Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

สัญญายมทูต

-A +A

         เพราะเคยเฉียดตายจากอาการครรภ์เป็นพิษ ในชั่วขณะที่ความเป็นกับความตายอยู่ใกล้กันเพียงนิด ความตายกำลังคืบคลานเข้ามาใกล้...ใกล้ขนาดที่เห็นยมทูตลงมายืนรอรับวิญญาณกลับไปพร้อมกัน แต่ด้วยความที่อายุยังน้อยและยังไม่อยากตายเธอจึงต่อรองกับยมทูตว่าขอมีชีวิตอยู่ต่อไป โดยเธอจะหมั่นทำความดีแลกกับชีวิตที่ได้คืนมา นี่คือคำมั่นสัญญาที่ คุณกานดาวศรี ตุลาธรรมกิจ พยาบาลรังสีรักษา หน่วยรังสีรักษา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ และวิทยากรอบรมเผชิญความตายอย่างสงบ ได้ให้ไว้กับยมทูตในครั้งนั้น และพันธสัญญานี้เองที่มาเปลี่ยนแปลงชีวิตของเธอไปอย่างสิ้นเชิง และคอยเตือนให้เธอระลึกถึงความตายอยู่เสมอ

         “ทุกวันนี้แค่นึกว่าเคยเฉียดตาย ก็มีภาพเหมือนมียมทูตมาให้เราเห็น เป็นเครื่องเตือนว่าเราไม่รู้จะตายเมื่อไหร่ ต้องขอบคุณความเฉียดตายในครั้งนั้นที่เป็นมรณานุสติให้เรา เป็นเครื่องเตือนว่าชีวิตเราไม่แน่นอน และยังทำให้เราได้มาทำความดีโดยเข้าใจคนไข้และได้มาช่วยเหลือคนที่เขาใกล้ตาย คือเราเห็นความตายของคนมามากและได้เข้าไปมีส่วนร่วม ทำให้เราเรียนรู้ชีวิตแต่ละชีวิต และได้คิดว่าวันหนึ่งถ้าเราจะต้องตาย มีตายอยู่สองแบบ แบบสงบกับไม่สงบ แบบตาไม่ปิดเพราะว่ายังไม่ได้คลี่คลาย ยังไม่ได้ทำอะไร หรือยังจัดการอะไรไม่เสร็จ มันกลับกลายมาย้อนถามตัวเองว่าตัวเองได้เตรียมตัวอย่างไร นี่ก็เป็นเครื่องสอนเราตลอดว่าเราต้องมีสติ เพราะตอนที่ก่อนจากไปจะอ่อนไหวมาก คนไข้ก็ไม่มีสติ ญาติก็ไม่มีสติ เราจะทำอย่างไรตรงนั้น แล้ววันหนึ่งถ้าเป็นตัวเองล่ะจะต้องทำอย่างไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะเราเลือกไม่ได้ว่าเราจะนอนตายอย่างสุขสบายหรือนอนตายบนท้องถนน คือเราเลือกไม่ได้แต่ขอให้มีสติ ณ ตอนนั้น นี่คือสิ่งที่เราเรียนรู้

         “และก็จากเวลาเราไปงานศพ เราก็นึกว่าถ้าวันหนึ่งที่เราต้องตาย เราก็ไม่อยากให้จัดงานอะไรฟุ่มเฟือยเพราะรู้ว่าคนที่อยู่เขาเดือดร้อน ไม่อยากให้คนตายขายคนเป็นในลักษณะแบบนั้น คือไปแล้วก็จะดูแต่ละงานที่เขาจัด แล้วมองย้อนว่าบางคนก่อนตายญาติไม่ได้ดูแลเลย มาทำตอนงานศพซึ่งไม่ค่อยได้อะไร เป็นเครื่องเตือนใจว่าขอให้ชีวิตที่เรามีอยู่ได้ทำอะไรให้ซึ่งกันและกัน ทำสิ่งดีๆ มีหลายตัวอย่างกับสิ่งที่เราเห็น

         “การเดินทางก็เคยเจออุบัติเหตุเครื่องบินตกหลุมอากาศครึ่งชั่วโมง ปรากฏว่าพอหลังจากที่เราฝึกบ่อยๆ เรื่องมรณานุสติจากงานศพ จากการดูแลผู้ป่วย จากการเฉียดตาย ก็กลายเป็นเรื่องตลกว่าจะตายสูงหรือเปล่า ไม่เป็นไรตายหมู่ ไม่ได้กระสับกระส่ายว่าแย่แล้วชีวิตเราต้องตาย เราเชื่อมั่นว่าถ้าเราตายความดีที่ทำมาจะเป็นเสบียง เรามีเสบียงแล้วเคยมีประสบการณ์ เคยเฉียดแล้ว และเรารู้สึกว่ามันแค่ก้าวข้ามผ่านธรณีประตูไปอีกบ้านหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้น่ากลัว เหมือนกับเราเคยผ่านข้อสอบมาแล้ว ผ่านการทดลองมาแล้ว เราก็มั่นใจในความดีที่ทำมา

         “อีกครั้งหนึ่งก็เคยติดอยู่ในลิฟต์ ๒๐ นาที ไปเยี่ยมคนไข้ ขากลับคนอื่นก็ออกจากลิฟต์หมดแต่ปรากฏว่าลงไปถึงชั้น ๑ คนอื่นออกหมดเราต้องลงไปชั้นบี พอลงมาชั้นบี ลิฟต์ไม่เปิด กระเด็นขึ้นไปอีกเหวี่ยงไปเหวี่ยงมา ๒๐ นาที เราก็กดเรียกโอเปอเรเตอร์ว่ามีคนติดอยู่ในลิฟต์อีกหนึ่งคน ยามก็หาไม่ได้เพราะด้านหน้าลิฟต์ไม่ได้บอกว่าอยู่ชั้นไหน ก็เลยโทรศัพท์ไปหยอกเพื่อนบอกว่า น้อง พี่ยังไปไม่ถึง สงสัยไม่รู้จะต้องตายในลิฟต์หรือเปล่า เราก็พูดสนุกน้องเขาตกใจพี่อยู่ที่ไหน เขาก็ตามกัน แต่ข้างนอกเขาก็ยังตามไม่เจอไม่รู้เหตุผลอะไร สุดท้ายเขาก็ล็อคได้ กว่าจะออกมาได้ ๒๐ นาที ดีที่ไฟไม่ได้ดับเลยยังมีอากาศหายใจ ตอนนั้นไม่กลัวเลยและอยู่คนเดียวด้วย ก็ถามตัวเองว่าเกิดอะไรขึ้นกับเราถึงไม่กลัว มันอาจจะผ่านเรื่องพวกนี้มา ดูแลคนไข้มาเกือบ ๓๐ ปีแล้ว และเห็นการตายแทบทุกวัน เห็นชีวิตคน เห็นความทุกข์ของคนที่มีความทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ เลยทำให้เราเห็นว่าชีวิตไม่แน่นอน บางทีเพื่อนประสบอุบัติเหตุตาย หรือเด็กคนนี้อายุยังไม่เท่าไหร่ไม่น่าตายเลย ก็เลยทำให้กลับมามองย้อนว่า ไม่มีอะไรที่แน่นอน แต่ความตายเป็นสิ่งที่แน่นอน

         “เราคิดอย่างนี้ได้เพราะเราเอาใจน้อมไปศึกษาและเรียนรู้มัน และเตือนสติตัวเอง เราใช้มรณานุสติว่าพอเห็นปั๊บให้เรามาคิดเพื่อให้เกิดปัญญา ถ้าเกิดเราเฉยๆ เห็นว่าธรรมดา ป่วยแล้วก็ต้องตายเป็นธรรมดาของโรคนี้ ไม่ใช่ แต่เราน้อมว่าถ้าวันหนึ่งเกิดเป็นเราหรือเป็นคนที่เรารักเราจะทำอย่างไร เราจะได้ไม่หลงทางถ้าวันหนึ่งเกิดขึ้นกับเรา ครั้งก่อนที่เฉียดตายถ้าเราตายตอนนั้นคิดว่าคงหลงทางหรือว่าไปอบาย คงไปภพภูมิที่ไม่สวยเพราะว่าเราดิ้นรนและผลักไสเราก็ยิ่งกลัว 

         “พอเราน้อมความตายเข้ามาใส่ตัว พฤติกรรมก็เปลี่ยนไป ทำให้เราเป็นคนที่ใช้ชีวิตให้มีคุณค่า การมีสิ่งดีๆ แบ่งปันให้สังคม การเข้าไปเป็นจิตอาสาดูแลคนไข้ การทำอะไรทุกอย่างแม้แต่ในหน้าที่เอง ทำอย่างไรให้เราเป็นคนที่เข้าใจคนไข้และเข้าใจญาติ คือไม่ได้ทำแบบสักแต่ว่าเป็นหน้าที่อย่างเดียว เราเอาใจเข้าไปด้วย และทำให้คนที่เขาทุกข์เขายิ้มได้ ทำให้คนที่จะไปเขาจากไปอย่างสงบ สมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ทำอะไรที่รู้สึกว่าชีวิตเรามีคุณค่า แค่นี้เรามีคุณค่าต่อให้ไม่มีใครมาให้คุณค่าก็ไม่เป็นไร แต่เรารู้ว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และประเสริฐยิ่งกว่าทำบุญใดๆ คือบุญก็ทำแต่งานนี้คืองานบุญอยู่แล้ว

         “ส่วนคนที่ไม่ได้เตรียมตัวตายเขาจะผลักไส ดิ้นรน และไปอย่างไม่สงบ เพราะเขาไม่ได้เตรียมตัว ไม่ได้เตรียมหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าเรื่องทรัพย์สมบัติที่จะแบ่งไว้ให้ลูกหลาน หรือเตรียมแม้แต่เรื่องงานต่างๆ ที่ตัวเองยังทำไม่เสร็จ ทุกอย่างเพราะเขาคิดว่าเขาไม่ตาย พอถึงเวลานั้นเขาเตรียมไม่ได้ แม้แต่เตรียมเรื่องชีวิตว่าถ้าเขาใกล้ตายเขาไม่ต้องการหัตถการหรือการรักษาแบบไหนเขาก็เตรียมไม่ได้ แต่มีคนอื่นมาเตรียมให้โดยที่เขาไม่อยากได้ คือการยื้อ การใส่ท่อ การปั๊ม ซึ่งทำให้ความมีคุณค่าของตัวเขามันสูญเสีย

         “ถ้าถามว่าตอนนี้พร้อมตายไหมก็ถือว่าธรรมดา ความตายมีอยู่ตลอดเวลา อุบัติเหตุก็ได้ หรืออะไรก็ได้ เราถือว่ายังไงคนที่อยู่เขาก็เอาตัวเองรอด เราคิดว่าเป็นธรรมดาเพราะว่าเราน้อมระลึกถึงความตายอยู่เรื่อยๆ จนเห็นความจริงว่าเป็นธรรมดา คือเห็นบางคนเจออุบัติเหตุบ้าง บางคนป่วยบ้าง มันไม่แน่นอนเสมอ ถ้าถามว่าเราระลึกถึงความตายบ่อยแค่ไหน ความตายเตือนเราตลอดเวลา แค่เราไปทำความดี ส่วนหนึ่งเป็นเหมือนคอมมิตเมนต์ ด้วยนะ ถ้าเราไม่ได้ไปทำความดีภาพก็จะมาเกิดขึ้นว่า นี่!!! เตือนแล้วนะ เธอใช้ชีวิตไม่มีคุณค่า 

         “หลังจากเฉียดตายนี่เปลี่ยนวิธีคิดเปลี่ยนชีวิตเราเลย พอไปทำกับคนไข้ก็ยิ่งเปลี่ยนชีวิตเปลี่ยนวิธีคิดเราที่จะให้เขามากขึ้น และเห็นความอนิจจัง ความไม่เที่ยงมากขึ้น คือก่อนที่จะเฉียดตายจากครรภ์เป็นพิษก็ไม่ได้คิดอะไรอย่างนี้ เป็นคนสนุกๆ ร่าเริง อาจจะเป็นคนแบบไม่ได้คิดถึงใคร คิดถึงแต่ตัวเอง มีความสุข มีกินมีเที่ยว ใช้ชีวิตไปวันๆ สนุกอย่างเดียว ไม่มีสาระไม่มีอะไรที่จะทำให้สังคม เอาตัวเองเป็นหลัก ไม่ได้คิดที่จะเข้าใจคนอื่น เข้าไปช่วยเหลือ แต่พอยิ่งเข้าไปเรายิ่งต้องขอบคุณเพราะว่าคนไข้สอนเรา กับเปิดโอกาสให้เราได้ทำและก็เป็นครูจริงๆ”.

 

คอลัมน์:

ผู้เขียน: