Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

เพื่อนข้างเตียง

-A +A

วันอาทิตย์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

          คนที่ต้องนอนป่วยนานๆ เป็นเวลาหลายเดือน ความสุขสดชื่นก็ค่อยๆ หายไปด้วย หลายคนก็เบื่อหน่ายที่ยังไม่แข็งแรงพอ จะกลับไปใช้ชีวิตปกติได้เสียที บ้างก็เฝ้าคิดหมกมุ่นเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยของตัวเอง เป็นความรู้สึกบั่นทอนให้เกิดความเครียด

          โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จึงได้ร่วมกับทางเครือข่ายพุทธิกา จัดโครงการอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้าย ทั้งผู้ป่วยเด็กและผู้ใหญ่ โดยเน้นที่การดูแลด้านจิตใจ อาทิเช่น การเยี่ยมเยียน ให้กำลังใจ เป็นเพื่อนข้างเตียงผู้ป่วย และชักชวนให้ทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อผ่อนคลาย โดยจะมีการจัดอบรมวิธีการทำงานให้ก่อนและจัดสรรเวลาให้ไปเยี่ยมเยียนคนไข้

          รัชฎา วงศ์วรวิสิทธิ์ หนึ่งในคนที่ทำงานอาสาสมัครโครงการนี้มาได้ร่วม 8 เดือนแล้ว ผู้ป่วยที่เธอดูแลหรือแวะเวียนไปเยี่ยมเยียนเป็นผู้ป่วยเด็ก บางคนมาพักฟื้นรักษาตัวที่โรงพยาบาลเพื่อรับเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็ง บางคนก็เป็นโรคไตมีอาการหลายอย่างแทรกซ้อนให้เจ็บป่วยอยู่เสมอ

          อาสาสมัครหญิงวัยกว่าสี่สิบปีคนนี้ เป็นคุณแม่ของลูกวัยสิบกว่าขวบสองคน เธอเคยทำงานด้านบัญชีก่อนจะลาออกมาเป็นแม่บ้านเต็มตัว เพื่อทำหน้าที่ดูแลบ้านดูแลลูก มีคนงานช่วยผ่อนแรง ทำให้มีเวลาว่างอยู่บ้าง เมื่ออ่านพบเกี่ยวกับโครงการทำดีเพื่อในหลวงจากนิตยสารสารคดี มีงานอาสาสมัครให้เลือกทำตามความถนัดและเวลาว่าง จึงสนใจ เพราะอยากใช้เวลาว่างที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์กับคนอื่น

          เธอเริ่มงานอาสาสมัครจากการนวดเด็กที่สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนที่ปากเกร็ด ก่อนจะขยับมาเป็นอาสาข้างเตียงเพิ่มอีกงาน เมื่อยังพอจัดสรรเวลาว่างได้อีก

          คุณแม่ลูกสอง เล่าต่อว่า โครงการอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้าย จะรับอาสาสมัครรุ่นละ 15 คน โดยต้องเขียนเรียงความถึงงาน ถึงแรงบันดาลใจในการสมัครเข้ามา เมื่อผ่านแล้วก็เข้าอบรมเป็นเวลา 3 วัน 2 คืน เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับหน้าที่ของอาสาสมัคร หน้าที่ของพยาบาล แพทย์ และคนไข้ เพื่อจะได้รู้บทบาทหน้าที่ของตัวเอง

          "ผู้ป่วยเรื้อรังต้องมาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเป็นเวลานาน โดยเฉพาะเด็กก็ไม่ได้ไปโรงเรียนเป็นเทอมๆ หรือเป็นปีๆ ทำให้มีเพื่อนน้อย อาสาสมัครข้างเตียงก็เหมือนไปอยู่เป็นเพื่อนคุยเพื่อนเล่นให้กับเขา ส่วนหนึ่งก็ให้เด็กๆ ได้เพลิน ไม่ต้องหมกมุ่นกับอาการเจ็บป่วยของตัวเอง ส่วนหนึ่งก็ได้ช่วยให้คนเฝ้าประจำของเขา อาจจะเป็นพ่อหรือแม่ได้พักผ่อนบ้าง เพราะเขาต้องอยู่กับลูกเกือบตลอดเวลา ถ้าได้ออกไปเดินเล่นหรือมีเวลาให้ตัวเองเล็กๆ น้อยๆ จะได้ไม่ตึงเครียดจนเกินไป"

          มีหลายเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจก่อนที่จะได้ปฏิบัติงานอาสานี้ ทั้งเรื่องความสะอาดที่ต้องดูแลเป็นพิเศษก่อนเข้าไปเยี่ยมไข้ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กๆ ผู้ป่วยติดเชื้อ โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็กที่มีการรับรู้เรื่องความเจ็บไข้ต่างๆ กันไปตามวัย รวมถึงเรื่องความตายด้วย อาสาสมัครก็ต้องระมัดระวังหลายเรื่อง เช่น ไม่ถามจุกจิกเกี่ยวกับการเจ็บป่วย หรือทักถึงสีหน้าที่ทรุดโทรมของเขา ไม่พูดให้ความหวังเกี่ยวกับอาการป่วยที่ไม่เป็นจริง เป็นต้น

          นอกจากนี้เธอยังต้องเรียนรู้เกี่ยวกับบุคลิกภาพของผู้ป่วยแต่ละลักษณะว่า จะสามารถเข้าถึงเขาได้ถูกจริตอย่างไรได้บ้าง รวมไปถึงทำความเข้าใจด้วยว่า อาการเจ็บป่วยนั้นสร้างความตึงเครียดให้กับพวกเขามายาวนานแล้ว บางคนอาจจะออกอาการหงุดหงิดอารมณ์เสียใส่อาสาสมัครบ้าง

          และสิ่งที่เป็นหลักการทำงานที่สำคัญที่สุดก็คือ การเป็นผู้ฟังที่ดี การมีคนมารับฟังบ้าง ก็มีส่วนช่วยเยียวยาจิตใจของพวกเขาได้ ทั้งตัวผู้ป่วยและคนเฝ้าไข้ประจำของเขา อาจจะเป็นพ่อหรือแม่ เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็รักษากันมานาน ไม่มีเพื่อนคุยเล่นแล้ว หรือพ่อแม่ก็เฝ้าไข้อยู่นาน ไม่ได้มีเวลาไปเจอใครอื่นเลยนอกจากผู้ป่วย

          "เราก็เหมือนเป็นตัวละครแปลกใหม่ในชีวิตของพวกเขา ทั้งผู้ป่วยหรือญาติเฝ้าไข้ ปกติพวกเขาก็อยู่กันเท่านั้น อาจจะมีหมอพยาบาลบ้าง คนไข้เตียงข้างๆ บ้าง ก็มีเราไปคุยเล่นกับลูกเขาที่นอนป่วย และคนเฝ้าไข้ก็ได้คุยกับเราด้วย บางครั้งการได้เล่าทุกข์ให้ใครสักคนฟัง ก็ช่วยถ่ายถอนความทุกข์ออกไปจากใจบ้าง ลดภาระในการแบกรับเรื่องหนักๆ ของเขาไปบ้าง" รัชฎาว่า แต่ก็ไม่ต้องรับมาเป็นทุกข์แทน อาสาสมัครก็ต้องเรียนรู้การจัดการกับความรู้สึกของตัวเองด้วย

          เด็กๆ ที่พักรักษาตัวที่โรงพยาบาล บางคนก็มาพักรักษาตัวอยู่นาน บางคนก็มาตามกำหนดแพทย์นัดหมาย มีทั้งรายเก่าและรายใหม่หมุนเวียนเข้ามา และก็มีรายเก่าที่จากไป แม้อาสาสมัครจะต้องผ่านการอบรมในเรื่องการปล่อยวางเกี่ยวกับความตายไปบ้าง แล้ว แต่ความรู้สึกก็ต้องถูกกระทบกระเทือนอยู่ไม่น้อย

          "มีเด็กที่เคยดูแลแล้วเขาจากไป ก็รู้สึกใจหาย และน้ำตาคลออยู่ทั้งวัน ก็เจอคุณป้าคนหนึ่งที่เข้ามาทำงานอาสาด้วยกัน เขาก็ปลอบว่า ก็เป็นอย่างนี้นะ มีคนไป แต่เดี๋ยวก็มีคนมา เราก็ต้องอยู่กับปัจจุบัน ตั้งแต่นั้นก็คิดเรื่องการใช้เวลาตรงหน้านี้ให้ดีที่สุด ทั้งเรื่องดูแลเด็กที่เป็นผู้ป่วยและชีวิตของตัวเองด้วย"

          ความรู้สึกของคนที่มีต่อคนไข้ในโรงพยาบาล โดยเฉพาะรายที่เจ็บป่วยเรื้อรังไม่เห็นความหวังแล้ว ส่วนใหญ่เป็นความรู้สึกเศร้า หดหู่ มีเหตุผลใดที่จะก้าวเข้ามาเกี่ยวข้องหรือเผชิญกับภาพหรือความรู้สึกอย่าง นั้น...

          "ความเศร้าความหดหู่กับสภาพที่ได้เห็นได้สัมผัสนั้นเกิดขึ้นแน่นอน แต่เมื่อเทียบกับตัวผู้ป่วยแล้ว เขาแบกรับความรู้สึกนั้นมากกว่าที่เกิดกับเราอย่างเทียบกันไม่ได้ เราหดหู่กับภาพที่เห็น แต่เด็กที่ป่วยหดหู่กับสิ่งที่เขาเป็นมากกว่าเราหลายเท่า หรือที่พ่อแม่เขารู้สึกนั้น ความเศร้าที่เกิดกับเรานั้นเล็กน้อยเหลือเกิน" รัชฎา บอกอย่างนั้น

          แม้งานอาสาสมัครจะไม่มีค่าจ้างเป็นเงินทอง แต่ผลตอบแทนที่ได้รับก็มีคุณค่าต่อชีวิตไม่น้อย

          "นอกจากทำให้รู้สึกปีติดีใจที่ได้เป็นประโยชน์กับคนอื่นแล้ว ก็มีความหวังในใจว่า ลูกๆ ของตัวเองจะได้เรียนรู้สิ่งดีๆ จากการได้เห็นการกระทำของตัวเราด้วย" รัชฎาพูดถึงผลที่ได้รับจากงานอาสา

ที่มา:

ผู้เขียน: