Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

อโรคยศาล บทเรียนการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในสังคมไทย

-A +A

         หลายปีที่ผ่านมา สังคมไทยมีความตื่นตัวในเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายมากขึ้น เนื่องจากการตระหนักถึงข้อจำกัดของการแพทย์แผนปัจจุบันในการรักษาโรคสมัยใหม่ เช่น โรคมะเร็ง โรคเอดส์ ฯลฯ ว่าวิธีคิดการรักษาโดยให้ความสำคัญต่อการกำจัดโรคและการต่อสู้เพื่อยืดความตายออกไปมากกว่าจะคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นหลัก ไม่เพียงแต่นำมาซึ่งความทุกข์ทรมานทางกายและใจให้กับผู้ป่วยและญาติมิตรเป็นจำนวนมากเท่านั้น หากยังสร้างภาระทางเศรษฐกิจผูกพันต่อเนื่องอย่างมหาศาลอีกด้วย 

         จึงมีการนำแนวคิดในเรื่องฮอสพิซ (สถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย) และพาลลิเอทีฟแคร์ (การรักษาแบบประคับประคอง) เข้ามาดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้ายเข้ามาดำเนินงานในองค์กรด้านสุขภาพของภาครัฐและเอกชนมากขึ้น ทั้งในและนอกระบบโรงพยาบาล และขยายตัวเป็นเครือข่ายการทำงานกระจายออกไปทั่วประเทศ เช่น เครือข่ายชีวันตารักษ์ เครือข่ายโรงเรียนแพทย์ ๑๘ สถาบัน ฯลฯ 

         แต่การขยายตัวดังกล่าว ยังไม่เพียงพอต่อการขยายตัวของปัญหาที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากร หรือองค์ความรู้ต่างๆ ที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงบริการได้ ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ในทางการแพทย์ เช่น จิตวิทยาของผู้ป่วยใกล้ตายและญาติมิตร หรือองค์ความรู้ในเรื่องระบบการบริหารจัดการ เช่น รูปแบบของสวัสดิการจากภาครัฐที่จะสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายนอกเหนือไปจากการดูแลในสถานพยาบาลทั่วๆ ไป การผลักดันให้เกิดระบบอาสาสมัครมารองรับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรู้ความเข้าใจบริบททางสังคมวัฒนธรรม ในการออกแบบระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้สอดคล้องกับสังคมไทย  

         อโรคยศาล วัดคำประมง  จ.สกลนคร เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง ว่าเป็นสถานอภิบาลผู้ป่วยมะเร็งด้วยสมุนไพร ที่ริเริ่มโดยพระป่ารูปหนึ่ง ซึ่งนำภูมิปัญญาทางพุทธศาสนาและการแพทย์แผนไทยมาผสมผสาน โดยให้ความสำคัญกับการดูแลกายและใจอย่างเป็นองค์รวม มุ่งหวังให้ผู้ป่วยเกิดการเรียนรู้ความจริงของชีวิต จนสามารถสามารถอยู่ร่วมหรือเผชิญกับความทุกข์ทรมานจากโรคภัยได้อย่างปกติสุข ไม่วิตกกังวลจนเกินไป เกิดการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตให้ถูกต้องตามแนวทางของธรรมะ กระทั่งเมื่อถึงวาระสุดท้าย สามารถตายจากไปอย่างสงบได้

ประสบการณ์การดำเนินงานในช่วงหลายปีของอโรคยศาล ซึ่งนอกเหนือจากการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายแล้ว ยังเป็นแหล่งฝึกฝนบุคลากร และแลกเปลี่ยนเรียนรู้จนเกิดองค์ความรู้ต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายขึ้นมาชุดหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการดูแลรักษา จิตอาสา และระบบบริหารจัดการต่างๆ ที่ควรนำมาเป็นกรณีศึกษาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างจริงจังเพื่อนำไปขับเคลื่อนงานการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้มีความหลากหลายและเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทยต่อไป 

 

แรกก่อเกิดอโรคยศาล

         “หลวงตาไม่รู้จักฮอสพิซมาก่อน แต่เห็นประชาชนเจ็บป่วยทรมาน เพราะโรคมะเร็ง จึงก่อตั้งอโรคยศาลขึ้นมา” 

         อโรคยศาลก่อกำเนิดโดยเริ่มจากหลวงตาปพนพัชร์ จิรธมฺโม ป่วยเป็นมะเร็งในโพรงจมูก เมื่อไปรับการรักษาโดยวิธีเคมีบำบัดและฉายแสง จนร่างกายรับไม่ไหว ท่านจึงหาทางออกจากความทุกข์ทรมานโดยการเข้าสู่สมาธิ ซึ่งนอกจากจะช่วยระงับความเจ็บปวดแล้ว ยังทำให้ท่านระลึกถึงตำราสมุนไพรอันเป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ จึงนำมาศึกษาจนคัดเลือกสมุนไพรออกมาได้ ๑๑ ชนิด แล้วนำมาทดลองต้มทาน ปรากฏว่าทำให้เลือดหยุดไหล อาการปวดหายไป ท่านจึงกลับวัดมารักษาตัวจนหายจากอาการของมะเร็ง 

         เมื่อเรื่องราวดังกล่าวแพร่ออกไป จึงมีผู้ป่วยมะเร็งมาขอให้ช่วย ท่านจึงนำประสบการณ์ของตัวเองมาสอนการทำสมาธิและให้ยาสมุนไพรไปต้มทาน จนมีผู้ป่วยเข้ามาหามากขึ้นเรื่อยๆ จึงเริ่มก่อสร้างอาคาร ทำเป็นสถานที่ดูแลขึ้นมา จนเป็นอโรคยศาลตามแบบอย่างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เพื่อเป็นศูนย์รวมของการดูแลรักษา “โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย” ในปลายปี พ.ศ. ๒๕๔๗ 

         โดยมีเป้าหมายสูงสุด  เพื่อให้ “คนไข้พ้นทุกข์ได้ ถึงนิพพานวัดไม่ได้ แต่สัมผัสได้ด้วยใจว่าคนไข้ไปดี ไปอย่างสงบ ไม่มีกังวล ทั้งก่อนหน้า และขณะกำลังจากไป ไปอย่างมีความสุข ยิ้มๆ” 

 

คือการแพทย์ผสมผสาน

         ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มาอโรคยศาล จะผ่านการรักษาทางการแพทย์ปัจจุบันมาจนสุดทาง และถูกวินิจฉัยว่าไม่มีทางรักษาแล้ว จึงมาแสวงหาการรักษาแนวทางอื่น แต่ถึงแม้ว่าอโรคยศาลจะเริ่มการรักษาด้วยสมาธิและสมุนไพรบำบัดเป็นหลัก ก็ยังเปิดกว้างให้กับแนวทางการรักษาอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์ปัจจุบัน ขอเพียง “ไม่ขัดกับแนวทางของธรรมชาติบำบัด เป็นประโยชน์กับผู้ป่วยจริง และไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง” เช่น มีการบรรเทาปวด เจาะน้ำออกจากท้อง (ช่วยลดความทรมานของคนไข้) แต่ไม่มีการฉายแสง เจาะคอ ฯลฯ รวมถึงการแพทย์ทางเลือกอื่นๆ ก่อนจะค่อยๆ ผสมผสานกลมกลืนจนกลายเป็นกิจกรรมหลักของอโรคยศาลในเวลาต่อมา เช่น อาหารสุขภาพแนวเกอสัน แนวแมคโครไบโอติก โยคะหัวเราะ ชี่ไดนามิกส์ เป็นต้น 

         แต่มีหลายกรณีที่หลวงตาจะวินิจฉัยร่วมกับผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย และแพทย์แผนปัจจุบัน ก่อนจะตัดสินใจพร้อมกันในการส่งตัวผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัด ฉายแสง ไปยังโรงพยาบาล หรือไปๆ มาๆ หากเป็นผลดีกว่าการรักษาตัวในอโรคยศาลเพียงอย่างเดียว และเป็นความต้องการของผู้ป่วย 

 

ศรัทธา สมาธิ และสมุนไพร

         การรักษาด้วยสมุนไพรตามแนวทางของอโรคยศาล นอกจากอาศัยสรรพคุณของตัวยาที่ผ่านการคัดเลือกมาจากประสบการณ์และความรู้ของหลวงตาปพนพัชร์ ซึ่งมีอยู่หลากหลายสูตร ทั้งสูตรหลัก สูตรเพิ่มภูมิคุ้มกัน และสูตรรองอีกมากมาย ตามแต่อาการของโรคแล้ว ยังต้องมีการกำกับด้วยมนตรา อาศัยพิธีกรรมเพื่อเป็นอุบายในการทำให้ผู้ป่วยเกิดศรัทธา และกำลังใจที่จะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อเยียวยาตนเอง ผนวกเข้ากับการทำความเข้าใจเรื่องการเตรียมตัวตายและฝึกสมาธิ ซึ่งหลวงตาจะเทศน์และนำฝึกทุกเช้าเย็น เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีจิตใจสงบและผ่อนคลาย และเป็นเครื่องมือในการบรรเทาหรือระงับความเจ็บปวดได้อย่างดี นอกเหนือจากการใช้ยาอีกด้วย

         ต่อเมื่อผู้ป่วยมีหม้อยาประจำตัวที่ผ่านการทำพิธีกรรมในวันพระโดยหลวงตาแล้ว จึงจะถือว่าเข้าสู่กระบวนการเยียวยาจากอโรคยศาลอย่างสมบูรณ์

         หลวงตากล่าวว่า “พอผู้ป่วยทำพิธีต้มยา ท่องคาถานานหลายชั่วโมงกว่าได้ยาหม้อหนึ่ง แกบอกว่าโรคหายไปครึ่งหนึ่งแล้ว เพราะใจมาแล้ว พร้อมจะเผชิญกับทุกสิ่งทุกอย่าง” 

 

 

         คุณทวีวัฒนา ทุนคุ้มทอง อดีตผู้บริหารสำนักข่าวยักษ์แห่งหนึ่งของเมืองไทย ซึ่งลาออกจากงานมาเพื่อรักษาโรคตับอักเสบก่อนจะลุกลามจนกลายเป็นมะเร็ง และเป็นจิตอาสาไปด้วยในเวลาเดียวกัน กล่าวว่า “การสอนทำสมาธิของหลวงตา ให้พลังบางอย่างกับเรา ทำให้รู้สึกสดชื่น เมื่อก่อนเหนื่อยแล้วนอน แต่ปัจจุบันจะทำสมาธิ แบบปล่อยวางว่าเราจะตายแล้วนะ เราจะตายอย่างไร ในจิตที่ขุ่นมัวหรือ เราจะไปยึดติดอะไร ชีวิตจะง่าย เบาๆ

         “สมุนไพรเป็นหัวใจหนึ่ง บางคนเป็นมะเร็งมา ไปรักษาธรรมชาติบำบัด กลับมีแนวโน้มแย่ลง แต่อโรคยศาล ธรรมชาติบำบัดเหมือนกัน เพิ่มสมุนไพรเข้าไปจะดีขึ้น แต่ไม่มากหากขาดสมาธิ หรือขาดศรัทธาต่อหลวงตา ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ เหมือนถ้าเราเปิดใจ ยาที่ใช้จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงบอกไม่ได้ว่าอะไรสำคัญกว่ากัน” 

 

 

ชุมชนแห่งการเยียวยา

         อโรคยศาล อยู่ภายในวัดคำประมง มีเนื้อที่กว้างขวางกว่า ๓๐๐ ไร่ นอกจากพระวิหารใหญ่ ซึ่งออกแบบได้อย่างโอ่โถงแล้ว สภาพภายในวัดยังร่มรื่นแต่อากาศโปร่งโล่งในขณะเดียวกัน กระจายด้วยอาคารต่างๆ เช่น อาคารอโรคยศาล ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการรับยา หรือการทำวัตรสวดมนตร์ ออกกำลังกาย ฯลฯ แล้ว ในบริเวณไม่ไกลกัน จะเป็นเรือนพักของผู้ป่วยที่ทำจากไม้บ้าง เป็นบ้านดินบ้าง แทรกตัวอยู่ใต้ร่มไม้ แต่ละหลังจะมีการแบ่งเตียงหรือห้องออกเป็นสัดส่วน รวม ๖๐ เตียง มีครัวอยู่ด้านนอก มีอุปกรณ์ให้ใช้ครบถ้วน มีลักษณะเป็นเหมือนบ้านที่ผู้ป่วยและญาติที่มาดูแลจะใช้ชีวิตร่วมกัน 

         แม้จะไม่คิดค่าใช้จ่ายในการรักษาใดๆ แต่เงื่อนไขสำคัญนอกจากศรัทธาแล้ว ผู้ป่วยจะต้องมีญาติมาด้วยหากไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เพื่อดูแลทั้งในเรื่องชีวิตประจำวัน และทำกิจกรรมส่วนรวมร่วมกัน อีกทั้งยังคอยช่วยเหลือเกื้อกูลผู้ป่วยและญาติคนอื่นๆ ด้วย ช่วยกันทำอาหาร ไหว้วานให้ไปรับยา พูดคุยปรึกษาหารือ ระบายความทุกข์ยาก ความไม่สบายกายไม่สบายใจให้กันฟัง หรือไปเยี่ยมผู้ป่วยและญาติคนอื่นๆ เหมือนเป็นชุมชนที่ช่วยเยียวยาซึ่งกันและกัน 

         กิจวัตรประจำวันของผู้ป่วยและญาติ เริ่มจากเช้า ใส่บาตร ออกกำลังกาย แล้วแต่สภาพของผู้ป่วย และความพร้อมของญาติ รับยา ก่อนจะแยกย้ายกันไปทำกิจกรรมส่วนตัว เช่น ทำกับข้าว ต้มยา มีโรงอาหารกลางสำหรับแจกทาน ข้าวกล้องบ้าง ผักบ้าง โดยญาติคนไข้ต้องช่วยเหลือตัวเอง แบ่งกันกินกันใช้ ไม่แยกคนรวยคนจน เป็นพี่น้องกันหมด ใครมีฐานะดีกว่าช่วยคนมีฐานะด้อยกว่า พึ่งพากัน

         บรรยากาศดังกล่าว นายแพทย์พรเลิศ ฉัตรแก้ว จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มองว่าเป็นเอกลักษณ์สำคัญของสังคมไทย ต่างฮอสพิซตะวันตกที่อาจดูสวยงาม แต่เศร้า เพราะเหมือนการนำคนไข้ระยะสุดท้ายมารวมๆ กันให้คนอื่นดูแล ในขณะที่อโรคยศาลจะมีความเป็นธรรมชาติ สงบ แต่ไม่โดดเดี่ยว เพราะมีครอบครัวคอยดูแลเคียงข้างตลอด

         สอดคล้องกับนายแพทย์ศิริโรจน์ กิตติสารพงษ์ แพทย์จิตอาสาคนแรกของอโรคยศาล กล่าวว่า “เคยมีคนเสนอว่า ให้มีคนทำครัวกลางดีไหม ผู้ป่วยและญาติจะได้ไม่ต้องทำเอง แต่หลวงตาบอกว่าไม่ดี เพราะจะเป็นการตัดกิจกรรมของความเป็นคนออกไป การรักษาแบบธรรมชาติบำบัด อย่าไปคิดว่าผู้ป่วยมากินอยู่มารักษาตัว แต่ให้เหมือนกับเป็นการใช้ชีวิตปกติไปเลย” 

         หรือที่คุณทวีวัฒนา กล่าวว่า “ก่อนกลับบ้าน หลวงตาจะให้คนไข้บางคนเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงในตัวเขาทั้งทางกาย และจิตใจ หลายคนบอกว่า เวลาอยู่บ้าน คนอื่นจะมองเขาเป็นคนป่วย น่าสงสาร ทำให้จะเครียด แต่ที่อโรคยศาล ทุกคนเป็นผู้ป่วยหมด จึงพูดเรื่องเดียวกัน ได้ระบาย ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าเขามีเพื่อน ไม่ได้คิดว่าเขาจะตาย แต่คิดว่าเราไม่ได้เลวร้ายคนเดียวในโลก คนอื่นเขายังอยู่ได้เลย แล้วเมื่อคนไข้ที่อาการดีขึ้นมาเล่าการเปลี่ยนแปลงให้ฟัง เขายิ่งมีกำลังใจและมีแนวทางด้วย” 

         โดยสรุปแล้ว แนวทางการดูแลผู้ป่วยของอโรคยศาล คือแนวทางของ ธรรมะ ธรรมชาติ และชุมชนบำบัด เป็นการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต วิธีคิด การกินอยู่ ให้ถูกต้องตามแนวทางพุทธศาสนา

 

จิตอาสา จากการรับสู่ผู้ให้

         จนถึงปัจจุบัน อโรคยศาลให้การดูแลผู้ป่วยมาแล้วถึงหลักพันคน เฉพาะที่แวะเวียนเข้ามาพักรักษาตัวอยู่ในวัดคำประมง บางช่วงมีถึงหลายสิบคน ในขณะที่เจ้าหน้าที่ของอโรคยศาลมีเพียง ๑๐ กว่าคน จึงนอกเหนือจากญาติพี่น้องของผู้ป่วยแล้ว การมีจิตอาสา เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นไม่แพ้กัน อโรคยศาลจะมีจิตอาสาทราบข่าวและศรัทธาในการดำเนินงานแวะเวียนเข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วยตามความถนัดของตนอยู่เป็นระยะๆ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์พยาบาล หรือบุคคลทั่วไป บางคนมาเยี่ยมเยียน มาทำอาหาร หรือนำความรู้ในการรักษาทางเลือกเข้ามาแนะนำ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมถึงผู้ป่วยหลายคนที่ต่อมากลายเป็นจิตอาสาที่แวะเวียนมาหรืออยู่ประจำครั้งละนานๆ เพราะนอกจากความรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ทำความดีแล้ว หลายคนยังยอมรับว่าการเป็นจิตอาสาดูแลผู้ป่วยทำให้พวกเขาเกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดเกี่ยวกับชีวิตเลยทีเดียว

         อย่างเช่นคุณทวีวัฒนา กล่าวว่า “การเป็นคนไข้ ทำให้เห็นชัดว่าตายกันง่ายๆ เลย เช่น มีผู้ป่วยมะเร็งตับหลายราย มาวันแรก ท้องใหญ่ ปวดมาก หลวงตาบอกว่าคงต้องไปคืนนั้นแล้ว ให้ระดมสวดอิติปิโสร้อยแปดจบให้ ก่อนพบหลวงตา ความดันของแกตก หัวใจไม่เต้นแล้ว แต่พอเริ่มสวดอิติปิโส แกกลับฟื้น ลุกขึ้นมาหัวเราะได้ อนิจจังมาก คิดว่าจะตายแต่ไม่ตาย อยู่มาอีกเป็นเดือน อาการดีขึ้นเรื่อยๆ จนกลับบ้านไป แต่อีกสองวันต่อมา ลูกโทรศัพท์มาบอกว่าตายแล้ว

         “อีกรายหนึ่ง อยู่มา ๒๗ วัน ได้คุยกับญาติเขาตอนหัวค่ำ ว่าเราสอนเรื่องการภาวนาพุทโธ จนเสียงเริ่มเข้าไปให้หัวของแก และภาวนาได้แล้ว จากเดิมที่นอนร้องด้วยความปวด เริ่มนอนนิ่ง วันสุดท้ายก่อนจะไป แกไม่กินอะไรเลย อยู่กับพุทโธ พอถึงตีสามนิ่งไปเลย ญาติเขาบอกว่าเขาไปดี ไม่ฟูมฟาย ไม่ฟุ้ง

         “คนไข้เป็นครู ให้เราได้เรียนรู้เรื่องชีวิต ให้มุมมองใหม่ๆ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ตั้งใจ เขาเป็นมะเร็งยังไม่ทุกข์เลย เราเป็นไม่ถึงขนาดเขายังจะมากังวลอะไรนักหนา ... ช่วยให้เราเย็นลง วางอะไรได้เยอะ ยอมรับความจริงของชีวิตมากขึ้น” 

         หรือนายแพทย์ศิริโรจน์ ที่ยอมรับว่า “ผมเปลี่ยนไปมาก ยอมรับเรื่องการดูแลตนเองโดยไม่ใช้การแพทย์แผนปัจจุบันได้ เข้าใจว่าการดูแลตนเองไม่ใช่วิทยาศาสตร์อย่างเดียว แต่เป็นเรื่องผู้คน จิตใจ ธรรมชาติ คนไข้ที่มีปัญหาด้านจิตใจ การฉีดยาให้เพียงอย่างเดียวไม่พอ ต้องใช้พลัง และอะไรหลายๆ อย่างรวมกันไปด้วย บางอย่างเราสามารถสอนให้เขาช่วยตัวเองได้ เช่น การฝึกหายใจ ซึ่งจะติดตัวเขาไปอย่างยั่งยืน ถึงจะเสียเวลา แต่การให้คนไข้ช่วยเหลือตัวเองได้ เป็นเรื่องดีกว่าเก็บเงินจากการขายยาเพียงอย่างเดียว 

         ทำแล้วชีวิตเรามีคุณค่า ได้เห็นความเจริญทางจิตวิญญาณอย่างหนึ่ง เป็นบุญกุศล การเข้าใกล้เรื่องความตาย ทำให้เราไม่กลัว เกิดความมั่นใจบางอย่างที่จะช่วยเขาได้”

         แต่การที่อโรคยศาลยังไม่มีระบบรองรับเรื่องจิตอาสาอย่างชัดเจน หากปล่อยให้การจัดการเป็นไปตามธรรมชาติ จึงอาจทำให้ขาดความสม่ำเสมอ บางช่วงมีจิตอาสาเข้ามามาก บางช่วงเข้ามาน้อย รวมถึงการไม่มีระบบการปฐมนิเทศอย่างเป็นกิจลักษณะ ผู้เป็นจิตอาสาจึงต้องอาศัยเวลาเรียนรู้จากสถานการณ์จริงว่าตนเองสามารถเข้ามาช่วยเหลือในส่วนไหนได้บ้าง อาจทำให้พลังของจิตอาสาถูกนำมาใช้น้อยกว่าศักยภาพที่มีอยู่จริงอย่างที่ควรจะเป็น

 

สู่วาระสุดท้ายด้วยใจสงบ

         แม้ว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มารักษาย่อมคาดหวังว่าอโรคยศาลจะช่วยให้พวกเขาหายจากโรคมะเร็งได้ แต่หลวงตาจะย้ำเสมอให้ทุกคนยอมรับความจริงว่า ไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่าทุกคนจะหายจากมะเร็งอย่างแน่นอน หากท่านจะให้ความสำคัญกับการทำอย่างไรให้ผู้ป่วยอยู่กับมะเร็งอย่างมีความสุขเป็นหลัก อยู่เท่าที่อยู่ได้ ไม่ให้กลัวความตายจนไม่กล้าทำอะไรเลย โดยให้ผู้ป่วยปฏิบัติธรรมไปด้วย จากการนำฝึกสมาธิ หรือการเทศน์เรื่องการเตรียมตัวตายให้ฟังทุกๆ วัน รวมถึงการไปเยี่ยมไปสวดมนต์ข้างเตียง ไปรับฟังไปแก้ความทุกข์ให้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครอบครัว การรักษา การกลับไปดูแลต่อที่บ้าน ให้เขากลมกลืน ไม่มีห่วงในใจ 

         ต่อเมื่อดูแลร่างกายจนถึงที่สุดแล้ว หากร่างกายอยู่ในภาวะสุดท้าย ไม่ตอบสนองต่อยา หลวงตาจะเข้าไปดูแลเรื่องการจิตใจของผู้ป่วยให้สงบเย็น ให้เข้าใจว่าชีวิตเป็นเช่นนั้นเอง แล้วเชิญชวนเพื่อนผู้ป่วยกับญาติมาร่วมสวดมนต์ให้ผู้ป่วยจนกว่าจะไปอย่างสงบ หลับไป โดยทุกอย่างต้องเป็นธรรมชาติ และยืดหยุ่นตามสถานการณ์ 

         หลวงตากล่าวว่า “จิตใจเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องใช้เวลา แม้จะมีกระบวนการอย่างดีที่สุดแล้ว แต่จะคาดหวังกับคนป่วยมากนักไม่ได้ เพราะแต่ละคนมีฐานไม่เหมือนกัน รวมถึงการใช้เวลากับคนป่วยแต่ละคนยังแตกต่างกันตามความจำเป็น” 

         แม้ว่าจากการติดตามผลการรักษา จะพบว่าผู้ป่วยหลายคนสามารถมีชีวิตยืนยาวอยู่กับมะเร็งได้นานหลายปีจนถึงปัจจุบัน แต่ส่วนใหญ่ร้อยละ ๙๐ จะเสียชีวิตภายในสองปี ซึ่งไม่ได้แตกต่างจากการรักษาโดยการแพทย์แผนปัจจุบันอย่างชัดเจนแต่ประการใด หากสิ่งสำคัญคือคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในระหว่างการรักษาจนกระทั่งเสียชีวิต โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในอโรคยศาล มากกว่าร้อยละ ๕๐ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรม ยอมรับความเป็นจริงของชีวิต ไม่กลัวความตาย และจากไปอย่างสงบ

 

 

         จากการศึกษาวิจัยการดำเนินงานของอโรคยศาลโดยจิตอาสาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๑ พบว่า หากผู้ป่วยมาพักรักษาตัวอยู่ต่ำกว่า ๑๐ วันจะไม่เกิดประโยชน์เท่าใดนัก แต่โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ป่วยจะพักอยู่ในอโรยศาลประมาณ ๒๙ วัน สั้นบ้างยาวบ้างตามเหตุปัจจัยของแต่ละคน ซึ่งนับว่าเพียงพอต่อการฝึกทำสมาธิ และเรียนรู้ในเรื่องการดูแลตัวเองตามแนวทางของอโรคยศาล แต่โดยที่การบริหารจัดการภายในจะเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่มีการบังคับ ประกอบกับยังไม่มีระบบการปฐมนิเทศโดยละเอียด หากใช้วิธีการเรียนรู้กันเอง โดยฟังจากการเทศน์ของหลวงตา หรือฟังหมอจิตอาสาพูด ผู้ป่วยและญาติส่วนใหญ่จึงมีความรู้ที่จะใช้ดูแลตัวเองไม่เพียงพอ ต้องสังเกตและเรียนรู้จากคนอื่นๆ เพิ่มเติม ทำให้มีความเข้าใจผิดพลาดได้ เช่น ผู้ป่วยบางคนเข้าใจผิดคิดว่าไม่ให้ทานเนื้อสัตว์ จึงทานปลาแทน หรือเอาน้ำผลไม้กระป๋องมากิน เป็นต้น 

 

 

เหลียวหลังแลหน้าอโรคยศาล

         อโรคยศาลนับเป็นกรณีศึกษาของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายนอกระบบโรงพยาบาลที่น่าสนใจ เพราะมีความยืดหยุ่นและตอบสนองต่อความต้องการของคนไข้สูง เช่น เมื่อผู้ป่วยรักษาตัวระยะหนึ่งจนมีอาการดีขึ้น และเข้าใจแนวทางการดูแลตนเองแล้ว สามารถกลับไปรักษาตัวที่บ้านได้ โดยทางอโรคยศาลจะส่งสมุนไพรไปให้ทานถึงบ้าน หรือการไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ จึงเปิดโอกาสให้คนยากจนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างไม่ต้องกังวลจนเกินไป แม้ว่าจะยังมีคำถามในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลการดูแลรักษา หรือการบริหารจัดการที่หลายคนมองว่ายังไม่เป็นระบบชัดเจนในหลายๆ เรื่อง เช่น ระบบการจัดการจิตอาสา หรือการทำความเข้าใจต่อแนวทางของอโรคยศาลให้กับผู้ป่วยและญาติอย่างเป็นกิจลักษณะเพียงพอ หากปล่อยให้เป็นกระบวนการเรียนรู้กันเองเป็นหลัก 

         รวมถึงการพัฒนาระบบการดูแลรักษาและศักยภาพของบุคลากรซึ่งเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน เพื่อมิให้หลวงตาปพนพัชร์ต้องรับภาระในการดูแลผู้ป่วยมากจนเกินไปเหมือนในปัจจุบัน และเพื่อรองรับแนวคิดการนำอโรคยาศาลโมเดลไปใช้ในระบบการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โรคหัวใจ ความดัน เบาหวาน และเผยแพร่ไปสู่ประชาชน ไปสู่โรงพยาบาลใกล้ๆ บ้านของคนไข้เป็นความจริง ดังหลวงตาบอกว่า มีการดำเนินงานไปบ้างแล้วในปัจจุบัน

         “บางโรงพยาบาล อย่างเช่น โรงพยาบาลเกาะสีชัง ส่งหมอมาเรียนรู้ทั้งสมุนไพร แพทย์แผนไทย แผนปัจจุบัน แล้วไปเปิดวอร์ดที่โรงพยาบาล ดูแลคนไข้มะเร็งแบบอโรคยศาล”

         ในสถานการณ์ของสังคมไทยที่การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายมีความจำเป็นมากยิ่งขึ้นทุกขณะ อโรยศาลซึ่งมีแนวทางการดูแลรักษาด้วยการแพทย์ผสมผสานด้วยภูมิปัญญาแบบไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเป็นชุมชน การแพทย์แผนปัจจุบันและแผนไทย ตลอดจนพุทธศาสนา และที่สำคัญคือการเปิดกว้างให้ผู้คนทุกระดับสามารถเข้าบริการได้อย่างน่าสนใจนั้น ควรนับว่าเป็นกรณีตัวอย่างหนึ่งที่สังคมไทยพึงนำมาเรียนรู้เพื่อการต่อยอดและประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับบริบททางสังคมวัฒนธรรมอันหลากหลายของสังคมไทยต่อไป เพื่อให้ระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่วาดหวังไว้ เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนไทยทุกผู้คนอย่างแท้จริง

 

นายแพทย์ศิริโรจน์ กิตติสารพงษ์ 
รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลรักษ์สกล จ.สกลนคร
แพทย์จิตอาสาคนแรกของอโรคยศาล

         อโรคยศาลอาจจะแตกต่างจากฮอสพิซแบบตะวันตก เนื่องจากไม่ใช่การจำนนต่อโรคมะเร็งเหมือนแพทย์แผนปัจจุบัน และผู้ป่วยที่มารักษาส่วนหนึ่งยังสามารถกลับไปทำงานได้อีก เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิต และทานยาสมุนไพร แต่ถ้าใกล้เสียชีวิต จะเป็นการเยียวยาทางจิตใจ ส่งวิญญาณ 

         จึงเป็นการดูแลแบบผสมผสานหลายรูปแบบ ผู้ป่วยถูกจริตกับอะไร เลือกเอาไปทำได้ เป็นลักษณะการกุศล ท่านไม่เก็บเงินคนไข้ ยกเว้นอาหารต้องไปซื้อเอง 

         ไม่เหมือนฮอสพิซของตะวันตก ซึ่งจะดูแลเรื่องอาการปวดด้วยการใช้มอร์ฟีน แต่กฎหมายไทยไม่ให้ใช้มอร์ฟีนนอกโรงพยาบาล ไม่ว่าจะฉีดหรือกิน แต่การระงับปวดมีหลายวิธี นั่งสมาธิ สะกดจิต ใช้พลัง กินสมุนไพร สวดมนต์ ถ้าคนไข้ปวดแรง จะใช้ยาฉีด ทามอล พร้อมกับการทำให้เขาผ่อนคลาย 

         อย่างคนไข้ปวดแรงๆ ไม่มีมอร์ฟีนให้ ต้องส่งโรงพยาบาลฉีดยา แต่ในอโรคยศาล เขาจะเรียนรู้ว่าการระงับปวดมีได้หลายทาง แล้วแต่จริต ไม่จำต้องหนีความเจ็บปวดอย่างเดียว แต่ถ้าทนไม่ได้ ก็ไปหาโรงพยาบาล

 

คุณทวีวัฒนา ทุนคุ้มทอง
อดีตผู้บริหารสำนักข่าวยักษ์แห่งหนึ่งของเมืองไทย 
ปัจจุบันลาออกจากงานมารักษาโรคตับอักเสบ และจิตอาสา อโรคยศาล

         ตัดสินใจมารักษาตามแนวทางธรรมชาติบำบัดที่อโรคยศาล ตามคำชวนของหลวงตา การได้มาอยู่และเห็นกระบวนการรักษา ได้เห็นความเมตตา ความใส่ใจคนไข้ ไม่ว่าจะงานยุ่งขนาดไหน เมื่อคนไข้ร้องขอ ว่าปวดหัวมาก หรือญาติโทรศัพท์มาหา จะเช้าตรู่ หรือตีสองตีสาม ท่านไปดูได้ ไปสวดส่งวิญญาณ จึงทำให้เกิดศรัทธา 

         ช่วงแรกๆ ไม่มีแรง จึงต้องรักษาตัวก่อน หลังจากทานยาสมุนไพรไประยะหนึ่ง เริ่มมีกำลังแล้ว จึงช่วยเหลืออโรคยศาลทั้งในด้านการเผยแพร่ และคอยดูแลผู้ป่วยคนอื่นๆ  

         เริ่มจากการพูดคุยไตร่ถามสารทุกข์สุกดิบผู้ป่วยและญาติที่มาดูแล ช่วยส่งข้อมูลคนไข้ให้กับหลวงตา กับอาศัยทักษะจากการเรียนรู้ในสาวิกาสิกขาลัย โดยเฉพาะการฟังอย่างลึกซึ้ง และการภาวนา ช่วยเยียวยาจิตใจอีกทางหนึ่ง โดยแรกๆ จะช่วยเรื่องการภาวนาสำหรับผู้ป่วยที่เจ็บมากๆ พอผู้ป่วยรอด เลยบอกต่อๆ ว่าถ้าคนป่วยหนักให้เราไปคุย ไปนำภาวนาผู้ป่วย ให้คำแนะนำเรื่องการดูแลตนเอง คุยเป็นเพื่อนกับเขา ทำอยู่ประมาณเดือนหนึ่งแล้ว 

         ก่อนหน้าเคยฝึกงานเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายมาแล้ว จะใช้การเยียวยาผู้ป่วยที่ใจ โดยให้ผู้ป่วยภาวนามีสติกับลมหายใจ เขาจะลดความปวดได้ หลับไป หรือผ่อนคลายจากความเครียด ให้เขาระบายความทุกข์ของเขา มีการฟังอย่างลึกซึ้ง ทำให้เขาวางความทุกข์ทางกายได้ ให้เขาตามดูลมหายใจ หรือสอนญาติให้ดูแลคนไข้ หลายเคส คนไข้ยิ้มออก

         มีคนไข้คนหนึ่ง อยู่ห้องข้างๆ เป็นมะเร็งตับ ไปทับเส้นเลือดในกระเพาะ จะเส้นตึงไปหมด เราต้องสัมผัส ลูบๆ แล้วพูดให้กำลังใจ หลังจากคุยไป ๔๕ นาที ให้เขาอยู่กับลมหายใจ ภาวนาไปกับเขาเลย ทำให้เขาคลายปวดได้ เส้นหายไปเลย เป็นไปได้ เวลาปวดทุกอย่างจะเกร็ง แต่พอเลิกเพ่ง จิตเริ่มคลาย กายก็คลายได้ ไปทำทุกครั้ง ญาติวิ่งมาหาว่า ผู้ป่วยนอนไม่ได้ ไข้ขึ้น เราอยู่ภาวนากับเขาชั่วโมงสองชั่วโมง ไข้ลดเห็นๆ เลย จากนั้นอาการดีขึ้นจนกลับบ้าน 

 

ผศ.นายแพทย์พรเลิศ ฉัตรแก้ว
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

 

ว่าด้วยหลักการของฮอสพิซ

         ฮอสพิซเกิดจากแนวคิดแยกส่วนแบบตะวันตกว่า ถ้ายังรักษาได้ให้อยู่ในโรงพยาบาล ถ้าไม่ได้แล้วไม่จำเป็นต้องอยู่ แต่คนไข้ไม่รู้จะทำอย่างไร ไปไหน โดยเฉพาะตะวันตกที่ครอบครัวไม่มีคนอยู่ด้วย ต้องมีคนอื่นมาช่วยดูแล ต่อมาประเทศทางตะวันตกเริ่มเห็นความสำคัญ จึงมีกองทุนจากรัฐบาลและการระดมทุนเพื่อให้ฮอสพิซต่างๆ สามารถดูแลตัวเองได้ ทำให้ฮอสพิซเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

         หลักการดูแลแบบฮอสพิซ คือเคารพการมีชีวิตและความตาย จึงไม่มีการเร่งหรือยืดการตาย แต่ทำให้เวลาที่เหลืออยู่ของคนไข้มีคุณภาพชีวิตดีที่สุด โดยจะมีแพทย์มาดูอาทิตย์ละครั้งหรือสองครั้ง แต่มีพยาบาลดูแลตลอด และมีกลุ่มที่ทำเรื่องการนวด ศิลปะ ดนตรี เข้าไปเสริม

         ในเมืองไทยยังไม่มีฮอสพิซในรูปแบบอย่างนั้น จะเหมือนมีอยู่ในสถานคนชราซึ่งยังมีไม่เยอะ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรายังมีครอบครัวที่สามารถดูแลคนไข้ได้อยู่ อโรคยศาลในวัดคำประมงเกิดขึ้นมาโดยผสมผสานความเป็นไทย ที่วัดจะมีพื้นที่ให้สำหรับคนไข้ที่มาพร้อมกับครอบครัวเพื่อดูแลกัน และมีกิจกรรมต่างๆ ที่เพิ่มคุณภาพชีวิต รวมทั้งให้ผู้ป่วยได้ศึกษาธรรมะเพื่อเข้าใจความจริงของชีวิต

         ผู้ป่วยที่วัดคำประมงถึงไม่มีความหวังจากแพทย์สมัยใหม่ แต่มีความหวังด้วยการแพทย์อีกแบบหนึ่ง แต่หลวงตาปพนพัชร์ท่านเปิดกว้าง ไม่ว่าผู้ป่วยมะเร็งระยะไหน สามารถไปหาแต่ต้น หรือไปเมื่อไม่รู้จะไปที่ไหนแล้ว ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม หลายคนเป็นโรคที่คิดว่ามีโอกาสหากรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน น่าที่จะให้โอกาสตัวเอง ไม่ใช่ตัดทางเลือกไป อโรคยศาลจะแนะนำเขาให้มาพบหมอ เพื่อศึกษาหาทางเลือกที่เป็นประโยชน์ที่สุด ผู้ป่วยหลายรายหลวงตาส่งมาคุยกับผม เช่น ผู้ป่วยมะเร็งตับระยะเริ่มแรก ซึ่งการผ่าตัดรักษาได้ดีมากๆ อาจจะไม่ถึงกับหายขาด แต่อยู่ได้ ๕ ปี ๑๐ ปี ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยต่างๆ

 

ว่าด้วยอโรคยศาล วัดคำประมง

         การดูแลแบบอโรคยศาล เป็นการตกผลึกในด้านความรู้ที่อ้างอิงจากพื้นฐานของสังคมไทยเรา เพราะฮอสพิซตะวันตก หลายๆ คนที่เคยไปดูในภาพยนตร์อาจจะสวยงาม แต่เศร้า เพราะเป็นเหมือนนำคนไข้ระยะสุดท้ายมารวมๆ กัน ทุกคนเหนี่ยวนำความรู้สึกห่อเหี่ยวเข้าไป แต่อโรคยศาลแม้อาจไม่สวยงามเท่า แต่เป็นธรรมชาติ มีการระบายอากาศดี และมีความสงบ

         รวมถึงยังตอบคำถามได้ว่า จริงๆ แล้วคนไข้ระยะสุดท้ายและครอบครัวมีความสุขจากอะไร คือการมีความจากการความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว จึงมีกิจกรรมหลายๆ อย่าง เช่น ต้มยา ทำอาหาร ซึ่งครอบครัวต้องช่วยกัน ... ยาที่ต้มต้องเป็นเฉพาะของคนไข้แต่ละคน ซึ่งต้องมีการสวดมนตร์ อธิษฐานจิตร่วมกัน คนไข้จึงไม่โดดเดี่ยว มีครอบครัวเคียงข้างตลอด

         หัวใจประการที่สอง คือผู้ป่วยได้รับการตอบสนองด้านจิตใจ โดยความรู้ความเข้าใจ กิจกรรมที่ทำเป็นการผสมผสานระหว่างพุทธศาสนากับความเชื่อโบราณ อย่างคำว่า อโรคยศาลจริงๆ เป็นศัพท์ที่ใช้เรียกปรางค์กู่สำหรับรักษาโรคในสมัยโบราณ เป็นการต่อยอดจากของเดิม รวมทั้งความเชื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายมาช่วยผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจขึ้น และเป็นโอกาสที่ทำให้เขาเติบโตทางจิตวิญญาณ เช่น จะมีการสนทนาธรรม การพูดถึงเรื่องความตาย การไปช่วยดูแลคนไข้อื่นๆ ที่ใกล้ตาย ทำให้เหมือนกับคนที่อยู่อโรคยศาล เห็นความจริงของชีวิตจากตัวอย่างจริง หลายๆ คนพูดเลยว่า การตายเป็นการคืนร่างสู่ธรรมชาติ ไม่ได้กลัวอะไร เป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งผมคิดว่าความรู้สึกดังกล่าวต้องมีการบ่มเพาะ เพราะอย่างพวกเราเวลาพูดว่าความตายเป็นเรื่องธรรมดา พอเกิดเหตุที่มากระทบ ยังหวั่นไหว แต่เขาเป็นโรคที่ใกล้ตายจริงๆ แต่ยังพูดอย่างนั้นได้ แสดงว่าต้องมีการเติบโตทางจิตใจค่อนข้างมาก

 

ว่าด้วยกระบวนการรักษา

         หลวงตาเคยรวบรวมอัตราการเสียชีวิตของคนไข้ พบว่าในระยะ ๒ ปี คนไข้ร้อยละ ๙๐ เสียชีวิต ไม่ใช่รักษาแล้วหาย ไม่ได้ต่างจากการแพทย์แผนปัจจุบัน แต่คุณภาพชีวิตเวลาอยู่อโรคยศาล มากกว่าครึ่งสามารถอยู่ได้อย่างมีความสุขกับโรคร้ายที่เป็นอยู่ เป็นความแตกต่างที่เห็นชัดเจน แต่ความแตกต่างเรื่องผลการรักษายังไม่ชัดเจน เพราะไม่สามารถจำแนกตามลักษณะเฉพาะของโรค กับของคนไข้แต่ละคนได้ 

         ในอนาคตแนวคิดในการดูแลแบบอโรคยศาลจะถูกนำมาปฏิบัติในที่อื่นๆ ด้วย หากสามารถทำได้จริง จะเป็นการพิสูจน์ว่าแนวคิดดังกล่าวเป็นของจริงที่สามารถขยายผล ไม่ใช่เกิดขึ้นเพราะมีหลวงตา แต่เกิดขึ้นได้เพราะมีสังคม มีครอบครัว ที่เข้มแข็ง ช่วยเหลือกันและกัน

เว็บไซต์อโรคยศาล www.khampramong.org

คอลัมน์:

ผู้เขียน: