Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

อาสา...เพื่อผู้ป่วย

-A +A

            ปัจจุบันมีอาสาสมัครที่ทำงานด้วยใจมากมายในโรงพยาบาล บางคนมาช่วยสีไวโอลิน บางคนมาทำงานศิลปะเพื่อเยียวยาใจผู้ป่วย และบางคนพูดคุยให้กำลังใจ งานเหล่านี้ทำให้พวกเขามีความสุขที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น

           "ฉันไม่ต้องการ ให้เธอเป็นแพทย์เท่านั้น แต่อยากให้เป็นมนุษย์ด้วย (I not only want you to be a doctor, but I also want you to be a man )" พระราชดำรัสของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

           หัวใจของการแพทย์ คือ การรักษา แต่การรักษา 'คน' ก็ไม่ใช่เพียงแค่การรักษา 'โรค' เพราะในตัวคนเราประกอบด้วย กาย ใจ และจิตวิญญาณ ดังนั้นเรื่องของใจและจิตวิญญาณ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราไม่อาจมองข้าม

           เนื่องจากการแพทย์แผนปัจจุบัน หรือการแพทย์ที่ทันสมัย (Modernized Health Care) แม้จะได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของคนจำนวนมาก แต่กลับหลงลืมความเป็นมนุษย์ทั้งในตัวเองและผู้ป่วย

           ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ได้พูดถึงกระบวนทัศน์ใหม่ของการรักษาในยุคต่อไป คือ Humanize Health Care (HHC) หรือ “การแพทย์ที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์”

           “Humanize Health Care ไม่ได้แปลว่าเราจะเลิกทันสมัย แต่เป็นการยกระดับความเป็นมนุษย์ การมีหัวใจที่ดีหรือจิตใจอันดีงามเป็นตัวนำ ไม่ได้แปลว่าความทันสมัยจะลดลง แต่เป็นการนำความทันสมัยมารับใช้มนุษย์ ยกตัวอย่างคุณหมอที่ทำวิจัย จะทำอย่างไรให้คนไข้มีความสุข อาจทำให้คนไข้ไม่รู้จักเจ็บเวลาถูกฉีดยา”

           และเมื่อเหล่าบุคลากรทางการแพทย์บางส่วนที่สนใจการขับเคลื่อน Humanize Health Care ได้มีโอกาสไปดูงานร่วมกันที่มูลนิธิพุทธฉือจี้ ประเทศไต้หวัน ก็ได้นำแนวคิดมาปรับใช้ให้เหมาะกับสังคมไทย

           “ผมได้มีโอกาสไปดูงานที่มูลนิธิฉือจี้ พบว่าเป็นขบวนการอาสาสมัครที่มหึมามาก โรงพยาบาลนอกจากจะใหญ่แล้ว ยังมีอาสาสมัครทำงานหลายร้อยคน บางคนทำงานตั้งแต่คนอื่นยังไม่ตื่นนอน และทำจนคนอื่นนอนแล้วก็มี ถ้าเราไม่ได้ไปเห็น ไปฟัง ก็จะไม่เชื่อว่ามีอาสาสมัครแบบนี้อยู่จริงๆ” นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ ผู้อำนวยการสำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ เล่าถึงประสบการณ์การดูงานที่ไต้หวัน

 

อาสาดูแลทุกข์สุข

           ปัจจุบันในสังคมไทยมีอาสาสมัครที่เข้ามาช่วยเหลือดูแลคนป่วย ทั้งให้กำลังใจ ร้องเพลง เล่นดนตรี และใช้ศิลปะบำบัดเยียวยาใจ มากขึ้นเรื่อยๆ และคนเหล่านี้เข้ามาช่วยเหลือด้วยใจ โดยส่วนใหญ่ไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ แต่พวกเขาก็ได้ความปลาบปลื้มใจ

           พจนีย์ เตละวาณิชย์ วัย 67 ปี เจ้าของธุรกิจปั๊มน้ำมัน หนึ่งในอาสาสมัครและประธานอาสาสมัครโรงพยาบาลบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ปัจจุบันหันมาเป็นอาสาสมัครเต็มตัว ซึ่งเธอเรียกงานนี้ว่า “การทำคุณให้แผ่นดิน”

           “ป้าชอบทำเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว ทำบุญช่วยเหลือคน งานดูแลผู้ป่วยก็สนใจ พอผู้อำนวยการโรงพยาบาลได้ไปดูงานที่ฉือจี้ ท่านก็เลยชวนมาประชุม ป้าเลยชวนเพื่อนที่สนิทกัน 30 คนมาร่วมด้วย”

           เธอเล่าด้วยน้ำเสียงแจ่มใสว่า ขบวนการอาสาของที่นี่คือ การดูแลสารทุกข์สุกดิบของผู้ป่วย ตั้งแต่มารอรับการตรวจ รอรับยา ชวนพูด ชวนคุยให้หายเครียด พาไปรับประทานอาหารและดื่มน้ำ จนถึงพาไปห้องน้ำ ฉะนั้นอาสาสมัครไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านการแพทย์ เพียงแต่มีใจที่อยากทำให้เพื่อนมนุษย์ แค่นั้นก็พอแล้ว

           “ทำแล้วมีความสุขนะ ป้าเห็นคนไข้บางคนรอผ่าตัดต้อกระจกกว่าสิบปี วันที่เขามองเห็นได้ ป้ารู้สึกว่ามันคุ้ม เหมือนได้ญาติพี่น้องมาเพิ่ม เราช่วยเล็กๆ น้อยๆ ทำให้เขาได้กลับมาเห็น ทำอย่างนี้แล้ว ก็อยากไปเรื่อยๆ ทำไปจนกว่าแรงจะหมด” พจนีย์ กล่าวอย่างภูมิใจ

           นี่คือ ส่วนหนึ่งของอาสาสมัครที่มาทำงานด้วยใจ และยังชวนเพื่อนๆ มาร่วมกันช่วยเหลือคนป่วย

           น.พ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว เป็นอีกคนที่ได้มีโอกาสไปดูงานที่มูลนิธิพุทธฉือจี้ ประเทศไต้หวัน และเขาได้แรงบันดาลใจอย่างมากในการกลับมาทำเรื่องอาสาสมัครในโรงพยาบาล จนเป็นที่มาของการจัดตั้งหน่วยผ่าตัดต้อกระจกเคลื่อนที่ทั่วประเทศ ซึ่งประกอบด้วยแรงมือแรงใจของทีมจักษุแพทย์และอาสาสมัคร

           “ที่ฉือจี้ ผมได้เห็นว่าพลังอาสาสมัคร มันมีความหมายมาก ไม่ได้จำกัดแค่ไต้หวัน แต่เป็นพลังไปทั่วโลก ผมอยากทำเรื่องผ่าตัดต้อกระจกอยู่แล้ว เมื่อกลับมาเมืองไทย ปรึกษาหารือกันและลงมือทำจนเป็นรูปเป็นร่าง สร้างหน่วยผ่าตัดต้อกระจกจากทีมจักษุแพทย์และอาสาสมัครที่สมัครเข้ามา เรื่อยๆ จนตอนนี้มีอุปกรณ์พร้อม มีรถซึ่งบริษัทต่อรถแห่งหนึ่งทราบเรื่องของเราและอาสา จึงช่วยต่อรถเคลื่อนที่ให้”

           คุณหมอวิทิต เล่าถึงก้าวต่อไปของโรงพยาบาลบ้านแพ้วว่า ที่นี่มีพื้นฐานการทำงานในชุมชนบ้านแพ้วอยู่แล้ว เคยชักชวนให้ประชาชนหันมาออกกำลังกาย เพื่อดูแลสุขภาพ และยังมีการสร้างเครือข่ายชุมชนในรูปสโมสรโรตารี่บ้านแพ้วกว่า 10 ปีเต็ม

           ดังนั้นการเริ่มต้นเปิดให้มีอาสาสมัครในโรงพยาบาลและหน่วยผ่าตัดตาต้อกระจก จึงเป็นสิ่งที่ดำเนินไปได้ไม่ยากนัก

           “ผมเชื่อว่าถ้าโรงพยาบาลชุมชนอื่นได้มีโอกาสศึกษาวิธีการ กลไก แบบนี้มากๆ ก็สามารถทำได้เช่นกัน” นายแพทย์วิทิตกล่าว

 

อาสาทำความดี

           ด้านโรงพยาบาลศิริราชพยาบาล น.พ.ปรีชา สุนทรานันท์ รองคณบดีกิจการนักศึกษา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เชิญคุณหมอประเวศ วะสี มาเป็นอาจารย์พิเศษในชั้นเรียนของคณะแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 ท่านได้ให้การบ้านที่ท้าทายนักศึกษาที่ว่าให้ทำกิจกรรมที่ส่วนประกอบ 3 อย่าง คือ “การเป็นผู้ให้ ได้ทำความดี และมีความสุข”

           จากโจทย์สั้นๆ นักศึกษา 250 คน ได้ลงมือทำจนเกิด 24 กิจกรรมความดี ตั้งแต่การเขียนเรื่องราวความดี การทำงานอาสาบ้านครูน้อย การทำงานอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยในหวอด การทำนิทานเพื่อสุขภาพเด็ก ทำกิจกรรมกับเด็กๆ การเยี่ยมผู้ป่วย การร้องเพลงให้ฟัง ช่วยผู้ป่วยทำกายภาพบำบัด ฯลฯ

           คุณหมอปรีชาบอกว่า สิ่งที่นักศึกษาแพทย์ได้จากงานอาสา ไม่ใช่เพียงความสุข แต่เป็นความเข้าใจที่วิชาทางการแพทย์ไม่สามารถสอนกันได้ นักศึกษาได้เรียนรู้ ได้เข้าใจ ความคิด จิตใจ ความยากลำบากของผู้ป่วย เมื่อถึงวันที่เขาจบออกมาเป็นแพทย์ จะเข้าอกเข้าใจว่าผู้ป่วยต้องผ่านอะไรมาบ้าง

           "เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่สอนกันไม่ได้ แต่เป็นสิ่งที่สัมผัสได้”

           นั่นเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเครือข่ายอาสาในโรงพยาบาลเมืองหลวง ส่วนโรงพยาบาลต่างจังหวัดทางภาคใต้ อย่างโรงพยาบาลเทพา จังหวัดสงขลาก็มีเรื่องเล่าของอาสาทำงานเพื่อคนอื่นเช่นกัน

           น.พ.สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเทพา บอกว่า แพทย์หัวใจมนุษย์ในบริบทนี้ ไม่ใช่แค่มีจิตใจดี แต่ยังต้องมีใจที่ไม่อคติ อย่างเจ้าหน้าที่ของเราได้มีโอกาสสัมผัสคนในพื้นที่ จึงเข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรมในพื้นที่ และเข้าใจคนและสังคมมากขึ้น

           "หลักง่ายๆ คือ ศาสนาต้องนำสาธารณสุข แล้วเราจะ 'เข้าใจและเข้าถึง' ตามพระราชดำรัสของในหลวงจริงๆ อย่างในพื้นที่ภาคใต้ ผู้หญิงชาวมุสลิมจะเลือกคลอดลูกที่บ้านมากกว่าโรงพยาบาล เพราะมีความอบอุ่นทางจิตใจ มีครอบครัว ผู้เฒ่าผู้แก่ โต๊ะมีดัน (หมอตำแย) ไปสวดคัมภีร์อัลกุรอานให้พรแก่เด็กทารกที่บ้าน"

           เหตุผลดังกล่าว โรงพยาบาลเทพาจึงมีโครงการร่วมมือระหว่างหมอตำแยกับหมอบ้าน เปิดโต๊ะกลมชวนโต๊ะบีดัน 20 ท่านในชุมชนมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ปรับประเพณีวัฒนธรรมและความรู้เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ เพื่อให้หญิงตั้งครรภ์และเด็กทารกได้รับความปลอดภัยทั้งร่างกายและจิตใจ

           ปัจจุบันที่โรงพยาบาลเทพา โต๊ะมีดันมักมาเยี่ยมหญิงมีครรภ์อยู่เสมอ เพื่อให้คำปรึกษา ให้กำลังใจ และช่วยประกอบพิธีกรรมต่างๆ เมื่อทารกน้อยแรกเกิดลืมตาดูโลก

           “โต๊ะมีดันมาช่วยดูแลจิตใจให้ผู้หญิงมาก ช่วยหมอได้มาก จนถึงตอนนี้เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลสามารถสวดอัลกุรอาน ขอพรให้เด็กได้หมดแล้ว” คุณหมอเล่าด้วยรอยยิ้ม

 

อาสาสร้างความเบิกบาน

           นอกจากอาสาสมัครที่เข้ามาช่วยเหลือเรื่องทั่วๆ ไปในโรงพยาบาลแล้ว ยังมีอาสาสมัครที่คอยให้ความบันเทิงเยียวยาใจคนป่วย ทั้งเรื่องศิลปะและเสียงเพลง

           คุณหมอสุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ โรงพยาบาลเทพา จังหวัดสงขลา เล่าว่า ตอนนี้มีจรัส สร้อยเสริมทรัพย์ คุณลุงเกษียณจากการทำงาน ได้มาขอเป็นอาสาสมัครให้โรงพยาบาล อาศัยความสามารถการสีไวโอลินขับกล่อมในห้องคนไข้เบาหวาน

           หลังจากนั้นก็มีอาสาสมัครขาจรมาช่วยคุณลุงร้องเพลงสุนทราภรณ์ขับกล่อม อยู่บ่อยๆ บางครั้งหลานชายก็มาช่วยร้องเพลง และเมื่อไม่นานนี้คนขับรถของโรงพยาบาลก็เหน็บกีตาร์มาดีดให้ฟัง ทั้งคนไข้ คุณหมอ คุณพยาบาล ต่างยิ้มแย้มแจ่มใส เมื่อได้เห็นลีลาของนักร้องและนักดนตรีอาสา

           คุณหมอสุวัฒน์เล่าให้ฟังว่า พวกอาสาสมัครจะมาหรือไม่มาก็ได้ แต่ถ้าวันไหนที่ลุงมาประจำ แล้วลุงจรัสไม่มา คนในโรงพยาบาลก็จะถามหาด้วยความคิดถึง สงสัยว่าไปไหน มันเป็นความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

           ส่วนในเรื่องศิลปะบำบัดเด็ก ก็เป็นอีกมุมหนึ่งที่หลายคนได้ยินบ่อยๆ ซึ่งปัจจุบันมีศิลปินและอาสาสมัครเข้ามาทำงานช่วยเหลือด้านนี้ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นอีกแห่งที่ถูกเติมเต็มด้วยสีสดใสของศิลปะบำบัดเด็ก ใน "โครงการเผชิญความตายอย่างสงบ อาสาสมัครดูแลผู้ป่วยเด็กเรื้อรังและระยะสุดท้าย”

           ทราย-จุฬารัตน์ นาควิโรจน์ คุณครูสอนศิลปะเด็ก อาสาสมัครข้างเตียงที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว เมื่อได้ทำงานอาสาเป็นเวลา 3 เดือนเต็ม เธอก็ได้รู้ว่างานอาสาสมัครไม่ได้ต้องการความสามารถเฉพาะทางเป็นพิเศษ อาสาสมัครไม่จำเป็นต้องเก่งศิลปะหรืองานประดิษฐ์ใดๆ แต่ต้องเปิดใจและพร้อมที่จะอยู่ตรงนั้นกับน้องได้อย่างเต็มร้อย

           “จริงๆ เด็กน่ารักและใสมาก แต่เพราะเขาป่วย ก็อาจจะมีซึมๆ ไปบ้าง พอเราชวนวาดรูป ทำโปสการ์ด ชวนเล่น ชวนคุย และฟังเขาอย่างเต็มที่ เขาก็จะสื่อสารกับเราด้วยดวงตาที่เป็นประกาย จากเดิมที่นิ่งๆ เฉยๆ ก็มีชีวิตชีวา ถ้าเราเปิดใจให้กว้าง เด็กก็จะสัมผัสได้ และเด็กก็มีความสุขง่าย ทำให้เราพลอยเบิกบานไปด้วย” ทราย กล่าวด้วยประกายตาแห่งรอยยิ้ม

------

งานอาสา...เพื่อผู้ป่วย
ผู้สนใจอยากทำงานอาสาสมัครการแพทย์หัวใจมนุษย์ มีให้เลือกหลายแห่ง

+ศูนย์ข้อมูลด้านสุขภาพสำหรับผู้ป่วยและประชาชน โรงพยาบาลรามาธิบดี ติดต่อสอบถาม : คุณปู : 02 201 2652

+โครงการเผชิญความตายอย่างสงบ อาสาสมัครดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้าย ติดต่อสอบถาม : เครือข่ายพุทธิกา: 8/23 ซอยบ้านช่างหล่อ ถนนพรานนก เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700 โทรศัพท์: 02-866-2721-2 และ 085-919-7616

+โครงการ “โรงพยาบาลมีสุข” เพิ่มความสุขในโรงพยาบาล มูลนิธิกระจกเงา ดูรายละเอียด : www.happyhospital.org ติดต่อสอบถาม : กรวิกา ก้อนแก้ว โทรศัพท์: 0860510852

 

ที่มา: