Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

นโยบายตายดี ก้าวใหม่ใหญ่กว่าเดิม และสิ่งที่ยังขาดหายไป

-A +A

          นับแต่กรณีการมรณภาพของท่านพุทธทาสภิกขุที่จุดประเด็นเรื่องการตายดีในสังคมไทยเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน จนเกิดการถกเถียงเรื่องดังกล่าวในแง่มุมต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการตาย การตายอย่างมีศักดิ์ศรี ตลอดจนทัศนะเรื่องการตายในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในทางการแพทย์ ทางศาสนา ทางวัฒนธรรม ทางกฎหมาย และคลี่คลายขยายตัวเป็นความเคลื่อนไหวอย่างเป็นรูปธรรมกว้างขวางและต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการเขียนและแปลหนังสือว่าด้วยเรื่องความตายและการเตรียมตัวตาย เช่น ประตูสู่สภาวะใหม่ และพ้นห้วงมหรรณพ เกิดเครือข่ายภาคประชาชนและบุคลการทางการแพทย์ที่ทำงานขับเคลื่อนเรื่องการตายดีในหลากหลายแง่มุม เช่น โครงการเผชิญความตายอย่างสงบ เครือข่ายพุทธิกา เครือข่ายบุคลากรสาธารณสุขผู้สนใจเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคอง และนำไปใช้ในการดูแลผู้ป่วยตามโรงพยาบาลที่ตนทำงานอยู่ มีการรวมกลุ่มผู้สนใจเป็นชมรมชีวันตาภิบาลก่อนจะขยับขยายมาเป็นสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน มีความพยายามผลักดันหลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคองผ่านเครือข่ายมหาวิทยาลัยแพทย์ เกิดกฎกระทรวงมาตรา ๑๒ เรื่องหนังสือแสดงเจตนาฯ และสามารถผลักดันวาระเรื่องการตายดีให้เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ โดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) หรือการสนับสนุนการจัดตั้งหน่วยการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองในโรงพยาบาลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 

          กระทั่งถึงความเคลื่อนไหวใหญ่ล่าสุดที่ทำให้งานด้านการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองเป็นงานหลักในระบบสาธารณสุขอย่างชัดเจน คือการที่ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะโยธิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประกาศนโยบาย “พัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองในโรงพยาบาลของรัฐ” เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ ๒๕๕๘ แก่ประชาชนชาวไทย

 

ก้าวใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม

          แม้ว่าแนวคิดเรื่องการตายดีและการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคอง (Palliative Care) จะไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ผู้คนทั่วไปและบุคลากรทางการแพทย์ที่เข้าใจในเรื่องดังกล่าวยังมีจำนวนน้อย และทำงานอยู่อย่างกระจัดกระจาย นโยบายดังกล่าวจึงเป็นการยกระดับงานดูแลผู้ป่วยระยะท้ายที่สำคัญอย่างหนึ่งในสังคมไทย สอดคล้องกับการขับเคลื่อนเรื่องการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองตามแนวคิดขององค์การอนามัยโลกว่า ประกอบไปด้วยสามปัจจัยหลัก คือ หนึ่ง การมีนโยบายระดับชาติ สอง มีการศึกษาในมหาวิทยาลัยแพทย์ และสาม การเข้าถึงยาระงับปวดอย่างทั่วถึง

          นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมา อธิบดีกรมการแพทย์ เจ้าภาพหลักของนโยบายดังกล่าว กล่าวถึงจุดสำคัญที่นำไปสู่การประกาศนโยบายว่า เกิดจากการไปร่วมประชุมองค์การอนามัยโลก (World Health Assembly) เมื่อปี ๒๕๕๗ ณ เมืองเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ และพบว่าทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับการทำให้การดูแลผู้ป่วยระยะท้ายเป็นรูปธรรม โดยที่ประชุมมีมติให้ประเทศต่างๆ ร่วมกับขับเคลื่อนเรื่องสถานดูแลผู้ป่วยระยะท้าย (Hospice) และการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองอย่างจริงจัง จึงเป็นแรงบันดาลใจอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดความคิดที่จะยกระดับงานดูแลผู้ป่วยระยะท้ายเป็นนโยบายระดับชาติ เนื่องจากสังคมไทยมีต้นทุนในเรื่องดังกล่าวอยู่พอสมควร เพราะมีหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชนทำงานอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง รวมถึงโรงพยาบาลในสังกัดของกรมการแพทย์กว่า ๒๐ แห่ง เช่น โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลสงฆ์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เป็นต้น 

          เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน เดินทางมาเยี่ยมเยียนกรมการแพทย์เนื่องในโอกาสรับตำแหน่งเมื่อปลายปี ๒๕๕๗ กรมการแพทย์จึงนำเสนอต้นแบบเรื่องสถานดูแลผู้ป่วยระยะท้าย (Hospice) และการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative care) ที่มีรูปแบบการทำงานชัดเจน นับแต่รับผู้ป่วยเข้ามารักษาในโรงพยาบาลและมีการดูแลอย่างต่อเนื่องใกล้ชิดจนกระทั่งผู้ป่วยกลับไปเสียชีวิตที่บ้านท่ามกลางญาติพี่น้องได้ถึงร้อยละ ๘๐ พร้อมกับเชิญท่านรัฐมนตรีเข้าร่วมงานประชุมวิชาการของกรมการแพทย์ที่โรงพยาบาลราชวิถี ได้เห็นผลการทำงานของหน่วยบริการต่างๆ จนมองเห็นความเป็นไปได้ในการยกระดับการทำงาน จึงประกาศนโยบายพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายดังกล่าว ให้ขยายหน่วยดูผู้ป่วยแบบประคับประคองที่จะประกอบด้วยทีมสหวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักกายภาพบำบัด จิตอาสา ฯลฯ ที่เข้าไปดูแลผู้ป่วยระยะท้ายถึงบ้านเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศจำนวน ๙๒ แห่งภายในเดือนกันยายน ๒๕๕๘ ก่อนจะขยายหน่วยดังกล่าวไปในโรงพยาบาลอำเภอ (ชุมชน) อีก ๓๐๐ แห่งในปีต่อไป โดยทำงานร่วมกับบุคลากรสุขภาพส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะทีมหมอครอบครัวที่เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุขเช่นกัน ซึ่งมีคณะทำงานในระดับจังหวัด อำเภอ และชุมชน ร่วมกับจิตอาสา อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และองค์กรปกครองท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนให้ผู้ป่วยได้อยู่ใกล้ชิดกับครอบครัวและมีความสุขในระยะสุดท้ายอย่างดีที่สุด 

          กล่าวโดยสรุปแล้ว นโยบายดังกล่าวไม่ใช่การสร้างระบบใหม่หรืองานใหม่โดยสิ้นเชิง แต่เป็นการเอางานเดิมที่มีอยู่แล้วมาจัดระบบ และสรุปบทเรียนการทำงานตลอดหลายปีที่ผ่านมาให้กลายเป็น “คู่มือแนวทางการทำงานดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง” สำหรับโรงพยาบาลทุกระดับนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของตนเอง 

 

เมื่อระบบเริ่มขับเคลื่อน

          แม้จะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการดำเนินงาน แต่ผลสะเทือนสำคัญจากการประกาศนโยบายดังกล่าวที่เห็นได้ชัดเจน คือทำให้งานดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองที่เคยมีอยู่อย่างกระจัดกระจายเป็นหย่อมๆ และเป็นงานนอกเวลาตามความสนใจส่วนบุคคล ไม่มีระบบรองรับ เข้าไปอยู่ในโครงสร้างของโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ โดยมีเจ้าหน้าที่ทำงานเต็มเวลา ช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานมีแรงจูงใจทางด้านความก้าวหน้าในวิชาชีพ ทำให้การดูแลผู้ป่วยมีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่สำคัญยังช่วยวางรากฐานในการดูแลผู้ป่วยสูงอายุที่สำคัญในอนาคตอีกด้วย

          “นโยบายดังกล่าวทำให้มีคนสนใจเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายมากกว่าเดิม การมีพยาบาลมาทำงานเต็มเวลาเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะจะช่วยให้งานเดินหน้าและทำให้ผู้ป่วยได้รับบริการอย่างเต็มที่” เกื้อจิต แขรัมย์ พยาบาลจากโรงพยาบาลบุรีรัมย์ ผู้บุกเบิกงานดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองมานานเกือบสิบปีกล่าว 

          สอดคล้องกับความเห็นของคุณกานดาวสี ตุลาธรรมกิจ พยาบาลผู้คร่ำหวอดเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายมากกว่ายี่สิบปี ที่กล่าวว่า “นโยบายดังกล่าวมีผลดีต่อผู้ป่วยและญาติที่จะได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องจากโรงพยาบาลไปสู่ชุมชนและบ้านได้อย่างถูกวิธี จากเดิมที่มีคนทำงานอยู่เพียงไม่กี่คน ทำให้บุคลากรได้รับการอบรมเรื่องการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองอย่างถูกต้องและได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหาร ช่วยทำให้ผู้ร่วมงานมีความเข้าใจกัน การประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าภายในและภายนอกโรงพยาบาลเป็นไปอย่างสะดวก” เธอยกตัวอย่างผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียงระยะสุดท้ายคนหนึ่งมาพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและใช้ยาคุมอาการปวดตลอดเวลา เพราะผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยและปวดมาก แต่ผู้ป่วยต้องการกลับบ้านแม้จะรู้ว่าอนาคตของตนเองเป็นอย่างไร เมื่อแพทย์อนุญาตให้กลับบ้าน ผู้ป่วยดีใจมากถึงกับยกมือไว้ขอบคุณ โดยโรงพยาบาลได้ติดต่อไปทาง รพ.สต.ซึ่งได้รับการอบรมอย่างเข้มข้นตามนโยบายมาแล้ว ปรากฏว่านอกจากทางโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจะช่วยเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้ญาติผู้ป่วยใช้ดูแลเรื่องดูดเสมหะและให้ออกซิเจได้แล้ว ยังยกทีมแพทย์พยาบาลไปดูแลอย่างดีถึงที่บ้านจนผู้ป่วยจากไปอย่างสงบอีกด้วย จากแต่เดิมที่การดูแลรักษาผู้ป่วยในลักษณะดังกล่าวจะทำได้ยาก ต้องใช้การติดต่อกับพยาบาลในพื้นที่ผ่านความสัมพันธ์ส่วนตัวเป็นหลัก

          ทางด้าน รศ.ดร.จอนพะจง เพ็งจาด จากวิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทยเห็นว่า “นโยบายดังกล่าวไม่เพียงแต่เป็นตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะหน้าของประชาชนและระบบสาธารณสุขไทย แต่ยังเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตอีกด้วย เพราะสังคมไทยจะมีผู้ป่วยสูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ผู้ดูแลกลับขาดแคลน เนื่องจากบุคลากรสาธารณสุขไม่เพียงพอและครอบครัวไทยมีขนาดเล็กลง จึงไม่สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีคุณภาพ” 

          นอกจากนี้ นโยบายดังกล่าวทำให้เกิดความตื่นตัวในหน่วยบริการ เกิดการวางระบบและระดมคนทำงานดังกล่าวตามหอผู้ป่วยต่างๆ และจิตอาสานอกโรงพยาบาล เช่น ประชาชนทั่วไป หรือข้าราชการเกษียณมารวมกลุ่มกัน นับเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองกระจายออกไปอย่างทั่วถึง

 

มองหลายมุม

          แม้จะยอมรับว่า บุคลากรที่เคยทำงานเรื่องการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองยังมีอยู่น้อยและกระจัดกระจาย จึงทำให้โรงพยาบาลแต่ละแห่งอาจจะมีความพร้อมในเรื่องการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองไม่เท่ากัน เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการดำเนินงานไปตามความสนใจส่วนบุคคล แต่ในมุมมองของผู้บริหารกรมการแพทย์ เรื่องความพร้อมของบุคลากรไม่ใช่ปัญหาใหญ่มากนัก เพราะบุคลากรสาธารณสุขส่วนใหญ่ล้วนมีใจและมีทักษะการดูแลโดยทั่วไปดีอยู่แล้ว เพียงแต่เสริมทักษะเฉพาะทางและสนับสนุนเครื่องมือที่จำเป็นต่อการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายเพิ่มเติมเข้าไป เชื่อว่าจะสามารถปฏิบัติงานได้ดี ภารกิจเร่งด่วนของกรมการแพทย์จึงเป็นการฝึกอบรมบุคลากร และจัดเวทีจัดการความรู้เพื่อให้บุคลากรนำประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนเพื่อพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง และจัดทำคู่มือแนวทางการปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองสำหรับโรงพยาบาลทุกระดับที่เกี่ยวข้อง (ปัจจุบันเป็นเวอร์ชั่นแรก กำลังจะจัดประชุมผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อพัฒนาเป็นเวอร์ชั่นที่สองภายในปี ๒๕๕๘) เพื่อทำความเข้าใจกับบุคลากรผู้รับผิดชอบโดยตรงและบุคลากรฝ่ายอื่นๆ ให้ทำงานสอดประสานกัน เพื่อร่วมปรับปรุงคุณภาพการให้บริการในแต่ละโรงพยาบาลมีความใกล้เคียงกัน 

          นับว่าแตกต่างจากมุมมองของผู้ปฏิบัติงานท่านหนึ่ง ที่มีข้อกังวลอยู่บ้างว่า แม้การประกาศนโยบายจะทำให้มีคนจำนวนไม่น้อยต้องการเข้ามาร่วมทำงานดังกล่าว แต่ในโรงพยาบาลหลายแห่งกลับพบว่า คนที่เคยทำงานอยู่ก่อนแล้วกลับไม่ได้ทำต่อ จึงขาดความต่อเนื่องไปอย่างน่าเสียดาย เพราะในการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง นอกจากเรื่องของทักษะแล้ว ยังต้องฝึกเรื่องใจ ต้องมีความเข้าใจมนุษย์ ชีวิตและความตายด้วย ไม่สามารถสร้างอย่างเร่งรีบได้

 

ชิ้นส่วนที่ขาดหายไป

          การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยแพทย์

          แม้นโยบายดังกล่าวจะทำให้บุคลการสาธารณสุขเกิดความตื่นตัวในการแสวงหาความรู้เรื่องดูแลผู้ป่วยระยะท้ายอย่างมาก แต่ในระยะสั้น ยังไม่อาจสามารถชดเชยองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งไปได้ คือการขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง เนื่องจากหลักสูตรนักวิชาชีพในเรื่องดังกล่าวยังมีน้อยและนำไปใช้ในขอบเขตจำกัด บุคลากรส่วนใหญ่จึงยังมีความรู้ความเข้าใจและทักษะไม่พอเพียงต่อการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

          พญ.ศรีเวียง ไพโรจน์กุล นายกสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย กล่าวว่า “ที่ผ่านมา แม้สมาคมบริบาลฯ จะพยายามผลักดันหลักสูตรการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองเข้าไปอยู่ในระบบการศึกษาแพทยศาสตร์ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากชั่วโมงการเรียนการสอนแพทย์ในปัจจุบันเต็มหมดแล้ว ทำให้ไม่มีการเรียนการสอนเรื่องการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองอย่างเป็นรูปธรรมในมหาวิทยาลัยแพทย์ในปัจจุบัน ในขณะที่ทางฝ่ายการพยาบาล แม้จะมีการเรียนการสอนในเรื่องดังกล่าวพอสมควร แต่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องจิตสังคม จิตวิญญาณ ยังมีเรื่องการจัดการอาการไม่มากพอ” 

          ลำพังการจัดการศึกษาให้นักวิชาชีพไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล เภสัช แม้กระทั่งจิตอาสาให้มีความรู้และทักษะ จึงเป็นเพียงการช่วยถมช่องว่างชั่วคราว ในระยะยาว มีความจำเป็นต้องผลักดันให้การมีการเรียนการสอนเรื่องการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองเข้าไปอยู่ในมหาวิทยาลัยแพทย์ เพราะจากประสบการณ์ของสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายแห่งประเทศไทย การขาดแคลนบุคลากรวิชาชีพเฉพาะทางในเรื่องดังกล่าวโดยเฉพาะแพทย์ ส่งผลให้การพัฒนาความรู้และผลักดันงานต่างๆ ทำได้ไม่เต็มที่ เพราะขาดคนทำงานเต็มเวลา เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์สาขาต่างๆ ที่เข้ามาช่วยงานต้องรับผิดชอบงานในสาขาวิชาของตัวเองไปด้วย 

          เพื่อชดเชยช่องว่างดังกล่าว นอกจากกรมการแพทย์จะต้องเร่งฝึกอบรมบุคลาการไปพร้อมๆ กับกำหนดแผนปฏิบัติการ สร้างคู่มือแนวทางการปฏิบัติงานแล้ว สิ่งสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามคือ การจัดวางระบบและบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ให้สอดประสานและเกื้อกูลกันด้วย 

          “โรงพยาบาลศูนย์ (ขนาดใหญ่) ต้องมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองโดยเฉพาะ เพื่อเป็นแม่ข่ายด้านการศึกษา เป็นแหล่งฝึกอบรมและจัดหายา 

          ส่วนโรงพยาบาลอำเภอ (ชุมชน) เหมาะกับการดูแลผู้ป่วยที่ไม่สามารถกลับไปรักษาตัวที่บ้าน เนื่องจากไม่มีผู้ดูแล  หรือดูแลไม่สะดวก และเป็นแหล่งจัดหายาให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) 

          สำหรับ รพสต. จะอยู่ใกล้บ้านผู้ป่วยที่สุด มีหน้าที่ค้นหาผู้ป่วย เยี่ยมบ้านร่วมกับจิตอาสา และประสานความช่วยเหลือกับโรงพยาบาลอำเภอเพื่อดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด”

 

          การเข้าถึงยาระงับปวด

          จุดอ่อนสำคัญอีกประการหนึ่งของการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายที่ผ่านมาในความเห็นของ พญ.ศรีเวียง คือ ส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องการดูแลในมิติทางสังคมและจิตใจเป็นหลัก แต่ยังขาดการจัดการเรื่องอาการที่มากพอ นอกจากขาดความรู้ ขาดแพทย์ พยาบาลที่มีความเข้าใจในเรื่องการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองแล้ว สิ่งสำคัญคือ การไม่สามารถเข้าถึงยาระงับปวดประเภทมอร์ฟีนซึ่งมีความจำเป็นต่อการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายได้อย่างสะดวกเพียงพอ 

          จากการสำรวจโรงพยาบาลของรัฐ ๕๓๗ แห่งอย่างไม่เป็นทางการของสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายแห่งประเทศไทยเมื่อปี ๒๕๕๕ พบว่า โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลชุมชนมีมอร์ฟีนชนิดต่างๆ น้อยกว่าโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่มาก จึงทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยากระงับปวดได้ยาก เพราะส่วนใหญ่ต้องเดินทางไปรับยาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ประกอบบุคลากรที่มีความรู้หรือได้รับการอบรมเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองมีเพียง ๑๘๔ แห่ง (ร้อยละ ๓๔.๓)  ทำให้บุคลากรจำนวนไม่น้อยเกิดความกลัวที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาดังกล่าว เพราะเป็นยาเสพติด การบริหารจัดการจึงเป็นไปอย่างเข้มงวดและยากลำบาก การคลี่คลายอุปสรรคดังกล่าว จำเป็นต้องพัฒนาองค์ความรู้และฝึกอบรมบุคลากรให้เกิดความเข้าใจเรื่องการใช้ยาอย่างเหมาะสมและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ควบคู่ไปกับการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับความจำเป็น เพื่อให้โรงพยาบาลในชุมชนสามารถเข้าถึงยาได้อย่างสะดวกและมีราคาถูก แต่มีระบบควบคุมไม่ให้มีการนำยาไปใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์ด้วย

           

มองไปข้างหน้า

          นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา กล่าวว่า “การประกาศใช้นโยบายดังกล่าวเป็นเพียงก้าวแรก สิ่งสำคัญคือการทำให้นโยบายมีความยั่งยืน ไม่เบี่ยงเบนไปตามการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยกรมการแพทย์จะเป็นแกนหลักเชื่อมโยงกับภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สช. สปสช. มหาวิทยาลัยแพทย์ สมาคมบริบาลฯ องค์กรปกครองท้องถิ่น และภาคประชาชน เข้ามาเป็นคณะทำงานในด้านต่างๆ เช่น การเตรียมเครื่องมือการทำงานให้พร้อม การสร้างทีม จนงานมีรูปธรรมชัดเจน แล้วจึงจะกำหนดโครงสร้างและจำนวนคนทำงานที่เหมาะสมต่อไป พร้อมกับสร้างแรงจูงใจด้วยการสนับสนุนด้านวิชาการ บุคลากร และอื่นๆ โดยหลักการคือ ส่งเสริมให้คนที่สนใจได้ทำงานที่ตนเองชอบ เพราะจะทำให้งานมีประสิทธิภาพและคนทำงานมีความสุข”

          อธิบดีกรมการแพทย์ยืนยันว่า “ความสำเร็จของการส่งเสริมการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองอยู่ที่นโยบาย เพราะบุคลากรมีความพร้อมในการทำงานอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องทำให้นโยบายมีความยั่งยืน ชัดเจน มีผู้รับผิดชอบ มีงบประมาณสนับสนุน และที่สำคัญ ต้องทำให้คนทำงานมีความมั่นใจว่าจะมีที่ยืนในระบบและมีความก้าวหน้าในอนาคต โดยมีเป้าหมายสุดท้าย คือการทำให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพจัดระบบรองรับผู้ป่วยระยะท้ายจนครบวงจรนับแต่โรงพยาบาลไปจนถึงบ้าน ตลอดจนดูแลญาติพี่น้องหลังการสูญเสียอีกด้วย โดยการผลักดันให้การดูแลดังกล่าวเข้าไปเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพต่างๆ  ไม่ปล่อยให้เป็นภาระของโรงพยาบาล พร้อมๆ กับการสื่อสารสาธารณะเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจระบบการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองอย่างกว้างขวางต่อไป”

          

          นโยบายดังกล่าวได้สร้างความหวังที่จะทำให้การตายดีเป็นไปได้สำหรับคนทุกกลุ่มทุกฐานะ แต่ถึงแม้นโยบายจะดูสวยหรูอย่างไร แต่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องล้วนทราบดีว่า เส้นทางที่จะเดินไปข้างหน้าไม่ใช่เรื่องง่าย มีอุปสรรคและปัญหาที่จะต้องแก้ไขให้ลุล่วงอีกมาก แต่เป็นก้าวที่จำเป็นสำหรับการเดินหน้าไปให้ถึงปลายทาง คือการมีระบบสุขภาพที่ช่วยให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตอย่างดีที่สุดนับแต่เกิดจนตาย ไม่ใช่เรื่องของบุคลากรทางการแพทย์เพียงฝ่ายเดียว หากรวมถึงคนทุกกลุ่มในสังคมต้องเข้ามาช่วยกัน(เท่าที่จะทำได้) เพื่อขับเคลื่อนให้เป็นจริง 

          แม้นโยบายระดับชาติจะก้าวใหญ่ แต่ยังมีอีกหลายก้าวกว่าที่จะทำให้การสร้างระบบการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองที่มีคุณภาพในสังคมไทยเป็นไปได้อย่างแท้จริง 

 

          งานด้านการศึกษาเป็นรากฐานสำคัญประการหนึ่งของระบบการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง และเป็นภารกิจหลักของสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สสส. จนสามารถสร้างหลักสูตรฝึกอบรมได้ถึง ๗ หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรฝึกอบรมแพทย์ ๒ วัน และ ๘ อาทิตย์ อบรมเภสัชกร ๒ วัน อบรมพยาบาล ๓ วัน และ ๔ เดือน หลักสูตรฝึกอบรมผู้ฝึกสอนการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง หลักสูตรสำหรับผู้ดูแลและจิตอาสา พร้อมกับพยายามผลักดันให้เกิดศูนย์ฝึกอบรมในคณะแพทยศาสตร์ทั่ว ๔ ภูมิภาค เริ่มจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นกับโรงพยาบาลรามาธิบดี ที่มีความพร้อมเรื่องการเป็นแหล่งดูงาน มีระบบบริการอย่างเป็นรูปธรรม ก่อนจะขยายไปยังมหาวิทยาลัยแห่งอื่นๆ ต่อไป

          นอกจากนี้ สมาคมบริบาลฯ กำลังจะนำเข้าหลักสูตร EPEC “Education for Physicians on End-of-Life Care” มีเพาเวอร์พอยต์ กรณีศึกษา ในแต่ละเรื่องๆ เช่น การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองคืออะไร การบอกข่าวร้าย การสื่อสาร การดูแลอาการปวด การดูแลก่อนตาย การดูแลจิตสังคม จิตวิญญาณ โดยเชิญวิทยากรจากต่างประเทศมาบรรยายให้กับอาจารย์มหาวิทยาลัยแพทย์เข้าร่วมเรียนรู้อีกด้วย 

 

 

คอลัมน์:

ผู้เขียน: