือไม่ ในที่สุดเรื่องราวก็จบลงด้วยการที่ความลับยังคงเป็นความลับต่อไป ครอบครัวทัคยังคงเร่ร่อนและเป็นอมตะต่อไป เรื่องราวจบลงโดยที่ไม่มีปาฎิหาริย์ใดๆ เงียบเหงา และเศร้าไปกับชะตาชีวิตที่เหมือนถูกธรรมชาติรังแก และสาปส่ง พวกเขาถูกสาปให้หยุดนิ่ง ในขณะที่ทุกสิ่งมีวาระและวงจร มีครรลองของชีวิต แต่เมื่อวงจรนี้หยุดนิ่ง ความเป็นธรรมชาติก็หายไป ครอบครัวทัคจึงดำรงอยู่เสมือนว่าไม่ได้ดำรงอยู่

          ความตายจึงไม่ใช่สิ่งน่ารังเกียจเลย เพราะชีวิตที่ไม่มีความตาย ก็ไม่ใช่ชีวิตอีกต่อไป

          โฉมหน้าของความตายในอีกมิติหนึ่ง คือความตายในฐานะดินแดนปลายทางที่วันหนึ่งในชีวิตหลังความตายจะต้องเดินทางไป Departures ภาพยนตร์ญี่ปุ่นชนะเลิศรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศ Departures หมายถึง การตาย หรือหมายถึงการเดินทางก็ได้ บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของชายหนุ่มที่หันเหจากอาชีพนักดนตรีมาสู่อาชีพของช่างแต่งหน้าให้กับผู้ตาย และจัดพิธีเพื่อเตรียมผู้ตายก่อนส่งมอบหน้าที่ให้กับสัปเหร่อต่อไป ในสามัญสำนึก ศพเป็นสิ่งอัปมงคล สิ่งน่ารังเกียจ การเกี่ยวข้องกับศพไม่ว่าจะเนื่องด้วยกรณีใดๆ ก็ตาม นั่นคือสิ่งน่ารังเกียจ 

          สิ่งที่ตัวเอกในเรื่องราวต้องเผชิญก็คือ ความรังเกียจจากสิ่งรอบข้าง ความน่าอับอาย แต่สิ่งที่ตัวเอกได้เรียนรู้และเริ่มหลงใหลในการงานนี้ก็คือ งานศิลปะชนิดหนึ่งที่กระทำต่อผู้ตายและญาติมิตรที่รักด้วยความเคารพและให้เกียรติ เมื่อคนที่เรารักลาจากโลกนี้ไป การมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับผู้ตายในฐานะญาติมิตรจะมอบ ซึ่งไม่สามารถหยิบคว้าอะไรติดตัวไปได้ คือการช่วยตระเตรียมให้ผู้ตายพร้อมสำหรับการเดินทาง งานของตัวเอกในเรื่องราวก็คือการช่วยชำระล้าง ทำความสะอาดร่างกายผู้ตายด้วยความสุภาพ ประณีต เหมือนกับพวกเราทุกคนอาบน้ำ แต่งกายยามที่ต้องออกจากบ้านเดินทางไปที่ไหนสักแห่ง โดยมีกฎกติกาสำคัญคือ ต้องไม่มีการเปิดเผยร่างกายผู้ตายให้เป็นที่อับอายโดยเด็ดขาด นี่เป็นศิลปะในการงานที่ถูกถ่ายทอดออกมาในหลายฉาก รวมถึงในเครดิตตอนท้ายของเรื่องราว 

          ศิลปะการแต่งหน้าให้ผู้ตายกลายเป็นงานประติมากรรมคืนชีวิตเสมือนจริงให้กับผู้ตาย เพื่อที่ความทรงจำใบหน้าของผู้เป็นที่รักที่ได้จากไปจะเป็นใบหน้าที่ควรค่าแก่การจดจำ และเป็นความทรงจำที่ดีตลอดไป “เธอสวยกว่าตอนมีชีวิตจริงๆ เสียอีก ขอบคุณมากครับ” คือคำพูดตอนหนึ่งที่ญาติผู้ตายบอกกล่าวกับตัวเอกในเรื่องด้วยความขอบคุณ 

          สิ่งที่น่าสนใจในฐานะสาระที่แฝงเร้น ก็คือคุณค่าของพิธีกรรม หลายฉากของเรื่องราวนำเสนอพิธีกรรมที่นำไปสู่การได้รำลึกถึงผู้ตายในความรัก ความผูกพัน ความสัมพันธ์ที่ยึดโยง “ไม่ว่าแกจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย แกก็คือลูกของผม” เป็นคำพูดน้ำเสียงสั่นเครือของพ่อที่กำลังร่ำไห้ด้วยความอาลัยรักลูกชายผู้จากไปของตนผู้ซึ่งต้องการเป็นผู้หญิง และท้ายที่สุดคือการให้อภัย ในฐานะของขวัญที่ดีที่สุดที่เราจะให้กับผู้ตายได้ เหมือนกับตัวเอกของเรื่องที่ให้อภัยพ่อของตนที่ละทิ้งครอบครัว ปล่อยให้ตนและแม่ต้องเผชิญชีวิตเพียงลำพัง แต่แม้พ่อจะหลงผิด ทำผิด หรือมีเหตุผลใดๆ ก็ตาม จดหมายที่พ่อสื่อสารและบอกเล่าความในใจแก่ลูกชายผู้ลาจากโลกนี้ไป คือพ่อรักลูกเสมอ 

          สิ่งที่ทับซ้อนก็คือ แท้จริงการให้อภัยพ่อของตน ก็คือการที่ลูกชายได้ปลอดปล่อยตนเองออกจากความโกรธเคือง ความผิดหวังเสียใจ และเมื่อเราปลดปล่อยตนเองจากอคติ สิ่งพัวพันเช่นนี้ได้ เราจึงสัมผัสถึงความรักที่ซ่อนเร้นอยู่ได้

          เรื่องราวที่กล่าวมาร้อยเรียงกันด้วยประเด็น “ความตาย” แต่หากสัมผัสเรื่องราวให้ลึกซึ้ง สารที่ซ่อนเร้นประเด็นหนึ่งก็คือ ความรัก ทุกชีวิตในเรื่องราวยึดโยงกันด้วยความรัก ความรักที่ชาร์ลอตมีต่อวิลเบอร์มีพลังที่นำพาไปสู่การช่วยชีวิตวิลเบอร์ให้พ้นจากชะตากรรม ความรักที่ครอบครัวทัคมีต่อวงจรชีวิต และมนุษยชาติทำให้ครอบครัวเลือกปกป้องความลับ เพื่อไม่ให้คนอื่นต้องตกอยู่ในโศกนาฏกรรมเช่นเดียวกับพวกตน และก็เป็นความรักเช่นกันที่ช่วยให้วินนีเสียสละเพื่อครอบครัวทัค และก็เป็นความรักนี้เองที่นำไปสู่การให้อภัย เช่นเดียวกับครอบครัวของผู้สูญเสียได้พบความรัก และการให้อภัยท่ามกลางความตายที่เกิดขึ้น

          ความตายจึงไม่ใช่สิ่งน่ารังเกียจ แต่คือส่วนหนึ่งของวงจรชีวิตที่ทำหน้าที่ โดยรอคอยการให้ความหมายจากเราทุกคนในช่วงขณะของการดำรงชีวิต 

คอลัมน์: