Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

การถอดเครื่องช่วยชีวิตออกจะเป็นบาปไหม?

-A +A

BBgirl Ok: กราบนมัสการค่ะ รบกวนถามหลวงพ่อค่ะว่า สำหรับคนที่ป่วยอยู่ตามโรงพยาบาล คุณหมอถามคนไข้ว่าถอดเครื่องมือออกหรือไม่ (เมื่อถอดเครื่องมือคนไข้จะเสียชีวิต ถ้าไม่ถอดเครื่องมือตามโรงพยาบาลจะทำให้ร่างกายดำรงอยู่ค่ะ) ไม่ทราบว่าถ้าเราบอกให้ทางโรงพยาบาลดึงเครื่องมือออกเท่ากับเราผิดศีลข้อ ๑ หรือไม่คะ

พระไพศาล วิสาโล: เท่าที่ทราบ ตามปกติหมอจะไม่ถามเช่นนั้นกับคนไข้หรือญาติ เพราะหมอถือว่าตนมีหน้าที่ที่จะช่วยชีวิตของคนไข้ สิ่งที่เกิดขึ้นมากกว่าก็คือ ญาติเป็นฝ่ายถามหมอหรือขอร้องให้หมอถอดท่อหรือปิดเครื่องช่วยชีวิต ซึ่งหมอส่วนใหญ่มักจะไม่ทำ เพราะสาเหตุทางด้านกฎหมายและจริยธรรม แต่ยินยอมให้ญาติทำหากเป็นความต้องการของญาติ 

          เรื่องการดึงเครื่องมือออกนั้น หากทำให้คนไข้ถึงแก่ความตาย ก็ถือว่าผิดศีล แม้มิใช่คนลงมือเองก็ตาม แต่ที่จริงเรื่องแบบนี้มีรายละเอียดต้องพิจารณามาก เช่น เห็นว่าคนไข้ทุกข์ทรมานมากอันเป็นผลจากอุปกรณ์ดังกล่าว อีกทั้งเมื่อถอดแล้ว คนไข้ก็ไม่ได้ตายทันที ยังหายใจอยู่ แต่ค่อยๆ ลดลงไป และยังสามารถมีชีวิตได้นานนับชั่วโมงก่อนจะตาย ในกรณีอย่างนี้อาตมามองว่าการถอดเครื่องมือดังกล่าวไม่ผิดศีลข้อที่ ๑ เพราะเป็นการยุติการแทรกแซงด้วยเครื่องจักร ช่วยให้ผู้ป่วยกลับคืนสู่สภาพธรรมชาติ และจากไปตามวิถีทางธรรมชาติ

          อันที่จริงผู้ป่วยโคม่านั้น เขายังสามารถรับรู้ได้ รวมทั้งคนไข้ที่หมอวินิจฉัยว่าเป็นผัก มีหลักฐานมากมายว่าเขายังสามารถได้ยินและรับรู้สิ่งที่อยู่รอบตัว จึงควรใช้โอกาสนี้น้อมนำจิตของเขาให้เป็นกุศล เช่น พูดถึงความดีที่เขาได้ทำ หรือการกระทำของเขาที่เราชื่นชมและสำนึกในบุญคุณ ชวนเขาสวดมนต์หรือทำสมาธิ น้อมใจเขาให้นึกถึงพระรัตนตรัยหรือสิ่งศักดิ์สิทธิที่เขานับถือ ขณะที่เขายังอยู่ด้วยเครื่อง ก็อย่าปล่อยให้เขาอยู่เฉยๆ แบบรอวันตาย แต่ควรใช้เวลาที่เหลืออยู่ให้เกิดประโยชน์เต็มที่ต่อจิตใจของเขา

          ที่จริงหากกลัวว่าจะมีปัญหาเวลาถอดเครื่อง ก็ควรคิดให้รอบคอบก่อนใส่เครื่อง เพราะหากใส่แล้ว การถอดจะเป็นปัญหามาก หลายคนจะเตรียมล่วงหน้าด้วยการแสดงเจตนารมณ์ ที่เรียกว่า Living Will คือระบุเป็นลายลักษณ์อักษรเลยว่าหากตัวเองอยู่ในระยะสุดท้าย ช่วยตัวเองไม่ได้ ไม่รู้สึกตัว จะไม่ขอรับการรักษาชนิดใดบ้าง เช่น ใส่ท่อ เจาะคอ หรือปั๊มหัวใจ การแสดงเจตนารมณ์เช่นนี้ ช่วยให้หมอและญาติคนไข้ตัดสินใจได้ง่าย และรู้สึกสบายใจที่จะไม่มีการยื้อชีวิตของเขาด้วยเทคโนโลยีดังกล่าว ตอนนี้ พรบ.สุขภาพ มาตรา ๑๒ ให้สิทธิคนไข้ในการปฏิเสธการรักษา โดยหมอที่ปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของคนไข้ ไม่ต้องรับผิดทางกฎหมาย

          ...

          การใช้สิทธิที่จะตายไม่จำเป็นต้องหมายความถึงการเลือกตายด้วยการุณยฆาตเสมอไป คนที่รู้ตัวว่ารักษาไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะเป็นโรคที่หายยาก และอายุก็มากแล้ว ถึงรอดตายไปวันนี้อีกไม่นานก็ต้องเจออีก มิหนำซ้ำไม่แน่ใจว่ารักษาไปแล้วตัวเองจะพิกลพิการหรือกลายเป็นผักไปหรือไม่ ดังนั้นเขาจึงเลีอกที่จะไม่รักษา และตัดสินใจไม่กินข้าว กินยา เพื่อให้ร่างกายค่อยๆ ดับไปเอง เหมือนผลไม้สุกงอมที่ร่วงหล่นจากต้นเอง แบบนี้เราไม่เรียกว่าเป็นการฆ่าตัวตาย คนเฒ่าคนแก่สมัยก่อนก็เลือกตายแบบนี้กันเยอะ ท่านอาจารย์พุทธทาสก็ตั้งใจจะใช้วิธีนี้ แต่ไม่ค่อยมีคนเข้าใจท่าน จึงพยายามยืดลมหายใจของท่านทุกวิถีทาง แต่ไม่สำเร็จ การเลือกที่จะตายอย่างนี้ถือว่าเป็นการเตรียมตัวตายอย่างหนึ่ง โดยมุ่งเตรียมใจให้ดีที่สุด ขณะที่ร่างกายค่อยๆ แตกดับไปตามธรรมชาติ คนที่เลือกตายแบบนี้อาจจะใช้กระบวนการตายเป็นเครื่องฝึกจิตให้ปล่อยวาง ด้วยการพิจารณาความแตกดับของธาตุต่างๆ เรียงลำดับไป เริ่มจากธาตุดิน ธาตน้ำ ธาตุไฟ สุดท้ายก็ธาตุลม การพิจารณาดังกล่าวอาจทำได้ยากหากไปใช้วิธีรักษาสมัยใหม่ ซึ่งทำอะไรต่ออะไรกับร่างกายของผู้ป่วยด้วยวิธีที่ก้าวร้าวรุนแรง จนร่างกายไม่สามารถแตกดับไปตามธรรมชาติอย่างที่ว่ามาได้

------          

ตัดทอนจาก เฟซบุ๊ก พระไพศาล วิสาโล - Phra Paisal Visalo

 

คอลัมน์: