Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

ทำแล้วปล่อย ทำแล้ววาง

-A +A

วารุณี วงศ์สุทธิโรจน์
(อาสาข้างเตียง สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ ปี ๒๕๕๕-๒๕๕๖)

          เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจากบทความ “กว่าจะมาเป็นอาสาข้างเตียง” ในจดหมายข่าวอาทิตย์อัสดง ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๑๓ ประจำเดือนกรกฎาคม – กันยายน ๒๕๕๕ การดูแลรักษายังคงเป็นแบบประคับประคองตามที่ยายได้เคยรับทราบจากคุณหมอ หลังจากนั้น มาปลายๆ ปี ได้พาน้องพลอย-น้องเต้ (นามสมมติ) เพื่อนรุ่นน้องไปกราบหลวงพ่อยิ้มพระประธานในโบสถ์ วัดพระพิเรนทร์ที่กรุงเทพฯ 

 

การตัดสินใจของน้องพลอย

          เริ่มพุทธศักราชใหม่ น้องพลอยเริ่มอ่อนแอ เข้าออกโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๗ ที่สุพรรณบุรี อาการก็ยังไม่ดีขึ้น ยายของน้องพลอยจึงเหมารถตู้พากลับมารักษาที่กรุงเทพฯ ในวันที่ ๑๖ มีนาคม ช่วงหนึ่งเดือนนี้ ได้รับทราบว่ามะเร็งเม็ดเลือดขาวลามไปยังอวัยวะส่วนอื่นมากแล้ว คุณหมอเสนอว่า จะลองให้คีโม แต่ยายปฏิเสธ ไม่อยากให้หลานทรมาน จะขอพาหลานกลับไปตายที่บ้าน ข้าพเจ้าจึงได้แนะนำยายว่า หลานโตพอที่จะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ จึงขออาสาคุยกับน้องพลอยโดยตรง ในวันนั้นได้เตรียม วีดีโอจากรายการคนค้นฅน “เรื่องน้องกัน-น้องกี้ ซึ่งป่วยด้วยโรคพันธุกรรมบกพร่อง” ไปให้ดู เราสนทนากันแบบสบายๆ ดูวีดีโอและทานไอศกรีมด้วยกัน น้องพลอยพูดว่า “น่าสงสารจัง หนูยังได้ไปเที่ยว แต่นี่ทำอะไรไม่ได้” ได้จังหวะเข้าประเด็นที่จะคุยกัน จึงตอบไปว่า “น้องกันฯ ในเรื่อง เขาเตรียมพร้อมรอวันสุดท้ายอย่างมั่นคง ไม่หวั่นไหว ถึงที่สุดแล้วทุกชีวิตต้องลาจากกัน จะป่วยหรือไม่ก็ตาม หนูเตรียมใจพร้อมหรือยัง ทราบหรือยังว่าป่วยครั้งนี้เป็นอย่างไรบ้าง” น้องพลอยตอบว่า “ไม่มีโอกาสหาย เป็นมากแล้ว แต่คุณหมอจะลองให้คีโมอีก หนูไม่เอาคีโม ทรมานเหลือเกิน ขออยู่กับหลวงพ่อแก้ว (องค์พระแก้วมรกต) หลวงพ่อยิ้ม จะยิ้มตามหลวงพ่อ” ส่วนยายทนฟังไม่ได้ เดินออกไปร้องไห้ข้างนอก 

 

การเตรียมใจเพื่อรอวันสุดท้ายของชีวิต

          ในวันนั้น ได้เขียนบทความขึ้นมาหนึ่งหน้ากระดาษเอสี่ เพื่อปลอบใจย้ำเตือนไม่ให้น้องพลอยกลัว และซักซ้อมทำความเข้าใจว่า การที่เด็กๆ มีอายุสั้นนั้น คนโบราณเชื่อว่า เด็กๆ เป็นเทวดาที่แอบหนีลงมาเที่ยวแล้วก็ต้องกลับไป หนึ่งวันของเทวดาเท่ากับแปดสิบปีเมืองมนุษย์ ดังนั้นทางเข้าออกของประตูสวรรค์นั้นเล็กมาก ต้องไม่เอะอะโวยวาย เพราะยักษ์ได้ยินจะมาจับและพาออกผิดประตู เรายังโชคดีอยู่ใกล้หมอ มีคนดูแล หลายคนไม่ได้โชคดีอย่างนี้ ดังนั้นเมื่อความปวดมีขึ้น จะมากหรือน้อยก็ตาม คงต้องใช้เวลาเพื่อให้ยาออกฤทธิ์ ต่างทำหน้าที่กันไป น้องเต้ยังผ่านไปได้อย่างสงบและสวยงาม 

          จากที่เคยประสบมา บางครอบครัวซึ่งมีฐานะดี เมื่อญาติป่วยหนัก ความตึงเครียดจะค่อยๆ ก่อตัวขึ้น ประเด็นไม่ได้เกี่ยวกับการดูแลหรือการจัดสรรมรดก แต่เป็นเรื่องของความกลัวที่คาดเดาไปล่วงหน้า ตลอดจนความเห็นที่ต่างกัน ผลร้ายที่ตามมา คนป่วยเกิดความเศร้าสลด กดดันมากขึ้น สำลักในความเมตตาของผู้ปรารถนาดีทั้งหลาย และตามมาด้วยการกล่าวโทษจับผิดกัน 

          สิ่งที่เขียนให้น้องพลอยนี้ ยังมิใช่สูตรสำเร็จที่ดีหรืออาจไม่ถูกต้องนัก หวังเพียงให้บรรยากาศที่ร้อนลุ่ม หม่นหมองเบาบางลงเท่านั้น จึงย้ำเตือนน้องพลอยและญาติๆ ให้หนักแน่น ไม่ว่าน้องพลอยจะเป็นอย่างไร ขอให้ช่วยกันอ่านความบางตอนหรือเปิดซีดีเสียงสวดมนต์ ดนตรีบรรเลง หรือวีดีโอภาพที่น้อมจิตให้นึกถึงพระรัตนตรัย สลับกันไป ซึ่งจะช่วยทำให้บรรยากาศ ณ ขณะนั้นผ่อนคลายสงบเย็นลง และยอมรับการพลัดพรากที่กำลังจะมีขึ้น เมื่อถึงเวลานั้นอาจไม่ได้อยู่ร่วมส่งน้องพลอย แต่ก็ยังมีความปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้น้องพลอยไปสู่สุคติ 

 

อโหสิกรรมร่วมกัน

          ก่อนที่น้องพลอยจะกลับบ้าน ได้ขอให้ทางโรงพยาบาลเด็กนิมนต์พระคุณเจ้ามาเพื่อให้น้องพลอยได้รับไตรสรณคมน์ จึงถือโอกาสขออโหสิกรรมกับน้องพลอย บางครั้งน้องพลอยงอแง ก็ได้ชี้แจงว่า สิ่งที่ทำไปทั้งหมดเพราะป้ารักหนู และไม่อยากให้ยายเหนื่อยเกินไป บางครั้งหนูอาจน้อยใจ ป้าขอโทษนะ น้องพลอยยิ้มพยักหน้า ต่างอโหสิกรรมซึ่งกันและกัน และขอร้องให้ทุกฝ่าย ทั้งยาย พ่อ แม่ของน้องพลอยนึกถึงลูก จะได้อุ้มหรืออยู่ด้วยกันคงมีเวลาไม่มาก ไม่ว่าลูกจะหลับหรือไม่รู้สึกตัวก็ตาม หากอึดอัดขุ่นเคืองกัน ขอให้สงสารลูกเถิด! กายเป็นเรื่องของหมอ แต่ใจนี้ต่างต้องช่วยกันประคับประคอง ขอความกรุณาเชิญออกไปคุยกันนอกห้องนะคะ ขอโทษด้วยที่ต้องพูดให้ชัดเจน เพราะสิ่งที่พยายามทำมาตลอด ก็หวังอย่างเดียวว่า เมื่อเวลานั้นมาถึงน้องพลอยจะจากไปสู่สุคติ 

          ระหว่างกลับมารักษาที่สุพรรณบุรี ๑๗ เม.ย. – ๗ พ.ค. ๒๕๕๖ เช้าวันที่จะกลับ น้องพลอยเริ่มปวดมากขึ้น ได้รับยาฉีดระงับปวด แต่ยังไม่สามารถควบคุมความปวดได้ ยายหวังให้หลานได้กลับบ้าน เนื่องจากหลายวันก่อน น้องพลอยนอนละเมอหาแม่ หาน้อง ยายกังวลว่าคงมีเวลาอีกไม่นาน จึงอยากให้กลับไปตายที่บ้าน จะได้ไม่โดดเดี่ยว ข้าพเจ้าจึงแนะนำยายว่า พบแม่น้องพลอยแล้ว ส่งน้องพลอยต่อไปโรงพยาบาลฯ ที่สุพรรณบุรีเลยนะ 

          ทุกครั้งที่โทรคุยกัน ได้ยินน้องพลอยร้องสุดเสียง ยอมรับเลยว่า กระชากใจให้สะเทือน กังวลว่าน้องพลอยจะจากไปแบบไม่ดี รุ่นพี่ที่เป็นพยาบาลตลอดจนกัลยาณมิตรได้เตือนว่า “วางๆ ไปบ้าง จะผิดธรรมชาติไปหรือเปล่า ให้ร้องออกมาบ้างเถิด โรคทั้งหมดกำลังดำเนินไป เพื่อความผ่อนคลายของน้องพลอย เมื่ออาการปวดทุเลาแล้ว จะค่อยๆ เรียนรู้และยอมรับหันกลับมาสู่ความสงบ เมื่อถึงที่สุดแล้วทุกคนจะหาทางออกของตนเองได้ น้องพลอยก็เช่นกัน ไม่ต้องกังวลมาก ข้อสำคัญคนรอบข้างต้องมีสติ หนักแน่น ไม่ฟูมฟาย ทำแล้วปล่อย ทำแล้ววาง” 

          ข้าพเจ้าจึงได้ปล่อยวางใจ และจัดเตรียมวีดีโอในการน้อมจิตให้นึกถึงพระรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพ ทำเสมือนหนึ่งว่ากำลังมาทำบุญที่วัด วีดีโอภาพประกอบด้วยพวงมาลัย ดอกไม้ ธูป เทียน และเสียงดนตรีบรรเลง ที่ช่วยให้อารมณ์ผ่อนคลาย จะนำไปให้ในวันรุ่งขึ้นซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๒๑ เมษายน

          ในวันนั้น น้องพลอย อยากชมรายการชีวิตคิดบวก เรื่อง “อาสาข้างเตียง” ของรามาชาแนล ทรูวิชั่น ช่อง ๒๔ ซึ่งจะออกอากาศในช่วงเช้า เวลา ๑๑ โมง รายการนี้ น้องพลอยได้อยู่ร่วมถ่ายทำกับข้าพเจ้าที่โรงพยาบาลเด็ก จึงนำไปให้ชม ก่อนเข้าไปเยี่ยม ได้ยินเสียงร้องไห้อย่างสุดเสียง ตกใจมากเมื่อได้เห็นบริเวณน่องข้างซ้ายแดงจัดเหมือนไฟลามทุ่ง ระหว่างอยู่โรงพยาบาลน้องพลอยไม่สามารถนั่งได้ต้องใช้ห่วงยางเนื่องจากมีแผลที่ก้น ทราบตอนหลังว่า หลอดเลือดดำอุดตันที่ขาซ้าย ในวันต่อๆ มา ขานั้นเริ่มพุพอง เล็บเท้าดำคล้ำ นิ้วเท้าแข็งไปหมด เกล็ดเลือดต่ำมาก ฉีดยาเข้าเส้นก็ไม่ได้ 

          หลังจากนั้นข้าพเจ้าก็ไม่ได้ไปเยี่ยมน้องพลอยอีกเลย ติดต่อกันทางโทรศัพท์ จะโทรมาเวลาใดก็ได้ ไม่ต้องเกรงใจ พยายามสงบและหนักแน่น ตอบทุกคำถามเสมือนหนึ่งว่าอยู่ร่วมเหตุการณ์นั้น ประเมินจากน้ำเสียงที่สนทนากันว่า สถานการณ์อยู่ขั้นไหน ยอมรับว่ายาก ในการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ ต้องอาศัยความคุ้นเคยกันมานานจึงจะทราบว่า แต่ละคนมีอารมณ์ ความรู้สึก สัมพันธภาพเป็นอย่างไร คำถามมีแต่ว่า “ทำไมๆ หมอถึงรักษาไม่ได้” “ทำไมขาถึงเป็นแบบนี้” 

          บางครั้งก็ไม่สามารถให้คำตอบได้ แต่ก็ไม่ปฏิเสธหรือตอบว่าเดี๋ยวโทรกลับ เพราะถ้าตอบเช่นนั้น เขาอาจจะไม่โทรมาอีกเลย อาจจะเกิดอะไรขึ้น ยากที่จะเดาได้ ข้าพเจ้าพยายามฟังด้วยใจที่หนักแน่น และเปลี่ยนไปแนะนำในเรื่องอื่นๆ เช่น ให้ดูแลสุขภาพตนเองบ้าง เกิดเจ็บป่วยไปจะยุ่งนะ ยายก็อ่อนล้ามากแล้ว แม่น้องพลอยและยายรับทราบจากคุณหมอว่า วาระสุดท้ายใกล้มาถึงแล้ว อาจหลับไปเลยภายในสามถึงเจ็ดวัน ดังนั้นทั้งสองคนจึงไม่ยอมนอน ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายมาก แม่น้องพลอยไม่แข็งแรง หากอดนอนปัญหาคงตามมาอีกมาก ข้าพเจ้าจึงแนะนำว่า ให้สลับกันเฝ้าไข้ ถ้าเกิดอะไรขึ้นคงไม่ปล่อยให้ใครนอนอยู่โดยไม่ปลุกหรอกนะ ระหว่างวัน เมื่อเห็นว่ามีคนเฝ้ามากพอแล้ว อาจลงไปเดินเล่นที่สนามพร้อมเปิดมือถือติดตามตัวไปก็ได้ การวางแผนการรักษาต้องทำทีละอย่าง ตอนนี้เกล็ดเลือดต่ำ ต้องแก้ที่เกล็ดเลือดก่อน ตามด้วยอาการปวด ส่วนเรื่องอื่นจะค่อยๆ ตามมา บางครั้งอาจเบื่ออาหาร ไม่ต้องกังวล ให้อมน้ำแข็งหลอดยูนิตก้อนเล็กไว้ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นในช่องปาก 

 

พินัยกรรมของหนูน้อย

          ระยะเวลาสามอาทิตย์ที่นอนอยู่โรงพยาบาลใกล้บ้าน น้องพลอยคงได้เรียนรู้และปล่อยวางปัญหาของผู้ใหญ่ หันกลับมาทำความสงบและรอวันสุดท้าย พยายามมีสติที่จะอยู่กับสิ่งที่ตนเองนับถือ โดยมียาย แม่ และน้องแพร (นามสมมติ) น้องสาววัย ๗ ขวบช่วยกันสนับสนุนจนถึงที่สุด น้องพลอยได้สั่งเสียทุกอย่างว่าให้ทำอย่างไร ศพให้แต่งตัวอย่างไร ของเล่นต่างๆ ยกให้น้อง เล่นแล้วให้เก็บเช็ดทำความสะอาดด้วยนะ 

 

อยากกลับบ้าน

          วันสุดท้ายก็มาถึง เช้าวันนั้นน้องพลอยตื่นขึ้น เรียกหายายจ๋า แม่จ๋า พ่อจ๋า น้องแพร หลังจากนั้นไม่นานก็ไม่รู้สึกตัว 

          คุณหมอแจ้งให้ทราบว่า คงวันนี้ ช่วงหลังมานี้ น้องพลอยพูดเสมอว่า “นี่ไม่ใช่เตียงหนู หนูจะไปนอนเตียงหนู” 

          ในช่วงเช้าวันนั้น ข้าพเจ้าได้โทรไปบอกแม่น้องพลอยว่า เช้านี้ได้ไปทำบุญกับหลวงพ่อยิ้ม ขอให้น้องพลอยอนุโมทนาบุญด้วยนะ แม่น้องพลอยร้องไห้แล้วเล่าว่า ลูกกำลังจะไปแล้ว ตอนนี้ไม่รู้สึกตัว” จึงได้ขอร้องให้ทุกคนสงบและหนักแน่น เวลานี้ถือเป็นนาทีทองของชีวิต ให้เปิดเสียงสวดมนต์ หรืออ่านบทความบางตอนสลับกันไป ไม่ว่าน้องพลอยจะมีอาการอย่างไร เนื่องจากน้องพลอยอยากกลับบ้าน จึงแนะนำให้ญาติปรึกษาคุณหมอเจ้าของไข้ เพื่อประเมินว่าเหลือเวลาเท่าไร มีโอกาสกลับบ้านได้หรือไม่ บ้านน้องพลอยอยู่หลังวัดไผ่โรงวัว ห่างจากโรงพยาบาลประมาณ ๗ กิโลก็ถึงบ้าน สุดท้ายน้องพลอยได้กลับบ้านโดยรถตู้ฉุกเฉินของโรงพยาบาลฯ มีนางพยาบาลร่วมไปด้วยหนึ่งคน 

          ขณะที่อยู่ในรถตู้นั้น น้องแพรเปิดซีดีเสียงสวดมนต์พร้อมกับร้องไห้ไปตลอดทางจนถึงบ้าน ไม่ง่ายนักสำหรับหนูน้อยที่จะมารับทราบว่าพี่พลอยคงไม่พ้นวันนี้ พ่ออุ้มน้องพลอยเข้าบ้านและวางนอนลงบนเตียง โดยมีญาติๆ มารออยู่ก่อนแล้ว ยายบอกน้องพลอยว่า ถึงบ้านเราแล้ว และนี่เตียงของหนู” เพียงไม่กี่นาที น้องพลอยสิ้นลมด้วยอาการสงบพร้อมรอยยิ้ม ในเวลา ๑๕.๐๗ น. ของวันอังคารที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ท่ามกลางความอาลัยรัก แต่ก็ยอมรับว่าลูกหลานไม่ทรมาน จากไปอย่างสงบ ต่างจากอยู่โรงพยาบาลฯ เสียงร้องไห้ของลูกหลานสร้างความสะเทือนใจสุดที่จะกล่าว ซึ่งขณะนั้นยังทำใจไม่ได้ คิดแต่ว่าอายุยังน้อย ยังไม่สมควร 

          ความไร้เดียงสาของน้องแพร ยังทำหน้าที่เปิดซีดีเสียงสวดมนต์ให้พี่พลอยฟังตลอดงานศพ เป็นเรื่องธรรมดาด้วยความรักลูกหลาน ต่างก็อยากจัดให้ดี เพราะคิดว่าเป็นครั้งสุดท้าย จึงได้เตือนให้ประหยัดเท่าที่จำเป็น อย่าจัดงานศพแบบคนตายขายคนเป็น ให้เรียบง่าย อัฐิไม่ต้องเก็บนะ จะเป็นภาระของผู้ที่อยู่ข้างหลัง น้องแพรยังเด็กเกินกว่าที่จะต้องมารับผิดชอบเรื่องนี้ และอนาคตเป็นของไม่แน่ อีกอย่างคงไม่เหมาะสมนักที่ญาติผู้ใหญ่ต้องมาจัดเครื่องเซ่นไหว้ น้องแพรต้องไปโรงเรียน การทำบุญให้เอาความสะดวกหรือวันสำคัญทางศาสนา ยายได้จัดงานศพให้น้องพลอยเพียงสามวัน อัฐิมิได้เก็บไว้ ข้าพเจ้าไม่ได้ไปร่วมงานเนื่องจากป่วย จึงรวบรวมปัจจัยไปช่วยงาน 

 

สัญญาใจ

          นอกจากนี้ยังมีกลุ่มแม่ๆ ของเด็กๆ ที่เคยอยู่โรงพยาบาลเด็ก ทยอยกันไปร่วมงานศพ ก่อนหน้านี้บรรดาแม่ทั้งหลายทำใจไม่ได้ที่ต้องสูญเสียลูกหลานไป แต่เมื่อมารับฟัง รับทราบความทรมานของน้อยพลอยอันสุดที่จะบรรยาย ในช่วง ๒๑ วันที่เหลือ ต่างรู้สึกว่าโชคยังดีที่ลูกหลานเราไม่ต้องมาทรมานสุดๆ แบบนี้ เราต่างมีความสูญเสียที่คล้ายๆ กัน จึงมีสัญญาใจร่วมกันที่จะไม่ทอดทิ้งกัน มิตรภาพได้เพิ่มพูนความสัมพันธ์ของแม่ทั้งหลายกับยายไว้อย่างอบอุ่น โลกยังไม่ได้โหดร้ายเกินไป บนความทุกข์ยาก เรายังไม่โดดเดี่ยว น้ำใจจากเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย หล่อหลอมช่วยกันปลอบโยนซึ่งกันและกัน ยายเป็นแบบอย่างที่ดี พยายามช่วยเหลือตนเองไม่เรียกร้องเอาจากใคร ทุกคนน่ารักมากค่ะ

 

น้อมบุญมาฝาก

          ช่วงวันวิสาขบูชาที่ผ่านมา แม่น้องพลอยได้ลาไปถือศีลสามวันเพื่อน้อมบุญกุศลให้ลูก หลังจากนั้นได้โทรมาด้วยน้ำเสียงสดใส จิตใจมั่นคงขึ้น ข้าพเจ้าได้อนุโมทนาบุญร่วมกัน ชีวิตต้องดำเนินต่อไป ทุกคนจึงกลับไปทำงานตามปกติ กล่าวโดยรวม ถือว่าข้าพเจ้าโชคดีมาก ช่วงเวลาปีกว่าที่ได้เรียนรู้ชีวิตของสังคมกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นทีมแพทย์-พยาบาล เครือข่ายพุทธิกา เพื่อนอาสาฯ แท็กซี่ใจดีที่บังเอิญมารับรู้ความเจ็บปวดทรมานขณะขับไปส่งน้องพลอยที่สุพรรณบุรี ได้กลับมาเยี่ยมน้องพลอยอีกครั้ง ตลอดจนลุงคนขับแท็กซี่ที่ไม่คิดค่ารถเมื่อทราบว่าน้องพลอยป่วยอยากไปวัดพระแก้ว รวมทั้งกัลยาณมิตรและผู้มีส่วนช่วยสนับสนุนปัจจัยในการดูแลเด็กๆ ข้าพเจ้าได้ตระหนักและเรียนรู้ถึงวิถีการดำเนินชีวิต การเคารพในการตัดสินใจ ความไร้เดียงสาของเด็ก การรับมือกับความเจ็บป่วย ความรับผิดชอบ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างมีสติ ความเอื้ออาทรของเพื่อนมนุษย์ และน้ำใจจากเพื่อนๆ ที่เพิ่งมาอยู่ร่วมกันในระยะเวลาหนึ่ง บุคคลเหล่านี้มีบุญคุณกับข้าพเจ้า ช่วยสนับสนุนในกิจกรรมต่างๆ ตลอดจนชี้แนะข้อกังวลใจ ถือเป็นกำไรชีวิตที่ให้โอกาสได้เรียนรู้ ไม่ว่าในแง่มุมบวกหรือลบก็ตาม ติดตามมาด้วยคำว่า “แม่” คำๆ นี้ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่จะหาคำใดมากล่าวได้ แม่ที่มีให้กับเพื่อนมนุษย์ทุกคนเหมือนดั่งลูก-หลานในอุทร ถึงแม้หนูน้อยกลุ่มนี้จะทยอยชวนกันกลับไป แต่งานอาสาข้างเตียงยังคงดำเนินต่อ กุศลผลบุญอันใดที่จักพึงมี พึงบังเกิดขึ้น ขอน้อมบุญกุศลนั้นแด่ทุกๆ ท่าน กราบขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ

>> การเตรียมตัวก่อนตาย ถึงแม้ว่าไม่รู้สึกตัวแล้วก็ตาม (พูดให้พลอย ผู้ป่วยเด็กระยะสุดท้ายฟัง)

ที่มา: