Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

ตายแบบไหน...ที่พยาบาลอยากให้เป็น

-A +A

          “อยากให้คนไข้ที่เราดูแลตายแบบไหน” เมื่อพยาบาลซึ่งทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยระยะท้ายได้ยินคำถามนี้ เธอตอบทันทีว่า “ตายอย่างที่เค้าอยากได้ ซึ่งมันบอกไม่ได้ว่าตายแบบไหน ถ้าเราทำให้คนไข้สมปรารถนาได้เราก็อยากทำ”

          เราลองมาคิดและสมมุติตัวเองเป็นพยาบาลในชุดขาวกันไหมคะว่า หากเราสวมบทบาทเป็นพยาบาล ซึ่งดูแลคนไข้ระยะท้ายที่นอนอยู่บนเตียง ไม่สามารถลุกเดิน ยืน นั่งได้อีกแล้ว เราอยากให้ผู้ป่วย ตายแบบไหน อย่างไร

          คุณสุรีย์ ลี้มงคล พยาบาลผู้มีประสบการณ์การดูแลคนไข้ระยะท้ายมานาน บอกเล่าประสบการณ์ว่า “เมื่อดูแลคนไข้ระยะท้ายใหม่ๆ อยากให้คนไข้ตายที่บ้าน มันเป็นภาพที่สวยงามท่ามกลางความโศกเศร้า ตอนนั้นประทับใจมาก”

 

          เมื่อวันสุดท้ายของการดูแลมาถึงเช้าวันนั้น คุณยายหายใจแรงและดูเหนื่อยหลังจากที่เราให้การดูแลคุณยาย เราจึงจัดให้คุณยายนอนตะแคง เพื่อให้หายใจสะดวกขึ้น ในใจฉันคิดว่า ‘คงเป็นวันนี้’ ฉันขอให้ญาติที่มาเยี่ยมคุณยายนั่งข้างเตียงและจับมือคุณยายไว้ ฉันคิดว่าเวลาเราต้องไปในสถานที่ที่เราไม่รู้จัก เราคงรู้สึกกลัว อ้างว้างและเดียวดาย การมีใครสักคนอยู่ข้างๆ คงช่วยลดความรู้สึกเหล่านี้ได้บ้างฉันไม่รู้ว่า คุณยายรับรู้มากน้อยแค่ไหน แต่คุณยายดูสงบลงเมื่อฉันบอกคุณยายว่า“มีคุณป้า นั่งเป็นเพื่อนอยู่ข้างๆ นะคะ หนูขอเปิดเทปชินบัญชรให้คุณยายฟังนะคะ ถ้าคุณยายไม่อยากฟังก็ส่ายหน้านะคะ”ก่อนหน้านี้ คุณยายจะกระสับกระส่ายเวลาเปิดเทปธรรมะให้ฟัง แต่วันนี้ไม่มีอาการเช่นนั้นเลย การหายใจที่แรงและดูเหนื่อยในช่วงแรกดูสงบลง คุณยายจากเราไปในวันนั้น ที่บ้านท่ามกลางพี่น้องและหลานๆ

 

          ความประทับใจนี้ฝังอยู่ในใจเธอมาตลอด ภาพเหล่านี้นำไปสู่ความคิดที่ยึดติดฝังแน่นว่า “การตายที่บ้าน คือความสมบูรณ์แบบ เป็นสิ่งดีเลิศสำหรับคนไข้ทุกคนเธอต้องการให้คนไข้ทุกคนได้ตายที่บ้าน”

          ต่อเมื่อได้รับประสบการณ์ชุดใหม่ความยึดติดในใจนี้จึงได้จางคลายลงเกิดความคิดใหม่ว่า สำหรับคนบางคนก็ไม่เหมาะจะตายที่บ้านแต่เหมาะที่จะตายที่โรงพยาบาล เธอเล่าถึงประสบการณ์คนไข้รายหนึ่งที่มีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบาก คนไข้เดินไม่ได้จากภาวะหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท ต้องปัสสาวะอุจจาระบนเตียง มีอาการปวดหลังมาก เวลาปวดจะร้องเสียงดังเพราะอยากให้ลูกๆมาดูแลแต่ลูกๆกลับรู้สึกกลัวเสียงร้องของแม่จึงไม่อยากเข้าไปดูแลทำให้คนไข้ยิ่งร้องเสียงดังมากขึ้นจนลูกๆรู้สึกรำคาญเกิดความไม่เข้าใจกันภายในครอบครัว นำไปสู่ความหมางเมินไม่ใส่ใจดูแล 

          คนไข้บอกว่า ‘คุณสุรีย์เอาป้าไปโรงพยาบาลเถอะ ถ้าป้าอยู่ที่บ้านป้าก็เป็นผีเหงา แต่ถ้าป้าไปโรงพยาบาลป้ายังมีพวกคุณในที่สุดป้าก็ได้มาตายที่โรงพยาบาล แต่เราช่วยให้ป้าและลูกๆเข้าใจกัน ลูกๆก็ได้อยู่กับป้าในวาระสุดท้าย’

          สำหรับคนที่ไม่มีที่ตายล่ะจะทำอย่างไร?

          เกิดความสงสัยไหมว่า มีด้วยเหรอคนที่ไม่มีที่ตาย เป็นคนแบบไหนเหรอ 

          คุณสุรีย์ เล่าถึงประสบการณ์ในการดูแลคนไข้ว่า

          “คนไข้โทรศัพท์มาบอกว่า พี่...ผมปวดมากอยากจะขอบริจาคร่างกายให้โรงพยาบาล เราก็แปลกใจปวดมากเกี่ยวอะไรกับบริจาคร่างกาย พอได้คุยกับคนไข้ได้ความว่าคนไข้เป็นคนต่างจังหวัดพอไม่สบายญาติๆก็ไปรับมารักษาที่กรุงเทพฯ แต่พอรู้ว่าคนไข้ป่วยหนักและอาจเสียชีวิตในเวลาอันใกล้ก็เกี่ยงกันว่าจะให้คนไข้ไปอยู่บ้านใครดี บ้านที่คนไข้มาอาศัยอยู่ด้วยเป็นบ้านเช่าที่เจ้าของไม่ยอมให้มีคนตายที่บ้านญาติคนอื่นก็ไม่อยากให้อยู่ด้วยเพราะกลัวจะมาตายที่บ้านคนไข้จึงหวังพึ่งโรงพยาบาลขอใช้เป็นเรือนตาย เคยมาโรงพยาบาลหลายครั้งได้ยาแก้ปวดแล้วก็ให้กลับบ้าน จึงคิดว่าถ้าบอกว่าจะบริจาคร่างกายให้โรงพยาบาลคงจะได้อยู่โรงพยาบาลแน่ๆ เราพูดคุยจนได้ความว่าคนไข้มีบ้านของตัวเองอยู่ที่ต่างจังหวัด อยู่คนเดียวลูกมาทำงานที่กรุงเทพฯ ได้คุยกับลูกชายเรื่องลางานเพื่อไปดูแลพ่อ คุณหมอช่วยติดต่อไปโรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อให้ช่วยดูแลเรื่องอาการคนไข้โดยเฉพาะอาการปวด มีข้อจำกัดมากมายในการไปรับมามอร์ฟีนที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน โชคดีที่คนไข้มีญาติเป็นพยาบาลช่วยดูแลเรื่องยาให้ คนไข้จึงได้กลับไปตายที่บ้านของเขา”

          “ยังมีคนไข้อีกคนที่ลูกๆ เกี่ยงกันดูแล คนไข้ฟังลูกๆคุยกันเรื่องจะให้ไปอยู่บ้านใครดี ทุกคนล้วนมีเหตุผลที่ไม่สามารถรับคนไข้ไปอยู่ด้วยได้ คนไข้เลยบอกลูกๆว่า ทิ้งแม่ไว้ข้างถนนก็ได้ ลูกๆมาปรึกษาเราด้วยน้ำตาว่าเขาควรทำอย่างไรดีและบอกเหตุผลของแต่ละคนที่ไม่สามารถรับแม่ไปอยู่ด้วยได้  เราจึงแนะนำให้พาคนไข้ไปอยู่ที่สถานรับดูแลผู้สูงอายุแห่งหนึ่งที่ สุดท้ายคนไข้เสียชีวิตที่นั้น ซึ่งเป็นที่ที่ดีที่สุดเท่าที่เราหาได้”

          การที่คนหนึ่งคนจะจากไป นอกจากสภาพการตายที่พึงปรารถนาแล้ว สถานที่ตายก็มีความสำคัญนอกจากความต้องการของคนไข้แล้ว ความพร้อมของผู้ดูแลก็เป็นสิ่งสำคัญเมื่อเราย้อนกลับไปมอง คนสมัยก่อนมีคนที่ตายทรมานไหม คำตอบก็คือ มี แต่เขายอมรับความทรมานนั้น เพราะเข้าใจในธรรมชาติของชีวิต และความเจ็บป่วย

          คุณสุรีย์เล่าถึง การเสียชีวิตของคุณพ่อว่า “พ่อพี่ตายที่บ้าน พ่อเป็นโรคหอบหืด หายใจลำบาก แต่แม่มีความพร้อมในการดูแล พ่อยอมรับความเจ็บป่วยและความตายที่จะเกิดขึ้น ท่านไม่ได้รับการช่วยเหลือด้วยการให้ออกซิเจนเลยตายอย่างสงบอยู่ที่บ้าน ท่ามกลางญาติๆ และเพื่อนบ้าน ถ้าเป็นตอนนี้เราเห็นอย่างนั้นเราต้องพามาโรงพยาบาลแล้ว เมื่อมาโรงพยาบาลก็ต้องใส่ท่อทำอะไรอีกยืดยาวมากเรายื้อการตายด้วยเครื่องมือหลายอย่าง ผู้คนไม่ยอมรับความตาย หากเราเชื่อว่าการตายเป็นเรื่องธรรมชาติเราต้องทำให้การตายเกิดขึ้นที่บ้านจริงๆ”

          ระบบบริการสุขภาพมีความจำเป็นในการเข้ามาช่วยสนับสนุนให้ครอบครัวสามารถดูแลคนไข้ได้ ตั้งแต่การทำความเข้าใจกับครอบครัว ตลอดจนสังคมในเรื่องความเจ็บป่วย การดูแล และความตายปัจจุบันคนไข้มีแนวโน้มอยากมาเสียชีวิตที่โรงพยาบาลมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากความไม่เข้าใจเรื่องความเจ็บป่วยที่เป็นอยู่ยังมีความหวังว่าอาจมีการรักษาให้มีชีวิตยืนยาวขึ้น บางส่วนก็เนื่องจากครอบครัวมีขนาดเล็กลงไม่สามารถดูแลกันได้ในขณะที่โรงพยาบาลก็ไม่สามารถรับดูแลคนไข้ระยะท้ายได้ทั้งหมด จากข้อจำกัดของจำนวนเตียงและบุคลากร สถานบริการสุขภาพที่อยู่ใกล้บ้านโดยเฉพาะระดับปฐมภูมิ ตลอดจนชุมชนจึงต้องมีความพร้อมในแง่องค์ความรู้ในการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายโดยมีการประสานการดูแลเป็นเครือข่ายกับโรงพยาบาล เพื่อช่วยให้ครอบครัวมีความมั่นใจสามารถดูแลคนไข้ให้จากไปอย่างสงบที่บ้านได้ 

ที่มา:

บุคคลสำคัญ: