Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

ชีวิตอนิจจัง

-A +A

         การได้เห็นชีวิตของผู้คนและสรรพสัตว์แวดล้อม ทั้งที่เคยผูกพันรักใคร่ เคารพศรัทธา และไม่ใคร่ได้พันผูก เพียงแค่ผ่านพบและเคยเกื้อกูลกันในช่วงหนึ่งของชีวิตต้องมาตายจากไป คนแล้วคนเล่า ตัวแล้ว ตัวเล่า ทั้งที่คาดเดาช่วงเวลาได้และกะทันหันคาดไม่ถึง สะกิดให้คุณฐิติมา คุณติรานนท์ วิทยากรฝึกอบรมนพลักษณ์ มูลนิธิโกมลคีมทอง ตระหนักถึงความจริงที่ว่าชีวิตนั้นอนิจจังไม่เที่ยง ความตายมาเยือนได้ไม่เลือกที่เลือกเวลาจริงๆ

         “ช่วงหลังๆ พี่เจอเหตุการณ์หลายๆ อย่างที่มาเตือนว่า ชีวิตคนเราอนิจจังไม่แน่นอน บางสิ่งบางอย่างที่เคยห่วงใยไม่ว่าคนที่เรารักหรือคนที่เราได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมด้วยจากไป หรือแม้แต่สัตว์ที่เราเลี้ยงอยู่จากไป บางทีพี่เห็นสุนัขตามถนนหรือข้างทางดูน่าสงสารมาก เราเคยไปให้อาหารมัน มีประสบการณ์อยู่สองสามครั้งที่พี่ไปให้อาหารสุนัขที่ดูโงนเงนดูจะไม่มีแรง ร่อแร่ๆ ให้อาหารอยู่ไม่กี่วันมันก็ตาย บางทีเราก็เห็นคนที่เรารู้จักเขาตั้งใจอยากมีลูก เห็นความดีใจของเขาที่จะมีลูก แต่พอลูกเกิดมาสุขภาพไม่แข็งแรง เขาก็เป็นทุกข์นะ ทำให้รู้สึกว่าชีวิตคนเรามีเกิดมีทุกข์ แล้วในที่สุดก็ตาย เราเห็นสัจธรรมของชีวิตได้เรื่อยๆ 

         ล่าสุดแม้แต่ครูอาจารย์ของพี่เอง หลวงพ่อที่พี่เคารพนับถือ เดือนตุลาคมในโอกาสครบรอบการจากไปของคุณแม่ ท่านเพิ่งรับนิมนต์มาฉันอาหารที่บ้าน แต่พอเดือนธันวาคมก็มรณภาพทั้งๆ ที่ท่านก็ยังดูแข็งแรง และเมื่อสักสองสามอาทิตย์ก่อน เพื่อนบ้านอายุ ๔๐ ต้นๆ เองก็ตายด้วยโรคมะเร็ง คือชีวิตเราเห็นเรื่องอนิจจังอยู่เรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่งเรามีความรู้สึกว่าความไม่แน่นอนของชีวิตมีอยู่เสมอ ความตายเกิดขึ้นได้เสมอๆ และเวลาที่เรารู้สึกแบบนี้ เราจะเตรียมตัวสำหรับเวลาที่เราจะต้องกลับบ้านหรือจากโลกนี้ไป เรามีอะไรเป็นต้นทุนอยู่ในตัวเองบ้าง แล้วอะไรที่เราคิดว่าจะพึ่งได้ ถ้าคือธรรมะ เรามีโอกาสได้อ่านหนังสือก็พอสมควร แต่อยู่ในจิตใจเพียงใด เพราะฉะนั้นเราต้องฝึกให้มีธรรมะที่เมื่อถึงเวลาที่เราจะจากโลกนี้ไป เราปล่อยวางได้ แต่ก็คิดว่าคงไม่ได้ปล่อยง่ายๆ หรอก พี่เคยเห็นคนที่รู้จักเวลาจะไปก็ทุรนทุรายเจ็บปวดทรมาน คิดว่าอาจจะเป็นเพราะเขาไม่มีโอกาสได้เตรียมความพร้อมมาก่อน เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากจะไปอย่างสงบหรือไปอย่างไม่ต้องมายื้อยุดสู้กับมันอยู่ เราต้องมีเสบียงกรังซึ่งก็คือธรรมะ

         “ช่วงหลังๆ พี่ให้ความสำคัญกับเรื่องการปฏิบัติธรรมหรือการฝึกในกิจวัตรประจำวัน อย่างน้อยให้เรามีความรู้สึกตัว ในแต่ละวันมีสิ่งต่างๆ เข้ามากระทบใจของเรามากมาย เราก็วิ่งไปตามสถานการณ์ต่างๆ เดี๋ยวพอใจไม่พอใจสลับกันไป ดังนั้นในวันหนึ่งๆ เราต้องมีเวลากลับมาอยู่กับตัวเอง อยู่กับความรู้สึกตัว เรียกว่าเคลียร์ข้างในเราสักหน่อยหนึ่ง เหมือนบ้านที่เราต้องปัดกวาดในแต่ละวัน ต้องทำความสะอาด จิตใจของคนเราก็เช่นกัน บางครั้งก็มีตะกอนของอารมณ์ต่างๆ ที่ยังขุ่นมัว หากได้ผ่านการรับรู้เข้าใจ ก่อนที่จะส่งผลกระทบต่อหรือขยายตัวไป เพื่อให้เราตั้งหลักได้ ในแต่ละวันพี่จะฝึกภาวนา วันละ ๒ ครั้ง เช้าค่ำครั้งละ ๑ ชั่วโมง หรือ ๓๐ นาที สำหรับวันที่ต้องทำงานอบรมด้วย

         “นอกจากนี้ เวลาที่เราเห็นสิ่งต่างๆ ไม่ว่าความทุกข์ อนิจจัง ข่าวการจากไปของคนที่รู้จัก บางทียังรู้สึกว่า วันนี้เรายังมีลมหายใจแต่พรุ่งนี้เราไม่รู้ เพราะฉะนั้นก่อนจะนอนส่วนใหญ่จะตั้งสติที่จะหลับไป อีกอย่างที่คิดว่าเป็นสิ่งสำคัญของคนเราก็คือ “ศีล” ความเป็นปกติที่เราต้องถือไว้ ซึ่งแต่ก่อนเราอาจจะคิดว่าไม่ได้มีความสำคัญอะไร แต่เราพบว่าหากเราตั้งอยู่ในศีลแล้ว จิตใจเราจะแน่วแน่และทะมัดทะแมงขึ้น เดี๋ยวนี้เวลาที่เราจะล้มตัวลงนอนหรือว่าหลับไปในคืนนี้ ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องเราจะไปพร้อมศีล หรือการมีศีลอยู่กับเรานั่นเอง พี่คิดว่าว่าชีวิตคนเราจะประมาทไม่ได้ เพราะฉะนั้นเรื่องการฝึกปฏิบัติที่อยู่ในชีวิตประจำวันก็จะพยายามอยู่กับเรื่องการภาวนาหรือการรู้สึกตัว 

         “การระลึกถึงความตายยังมีความสำคัญอีกแง่มุมหนึ่ง คือเวลาที่เราปฏิสัมพันธ์กับผู้คน อาจจะมีสิ่งที่เราไม่พอใจหรือมีบางสิ่งบางอย่างที่กระทบกระทั่งถูกเรา ถ้าเราเก็บมาคิดอย่างสมัยก่อนก็จะทำให้เราติดขัดอยู่ตรงนั้น แต่เวลาที่นึกถึงความไม่แน่นอนว่า ถ้าเราพบกับเขาตอนนี้แต่เราไม่รู้ว่าจะได้พบกับเขาอีกหรือเปล่า จะช่วยให้นึกถึงสิ่งดีๆ ที่เราเคยมีต่อกันมากมาย และถ้าเราจะไม่ได้ล่ำลากัน เหมือนฉากสุดท้ายของเรากลายเป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อกัน จะรู้สึกเสียดายนะ ถ้าเรารู้สึกว่าความตายไม่แน่นอน จะทำให้เวลาที่เราอยู่กับใครสักคนหนึ่ง หรือปฏิสัมพันธ์กับใครเกี่ยวข้องกับใคร โดยเฉพาะยิ่งเป็นคนที่เรารู้สึกว่ามีความหมายหรือเรารักด้วย เราจะตั้งสติที่จะอยู่กับเขาอย่างดี จริงๆ ความคิดที่ว่าเดี๋ยวเราก็อาจจะไม่ได้เจอกับเขาก็ไม่ได้อยู่กับเราทุกอณูหรอก แต่พอเราทำสิ่งที่เริ่มจะไม่ค่อยโอเคหรือใช้อารมณ์กับเขา เราจะรีบแก้ไขสถานการณ์ในขณะที่เรายังเจอเขาอยู่ จะปรับเปลี่ยนท่าทีได้เร็วขึ้นหรือถือสาเขาน้อยลง ความถือสาจะคลายตัวเร็วขึ้น เพราะเราไม่แน่ใจว่าเราจะเจอเขาอีกหรือเปล่า 

         “เวลาที่นึกถึงความตายแบบนี้ช่วยให้ความสัมพันธ์กับผู้คนดีขึ้นมากโดยเฉพาะกับพี่น้อง ซึ่งการกระทบกระทั่งมีเรื่อยๆ อยู่แล้ว ขณะเดียวกันก็เป็นบุคคลที่เรารักมากด้วย เวลาที่มีเรื่องกระทบกระทั่งกันเราจะรู้สึกแคร์ว่าถ้าเราไม่ได้เจอกับเขาจะเป็นอย่างไร สังเกตว่าช่วงหลังๆ จะเห็นถึงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของพี่น้อง เห็นแง่มุมที่ดีของเขามากกว่าโดยทั่วๆ ไป อย่างเวลาอยู่กับพี่สาว บางครั้งจะมีแง่มุมที่เขาอาจจะจู้จี้กับเรา ซึ่งปกติเราเป็นคนที่ต้องการความเป็นอิสระ ง่ายๆ แต่เขาจะพิถีพิถันเรื่องการกินการอยู่มาก และบางทีก็อยากจะให้เราได้รับสิ่งดีๆ เวลาเขาเข้ามาวุ่นวายกับเรามากๆ จะรำคาญบ้าง ก็แปลกว่าช่วงหลังๆ กลับรู้สึกว่าเราปรับใจเราได้มากขึ้น เปิดรับความรู้สึกดีๆ ของเขาในรูปแบบที่เราไม่คุ้นเคยได้มากขึ้น และสัมผัสถึงแง่มุมดีๆ ของเขาได้มากกว่าเดิม สิ่งที่เป็นด้านที่อาจจะไม่ถูกใจเราที่เคยกีดขวางเหมือนจะเบาลง และพอเรารู้สึกเปิดรับ เวลาเราสะท้อนบางสิ่งบางอย่างเขาก็เข้าใจในแง่มุมแบบเรา รู้สึกว่าพลังของความเมตตาทำให้เราเปิดรับสิ่งที่แตกต่างได้มากขึ้น และถือสากับสิ่งที่เราไม่ชอบน้อยลง ทำให้เราเห็นมิติของความดีหรือความเกื้อกูลของพวกเขามากขึ้น จิตเราละเอียดอ่อนขึ้น และรู้สึกว่าสัมพันธภาพในครอบครัวเราเปลี่ยนไปเยอะมาก

         “นอกจากนี้ ยังช่วยให้เราไม่ประมาทกับชีวิตในแง่ที่ว่ามีสิ่งอะไรที่เราอยากทำ ไม่ว่าจะเป็นงานหรือสิ่งที่เราคิดว่ามีความสำคัญในชีวิต หรือแม้แต่ในแง่ของความสัมพันธ์เราจะลงมือเลย ไม่ผัดวัน ทำได้เท่าไหนลงมือทำไปเลย ไม่ย่อหย่อน ไม่ผัดเวลา สมัยก่อนเราจะรอเดี๋ยว รอให้เหตุปัจจัยพร้อมก่อนค่อยทำ แต่ปัจจุบันเราจะลงมือทำสิ่งต่างๆ ทำเล็กๆ น้อยๆ ไปก่อนได้เลย อะไรที่ลงมือได้ก็ลงมือเลย ไม่ต้องรอพร้อมสมบูรณ์ค่อยทำเหมือนเมื่อก่อน อย่างทุกวันนี้ถ้าเราสนใจเรื่องการฝึกภาวนา เราจะไม่รอว่ามีเวลาก่อน รอให้อย่างนั้นอย่างนี้ แต่อะไรก็แล้วแต่ที่สามารถทำได้เล็กๆ น้อยๆ เราต้องขวนขวายเหมือนสั่งสมน้ำทีละหยด จนหลายๆ หยดก็เต็มตุ่มได้ อย่างน้อยทำอะไรได้ก็ทำ ใช้หลายๆ องค์ประกอบในการส่งเสริมการภาวนา มีโอกาสฟังซีดีธรรมะของครูอาจารย์ได้ก็ทำ เราจะย่อยสิ่งต่างๆ มาเพื่อให้เราเริ่มปฏิบัติภาวนาได้เลย อย่างการเดินจงกรม ก็อาศัยเวลาเดินไปกินข้าว เดินไปเข้าห้องน้ำเล็กๆ น้อยๆ ก็แทรกการทำความรู้สึกตัวไปด้วยเลยรวมถึงการเคลื่อนไหวอื่นๆ เช่นจับแก้วน้ำ ดื่มน้ำ ลุกนั่งยืน เป็นต้น อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นกำลังหนุนในการรู้สึกตัวคือบทสวดมนต์หลายๆ บทมีความหมาย บทสวดมนต์ที่มีความหมายกับชีวิตพี่มากเลยคือบท “ภัทเทกรัตตคาถา” โดยเฉพาะช่วงสุดท้ายที่กล่าวว่า...มุนีผู้สงบ ย่อมกล่าวเรีย ผู้มีความเพียรอยู่เช่นนั้น ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันกลางคืน ว่า “ผู้เป็นอยู่แม้เพียงราตรีเดียว ก็น่าชม” เราจะปฏิบัติไม่เพียงในรูปแบบหรือเวลาที่อยู่ในห้องภาวนาเท่านั้น 

         คำพูดที่พระไพศาล วิสาโล มักจะพูดถึงคำกล่าวของทิเบตที่ว่า “ระหว่างพรุ่งนี้กับชาติหน้า ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะมาก่อน” นี้ก็เป็นข้อคิดที่ช่วยเตือนใจซึ่งมีอิทธิพลกับเราค่อนข้างมาก”

 

คอลัมน์:

ผู้เขียน: