Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

เรื่องของน้าเอิบ

-A +A


เพื่อรอยยิ้ม เมื่อสิ้นลม เล่ม1สง่า ลือชาพัฒนพร เขียนจากประสบการณ์ของ กานดาวศรี ตุลาธรรมกิจ

(ไม่ได้ตีพิมพ์ในหนังสือ “เพื่อรอยยิ้ม เมื่อสิ้นลม”)

          คุณฟ่งได้หยิบกระดาษสองแผ่นขึ้นมาจากแฟ้ม เป็นจดหมายจากญาติของคนไข้ที่เสียชีวิตไปแล้ว เขียนเล่าความรู้สึกจากส่วนลึกส่งถึงเธอ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวช่วงเวลาสุดท้ายของน้าชายที่ชื่อเอิบ โดยหวังว่าเรื่องราวที่บอกเล่าในจดหมาย จะเป็นวิทยาทานสร้างประโยชน์ต่อคนรุ่นหลัง ที่อาจต้องพบประสบการณ์สำคัญของชีวิต ในช่วงเวลาที่ต้องตัดสินใจในเรื่องที่ยากลำบาก ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเป็นความตาย 

          คุณฟ่งเล่าประกอบจดหมายฉบับนี้ ว่าน้าเอิบเป็นชาวประมงมาทั้งชีวิต โตมากับท้องทะเล หาปลาแต่เพียงคนเดียวบนเรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็ก ชีวิตบนเรือที่โดดเดี่ยวกลางทะเลกว้าง เฝ้ามองผืนฟ้าและพื้นน้ำ คือบุคลิกที่แท้จริงของน้าเอิบ น้าเอิบไม่มีครอบครัว ไม่มีลูกเมียให้เป็นภาระห่วงใย แต่น้าเอิบเคยอุปการะเด็กผู้ชายคนหนึ่ง ส่งเสียให้เล่าเรียนจนเติบใหญ่ ปัจจุบันมีการงานมั่นคง 

          ลายมือในจดหมายเป็นระเบียบเรียบร้อยมาก บอกถึงสภาวะทางอารมณ์ของผู้เขียนที่มั่นคง 

 

 

          ดิฉันมีโอกาสได้ดูแลนายเอิบ อายุ ๖๙ ปี (น้าชาย) ซึ่งป่วยด้วยโรคมะเร็ง หมอบอกว่าจะอยู่ได้ประมาณ ๔-๖ เดือน ดิฉันพาน้ามาโรงพยาบาลตามที่หมอนัดไม่เคยขาด โดยการทำเคมีบำบัดอยู่ประมาณหนึ่งปี จนหมอไม่นัดแล้ว เนื่องจากร่างกายไม่ตอบสนอง จึงให้ยาไปกินตามอาการ กระทั่งวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒ น้าเอิบหายใจหอบ และมีอาการเหนื่อยมาก พยุงให้นั่งพิงก็ยังทรงตัวไม่ได้ ดิฉันรีบพาน้าไปโรงพยาบาลใกล้บ้าน พยาบาลบอกว่าคนไข้หายใจเองลำบาก ญาติจะให้ใส่ท่อช่วยหายใจไหม และต้องส่งต่อโรงพยาบาลประจำจังหวัดที่มีเครื่องมือพร้อม

          ตลอดเวลาที่น้าเอิบนอนอยู่โรงพยาบาลสงขลาฯ น้าคงจะเจ็บปวดและทรมานมาก โดยเฉพาะตอนที่คุณพยาบาลใช้สายยางดูดเสมหะ ดิฉันจะจับมือและลูบแขนน้า คิดว่าจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดได้บ้าง ขณะที่ดิฉันนั่งเฝ้า ดิฉันจะจับมือน้าไว้ อยากให้น้ารู้ว่าน้าไม่ได้ถูกทอดทิ้ง น้าไม่ต้องกลัว ให้น้าท่องคำพระไว้ จะได้ลืมความเจ็บปวด 

          ตลอดเวลาที่ดูแลน้า ก็รู้ว่าน้าเอิบเป็นคนที่อดทนมาก ไม่ดื้อ ไม่บ่น ไม่เคยร้องครวญครางเพราะความเจ็บปวดของโรคร้ายนี้เลย ดิฉันทราบว่าคนที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้ายจะเจ็บปวดทรมานมาก แต่น้าเป็นคนอดทน คงด้วยเกรงใจหลานกระมัง (น้าเป็นคนโสดไม่มีครอบครัว)

          น้าใส่ท่อช่วยหายใจทางปากมาประมาณ ๑๐ กว่าวัน คุณหมอก็บอกว่าจะต้องเจาะคอ ใส่ท่อทางปากหลายวันจะทำให้ติดเชื้อ หลังจากนั้นอีกสองวัน หมอก็ถามอีกว่า ญาติปรึกษากันแล้วหรือยังว่าจะเอาอย่างไร จะให้หมอเจาะคอ หรือจะถอดท่อที่ปากออกแล้วเอากลับบ้าน ดิฉันถามคุณหมอว่า ถ้าถอดออกแล้วคนไข้จะอยู่ได้นานไหม ได้กี่วัน คุณหมอตอบว่า หมอก็บอกไม่ได้ อาจจะอยู่หนึ่งชั่วโมง หกชั่วโมง หมอตอบไม่ได้จริง ๆ 

          ดิฉันตกใจมาก เพียงหนึ่งหรือหกชั่วโมงเท่านั้นเองหรือ ดิฉันเครียดและสับสน การถอดท่อช่วยหายใจจากปาก ก็เท่ากับดิฉันฆ่าน้าเอิบ ทั้ง ๆ ที่น้ายังรู้เรื่องทุกอย่าง ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ดิฉันคงจะไม่มีความสุขชั่วชีวิต บาปจะติดตัวดิฉันไปตลอด ดิฉันจึงโทรศัพท์หาคนโน้นคนนี้ตลอดทั้งวัน ญาติบางคนก็บอกว่าให้หมอถอดออกแล้วเอากลับบ้าน อยู่ก็ทรมานทั้งคนป่วยและคนเฝ้า บางคนบอกว่าแล้วแต่ดิฉัน วันนั้นดิฉันร้องไห้ทั้งวันเพราะสงสารน้า ถ้าเจาะคอน้าต้องเจ็บ ต้องทรมานอีก ถ้าถอดท่อออก น้าจะต้องตายเพราะหายใจเองไม่ได้ จะต้องตายทั้ง ๆ ที่น้ายังมีสติ ยังรู้เรื่องทุกอย่าง ยังยิ้มและรับไหว้เวลามีคนมาเยี่ยม

          ดิฉันได้โทร.ปรึกษาคุณกานดาวศรี คุณพยาบาลโรงพยาบาล ม.อ. แผนกรังสีรักษา ที่กรุณาให้เบอร์ติดต่อไว้ สำหรับปรึกษาเวลาฉุกเฉิน ดิฉันได้เล่าอาการของน้าเอิบ คุณพยาบาลได้ช่วยปรึกษาอาจารย์หมอที่เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง และให้คำแนะนำที่มีประโยชน์กับดิฉัน 

          คุณกานดาวศรีได้แนะนำดิฉันว่าให้พยายามคุยกับคนไข้ ถามว่าน้าเอิบมีอะไรห่วงไหม มีกังวลอะไรหรือเปล่า คุณพยาบาลแนะนำทำให้ดิฉันมีสติ นั่งคุยกับน้าเอิบตลอดเวลา น้ารับรู้ทุกอย่าง ดิฉันบอกว่าถ้าต้องการเหมือนที่ดิฉันพูด ให้น้าเอิบบีบมือดิฉันนะ น้าก็ทำตาม ทำให้ดิฉันรู้ว่าน้าเอิบต้องการพบใครบ้าง ดิฉันจึงได้โทรศัพท์ร้องขอให้คนที่น้าเอิบอยากเจอให้มาเยี่ยมน้า ทุกคนที่มาทำให้น้าเอิบสดชื่นและก็ดูสงบลงมาก 

          ดิฉันได้สวดมนต์ให้น้าฟัง บอกน้าเอิบว่าฟังดิฉันสวดมนต์แล้วให้น้านึกถึงพระ นึกถึงผ้าเหลือง นึกถึงแต่สิ่งดี ๆ ที่น้าทำมาตลอดชีวิต น้าจำได้ไหม น้าไปตลาดเห็นเขาเอางูมาขาย เอานกมาขาย น้าเอิบยังซื้อและให้คนนำไปปล่อย น้าเป็นคนดี ช่วยเหลือผู้อื่นเสมอ พวกเราทุกคนรักน้าเอิบนะ ตอนนั้นน้าเอิบสงบ ตาปิด เอามือน้ามากุม น้าก็ไม่บีบมือตอบดิฉัน ดิฉันได้สวดมนต์และพูดตลอดเวลาแม้น้าเอิบจะไม่ลืมตาแล้วก็ตาม ดิฉันนั่งสวดมนต์จนคุณพยาบาลหัวหน้าตึกท่านสงสาร ท่านกรุณาให้ยืมเทปพระสวดมนต์มาเปิดให้น้าเอิบฟัง

          หลังจากที่น้าเอิบเจอคนที่อยากเจอมาเยี่ยม วันรุ่งขึ้นน้าเอิบก็จากไปอย่างสงบ โดยไม่ต้องเจาะคอและไม่ต้องถอดท่อช่วยหายใจ ดิฉันและญาติได้กรวดน้ำตามความเชื่อของศาสนาพุทธ เพื่อส่งดวงวิญญาณน้าเอิบไปสู่สุคติ

          ดิฉันไม่เคยเขียนอะไรให้คนอื่นอ่าน ดิฉันอาจจะลำดับเรื่องราวไม่ถูก แต่ดิฉันก็เขียนจากความรู้สึก และตั้งใจที่จะบอกกับท่าน ที่มีญาติป่วยระยะสุดท้าย และท่านเป็นคนดูแลเขาอยู่ ท่านอาจจะมีความทุกข์ เครียดและสับสนเหมือนอย่างดิฉัน เมื่อคนที่ท่านรักป่วยระยะสุดท้าย และกำลังจะจากไป เราอาจจะช่วยไม่ให้เขาต้องทุกข์ทรมานมาก เมื่อเรารู้ปมปัญหาของผู้ป่วย

          หากเรื่องที่ดิฉันเขียนนี้มีประโยชน์กับท่านบ้าง ดิฉันขออุทิศบุญกุศลนี้แก่ดวงวิญญาณของคุณน้าเอิบ ขอให้ดวงวิญญาณของคุณน้าเอิบไปสู่สุคติ ถ้าชาติหน้ามีจริงขอให้น้าเอิบ มีเมีย มีลูก และครอบครัวที่อบอุ่นด้วยเทอญ

          ดิฉันขอกราบขอบพระคุณคุณกานดาวศรี ตุลาธรรมกิจ ที่เป็นกำลังใจคอยโทร.สอบถามอาการของน้าเอิบตลอดระยะ และขอบคุณที่แนะนำสิ่งที่ดีที่สุดแก่ดิฉัน

                                                                                                                                            จินต์ หลานน้าเอิบ

 

          คุณฟ่งได้อรรถาธิบายเป็นการเพิ่มเติมว่า การตัดสินใจเลือกระหว่างเจาะคอหรือถอดท่อช่วยหายใจที่ปาก เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งผู้ป่วยขณะที่ยังมีสติหรือญาติเท่านั้นที่มีสิทธิตัดสินใจ แน่นอนกรณีของน้าเอิบ คุณฟ่งจึงไม่สามารถให้คำแนะนำใด ๆ เพื่อช่วยเหลือในการตัดสินใจ แต่ได้ให้คำแนะนำที่ช่วยให้น้าเอิบได้ชำระสิ่งที่ค้างคาใจ โดยเฉพาะการได้พบกับบุคคลที่คุณน้าได้ส่งเสียเลี้ยงดูจนมีชีวิตที่มั่นคง และเมื่อการพบปะสำเร็จลุล่วง น้าเอิบได้เป็นผู้ตัดสินใจเลือกหาหนทางแทนหลานสาวซึ่งกำลังอยู่ในสภาพที่ยากลำบากใจอย่างยิ่ง น้าเอิบเลือกที่จะสิ้นลมละสังขารจากไปอย่างสงบ ในช่วงเวลาที่ถูกต้องและเหมาะสม 

 

 

 

คอลัมน์: