Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

ห้าสิบ/ห้าสิบ ไม่รอดก็ตาย แต่มันมีอะไรมากกว่านั้น

-A +A

           “เราเปลี่ยนพ่อแม่ไม่ได้ แต่เราเปลี่ยนวิธีรับมือกับพวกท่านได้”

           ฉากหนึ่งที่เรียบง่ายของภาพยนตร์เรื่อง 50/50 คือ แคธี นักจิตวิทยาให้ข้อสังเกตกับอดัม ผู้ป่วยมะเร็งชนิดเฉียบพลัน ที่ปรับทุกข์ถึงพฤติกรรมของแม่ซึ่งมักเข้ามาวุ่นวายกับชีวิตการงานจนน่ารำคาญ สิ่งที่เขาทำมาตลอดคือ การวางตัวห่างเหิน ติดต่อกับแม่ให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น ไม่ใช่ว่าอดัมจะไม่รักพ่อแม่ แต่ความอึดอัดรำคาญมีมากกว่า คำวิจารณ์บ่นว่าของอดัมต่อพฤติกรรมเจ้ากี้เจ้าการของแม่ ทำให้เขามองไม่เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับพ่อแม่ของตน แม่ของอดัมต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่คนรอบข้างล้มป่วย พ่อของอดัมป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ ขณะที่อดัมลูกชายก็ป่วยด้วยมะเร็งชนิดร้ายแรง โอกาสหายและตาย คือ ห้าสิบ/ห้าสิบ

           ความคุ้นชินมักทำให้เรามองข้ามข้อเท็จจริงหรือเหตุการณ์บางอย่างไป เราจึงติดจมกับมุมมองเดิมๆ ว่า สิ่งต่างๆ น่าจะ ควรจะ หรือต้องเป็นไปอย่างที่เราคิดหรือเชื่อ แต่โรคภัยไข้เจ็บและความตาย เหมือนเป็นสิ่งไร้เหตุผล หรือหาที่มาที่ไปไม่เจอ จะมาเมื่อไร กับใคร หรืออย่างไรก็ได้ ไม่มีการต่อรอง ไม่มีข้อยกเว้น

           อดัมเป็นชายหนุ่มอายุไม่ถึงสามสิบปี กำลังอยู่ในช่วงวัยที่เต็มไปด้วยโอกาส พลังชีวิต และการงาน เขาดำเนินชีวิตอย่างมีระเบียบวินัย หมั่นออกกำลังกาย รักษาสุขภาพ แต่แล้วกลับมาพบว่าตัวเองป่วยด้วยโรคมะเร็งชนิดเฉียบพลันร้ายแรง ชื่อเรียกแสนยาก โอกาสหายหรือตายเท่ากัน เขาจะทำอย่างไรดี ในขณะที่การบอกข่าวร้ายของหมอก็เต็มไปด้วยท่าทีของคนที่มองเห็นแต่โรค โดยไม่เห็นว่าข้อมูลดังกล่าวสร้างผลกระทบอย่างไรกับคนไข้ ความช่วยเหลือและทางออกของหมอคือ การเสนอให้อดัมไปพบผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางคือ นักจิตบำบัด ซึ่งสะท้อนวิธีการมองและรับมือกับสถานการณ์แบบแบ่งแยก จัดสรรไปตามระบบผู้เชี่ยวชาญ 

           ระบบ คือ ชุดความสัมพันธ์ขององค์ประกอบและตัวแปรต่างๆ ที่มาอยู่ ทำหน้าที่ และประสานร่วมกัน เมื่อตัวแปรหนึ่งวิกฤตหรือมีสิ่งแปลกปลอม เพื่อให้ดำเนินการได้ต่อไป ระบบจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ภาพยนตร์ทำให้เราเห็นความพยายามปรับตัวเพื่ออยู่รอดของแต่ละตัวละคร เมื่อต้องเผชิญกับสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในชีวิต นั่นคือมะเร็ง เช่น วิธีรับมือของเพื่อนสนิทอดัมคือ การพยายามหลบหนีด้วยการหาความสุขใส่ตัว ใช้มะเร็งเป็นจุดขายเพื่อสร้างหรือเรียกคะแนนสงสารจากหญิงสาวที่พบเห็นในบาร์เพื่อนำไปสู่กิจกรรมทางเพศ ส่วนอดัมเลือกรับมือแบบจำยอมคือ ทำตามใจเพื่อน ทำตามคำแนะนำของหมอทั้งที่ตนเองยังไม่เข้าใจนัก หรือท่าทีของแม่ที่พร้อมจะกราดเกรี้ยวกับทุกคน ยามที่เธอพบว่า สิ่งต่างๆ ไม่ได้อำนวยความสะดวกหรือช่วยเหลือลูกชายของเธออย่างที่ควรจะเป็น ขณะที่แคธีพยายามรับมือด้วยการยึดกุมหลักวิชาความรู้ การใช้คำอธิบายเยียวยาอดัม โดยไม่แตะความรู้สึก ความต้องการของอดัม ซึ่งอาจเป็นเพราะความกลัว ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เรื่องราวในช่วงนี้ถูกนำเสนอในลักษณะขำขัน ซึ่งสะท้อนถึงยุทธศาสตร์ที่หลายคนชอบใช้คือ การแสวงหาท่าทีเชิงบวกต่อเรื่องราว แต่อาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิต นอกจากเพื่อหาความสุขใส่ตัว

           หลายคนพบว่า การป่วยเป็นมะเร็งช่างเลวร้าย แต่หลายคนก็พบว่าตนเองได้พบการเปลี่ยนแปลงชีวิตจากมะเร็ง เนื่องเพราะได้กลับมาทบทวน ค้นหาคุณค่าและความหมายของชีวิต มะเร็งทำให้อดัมค้นพบว่า ใครที่อยู่เคียงข้างเขาในยามลำบาก ราเชลแฟนสาว แท้จริงก็คบหาเขาเพื่อผลประโยชน์ เช่นเดียวกับหญิงสาวคนอื่นๆ ที่อดัมคบหา มักมีพฤติกรรมแบบ “ปลิงดูดเลือด” มุ่งเอาประโยชน์จากตัวเขาทั้งสิ้น ไม่เคยมอบความรักที่แท้จริง หรือมีน้ำใจกับเขาอย่างที่ควรเป็น ซึ่งสะท้อนว่า อดัมรู้สึกไม่มั่นใจในคุณค่าของตนเอง จึงมักเลือกหญิงสาวประเภทเอารัดเอาเปรียบเขามาเป็นแฟน เพื่อให้โอกาสตัวเองได้ทำคุณค่ากับคนอื่น แม้จะถูกเอาเปรียบและทรยศรักก็ตาม 

           มะเร็งทำให้อดัมได้พบนักจิตบำบัดแคธี เธอเป็นเหมือนมือใหม่หัดขับที่ต้องมารับมือกับผู้ป่วยมะเร็ง แม้จะมีความรู้ในสายงานดี รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับคนไข้ แต่เธอไม่รู้ว่าจะสื่อสารอย่างไรดี จะปลอบใจหรือช่วยเหลือคนไข้อย่างไรดี แม้แต่การแตะตัวคนไข้ก็ดูติดขัด ไม่เป็นธรรมชาติ จนกระทั่งเธอยอมรับและกล้าสื่อสารว่า เธอกลัวความรับผิดชอบเช่นนี้เหมือนกัน น่าสนใจว่าเมื่อเธอกล้ายอมรับความกลัว ความไม่มั่นใจของตนเอง เธอกลับทำหน้าที่นักจิตบำบัดได้อย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น และทำให้เธอกับอดัมสามารถสานต่อความสัมพันธ์ในอีกระดับ อดัมได้พบหญิงสาวที่จริงใจกับเขา ขณะที่แคธีก็ได้เรียนรู้เรื่องความรักอีกครั้ง


           
มะเร็งทำให้อดัมได้พบกับกลุ่มเพื่อนผู้ป่วยมะเร็งด้วยกัน พวกเขาล้วนสูงวัย ผ่านโลกมามาก กลุ่มเพื่อนเหล่านี้ทำให้อดัมได้เรียนรู้ว่า ชีวิตไม่ต้องเคร่งครัดนักก็ได้ ได้เรียนรู้ถึงการใช้ชีวิตนอกรูปแบบ เช่นความรัก ความเป็นเพื่อน รวมถึงการใช้กัญชา (กัญชาถือเป็นสารเสพติด แต่สามารถใช้ในทางการแพทย์และไม่ผิดกฎหมาย ภายใต้คำสั่งแพทย์) ที่น่าสนใจคือ ทำให้อดัมพบว่า แม้พวกเขาจะป่วยเป็นมะเร็ง แต่ก็ยังมีความสุขได้

           การเป็นมะเร็งจึงไม่ได้หมายถึงความทุกข์เสมอไป “ฉันป่วยเป็นมะเร็ง ฉันก็มีความสุขได้” อดัมค่อยๆ รู้ตัวมากขึ้นว่าการล้มป่วยของตนนั้น หมายถึงความตายที่ค่อยๆ มาเยือน สิ่งที่สร้างความคับข้องใจให้กับเขาคือ ตนเองยังไม่ได้ทำความฝัน ความปรารถนาอีกหลายอย่าง แต่ที่เลวร้ายคือ ท่าทีของเพื่อนและคนรอบข้างที่พยายามปลอบประโลม ให้กำลังใจ หลีกเลี่ยงที่จะบอกความจริงกับอดัมว่า เขาอาจตายได้ สำหรับอดัม การผ่านช่วงเวลามาถึงขั้นตอนการยอมรับ หมายถึงเขาพร้อมจะยอมรับและต้องการความจริงเพื่อสามารถเลือกทางชีวิตในช่วงต่อไปได้อย่างที่ปรารถนา 

           การเจ็บป่วยทำให้อดัมเข้าใจพ่อแม่ของตน โดยเฉพาะแม่ อดัมมองว่าแม่ประหลาด กังวลเกินเหตุ วุ่นวายกับชีวิตตนมาก เขามักบอกแม่เสมอว่า ดูแลตนเองได้ อดัมมักปฏิเสธการช่วยเหลือและการสื่อสารจากแม่ ฉากที่แม่วิจารณ์ตรงๆ ว่า สิ่งที่เขาทำแย่มาก สะท้อนถึงการเปิดใจต่อกัน แม้จะไม่ใช่ท่าทีของมืออาชีพ อดัมตระหนักรู้มากขึ้นว่า แม่ต้องแบกรับภาระมากมาย ต้องดูแลพ่อและมีลูกที่ล้มป่วย ไม่มีใครที่เธอจะปรับทุกข์ด้วยได้ ความเข้าใจใหม่นี้ช่วยให้อดัมมองแม่ในมุมใหม่ เห็นคุณค่าของการอุทิศตัวเพื่อครอบครัว แทนการมองว่าแม่วุ่นวายเกินไป เราแต่ละคนต่างล้วนมีปัญหา ความทุกข์ในจิตใจ ไม่ว่าจะเนื่องด้วยปัญหาสุขภาพกาย ใจ เศรษฐกิจ สังคม ลำพังความทุกข์หรือปัญหาที่เกิดขึ้น อาจไม่ทำร้ายเราเท่ากับปฏิกิริยาที่เรามีต่อสิ่งเหล่านั้น และบ่อยครั้งสาเหตุของความทุกข์ ความกังวล แท้จริงมาจากมุมมองวิธีคิดของเราเองโดยไม่รู้ตัว 

           เรื่องราวชีวิตของอดัมจะลงเอยอย่างไร มะเร็งทำให้ชีวิตของอดัมเปลี่ยนแปลงอย่างไรต่อไป ฉากจบมีบทสรุป แต่เรื่องราวแบบอดัมเกิดขึ้นได้กับทุกคน เพียงแต่ฉากจบอาจแตกต่างกันไป สิ่งที่ภาพยนตร์ให้กับผู้ชมคือ ชีวิตเหมือนภูเขาไฟคุกรุ่น เราไมรู้ว่าจะระเบิดเมื่อไร เหมือนกับที่เราไม่รู้ว่าความตายจะมาหาเราเมื่อไร อย่างไร เราปรับเปลี่ยนความจริงที่เกิดขึ้นกับชีวิตไม่ได้ แต่เราปรับเปลี่ยนมุมมองและท่าทีที่มีต่อความจริงได้ เรามีทางเลือกเสมอ ไม่จำเป็นต้องเดินทางตามเส้นทางเดิมๆ และชีวิตของพวกเราห้าสิบ/ห้าสิบอยู่ตลอดเวลา 

คอลัมน์: