Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

สูญเสีย ไม่สูญเปล่า

-A +A

         ม.ล.สุภาสินี จรูญโรจน์ คุณครูการศึกษาพิเศษ มูลนิธิสถาบันแสงสว่าง เคยผ่านประสบการณ์การสูญเสียคุณพ่ออย่างกะทันหัน และเสียน้องสาวจากโรคมะเร็งในสมองทั้งๆ ที่ก่อนหน้าจะป่วยน้องสาวเธอเป็นคนแข็งแรงและดูแลตัวเองเป็นอย่างดี ความสูญเสียทั้งสองครั้งแม้ยากจะทำใจ แต่เธอก็ยอมรับและเห็นสัจธรรมของชีวิตว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนไม่แน่นอน การสูญเสียจึงไม่สูญเปล่า แต่ได้ช่วยให้เธอวางแผนรับมือกับอนาคตได้เป็นอย่างดี

         “ตอนคุณพ่อเสีย แกนอนดูทีวีอยู่ดีๆ แล้วก็หลับไปเลย เราก็ทำไมปลุกไม่ตื่น พาไปโรงพยาบาลหมอบอกว่าไปแล้ว คาดว่าพ่อน่าจะหลับไปอย่างมีความสุข เพราะว่าก่อนหน้าที่เขาจะเสีย เขาก็เปรยๆ กับแม่นะว่า ลูก ๔ คนเขาไม่ห่วงอะไรแล้ว ถึงแม้ตอนนี้ใครจะอยู่ค้างเติ่งเป็นโสด เขาก็บอกว่าไม่ได้ห่วงอะไร เพราะรู้ว่าลูกเอาตัวรอดทุกคน แล้วก่อนหน้าที่เขาจะเสีย เขาก็ยังไปซื้อของหน้าปากซอย ตอนเย็นยังนั่งกินขนมกับพี่อยู่เลย ตอนนั้นก็ตกใจเพราะพ่อเป็นคนแข็งแรง ไม่เคยไปหาหมอ ไม่เคยเข้าโรงพยาบาล คือว่าอยู่ดีๆ หลับไปเลย

         “จากที่พ่อเสีย ทำให้เห็นว่าไม่มีอะไรแน่นอนเลยจริงๆ ชีวิตนี้จะเกิดอะไรก็ได้ จนมาถึงน้องสาวซึ่งเขาเข้าโรงพยาบาลและผ่าตัดใหญ่หลายรอบ ทั้งๆ ที่เป็นคนแข็งแรง จนกระทั่งเขามาป่วย พี่ก็ประหลาดใจมาก งงว่าคนแข็งแรงอย่างเขาทำไมเป็นเนื้องอกในสมอง อาการร้ายแรงได้ เพราะเขาไม่ได้ใช้ชีวิตเสี่ยงกับการที่จะเป็นมะเร็งเลย ถามโดยลึกๆ พี่ก็ยังทำใจไม่ได้นะเรื่องน้อง เพราะว่าอายุเขายังน้อย และแข็งแรง แต่มีอะไรบางอย่างมากำหนดให้เขาเป็นอย่างนี้ แล้วเราก็มีเวลาดูแลเขา ใกล้ชิดเขามากขึ้น มีอยู่วันหนึ่งเขาส่ายหน้า ถอนหายใจ แล้วก็บอกว่าเขาไม่ชอบเลยที่เป็นอย่างนี้ เราก็บอกเขาว่า พี่ก็ไม่ชอบนะ แต่ว่ามันเป็นแล้วเราก็ต้องอยู่กับมันให้ได้ ทั้งแม่และพี่น้องทุกคนเอาใจช่วย 

         “ระยะหลังหมอพยากรณ์โรคนี้ บอกว่าถ้าก้อนเนื้อมันกระจายออกไป อาการเขาจะหลับนาน หลับลึกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งหลับไปเลย ระยะท้ายๆ เขาก็นอนทั้งวันจนเราโทรหาหมอ เพราะทั้งข้าวทั้งยากินไปก็ออกมาหมด คงใกล้เวลาเขาแล้ว ก็โทรปรึกษาหมอตลอด ทั้งครอบครัวทั้งหมอก็เห็นร่วมกันว่า ไม่ควรหอบเขาไปโรงพยาบาล ไปใส่นู่นใส่นี่ ให้เขานอนอยู่บ้านสบายๆ แล้วเราก็ดูแลเขาไป คือหมอพูดอย่างนี้ เราก็รู้แล้ว มันดีตรงที่ว่าเราได้เห็นเวทนาของทั้งคนที่ยังหนุ่มสาวอย่างน้อง เพราะว่าปุบปับเป็น เห็นแม้กระทั่งเวทนาของแม่ซึ่งอายุ ๘๐ กว่า เขาโศกเศร้าเสียใจมากกับการจากไปของน้อง เสียใจมากกว่าตอนพ่อเสียอีก

         “เวลาที่เห็นเวทนาอย่างนี้ สะท้อนกลับมาว่าสักวันหนึ่งฉันก็คงจะเป็นอย่างนี้ แล้วตัวฉันเองจะรับมือกับมันอย่างไรในอนาคต เลยได้คิดว่าถ้าเกิดอย่างนั้นขึ้นมาตัวเอง จะทำใจได้ไหม หรือถ้าไม่มีโรคภัยไข้เจ็บอะไรแล้วเกิดอายุยืนขึ้นมา ๘๐ กว่า แล้วร่างกายเสื่อมโทรมไปตามสภาพ ฉันรับมือตรงนี้ได้ไหม คือเริ่มคิดถึงอนาคตที่จะต้องรับมือว่าจะต้องทำยังไง ก็มีการวางแผนดูแลสุขภาพตัวเองพอสมควร แต่ก็ไม่ใช่จะเคร่งอะไรมากมาย เอาเท่าที่ทำได้ 

         “แต่ก็กลับมานึกย้อนนะว่าวันหนึ่งเราต้องตาย คนรอบๆ ข้างที่เสียชีวิตโดยอุบัติเหตุมีเยอะแยะ เพื่อนโรงเรียนเก่าไม่เจอกัน ๓๐ ปี แล้วมาเจอกันในเฟซบุ๊ก ก็ทักกันว่าจะนัดเจอกันกินข้าว อ้าว เขาไปขับรถชนเสาไฟฟ้าตาย หรือเพื่อนบางคนปีนหลังคาขึ้นไปซ่อมหน้าต่าง แล้วร่วงตกลงมา แล้วก็ตาย หรือคนรอบข้างเริ่มไม่สบาย เพื่อนบางคนเปลี่ยนไตมาสองรอบแล้ว ก็ทำให้ต้องมานึกถึงตัวเราว่า ถ้าเราต้องมาเผชิญแบบนี้เราจะทำยังไง อย่างใกล้ชิดที่สุดก็คือน้อง เพราะว่าเราเห็นอาการเขาตั้งแต่เริ่มแรก เขาเข้าผ่าตัดฟื้นขึ้นมาเขาเป็นยังไง กราฟมันจะขึ้นๆ ลงๆ อย่างนี้ตลอด ๑๑ เดือน ช่วงผ่าตัดฟื้นฟูใหม่ๆ เขาจะดีมาก ต่อมาการพูดการจาการเดินเหินร่างกายเขาจะดาวน์ลง ก็เข้าโรงพยาบาลแล้วหมอก็ให้ยามา แต่ตอนหลังยาก็เอาไม่อยู่เพราะว่าอาการของโรคมันดำเนินไปเร็วมาก หมอเขาก็พยายามจะบอกตลอดว่าจะเกิดอะไรขึ้น

         “จากที่เราดูแลเขาโดยตลอด ทำให้ได้คิดว่า เราไม่ควรจะละเลยคนที่อยู่กับเราใกล้ๆ คนในครอบครัวทุกคนเลย ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่พี่น้อง สามีภรรยา ลูก บางทีการที่อยู่ด้วยกันทุกวันมันชิน แล้วก็ไม่ได้เอาใจใส่ เหมือนกับว่าเธอก็เป็นพร็อบอยู่ในบ้าน คือก็นั่งอยู่ตรงนั้น แต่ไม่ได้เข้าไปถามไถ่ความรู้สึกหรืออะไร จริงๆ เราควรมีปฏิสัมพันธ์กันให้มาก 

         “อีกอย่างก็ควรตระหนักไว้ทุกลมหายใจว่า ความทุกข์คือความจริงอันประเสริฐ คือทุกข์มามันก็เป็นแล้ว จะอยู่กับมันยังไง อยู่กับเหตุการณ์ตึงเครียดเฉพาะหน้าที่เราเรียกว่าก้อนทุกข์ ผ่อนคลายกับมันได้ไหม ทุกข์มาก็อย่าไปตีโพยตีพาย พยายามนิ่งแล้วก็อยู่กับมันให้ได้ แล้วก็พยายามแก้ปัญหา มันมีวิธีทางออกอะไรบ้าง ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ คือพยายามมีสติ ตระหนักกับปัจจุบัน ตอนนี้กำลังทำอะไร ตอนนี้ทำงาน การตั้งใจทำงานก็คือการทำบุญอย่างหนึ่ง บางทีเราก็ไม่ต้องไปขวนขวายปฏิบัติธรรมอะไรบ่อยๆ คือเราตั้งใจทำงานดีๆ รู้จักแบ่งปัน ทำงานเพื่อส่วนรวมนี่ก็คือบุญแล้ว 

         “จริงๆ แล้วอยู่กับเด็กพิเศษก็เห็นเวทนาทุกวัน เห็นอาการของเขา เห็นความทุกข์ของพ่อแม่ เห็นความทุกข์ของครูที่เครียด พยายามช่วยแต่ได้ผลไม่เต็มที่ เห็นตรงนี้แล้วก็ทำให้เราปลง ใช้คำว่าปลงนี่ใช่เลย เราก็ดูด้วยความเห็นอกเห็นใจแต่ไม่ไปอินกับเขา ไม่เอาทุกข์มาแบก ในขณะเดียวกันเราก็ต้องให้กำลังใจ ปลอบใจ ยังเคยบอกคุณแม่ว่าการที่ลูกเกิดมาเป็นแบบนี้ เขาเกิดมาเพื่อให้เราทำกุศลนะ เป็นบททดสอบจากพระเจ้า เป็นบททดสอบจากอัลเลาะห์ ก็แล้วแต่ว่าผู้ปกครองจะนับถือศาสนาอะไร พระเจ้าประทานให้มาอย่างนี้ เป็นบททดสอบความอดทน เป็นการทำกุศล

         “หลังจากสูญเสียน้อง สิ่งที่ได้ก็คือว่ามันไม่มีอะไรแน่นอนในชีวิต ปุบปับไปได้ทุกเมื่อ จะว่าไปความตายก็มีประโยชน์ มันสอนให้มีสติ กลับมาอยู่กับปัจจุบันได้ดีขึ้น เพราะเราไม่รู้อนาคตว่าต่อไปจะเป็นยังไง วินาทีนี้ นาทีนี้ วันนี้ อาทิตย์นี้ เดือนนี้จะเป็นยังไง ถ้าเรามีสติเราก็จะสามารถรับมือได้ทุกสถานการณ์ ตอนนี้ก็เลยพยายามกลับมาถามตัวเองว่าเราเป็นใคร ทำอะไรอยู่ ทำไปทำไม ทำเพื่ออะไร แล้วก็ทำตรงนั้นให้ดีที่สุด”.

 

คอลัมน์:

ผู้เขียน:

คำสำคัญ: