Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

จุดประกาย: การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้าน

-A +A

           คุณยังจำความประทับใจของคุณที่มีต่อผู้คน เหตุการณ์ หรือสถานที่ใดๆ ได้ไหมคะ? บางเหตุการณ์อาจทำให้ชีวิตของคุณมีความหมายหรือมีพลังความมุ่งหมายที่จะเดินก้าวไปอย่างมีพลัง

           ฉันขอเล่าถึงความประทับใจในการดูแล “คุณยายเหลี่ยม” ที่ฉันถือว่าเป็นแรงบันดาลใจในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้านในเวลาต่อๆ มา ประสบการณ์ในครั้งนั้นได้จุดประกายให้ฉันสนใจที่จะสร้างสรรค์งานและค้นหารูปแบบที่ดีที่สุดในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้าน เมื่อผู้ป่วยเข้าสู่ระยะสุดท้ายของชีวิต และอยากตายในที่ที่เรียกว่า “บ้าน” 

           ในวัย ๘๔ ปี คุณยายเหลี่ยม ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมระยะสุดท้าย มีการลุกลามไปที่กระดูกและปอด คุณยายเลือกที่จะใช้วิธีการรักษาโดยการแพทย์ทางเลือกในแนวทางชีวจิต ร่วมกับการกินยาบรรเทาอาการเจ็บปวด คุณยายไม่ต้องการไปรักษาที่โรงพยาบาล 

           คุณยายเป็นโสด อาศัยอยู่ในครอบครัวใหญ่ มีหลาน ๒ คน ที่ต้องสลับกันหยุดงานเพื่อมาช่วยดูแลคุณยายในวันที่อาการทรุดลง สิ่งที่หลานๆ ทำให้คุณยายทุกวัน คือ เช็ดตัว ทำแผลตรงหน้าอกที่มีขนาดใหญ่เต็มแผ่นอก ป้อนอาหารและยา 

           หลานๆ เล่าให้ฉันฟังว่า “ยายเป็นคนใจบุญ จะใส่บาตร สวดมนตร์ไหว้พระทุกวัน เป็นที่รักของพี่ น้อง หลานๆ และเพื่อนบ้าน ช่วงหลังๆ มานี่แกช่วยเหลือตัวเองไม่ได้  กิจวัตรประจำวันต่างๆ ต้องช่วยทำให้ ตั้งแต่ป่วยมา แกไม่ยอมฟังเทปบทสวดมนตร์ และไม่ยอมไปรักษาที่โรงพยาบาล” 

           ฉันขออนุญาตมาเยี่ยมคุณยายที่บ้าน คุณยายยอมให้ฉันมาเยี่ยมได้ แต่ไม่ยอมไปโรงพยาบาล หลานๆ กังวลว่าถ้าอาการของคุณยายทรุดลงจะทำอย่างไร 

 

ตั้งเป้าหมายในการดูแล 

           ฉันถามถึงสิ่งที่คุณยาย และครอบครัวต้องการในการดูแลคุณยาย และมีอะไรที่คิดว่าพยาบาลจะให้การช่วยเหลือได้บ้าง เพื่อจะได้วางแผนในการดูแลร่วมกัน คำตอบที่ได้คือ “ยายอยากตายที่บ้าน” และ “พวกเราไม่อยากให้ยายทรมาน” ครอบครัวอยากทราบอาการและการดำเนินของโรคเพื่อจะได้เตรียมตัว ในขณะที่ฉันตั้งเป้าไว้ว่า “ครอบครัวต้องสามารถดูแลคุณยายที่บ้านได้ และเตรียมตัวรับกับการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้า”

 

วางแผนการดูแลที่บ้าน 

           เมื่อกำหนดเป้าหมายการดูแลร่วมกันแล้ว ฉันและหลานทั้ง ๒ คนที่เป็นผู้ดูแลหลัก ได้วางแผนการดูแลคุณยาย โดยในระยะที่อาการยังทรงอยู่ฉันไปเยี่ยมคุณยายที่บ้านสัปดาห์ละครั้ง เพื่อให้คำแนะนำในการดูแลตามอาการ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินของโรค การสังเกตอาการผิดปกติที่ต้องแจ้งให้ฉันทราบ และการช่วยเหลือเบื้องต้น ฉันบอกหลานๆ ของคุณยายว่า สามารถติดต่อฉันได้ตลอดเวลาเมื่อเกิดปัญหาในการดูแล และเมื่ออาการคุณยายเปลี่ยนแปลงจนครอบครัวไม่สามารถจัดการการดูแลคุณยายได้ ฉันจะเข้ามาช่วยเหลือ เพื่อให้คุณยายสามารถอยู่ที่บ้านได้จนถึงวาระสุดท้าย

 

ให้การดูแล 

           ในช่วง ๓ สัปดาห์แรก ฉันเป็นเพียงผู้สนับสนุนการดูแล เพราะครอบครัวยังสามารถดูแลคุณยายได้ พอเข้าสัปดาห์ที่ ๔ อาการคุณยายทรุดหนักเข้าสู่ระยะสุดท้าย จนหลานๆ ไม่สามารถดูแลแม้แต่กิจกรรมที่เคยทำได้ เช่น การเช็ดตัว ทำแผล การป้อนอาหารและยา คุณยายเริ่มลุกจากเตียงไม่ได้ต้องนอนติดเตียงจนเกิดแผลกดทับ ไม่สามารถกลืนยาเม็ดแก้ปวดได้ ครอบครัวต้องการให้ฉันช่วยดูแลคุณยาย “พี่ไม่กล้าป้อนยายายแล้ว ถ้ายายสำลักและตายตอนนั้น พี่คงรู้สึกเหมือนเป็นคนฆ่ายาย” แต่ทุกคนยังคงต้องการทำตามความต้องการของคุณยาย คือ ตายที่บ้าน 

           โชคดีที่บ้านคุณยายอยู่ใกล้โรงพยาบาล ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของชีวิตคุณยาย ฉันจึงสามารถให้การดูแลคุณยายที่บ้านเสมือนหนึ่งอยู่ที่โรงพยาบาล คือ เช้าไปเช็ดตัว ทำแผล พลิกตะแคงตัว และเปลี่ยนผ้าปูที่นอน ป้อนอาหารและยา เย็นๆ หลังเลิกงานก็สามารถไปดูแลคุณยายได้อีก

           ฉันต้องประสานขอคำปรึกษากับหน่วยระงับปวดของโรงพยาบาลเพื่อให้คุณยายได้รับยาแก้ปวดที่เหมาะสม 

           การเข้าไปดูแลคุณยายที่บ้านทำให้ฉันได้คำตอบว่า ทำไมคุณยายไม่อยากฟังเทปบทสวดมนตร์ เพราะเมื่อให้ดูแลคุณยายเรียบร้อยแล้ว ทุกคนในครอบครัวจะออกจากห้องเพื่อให้คุณยายได้พักผ่อน การทำเช่นนั้นทำให้คุณยายต้องอยู่คนเดียวในห้อง ซึ่งในช่วงสุดท้ายของชีวิตคุณยายอาจจะรู้สึกว้าเหว่ โดดเดี่ยว การฟังเทปบทสวดมนตร์อาจมีผลต่อภาวะจิตใจของคุณยายไม่มากก็น้อย เช่น อาจทำให้คิดถึงความตาย ซึ่งเป็นการตายอย่างโดดเดี่ยว

 

ผลลัพธ์ 

           วันสุดท้ายฉันไปดูแลคุณยายเช่นทุกวัน แต่เช้าวันนี้พิเศษตรงที่ฉันได้เปิดเทปบทสวดมนตร์ให้คุณยายฟัง ฉันยังเชื่อว่ามันจะช่วยให้คุณยายมีสิ่งยึดเหนี่ยวที่คุณยายคุ้นเคย ช่วยนำทางไปสู่สุคติ คุณยายสงบ ไม่กระสับกระส่าย เพราะฉันขอให้ญาตินั่งข้างเตียง และจับมือคุณยายไว้

           ในที่สุดคุณยายก็ได้ตายที่บ้านสมดังปรารถนา ท่ามกลางบุคคลอันเป็นที่รัก 

           คำถามจากพยาบาลรุ่นน้องในช่วงที่เข้าไปดูแลคุณยายที่บ้าน “พี่ ทำไมเราไม่สอนให้เขาดูแลกันเอง ทำไมต้องมาทุกวัน” 

           ฉันไม่ได้ตอบน้อง แต่ในที่สุดน้องพยาบาลก็ได้รับคำตอบจากตัวเอง “หนูรู้สึกดีจังที่ได้ดูแลคุณยาย เป็นบทเรียนที่ดีและไม่มีใครสอนได้”

           จากครอบครัว “โชคดีที่เจอน้อง พี่ไม่รู้จะทำอย่างไร แรกๆ ก็พอทำได้ แต่หลังๆ แผลมันหลุดออกเป็นแผ่นๆ พี่กลัวว่าสักวันจะเห็นปอด หรือหัวใจยายออกมาเต้น”

           “ยายสะอาด สวยงาม ก่อนตายได้อยู่กับหลานๆ ที่บ้าน และก็ไม่ทุกข์ทรมาน ขอบคุณน้องจริงๆ”

           สิ่งที่ได้มากกว่าเป้าหมายที่วางไว้ คือ สัมพันธภาพ ความไว้วางใจ การมองเห็นคุณค่าของครอบครัว และคุณค่าในวิชาชีพพยาบาล

           ตัวฉันเองก็ได้รับรู้ในเวลาต่อมาว่า “ไม่มีรูปแบบการดูแลที่ดีที่สุด ที่สามารถนำไปใช้ได้กับผู้ป่วยทุกราย” การที่จะทำให้ผู้ป่วยสักคนสมหวังได้ ตายที่บ้าน ต้องการความช่วยเหลือจากหลายฝ่าย ทั้งครอบครัวและทีมบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งในแต่ละครอบครัวมีความแตกต่างกันไป สิ่งสำคัญ คือ การสนับสนุนให้ครอบครัวมีศักยภาพในการจัดการการดูแลตนเองให้ได้ จึงจะเป็นการดูแลที่ยั่งยืน 

 

คอลัมน์:

frontpage: