Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

ความตายพูดได้ ต้องพูด และจะพูด

-A +A

         ขณะจัดกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้เรื่องความตายครั้งหนึ่ง ผมได้ยินรุ่นพี่กล่าวกับผมว่า “แปลกเนอะ ความตายเป็นเรื่องธรรมชาติแท้ๆ แต่ต้องมาเสียเงินเสียเวลามาเข้าอบรมให้ตายเป็น”

         ผมคิดตามรุ่นพี่คนนั้นก็รู้สึกว่า “จริงแฮะ”

         แต่คิดอีกที มันก็คงจะเหมือนกิจกรรมพื้นฐานอื่นๆ ของมนุษย์ เช่น การกิน การนอน การเดิน หรือแม้แต่การหายใจ มนุษย์เกิดมาไม่ต้องเรียนก็ทำสิ่งเหล่านี้เป็น แต่จะทำให้ “ดี” ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องเรียนรู้ 

         นักวิทยาศาสตร์พบว่า ความเจ็บป่วยบางอย่างเกิดจากการหายใจไม่ถูกสุขลักษณะ หายใจตื้นไป เร็วไป หายใจไม่เต็มที่ ผู้รู้บางคนก็จัดอบรมเรื่องการหายใจอย่างถูกต้อง แม้ว่าราคาจะแพงแต่ผู้เข้าอบรมบอกว่าคุ้มค่า

         เช่นเดียวกับเรื่องการหายใจ นักสังคมศาสตร์ก็พบว่าความเจ็บป่วยทางสังคม การเบียดเบียนซึ่งกันและกัน การเบียดเบียนธรรมชาติ หรือแม้แต่ความทุกข์ ความเครียดของปัจเจกก็มีสาเหตุจากการมีท่าทีและทัศนคติต่อชีวิตและความตายที่ไม่ถูกสุขลักษณะ 

         ทัศนคติต่อความตายที่ดูจะมีปัญหา ได้แก่ ความประมาทในความตาย ความเกลียดกลัวความตาย การหลีกเลี่ยงละเลยที่จะครุ่นคิดและเรียนรู้ความตาย เหล่านี้เป็นท่าทีต่อความตายของคนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน

         เพราะกลัวตายจึงไม่ได้สนใจเรียนรู้เตรียมพร้อมรับมือกับความตาย

         เมื่อถึงเวลาที่ตนเองหรือคนใกล้ชิดต้องตายจริงๆ ก็เกิดความสับสนอลหม่าน ทำอะไรไม่ถูก

         เชื่อหรือไม่ว่า ต่างประเทศก็ประสบปัญหานี้มาก เขาพบว่าคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยระยะท้ายนั้นไม่ดีเลย ผู้ป่วย ญาติ ตลอดจนแพทย์พยาบาลประสบความยากลำบากในการจัดการการตาย เพราะต่างก็ปฏิเสธความตายมาโดยตลอด แม้กระทั่งการบอกข่าวร้ายที่กระทบกระเทือนจิตใจก็อาจทำให้ผู้ป่วยทรุดหนัก หรือญาติอาจฟ้องร้องโรงพยาบาลจำนวนเงินมหาศาลได้ สถานการณ์ดังกล่าวอาจเรียกได้ว่าเรากำลัง “เปราะบางต่อความตาย” 

 

         ด้วยเหตุนี้การดูแลแบบประคับประคองระยะท้ายของชีวิต (พาเลียทีฟแคร์) จึงติดขัด แม้ว่าจะมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถผ่านการอบรมทางเทคนิค มียาที่ช่วยลดความเจ็บปวดทรมานในช่วงท้ายของชีวิตอย่างเพียงพอ แต่ก็ยังติดอุปสรรคตรงที่ไม่สามารถพูดเรื่องความตายกับผู้ป่วยและญาติได้นี่แหละ

         กระทั่งคำว่าตาย หรือคำว่าเสียชีวิต หมอยังพูดให้ผู้ป่วยหรือญาติได้ยินแทบไม่ได้เลย ต้องใช้คำที่เป็นรหัส เช่น “เด้ด” “ไป” หรือไม่ก็เว้นวรรคไม่พูดเสียเฉยๆ

         เมื่อพูดถึงความตายไม่ได้ จึงวางแผนการรักษาแบบ “ช่วยชีวิตจนหยดสุดท้าย” ซึ่งเป็นแนวทางหลักของการแพทย์ตะวันตกสมัยใหม่ ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรในการยืดชีวิตเกินความจำเป็นและบางรายกลับสร้างความทรมานแก่ผู้ป่วยเสียด้วยซ้ำ

         หนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาขององค์กรแพทย์ในสาขาดูแลแบบประคับประคองระยะท้ายในหลายประเทศคือ การรณรงค์แคมเปญว่า “ความตายพูดได้” เขาพยายามที่จะรื้อถอนวัฒนธรรมแห่งการปฏิเสธความตายด้วยการเริ่มต้นพูดถึงมัน

         ไม่น่าเชื่อนะครับ ว่าการไม่พูดถึงความตาย ไม่นึกถึงความตายจะส่งผลกระทบมากมายถึงเพียงนี้

 

         กลับมามองที่สังคมไทย การรณรงค์การเรียนรู้ความตายในที่สาธารณะ ก็ยังเป็นที่ถกเถียงว่า จะใช้คำว่า “ตาย” อย่างตรงไปตรงมาได้หรือไม่ 

         บางส่วนบอกว่าไม่ควร เพราะคนปัจจุบันถ้าได้ยินคำว่าตายแล้วจะเกิดอาการ “หูดับ” ไม่รับรู้ หรืออาจกลัวเข้าไปใหญ่ แต่บางส่วนก็บอกว่าควรจะสื่อสารคำว่าตายอย่างตรงไปตรงมา เพราะอย่างไรเสียเราก็หลีกเลี่ยงที่จะเผชิญกับความตายไม่พ้นอยู่ดี 

 

         โครงการเผชิญความตายอย่างสงบ เห็นด้วยกับฝ่ายหลังครับ ไหนๆ จะพูดเรื่องตายแล้ว ก็พูดให้ดังๆ กลางห้างใหญ่ๆ ไปเลยดีกว่า

         จึงขอเชิญชวนทุกท่านร่วมกิจกรรม “Before I die พร้อมก่อนตาย” ในวันที่ ๑๑ – ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๖ ณ ลานอีเดน ชั้น ๑ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ 

         ในงานมีกิจกรรมที่จะชวนทุกท่านทบทวนชีวิตและใคร่ครวญความตายตลอดสองวัน นอกจากนี้ยังมีเวทีสนทนาหัวข้อ “Before I die ก่อนฉันจะตาย” โดยพระไพศาล วิสาโล ในวันที่ ๑๑ ตุลาคม และเวทีเสวนาหัวข้อ “ก่อนฉันจะตาย” โดยคุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ในวันที่ ๑๒ ตุลาคม

         งานนี้จัดโดยเครือข่ายพุทธิกา ร่วมกับสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และภาคีเครือข่าย สนใจติดตามรายละเอียดได้ที่ www.budnet.org/peacefuldeath และหน้าเฟซบุ๊กแฟนเพจ Peaceful Death หรือโทร 02-882-4387, 02-866-0863 ต่อ 12

 

 

ที่มา: