Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

ขอเทใจทั้งหมดให้พ่อ

-A +A

          ณ ยอดเขาสูงสุดแห่งนี้ มองออกไปเห็นแต่ท้องฟ้ากว้างใหญ่ไร้กลีบเมฆ ดูใสกระจ่าง ทิวเขาข้างหน้าตั้งตะหง่านเป็นแนวยาว ปกคลุมด้วยต้นไม้ที่ใหญ่น้อยกระจิดริด จิตใจฉันเบาสบายปลอดโปร่ง มีความภาคภูมิใจและมีความสุขที่ได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว คือการทำความดีเพื่อพ่อ ผู้ซึ่งลาลับจากไปแล้ว ก่อนพ่อจะจากไปยังได้มีโอกาสขอบใจลูกทุกคนที่เฝ้าปรนนิบัติ และวันสุดท้าย พ่อบอกเพียงว่าอยากจะพักผ่อนแล้ว 

          พ่อโชคดีที่ได้นอนตายอย่างสงบในบ้าน มีภรรยาและลูกทุกคนอยู่ใกล้ชิด ข้อสำคัญคือ พ่อมีร่างกายที่สะอาดหมดจด ทั้งภายในและภายนอก พ่อไม่ทานอะไรเลย ๑ วันก่อนละร่าง จนถึงเช้าวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๑ เราแปรงฟัน ล้างหน้าให้พ่อ เช็ดตัวทำความสะอาดร่างกาย เปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่ พาพ่อไปนั่งพักผ่อน ถามพ่อว่าจะไปเยี่ยมแม่ไหม แม่นอนพักฟื้นอยู่หลังจากการผ่าตัดกระดูกสันหลังที่แตก พ่อตอบปฏิเสธ อยากจะพักผ่อน เมื่อพ่อไปถึงที่นอนแล้ว เราตรวจตราความสะอาดของพ่อ ที่นอน ทุกอย่างเรียบร้อยดี จึงเตรียมตัวจะออกไปทำงาน แล้วพ่อก็เริ่มหายใจถี่ๆ เราพยุงร่างของพ่อให้อยู่ในอ้อมกอด และแล้วลมหายใจเฮือกสุดท้าย เป็นลมหายใจที่ไม่มีกลิ่นเลย 

          วันนี้ก็ใกล้ครบ ๒ ปีแห่งวันจากไปของพ่อ ซึ่งเหตุการณ์ตลอด ๑ ปี ที่เฝ้าดูแลพ่อนั้น ยากที่จะลืมเลือนทั้งๆ ที่อยากจะลืมเสีย เพราะว่าการดูแลพ่อนั้นเป็นงานที่ต้องอดทนมาก

 

แรกเริ่มมีอาการ

          พ่อเป็นผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงตลอดมา ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บรุนแรง ปกติเวลานั่ง หลังจะตรงเสมอ เวลาเดิน หลังก็จะตรงเป็นเช่นนี้เรื่อยมาจวบจนกระทั่งอายุ ๘๕ ปี แต่เมื่ออายุย่างเข้า ๘๖ ปี ระบบภายในร่างกายเริ่มรวนเร แล้วเรื่องที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อโรงพยาบาลหัวเฉียวโทรศัพท์มาที่บ้านติดต่อญาติไปรับตัวคุณพ่อที่โรงพยาบาล พ่อล้มลงแถวเยาวราช หัวแตก มีคนใจดีพาส่งโรงพยาบาล หมอต้องเย็บแผลที่ท้ายทอย ๖ เข็ม เมื่อพ่อกลับมาบ้าน ยังคงเดินได้ ทานอาหารเป็นเหมือนปกติ แต่แท้จริงแล้ว นี่คือจุดเริ่มต้นของทุกขเวทนา บทเรียนที่พ่อและลูกต้องฝ่าฟัน ผ่านวิกฤตด้วยความมั่นคงและสงบ

          เราไม่เอะใจว่าเนื้อสมองของคนแก่ที่ถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง จนเนื้อสมองเริ่มตาย จะส่งผลอะไรบ้าง จนกระทั่งวันเวลาผ่านไปราว ๑ เดือน พ่อเริ่มแผลงฤทธิ์ เริ่มเปลี่ยนไป มีพฤติกรรมผิดปกติ จนลูกตกใจ พ่อเริ่มเอาแต่ใจตัวเอง อยากทานอะไรก็ต้องหามาให้ ไม่งั้นจะโกรธ พูดเสียงดังเอ็ดตะโร บางวันก็อยากจะไปทานหูปลาฉลาม หยิบกุญแจเปิดประตูบ้านออกไป ลูกต้องวิ่งตาม พยายามอธิบายให้พ่อกลับบ้าน พ่อก็ไม่ฟัง จะเอาไม้เท้าที่ถือตีลูก เมื่อตกกลางคืนพ่อจะตื่นมาเปิดเตาแก๊สต้มน้ำ ลูกต้องตื่นมาคอยดู กลัวว่าจะเกิดไฟไหม้ เพราะพ่อเปิดเตาแก๊สทิ้งไว้ แล้วปิดไม่เป็น กุญแจบ้านก็ต้องนำไปซ่อน กลัวพ่อเปิดประตูแล้วหายไปกลางดึก สิ่งที่พ่อเคยทำได้ก็เริ่มทำไม่ได้ ขับถ่ายปัสสาวะ อุจจาระเรี่ยราด ทำความสะอาดเองไม่เป็น จะเดินขึ้นบันได ก็เกือบล้มตกบันได ต้องคอยติดตามทุกฝีก้าว เวลาอาบน้ำยืนไม่ได้ จะล้ม ต้องให้นั่งเก้าอี้ พ่อโมโหร้ายและก้าวร้าวเมื่อไม่ได้ดังใจ ทั้งที่พ่อเพิ่งทานข้าวเสร็จ พ่อก็บอกว่าหิว

          พ่อกลับไปเป็นเด็ก พ่อกลายเป็นลูก ลูกต้องเริ่มต้นชีวิตใหม่ ด้วยการปรับจิตปรับใจให้ตั้งมั่นอยู่ในพระรัตนตรัยยิ่งๆ ขึ้น มีพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง เพื่อเจริญกุศลจิต ปรนนิบัติพ่อด้วยความเข้าใจ ด้วยความมีสติ ไม่โกรธ และไม่รังเกียจพ่อที่เปลี่ยนไป ลูกจึงตัดสินใจพาพ่อไปหาหมอรักษาโรคทางสมองคือความจำเสื่อม หมอให้ยาเม็ดมาทานเพื่อรักษาระบบหมุนเวียนของเลือดในสมอง รักษาไม่ให้บริเวณเนื้อสมองที่ตายแผ่ขยายออกไป เวลาผ่านไปสักสามสี่เดือน เมื่อเนื้อสมองหายฟกช้ำ พ่อก็เริ่มดีขึ้น อาการสมองเสื่อมทุเลา ไม่ก้าวร้าวมาก พูดรู้เรื่อง ทุกคนในบ้านดีใจที่พ่อเริ่มมีท่าทีว่าจะกลับมาเป็นพ่อคนเดิม 

          แต่แล้วค่ำคืนหนึ่ง ที่หลังเท้าของพ่อเริ่มบวม พ่อเหงื่อแตก หนาวสั่น พ่อไม่บ่นว่าเจ็บสักคำ ท่าทางพ่อมีอาการไม่ดีเลย กลัวว่าคืนนั้นพ่อจะไม่รอด ตอนเช้ารีบพาไปโรงพยาบาล หมอต้องรีบสวนปัสสาวะออก เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ สาเหตุเกิดจากต่อมลูกหมากโตไปกดท่อปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะไม่ได้ ขังอยู่ในร่างกาย ทำให้เกิดการติดเชื้อ อาการภายนอกที่ปรากฏคือ เท้าบวม ต้องผ่าตัดเอาต่อมลูกหมากที่โตออกไป คนไข้ที่อายุไม่มาก หลังจากการผ่าตัดแล้ว นอนพักสักสามวันก็กลับบ้านได้ แต่พ่อมีอายุมากแล้ว หมอไม่กล้าเสี่ยงทำการผ่าตัดใดๆ 

          หมอชมว่าพ่อเก่งมากที่อดทนมาได้ทั้งคืน เพราะว่าอาการที่เกิดขึ้นนี้ จะเจ็บปวดมาก การรักษาขั้นต้นคือรักษาอาการติดเชื้อให้หาย ต้องทำให้ไข้ลด พ่อต้องนอนโรงพยาบาล เมื่อรักษาอาการหายจากการติดเชื้อแล้ว นับแต่นี้ไปหมอจะให้พ่อสวนปัสสาวะออกทางถุงปัสสาวะ เป็นถุงพลาสติกห้อยติดตัว จะให้พ่อห้อยถุงนี้จนกว่าจะตาย ทุกหนึ่งเดือนจะต้องไปให้หมอถอดถุงปัสสาวะออก เปลี่ยนใหม่ มิฉะนั้นจะเกิดอาการติดเชื้ออีก สำหรับคนแก่ชรา เรื่องการติดเชื้อเป็นเรื่องใหญ่ และต้องใช้ระยะเวลาในการรักษายาวนานกว่าคนอายุต่ำกว่า ๖๐ ปีมากนัก ร่างกายของคนชราจะรื้อฟื้นกลับสู่สภาพเดิมได้ช้ามาก 

          เวลาผ่านไปสักหนึ่งอาทิตย์ เราเห็นพ่อกลับมาบ้านตอนเย็นค่ำแล้ว พร้อมกับถุงพลาสติกที่มีสายยาวๆ ห้อยออกมาจากขากางเกงขาสั้น ซึ่งยุ่งยากมาก จะต้องคอยถือติดตามตัวไป จะนั่ง จะนอน จะเดินก็เกะกะเหลือเกิน หมอบอกว่าการใส่ถุงแบบนี้ สำหรับผู้ชายจะเจ็บกว่าผู้หญิง อดสงสารพ่อไม่ได้ กำลังคิดว่าจะทำอย่างไรดีที่จะช่วยให้พ่อรู้สึกสบายกับถุงพลาสติก เพิ่งจะผ่านไปได้เพียงสองวัน 

          แต่เช้าตรู่ พ่อลุกไปอาบน้ำเอง แล้วดึงสายถุงปัสสาวะออก เดินขึ้นบันได โดยที่พ่อไม่รู้เรื่องว่าตัวเองทำอะไรลงไป เลือดไหลนองตามขั้นบันได เลือดนองพื้นบ้านชั้นสอง เราตกใจรีบพาพ่อส่งโรงพยาบาลฉุกเฉิน ไปถึงโรงพยาบาล ๘ โมงเช้า หมอยังไม่มา พ่อต้องนอนรอจน ๙ โมง พ่อไม่ชอบรอใคร ลุกจากเตียงจะกลับบ้าน ต้องคอยคุยปลอบพ่อเป็นภาษาจีนให้หายตกใจ พ่อเห็นห้องฉุกเฉินเป็นห้องเก็บศพ พ่อไม่อยากอยู่ 

          หมอตัดสินใจยอมผ่าตัดต่อมลูกหมากให้พ่อ เพราะเห็นว่าการเต้นของหัวใจยังดี หมอเห็นใจคนดูแล และบอกว่าถ้าคนป่วยที่สมองถูกกระเทือนแล้วเดินไม่ได้ น่าจะดีกว่าอีก กรณีของพ่อเดินได้ทำให้การดูแลยากลำบาก

          ครั้งนี้พ่อต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลยาวนานเป็นเดือน ราวห้าสัปดาห์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตของลูก ทั้งการทำงาน ภาวะการเงินและภาวะจิตใจอย่างมากที่สุดที่ชีวิตนี้จะต้องทนสภาพ และยอมรับให้ได้

          ก่อนการผ่าตัดต่อมลูกหมากโต หมอจะต้องตรวจร่างกายอย่างละเอียด เพื่อความปลอดภัยของพ่อ หมอตรวจพบค่าของเลือดสูง สงสัยว่าจะเป็นมะเร็งแต่ยังไม่ทราบว่าเป็นที่อวัยวะส่วนใดของร่างกาย หมอคนแรกสงสัยว่าจะเป็นมะเร็งที่ต่อมลูกหมาก หมอคนที่สองสงสัยว่าจะเป็นมะเร็งที่ปอด ก่อนหน้านี้หมอที่โรงพยาลอีกแห่งสงสัยว่าพ่อจะเป็นมะเร็งที่ตับ เราเครียดมากและรู้สึกกดดันมากกับสิ่งที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้ เพราะไม่มีความรู้เลยว่าจะทำอย่างไรดี 

 

สติมา ปัญญาเกิด

          เมื่อไม่รู้ก็ไม่คิด ตั้งสติให้ได้ก่อน ต้องอยู่กับลมหายใจ แล้วค่อยๆ ทำความเข้าใจกับสิ่งที่จะต้องเผชิญข้างหน้า อาทิ กระบวนการตรวจโรคด้วยเครื่องมือทันสมัย คนไข้ต้องอดอาหารก่อนเข้าเครื่องตรวจสแกน ต้องฉีดสีเข้าร่างกาย แล้วคนไข้จะต้องเจ็บตัวจากการตรวจชิ้นเนื้อ ต้องรอผลการเจาะเลือด ตรวจเลือด และค่าใช้จ่ายสูงมาก ข้อสำคัญคือ หมอถามอาการคนไข้ ก็จะไม่ได้คำตอบ เพราะพ่อไม่รู้เรื่อง ไม่รับรู้ พ่อเริ่มพูดแต่ภาษาจีน ทั้งที่พ่อพูดภาษาไทยได้คล่อง เราก็ต้องมารื้อฟื้นทำความเข้าใจภาษาจีนของเราเอง ที่เริ่มหลงลืมไปแล้ว นางพยาบาลไม่เข้าใจภาษาจีน เราก็ต้องเป็นล่ามแปลให้ฟัง

          นโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธธัสสะ สวดไปเรื่อยๆ อยู่ในใจ เพื่อรักษาความสงบเบื้องต้นให้ได้ก่อน แล้วเริ่มใช้ความคิดทีละก้าว

          หมอให้พ่อเอ็กซเรย์ปอด อดอาหาร ๑ คืน แล้วฉีดสีเข้าไปภายในร่างกาย สำหรับการเข้าเครื่องตรวจสแกน เห็นสภาพพ่อแล้วสงสารมาก อยากถามพ่อว่าเป็นอย่างไร แต่พ่อไม่รู้เรื่อง ไม่พูดอะไร เมื่อร่างกายของพ่อเริ่มฟื้น นางพยาบาลเตรียมเอกสารมาให้เซ็นชื่อ เรื่องการเจาะเอาชิ้นเนื้อปอดของพ่อไปตรวจมะเร็ง ฟังดูแล้วง่ายๆ แต่ว่าเริ่มลังเลที่จะเซ็นชื่อ เพราะเห็นว่าพ่อโทรม ได้ตอบพยาบาลไปว่า คืนนี้ยังไม่เซ็นชื่อค่ะ ขอไปคิดดูก่อน จึงโทรศัพท์ไปปรึกษาคุณหมอสงวน นิตยรัมภาพงศ์ ซึ่งกรุณาอธิบายจนแจ่มแจ้ง จึงรู้ว่าพ่อเราไม่ได้เป็นมะเร็งที่ปอดแน่นอน เมื่อได้ข้อมูลแล้ว ต้องไปดักรอพบหมอที่ตรวจปอดแต่เช้า ๘ โมง ตอนเย็น นางพยาบาลจะมาให้เซ็นชื่ออีก เรายืนยันว่าไม่ต้องการให้มีการเจาะเนื้อปอด ต่อมา หมอจึงยอมรับว่าพ่อเป็นเพียงโรคถุงลมโป่งพองในปอด ทำให้ไอและมีเสมหะมาก โดยเฉพาะการอยู่ในห้องปรับอากาศที่ติดเชื้อโรค

          เมื่อพ่อมีร่างกายแข็งแรงพอ หมออีกคนหนึ่งจึงเริ่มทำการผ่าตัดต่อมลูกหมาก ลูกทุกคนไปเฝ้ารอหน้าห้องผ่าตัด หมอมาทำการผ่าตัดตอนสามทุ่ม ผลที่ได้น่าพอใจ หมอให้พ่อไปนอนพักรักษาตัวที่ห้องไอซียูสองคืน 

          คราวนี้พ่อตื่นขึ้นมาพูดคุยได้เหมือนคนเดิมเลย ไม่มีอาการของโรคสมองเสื่อม พ่อยิ้มแย้มแจ่มใส พ่อจะต้องนอนพักรักษาตัวต่อไป เพื่อให้แผลผ่าตัดแห้งและเอาสายสวนปัสสาวะออก เมื่อร่างกายฟื้นตัวแล้วคือเดินได้ ต้องหัดปัสสาวะด้วยตัวเองให้ได้ เพื่อให้ระบบขับถ่ายเป็นปกติ สำหรับคนแก่ชรา สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แล้วการได้มีโอกาสทำความดีครั้งสำคัญอย่างยิ่ง เป็นโอกาสสำคัญที่ได้แสดงความกตัญญูกตเวทีก็เริ่มต้น 

 

ด้วยรักและกตัญญู

          เราคิดว่า เพียงแค่มีเงินจ่ายให้โรงพยาบาล มีหมอมารักษา มีนางพยาบาลมาดูแลคนไข้ ก็จบ เราต้องทำงานหาเงินมาเป็นค่ารักษาพยาบาล การจะไปเยี่ยมพ่อก็จะสะดวก แต่หลังเวลาทำงาน ราวหกโมงเย็นแล้ว แวะไปเยี่ยมพ่อเฉพาะตอนเย็นวันละครั้ง สบายใจจัง สัก ๒ วันผ่านไป เกิดอะไรขึ้นกับพ่อ เย็นนี้พ่อโวยวายอยากกลับบ้าน หาทางลุกออกจากเตียง นางพยาบาลจึงขอย้ายเตียงของพ่อมาอยู่หน้าเคาน์เตอร์จะได้ดูแลได้สะดวก นางพยาบาลเล่าว่าเมื่อคืนพ่ออาละวาด หมอต้องให้ทานยานอนหลับ ซึ่งไม่เท่านั้น แถมข้อมือยังถูกมัดกับแผงเหล็กกั้นขอบเตียง พ่อโกรธมาก

          เราเริ่มสลดหดหู่ใจ จะอยู่ที่โรงพยาบาลทั้งคืนเป็นเพื่อนพ่อก็ไม่ได้ โรงพยาบาลกำหนดให้อยู่ได้ถึงสามทุ่ม แล้วพรุ่งนี้เช้าก็ต้องไปทำงาน กลับมาบ้านนอนไม่หลับ เริ่มคิดถึงเรื่องการดูแลพ่อ ซึ่งหมายถึงจิตใจของพ่อที่ต้องนอนอย่างเดียวดายในห้องที่กว้างยาว มีผู้ป่วยที่เป็นคนแก่อีกสิบเตียง มีคนแก่ที่ถูกทอดทิ้งแล้วร้องตะโกนทั้งคืน เรียกหาคุณหมอครับ คนแก่อีกคนก็ตะโกนเป็นภาษาจีนว่า จะตายแล้ว แล้วยังมีคนแก่ที่ผ่านการผ่าตัดแล้วร่างกายไม่ฟื้นกลับสู่สภาพเดิม ต้องให้อาหารทางสายยางอีกหลายเตียง ฯลฯ

          เราตัดสินใจไม่ไปทำงาน จะอยู่เป็นเพื่อนพ่อที่โรงพยาบาลตลอดทั้งวัน เพื่อให้พ่ออบอุ่นใจ ไม่ตกใจกลัว เราจะช่วยรื้อฟื้นความทรงจำของพ่อ เพื่อให้พ่อหายวิตกกังวล พ่อจะได้มีสุขภาพแข็งแรงในเร็ววันที่สุด จะได้ออกจากโรงพยาบาล ออกจากสภาพที่ไม่น่าอภิรมย์เลย 

          การดูแลพ่อด้วยหัวใจทั้งดวงนี้ เริ่มจากเราสวดมนต์ให้นานพอที่จิตจะสงบ แผ่เมตตา นั่งสมาธิเป็นประจำทุกวันก่อนไปเฝ้าปรนนิบัติ กิจวัตรประจำวันเวลาไหนที่พ่อทำอะไร ก็วางแผนให้ทำไปตามความเคยชินเดิมๆ ให้มากที่สุด พ่อชอบดื่มกาแฟและขนมปังกรอบ ๒ แผ่น แล้วแปรงฟันล้างหน้า ส่องกระจก หวีผม หลังจากนั้นอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาจีน เวลาอาหารกลางวัน พ่อชอบซีอิ๊ว ก็ไปจัดหามาให้ ตอนเย็นห้าโมง หลังอาหารก็จัดเตรียมให้พ่อแปรงฟัน เช็ดหน้า เรานั่งอยู่ข้างๆ พ่อทั้งวันทั้งคืน เวลาที่พ่อหลับคือเวลาที่เราสำรวมจิต ทำสมาธิพูดคุยกับพ่อทางจิต แม้ว่าพ่อจะไม่พูดคุยเลยก็ตาม

          เมื่อพ่อเริ่มคุ้นเคยกับกิจวัตรประจำวัน เริ่มพูดคุยจำชื่อเราได้ เพื่อนร่วมห้องผู้ป่วยรายใหม่เข้ามาอยู่เตียงข้างๆ พูดภาษาจีนทักทายพ่ออย่างมีความสุข เพราะว่าเคยอยู่ในละแวกบ้านใกล้กัน แต่เมื่อคุยกันนานๆ ปรากฏว่าคุยกันคนละเรื่อง คนหนึ่งถามเรื่องหนึ่ง อีกคนตอบคนละเรื่อง 

          การที่เราดูแลพ่ออย่างใกล้ชิดทำให้ พ่อรู้สึกสดชื่น พ่อไม่โวยวายอาละวาดกลางดึก พ่อไม่ต้องถูกมัดมือกับเตียงอีกแล้ว แต่เตียงตรงข้ามซึ่งอยู่ก่อนพ่อ ๑ สัปดาห์ ยังคงต้องโดนมาตรการนี้ เพราะไม่มีลูกมาดูแล ร่างกายของพ่อฟื้นตัวเร็วจนหมอชม ทุกเช้าเราต้องช่วยพยุงพ่อนั่งรถเข็น เพื่อให้ร่างกายมีการขยับตัว และหัดให้พ่อเดินได้ เมื่อพ่อเดินได้ก็จะปัสสาวะเองได้ เพราะพ่อไม่รู้วิธีปัสสาวะแล้ว การดูแลพ่อผ่านไปสี่สัปดาห์ พ่อพูดคุยรู้เรื่องได้มาก หมอทางสมองถามอาการ พ่อสามารถตอบได้ หมอที่รักษาต่อมลูกหมากก็ชมว่าพ่อฟื้นตัวเร็ว และเป็นคนแก่ที่แข็งแรงอย่างไม่เคยพบเห็นมาก่อน

          สัปดาห์สุดท้ายของการอยู่โรงพยาบาล บ่ายวันหนึ่ง เราปรับเตียงเพื่อให้พ่อสามารถนั่งชมท้องฟ้ากว้างใหญ่ ไร้กลีบเมฆ พ่อบอกว่า พ่อมีความสุข ถ้าตายตอนนี้ก็มีความพร้อมแล้ว ไม่มีอะไรต้องกังวล ก่อนออกจากโรงพยาบาล พ่อลุกออกจากเตียง เดินไปห้องน้ำ ถ่ายปัสสาวะเองได้

          หมอสามคน ประจำสามโรค มาตรวจครั้งสุดท้าย แปลกใจที่พ่อหายเป็นปกติทุกอย่าง ใบหน้าของหมอมีความสุขและพูดชมพ่อ 

 

          เมื่อพ่อกลับมาอยู่บ้าน พ่อเหมือนคนปกติ เพียงแต่ร่างกายอ่อนแรง ไม่สามารถเดินขึ้นบันไดได้ ต้องกั้นห้องนอนใหม่อยู่ชั้นล่าง พ่อได้ทานอาหารจานโปรดทุกมื้อ พ่อได้เดินเหิน มีญาติมาเยี่ยม มีเพื่อนบ้านมาคุย พ่อจำทุกคนได้ จำชื่อได้และเล่าเรื่องอดีตของแต่ละคนได้ แต่แล้วคืนหนึ่งแม่ก็ร้องว่าปวดหลัง จึงต้องพาแม่ไปโรงพยาบาลเพื่อผ่าตัดกระดูกสันหลังที่แตก แม่ต้องนอนโรงพยาบาลสามสัปดาห์ พ่อไปเยี่ยมแม่ที่โรงพยาบาล เมื่อแผลหายดีแล้ว แม่กลับมานอนพักฟื้นที่บ้าน ห้ามลุกจากเตียงอีก ๑ เดือน เมื่อแม่เริ่มดีขึ้น พ่อก็จากลาแม่ไปอย่างสงบสุข

                                                                                                                                            ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๒

 

คอลัมน์: