Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

แผ่เมตตา-จินตนาการ แปรพลังสู่การเยียวยา (๒)

-A +A

อ่านตอนที่หนึ่ง >> แผ่เมตตา - จินตนาการ แปรพลังสู่การเยียวยา (๑)

 

          ฉบับที่แล้ว ผู้เขียนทิ้งท้ายไว้ว่าหากเราฝึกสติผ่านการทำสมาธิและแผ่เมตตาอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้สติเข้มแข็งและบ่มเพาะความเมตตาให้เกิดขึ้นในใจ รวมทั้งช่วยดึงพลังดีๆ ที่มีอยู่ในตัวเราให้ออกมา เยียวยาตัวเองในส่วนที่เจ็บป่วยได้ โดยการใช้จินตนาการ หรือที่เรียกว่า Visualization นั่นเอง 

          ดร.จอห์น แมคคอนแนล กล่าวว่า หลังจากนั่งสมาธิและแผ่เมตตาเสร็จแล้ว ให้นำพลังเมตตาที่เกิดขึ้นไปจดจ่อในจุดที่เจ็บปวดหรือเจ็บป่วยในร่างกาย และจินตนาการส่งพลังดีๆ ไปเยียวยาให้อวัยวะส่วนนั้นกลับมาทำงานเป็นปกติดีเหมือนเดิม ซึ่งวิธีที่จะช่วยให้เราจินตนาการได้ง่ายขึ้น ดร.จอห์นแนะนำให้ทำดังนี้ค่ะ

 

  • เริ่มจากปรับความคิดของตัวเองให้มีทัศนคติที่ดีต่ออวัยวะที่ทำงานไม่ปกติและสร้างภาวะเจ็บปวดหรือเจ็บป่วยให้เราว่า “เราจะช่วยให้เขาดีขึ้นได้”
  • คิดกระบวนการเยียวยาตัวเองของอวัยวะส่วนนั้น โดยนึกขั้นตอนให้ละเอียด เหมือนจริงที่สุด จะนึกเป็นภาพเชิงบวก เช่น ภาพกระดูกที่หักเชื่อมประสานติดกันเหมือนเดิม หรือภาพเชิงลบ เช่น ภาพฉลามไล่งับเซลล์มะเร็งก็ได้ แต่ควรเลือกให้สอดคล้องกับนิสัยหรือความเชื่อของเรา หรืออาจใช้สัญลักษณ์แทนก็ได้ จะนึกเป็นภาพอย่างเดียวหรือเป็นภาพและเสียงก็ได้ เช่น นึกว่าเรากำลังคุยกับเซลล์ เป็นต้น แต่สิ่งสำคัญคือกระบวนการนั้นจะต้องลื่นไหลและสอดคล้องกันอย่างเป็นธรรมชาติ
  • อย่าคิดอะไรซับซ้อน ไม่ต้องใช้เหตุผลมาก ว่าใช้กระบวนการอย่างนี้จะได้ผลจริงหรือไม่ เพราะหากคิดมากจะไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร แถมอาจทำให้เกิดพลังทางลบขึ้นในใจ ซึ่งจะลดทอนความเชื่อ ความศรัทธาในวิธีการ และส่งผลให้ขาดพลังเยียวยาในที่สุด
  • ใช้ความเป็นเด็กในตัวเอง หรือนึกถึงตอนเป็นเด็กที่นึกอยากทำอะไรก็ทำ ไม่ต้องคิด ไม่ต้องกลัว หรือกังวลอะไรมาก แค่ทำให้สนุก ตื่นเต้น แปลกใหม่ และมีความสุขกับการได้ทำก็พอแล้ว
  • ภาพสุดท้ายก่อนจบจินตนาการ ให้นึกภาพว่าอวัยวะที่เจ็บป่วยนั้นหายดีแล้วดังใจต้องการ
  • เมื่อทำเสร็จแล้วให้ปล่อยวาง ทำแล้วจบ อย่าคาดหวัง ไม่ต้องยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องหาย เพียงแค่ทำและปล่อยวาง แล้วกลับมามีสติอยู่กับปัจจุบัน

          การใช้จินตนาการสร้างภาพขึ้นเยียวยาตนเองนี้ เพื่อนผู้เขียนเคยเล่าให้ฟังว่า เมื่อครั้งที่เธอป่วยเป็นไซนัสอักเสบอย่างรุนแรง ต้องนอนรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลนานหลายเดือน แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น ทำให้เกิดความทุกข์ทั้งกายและใจอย่างมาก จนวันหนึ่งเธอได้รับคำแนะนำให้ลองใช้จินตนาการในการเยียวยาตนเอง ก่อนนอนทุกคืนเธอจึงลองจินตนาการถึงตัวเองก่อนที่จะเป็นไซนัส เธอกำลังสนุกกับการเล่นน้ำฝนสายน้ำเย็นฉ่ำที่ราดรดตัวเธอนำความสดชื่นมาให้เธออย่างมาก เธอสามารถหายใจได้อย่างโล่งสบาย จมูกเธอไม่มีอาการเจ็บป่วยอย่างที่เป็นอยู่ พร้อมๆ กันนั้นเธอก็บอกตัวเองว่า “ไซนัสที่เป็นอยู่นั้นหายแล้ว ฉันหายใจได้อย่างสบาย” เธอทำซ้ำๆ อย่างนี้อยู่ ๒ เดือนกว่า อาการไซนัสก็ค่อยๆ ดีขึ้น และหายเป็นปกติได้ในที่สุด 

          อีกกรณีหนึ่งเป็นผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องเข้ารับการฉายแสงเป็นประจำต่อเนื่องกันหลายสิบครั้ง แต่ทุกครั้งที่คุณลุงมาฉายแสง คุณลุงจะยิ้มแย้มแจ่มใส คุยเล่น แซวพยาบาล โดยไม่มีอาการเครียดหรือวิตกกังวล แถมยังไม่มีอาการข้างเคียงที่จะก่อให้เกิดความเจ็บปวดไม่สบายตัวแต่อย่างใด พยาบาลจึงถามว่าทำไมคุณลุงมีกำลังใจดีขนาดนี้ คุณลุงบอกว่าทุกครั้งที่มาฉายแสง ลุงจะนึกว่ากำลังได้รับแสงทิพย์ที่เย็นฉ่ำมาช่วยรักษามะเร็งให้หาย ซึ่งวิธีการเช่นนี้ช่วยให้คุณลุงสามารถยอมรับการรักษาที่ต้องอาศัยความอดทนและกำลังใจที่ดีได้จนจบคอร์สโดยไม่มีความทุกข์เหมือนที่หลายคนเป็นอยู่

          พลังแห่งจินตนาการนี้นอกจากจะช่วยเยียวยาตัวเองจากความเจ็บป่วยทางกายแล้ว ยังช่วยเยียวยาจิตใจได้อีกด้วย พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล กล่าวไว้ใน “การอบรมเผชิญความตายอย่างสงบ” ว่า ในกรณีผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่มีอาการกระสับกระส่าย ไม่สงบ หลายครั้งเมื่อมีคนพูดนำให้ผู้ป่วยจินตนาการถึงสิ่งดีๆ ที่เคยทำ เช่น การใส่บาตร การไปทำบุญไหว้พระ หรือแม้กระทั่งการไปเที่ยวในสถานที่ที่ชอบ ฯลฯ จะช่วยน้อมนำจิตใจให้สงบ เป็นกุศล สามารถตายอย่างสงบได้

          การแปรเปลี่ยนพลังทางลบจากความคิดที่สร้างความเครียด ก่อให้เกิดทุกข์ มาเป็นพลังเยียวยาด้วยการนั่งสมาธิ เจริญสติ แผ่เมตตา และจินตนาการ ดังที่ดร.จอห์น แมคคอนแนลแนะนำเป็นประจำสม่ำเสมอทุกวัน หรือทำทุกครั้งที่เกิดความวิตกกังวลหรือเจ็บป่วย จะช่วยให้เกิดความเคยชิน และใช้เวลาไม่นานในการทำให้เกิดกระบวนการเยียวยาขึ้นภายในตัวเรา เหมือนเป็นปฏิกิริยาอัตโนมัติ เมื่อนั้นเราจะพบว่าไม่ว่าชีวิตจะต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรคใดๆ จะหนักหนาสาหัสเพียงไหน เราก็จะมีวิธีรับมือได้อย่างไม่ทุกข์อีกต่อไป ที่สำคัญอาจจะช่วยให้เราสัมผัสความสุขที่แท้จริงอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน เป็นความสุขจากการมีสติตื่นรู้อยู่กับปัจจุบันอย่างแท้จริง

ภาพ www.jonathanparker.org 

คอลัมน์:

ผู้เขียน: