Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

ประสบการณ์จากงานอบรม "จิตอาสาข้างเตียง"

-A +A

        ฉันเพิ่งไปร่วมอบรม “จิตอาสาข้างเตียง” ของเครือข่ายพุทธิกา  โครงการที่ให้จิตอาสาทุกคนได้มีโอกาสไปดูแลผู้ป่วยเรื้อรังซึ่งพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  โดยเริ่มจากการให้ความรู้ความเข้าใจแก่จิตอาสาทั้งในเรื่องบทบาท/กรอบและขอบเขตของจิตอาสาข้างเตียง พื้นฐานความรู้ความเข้าใจในสภาพความรู้สึกผู้ป่วย รวมถึงบรรยากาศภายในหอผู้ป่วย ความคาดหวัง/สิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องการจากจิตอาสา ประสบการณ์จากจิตอาสารุ่นก่อน ฯลฯ   โดยใช้สื่อคือ “กิจกรรมในรูปแบบต่างๆ” ได้แก่ กิจกรรมระบายสีรูปภาพ  กิจกรรมบทบาทสมมุติ  กิจกรรมการฟัง เป็นต้น   ให้พวกเราได้แสดงความเห็นภายหลังจบกิจกรรม  และมีวิทยากรมาช่วยสรุป 

        ครั้งแรกที่ได้พบผู้เข้าร่วมเป็นจิตอาสา  ทำให้ฉันแทบหัวเราะตกเก้าอี้  ถ้าใครวาดภาพว่าจิตอาสาข้างเตียงต้องเป็นคนที่ประมาณเรียบร้อย พูดน้อยๆ ยิ้มหวานๆ เย็นๆ ละก็  ต้องมีอาการเหมือนฉันแน่ๆ  เพราะในบรรดาจิตอาสาที่มาร่วมสัมมนานั้นมีเพียง 2-3 คนเท่านั้นที่เข้าหลักเกณฑ์ที่ว่า นอกนั้นน่ะจะเป็นประมาณสาวซ่า ขาลุย  คุยเก่งกระจายไปเลย  อ้อ มีหนุ่มแถมมาด้วย 2 คนอีกต่างหาก   เป็นชายหนุ่มที่รูปร่างสูงใหญ่มาก  แม้จะดูว่ามีท่าทางที่ดูอบอุ่นแต่ก็ไม่น่าจะเข้าข่ายจิตอาสาข้างเตียงได้เลย       แต่จากการพูดคุย รู้จักกันผ่านกิจกรรมต่างๆ ทำให้ฉันพบว่า  ภายใต้ท่าทางเฮ้วๆ ฮาๆ ขาลุยนั้น มีสิ่งหนึ่งที่พวกเราเหมือนกัน คือ ความรัก ความเมตตาที่จะแบ่งปัน ถ่ายเทความทุกข์ของผู้ป่วย    ทำให้ฉันรู้สึกอบอุ่นเหมือนได้กลับไปเยือนชมรมดนตรีไทยของฉันอีกครั้ง

        เมื่อมองผ่านกิจกรรมหลากหลายในช่วงเวลา 2 วันของการอบรม  ฉันพบว่า เนื้อหาโดยรวมของการเป็นจิตอาสาข้างเตียง ก็คือ การฝึกทักษะความเป็นคนที่สมบูรณ์ เพื่อเตรียมพวกเราให้พร้อมที่จะเป็นเพื่อนกับผู้ป่วย เพื่อนที่คอยอยู่เคียงข้างเขาและครอบครัวในห้วงเวลาของการก้าวข้ามความทุกข์ยาก

        เมตตา กรุณา ปรารถนาดี        
        จิตวิถียอมรับเขาต่างเราได้ 
        คนเรานี้มีคุณค่าถ้าดูไป          
        ตัวตนไซร้ อย่ายกล้ำ ค้ำหัวคน
        รู้จัก พูด รู้จัก ฟัง ทั้งสองอย่าง
        เป็นแนวทางน้อมนำไปให้เกิดผล
        รู้ช่วยเหลือเกื้อกูลไว้ไม่อับจน    
        เกิดเป็นคน สัมพันธ์ดี ไม่มีพัง  

        (ไม่ทราบผู้ประพันธ์)

 

        การเป็นคนที่สมบูรณ์ ก็คือ การรู้จักที่จะเรียนรู้และยอมรับในตัวตนของเขาอย่างที่เขาเป็น  โดยผ่านการ ฟัง ทั้ง คำพูด และ สิ่งที่อยู่เบื้องหลังคำพูด นั้นๆ   ยอมรับและเข้าใจว่าภายใต้เหตุผล กรอบความคิด กรอบชีวิตของเขาทำให้เขาเป็นหรือแสดงออกแบบนั้น   อาจจะแบ่งปันความรู้สึกของเราต่อเหตุการณ์เดียวกันได้หากเขาต้องการ   แต่ไม่ตัดสินในสิ่งที่เขาทำเพราะ เราไม่ได้อยู่ ณ จุดที่เขายืนอยู่  ไม่ได้ผ่านการเคี่ยวกรำด้วยประสบการณ์เช่นเดียวกับเขา

        ในกิจกรรม ระบายสี  วิทยากรยื่นกระดาษเปล่าให้พวกเราคนละ 1 แผ่นให้วาดภาพ ระบายสีได้ตามใจ ทีแรกที่ได้รับฉันก็นั่งมองแล้วก็คิดว่าจะวาดอะไรดีนะ  ด้วยเวลาที่สั้นก็เลยตัดสินใจเขียนคำว่า รัก เป็นภาษาเกาหลีไว้บนกระดาษก่อน  ยังไม่ทันคิดว่าจะทำอะไรต่อดี ก็ได้ยินเสียงวิทยากรบอกว่า ให้เวียนกระดาษต่อไปยังเพื่อนทางด้านขวามือเพื่อให้เพื่อนระบายสีบนกระดาษของเรา  จากนั้นก็ให้เวียนต่อไปทางขวามือเรื่อยๆ  

        ทันทีที่ได้ยินฉันก็รู้สึกแวบขึ้นทันทีว่า อา กระดาษแผ่นนี้ไม่ใช่ของเรา   กระดาษได้หมุนเวียนผ่านมือเราไปเรื่อยๆ จนครบรอบและเวียนต่อไปอีกราว 5 คนจึงได้ส่งคืนกลับเจ้าของพร้อมอนุญาตให้ตกแต่งภาพได้ตามใจอีกระยะหนึ่ง   แล้วจึงถึงช่วงของการสอบถามความรู้สึก ชอบ ไม่ชอบส่วนไหนยังไง    ฉันนั่งมองดูกระดาษของตัวเองที่บัดนี้ ตัวอักษรที่ฉันตั้งต้นไว้ได้รับการระบายสีเรียบร้อย  ส่วนที่ว่างๆ ด้านล่างเหมือนถูกแบ่งเป็นสองส่วน ด้านซ้ายมือของภาพเป็นรูปวงกลมๆ คงเป็น ดวงอาทิตย์ มั้ง  ด้านขวาสุดก็เป็นแนวโค้งๆ หลากสี คงเป็น ขอบฟ้ามั้ง  ตรงกลางก็มีสีเขียวบ้าง แดงบ้าง ฟ้าบ้างเป็นกลุ่มๆ  ไม่รู้เหมือนกันว่ามันเป็นภาพอะไร  ได้แต่มองดูแต่ไม่ได้แต่งแต้มอะไรเพิ่มเติม

        ฉันตอบคำถามวิทยากรไปว่า ที่ฉันรู้สึกดีเป็นพิเศษคือ ตัวอักษรที่ฉันตั้งต้นไว้ยังคงอยู่  และได้รับการแต่งแต้มให้สมบูรณ์  ส่วนอื่นๆ นอกนั้นฉันก็ไม่รู้สึกเป็นพิเศษอะไร  ฉันรับรู้แค่ว่าทุกคนที่ลงสีคงตั้งใจ หวังดีอยากให้ภาพออกมาดีที่สุดเท่านั้น   ฉันเชื่อว่าทุกคนคงคิดเหมือนกับฉัน   เมื่อแรกที่ฉันได้รับกระดาษมา ก็ยังไม่ได้ตั้งใจว่าจะวาดรูปอะไร  พอรู้ว่างานนี้จะเป็นศิลปะแบบ รวมมิตร ก็รู้สึกว่าโล่งใจ รีบส่งกระดาษให้เพื่อนด้วยความยินดี  ตอนรับกระดาษต่อมาจากเพื่อน แผ่นแรกๆ  ยังเป็นกระดาษเปล่ามีทีว่างอยู่มาก ก็รู้สึกสนุกที่จะป้ายสีโน้นสีนี้  สนุกที่ได้ใช้พู่กันละเลง   แต่พอผ่านไปสักแผ่นที่ 5 แผ่นที่ 6 คราวนี้กระดาษนั้นไม่ว่างอีกต่อไป  มีภาพบรรจุมาแล้วบางส่วน  ทำให้ต้องคิดมากขึ้นว่าจะวาด แต่งแต้มสียังไง  แต่ก็ไม่ได้คิดขนาดว่าจะให้เป็นรูป  คิดแค่ว่าทำยังไงให้ภาพของเขาที่ได้รับการแต่งแต้มมาแล้วยังคงสวยงามอยู่  คิดแค่นั้น  จนแผ่นท้ายๆ ที่แทบจะหาที่ว่างไม่ได้แล้ว  ฉันคิดว่าบางทีอาจไม่ต้องลงสีอะไรอีกแล้วก็ได้  แค่นั่งมองดู เติมจุดนิดๆ พอไม่ให้เลอะ พอให้รู้สึกว่ามีส่วนร่วมก็น่าจะพอ …

        คนไข้ก็เหมือนกัน  เขาไม่ใช่กระดาษขาว  แต่เขาผ่านการป้ายสีมาแล้วมากน้อยต่างกัน หน้าที่ของเรา เหล่าจิตอาสาคือ ดู ฟัง ทำความเข้าใจกับเขาอย่างลึกซึ้งก่อน  แล้วเราจะพบเองว่าเราจะเข้าไปช่วยเติมเต็มเขาในส่วนไหน  บางทีเขาอาจแค่ต้องการให้เราเป็นผู้รับฟังที่ดี ให้เขาได้มีโอกาสบอกเล่าประสบการณ์  ร่วมชื่นชมในประสบการณ์ ในตัวตนของเขา  ให้เขารู้สึกถึงคุณค่าของตัวเอง  เท่านั้นก็อาจจะเพียงพอแล้ว

        เพียงแค่เราเรียนรู้ที่จะ ฟัง อย่างแท้จริง     

        ฟังอย่างวางตัวตนของเราลงแล้วฟังเขาด้วยสายตาของเขา

        แล้วเราจะรู้เองว่า เขาต้องการอะไร

        และเราควรจะต้องทำอย่างไร

        …

        คนในครอบครัวเดียวกันที่แม้จะเกิด เติบโตมาบนสิ่งแวดล้อมเดียวกัน ก็ไม่ได้หมายความว่า จะผ่านการระบายสีมาแบบเดียวกัน  ถึงแม้จะใช้สีเดียวกันก็ไม่ได้หมายความว่า ภาพที่ปรากฏบนกระดาษ  จะเหมือนกัน

        “อย่าไปตัดสิน วิพากษ์วิจารณ์การพยาบาลหรือแผนการรักษาที่คนไข้ได้รับ  วิจารณ์สิ่งที่คนไข้คิด คนไข้ตัดสินใจ  เราไม่ได้อยู่ ไม่ได้เห็นคนไข้ ณ เวลานั้นเราไม่มีทางรู้ ไม่มีทางเข้าใจหรอกว่าทำไม พวกเขา ถึงตัดสินใจแบบนั้น”

        คำพูดของอาจารย์พยาบาลที่เฝ้าย้ำตั้งแต่ฉันเริ่มขึ้นปี 2  เมื่อก้าวขึ้นฝึกปฏิบัติบนหอผู้ป่วยครั้งแรก  และย้ำทุกครั้งที่พาพวกเราขึ้นฝึกปฏิบัติงานย้อนคืนมาอีกครั้ง   บางทีฉันควรกลับไปทบทวนดูว่า …

        ทุกวันนี้ ฉันได้ ฟังทุกคนเพื่อฟัง แล้วหรือยัง

 

ที่มา: