Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

เตรียมตัวตายอย่างมีสติ - พระไพศาล วิสาโล

-A +A

 

นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 230 เมษายน 2547

         หลายคนอาจนึกบ่นในใจว่า จะบ้าหรือ ชีวิตทุกวันนี้ก็เครียดอยู่แล้ว ยังเอาเรื่องน่าหดหู่มาให้อ่านกันอีก ความตายเป็นมิติลึกลับที่ไม่ค่อยมีใครอยากรู้จัก ทั้ง ๆที่ความตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตแต่เชื่อไหม หากคุณอ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้จบแล้ว จิตใจของคุณจะสงบอย่างน่าประหลาด ความตายอาจไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวอีกต่อไป " ยิ่งรู้จักความตายมากเพียงใด ชีวิตที่เหลืออยู่จะสงบสุขมากขึ้น " บางคนกล่าวเช่นนั้น

         พระไพศาล วิสาโล อดีตปัญญาชนรุ่นใหม่ของสังคม ได้ละชีวิตฆราวาสตั้งแต่วัยหนุ่ม มุ่งสู่ชีวิตนักบวช เป็นเวลา ๒๑ พรรษาแล้ว ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต บ้านท่ามะไฟ อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ วัดป่าที่รู้จักกันดีในหมู่นักปฏิบัติธรรมทั่วประเทศ แต่ท่านมักจำพรรษาอยู่บนภูเขาที่วัดป่ามหาวัน สำนักสงฆ์อีกแห่งที่อยู่ไม่ไกลกัน เพื่อดูแลไม่ให้ใครมาตัดไม้ทำลายป่าบริเวณนั้น วันที่ สารคดี ขึ้นไปหาท่าน พระไพศาลและพระลูกวัดเพิ่งเสร็จสิ้นจากการดับไฟป่าบนภูเขาที่เกิดขึ้นเป็น ประจำทุกปีในช่วงหน้าแล้ง ... เป็นงานหนักที่ห่างไกลจากการรับรู้ของผู้คน

         บางคนเรียกท่านว่า "พระอนุรักษ์" ด้วยเห็นท่านสนใจการดูแลรักษาป่า ตัวท่านเองบอกว่านอกจากกิจกรรมเรื่องป่าและการไปบรรยายในงานอบรมต่าง ๆ เป็นประจำแล้ว กิจธุระยามนี้เกี่ยวข้องกับความตายค่อนข้างมาก มีญาติโยมมานิมนต์ให้ไปเทศน์แก่คนป่วยหนักใกล้ตายไม่เว้นแต่ละวัน เพราะความตายคือปลายสุดของชีวิต สิ่งที่เราทำในยามมีชีวิตอยู่จึงมีผลอย่างมากต่อความตายของเรา กล่าวกันเสมอว่า เรามีชีวิตอย่างไร ก็ตายอย่างนั้น ถ้ามีชีวิตอยู่อย่างมีความหมาย ความตายก็ไม่ใช่เรื่องน่าห่วง และที่สำคัญความตายไม่ใช่จุดสิ้นสุดของชีวิต แต่เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตใหม่ในโลกหน้า คุณพร้อมหรือยังที่จะรู้จักความตาย

 

? เหตุใดอาจารย์จึงอยากให้คนทั่วไปเข้าใจเรื่องความตาย

พระไพศาล วิสาโล : ความตายเป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องเผชิญ อาตมาคิดอยู่เสมอว่า เวลาความตายมาถึงเรา เราจะเผชิญความตายอย่างสงบได้อย่างไร ที่คิดถึงความตาย ส่วนหนึ่งเพราะว่าชีวิตและกิจกรรมสมัยที่อาตมาเป็นนักเรียนและนักศึกษา มีเรื่องที่ต้องเกี่ยวข้องกับความตายอยู่หลายครั้งหนุ่มสาวรุ่นอาตมาเป็น รุ่นที่มักจะเจอความตายหรือใกล้เคียงความตาย อย่างเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๑๖ หรือ ๖ ตุลา ๑๙ คนที่เรามีความผูกพันด้วยโดนยิงตาย เมื่อปี ๒๕๑๘ เคยไปทำสารคดีย้อนรอยครูโกมล คีมทอง ที่ถูกยิงเสียชีวิตปี ๒๕๑๔ ที่บ้านส้อง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เราก็ไปดูว่าหลังจากที่ โกมล คีมทอง ตายไป ๔ ปี ชาวบ้านที่นั่นเขารู้สึกยังไง ก็ไปพักที่วัดซึ่งใกล้กับเขาช่องช้าง ได้ยินเสียงปืนใหญ่ที่ฝ่ายทหารยิงสู้กับพวกคนในป่าตลอดเวลา นอกจากนั้นทางวัดยังเอาศพคนตายมาใส่ตู้ตั้งโชว์เป็นเครื่องสอนใจ บรรยากาศอย่างนั้น มันทำให้เรานึกถึงความตายมาก และก็รู้สึกว่าเรากลัว เพราะเรายังไม่พร้อมที่จะเผชิญความตาย ตอนนั้นอายุแค่ ๑๘ - ๑๙ ปี แต่มันก็เป็นเรื่องจริงจังสำหรับเรา

         ช่วงนั้นกิจกรรมนักศึกษาค่อนข้างอันตราย มีคนตายบ่อย ๆ เวลามีการประท้วงที่ธรรมศาสตร์ บางครั้งพวกกระทิงแดงก็ปาระเบิดเข้ามา มีคนตาย ก่อนหน้านั้นก็มีการลอบฆ่ากันมากมาย จำได้ว่าที่รู้สึกมากคือตอนที่นักศึกษาชุมนุมประท้วงการกลับมาของจอมพล ประภาส จารุเสถียร ปี ๒๕๑๘ คืนนั้นมีพวกกระทิงแดงเข้ามาก่อกวนอยู่แถวหน้าหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรม ศาสตร์ ดูเหมือนจะยิงปืนเข้ามาด้วย แต่ไม่มีใครตาย เราก็กังวลว่าถ้าเขาบุกเข้ามาจะทำยังไง เพราะเขาเคยมาเผาธรรมศาสตร์ทีหนึ่งแล้ว การทำกิจกรรมเหล่านี้ทำให้อาตมาใกล้ความตายหลายครั้ง จึงสนใจเรื่องความตายมาตั้งแต่ก่อนบวชพระ และก็ยิ่งได้มาเรียนรู้พุทธศาสนาซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องมรณสติและการ เผชิญกับความตายอย่างรู้เท่าทัน ก็เลยคิดว่ามันเป็นเรื่องที่น่าจะศึกษา ถ้าเราต้องมาเป็นมะเร็ง หรือเกิดอุบัติเหตุกะทันหัน เราจะทำยังไง ทั้งหมดคือความสนใจส่วนตัวที่ทำให้รู้สึกว่าเราต้องเตรียมพร้อมที่จะเผชิญ ความตายด้วยใจสงบ อย่างมีสติ ตอนหลังได้แปลหนังสือเรื่อง The Tibetan Book of Living and Dying หรือ ประตูสู่สภาวะใหม่ และ เหนือห้วงมหรรณพ มีบางคนที่ได้อ่านหนังสือแล้วก็ติดต่อขอให้อาตมาไปช่วยแนะนำพ่อแม่ของเขาที่ ใกล้ตาย ก็เลยทำให้อาตมาสนใจเรื่องการช่วยเหลือผู้ใกล้ตายมากขึ้น

 

? ทำไมคนเราต้องเตรียมตัวตายด้วยใจสงบครับ 

พระไพศาล วิสาโล  : พุทธศาสนาสอนว่าถ้าเผชิญความตายด้วยใจสงบหรือวางจิตให้เป็นกุศล จิตก็จะไปสู่สุคติได้ มีตัวอย่างมากมายในพระไตรปิฎก มีคนที่ทุกข์ทรมานมาก แต่ในจังหวะสุดท้ายก่อนที่จะตาย ได้เห็นธรรมจากความเจ็บความปวด เข้าใจแจ่มชัดถึงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นความไม่เที่ยงของสังขารว่าไม่น่ายึดถือ จิตก็หลุดพ้นได้ นอกจากนั้นจากการที่อาตมาได้ประสบสัมผัสด้วยตัวเอง ทำให้เห็นถึงอานิสงส์ของการประคองใจให้สงบก่อนตาย มีเพื่อนใกล้ตัวหลายคนเสียชีวิตไป ล่าสุดคือ สุภาพร พงศ์พฤกษ์ เป็นมะเร็งที่เต้านมมา ๑๑ ปี และเพิ่งมาลุกลามเมื่อ ๒ ปีที่แล้ว ๔ เดือนสุดท้ายป่วยหนักจนเดินไม่ได้ ต้องนอนอย่างเดียว จึงเตรียมตัวที่จะเผชิญกับความตาย โดยยอมรับว่ามีโอกาสรอดน้อยมาก ขณะเดียวกันเพื่อน ๆ ก็ช่วยกันสร้างบรรยากาศที่เอื้อให้เธอสามารถทำใจให้สงบได้ ปรากฏว่าเธอยอมรับความตายโดยไม่ทุรนทุราย และจากไปอย่างสงบได้ในที่สุด นี่เป็นตัวอย่างของคนที่พร้อมจะตายอย่างสงบโดยไม่คิดพึ่งเทคโนโลยี ส่วนคนที่พร้อมจะดูแลเพื่อนที่ประสงค์จะตายในลักษณะนี้ก็มีอยู่ เราจึงน่าจะช่วยกันให้ความรู้และฝึกอบรมเพื่อให้ผู้คนมีทักษะในเรื่องนี้กัน มาก ๆ เพราะว่าเดี๋ยวนี้คนป่วยประมาณ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ตายที่โรงพยาบาล ส่วนใหญ่ตายเพราะโรคเรื้อรัง คนเหล่านี้มีเวลาที่จะเตรียมตัวเผชิญกับความตายได้ เพราะไม่ได้ตายแบบปุบปับไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว ซึ่งมีน้อย ไม่ถึง ๑๐ เปอร์เซ็นต์

 

? สภาวะที่เราควรจะเตรียมตัวก่อนตาย ประกอบด้วยอะไรบ้าง

พระไพศาล วิสาโล  : เราต้องพิจารณามรณสติเป็นประจำ คือพิจารณาว่าเราจะต้องตายไม่วันใดก็วันหนึ่ง ความตายเป็นของเที่ยง ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง ขณะเดียวกันก็ต้องพิจารณาต่อไปด้วยว่า ความตายจะมาเมื่อไหร่ก็ได้ จะมาอย่างไรก็ไม่มีใครรู้ การพิจารณามรณสติอย่างนี้ช่วยให้เราไม่ประมาท มรณสติส่วนหนึ่งเกิดขึ้นได้จากการที่เรารับรู้ข่าวคราวของผู้คน ปรกติเวลาได้ยินข่าวคนตาย เราไม่ค่อยได้นึกถึงความตายของตัวเองเท่าไหร่ เรานึกว่ามันเป็นแค่ข่าว อ่านหนังสือพิมพ์ ฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ เห็นคนตายแล้วก็ไม่ได้รู้สึกอะไร แต่ถ้าหากว่าเราน้อมเข้ามาใส่ตัว คือตระหนักว่าเราอาจจะเจออุบัติเหตุที่น่าสยดสยองก็ได้ อาจเจอแผ่นดินไหว รถแก๊สระเบิด หรือว่าเครื่องบินตกเมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าเราน้อมเข้ามาใส่ตัวแบบนี้ เราจะเกิดความไม่ประมาท

 

? ไม่ประมาทอย่างไรครับ

พระไพศาล วิสาโล  : ความไม่ประมาทคือความตระหนักอยู่เสมอว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมันพร้อมที่จะแปรผัน ไม่มีอะไรที่เที่ยงแท้แน่นอน เพราะฉะนั้นจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมเสมอสำหรับความผันผวนปรวนแปร ในปัจฉิมโอวาทของพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ตรัสว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ฉะนั้นเธอจงจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม ความไม่ประมาทยังหมายถึงความขยันขันแข็ง ความขวนขวาย พอเรารู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมจะแปรผัน เช่น เศรษฐีก็อาจจะล้มละลายได้ ดังนั้นจึงต้องขยันขันแข็ง ไม่ชะล่าใจหรืองอมืองอเท้า ไม่ใช่เห็นว่าฉันรวยแล้ว ฉันก็เลยไม่ต้องทำอะไร คนจำนวนไม่น้อยคิดว่าฉันยังหนุ่มยังสาวอยู่ ก็เลยไม่คิดจะเตรียมตัวอะไร อันนี้แสดงว่าเราประมาทเพราะคิดว่าเรายังมีชีวิตอยู่อีกนาน ไม่ได้เฉลียวใจว่าอาจจะตายเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ถ้าหากเราตระหนักถึงความไม่เที่ยง เราก็ตระหนักว่าอยู่เฉยไม่ได้ ต้องขวนขวาย ทำในสิ่งที่ควรทำ ฉะนั้น ไม่ประมาทจึงมีความหมายสองระดับ ในระดับจิตใจคือระลึกว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงมันไม่เที่ยง มีขึ้นต้องมีลง มีได้ต้องมีเสีย อย่างที่ ๒ เป็นความหมายในระดับการกระทำ คือมีความขยันหมั่นเพียร ไม่ทอดธุระ อะไรที่จำเป็นต้องทำก็รีบทำ

         ทีนี้เมื่อเราพิจารณามรณสติแล้ว เราก็จะตระหนักว่าอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือหมั่นทำความดี ทำกาย วาจา ใจ ให้เป็นไปในทางที่ดีงาม ที่เรียกว่า กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต พระพุทธเจ้าตรัสว่าใครที่มีความสุจริตทั้งสามอย่าง ย่อมตายดี ทำไมถึงตายดี ก็เพราะว่าไม่มีอะไรที่ต้องห่วงกังวล คนเราถ้าหากว่าทำชั่วหรือทำบาปแล้ว ก่อนตายกรรมชั่วเหล่านั้นอาจหวนมาหลอกหลอน หรือทำให้จิตใจเศร้าหมองตื่นกลัว เรามีคำเรียกว่า " กรรมนิมิต " คือนิมิตหรือภาพเกี่ยวกับกรรมของตัวที่ได้ทำไว้ ถ้าเราทำกรรมที่ไม่ดีไว้ กรรมนิมิตที่ไม่ดีก็จะปรากฏ คนใกล้ตายสติอ่อนอยู่แล้ว พอได้เห็นภาพไม่ดีเหล่านี้ก็ตกใจ ถ้าตายไปตอนนั้นก็ไปสู่ทุคติ คือตกนรกหรืออยู่ในภูมิที่ต่ำกว่ามนุษย์ ฉะนั้นการทำกรรมดีอยู่เสมอ และระลึกถึงความตายอยู่เสมอ เป็นสิ่งที่ต้องทำในขณะที่ยังสุขสบายดีอยู่ คราวนี้ถ้าเกิดเจ็บป่วยขึ้นมา โดยเฉพาะป่วยแบบยืดเยื้อเรื้อรัง ก็ยิ่งต้องเตรียมตัวให้มากขึ้นไปอีก มีวิธีการหลายอย่างที่จะช่วยให้เราตายอย่างสงบได้ วิธีหนึ่งที่สำคัญก็คือการฝึกสติอย่างสม่ำเสมอ สตินี้ช่วยได้มาก เพราะว่าเวลาป่วยหนักในระยะสุดท้าย สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นคือทุกขเวทนาหรือความเจ็บปวดทางกาย ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ มะเร็ง เอดส์ หรือว่าโรคเรื้อรังทั้งหลาย ทุกขเวทนาทางกายจะแรงกล้ามาก ถ้าเราไม่มีสติ จิตใจเราก็จะทุกข์ตามไปด้วย ทุกข์กายกับทุกข์ใจไม่จำเป็นต้องไปด้วยกันเสมอไป ปัจจัยหนึ่งซึ่งช่วยให้เราไม่ทุกข์ใจแม้จะทุกข์กายก็คือสตินั่นเอง

 

? การเจริญสติก็อาจช่วยลดความเจ็บปวดได้หรือ

พระไพศาล วิสาโล   : สมัยพุทธกาลมีพระรูปหนึ่งชื่อพระอนุรุทธะ ท่านอาพาธหนัก ต่อมาท่านหายป่วย เพื่อนพระจึงถามว่า ท่านหายได้เพราะอะไร ท่านบอกว่าเพราะเจริญสติปัฏฐาน ๔ คือการมีสติรู้กาย รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรม พูดสั้น ๆ คือรู้เท่าทันในกายและใจ สติช่วยให้เราเห็นความทุกข์ทางกายโดยไม่เข้าไปเป็นผู้ทุกข์ ช่วยประคองใจไม่ให้เข้าไปในความทุกข์ หรือกระสับกระส่ายไปกับกาย พูดง่าย ๆ คือแม้ปวดกาย แต่ไม่ปวดใจ กายกระสับกระส่าย แต่จิตไม่กระสับกระส่าย อันนี้ต้องอาศัยสติ เพราะถ้าเราไม่มีสติ จิตมันก็จะไปจมอยู่กับความทุกข์ทางกาย การมีสมาธิก็ช่วยได้ เช่นขณะที่ร่างกายเราป่วย แต่ว่าเราจดจ่ออยู่กับลมหายใจ จิตก็จะรับรู้ความปวดทางกายน้อยลง ก็เหมือนกับคนที่เล่นไพ่เป็นวันเป็นคืน ทำไมไม่รู้สึกปวดเมื่อย ทั้ง ๆ ที่นั่งพับเพียบติดต่อกันหลายชั่วโมง ก็เพราะใจมีสมาธิอยู่กับไพ่ เช่นเดียวกันเวลาดูบอลกลางแดด แดดร้อน แต่ไม่รู้สึกทุกข์ร้อนอะไรเลย เพราะว่าจิตมันไม่ไปรับรู้ความร้อน แต่ไปจดจ่ออยู่กับนักกีฬาที่กำลังเล่นฟุตบอล การจดจ่อของจิตนี้เราเรียกว่าสมาธิ ซึ่งช่วยลดความเจ็บปวดได้

         อีกอย่างที่ช่วยได้คือการนึกถึงสิ่งที่ดีงาม เช่น สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เรานับถือ อาทิ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือจะนึกถึงความดีที่เคยทำก็ได้ มีอุบาสกคนหนึ่งชื่อทีฆาวุ เกิดป่วยหนัก พระพุทธเจ้าก็แนะให้นึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วก็ระลึกถึงศีลว่าได้ทำความดีถึงพร้อมหรือยัง และเมื่อเขารู้สึกมั่นใจในความดีที่ได้ทำแล้ว พระพุทธเจ้าก็แนะต่อไปให้พิจารณาว่าสังขารทั้งหลายทั้งปวงมันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน จุดนี้เป็นการช่วยให้เกิดปัญญาขึ้นมา ถ้าเกิดปัญญาแล้ว ความเจ็บปวดหรือความตายก็มิใช่สิ่งน่ากลัวอีกต่อไป คือความตายมันน่ากลัวเพราะว่าเรายังหลงยึดสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นตัวตน เป็นตัวกูของกู ยึดว่านี่เป็นร่างกายของฉัน บ้านของฉัน คนรักของฉัน เรากลัวว่าเราจะพลัดพรากจากสิ่งเหล่านี้ แต่ถ้าเรามีปัญญาเห็นและตระหนักว่ามันไม่มีอะไรที่น่ายึดถือเป็นตัวตน ใจก็วางสิ่งต่าง ๆ ได้ เมื่อวางได้ ความตายก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวอีกต่อไป ความตายกลับเป็นสิ่งที่ดี คือกลายเป็นตัวเร่งให้เราปล่อยวางเร็วเข้า เพราะขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่ ยังสนุกสนานเพลิดเพลิน เราไม่ค่อยปล่อยวางเท่าไหร่ แต่พอเรารู้ว่าความตายจะมาถึงแล้ว ก็จะปล่อยวางได้ง่าย ความตายกลายเป็นตัวเร่งให้เราต้องปล่อยวาง เพราะถ้าไม่ปล่อยวาง ก็จะยิ่งทุกข์ ทางโลกเขาถือว่าความตายเป็นวิกฤต แต่พุทธศาสนาถือว่าความตายเป็นโอกาส โอกาสที่จะหลุดพ้น โอกาสที่จะยกจิตให้สูงขึ้น เริ่มจากการที่จิตมีสติ มีสมาธิ ไปจนถึงการมีปัญญา อันนี้เป็นสิ่งซึ่งควรจะเตรียมตัวทุกคน ถ้าต้องการตายอย่างสงบ

 

? แต่คนป่วยใกล้ตายอาจไม่สามารถเตรียมตัวตายอย่างสงบได้ตามลำพัง

พระไพศาล วิสาโล  : คนเจ็บป่วยมักจะครุ่นคิดอยู่กับความเจ็บปวดอย่างเดียว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีคนอื่นช่วยด้วย ญาติพี่น้อง เพื่อนที่คอยมาดูแล หรือแม้แต่หมอ พยาบาล ก็สามารถช่วยในเรื่องนี้ได้ คือช่วยทำให้ผู้ป่วยใกล้ตายมีสติ ช่วยทำให้เกิดบรรยากาศที่สงบ ที่จะน้อมนำไปสู่สมาธิ รู้จักปล่อยวาง หรือถ้าเขาห่วงลูกห่วงหลาน ก็ช่วยให้เขาคลายความเป็นห่วง บอกเขาว่าอย่าห่วงลูกห่วงหลานเลย เพราะลูกหลานก็จะเอาตัวรอดได้ถึงแม้เขาจะจากไป ในสมัยพุทธกาลก็มีอุบาสกคนหนึ่งชื่อนกุลบิดา ป่วยหนักใกล้ตาย ภรรยาซึ่งเป็นคนดูแลก็ปลอบใจว่า พี่อย่าห่วงฉันเลย ฉันเลี้ยงลูกไหว รักษาบ้านได้ พูดจนนกุลบิดาหายห่วง ปรากฏว่าสามารถกลับฟื้นขึ้นมาเป็นปรกติได้ เพราะใจที่หมดห่วง ทำให้อาการเจ็บป่วยหายไป คนที่พยาบาลหรือดูแลต้องพยายามช่วยให้ผู้ป่วยคลายกังวล เพราะว่าคนเราบางทีมีเรื่องค้างคาใจ คือรู้สึกผิดที่ได้ทำในสิ่งที่ไม่ดีกับคนบางคน เช่น พ่อรู้สึกผิดที่ได้ทำไม่ดีกับลูกไว้ หรือลูกรู้สึกผิดที่ทำไม่ดีกับพ่อแม่ สิ่งเหล่านี้มันจะมาหลอกหลอน มารบกวนจิตใจเวลาใกล้ตาย บางครั้งเขาอยากจะขอโทษ ในกรณีนี้เราควรช่วยให้เขาได้มีโอกาสขอโทษหรือปรับความเข้าใจกับคนที่ผิดใจ กันมาก่อน บ างคนมีความเกลียด ความโกรธฝังแน่น คนที่อยู่ใกล้ ๆ ควรช่วยให้เขาปล่อยวางความโกรธ ความเกลียด บางคนคิดถึงลูก อยากเห็นหน้าลูกเป็นครั้งสุดท้าย แต่ว่าลูกอยู่ตั้งไกล สิ่งที่ญาติมิตรจะช่วยได้ก็คือพยายามติดต่อให้เขากลับมาดูใจ จะสังเกตว่ามีหลายคนป่วยหนักแต่ไม่ยอมตายสักที พอได้เห็นหน้าลูกหลาน สักพักเขาก็จากไปอย่างสงบ ที่ดีกว่านั้นก็คือการพยายามแนะนำให้เขาเกิดปัญญาขึ้นมา แต่ก่อนนี่เป็นหน้าที่ของพระโดยตรง คือช่วยให้เขาปล่อยวางสิ่งต่าง ๆ และเห็นชัดว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงมันไม่เที่ยง ไม่น่ายึดถือ หรือช่วยให้จิตของเขาน้อมไปในทางที่เป็นกุศล เช่น ให้นึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้นึกถึงสุคติ หรือการพ้นทุกข์ เอานิพพานเป็นจุดหมาย พุทธศาสนาถือว่ากรรมหรือการกระทำตอนใกล้ตายที่เรียกว่า " อาสันนกรรม " เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าตอนใกล้ตายจิตระลึกถึงสิ่งที่เป็นกุศล นึกถึงสิ่งที่ดีงาม ก็จะไปสู่สุคติ หรืออาจจะถึงขั้นหลุดพ้นเลยก็ได้ แต่ถ้าหากว่าจิตมีความห่วงกังวล ก็จะไปสู่ทุคติ แม้จะทำความดีมาตลอด แต่พอไปห่วงกังวลอะไรสักอย่าง มีเรื่องเล่าว่า แม่ชีรูปหนึ่งเป็นคนที่เคร่งในศีลมาก ปรากฏว่าวันหนึ่งไปซักผ้า เห็นมดตายในกะละมัง ก็เสียใจว่าตัวเองรักษาศีลมาตลอด ทำไมทำให้มดตาย จิตครุ่นคิดถึงเรื่องนี้ตลอด ตอนนั้นก็ป่วยอยู่แล้ว ไม่นานก็ตาย ปรากฏว่าจิตตกไปสู่อบายภูมิ พูดง่าย ๆ คือลงนรกไปเลย มดตัวเดียวสามารถฉุดจิตของแม่ชีให้ไปสู่อบายภูมิได้ นี่เป็นเพราะตั้งจิตไว้ไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามถ้าทำความดีมาตลอด ความดีนั้นก็จะสามารถฉุดให้หลุดจากอบายภูมิขึ้นสู่สุคติได้ ไม่ได้หมายความว่าทำความดีมาตลอด เจอเรื่องแค่นี้นิดเดียวก็จะหลุดไปสู่อบายภูมิไปตลอด ถ้าทำความดีไว้เยอะ อยู่อบายภูมิสักพัก พอวิบากหมด จิตก็จะขึ้นสู่สุคติได้ อันนี้เป็นเรื่องที่ชาวพุทธเชื่อกัน ในทางพุทธศาสนาเราถือว่าเรื่องแบบนี้สำคัญ ฉะนั้นการพยายามช่วยให้คนตายโดยมีจิตที่สงบ เป็นกุศล จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

 

? แต่ดูเหมือนปัจจุบันญาติผู้ป่วยที่ใกล้ตายจะไม่ค่อยรู้จักหรือเข้าใจสิ่งเหล่านี้

พระไพศาล วิสาโล  : เดี๋ยวนี้เวลาคนใกล้จะตาย ญาติพี่น้องก็ร้องห่มร้องไห้ หรือบางทีแย่งสมบัติกัน ทะเลาะกันเรื่องค่ารักษาพยาบาล หรือทะเลาะกันเรื่องใครจะจ่ายเงินค่าทำศพ สิ่งเหล่านี้มันมีแต่จะฉุดให้ผู้ตายลงไปสู่อบายภูมิได้ง่าย แม้ว่าผู้ป่วยจะโคม่าแล้ว แต่ว่าเขารับรู้ได้ คนที่โคม่าไม่ใช่ว่าเขาไม่รับรู้อะไรเลย เขาอาจจะรับรู้ แต่ไม่มากเท่ากับคนปรกติ อาจจะ ๒๐ - ๓๐ เปอร์เซ็นต์ เดี๋ยวนี้เรื่องนี้ก็เป็นที่รู้กัน อย่าว่าแต่โคม่าเลย แม้แต่คนที่ถูกรมยาสลบก่อนผ่าตัด มีหลายคนทั้ง ๆ ที่สลบก็ยังรับรู้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นรอบตัวเขา ที่รู้ว่าเขารับรู้ก็เพราะว่าเวลาเขาฟื้นขึ้นมา ก็มาเล่าว่าได้เห็นหรือได้ยินอะไรบ้าง เช่น ได้ยินพยาบาลพูดอะไรบ้าง หมอพูดอะไรบ้าง แม้แต่คนที่โคม่าใกล้ตาย ก็สามารถรับรู้ได้เช่นกัน

         คุณหมออมรา มลิลา เล่าว่า มีผู้ชายคนหนึ่งเจออุบัติเหตุทางรถยนต์ และสมองได้รับความกระทบกระเทือนมาก ไตวายฉับพลัน โคม่า หมอประเมินว่าโอกาสตายมีมากกว่าที่จะรอดชีวิตได้ เผอิญเขารอดชีวิตมาได้ จึงมาเล่าให้ฟังว่า ตอนที่โคม่าไม่รู้สึกตัว มันจะมีบางช่วงที่จิตเขาเหมือนจะลอยเคว้งคว้างอยู่ พูดภาษาชาวบ้านก็เหมือนกับจิตจะหลุดจากร่าง แต่สักพักเขาจะรู้สึกเหมือนมีมือมาแตะที่ตัวเขา และมีพลังจากมือนั้นแผ่เข้ามา พลังนั้นดึงจิตเขากลับลงมา ทำให้เกิดความรู้สึกตัวราง ๆ เป็นแบบนี้หลายครั้ง มารู้ภายหลังว่า เป็นเพราะพยาบาลคนหนึ่ง เวลาเข้าเวร ก็จะเดินมาเยี่ยมผู้ป่วยทุกเตียงเลย พูดให้กำลังใจผู้ป่วย คนไหนที่โคม่าแกก็เอามือจับแล้วแผ่เมตตาให้ บอกว่าขอให้หายไว ๆ นะ ปรากฏว่าผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะโคม่าสามารถรับรู้พลังเมตตาของพยาบาลผู้นี้ได้ ด้วยเหตุนี้ญาติพี่น้องเวลาไปเยี่ยมผู้ป่วยโคม่า หรือผู้ป่วยที่ยังพอมีสติรู้ตัวอยู่บ้างก็ตาม การพยายามสร้างบรรยากาศแห่งความสงบ เป็นเรื่องสำคัญ เวลาจะพูดคุยอะไร ควรพูดเรื่องที่ดีงาม ที่ทำให้เขารู้สึกสบาย ปล่อยวาง ไม่มีห่วง ไม่มีกังวล ไม่ใช่มาทะเลาะกัน หรือมาร้องห่มร้องไห้อยู่ข้างเตียง

 

? คนใกล้ตายมักจะหวนกลับไประลึกถึงอดีตหรือ

พระไพศาล วิสาโล : เป็นธรรมดาที่ใจจะระลึกถึงอดีต บางทีก็เกิดนิมิตคือเห็นเป็นภาพ ส่วนใหญ่เป็นภาพที่ฝังใจในอดีต ทั้งที่ดีและไม่ดี แต่สิ่งที่ดี คนเราไม่ค่อยนึกถึงเท่าไหร่ ในยามนั้นมักจะนึกถึงสิ่งที่ไม่ดี เว้นแต่ว่ามีคนมาช่วยแนะย้ำ นำเอาสิ่งที่ดี ๆ มาให้เขาระลึกถึง พระพุทธเจ้าเวลาเสด็จไปเยี่ยมคนป่วยใกล้ตาย พระองค์มักแนะให้นึกถึงพระรัตนตรัย รวมทั้งความดีงามที่ตัวเองได้ทำ แต่คนที่ทำกรรมเลวกรรมชั่วเอาไว้ กรรมที่ไม่ดีเหล่านี้มันมักจะหวนกลับมาให้เห็นเป็นภาพหรือนิมิต เราคงเคยได้ยินว่า พวกที่มีอาชีพฆ่าสัตว์ พอใกล้ตาย สัตว์ที่ตัวเองฆ่าได้มาหลอกหลอน จนบางทีเจ้าตัวก็ร้องเหมือนเสียงสัตว์ที่ตัวเองฆ่า นี่เรียกว่าเกิดกรรมนิมิตขึ้น แต่บางกรณีก็เป็นการกลับไปสู่ภาพชีวิตในอดีต โดยตัวเองรู้สึกราวกับว่าได้กลับเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นอีกครั้ง นี่เป็นเรื่องธรรมดา คนที่ทำสมาธิภาวนาแบบเข้มข้น มักจะเจอภาพเหล่านี้หวนกลับมา จะเรียกว่าจิตสำรอกความทรงจำออกมาก็ได้ บางทีเป็นความทรงจำที่เราไม่นึกว่าจะจำได้ เช่นความทรงจำตอนเด็ก ๆ สองขวบสามขวบ ซึ่งก็ไม่ได้สลักสำคัญอะไรเลย แต่ว่าจิตระลึกได้ แสดงว่าจิตของเราเก็บความทรงจำเอาไว้ได้เยอะ ถ้าหากว่าเราทำสิ่งที่ไม่ดี หรือทำความเจ็บช้ำน้ำใจให้แก่ใคร หรือไปเบียดเบียนใคร ส่วนนี้มันไม่หนีไปไหน มันถูกเก็บไว้ในความทรงจำ ถึงเวลามันก็อาจจะออกมา แต่เราก็ต้องระลึกว่า สิ่งเหล่านี้มันออกมาก็จริง แต่คนส่วนใหญ่จะทำความดีมากกว่าความชั่ว จึงควรเรียนรู้วิธีที่จะดึงส่วนที่ดี ๆ ออกมาด้วย ไม่ใช่ว่าปล่อยให้จิตไปหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่ไม่ดี เพราะมันไม่เป็นกุศลเลย เว้นแต่ว่าสิ่งที่ไม่ดีเหล่านั้น เช่น ความโกรธ ความเคียดแค้น ความพยาบาท เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว เรารู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์ เช่นเอามาเป็นเครื่องเตือนใจให้รู้จักให้อภัย ให้อโหสิ แต่ถ้าเราไม่รู้จักอโหสิ ไม่รู้จักให้อภัย อารมณ์อกุศลเหล่านี้ก็อาจจะมาหลอกหลอนจนวาระสุดท้าย คนที่ใกล้ตายจึงต้องรู้จักปล่อยวางความรู้สึกที่ไม่ดีด้วย เมื่อปล่อยไปแล้ว หรืออโหสิไปแล้ว มันก็จะไม่มากวนใจอีกต่อไป แต่บางครั้งต้องมีคนมาช่วยแนะเขาถึงจะปล่อยวางได้

 

? แสดงว่าก่อนลมหายใจสุดท้าย หากจิตสงบแล้ว เชื่อว่าในภพต่อไปจะไปสู่สุคติ

พระไพศาล วิสาโล  : จิตสุดท้ายก่อนตายต้องเป็นกุศล คือสงบหรือกำหนดอยู่กับสิ่งที่ดีงาม ความสงบเป็นสิ่งสำคัญ เป็นเรื่องที่ตัวเองต้องฝึก ถ้าฝึกก็มีโอกาสสงบได้ แต่สงบอย่างเดียวไม่พอ ต้องให้สว่าง คือมีปัญญาด้วย หมายความว่าขั้นแรก ต้องให้จิตสงบก่อน ขั้นต่อมาคือทำปัญญาให้เกิดขึ้น ส่วนใหญ่เราจะพอใจแค่ว่าให้จิตสงบ เพื่อจะได้ไปสุคติ อาจจะไปเกิดในสวรรค์ ตามความเชื่อของคนโบราณ แต่ทางพุทธศาสนาบอกว่า จิตของคนเรามีศักยภาพที่จะทำได้มากกว่านั้น คือสงบเป็นขั้นต้น ขั้นต่อมาคือมีปัญญา และเห็นสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง จะหลุดพ้นได้หรือไม่ได้ในวาระสุดท้ายก็ตรงนี้ คือมีปัญญาเห็นสัจธรรม เข้าใจสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง เข้าใจว่าสิ่งทั้งปวงไม่น่ายึดถือ ไม่น่าเอามาเป็นตัวตนของเรา เข้าถึงภาวะที่ท่านอาจารย์พุทธทาสเรียกว่าจิตว่าง ที่จริงยังมีอีกสำนวนหนึ่งที่ท่านชอบพูดคือ " ตกกระได พลอยกระโจน " ไหน ๆ จะตกกระไดแล้ว ก็กระโจนลงไปเลย ไม่ต้องลังเล ไม่ต้องคิดหน้าคิดหลัง หรือเสียดายอะไรทั้งสิ้น ความหมายก็คือ เมื่อจะตายแล้ว ก็ปล่อยวางทุกสิ่ง ไม่อาลัยไยดี นี่เรียกว่ารู้จักใช้ความตายให้เป็นประโยชน์ คนเราตายไปแล้วกรรมย่อมเป็นพลังหนุนส่ง จะส่งไปไหน ไปสุคติ หรือทุคติ หรือไปสู่วิมุตหลุดพ้น ก็ขึ้นอยู่กับการวางจิตวางใจก่อนตาย ความตายมีพลังส่งแรงมาก ถ้าวางจิตให้ดี นึกถึงนิพพาน พระอรหันต์ ความหลุดพ้น ความตายก็สามารถหนุนส่งหรือผลักให้ไปสู่ความหลุดพ้นได้ พระพุทธเจ้าตรัสว่ากรรมใกล้ตายหรืออาการของจิตสุดท้ายมีพลังแรง เหมือนกับวัวที่แออัดยัดเยียดอยู่ในคอก เมื่อเปิดประตูคอก ตัวที่จะออกมาก่อนคือตัวที่อยู่ใกล้ประตูที่สุด หมายความว่ากรรมใกล้ตายมันจะแสดงผลก่อน ถ้าจิตสุดท้ายมุ่งไปสู่ความหลุดพ้น จิตก็อาจหลุดพ้นไปเลย แต่ถ้าจิตสุดท้ายเป็นจิตที่ห่วงทรัพย์สมบัติ มันก็อาจจะกลับมาวนเวียนเฝ้าสมบัติ

 

? อาจารย์บอกว่าวาระสุดท้ายของชีวิต ถ้าหากว่าใจนิ่งก็สามารถไปสู่สุคติได้ แม้ว่าชาตินี้อาจจะทำความชั่วตลอดเพียงแต่ว่าแรงส่งอาจจะไม่เยอะ อย่างนี้ก็ไม่จูงใจให้คนอยากจะทำความดีซิครับ

พระไพศาล วิสาโล  : คน ที่ทำความชั่วมาตลอด แม้ตอนใกล้ตายจะพยายามนึกถึงสิ่งที่ดีงาม แต่บางทีก็นึกไม่ออกหรอก เพราะว่ากรรมที่ไม่ดีมีแรงหนุนส่งมากกว่า ทำให้นึกถึงภาพที่ไม่น่าดู ทำให้นึกถึงความทุกข์ที่ตัวเองได้ทำเอาไว้มากกว่า ฉะนั้นทางที่ดีเราจึงควรหมั่นทำความดี เวลาลำบาก ความดีนั้นจะมาช่วยน้อมใจให้เป็นกุศลได้

 

? ปัจจุบันผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเสียชีวิตที่โรง พยาบาลขณะที่ร่างกายถูกพันธนาการไว้ด้วยเครื่องมือทางการแพทย์เช่นเครื่อง ปั๊มหัวใจเป็นต้น อย่างนี้จิตใจจะนิ่งสงบได้อย่างไรครับ

พระไพศาล วิสาโล  : อัน นี้คือปัญหา เพราะหมอ ญาติคนไข้ แม้กระทั่งผู้ป่วยก็ดี ส่วนมากมีความคิดว่าต้องการยืดชีวิตให้ได้มากที่สุด เห็นความตายแต่มิติด้านกายภาพ ทำอย่างไรถึงจะให้มีลมหายใจได้นานที่สุด ดังนั้นจึงคิดแต่จะหาทางปั๊มหัวใจ ฉีดยาและกระตุ้นทุกวิถีทาง แม้วิธีนั้นจะทำให้เจ็บปวดและรบกวนจิตใจ เพราะคนส่วนใหญ่เชื่อว่าทางออกในยามนี้มีทางเดียวคือต้องยืดชีวิตให้ได้นาน ที่สุด แต่พุทธศาสนาบอกว่า จะยืดชีวิตให้ได้มากหรือน้อย ไม่สำคัญเท่ากับการรักษาใจให้สงบและเกิดปัญญา มันเป็นมิติด้านจิตใจซึ่งการแพทย์สมัยใหม่มองข้ามไป การแพทย์สมัยใหม่เขาไม่สนใจเรื่องจิตใจ เขาสนใจเพียงแต่ว่าจะยืดลมหายใจได้นานเท่าไหร่ เขาทำทุกวิถีทางแม้จะรู้ว่าต้องแพ้ ต้องตาย ก็ขอยืดให้ได้สักหนึ่งวัน สองวันก็ยังดี แต่ไม่ได้นึกว่าสิ่งสำคัญกว่านั้นคือทำยังไงจิตใจจะสามารถเผชิญความสงบได้ สามารถประคองจิตให้มีสติ ถ้าหากญาติผู้ป่วยและตัวผู้ป่วยเห็นตรงนี้ เขาก็จะถอดเครื่องมือทั้งหลายออก แล้วกลับไปตายที่บ้าน ถ้าเป็นคนป่วยที่มีฐานะอาจจะขอตายในห้องพิเศษที่โรงพยาบาลนั่นแหละ แล้วก็ค่อย ๆ รับความตายอย่างมีสติ เดี๋ยวนี้ก็มีหลายคน พอรู้ว่าจะต้องตาย เขาก็กลับไปตายที่บ้าน โดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่ หลายคนเขาเลือกไปตายที่บ้าน เพราะว่าหนึ่ง มันเป็นที่ที่เขาคุ้นเคย สอง เป็นที่ที่เขาจะได้อยู่กับลูกหลาน การได้อยู่กับลูกหลานเป็นความสุขในช่วงสุดท้ายของชีวิต รวมทั้งได้สั่งเสียอะไรต่างๆ หลายอย่าง อันนี้เป็นเรื่องที่ถ้าหากผู้ป่วยมีสติรู้ตัวอยู่ ก็ไม่ยาก แต่ถ้าอยู่ในภาวะโคม่า ญาติพี่น้องจะกล้าทำหรือเปล่า ถ้าญาติพี่น้องไม่เข้าใจเรื่องตรงนี้ และไม่เคยได้คุยกับผู้ป่วยมาก่อน ก็อาจไม่กล้า เพราะกลัวจะถูกหาว่าอกตัญญู คือคนมักคิดว่าถ้ารักพ่อรักแม่ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตายช้าที่สุด จะลงทุนเท่าไหร่ก็ยอม ต้องทำให้เต็มที่ เพราะถือว่าเป็นโอกาสสุดท้าย เรื่องนี้หมอมีบทบาทสำคัญในการชี้แนะ ถ้าเป็นหมอที่มีความรู้ความเข้าใจ หากคนไข้ไม่รอดแน่ หมอก็น่าจะแนะนำให้ไปตายอย่างสงบที่บ้านดีกว่า

 

? ในทางพุทธศาสนา การหมดลมหายใจหรือสมองไม่ทำงาน ถือว่าตายสนิทแล้วหรือยังครับ

พระไพศาล วิสาโล  : เป็น แค่ตายทางกาย ในทางพุทธศาสนาเชื่อว่า จิตอาจยังอยู่ บางทีหมดลมแล้ว จิตอาจยังไม่รู้ว่าตายด้วยซ้ำ เราเชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ตายแล้วแต่ไม่รู้ว่าตาย เพราะมันเหมือนกับฝันไป เวลาคุณฝัน คุณไม่รู้หรอกว่าคุณหลับอยู่ คนตายแล้วบางทีเขาเหมือนกับคนฝัน เขาอาจจะเห็นโน่นเห็นนี่ แต่เขานึกว่าไอ้ที่เห็นมันเป็นความฝัน แต่ที่จริงที่เขาเห็นมันไม่ใช่ฝันแล้วนะ คือเห็นจริง ๆ แต่เห็นในภาวะที่จิตออกจากร่างแล้ว

         ทางทิเบตพูดเรื่องนี้ไว้ชัดเลยว่า ถึงแม้จะหมดลมแล้ว แต่จิตยังไม่ออกจากร่างทันที ต้องผ่านกระบวนการแตกดับภายใน จนถึงขั้นที่เรียกว่า " แสงกระจ่าง " ถึงตอนนั้นจึงจะตายอย่างแท้จริง แต่ก็มีนักปฏิบัติธรรมจำนวนไม่น้อยที่หมดลมไปแล้วหลายวัน แต่จิตยังไม่แตกดับอย่างถึงที่สุด เพราะจิตยังไม่ออกจากร่าง อย่างนี้เรียกว่าลมหายใจภายในยังไม่หมด แม้ลมหายใจภายนอกจะหมดไปแล้วก็ตาม ในทิเบตเวลามีใครตาย เขาจะไม่แตะหรือเคลื่อนย้ายร่างเลย เพราะไม่ต้องการรบกวนจิตที่กำลังอยู่ในภาวะที่ละเอียดอ่อน มีการปล่อยไว้ถึง ๓ วัน ๗ วัน หรือ ๑๐ วันก็มี ปรากฏว่าร่างไม่เน่าไม่ส่งกลิ่น หมอฝรั่งก็แปลกใจว่าทำไมไม่เน่า ที่ไม่เน่าเพราะยังไม่ตาย ถึงแม้ว่าลมหายใจหมดแล้ว นี่เป็นกรณีนักปฏิบัติธรรม แต่ถ้าไม่ใช่นักปฏิบัติธรรม จิตจะแตกดับและหลุดจากร่างเร็วมาก อย่างไรก็ตาม เวลาใครตายญาติน่าจะปล่อยไว้นิ่ง ๆ สักครึ่งวันหรือหนึ่งคืน แล้วก็ร่วมกันสวดมนต์ภาวนา ทำสมาธิรอบ ๆ เตียงคนตาย ส่งจิตให้เขาได้รับกุศล แผ่เมตตาให้เขาได้รับความสงบเย็น

         อย่างกรณี สุภาพร พงศ์พฤกษ์ หลังจากหมดลมแล้ว เพื่อนก็ยังทำสมาธิและตีระฆังให้จิตรับรู้ เพราะตอนมีชีวิตอยู่เขาคุ้นกับเสียงระฆัง ถ้ามีเสียงแบบนี้ช่วย จิตก็จะน้อมไปในทางที่เป็นกุศลได้ง่าย อันนี้เป็นเรื่องที่คนไม่ค่อยได้คิด พอหมดลม ใครต่อใครก็พากันทำโน่นทำนี่กับศพ เตรียมทำความสะอาดศพบ้าง ฉีดน้ำยากันเน่าบ้าง บรรยากาศดูวุ่นวาย ไม่เอื้อต่อความสงบในขั้นสุดท้าย ที่จริงแม้กระทั่งตอนจัดงานศพแล้ว กระบวนการดังกล่าวก็ยังสำคัญอยู่ เพราะจิตก็อาจจะยังรับรู้ได้

 

? การรักษาของแพทย์แผนปัจจุบันดูเหมือนไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องของจิตใจใช่ไหมครับ

พระไพศาล วิสาโล  : ที่ผ่านมาไม่ค่อยมี แต่ตอนนี้เริ่มให้ความสำคัญแล้ว อย่างเช่นในหลายโรงพยาบาลในอเมริกาตอนนี้ เขาสนับสนุนให้ผู้ป่วยทำสมาธิภาวนาหรือสวดมนต์ เพราะจากการวิจัยพบว่า ผู้ที่สวดมนต์ภาวนาหรือสนใจศาสนา เวลาผ่าตัดใหญ่ พวกนี้จะหายไวกว่า โอกาสรอดมากกว่า ใช้ยาน้อยกว่า เคยมีการทดลองถึงขั้นว่าให้คนอื่นสวดมนต์ภาวนา แผ่เมตตาให้แก่ผู้ป่วย ปรากฏว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ใช้ยาน้อยลง เมื่อเทียบกับผู้ป่วยอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่มีใครสวดมนต์ภาวนาให้ หลายแห่งในยุโรปและอเมริกาจึงให้ความสนใจกับเรื่องจิตใจมากขึ้น ทำให้โรงพยาบาลสมัยใหม่เริ่มที่จะให้ความสนใจกับการดูแลรักษาจิตใจของคนใกล้ ตาย แต่ก็ยังถือว่าเป็นกระแสรอง ไม่ใช่กระแสหลัก กระแสหลักก็เป็นอย่างที่เห็น คือพยายามช่วยยืดชีวิตเต็มที่ ใช้มาตรการทางการแพทย์ทุกอย่างเพื่อที่จะต่ออายุ ยืดลมหายใจ แต่สุดท้ายก็เป็นการยืดการตายมากกว่ายืดชีวิต ตอนนี้ในเมืองไทยก็มีหลายโรงพยาบาลที่ให้ความสนใจเรื่องนี้ อย่างเช่นที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ มีกลุ่มหมอและพยาบาลที่พยายามอนุเคราะห์ผู้ป่วยในเรื่องของจิตใจด้วย ไม่ว่ามุสลิมหรือพุทธ เพราะเขาเห็นเลยว่าหลายคน พอเอามิติทางศาสนาเข้าไป อาการกลับดีขึ้น ไม่ใช่แค่ตายอย่างสงบด้วยซ้ำ คือหายด้วย มีผู้ป่วยบางคนเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย รักษายังไงก็ไม่หาย บอกหมอว่าอยากอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน หมอก็ตอบสนองตามความต้องการ ปรากฏพอได้อ่านคัมภีร์อาการก็ดีขึ้นมาก จนออกจากโรงพยาบาลได้ ที่โรงพยาบาลรามาฯ ก็มีพยาบาลบางคนให้ความสนใจกับเรื่องนี้มาก ช่วง ๓ - ๔ เดือนที่ผ่านมา อาตมาได้รับนิมนต์ให้ไปพูดเรื่องนี้หลายที่ เช่น ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี รวมทั้งในการประชุมของสมาคมพยาบาล ล่าสุดไปพูดที่คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในแวดวงพยาบาลมีการตื่นตัวมากขึ้นในเรื่องการช่วยเหลือทางจิตใจแก่ผู้ป่วย ระยะสุดท้าย นี่เป็นนิมิตที่ดี

 

?คนปัจจุบันค่อนข้างรังเกียจความตาย แตกต่างจากคนสมัยโบราณหรือไม่

พระไพศาล วิสาโล  : คิด ว่าต่างนะ เพราะความตายสำหรับคนสมัยใหม่ถือเป็นเรื่องที่ต้องห้ามมาก บางทีคำว่า " ตาย " ก็พูดไม่ได้ ต้องใช้คำว่า " จากไป " ในโรงพยาบาลฝรั่งเขาไม่เรียกว่าตาย เขาเรียก " expire" คือหมดอายุ ไม่กล้าพูดว่า " ตาย " เพราะถือเป็นเรื่องต้องห้าม คนไทย คนจีน เดี๋ยวนี้ก็เหมือนกัน พูดแล้วกลัวว่าจะเป็นลางไม่ดี อัปมงคล เพราะความคิด วิถีชีวิต โลกทัศน์ของคนสมัยนี้มองชีวิตและความตายแยกจากกัน คนสมัยก่อน ความตายเป็นเรื่องที่เขาคุ้นเคย เพราะใคร ๆ ก็ตายที่บ้าน ตั้งแต่เล็กจนโต ก็คุ้นกับความตาย เวลาใครใกล้ตาย คนในหมู่บ้านก็จะไปช่วยเป็นเพื่อน เวลาตายก็ตั้งศพที่บ้าน สวดมนต์ที่บ้าน ต่อเมื่อจะเผาจึงหามไปเผาที่ป่าช้าหรือที่วัด แต่เดี๋ยวนี้ผู้คนจะถูกปิดกั้นไม่ให้รับรู้เรื่องความตาย เช่นไปตายที่โรงพยาบาล หรือในห้องไอซียู ซึ่งคนไม่ค่อยได้เห็น เมื่อตายแล้วก็ไม่ได้เห็นศพ เพราะว่าศพอยู่ในโลงและเผากันแบบมิดชิด เรียกว่าเป็นชีวิตที่ถูกแยกขาดจากความตาย เลยไม่คุ้นเคยกับความตาย เห็นความตายเป็นเรื่องน่ากลัว ทั้ง ๆ ที่สื่อมวลชน วิทยุ โทรทัศน์ ก็มีเรื่องความตาย แม้กระทั่งในวิดีโอเกมก็มีเรื่องความตาย แต่เป็นความตายแบบ second hand คือผ่านสื่ออีกทีหนึ่ง เป็นความตายแบบเทียม ๆ อิทธิพลของสังคมตะวันตกก็มีส่วนในการบ่มเพาะทัศนคติแบบนี้ วัฒนธรรมตะวันตกในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมา เป็นวัฒนธรรมที่มองความตายว่าเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจมาก พอมันเข้ามามีอิทธิพลในสังคมไทย เราก็พลอยรับค่านิยมแบบนี้ไปด้วย " ตอนนี้ชีวิตยังสนุกอยู่ จะไปเตรียมตัวเรื่องความตายทำไม ยังไม่อยากรับรู้ จะสนุกอย่างไรในที่สุดเราก็ต้องเจอกับความตาย ปัญหาคือว่า ถึงตอนนั้น ถ้าเราไม่พร้อม เราก็ไม่มีโอกาสแก้ตัวแล้ว เพราะเรามีโอกาสตายได้แค่ครั้งเดียว ไม่เหมือนสอบเอนทรานซ์ และความทุกข์ทรมานตอนใกล้ตาย มันยิ่งกว่าความทุกข์ทรมานทั้งหลายทั้งปวงในตอนที่มีชีวิตอยู่ ตอนที่มีชีวิตอยู่ ตอนที่ยังสบาย เราพอที่จะจัดการกับความเจ็บปวดได้ เพราะเรายังมีสติดี ร่างกายเรายังมีกำลังเข้มแข็ง แต่ตอนที่ใกล้ตาย มันกะปลกกะเปลี้ยไปหมดทุกอย่างเลย ร่างกายก็อ่อนแอ จิตก็เสื่อมถอย สติก็เลือนราง ถึงตอนนี้ก็ยากที่จะรับมือกับความตายได้ คือในยามปรกติเราสามารถรับความสูญเสียอะไรก็ได้ที่เกิดขึ้น เช่น อกหัก ตกงาน ล้มละลาย แม้กระทั่งเวลาเจ็บป่วย แต่ตอนใกล้ตายไม่ใช่อย่างนั้น สังขารทั้งร่างกายและจิตใจมันเสื่อม มันอ่อนล้าไปทุกส่วน การเผชิญกับความตายซึ่งเป็นเรื่องที่ใหญ่ที่สุดในชีวิต จึงเป็นเรื่องที่ยากมาก ถ้ามองในแง่พระพุทธศาสนา เราเกิดมาทั้งชีวิต ก็เพื่อที่จะได้เตรียมตัวสำหรับเผชิญกับวาระสุดท้ายของชีวิต เพราะความตายเป็นภัยพิบัติที่หนักหนาสาหัสที่สุดที่คนหนึ่งจะต้องประสบ มีคราวหนึ่ง หลวงปู่มั่นไปเยี่ยมพระรูปหนึ่งซึ่งชรามากและใกล้มรณภาพแล้ว ท่านไปถึงก็ยิ้มให้ แล้วแนะนำว่าที่เราปฏิบัติธรรมกันมาทั้งหมด ก็เพื่อโอกาสนี้เท่านั้นแหละ อีกอย่างหนึ่งพุทธศาสนามองว่า มนุษย์เราจะหลุดพ้นจากวัฏสงสารหรือเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสารหรือว่าจะตกสู่ อบายภูมิหรือไม่ ทั้งหมดนี้ล้วนมีความตายเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ ถ้าคุณจัดการกับความตายได้ไม่ดี ก็ไปสู่อบายภูมิเลย แต่ถ้าจัดการกับความตายได้ดี ก็สามารถไปสู่สุคติภูมิหรือหลุดพ้นได้ จุดสุดท้ายของชีวิต เป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ ถ้าเราเตรียมตัวมาไม่ดี ก็ไปเลยแต่วิถีชีวิตปัจจุบันก็ยังถือว่าความตายเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ อย่างที่ท่านเคยบอกว่า คนสมัยนี้ส้วมเอาไว้ในบ้าน แต่ศพเอาไว้นอกบ้าน มันเป็นวิวัฒนาการ คือเริ่มเห็นว่าเป็นของน่ารังเกียจ ต้องเอาออกนอกบ้านไป ถือว่าไม่สะอาด แต่ขณะเดียวกันห้องส้วมเรากลับเอาเข้ามา และถือว่าเป็นเฟอร์นิเจอร์ส่วนหนึ่งของบ้าน มาอวดอัครฐานกัน บางทีก็วัดกันที่ห้องน้ำ ว่าใช้โถส้วมแบบไหน ราคาเท่าไหร่ ใช้กระเบื้องอะไร เรียกว่าเป็นอิทธิพลของบริโภคนิยมด้วย บริโภคนิยมทำให้เราเพลิดเพลินกับการเสพ การบริโภค และไปวิ่งไต่เต้าแสวงหาสิ่งที่ไม่ใช่สาระของชีวิต รวมถึงชื่อเสียง เกียรติยศ และอัครฐาน เดี๋ยวนี้การบริโภคจะเน้นเรื่องภาพลักษณ์มาก เช่น ความทันสมัย อย่างกินแฮมเบอร์เกอร์ เราไม่ได้กินเอาความอร่อย แต่กินเอาภาพลักษณ์ เช่น ความเท่ ความทันสมัย ใส่รองเท้า เราไม่ได้ใส่เพราะมันนุ่มเท้า แต่เพราะใส่แล้วรู้สึกว่าเราเป็นผู้ชนะ เหมือน ไมเคิล จอร์แดน หรือ ไทเกอร์ วูดส์ ที่เขาเอามาเป็นพรีเซนเตอร์ เดี๋ยวนี้คนเราไปหลงบริโภคกับสิ่งเหล่านี้ซะเยอะ จนกระทั่งลืมไปว่าวันหนึ่งเราจะต้องตาย บริโภคนิยมในแง่หนึ่งก็เป็นปฏิปักษ์กับความตาย คือเขาไม่ต้องการให้คนมาคิดถึงเรื่องความตายมาก เพราะคิดถึงเรื่องความตายแล้ว จะรู้สึกว่าที่เราไปไล่ล่าหาของมาเสพนั้นมันไม่ใช่สาระของชีวิต สักวันหนึ่งของพวกนี้ก็ต้องพลัดพรากสูญหายไป บริโภคนิยมทำให้เราลืมตาย ทำให้ประมาท ตัวบริโภคนิยมเองไม่อยากพูดถึงความตาย ถ้าจะพูดก็ต้องเป็นความตายที่ขายได้ เช่นในวิดีโอเกม หรือในหนัง ที่ต้องมีการฆ่าเลือดท่วมจอ บู๊ล้างผลาญ เอาความตายมากระตุ้นให้เกิดความตื่นเต้นขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น ตอนเกิดสงครามอิรัก สื่อมวลชนจะคอยติดตาม เสนอข่าวการใช้จรวดทำลายที่โน่น ระเบิดที่นี่ คนดูก็คอยติดตามข่าวสงครามในอิรักเพราะว่ามันตื่นเต้นเหมือนในหนัง ไม่ได้รู้สึกรู้สมกับความทุกข์ทรมานหรือความตายที่เกิดขึ้นเลย ถ้ารู้สึกรู้สมแล้ว ก็จะหวนระลึกขึ้นมาได้ว่าถ้าเราอยู่ในเหตุการณ์อย่างนั้นบ้าง เราจะเป็นอย่างไร แต่เนื่องจากสื่อมวลชนนั้นส่วนหนึ่งต้องการขายข่าว ต้องการเพิ่มยอดคนดู จึงต้องพยายามเสนอเรื่องที่น่าตื่นเต้น แม้กระทั่งเรื่องความตาย ก็เอามานำเสนอให้เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นได้ ความตายที่ขายได้คือสิ่งที่กระตุ้นเร้าให้รู้สึกตื่นเต้นสะใจ แทนที่จะทำให้เกิดความสลดสังเวช หนังฮอลลีวูดก็จะเป็นอย่างนี้ซะเยอะ อันนี้เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้คนเดี๋ยวนี้เขาไม่ค่อยนึกถึงความตายเท่า ไหร่ หรือรู้สึกว่าความตายเป็นเรื่องที่ไม่ต้องนึกถึงก็ได้คนทั่วไปเชื่อว่ามีแต่ คนแก่เท่านั้นที่นึกถึงความตาย แต่คนหนุ่มสาวไม่ควรคิดถึงความตาย เพราะจะทำให้พลังในการสร้างสรรค์ลดลง คนหนุ่มคนสาวไม่ตายหรอกหรือ ความตายเกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่มียกเว้น แต่ความจริงง่าย ๆ อย่างนี้ ผู้คนกลับมองไม่เห็นเพราะเพลินกับการเสพการบริโภค สังคมทุกวันนี้ถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมที่เน้นการเสพ การบริโภค เน้นความสุขทางเนื้อหนัง ความตายมันเป็นปฏิปักษ์กับความสุขทางวัตถุโดยตรง เพราะว่ามันหมายถึงความสูญเสีย หมายถึงความพลัดพราก การหมดโอกาสที่จะได้เสพบริโภค แต่ไม่ว่าจะเพลินแค่ไหน ความตายมันก็มาโดยไม่เลือกเวลา มีนักร้อง ดาราดัง ๆ ที่ตายไปในช่วงที่เป็นวัยรุ่นก็เยอะ คือมันประมาทไม่ได้ ไม่ว่าจะหนุ่มสาว คนมีอายุ ก็มีโอกาสที่จะตายได้ตลอดเวลา คนแก่เขาต้องคิดถึงความตายมากขึ้น เพราะว่ามันมาใกล้ทุกทีแล้ว แต่คนหนุ่มคนสาวก็ใช่ว่าจะหนีความตายได้

         อย่างไรก็ตาม การนึกถึงความตายก็ต้องนึกให้ดีเหมือนกัน ไม่ใช่นึกแล้วใจห่อเหี่ยว ถ้านึกแบบนั้นไม่ถูกต้อง คือหนึ่ง เรานึกถึงความตายเพื่อที่เราจะได้ไม่ประมาท ไม่เผลอคิดว่าเราจะอยู่ค้ำฟ้า สอง เราคิดถึงความตายเพื่อจะได้เร่งทำสิ่งที่ควรทำ ขยันขันแข็ง ไม่แชเชือน อะไรที่จะต้องทำก็ควรรีบทำเสียแต่เนิ่น ๆ อย่าปล่อยให้ชีวิตล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ พอความตายเข้ามาถึงแล้วจะนึกเสียดายว่า โอย ฉันไม่น่าปล่อยเวลาให้ผ่านเลยไป เราต้องรู้จักเอาความตายมากระตุ้นเตือนตัวเองเพื่อจะได้ใช้ชีวิตอย่างมีค่า ที่สุด อย่างเช่น สตีเฟน ฮอว์คิง คนเขียนเรื่อง A brief history of time ถ้าอ่านประวัติเขา จะเห็นได้ว่าตอนที่เขาเป็นนักศึกษา ไม่ได้มีอะไรเด่นเลย แถมเป็นคนชอบเที่ยว ชอบสนุกสนาน แต่พอเขาเป็นโรคที่ทำลายระบบสั่งการของกล้ามเนื้อ มันทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในชีวิตเขามากเลย เพราะโรคนี้รักษาไม่หาย และส่วนมากจะต้องตายในเวลาไม่นาน เมื่อรู้ว่าตัวเองจะมีชีวิตในโลกนี้ได้ไม่นาน เขาจึงคิดหนักว่าจะทำยังไงกับชีวิต ก็เลยนึกถึงสิ่งที่ตัวเองจะทำประโยชน์ให้ได้มากที่สุด คือการหาคำตอบในเรื่องจักรวาล เขาเลยทุ่มเทกับการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่องจักรวาล จนกลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านจักรวาลวิทยาที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่ง ถ้าความตายไม่มาคุกคาม สตีเฟน ฮอว์คิง โลกคงไม่มีนักวิทยาศาสตร์ที่โดดเด่นอย่างเขา นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งว่า ความตายสามารถกระตุ้นให้คนเราถามหาความหมายของชีวิต และเริ่มที่จะคิดว่าเราจะใช้เวลาที่เหลือน้อยนิดไปทำประโยชน์ให้แก่โลกและ ตัวเองได้อย่างไร นี่คือการคิดถึงความตายในแง่ที่เป็นคุณ เป็นประโยชน์ แต่ถ้าหากว่าเราคิดถึงความตายในแง่ที่ชวนให้ท้อแท้ หดหู่ อันนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี พระพุทธเจ้าไม่สนับสนุนไม่สรรเสริญ เราจึงต้องรู้จักใช้ความตายให้เป็นประโยชน์ คนหนุ่มคนสาวจึงควรคิดเรื่องนี้ให้มาก เพราะจะได้มีเวลาเตรียมตัวในขณะที่ยังมีกำลังวังชาอยู่ เพราะเมื่อแก่แล้วจะนึกเสียดายที่เวลามันผ่านไปอย่างรวดเร็ว และกำลังวังชาก็หมดไปแล้ว ไม่ทันได้เตรียมตัว แต่คนส่วนใหญ่คิดถึงเรื่องความตายทีไรก็ห่อเหี่ยวทุกที และพยายามจะหลีกหนีมัน เอาไว้แก่ ๆ ค่อยคิด ตอนนี้หาเงิน สร้างครอบครัวก่อน แต่เราหนีมันไม่พ้น คือเมื่อเราไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไหร่ แทนที่เราจะเอาแต่เที่ยวเล่น เราก็ทำในสิ่งที่ควรทำ เช่น ถ้าเรามีหน้าที่ต่อครอบครัว เราก็ต้องขยันขันแข็งในการทำมาหากิน เพื่อที่จะได้มีทุนรอนให้แก่ครอบครัว เพราะเราจะไปเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ถ้าเราไป แล้วครอบครัวเรามีหลักมีฐาน ก็หมดห่วง คนที่คิดเรื่องความตายเขาคิดแบบนี้เหมือนกัน ทำให้เกิดความขยันขันแข็งในการทำมาหากิน แต่จะทำมาหากินอย่างเดียวคงไม่พอ นอกจากขยันขันแข็งในการทำมาหากินแล้ว ก็ควรคิดถึงการใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ ตรงนี้หลายคนมาได้คิดก็ตอนที่ใกล้จะตาย หรือเมื่อรู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง อย่างที่เราคงได้ยินหลายคนพูดว่า โชคดีที่เป็นมะเร็ง โชคดีเพราะว่าตอนที่ไม่เป็นมะเร็งก็เอาแต่เที่ยว หรือบางคนก็เอาแต่ทำงาน โดยที่ไม่เคยมีเวลาอยู่กับครอบครัว ไม่มีเวลาอยู่กับตนเอง แต่พอเป็นมะเร็ง ความตายมันใกล้เข้ามา ก็เลยคิดถึงครอบครัว ให้เวลากับครอบครัวมากขึ้น หลายคนหันมาคิดถึงความหมายของชีวิต มีเวลาให้แก่การปฏิบัติธรรมมากขึ้น

         อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราต้องยอมรับก็คือว่า แม้ความตายของเราอาจจะอยู่อีกไกลเพราะเรายังหนุ่มยังสาวอยู่ แต่ว่าความตายของคนใกล้ชิดเราเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ความตายของพ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อน ไม่มีทางที่เราจะปฏิเสธหรือหนีพ้น และมันทุกข์ใจมากนะ ถ้าเราไม่มีภูมิคุ้มกันหรือภูมิต้านทานต่อความทุกข์ ความตายของคนใกล้เคียงจะบั่นทอนจิตใจของเราให้ทุกข์ระทม แต่ถ้าเรารู้จักความตายดี จัดการกับความตายได้อย่างถูกต้อง เหตุการณ์เหล่านี้จะไม่ทำให้เราทุกข์มาก ถามว่าเราจะรู้จักความตายได้อย่างไร ก็ต้องคุ้นเคยกับมัน และคิดถึงมันบ่อย ๆ จนกระทั่งเรารู้ว่าเราสามารถเข้าใจธรรมชาติของมันตามที่เป็นจริงได้ และก็ไม่กลัว

 

? อาจารย์กำลังจะบอกว่าความตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

พระไพศาล วิสาโล  : ความตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และเกิดขึ้นตลอดเวลา ทั้งในแง่ของร่างกายและจิตใจ ทั้งในแง่รูปธรรมและนามธรรมที่เราเกี่ยวข้องด้วย เช่น การพลัดพรากจากของรักของชอบ รถหาย บ้านไฟไหม้ เงินถูกขโมย มีใครไม่เสียใจบ้างเวลารถถูกขโมย นี่เป็นส่วนหนึ่งของความตาย เป็นส่วนหนึ่งของความพลัดพราก ไม่มีใครหนีพ้นความตายในแง่นี้ ชีวิตนี้จะต้องเจอไม่รู้กี่ครั้ง จนกว่าจะมาถึงความตายที่เป็นการหมดลม ถ้าเราตระหนักชัดว่าความตายเป็นธรรมดาของชีวิต เราก็จะทำใจรับความพลัดพรากสูญเสียเหล่านี้ได้ เวลาทรัพย์สินเสียหาย หรือถูกขโมย หรือเจ็บป่วย เราจะได้ไม่ทุกข์มาก เพราะเรารู้ว่ามันเป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อเทียบกับความตายที่จะมาถึง ฉะนั้นอย่าไปนึกว่าการนึกถึงความตายจะทำให้หดหู่ นั่นเป็นเพราะเรายังไม่รู้จักความตายดีพอ ถ้าเรารู้จักความตายดีพอ เราก็จะรู้ว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของเราที่เกิดขึ้นตลอดเวลา

 

? คนบางคนก็เข้าใจสิ่งที่อาจารย์พูด ว่าความตายเป็นเรื่องของการพลัดพราก แต่วันหนึ่งเมื่อเกิดขึ้นกับตัวเอง ก็ยังร้องไห้เศร้าโศกได้ ขณะที่อีกคนหนึ่งเสียใจสักวันสองวัน แล้วก็ทำใจได้ ที่ต่างกันเพราะอะไร

พระไพศาล วิสาโล  : ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าคนที่คิดถึงความตาย คิดแค่ในระดับสมอง เป็นเพียงแค่ใช้สมองในการพิจารณา แต่มันไปไม่ถึงหัวใจ คือสมองกับหัวใจยังไม่ประสานกัน เราคิดอะไรได้มากมาย แต่เราทำใจไม่ได้ก็เยอะ เพราะใจของเราไม่ได้รับการฝึก เราเพียงแค่คิด แต่เราไม่ได้ฝึกใจด้วย ฉะนั้นเราต้องฝึกใจอยู่เสมอ คือหนึ่ง นึกถึงความตายอยู่เสมอ อย่างเช่นก่อนนอน เราทำสมาธิแผ่เมตตาแล้วก็นึกถึงความตายว่ามันจะต้องเกิดขึ้นกับเราไม่วันใด ก็วันหนึ่ง อาจจะต้องนึกด้วยว่าคืนนี้อาจจะเป็นคืนสุดท้ายของเรา เวลาจะขึ้นเครื่องบิน นั่งรถทัวร์ ก็ให้นึกว่านี่อาจจะเป็นการนั่งครั้งสุดท้ายของเรา เราอาจจะประสบอุบัติเหตุ แล้วก็จบลงตรงนั้นเลยก็ได้ การคิดอย่างนี้ ใหม่ ๆ มันน่ากลัว แต่ถ้าคิดบ่อย ๆ ก็จะคุ้นเคย แล้วก็จะเริ่มรู้สึกพร้อมว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นมา เราจะทำใจยังไง เวลาดูข่าวอย่างเหตุการณ์ ๑๑ กันยา แทนที่เราจะทำตัวเป็นผู้สังเกตการณ์ เราลองนึกว่าถ้าเราอยู่ในเหตุการณ์นั้นเราจะรู้สึกอย่างไร นี่ก็เป็นการฝึกให้เราพร้อมที่จะเผชิญกับความตายได้ดีขึ้น ใหม่ ๆ ก็จะขนหัวลุกด้วยซ้ำ หรือว่าเกร็ง เครียด แต่เมื่อคิดบ่อย ๆ ก็จะค่อย ๆ คุ้นเคย อันที่ ๒ คือเวลาเราได้ฟังได้ข่าวความตายของคนที่เรารู้จัก คนที่เราเคารพนับถือ หรือแม้กระทั่งเวลาไปงานศพ ก็ให้พิจารณาว่าสักวันหนึ่งเราก็ต้องเป็นอย่างเขา ถามตัวเองว่าเราพร้อมหรือยังที่จะไป อะไรที่ควรทำ เราทำแล้วหรือยัง เราได้ทำอะไรให้พ่อแม่เราแล้วหรือยัง คิดแบบนี้จะทำให้เรารู้สึกเลยว่า คนทุกคนที่เราได้พบปะมีความสำคัญมากเลย เพราะเราไม่รู้เลยว่านี่จะเป็นการพบปะครั้งสุดท้ายหรือเปล่า เวลาเราเจอพ่อเจอแม่ เราจะให้เวลากับเขาอย่างเต็มที่ เพราะเราไม่รู้ว่าพรุ่งนี้หรือมะรืนนี้ เราหรือเขาจะเป็นฝ่ายไป แทนที่จะมาทะเลาะเบาะแว้งกัน โกรธกัน พอมานึกว่านี่อาจจะเป็นการพบกันครั้งสุดท้าย มันก็ช่วยให้เราลืมเรื่องขุ่นข้องหมองใจแล้วก็สัมพันธ์กันด้วยดี หรือไม่ก็จากกันด้วยดี

         ลองถามตัวเองก็ได้ว่า ถ้าอีก ๓ วันเราจะต้องไปจากโลกนี้ เราจะทำอย่างไรบ้างกับชีวิต ๓ วันที่เหลือ คุณจะพบเลยว่า โอ้โห มีอะไรหลายอย่างที่จะต้องทำมากเลย อาตมาเคยถามคำถามนี้กับนักศึกษาหลายคน เขาตอบว่าจะไปหาพ่อ ไปขอโทษแม่ จะบวช จะไปปฏิบัติธรรม แต่ว่าสิ่งที่เขาอยากทำมันเยอะไปหมด ๓ วันไม่พอ เขาจะรู้เลยว่าไอ้ที่เขาไปเที่ยวเตร็ดเตร่ตามชอปปิงมอลล์มันไม่มีความสำคัญ เลย ปัญหาคือว่าไม่มีใครรู้ล่วงหน้าหรอกว่าตัวเองจะตายในเวลา ๓ วัน ส่วนใหญ่ก็ตายแบบไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัวทั้งนั้น ไม่ทันได้ทำอะไรเลย ฉะนั้นการนึกถึงความตายแต่เนิ่น ๆ มันเป็นการคิดล้ำหน้าคนอื่นเขาด้วยซ้ำ ไม่ใช่เป็นเรื่องของคนล้าสมัย ทำให้เราสามารถทำอะไรต่ออะไรได้ตั้งหลายอย่างที่คนอื่นเขาไม่ทันได้คิด ไม่ทันได้ทำ มันกลับกลายเป็นวิธีการของคนที่มีวิสัยทัศน์ยาวไกลกว่า" สำหรับคนที่ตายปุบปับ รถชน เครื่องบินตก พวกนี้จะเตรียมตัวเพื่อที่จะตายอย่างสงบอย่างไร

         ปัญหาอยู่ที่ว่าตอนที่เขากำลังจะตาย เขาคิดอะไรอยู่ ถ้าเขากำลังเป็นห่วงเพื่อน คิดโกรธคนโน้น เกลียดคนนี้ เขาก็ไม่ได้ตายดี แต่แน่นอนเขาอาจไม่ได้รู้สึกเจ็บปวด เพราะว่าไปเสียก่อนที่จะรู้สึกเจ็บปวด แต่ว่าคนที่อยู่ในเครื่องบินที่กำลังตก หรืออยู่ในรถที่กำลังประสานงากัน ก็คงทำใจยาก เพราะจิตจะตื่นตระหนก ตรงนี้แหละที่ทำให้เราจำเป็นต้องฝึก ถ้าเราฝึกอยู่เสมอ สติของเราจะไว ในยามหน้าสิ่วหน้าขวาน ถ้าเรามีสติดีพอ เราจะกำหนดจิตไว้ได้ถูกต้อง ถ้าเรานึกถึงสิ่งที่ดีงาม เช่น นึกถึงพระพุทธรูป พระรัตนตรัย แทนที่จะไปจดจ่อกับความตายที่กำลังจะมา หรือนึกถึงร่างที่จะแหลกเละเวลาเครื่องบินตก ถ้าจิตเราไปอยู่กับสิ่งที่ดีงาม มันก็ทำให้เราผ่านเหตุการณ์อย่างนั้นไปได้ด้วยดี" ปัจจุบันดูเหมือนว่าพิธีกรรมของความตายจะถูกตัดออกไปจากญาติพี่น้อง กลายเป็นเรื่องของสัปเหร่อ เป็นเรื่องของแพทย์ พยาบาล ทุกอย่างถูกตัดขาดออกจากคนใกล้ชิด

 

? อันนี้ควรจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างไร

พระไพศาล วิสาโล  : อาจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เคยเล่าว่าตอนที่คุณแม่เสีย ไปตั้งศพที่วัดชลประทาน ทางวัดไม่มีสัปเหร่อ พระท่านก็มาแนะว่าตัวอาจารย์เจิมศักดิ์และลูกหลานควรเป็นสัปเหร่อเสียเอง คือเรื่องการรดน้ำศพ ให้ทำกันเอง รวมทั้งเวลายกศพเข้าไปในหีบด้วย อาจารย์เจิมศักดิ์บอกว่านี่เป็นประสบการณ์ที่ประทับใจมาก และเป็นโอกาสที่ได้รับใช้แม่ผู้มีพระคุณในวาระสุดท้าย และก็ได้เรียนธรรมะมาก เช่นตอนที่จะยกศพ ได้เห็นมดไต่ตามตัวของแม่ เห็นแล้วก็ปลงอนิจจังว่า คนเราเมื่อตาย ร่างกายก็คืนสู่ธรรมชาติ กลายเป็นอาหารของสัตว์ต่าง ๆ นี่เป็นวัฏจักรของธรรมชาติ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ญาติผู้ป่วยควรจะเตรียมพร้อมและควรเต็มใจอาสาทำ เรื่องนี้ด้วย แม้จะไม่มีความรู้ก็สอบถามได้ เพราะทางโรงพยาบาลหรือทางวัดมีคนที่มีความรู้เรื่องนี้ แต่ว่าเราต้องไม่กลัว ถ้าเรากลัวแล้วเราจะไม่กล้าที่จะทำ ต้องเรียกให้เจ้าหน้าที่ที่โรงพยาบาลหรือสัปเหร่อมาทำให้ ตรงนี้ทำให้เราพลาดโอกาสที่จะได้รับใช้ผู้มีพระคุณ และพลาดโอกาสที่จะได้เรียนรู้ธรรมะจากการได้ใกล้ชิดกับความตาย และเมื่อเราได้เข้าไปสัมผัส เราก็จะรู้ว่าความตายไม่น่ากลัว รวมไปถึงแม้กระทั่งก่อนจะเอาศพเข้าเตา จะขอให้ทางวัดเปิดฝาโลงก็ได้เพื่อจะได้เห็นหน้าผู้ตายเป็นครั้งสุดท้าย เป็นโอกาสที่จะได้พิจารณามรณสติและอสุภะไปด้วย นี่เป็นประเพณีไทยที่ทำมาช้านาน

 

? อสุภะ หมายถึงอะไร 

พระไพศาล วิสาโล  : อสุภะ หมายถึงไม่งาม คือการพิจารณาให้เห็นว่าโลกนี้มันก็มีสิ่งที่ไม่งามอยู่ นั่นคืออีกด้านหนึ่งของความจริง มันเป็นเหรียญสองด้าน ด้านหนึ่งคือความสวยงาม เช่น ดอกไม้ แต่เมื่อมันโรย มันก็ไม่น่าดู อันนี้คืออีกด้านหนึ่งของดอกไม้ที่เราอาจจะไม่ค่อยสนใจมองกัน อสุภะก็คือความไม่งามซึ่งเป็นอีกด้านหนึ่งของชีวิต มนุษย์เรามีด้านที่สวยงาม เช่น หน้าตา แต่ว่าอีกด้านหนึ่งก็มีความไม่งาม ทางพุทธศาสนาพยายามบอกว่าเราควรจะเห็นความจริงให้ครบถ้วนทั้งสองด้าน คือด้านที่งามและด้านที่ไม่งาม แต่ถ้าเห็นความจริงเพียงด้านเดียวคือด้านที่งาม เราจะนึกว่าทุกอย่างสวยงามหมด อยากจะเป็นเจ้าของ แต่พอความไม่งามปรากฏ เราก็ทำใจยาก เช่นคนหนุ่มคนสาว ชื่นชมความหล่อความสวยของตน พอร่างกายแก่หง่อมก็ทำใจไม่ได้ พุทธศาสนาสอนให้เราพยายามมองเห็นความไม่งามด้วย ส่วนหนึ่งก็โดยการไปพิจารณาซากศพหรือคนตาย เพื่อจะได้ไปถ่วงดุลกับความรู้สึกติดยึดในความงาม จะได้ปล่อยวาง แต่ไม่ใช่ดูแล้วทำให้หดหู่นะ อันนั้นเป็นอกุศลซึ่งต้องระวัง

 

?  กล่าวโดยสรุปแล้ว หากจะดำรงชีวิตอย่างมีความสุขสงบ ก็ต้องรู้จักตายอย่างมีสติ 

พระไพศาล วิสาโล  : พระพุทธเจ้าตรัสว่า มีม้าอยู่สี่ประเภท ประเภทแรก พอเห็นประตักก็เกิดความกลัว เห็นเงาประตักของคนขี่ก็กลัวแล้ว พร้อมที่จะเชื่อฟังคนขี่ จะให้เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา ทำได้ ม้าประเภทที่ ๒ ต้องโดนประตักแทงถึงขุมขน ถึงจะเชื่อฟังคนขี่ ประเภทที่ ๓ ต้องโดนประตักแทงถึงหนัง ถึงจะเชื่อ ประเภทที่ ๔ ต้องโดนประตักแทงถึงกระดูก ถึงจะเชื่อ ยอมทำตามคนขี่ ท่านก็เปรียบเหมือนคนสี่ประเภท ประเภทแรก เพียงแค่ได้ข่าวว่ามีคนตาย ก็เกิดความสังเวช และสนใจที่จะเข้าหาธรรมะ เพื่อจะได้ไม่ทุกข์กับความตาย ประเภทที่ ๒ ต้องได้เห็นคนตายต่อหน้า ถึงจะเกิดความตื่นตัวที่จะเข้าหาธรรมะ ประเภทที่ ๓ ต้องรอให้คนรู้จัก คนรักตายเสียก่อน ถึงจะสำนึก เข้าหาธรรมะ ประเภทที่ ๔ ต้องเจอความเจ็บปวดด้วยตนเอง ทุกข์ทรมาน โรคภัยคุกคาม หรือเจ็บปางตาย ถึงค่อยสำนึก คนประเภทที่ ๔ นี่เรียกว่า ไม่เห็นโลงไม่หลั่งน้ำตา ถามว่าเราอยากจะเลือกเป็นคนประเภทไหน หรืออยากจะเป็นม้าประเภทไหน

 

? จากอดีตนักกิจกรรมมาเป็นนักบวช" ทำไมอาจารย์ถึงคิดจะบวช

พระไพศาล วิสาโล  : อาตมาเป็นคนกรุงเทพฯ เรียนที่อัสสัมชัญตั้งแต่ ป. ๑ ถึง ม.ศ. ๕ ทำกิจกรรมตั้งแต่อยู่ ม.ศ. ๓ เพราะโรงเรียนมีกลุ่มอัสสัมชัญอาสาพัฒนา ทำงานสังคมสงเคราะห์ ไปเยี่ยมคนสลัม เด็กกำพร้าที่บ้านราชวิถี และออกค่ายในอีสาน ก็เริ่มตื่นตัวเกี่ยวกับปัญหาสังคม ก่อนเกิดเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๑๖ ได้ไปร่วมประท้วงที่ธรรมศาสตร์ด้วย ตอน ๖ ตุลา เป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ปีที่ ๒ ก็ถูกจับ ตอนนั้นทำงานอยู่ที่ชุมนุมพุทธด้วย นอกเหนือจากการช่วยทำวารสาร ปาจารยสาร หลังจากเกิดเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๑๙ ก็หันไปทำงานกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม ซึ่งตอนนั้นเน้นเรื่องการสมานไมตรีระหว่างคนในชาติ เพราะมีความขัดแย้งกันมากหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลา และงานสมานไมตรีที่เด่นชัดคืองานรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน ตอนนั้นคำว่า " สิทธิมนุษยชน " ยังเป็นคำใหม่อยู่ แต่ว่าก็เริ่มได้รับความสนใจเพราะว่าองค์กรนิรโทษกรรมสากลได้รับรางวัลโนเบล ในปลายปี ๒๕๑๙ อาตมาทำงานรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการนิรโทษกรรมให้มีการปลดปล่อยผู้ต้องหาคดี ๖ ตุลา ที่ถูกจับที่ธรรมศาสตร์ ๓ , ๐๐๐ กว่าคน รณรงค์ให้มีการยกเลิกกฎหมายต่าง ๆ หลายฉบับ เช่น กฎหมายภัยสังคม ที่จับคนได้โดยที่ไม่ต้องขึ้นศาลและไม่ต้องมีหลักฐานอะไรทั้งสิ้น ไม่มีการฝากขังอะไรทั้งปวง ทำงานถึงปี ๒๕๒๖ ก็รู้สึกเหนื่อยล้า เพราะว่าทำงานติดต่อกันมาถึง ๗ ปี รู้สึกว่าชีวิตนี้เสียสมดุล เสียศูนย์ เครียด นอนไม่ค่อยหลับ กระสับกระส่าย อยู่เฉยไม่ได้ ทะเลาะกับเพื่อนเป็นอาจินต์ ก็เลยคิดว่าน่าจะได้ฝึกจิต ทำสมาธิบ้าง ก็เลยบวช ตั้งใจว่าจะบวชสัก ๓ เดือน สึกออกมาแล้วก็จะได้กลับมาทำงานต่อ บวชที่วัดทองนพคุณ แต่ไปปฏิบัติธรรมที่วัดสนามใน เมืองนนท์ เจออุปสรรคมากมาย แต่พอผ่านตรงนั้นมาได้ ก็พบว่าการปฏิบัติธรรมมีความเจริญก้าวหน้า ได้รู้จักสติ และพลังแห่งสติ และได้พบความเปลี่ยนแปลงทางจิตใจซึ่งไม่เคยพบมาก่อน เช่น การรู้ทันความคิด สามารถปล่อยวางอารมณ์และความคิดไปได้อย่างรวดเร็ว ฉะนั้นชีวิตก็สงบมากขึ้น เลยคิดว่าเราไม่น่าจะทิ้งโอกาสนี้ด้วยการสึกไปเสียก่อน ควรจะปฏิบัติต่อเพื่อจะได้พัฒนาสติให้มากขึ้น ก็เลยบวชต่อจนถึงเข้าพรรษา ไปอยู่วัดป่าสุคะโตกับหลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ ออกพรรษาแล้วก็ยังไม่สึก คิดว่าบวชต่อไปให้ครบปีเสียเลย เพื่อน ๆ ก็ไม่ขัดข้อง ที่บ้านก็สนับสนุน ตอนที่เราอยู่ครบปี ก็รู้สึกว่าประสบการณ์ของเรามันมีประโยชน์นะ พอที่จะช่วยแนะนำคนให้เห็นคุณค่าของการปฏิบัติธรรม อย่างที่วัดป่าสุคะโต ก็มีงานอนุรักษ์ป่า เลยคิดว่าถ้าเราอยู่ที่นั่นก็มีประโยชน์ต่อส่วนรวมเหมือนกัน เกิดความคิดที่จะขยายการบวชออกไปเป็นปีต่อปี เลื่อนไปเรื่อยจนครบ ๕ ปี ก็ยังคิดว่าบวชไปได้เรื่อย ๆ ตอนนี้ยังมีความสุขกับการบวชอยู่ ความคิดที่จะสึกมันก็ไม่มารบกวนจิตใจ" ทำไมสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม

         เรื่องสิ่งแวดล้อมสนใจมานานแล้ว แต่พอมาอยู่ป่า เราได้อยู่กับสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติโดยตรง ได้เผชิญกับปัญหาการทำลายสิ่งแวดล้อมโดยตรง คือการทำลายป่า ความเสื่อมโทรมของหน้าดิน ช่วงนั้นเผอิญว่ากระแสสิ่งแวดล้อมเริ่มขึ้นมา กลายเป็นกระแสที่สนใจกันไปทั่วโลก ก็พอดีกัน ทำให้พัวพันอยู่กับงานสิ่งแวดล้อมอยู่หลายปี ๑๐ กว่าปีได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรณรงค์ อนุรักษ์ป่า โดยประสานงานกับกลุ่มพระสงฆ์ทั่วประเทศ การออกหนังสือเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่นทำจดหมายข่าวอนุรักษ์ แปลหนังสือและเขียนเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมาพอสมควร ตอนหลังพอทำเรื่องนี้มาเต็มที่แล้ว ก็คิดว่ามีเรื่องอื่นที่น่าจะทำ อย่างเช่นปัญหาเรื่องคณะสงฆ์ ความเสื่อมโทรมของพุทธศาสนา ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำ ก็เลยมาทำเรื่องการฟื้นฟูพุทธศาสนาและการปฏิรูปคณะสงฆ์ ร่วมกันจัดตั้งเครือข่ายชาวพุทธเพื่อพระศาสนาและสังคมไทยขึ้นมา อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องการรณรงค์ฉลาดทำบุญ เพราะว่าประเทศไทยมีศักยภาพในเรื่องนี้มาก แต่เราทำบุญกันไม่ค่อยถูกต้อง ทำให้พลังของพุทธศาสนาไม่ได้เป็นไปเพื่อทำให้สังคมน่าอยู่มากขึ้น แต่กลับเป็นการส่งเสริมความงมงายฟุ่มเฟือย สิ้นเปลืองด้านพิธีกรรมและด้านวัตถุ ระยะหลังงานของอาตมาจะหนักไปในทางพุทธศาสนามากขึ้น แต่เป็นศาสนาแบบที่พยายามโยงให้สัมพันธ์กับชีวิต เช่นเรื่องการทำบุญในชีวิตประจำวัน หรือการเตรียมตัวที่จะเผชิญกับความตาย ซึ่งเป็นปัญหาร่วมสมัยของคนปัจจุบัน" อาจารย์ช่วยเล่าข้อแตกต่างระหว่างชีวิตฆราวาสกับชีวิตนักบวช

         ชีวิตพระจะมีความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานกับชีวิตการ ภาวนาได้มากกว่า รวมทั้งชีวิตภายนอกกับชีวิตด้านใน ฆราวาสจะทำได้ยาก ชีวิตจะออกไปในเรื่องของการทำงานเสียเยอะ โดยเฉพาะกิจกรรม แต่เรื่องภาวนามีน้อย ที่จริงภาวนาในระหว่างทำกิจกรรมก็ได้ แต่ว่ามันได้ไม่เต็มที่ หรือบางทีก็หลุด ๆ ไปบ้าง ชีวิตฆราวาสจะไปเน้นหนักเรื่องชีวิตด้านนอก ชีวิตด้านในไม่ค่อยมี รวมถึงชีวิตส่วนตัวด้วย ชีวิตพระมีความสมดุลอย่างที่ว่ามา อีกส่วนหนึ่งคือมีเวลาเป็นของตัวเองมากขึ้น ชีวิตเป็นระบบมากขึ้น หมายความว่า การกิน การนอน การตื่น มันเป็นเวลามากกว่า ชีวิตฆราวาสค่อนข้างจะไม่เป็นระบบระเบียบเท่าไหร่ ซึ่งทำให้บั่นทอนพลังทั้งร่างกายและจิตใจได้ สรุปก็คือชีวิตพระทุกข์น้อยกว่าชีวิตฆราวาส อันนี้พูดถึงชีวิตตัวเอง เพราะก่อนบวชก็มีความทุกข์ ความเครียดค่อนข้างจะยืดเยื้อ แต่ว่าเป็นพระไม่ค่อยมีอาการอย่างนั้นเท่าไหร่ ก็รู้สึกว่าชีวิตเรามีความสุข มีความทุกข์น้อยกว่าตอนเป็นฆราวาส

 

? แต่พระก็สึกกันเยอะ เพราะอะไร

พระไพศาล วิสาโล :  อยากจะมีชีวิตครอบครัว บางทีความรักหรือสิ่งยั่วยวนก็นำพาไป เผอิญตัวเองเคยผ่านตรงนี้มาบ้าง เรื่องชีวิต ความรักแบบหนุ่มสาว รู้สึกว่ามันไม่จีรัง คนบางคนที่เราเคยชอบเขา แต่ปรากฏว่าพอผ่านไปปีสองปี ก็กลับรู้สึกเฉย ๆ กับเขาแล้ว เราก็รู้สึกว่าของพวกนี้มันไม่แน่นอน และเราก็กลัวว่าถ้าเราเกิดไปมีชีวิตคู่กับใครสักคนหนึ่ง เราก็ไม่แน่ใจว่าเราจะมีชีวิตคู่กับเขาได้นานหรือเปล่า เพราะประสบการณ์ของคนรุ่นก่อน พ่อแม่หรือว่าเพื่อนฝูง ทำให้เห็นว่าคนที่จะมีความสุขกับชีวิตคู่จริง ๆ มีน้อย เรากลัวว่าถ้าเป็นอย่างนั้นบ้าง เราจะทำอย่างไร ผู้ชายอาจจะคิดว่าปัญหานี้แก้ได้โดยการไปมีเมียน้อยหรือว่ามีเรื่องกุ๊กกิ๊ก กับคนอื่น แต่เรารู้สึกว่าอันนี้มันก็เป็นการสร้างความทุกข์ให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยว ข้อง ก็เลยคิดว่าการบวชพระ ตัดปัญหาเรื่องนี้ไปได้ ทำให้ไม่ต้องมามีความทุกข์หรือไปสร้างความทุกข์ให้แก่ใครในเรื่องนี้ แต่ส่วนหนึ่งเราก็พบว่า ความสุขจากชีวิตพระสามารถหล่อเลี้ยงจิตใจได้ โดยเฉพาะความสุขจากภาวนา นี่คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตัวเองไม่คิดจะสึกออกไป แต่ของพวกนี้ก็ไม่แน่ เพราะเราไม่สามารถจะทำนายอนาคตได้ ต้องตั้งอยู่ในความไม่ประมาท การทำสมาธิภาวนาช่วยประคองการบวชได้เยอะ รวมทั้งการไตร่ตรองและเตือนใจว่าความสุขทางโลกนั้นมันให้ความสุขประเดี๋ยว เดียว แต่ให้ความทุกข์ยั่งยืน เราต้องไม่เผลอ แต่ว่าสุดท้ายก็ต้องมาลงที่ว่า ทำยังไงเราจึงจะหาความสุขมาหล่อเลี้ยงชีวิตพระหรือชีวิตพรหมจรรย์ได้ เพราะมนุษย์เราทุกคนต้องการความสุข ถ้าเราไม่ปรารถนาความสุขทางกาม หรือไม่มีความสุขทางกามมาหล่อเลี้ยง ก็ต้องหาความสุขทางจิตใจ ทางภาวนา หรือความสุขที่ประณีตมาแทน ถ้าเราไม่มีตรงนี้มาหล่อเลี้ยงมันง่ายมากเลยที่จะกลับเข้าไปหาความสุข พระพุทธเจ้าท่านเปรียบเทียบไว้ดี ว่าเหมือนกวางที่รู้นะว่าถ้าออกไปกินหญ้าในทุ่งหญ้า อาจจะโดนพรานยิง ถ้ากวางตัวนั้นไม่สามารถจะหาแหล่งอาหารที่ดีกว่าได้ ในที่สุดกวางตัวนั้นก็ต้องกลับไปหาทุ่งหญ้าที่พรานเขาคอยซุ่มยิงอยู่ แต่ถ้ากวางตัวนั้นรู้จักหาแหล่งอาหารที่ปลอดภัย ก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องหวนกลับไปยังทุ่งหญ้าที่พรานเฝ้าอยู่ ทำยังไงเราถึงจะหาความสุขจากชีวิตพระได้ ก็ต้องอาศัยภาวนา แต่ภาวนาไม่ใช่ว่าไปนั่งทำสมาธิอย่างเดียว มีวิธีการหลายอย่าง เช่นความสุขจากการทำงาน หรือการมีสติกับการทำงาน หรือการฝึกให้จิตมีปัญญา รู้เข้าใจ ปัญญาสามารถจะบันดาลใจให้เกิดความสุขได้ ทำไมนักวิทยาศาสตร์เขาถึงทำงานได้เป็นวันเป็นคืน บางคนไม่อยากแต่งงาน หรือไม่สนใจที่จะไปเที่ยวเตร่อะไรเลย นั่นก็เพราะเขามีความสุขกับการทำงานและการค้นพบความรู้ใหม่ ๆ แต่ภาวนาในพุทธศาสนามันละเอียดและลึกไปกว่านั้น คือช่วยให้รู้เท่าทันความจริงของชีวิตที่ไม่มีความเที่ยงแท้แน่นอน และช่วยให้รู้เท่าทันเรื่องของอัตตา หรือความยึดถือในตัวตนด้วย

 

ที่มา: