Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

ท่ามกลางเทคโนโลยียังมีหัวใจ

-A +A

           อานนท์ เป็นเด็กพิเศษ ดาวน์ ซินโดรม ถูกพ่อ แม่ ทิ้งไว้ให้ยายเลี้ยงตั้งแต่ยังเล็ก แม้จะอายุสามสิบกว่าปีแล้ว แต่ยายกลับต้องดูแลอานนท์อย่างใกล้ชิด

           เมื่ออานนท์มีอาการของโรคหัวใจ จนในที่สุดต้องนอนโรงพยาบาลและใช้เครื่องช่วยหายใจในห้องผู้ป่วยหนักอายุรกรรม ยายนอนเฝ้าอานนท์อยู่หน้าห้องไอซียูตลอดเวลาด้วยความเป็นห่วงหลานชาย ยายเล่าว่าอานนท์เป็นเด็กอารมณ์ดี ชอบร้องเพลงชาติและฟังเพลงลูกทุ่ง แต่มักโดนรังแกบ่อยๆ ทำให้กลัวคนแปลกหน้าและไม่กล้าออกจากบ้านถ้าไม่มียายไปด้วย พวกเรากระซิบข้างหูอานนท์บ่อยๆ ว่า 

           “ยายยังอยู่ใกล้ๆ นะ ไม่ได้ทิ้งอานนท์ ไม่ต้องกลัวนะ จะเปิดเพลงที่อานนท์ชอบให้ฟัง” เสียงเพลงลูกทุ่งจากเครื่องเล่นซีดีดังแว่วข้างเตียงอานนท์เสมอ

           แม้ว่าอานนท์จะไม่เคยได้ไปทำบุญที่วัด ด้วยความรักที่มีต่อหลาน ยายหมั่นให้อานนท์สร้างกุศลโดยใส่บาตรพระที่หน้าบ้าน ยายสอนอานนท์ว่าคนหัวโล้น ใส่ชุดสีส้มๆ ที่เดินผ่านหน้าบ้านทุกเช้าและเราเอาของไปให้นั้นรียกว่า.พระ..

           “ถ้าเห็นเราต้องยกมือไหว้แล้วกราบนะ” ยายเล่าว่าอานนท์เป็นเด็กดี ไหว้พระทุกวัน

           อาการของอานนท์นั้นไม่ตอบสนองต่อการรักษา แพทย์ลงความเห็นว่าเข้าสู่ระยะสุดท้ายและคุยเรื่องแผนการรักษากับยายแล้ว ยายอยากให้อานนท์ไปอย่างสงบโดยไม่ทำการฟื้นคืนชีพ

           “ยาย หนูเป็นพยาบาลที่ดูแลอานนท์นะ ตอนนี้น้องอาการไม่ค่อยดีแล้วนะ ความดันวัดได้ต่ำมาก ร่างกาย หัวใจคงไม่ไหวแล้ว ยายอยากให้อานนท์ได้ทำอะไร?” ฉันถามยาย

           “อยากให้อานนท์ได้ถวายสังฆทานสักครั้ง แต่ยายไม่มีตังค์ แล้วก็ไม่รู้ว่าจะไปซื้อของและนิมนต์พระที่ไหน"

           “ไม่ต้องห่วงนะ เดี๋ยวพวกหนูจัดการให้” แล้วพวกเราก็วางแผนกันว่าจะไปซื้อเครื่องสังฆทานที่ตึกสงฆ์ แล้วนิมนต์พระที่อาพาธที่อาการดีขึ้นแล้วมารับสังฆทานในห้องไอซียู

           “มีเรื่องอะไรกันหรือโยม อาตมาช่วยได้หรือเปล่า” เป็นคำถามของหลวงพ่อที่นอนอยู่เตียงข้างๆ ซึ่งอาพาธด้วยโรคหัวใจขาดเลือด หลังจากท่านก็ได้ฟังเรื่องราวทั้งหมด แล้วท่านพูดว่า “อาตมานี่ไงล่ะโยมพระ ไม่ต้องไปไกลที่ไหนหรอก”

           “พวกหนูกลัวว่าหลวงพ่อจะเหนื่อย จึงไม่กล้านิมนต์ท่าน แต่ถ้าท่านไม่เจ็บหน้าอกแล้ว นิมนต์ให้คนไข้ได้ทำบุญนะคะ”

           เมื่อเตรียมของพร้อมแล้ว พวกเราช่วยกันเข็นเตียงของหลวงพ่อไปติดกับเตียงของอานนท์

           หลวงพ่อจับมือของอานนท์ไว้ แล้วพูดด้วยน้ำเสียงที่เปี่ยมด้วยเมตตาว่า ”ทำบุญนะอานนท์ มีพระอยู่ข้างๆ นึกถึงสีเหลืองๆ ส้มๆ ที่เห็นที่บ้านตอนเช้าไว้นะ”

           บ่ายวันนั้นทั้งน้องอานนท์ ยาย เจ้าหน้าที่ในไอซียู และผู้ป่วยรายอื่นๆ ก็ได้ทำบุญร่วมกัน 

           “อานนท์กรวดน้ำนะ ขอให้บุญกุศลนี้ติดตัวไป เกิดชาติหน้าขอให้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ยาย หลานหมดกรรมในชาตินี้แล้วนะ หลานจะได้ไปสบายแล้ว” หลวงพ่อปลอบใจ ยายยกมือไหว้กราบทั้งน้ำตา

           หลังจากกรวดน้ำและรับพรร่วมกันแล้ว พวกเราช่วยกันเข็นเตียงหลวงพ่อกลับไปให้อ็อกซิเจนเช่นเดิม รู้สึกซาบซึ้งในความเมตตาที่ท่านมีให้กับเพื่อนมนุษย์แม้ในยามที่ท่านเองก็เจ็บป่วยด้วยเช่นกัน

           ตอนบ่าย หัวใจของอานนท์เต้นช้าลงเรื่อยๆ พวกเราเตรียมดอกไม้ธูปเทียนให้ยาย ยายนำทั้งหมดใส่มืออานนท์ ฉันกระซิบข้างหูอานนท์ “อานนท์ยายยืนอยู่ข้างๆ นะ เอาดอกไม้ให้อานนท์ไปไหว้พระ เห็นคนหัวโล้น ชุดสีส้มๆ ที่เดินผ่านหน้าบ้านทุกวันแล้วนะ ค่อยๆ เดินตามท่านไปนะ ไม่ต้องกลัว เดินตามไปเรื่อยๆ เดินไปที่วัด ถ้าถึงแล้วเอาดอกไม้ธูปเทียนนี้ไปให้ท่านด้วย” 

           ยายบอกอานนท์เช่นกันว่า “ไม่ต้องกลัวนะหลาน ไม่ต้องเป็นห่วงยาย วันนี้ได้ทำบุญแล้ว กราบพระนะลูก ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องกลัว ยายอยู่ข้างๆ ไปให้สบาย”

           บ่ายวันนั้น อานนท์จากไปอย่างสงบ โดยมียายนั่งอยู่เคียงข้างตลอดเวลา เสียงสวดมนต์เบาๆ แว่วมาจากเตียงของหลวงพ่อ 

           “หลับให้สบายนะอานนท์”

 

           เรื่องราวของอานนท์ ทำให้ทีมสุขภาพได้เห็นความรัก ความผูกพันของยายหลานซึ่งมีวิธีสื่อสารให้เข้าใจกันได้โดยง่าย เช่นเรื่องการทำบุญ ในขณะเดียวกับที่ทีมสุขภาพช่วยกันทำให้ความต้องการของยายเพื่อหลานเกิดขึ้นด้วยความเต็มใจ ไม่ใช่ในฐานะคนไข้แต่ในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อีกทั้งยังเห็นความเมตตาของพระที่มีต่อคนไข้ในยามวิกฤติเช่นนี้ ทำให้ทีมสุขภาพรู้สึก ปีติ ซาบซึ้งใจ เป็นอย่างยิ่ง 

           ผู้ป่วยสามารถจากไปอย่างสงบได้แม้จะอยู่ท่ามกลางอุปกรณ์การแพทย์เพราะ 

           “ท่ามกลางเทคโนโลยียังมีหัวใจ”

 

คอลัมน์: