Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

เมื่อคนดูแลอึดอัด ท้อใจ

-A +A

ปุจฉา: กราบเรียนพระอาจารย์ค่ะ ขอปรึกษาว่าควรวางใจอย่างไรดี หนูมีพ่อที่ป่วยเป็นมะเร็ง และทุกคนในครอบครัวก็พยายามดูแลอย่างเต็มที่ รักษาทุกอย่าง และดูแลพ่ออย่างดีที่สุดเท่าที่คิดว่าตัวเองทำได้ 

แต่พ่อยังรู้สึกว่า ได้รับการดูแลไม่พอ หลายครั้งที่พ่อบอกว่า ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเขาเป็นอันดับหนึ่ง พ่อจะโกรธมาก ด่ารุนแรง และที่สำคัญหนูสงสารแม่ ที่ต้องเหนื่อยมากๆ ในการดูแล (ทั้งคู่อายุ ๗๓ ปีแล้วค่ะ) และยังต้องรองรับอารมณ์พ่อตลอดเวลา 

จริงๆ แม่กับพ่อ ไม่ได้อยู่ด้วยกันมา เป็น ๑๐ ปี เนื่องจากพ่ออารมณ์ร้อน รุนแรง จนแม่ทนไม่ไหว แต่เมื่อป่วย แม่ก็ยอมให้กลับมาอยู่บ้าน และดูแลอย่างดีที่สุดจริงๆ (แม่บอกว่า ถ้าไม่ให้กลับมาบ้าน คนที่ลำบากจะเป็นลูกๆ แม่เลยยอม)

หนูควรทำใจอย่างไรดีคะ เวลาโดนด่ารุนแรงก็มีท้อ และคิดไม่ดีเหมือนกัน หนูกลัวว่าจะเป็นบาป เป็นกรรม ที่คิดไม่ดี ตอนนี้ ลูกๆ ทุกคน และแม่ ยังทำหน้าที่อย่างดี ไม่ได้พูดอะไรรุนแรงกลับเพราะกลัวพ่อเครียด แต่กลับกลายเป็นว่า ทุกๆ คนอึดอัด และ เหนื่อยใจกันมาก 

พระอาจารย์มีคำแนะนำให้พวกเราวางจิตวางใจอย่างไรดีคะ และหากเป็นไปได้ อยากทำให้พ่อได้คิด เพราะด้วยอาการป่วยกายทีหนักอยู่แล้ว ถ้าเขายังมีโทสะ โมหะเข้ามาอีก จะยิ่งแย่กับร่างกาย และจะเป็นกรรมไม่ดีในช่วงสุดท้ายของชีวิต หนูจะแนะนำพ่ออย่างไรดีคะ กราบขอบพระคุณพระอาจารย์ค่ะ

 

พระไพศาล วิสาโล วิสัชนา: การที่คุณพยายามอดกลั้นต่ออารมณ์ของคุณพ่อนั้นถูกต้องแล้ว การตอบโต้กลับไปด้วยอารมณ์มีแต่จะทำให้สถานการณ์แย่ลง ธรรมดาของผู้ป่วยนั้นมักมีความเครียดและหงุดหงิดอยู่แล้ว จึงมักแสดงอารมณ์ออกไปโดยไม่รู้ตัว นี้เป็นความจริงอย่างหนึ่งที่ผู้ดูแลควรเข้าใจและยอมรับ ยิ่งผู้ป่วยเป็นคนเจ้าอารมณ์อยู่แล้ว ยิ่งแสดงความโกรธเกรี้ยวได้ง่าย 

กรณีคุณพ่อของคุณนั้น อาจมีปัญหาหนึ่งเพิ่มขึ้นมา หรือมีเป็นทุนเดิมก่อนเจ็บป่วยอยู่แล้ว นั่นคือความคิดว่าลูกๆ ไม่สนใจท่าน หรืออาจคิดไปไกลถึงขั้นว่าลูกๆ ไม่รักท่าน (หรือรักแม่มากกว่าพ่อ) ดังนั้น ระหว่างที่เจ็บป่วย ท่านจึงมีความคิดอยู่ตลอดเวลาว่าลูกๆ และภรรยาไม่สนใจตน เกิดความรู้สึกน้อยใจหรือขุ่นเคืองตามมา ซึ่งยิ่งทำให้อารมณ์เสียและมีอาการเจ็บปวดมากขึ้น ดังนั้น หากคุณตอบโต้ท่านด้วยอารมณ์ ก็เท่ากับตอกย้ำความคิดและความรู้สึกดังกล่าวมากขึ้น

สิ่งหนึ่งที่คุณจะช่วยท่านได้คือ ทำให้ท่านมั่นใจว่าคุณรักท่าน เป็นห่วงท่าน และพร้อมจะดูแลท่านอย่างดีที่สุด ทั้งนี้ ไม่ควรแสดงออกด้วยคำพูดเท่านั้น น้ำเสียง แววตา และสัมผัสอันอ่อนโยนก็มีความสำคัญมาก แต่จะทำอย่างนั้นได้ คุณก็ควรเข้าใจท่าน ยอมรับท่านให้ได้เสียก่อน (รวมทั้งให้อภัยท่านได้ หากเคยมีความขุ่นเคืองท่าน) ขณะเดียวกัน หากท่านกราดเกรี้ยว ใช้อารมณ์ ก็พูดกับท่านดีๆ รวมทั้งเตือนให้ท่านรู้ว่า  ความโกรธนั้นเป็นผลเสียต่อสุขภาพของท่าน จะว่าไปแล้ว การนิ่งของลูกๆ เวลาท่านโกรธเกรี้ยว นอกจากจะช่วยให้ท่านได้สติ หรือรู้ตัวเร็วขึ้นว่ากำลังทำอะไรลงไปแล้ว ยังเป็นการแสดงให้ท่านเห็นถึงความรักที่ลูกๆ มีต่อท่าน นี้เป็นสิ่งยืนยันที่ดีกว่าคำพูดที่ไพเราะเสียอีก

อาตมาเชื่อว่า หากท่านมั่นใจในความรักและความใส่ใจของลูกๆ ท่านจะกราดเกรี้ยวน้อยลง อดทนอดกลั้นต่อความเจ็บป่วยได้มากขึ้น และยอมรับสิ่งที่กำลังเกิดกับตนได้ดีกว่าเดิม

 

จากเพจ พระไพศาล วิสาโล - Phra Paisal Visalo

 

คอลัมน์: