Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

วันที่กายติดเตียง

-A +A

          ชัยพร นำประทีป หรือที่แฟนเพลงจำนวนหนึ่งรู้จักดีในนามของ เอี้ยว ณ ปานนั้น เป็นนักดนตรีเปิดหมวกผู้มีชื่อเสียงคนแรกๆ ของประเทศไทย เมื่อ ๓ ปีก่อน เขาเกิดอุบัติเหตุจากการตกบันได ทำให้ได้รับบาดเจ็บหนักที่สุดในชีวิต ต้องเข้าพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล กลายเป็นคนที่ช่วยเหลือตัวเองแทบไม่ได้อยู่นานนับเดือน ต้องเผชิญความเคี่ยวกรำทางกายและใจ แต่เป็นเพราะมีต้นทุนจากการฝึกสติมาอย่างต่อเนื่อง จึงก้าวผ่านเหตุการณ์ดังกล่าวพร้อมกับได้เรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติของกายใจตนเองดียิ่งขึ้น นำมาสู่การใช้ชีวิตอย่างมีความหมายอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

          เขาได้บันทึกประสบการณ์ดังกล่าวไว้เป็นบทเรียนเรื่อง “จิตดูใจ วันที่กายติดเตียง” สำหรับเตือนตัวเอง อาทิตย์อัสดงเห็นว่าเป็นประโยชน์เกินกว่าจะเก็บเอาไว้อ่านเพียงไม่กี่คน จึงขออนุญาตนำเพียงบางส่วนมาเรียบเรียงเพื่อเผยแพร่ต่อไป

          เขาเล่าถึงเหตุการณ์ในคราวนั้นว่า เป็นอุบัติเหตุที่เกิดจากความประมาทโดยแท้ เพราะมั่นใจเกินไปในขณะกำลังปีนบันไดขึ้นไปผูกเชือกเพื่อกันนกพิราบ จนตกลงมาจากขั้นบนสุด ทำให้ข้อศอกหลุด กระดูกเชิงกรานหักหลายจุด ต้องไปรักษาตัวในโรงพยาบาล เข้าเฝือกที่แขนขวา และยังต้องมีเหล็กหนักหลายกิโลกรัมถ่วงที่ขาอีก

          วินาทีที่ “เห็นลำแขนข้างขวาของตัวเอง หลุดทะลุออกมาจากที่ที่มันควรจะอยู่ แขนผมบิดเบี้ยวผิดรูป ... เป็นเวลาที่ชีวิตจิตใจของผม จมอยู่กับความเจ็บปวด ปวดครับ ปวดรุนแรง” แต่ไม่นาน “ก็มีความคิดหนึ่งแล่นเข้ามา คล้ายเป็นความคิดที่ตระเตรียมไว้ล่วงหน้า...เนิ่นนาน “ต้องกำหนดลมหายใจ” คือเสียงจากความคิดที่ผมได้ยิน ผมพยายามกำหนดลมหายใจ เพื่อระงับคลายความเจ็บปวด” 

          แต่ถึงแม้ว่าจะมีสติระลึกรู้ได้อย่างทันทีทันควัน แต่การฝึกฝนที่ยังไม่เข้มแข็งพอจึงทำให้ไม่สามารถระงับความปวดได้หมด ต้องระดมความคิดหาวิธีอื่นๆ มาช่วยสลับกันไป แต่อย่างน้อยเขาบอกว่าก็ช่วยได้ไม่น้อยเลย 

          อย่างไรก็ตาม ผลจากอุบัติเหตุดังกล่าว แม้เจ้าตัวจะมองในแง่ดีว่า “ผมยังพอมีบุญอยู่บ้าง ที่หัว-สมอง ไม่ได้รับความกระทบกระเทือน” และพยายามทำตามคำของครูบาอาจารย์ว่า “ทำทุกเรื่องให้เป็นเรื่องดี ทุกเรื่องที่เกิดขึ้นล้วนเป็นเรื่องดี ดูมัน พิจารณามัน เอาประโยชน์จากมัน” 

          แต่ชีวิตผู้ป่วยที่แทบจะช่วยตัวเองไม่ได้เลย นับว่าหนักหนาสาหัสไม่น้อย เพราะสิ่งที่เคยทำได้ง่ายๆ กลายเป็นเรื่องยากลำบากไปหมด เขาต้องฝึกกินข้าว แปรงฟัน ด้วยมือซ้ายข้างไม่ถนัด ต้องทำทุกอย่างบนเตียง ต้องมีคนช่วย ไม่เว้นเรื่องการขับถ่าย

          “เป็นเรื่องไม่ปกติช่วงหนึ่งของชีวิต ที่ต้องทำให้เป็นเรื่องปกติ เป็นช่วงเวลาที่ร่างกายไม่ปกติ แต่ต้องมองมันและปฏิบัติกับมันราวกับเป็นเรื่องปกติ เรื่องปกติที่ไม่สร้างทุกข์ทางใจ แต่ให้ประสบการณ์ตรง...สู่ใจ” 

          เป็นช่วงเขาที่ต้องอาศัยการเจริญสติตามแนวทางของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ตามที่ฝึกฝน(ผ่านหนังสือ)ด้วยตัวเอง คือตามรู้ความทุกข์(ความปวด)ทางกายไปเรื่อยๆ 

          “เพราะมันมากมันชัด” 

          หลังจากต้องนอนโรงพยาบาลอยู่นาน ๑๓ วัน เขาและคู่ชีวิตจึงตัดสินใจกลับไปรักษาตัวที่บ้าน เพราะข้อจำกัดเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะที่บ้านไม่มีบุคลากรทางการแพทย์คอยช่วยดูแลให้ “ไม่มีหมอมาตรวจเยี่ยม ไม่มีผู้ช่วยพยาบาลมาวัดไข้-วัดความดัน ไม่มีพยาบาลเอายามาให้ทาน ก่อน-หลังอาหาร กิจวัตรประจำวันอย่าง เช็ดตัว เปลี่ยนเสื้อผ้า เตรียมน้ำกับแปรงสีฟันพร้อมยา เตรียมอาหาร รวมถึงงานซัก-ล้าง เสื้อผ้า ถ้วยชามที่ผมกิน-ใส่ และแน่นอนรวมทั้งเรื่องที่ไม่เป็นเวล่ำเวลาอย่างเทและทำความสะอาดภาชนะรองรับการขับถ่ายหนัก-เบาของผม ทั้งหมดนี้ ตกเป็นภาระของคนสองคน คือ คุณแม่กับเพื่อนชีวิตของผม ทั้งสองคนจะสลับกันมาดูแลผม หรือบางวันก็อยู่ช่วยกัน”

          เขารู้ดีว่าการดูแลผู้ป่วยติดเตียงอย่างเขา เป็นเรื่องที่หนักและเหนื่อย แม้ว่าผู้ดูแลจะเต็มใจทำด้วยความรัก ความเมตตาที่มีต่อเขา แต่ยังเป็นภาระอย่างยิ่ง จึงทำให้เขาเริ่มคิดถึงการพึ่งพาตัวเองทางกายภาพให้มากขึ้น 

          เขาตระหนักดีว่าเมื่อต้องกลับมารักษาตัวที่บ้าน อุปกรณ์ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกต่างๆ ย่อมมีน้อยกว่าตอนอยู่ในโรงพยาบาล ไม่ว่าจะทำอะไรจึงต้องมีสติมากกว่าเดิม เพราะในวันนัดผ่าเฝือกที่แขนออก คุณหมอกำชับเรื่องการทำกายภาพ พร้อมกับบอกว่า “ปวดนะพี่ มันต้องปวด งานนี้ใจล้วนๆ” 

          เขาไม่ต้องรอนานเพื่อจะพบกับความจริงว่า การฟื้นฟูสภาพร่างกายตนเองเป็นเส้นทางที่ยาวไกล เพราะเพียงแค่กลับมาบ้านแล้วทดลองเดินจากหน้าบ้านไปที่เตียงนอนในระยะทางสั้นๆ ก็ทำให้เขาเหน็ดเหนื่อยสาหัส 

          เขาเล่าว่า “ประตูรถเปิดออก ผมลอดช่องว่างที่ประตูเคยปิดมิดออกมา ผมพยายามยืนทรงตัว และเริ่มวางแผนว่า จะกระต่ายขาเดียวเข้าบ้านยังไง ผมยืนวางแผนยังไม่ทันอะไรเลย ก็รู้สึกมึนหัว ... แต่ก็เริ่มกระโดดเคลื่อนตัวไปข้างหน้า โดยใช้แขนซ้ายเกาะที่ตัวรถ และแขนขวาจับที่ไหล่เพื่อนชีวิต ผมเกาะๆ จับๆ ไปจนถึงประตูบานเลื่อน ที่มีปูนก่อขึ้นมาจากพื้น ผมยืนจับประตูทั้ง ๒ บาน ด้วย ๒ แขน แล้วก็ดันบานประตูที่อยู่ติดกันอีกบานด้านใน ให้เปิดออก

          ผมยืนคิดอยู่ตรงประตู และประเมินว่า ขาผมคงไม่มีกำลังพอที่จะกระต่ายขาเดียวข้ามไปได้ ผมจึงใช้วิธีค่อยๆ เขยิบขาข้างซ้ายทีละนิดๆ ข้ามเส้นปูนที่ก่อพาดพื้นตรงประตูไปอย่างช้าๆ โดยใช้ประตูบานเลื่อนเป็นหลักยึด พอข้ามมาได้ ผมก็เปลี่ยนมายืนจับประตูที่อยู่ด้านใน มองไปที่เตียง ซึ่งอยู่ห่างจากจุดที่ผมยืนอยู่ แค่เมตรกว่าๆ

          ก่อนถึงเตียงประมาณครึ่งเมตร เป็นพื้นยกระดับสูงประมาณ ๓ นิ้ว จากตรงนี้ไม่มีอะไรให้ยึดเกาะแล้ว นอกจากเพื่อนชีวิตของผม แต่ผมเลือกที่จะไปด้วยตัวเอง ไม่ใช่อยากทำเก่งหรอกครับ แต่คิดว่าน่าจะไหว น่าจะไปถึงเตียงได้ แล้วกระต่ายขาเดียวก็ถลาไปจับขอบเตียง โดยหยุดขาอยู่ตรงพื้นที่เล่นระดับ จากนั้นก็ค่อยๆ ดึงตัวขึ้นเตียง” 

          เขาบอกว่า “เหนื่อยเหมือนจะเป็นลม ไม่น่าเชื่อว่าจะลำบากอะไรปานนั้น”

          แม้จะต้องเผชิญกับความติดขัดลำบากเกินกว่าความคาดคิด แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความยากลำบากดังกล่าว ทำให้เขาได้ตระหนักถึงความมหัศจรรย์และคุณค่าของร่างกายที่เคยละเลยในยามปกติว่า

          “การที่ร่างกายของเราสามารถ กิน เดิน นั่ง นอน หยิบจับ ขับถ่าย หันซ้ายหันขวา ทำนั่นทำนี่ ได้สารพัด ได้อย่างราบรื่น ไม่ติดขัด และไร้ปัญหานั้น นับเป็นความมหัศจรรย์ จากการทำงานของอวัยวะน้อยใหญ่ และเซลเล็กเซลน้อย ที่ต่างทำหน้าที่ของมันได้อย่างสอดคล้อง กลมกลืน ให้กับร่างกายนี้อย่างมีประสิทธิภาพ เหล่านี้ช่างเป็นสิ่งวิเศษ แสนล้ำค่า ที่เราควรเคารพ รักษา ราวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ด้วยความใส่ใจ ไม่ยึดติด”

          เขาจึงใส่ใจหมั่นทำกายภาพตลอดวันเพื่อดูแลร่างกายให้กลับคืนมาเป็นปกติ โดยเริ่มจากการทำกายภาพแขน “เอาช้อนเข้าปาก กินข้าวเองให้ได้” แล้วไล่มาเป็นแปรงฟัน ล้างหน้า จับหู-จับต้นคอ แตะไหล่ ด้วยมือข้างขวาให้ได้ โดยไม่ติดขัด ตึงปวด ซึ่งเขาบันทึกอย่างขบขันในเวลาต่อมาว่า “ฮะ ฮ่า เป้าหมายชีวิตของผม ทำไมมันช่างเรียบง่าย มักน้อย”

          เขาบันทึก ความคิด ความรู้สึกดังกล่าว (ในเชิงเปรียบเทียบ) ไว้ว่า… 

          “ก็ดวงตาสามารถมองเห็นมาตั้งแต่แรกเริ่ม และสัมผัสรู้กับการได้มองเห็น มาตั้งแต่วันที่สามารถมองเห็นได้ ดวงตาจึงไม่เคยสนใจ ใส่ใจ ว่ามันดีมากแค่ไหนและวิเศษมากแค่ไหน ที่สามารถมองเห็นได้ และการได้มองเห็น มันทำให้ชีวิตได้สัมผัสสีสันความรู้สึกมากมายขนาดไหน ยามเช้า คำทักทายของดวงตะวันที่มีต่อดวงตา แม้ดวงตาจะไม่เคยตื่นขึ้นมา รับคำทักทายจากดวงตะวัน แต่ดวงตะวัน ก็ยังมอบของขวัญ กำนัลแด่ดวงตาทุกวัน ก็สรรพสิ่งรอบตัวที่ดวงตามองเห็นนั่นแหละ คือของขวัญที่ดวงตะวันมอบให้ดวงตา ดวงตาไม่เคยยินดี มีความสุข หรือดีใจ กับของขวัญที่ได้รับจากดวงตะวัน ก็แค่การมองเห็นได้ ก็แค่การได้มองเห็น มันช่างเป็นเรื่องปกติ สามัญธรรมดา ธรรมดาจนไม่คิดว่า จะต้องไปให้คุณค่าความหมายอะไร เมื่อดวงตาไม่ให้คุณค่ากับความสามารถในการมองเห็นได้ การได้มองเห็น จึงคล้ายไร้ค่าความหมาย จึงไม่แปลกที่ดวงตาจะไม่รู้สึกอะไร เวลาที่ใช้สายตามองโลกด้วยความเกลียดชัง เอารัดเอาเปรียบ แก่งแย่งแข่งขัน แต่!!ดวงตะวันทอแสงยาวนาน

          ดวงตาเล่า? วันหนึ่ง ดวงตาพบว่า การที่ดวงตาสามารถมองเห็นได้ ช่างเป็นสิ่งที่น่ายินดี อันแสนวิเศษ เป็นความสุขอันแสนเรียบง่ายธรรมดา การได้มองเห็นจึงเป็นสิ่งที่ควรแล้ว ที่จะต้องรู้จักให้ค่าความหมาย ดอกไม้ ทุ่งหญ้า สายน้ำ ช่างงดงาม ผู้คน สรรพสิ่งรอบข้าง ช่างเป็นปรากฏการณ์ที่น่ารับรู้ เรียนรู้

          ดวงตาจึงปรารถนาจะใช้เวลาที่เหลือ มองโลกด้วยสายตา แห่งรัก เมตตา เอื้ออารีและแบ่งปัน ปรารถนาที่จะตื่นขึ้นมา รับคำทักทายกับแสงแรกของดวงตะวัน และยินดีที่จะรับของขวัญ ที่ดวงตะวันมอบให้ในทุกยามเช้า ดวงตาตั้งใจจะทำอย่างนั้นทุกวัน ทุกวัน เพียงแต่...วันที่ดวงตาคิดและระลึกได้เช่นนี้ เป็นวันที่ดวงตาไม่อาจลืมตา เพียงแค่จะลืมตา ก็ยังมิใช่เรื่องที่ทำได้โดยง่าย ใยต้องรอให้ถึงวันนี้ ...ดวงตาเฝ้าหวังว่าจะสามารถกลับมา มองเห็นได้ มองเห็นได้ เพื่อรับรู้-เรียนรู้ สิ่งที่ได้มองเห็น”

          แม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะไปผ่านหลายปีแล้ว แต่เมื่อย้อนกลับมาทบทวนเหตุการณ์ในครั้งนั้น เขารู้สึกว่าตัวเองโชคดีมากเพราะสมองและกระดูกสันหลังไม่เป็นอะไร แม้จะทำให้เขาต้องนอนติดเตียงเกือบ ๒ เดือน ต้องฝึกฝืนตัวเองทำกายภาพแขน-ขา อย่างมีวินัยและเคร่งครัด แต่อุบัติเหตุดังกล่าว ได้ทำให้เขาเรียนรู้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความสำคัญของสติ เข้าใจธรรมชาติของกายใจตนเอง และยังได้ใกล้ชิดกับแม่ซึ่งช่วยดูแลเขาเมื่อต้องรักษาตัวที่บ้านมาตลอดกว่า ๑ เดือน “แม่ไม่ใช่แค่ดูแลผมอย่างประณีตเท่านั้น เรายังได้คุยกันในเรื่องที่ไม่เคยคุย แม่ได้เล่าเรื่องที่แม่ไม่เคยเล่าและผมไม่เคยรู้ ผมได้ถามถึงญาติคนนั้นคนนี้ ถามถึงเพื่อนของแม่ที่ผมรู้จัก ถามถึงคนเก่าๆ ถามถึงความเป็นไป” 

          ที่สำคัญคือ ทำให้เขา “รู้ซึ้งกับใจ” จริงๆ ว่า ร่างกายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ และบอกกับตัวเองนับแต่นั้นมาว่า "ผมจะไม่เอาของไม่ดีใส่เข้าไปในร่างกาย ผมจะดูแลจิตที่สถิตย์อยู่ในร่างกายนี้ ไม่ให้ไปคิดชั่ว จะไม่ใช้ปากนี้ไปพล่ามพูดอะไรพล่อยๆ ไม่ใช้แขน ขา ร่างกายนี้ไปทำอะไรเลว และจะใช้ชีวิตที่เหลือนี้ยังประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ ตามโอกาสต่อตนเองและผู้อื่น เพราะร่างกายนี้เป็นสิ่งมหัศจรรย์ และมีค่าเกินกว่าจะใช้ไปอย่างไม่เห็นค่าโดยไม่ถนอมรักษา"

 

คอลัมน์: