Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

เผชิญความตายอย่างสงบ อย่างหลวงพ่อคำเขียน

-A +A

          ปลายเดือนสิงหาคม สังคมไทยได้สูญเสียหลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ แห่งวัดป่าสุคะโต พระสงฆ์ผู้เป็นเสาหลักในการเผยแพร่การเจริญสติและการรักษาธรรมชาติมานานหลายสิบปี แต่ถึงแม้ในยามเจ็บป่วย ท่านยังทำให้ดู อยู่ให้เห็น เป็นตัวอย่างรูปธรรมของผู้ที่เผชิญกับความตายได้อย่างมีสติ และจากไปอย่างสงบ การมรณภาพของท่านไม่เพียงแต่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญของการใช้ชีวิตอย่างสมบูรณ์ตามหลักพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ยังเป็นบทเรียนในเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ควรแก่การเรียนรู้ในหลายๆ ด้านอีกด้วย

 

โรคร้ายกลับมาเยือน

          หลังจากการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองเมื่อเจ็ดปีก่อนประสบผล จนไม่พบอาการหรือสิ่งบอกเหตุใดๆ เกี่ยวกับมะเร็งอีก จนกระทั่งปลายปี ๕๖ เดือนธันวาคม หลวงพ่อรู้สึกเจ็บคอ และเจ็บมากขึ้นเมื่อต้นเดือนมกราคมปี ๕๗ ตอนแรกคิดว่าเป็นอาการคออักเสบธรรมดาๆ จึงกินยาแก้อักเสบตามปกติ แต่อาการเจ็บคอไม่หาย ต่อมา หลวงพ่อเริ่มกลืนอาหารกลืนน้ำลำบาก จึงไปให้แพทย์ที่โรงพยาบาลชัยภูมิช่วยตรวจดู ก่อนจะตัดสินใจไปตรวจที่โรงพยาบาลจุฬาฯ พบก้อนเนื้อผิดปกติบริเวณหลอดอาหารส่วนบน และในวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ หลวงพ่อฉันยาลดความดันก่อนส่องกล้อง ปรากฏว่ายาติดคอตรงหลอดอาหารส่วนบน เพราะมีเนื้องอกปิดอยู่ แพทย์ได้ตัดชิ้นเนื้อไปตรวจและใส่สายอาหารทางจมูก หลวงพ่อจึงแอดมิดเพื่อรอผลตรวจชิ้นเนื้อและการสรุปแนวทางรักษาของทีมแพทย์ โดยสันนิษฐานว่าโรคร้ายกลับมาเยือนอีกครั้งแน่นอน

 

การรักษาระยะแรก

          หลังจากการประชุมของทีมแพทย์สรุปว่า หลวงพ่อเป็นมะเร็งหลอดอาหารชนิดหนึ่งซึ่งไม่ค่อยตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีการเคมีบำบัด (คีโม) และยังอยู่ในตำแหน่งที่ผ่าตัดได้ยากแล้ว การรักษาจึงต้องใช้วิธีการฉายแสง โดยเริ่มรักษาเมื่อปลายกุมภาพันธ์ แต่หลังจากฉายแสงไปได้เพียง ๔ ครั้ง ระหว่างวันอังคาร-ศุกร์ หลวงพ่อปรารภอยากดูต้นไม้ อยากเห็นธรรมชาติ จึงขอออกจากโรงพยาบาลไปพักผ่อนที่มูลนิธิหลวงพ่อเทียน บริเวณพุทธมณฑลสาย ๔ แต่ผ่านไปเพียงสองวัน เสียงของหลวงพ่อเปลี่ยนไปและหายใจลำบาก เช้าวันจันทร์ กลับโรงพยาบาลจุฬาฯ แพทย์ส่องกล้องดู พบว่าหลอดคอของหลวงพ่อบวมจากการฉายแสง อาจจะขาดใจได้ทุกเมื่อ จึงต้องเจาะคอเพื่อช่วยหายใจและหยุดกระบวนการฉายแสง เพื่อรอให้แผลที่คอหายดีเสียก่อน 

ตอนตัดสินใจรักษาด้วยวิธีการฉายแสง แพทย์ผู้รักษาบอกว่าจะต้องฉายแสงอย่างน้อย ๓๕ ครั้ง (ถ้าหวังผลให้หาย) หรือเท่าที่ร่างกายหลวงพ่อจะรับได้เพื่อระงับอาการและป้องกันไม่ให้มะเร็งขยายตัวเร็ว แต่การฉายแสงเพียงแค่ ๔ ครั้ง ยังทำให้ร่างกายหลวงพ่อโทรม เหนื่อย ไม่มีแรง ที่สำคัญคือต้องเจาะคอด้วย ทำให้ระคายเคือง ไอมาก เสมหะมาก พูดไม่ได้ หลวงพ่อกับกลุ่มศิษย์ผู้ดูแลจึงหารือและได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ขอให้แพทย์เจาะสายอาหารทางหน้าท้อง และจะขอกลับไปรักษาตัวที่วัดป่าสุคะโต

 

การรักษาแบบผสมผสาน

          หลวงพ่อออกจากโรงพยาบาลจุฬาฯ ประมาณปลายเดือนมีนาคม มารักษาตัวที่วัดภูเขาทองด้วยการแพทย์แผนจีนและการแพทย์ทางเลือกแบบต่างๆ ต่อ โดยไม่คาดหวังว่าจะต้องหายขาด แม้แต่หลวงพ่อเอง เมื่อประเมินจากท่าทีของแพทย์และท่าทีของคนที่ไปเยี่ยมแล้ว ท่านรู้ว่าการรักษาคงจะยากกว่าปี ๔๙ เพราะไม่ค่อยได้ผลอย่างชัดเจนเหมือนคราวก่อน หลวงพ่อจึงบอกกลุ่มศิษย์ผู้ดูแลว่า “คงไม่หาย

          แต่การกลับมารักษาตัวต่อที่วัด ไม่ใช่การมานอนรอความตายเฉยๆ แต่เจตนาหลักของหลวงพ่อคือ ท่านอยากอยู่ในบรรยากาศที่คุ้นเคย แม้การรักษาด้วยการแพทย์ปัจจุบัน (ยาบางชนิด) และการแพทย์ทางเลือกควบคู่กันไป ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยา การแพทย์แผนจีน โฮมีโอพาธี และอาหารเสริมชนิดต่างๆ ที่มีผู้นำมาถวาย จะไม่สามารถรับรองผลได้ แต่เชื่อว่าผลข้างเคียงจะน้อยกว่า โดยกลุ่มศิษย์ผู้ดูแลจะปรึกษากับทีมแพทย์พยาบาลที่รู้จักเพื่อคัดสรรไม่ให้การรักษาต่างๆ ขัดกัน 

          เดือนมิถุนายน หลวงพ่อกลับมาที่วัดป่าสุคะโตได้ระยะหนึ่ง ร่างกายหลวงพ่อตอบสนองต่อการรักษาดีกว่าเดิม คอบวมลดลง ร่างกายส่วนอื่นๆ กระปี้กระเป่าขึ้น ทำให้หลวงพ่อรู้สึกสุขสบายและสดชื่นขึ้น มีพลังชีวิตมากกว่าเดิม หายใจได้เองโดยไม่ต้องใช้ออกซิเจนบ่อยเหมือนก่อน จากเดิมที่ต้องนอนพักเกือบตลอดเวลา มาเริ่มทำกิจกรรมต่างๆ ได้บ้าง เช่น รดน้ำต้นไม้ หรือเขียนหนังสือ เป็นต้น

          แต่ถึงแม้การรักษาแบบผสมผสานดังกล่าวจะทำให้หลวงพ่อสุขสบายขึ้น แต่เห็นได้ชัดว่าร่างกายของหลวงพ่อไม่แข็งแรงเหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว 

 

เตรียมตัวตายอย่างหลวงพ่อคำเขียน

หลวงพ่อพูดถึงความตาย

          ย้อนกลับไปยังช่วงเวลาก่อนหน้าในขณะที่ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล เมื่อหลวงพ่อเห็นท่าทีของแพทย์ที่เข้ามาบอกผลการตรวจชิ้นเนื้อและแนวทางรักษาแล้ว ดูท่าว่าคงจะไม่หายแน่ ท่านบอกกับกลุ่มศิษย์ผู้ดูแลว่า 

          “หลวงพ่อได้ใช้ชีวิต ๗๘ ปี ทำกิจทางโลกและทางธรรมมาจนสมบูรณ์แล้ว ยินดีที่จะตาย ไม่เสียดายชีวิต ไม่หายก็ไม่เป็นไร ให้รักษาไปตามอาการ” 

          หลวงพ่อไม่ปฏิเสธยาที่กลุ่มศิษย์ผู้ดูแลถวายให้ แต่ไม่ได้คาดคั้นว่าต้องให้หาย เพราะท่านทำใจอยู่แล้วว่าตายแน่นอน

 

พินัยกรรมของหลวงพ่อ

          พร้อมๆ กับการรักษาหลวงพ่อตามแนวทางแบบผสมผสานแล้ว หลวงพ่อและกลุ่มศิษย์ผู้ดูแลยังได้ร่วมกันตระเตรียมเรื่องราวต่างๆ ในกรณีที่วาระสุดท้ายของชีวิตมาถึงไปด้วยเพื่อความไม่ประมาท พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ได้เขียนจดหมายเรียนถามหลวงพ่อ หลวงพ่อให้กลุ่มศิษย์ผู้ดูแลช่วยกันคิดและเขียนให้หลวงพ่อพิจารณาในแต่ละเรื่อง เช่น

          เมื่อใกล้ถึงวาระสุดท้าย หลวงพ่อไม่ต้องการยื้อชีวิตด้วยการให้ปั๊มหัวใจ สอดท่อช่วยหายใจ และผ่าตัดใหญ่อีก เพียงแค่รักษาไปตามอาการ 

          หลวงพ่อเป็นผู้ออกแบบงานศพของตัวเอง ว่าจะให้ใครจัดการอย่างไร โดยเน้นความเรียบง่าย ไม่เป็นภาระของผู้อื่นมากเกินไป 

          ในพินัยกรรมฉบับแรก หลวงพ่อต้องการให้เผากลางแจ้งแบบง่ายๆ แต่ภายหลังเปลี่ยนมาเป็นการเผาในเมรุวัดภูเขาทองแทน แต่เรื่องหลักๆ คือ ท่านบอกว่าไม่ต้องสวดมาติกา ให้สวดธรรมจักรกัปปวัตตนสูตรแปล เป็นต้น ให้เน้นเรื่องแสดงธรรม ตั้งศพไว้ให้คนมากราบไหว้บ้าง ไม่รีบเร่ง แต่ไม่ให้นานเกินไป แต่รวมเวลาจัดงานศพแล้วไม่ให้เกินสิบห้าวัน 

          ท่านบอกว่าให้จัดงานศพอย่างง่ายๆ อย่าทำแบบหรูหราใหญ่โต เพราะเราเป็นพระจนๆ ไม่ต้องมีโรงทาน ไม่ต้องเรี่ยไร ถ้ามีคนมาบริจาค ให้เอาไปบำรุงวัดภูเขาทองเพื่อใช้ในงานปฏิบัติธรรม

          พินัยกรรมยังรวมถึงการจัดการเรื่องลิขสิทธิ์หนังสือและซีดีคำสอนของหลวงพ่อ ว่าท่านต้องการจะให้ใครดูแล และจะให้จัดการกับทรัพย์สินส่วนตัวอย่างไรอีกด้วย 

          เป็นความแตกต่างของการดูแลหลวงพ่อคำเขียนระหว่างปี ๔๙ กับ ปี ๕๗

          ในปี ๔๙ หลวงพ่อและกลุ่มศิษย์ผู้ดูแลไม่ได้คิดถึงการตระเตรียมเรื่องวาระสุดท้ายของชีวิตแต่อย่างใด แม้หลวงพ่อจะบอกว่าเตรียมตัวตายมานับแต่ฝึกปฏิบัติกับหลวงพ่อเทียนเมื่ออายุ ๓๐ ปี แต่เพราะการรักษาได้ผลดี กรรมฐานที่ท่านฝึกมาจึงทำให้เรื่องการเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นเรื่องสนุก ไม่ทรมาน (แนะนำให้อ่านหนังสือ สนุกป่วย)

          แต่การรักษาในปี ๕๗ มีความแตกต่างกันมาก เนื่องจากหลวงพ่อพิจารณาแล้วว่าคงรักษาไม่หาย นอกจากเรื่องการนำกรรมฐานที่ฝึกเป็นอย่างดีมาใช้ดูแลจิตใจตัวเองแล้ว หลวงพ่อและกลุ่มศิษย์ผู้ดูแลได้เพิ่มเรื่องการเตรียมตัวในวาระสุดท้ายและหลังตายเข้าไปด้วย 

 

กรรมฐานกับความปวด

          การดูแลความเจ็บปวดทางกายสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้ายเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะความเจ็บปวดทรมานที่มากเกินกว่าผู้ป่วยจะรับมือไหว อาจส่งผลไม่ให้ผู้ป่วยตายอย่างสงบได้ 

          แม้ว่าภาพหลวงพ่อจะเดิน รดน้ำต้นไม้ นั่งเขียนหนังสือ หรือยิ้ม หลังจากกลับมารักษาตัวที่วัดตามที่เห็นในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ไม่ได้สะท้อนความจริงทั้งหมดเกี่ยวความทรมานทางร่างกายของหลวงพ่อที่ต้องเจาะคอมานานหกเดือนกว่า ต้องขับเสมหะทุกวัน ไอ หายใจไม่คล่องจนนอนหงายไม่ได้ ได้แต่ตะแคงซ้ายขวา

          แต่กรรมฐานที่หลวงพ่อคำเขียนฝึกฝนมาอย่างช่ำชอง โดยเฉพาะ “ความไม่มีไม่เป็นอะไรกับอะไร” เป็นผู้ดูสังขารที่เปลี่ยนแปลงไป แก่ เจ็บ ตาย พอจิตมีสติ ไม่เข้าไปเป็นผู้แก่ เจ็บ ตาย ความแก่ ความเจ็บ และความตายจึงเป็นเพียงเรื่องทางร่างกาย หลวงพ่อพูดเสมอว่าลูกศิษย์หลวงพ่อเทียน การพบเห็นอาการเกิดดับของนามรูป ทำให้ท่านอยู่ในสภาวะที่ไม่เป็นอะไรกับอะไรได้ เลยไม่ทุกข์ร้อนกับความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย

          แม้ว่าอาจจะต้องใช้ยาแก้ปวดบ้างเมื่อกายเจ็บปวดมากๆ แต่เป็นเพียงส่วนน้อยร้องละหนึ่งเท่านั้นเอง 

 

กลุ่มศิษย์ผู้ดูแล

          การดูแลผู้ป่วยมะเร็งโดยเฉพาะผู้ป่วยในระยะสุดท้าย นอกจากแพทย์พยาบาลที่มีหน้าที่รักษาโรคทางกายโดยตรงแล้ว ผู้ดูแลเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ในกรณีหลวงพ่อคำเขียน กลุ่มศิษย์ผู้ดูแลท่าน ประกอบด้วย พระสันติพงศ์ เขมปัญโญ พระสุทธิศาสตร์ ปัญญาปทีโป และโยมหมู เคยดูแลหลวงพ่อมาแต่คราวที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเมื่อปี ๔๙ แล้ว โดยประสานงานร่วมกับทีมแพทย์พยาบาลอย่างใกล้ชิด ต่อเมื่อท่านกลับมารักษาตัวอยู่ที่วัดป่าสุคะโตแล้ว จึงมีพระมาช่วยกันดูแลเพิ่มอีกสองสามรูป 

          พระสุทธิศาสตร์ ปัญญาปทีโป หนึ่งในกลุ่มศิษย์ผู้ดูแลกล่าวถึงการดูแลหลวงพ่อว่า แตกต่างจากการดูแลคนป่วยทั่วไปที่ต้องดูแลทั้งกายและใจ แต่หลวงพ่อท่านดูแลใจตัวเองได้ กลุ่มศิษย์แค่ดูแลเรื่องกายเพียงอย่างเดียว 

          หลวงพ่อมักจะบอกคนมาเยี่ยมว่า “มาห่วงหลวงพ่อทำไม ให้ห่วงตัวเองดีกว่า” ว่า “ยังทุกข์อยู่หรือเปล่า เรายังหลงหรือเปล่า ยังโกรธอยู่หรือเปล่า

          แต่ถึงกระนั้นการดูแลทางกายก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่อย่างใด เช่น การพิจารณาแนวทางรักษา ในขณะที่อยู่ในโรงพยาบาลแนวทางการรักษาจะมาจากทีมแพทย์พยาบาลเป็นหลัก แต่เมื่อออกจากโรงพยาบาลกลับมารักษาตัวที่วัด นอกจากการคอยสังเกตอาการหลวงพ่อ ปรึกษากับทีมแพทย์พยาบาลเรื่องการดูแลผ่านไลน์กลุ่มหรือโทรศัพท์ รวมถึงเตรียมพร้อมประสานงานกับโรงพยาบาลใกล้เคียงตลอดเวลาแล้ว 

          กลุ่มศิษย์ผู้ดูแลยังต้องรับมือกับข้อเสนอแนวทางการรักษาต่างๆ มากมายจากญาติโยมผู้มีเจตนาดีมาพิจารณา ศึกษาเพิ่มเติม และปรึกษาผู้มีความรู้ ก่อนจะพูดหรือเขียนสรุปให้หลวงพ่อเข้าใจง่ายๆ บางอย่างต้องปรึกษาหารือกับหลวงพ่อ ว่าวิธีรักษาแบบใดน่าจะเหมาะกับท่านมากที่สุดในขณะนั้น กล่าวคือเป็นการรักษาแบบประคับประคอง และได้อยู่ที่วัด เป็นต้น พร้อมกับอธิบายให้คนรอบข้างเข้าใจถึงอาการต่างๆ ของหลวงพ่อทุกๆ วัน 

          สำหรับพระสุทธิศาสตร์แล้ว การดูแลหลวงพ่อเมื่อท่านเจ็บป่วย คือการได้ตอบแทนผู้เป็นพ่อแม่ในทางธรรม เพราะโดยปกติหลวงพ่อจะชอบช่วยตัวเอง ไม่ต้องให้ใครมาคอยดูแล การดูแลท่านทำให้ผู้ดูแลได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่าง

          “โดยส่วนตัวได้ความรู้ไปด้วย เราไม่อยากจะตัดสินใจบนฐานของความไม่รู้ จึงต้องศึกษาหาความรู้ เพื่อช่วยให้คิดอย่างรอบคอบถึงผลที่จะเกิดกับหลวงพ่อ เราเชื่อว่าหมอมีความรู้กว่าเรา แต่การดูแลใกล้ชิด ต้องมีความรู้พอจะพิจารณาได้เองบ้าง รอหมอไม่ได้เหมือนอยู่โรงพยาบาล เพราะหลวงพ่อตัดสินใจมารักษาที่วัด ถึงคราวฉุกเฉินต้องทำให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการฉีดยา เปลี่ยนสาย” 

          แต่นอกจากความรู้ทางด้านการดูแลซึ่งเป็นผลพลอยได้แล้ว สิ่งสำคัญคือได้เรียนรู้การวางใจของหลวงพ่อ เพราะท่านไม่ได้คาดหวังว่าตัวเองต้องหายอย่างเดียว และไม่ได้แสดงความทุกข์ทางใจให้เห็น ทำให้ผู้ดูแลสบายใจ และการดูแลจึงมีแต่ด้านบวก รักษาได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น 

          การดูแลหลวงพ่ออย่างต่อเนื่อง ยังทำให้ผู้ดูแลเห็นและเรียนรู้การวางใจของตัวเอง ไม่ให้หลงไปยึดว่า “หลวงพ่อคือร่างกายนี้ ท่านตายไม่ได้ ท่านต้องหาย” และได้เรียนรู้ว่า สิ่งสำคัญสำหรับการเป็นผู้ดูแลคือ จะต้องดูแลใจตัวเองให้เป็นปกติ หากทำไม่ได้ ใจไม่พร้อม ไม่ว่าจะด้วยความกลัวหรือความวิตกกังวล จะทำให้ดูแลได้ไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น เช่น หากหลวงพ่อเจ็บมากๆ แล้วใจเสีย ร้องไห้ ทุกข์ใจ หรือลนลาน อาจจะทำมากเกินไปกลายเป็นผลเสีย รวมถึงการวางใจต่อความเห็นที่แตกต่างกัน เพราะกลุ่มศิษย์ผู้ดูแลอาจจะมีความเห็นในเรื่องการดูแลหลวงพ่อไม่ตรงกันบ้าง แต่ด้วยความเชื่อมั่นว่าทุกคนล้วนทำด้วยเจตนาดี เมื่อเกิดความขัดแย้ง จึงใช้ใจที่มั่นคง ค่อยๆ พูดคุยปรึกษาหารือ และทำความเข้าใจกันได้ในที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่แต่ละคนจะต้องไปฝึกใจไม่ให้เป็นทุกข์ด้วยตัวเอง

 

สังฆะกับการดูแลหลวงพ่อ

          หลวงพ่อคำเขียนเป็นพระที่มีผู้นับถือมากไม่เฉพาะแต่ลูกศิษย์ที่มีฝึกปฏิบัติที่วัดเท่านั้น คำว่าสังฆะที่มีหลวงพ่อเป็นศูนย์กลาง จึงมีความหมายและขอบเขตที่กว้างกว่าในวัด เพราะไม่ว่าจะเป็นคนอยู่ใกล้หรือคนอยู่ไกล ต่างยินดีที่จะช่วยกันดูแลท่านเท่าที่ทำได้ แม้ว่าแต่ละคนจะมีบทบาทที่แตกต่างกัน นอกจากกลุ่มศิษย์ผู้ดูแลประกอบด้วยพระ ๔ รูป มีโยมและแม่ชีบ้าง บางคนมากวาดถูกุฏิ ล้างภาชนะ อีกส่วนหนึ่งเป็นแพทย์พยาบาลหลายท่านที่คอย มาตรวจอาการ หรือทำหัตถการทางการแพทย์ที่วัดอยู่บ่อยๆ แม้ไม่ได้อยู่ที่โรงพยาบาลแต่ไม่ต่างจากโรงพยาบาลสักเท่าไหร่ 

          สิ่งสำคัญคือ บรรยากาศที่วัดทำให้สังฆะมีโอกาสได้ดูแลหลวงพ่อมากกว่าเมื่อท่านอยู่ในโรงพยาบาลซึ่งทำได้เพียงแค่ไปเยี่ยม ช่วยส่งเสริมให้หลวงพ่อรู้สึกสบายกว่า ผ่อนคลายกว่า ได้เห็นต้นไม้ ได้ดูแสงแดด เห็นกระรอกกระแต และได้ทำสิ่งที่ท่านรักคือการรดน้ำต้นไม้ การสอนธรรมะ

 

มรณกรรมที่งดงาม

          ในคืนสุดท้าย ท่านนอนให้ออกซิเจนตั้งแต่ ๔ ทุ่มจนถึงตี ๔ ท่อหายใจถูกก้อนเนื้อดันออกมาครึ่งหนึ่ง ศิษย์ผู้ดูแลได้ฉีดยา Dexa ให้หลวงพ่อ เพื่อหวังให้ก้อนเนื้อยุบตัว พร้อมทั้งพ่นยาขยายหลอดลมด้วย แม้อาการยังไม่ดีขึ้นนัก หลวงพ่อขอเข้าห้องน้ำไปถ่ายอุจจาระ เห็นท่านหายใจเสียงดัง ฟืดฟาดๆ แต่หน้าตาท่านนิ่งมาก ไม่ได้แสดงอาการกระวนกระวายทุกข์ใจ ถ่ายเสร็จ ล้างมือ ล้างหน้าอย่างดี แล้วเดินกลับมาที่เตียงเอง ศิษย์ผู้ดูแลเพียงแต่ประคองสายออกซิเจนเท่านั้น

          ท่านลงมานอนที่เตียงนอนไปได้สักพัก การหายใจลำบากและเสียงดังมากขึ้น เพราะว่าท่อหลุดออกมาประมาณครึ่งหนึ่ง แต่ไม่สามารถจะดันเข้าไปได้อีก ท่านเลยหายใจลำบาก ขณะนั้นเอง ท่านขอกระดาษ ขอปากกามาเขียน แต่อ่านไม่ค่อยออก พอหลวงพ่อเขียนเสร็จ ท่านพนมมือไหว้พวกเรา คิดว่าท่านไหว้ขอบคุณพวกเราที่ช่วยท่าน หารู้ไม่ว่า เป็นการไหว้สั่งลา 

          จดหมายที่ท่านเขียนฉบับสุดท้าย ท่านเขียนว่า 

          “พวกเรา ขอให้หลวงพ่อ ตาย” 

          เป็นการเขียนลาครั้งสุดท้าย เป็นการเขียนอย่างผู้มีสติเต็มที่ หลังจากนั้นท่านก็นอน สักพักหนึ่งก็คอตกพับลงไปคล้ายๆ คนแบบคอพับ และหมดลมหายใจไปอย่างสงบ ไม่มีการทุรนทุราย จากไปนิ่งๆ เวลาก่อน ๐๕.๐๐ น. ของเช้าวันที่ ๒๓ สิงหาคม รู้สึกว่าท่านได้สอนธรรมะบทสุดท้าย ผู้ที่ฝึกสติดี สามารถมีสติจนกระทั่งถึงเวลาตายได้จริงๆ 

          จากไปเหมือนกับปิดสวิทช์ไฟเบาๆ ลง เหมือนเสียงฆ้อง เสียงระฆัง พอตีลงไปสุดเสียง ค่อยๆ แผ่ว ค่อยๆ สุดเอง 

          "การละสังขารของหลวงพ่อไม่ใช่เป็นการที่เราต้องร้องไห้เสียใจ แต่ให้เรายอมรับความจริง ต้องอนุโมทนา เราจะอยากตายแบบหลวงพ่อไหม ตายแบบสงบ ตายแบบไม่ทุกข์ใจ เราต้องฝึกหัด ต้องสร้างเหตุ คือรู้ตัว การมีสติ พยายามมีสติ ยืน เดิน นั่ง นอน คู้ เหยียด เคลื่อนไหว กิน ตื่น ขับถ่าย เจ็บปวด สุขทุกข์ มีสติเป็นผู้ดู ไม่เป็นผู้เป็น ดูไปเรื่อยๆ นี่คือคำสั่งสอนของหลวงพ่อ"  พระสุทธิศาสตร์กล่าว 

 

          หลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ เกิดปี พ.ศ.๒๔๗๙ ที่จังหวัดขอนแก่น แต่ย้ายตามครอบครัวมาบุกเบิกที่ทำกินอยู่อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ เมื่ออายุ ๑๐ ขวบ โดยทำนา ทำสวน ทำไร่ และศึกษาเล่าเรียนวิชาคาถาอาคม ทำน้ำมนต์ ปัดรังความ ไล่ผี ตลอดจนรักษาคนป่วยไปด้วย จนเป็นที่เรียกขานกันในหมู่บ้านว่า ท่านเป็นหมอธรรม

          เมื่อปลายปี ๒๕๐๙ ท่านมีโอกาสได้ไปศึกษาและปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อเทียนที่วัดป่าพุทธยานจังหวัดเลย หลวงพ่อเทียนสอนให้สร้างจังหวะและเดินจงกรม จนรู้กาย รู้ใจ มีสติสัมปชัญญะ รู้ทันต่อการเคลื่อนไหว รู้ทันต่อใจที่คิด จิตใจเปลี่ยนไปจากภาวะเดิม หมดความลังเลสงสัย จึงละทิ้งคาถาอาคมเครื่องรางของขลังที่เคยเรียนมา 

          ออกบวชเมื่อปี ๒๕๑๘ บุกเบิกสร้างวัดป่าสุคะโต วัดภูเขาทอง อ.แกงคร้อ จ.ชัยภูมิ และวัดป่ามหาวัน (ภูหลง) เป็นสำนักส่งเสริมการเจริญสติ และอนุรักษ์ป่าไม้มาอย่างต่อเนื่อง ก่อนจะมรณภาพอย่างสงบเมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ณ วัดป่าสุคะโต

 

 

 

คอลัมน์:

ผู้เขียน: