Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

คันฉ่อง ส่องการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน

-A +A

          ค่ำคืนหนึ่ง ในบ้านหลังเล็กกลางเขตเทศบาลเมืองเชียงใหม่ หญิงวัยกลางคนตอนปลายและสาวต่างชาติคนหนึ่ง กำลังช่วยกันดูแลหญิงชราวัยเก้าสิบปีที่เกิดอาการตึงบริเวณท้องเหมือนกำลังจะถ่าย หญิงวัยกลางคนเริ่มด้วยการนวดท้องของหญิงชราหรือคุณยาย ก่อนจะใช้ก้อนสำลีกดไปบนทวารหนักอย่างนุ่มนวลเพื่อคลายแรงดัน หลังจากพยายามทำอยู่นานกว่าสิบนาที จนคุณยายถ่ายท้องออกจนหมด ผู้ดูแลทั้งสองจึงช่วยกันพาชำระล้างทำความสะอาดร่างกายให้หมดจดบนเตียงที่คุณยายนอนอยู่ ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดกระบวนการ ดูเหมือนร่างกายของพวกเธอไม่ว่าจะเป็นน้ำเสียง คำพูด หรือปฏิกิริยาทางกาย จะตอบสนองต่อการดูแลอย่างเป็นไปเองตามธรรมชาติ การดูแลเหมือนเป็นการกระทำที่ไปพ้นเรื่องของภาษา เมื่อพวกเขา “แค่ทำ” ในสิ่งที่จำเป็น 

          นั่นเป็นหนึ่งในประสบการณ์น่าประทับใจที่ ฟีลิซิตี ออลิโน (Felicity Aulino) นักมานุษยวิทยาสาวจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ได้รับจากการติดตามการดูแลผู้ป่วยสูงอายุที่บ้านทางภาคเหนือของประเทศไทยนานสิบหกเดือน เพื่อทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเธอ เรื่องการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านจากมุมมองของผู้ดูแล รวมถึงหน่วยงานสาธารณสุขระดับประเทศ และนานาประเทศที่สนับสนุนการความพยายามดังกล่าว

          แต่เดิมเธอสนใจจะศึกษาเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย แต่หลังจากได้ไปทำการเก็บข้อมูลภาคสนามอยู่ระยะหนึ่ง จึงพบว่าในเมืองไทย การกำหนดนิยามเรื่องการตายหรือระยะสุดท้ายของชีวิตจะมาจากแพทย์เป็นด้านหลัก ชาวบ้านมักจะไม่พูดเรื่องความตายกัน รวมถึงยังมีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาการศึกษาที่ไม่นานพอ เนื่องจากผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตไปเสียก่อน ทำให้การศึกษาเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในมุมมองของชาวบ้านจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก

          เธอจึงหันมาสนใจศึกษาเรื่องการดูแลผู้ป่วยสูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เพราะรูปแบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเป็นระยะเวลานานๆ ที่บ้านแบบที่ทำกันในประเทศไทย ยังเป็นเรื่องใหม่พอสมควรสำหรับสังคมอเมริกา และสังคมไทยเองกำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างทางสังคมหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย หรือการเปลี่ยนจากครอบครัวขยายไปเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ตามระบบคุณธรรมเรื่องความกตัญญูที่ลูกหลานจะต้องดูแลบุพการีเมื่อแก่เฒ่าด้วยตัวเองเป็นไปได้ยากขึ้น หรือเป็นเรื่องยากที่จะทำให้การดูแลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพได้ เพราะภาระการดูแลมักตกอยู่กับลูกหลานคนใดคนหนึ่งมากเกินไป ในขณะที่การสนับสนุนจากชุมชน สังคม หรือภาครัฐในปัจจุบัน ยังไม่อาจเข้ามาทดแทนหรือแก้ปัญหาดังกล่าวได้เท่าที่ควร

          บทความนี้ มาจากการพูดคุยกับคุณฟีลิซิตีในช่วงสั้นๆ ที่เธอกลับมาเมืองไทยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ผนวกกับเนื้อหาในวิทยานิพนธ์ (Sense and Sensibilities: The Practice of Care in Everyday Life in Northern Thailand) ที่กล่าวถึงรูปธรรมการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านบางประการ ซึ่งเป็นมุมมองที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการคนทำงานในแวดวงดังกล่าวไม่น้อยเลย

**เฟลิซิตี ออลิโน นักมานุษยวิทยาชาวสหรัฐอเมริกา ร่ำเรียนมาทางด้านฮอสพิซแคร์ ก่อนจะจบปริญญาโทด้านสาธารณสุข เคยทำงานชุมชน การดูแลผู้ป่วยที่บ้าน และทำวิจัยเกี่ยวกับกลุ่มสังฆเมตตา ก่อนจะมาเรียนปริญญาเอกมานุษยวิทยา ที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด

 

บุญ กรรม กับการดูแลบุพการี

          ในระหว่างการลงเก็บข้อมูลภาคสนามนานเกือบสองปี คุณฟีลิซิตีได้ติดตามการดูแลผู้สูงอายุ และพูดคุยกับผู้คนมากมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ดูแลในครอบครัว กลุ่มอาสาสมัคร และจิตอาสา ทั้งที่เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน และภาครัฐ

          แต่ไม่มีครอบครัวใดที่เธอประทับใจเป็นพิเศษเหมือนกับครอบครัวของคุณยายทัศ (นามสมมุติ) หญิงชราวัยเก้าสิบปี ซึ่งป่วยอยู่ในภาวะโคม่ามานานถึงสามปีแล้ว คุณยายทัศมีลูกถึงสิบคน แต่ต่างแยกย้ายไปสร้างครอบครัวของตัวเองหมด มีเพียงลูกสาวสองคนคือ สุ กับ วัน (นามสมมุติ) ที่รับผิดชอบเป็นผู้ดูแล หลังจากน้องสาวอีกคนหนึ่งได้หนีออกจากบ้านไปหลังจากมาช่วยดูแลได้เพียงหนึ่งปี โดยทุกๆ วันพวกเธอจะต้องช่วยกันปรนนิบัติดูแลคุณยายทางกายถึงวันละสี่ครั้ง ครั้งละหนึ่งชั่วโมง (ในการดูแลระยะแรกๆ ใช้เวลาถึงครั้งละสามชั่วโมง เพราะยังไม่ชำนาญ) ไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า เปลี่ยนผ้าอ้อม การพลิกตัว การทาแป้ง การนวด ให้ยา ให้อาหาร และต้องพาคุณยายไปตรวจที่โรงพยาบาลเดือนละครั้ง

          พวกเธอปฏิบัติเหมือนเดิมทุกๆ วัน จนการดูแลเป็นเหมือนพิธีกรรมในชีวิตที่ดูน่าเบื่อหน่าย แต่ทั้งสองกลับทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากในสายตาของคุณฟีลิซิตี เพราะนอกเหนือจากการดูแลบุพการีแล้ว พวกเธอยังมีภาระในการทำมาหากินอีกด้วย ซึ่งน่าจะทำให้เกิดความเครียดได้มาก แต่ทั้งสองคนกลับไม่เคยพูดถึงความเครียดของตนเองในเรื่องที่เกี่ยวกับการให้การดูแลเลย ทั้ง สุ วัน และผู้ดูแลคนอื่นๆ ที่คุณฟีลิซิตีเคยพูดคุยด้วย แทบทุกคนจะมีมุมมองเหมือนๆ กันว่า การดูแลผู้ป่วยสูงอายุที่บ้าน หรือเรื่องความเจ็บป่วย การตายจากไป ฯลฯ ล้วนเป็นเรื่องของบุญ กรรม แม้จะไม่สามารถอธิบายเรื่องดังกล่าวได้อย่างเป็นเหตุผล หรือเป็นกระบวนการที่ชัดเจนได้ว่าเป็นอย่างไร เช่น สุจะบอกได้แค่ว่า เราทุกคนเกิดมาพร้อมกรรมที่สะสมมาในอดีต แต่ไม่รู้ว่ามาจากไหนบ้าง จึงไม่ต้องคิดมาก เพราะไม่มีคำตอบ สิ่งสำคัญคือ บุญ กรรม ไม่ใช่เรื่องทฤษฎี แต่เป็นเรื่องการปฏิบัติ เหมือนไปวัด ไหว้พระ กราบพระ ทำบุญ แล้วรู้สึกดี โดยไม่ต้องนึกถึงทฤษฎีอะไร เพียงแค่ทำเลย แล้วสิ่งต่างๆ รอบตัวจะเปลี่ยนแปลงไปเอง ทั้งในปัจจุบัน อนาคต รวมไปถึงชาติหน้าด้วย และการทำบุญด้วยการดูแลพ่อแม่กับการทำบุญที่วัด เป็นวิธีการชดใช้กรรมทั้งของตัวเอง ของแม่หรือของพ่อที่ป่วยได้เหมือนๆ กัน

          แม้ว่าวิธีเกี่ยวกับการทำบุญ หรือการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวบ้าน จะถูกวิจารณ์ว่าไม่ใช่ “พุทธแท้” ดังมีคนกรุงเทพฯ เข้ามากระซิบบอกเธอในวัดขณะที่ชาวบ้านกำลังทำบุญกันอยู่ว่า การทำบุญของชาวบ้าน เป็นเหมือนงานชุมนุม งานสังคม ไม่มีการนั่งสมาธิภาวนา เป็นการปฏิบัติตามหลักศาสนาพุทธที่ไม่ถูกต้อง แต่สำหรับเธอแล้ว การปฏิบัติพิธีกรรมเหล่านี้ เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ทุกอย่างกำกวม ไม่แน่นอนไปหมด “ไม่รู้ว่าทำบุญแล้ว แม่จะได้ยินไหม หรือแม่จะเสียชีวิตหรือเปล่า” รู้แต่ว่าทำแล้วมีประโยชน์

          ความเชื่อดังกล่าวเป็นพลังค้ำจุนจิตใจที่สำคัญของผู้ดูแลจำนวนมากให้สามารถแบกรับภาระการดูแลผู้สูงอายุที่หนักหนาสาหัสได้อย่างยาวนาน แต่การดูแลผู้สูงอายุที่บ้านอย่างมีประสิทธิภาพ ยังต้องมีพลังทางสังคมในส่วนอื่นๆ เข้ามาเกื้อหนุนด้วย ที่น่าสนใจในกรณีของเมืองไทย คือ พลังอาสาสมัคร

 

อาสาสมัครดูแลผู้ป่วยที่บ้าน
อุดมคติกับความเป็นจริง

          คุณฟีลิซิตีบอกว่า ประเทศไทยได้รับการยกย่องอย่างมากว่ามีระบบอาสาสมัครสาธารณสุขมูลฐานที่เข้มแข็ง ทำให้ระบบสุขภาพสามารถดูแลผู้คนได้อย่างครอบคลุมแทบทุกกลุ่มทุกพื้นที่ของประเทศ และในหลายปีที่ผ่านมา ยังเกิดเครือข่ายอาสาสมัครแนวคิดใหม่ในภาคประชาชน เรียกว่า จิตอาสา รวมถึงอาสาสมัครเฉพาะทางเพื่อการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านโดยตรง ซึ่งเป็นนโยบายของภาครัฐเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมสูงอายุของประเทศ

          โดย อสม. หรือ อาสาสมัครสาธารณสุขมูลฐาน ริเริ่มเป็นครั้งแรกเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน ตามแนวทางของการประชุมองค์การอนามัยโลก เรื่อง สุขภาพดีถ้วนหน้า (Health for All) ที่เมืองอัลมา อัตตา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๑ จนในปัจจุบันมีอาสาสมัครหลายแสนคนทำงานอยู่ในทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ

          ล่าสุด ภาครัฐยังขยายงานอาสาสมัครอีกรูปแบบหนึ่ง เรียกว่า อผส. หรือ อาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน ซึ่งเป็นมาตรการเชิงรุกเพื่อส่งเสริมให้เกิดกลไกในระดับชุมชนเพื่อคุ้มครองดูแลผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในชุมชน มีจิตอาสามาจากคนในชุมชนเอง โดยแต่ละคนจะต้องไปดูแลผู้สูงอายุอย่างน้อย ๕ คน และเยี่ยมบ้านอย่างสม่ำเสมออาทิตย์ละอย่างน้อย ๒ ครั้ง เพื่อให้ความดูแลตามความจำเป็น ไม่ให้มีใครถูกทอดทิ้งหรือได้รับการดูแลอย่างไม่เหมาะสม โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีฐานะยากจน

          แม้ว่าสังคมไทยดูเหมือนจะมีกลไกการดูแลสุขภาพของประชาชนในทุกระดับอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ในสายตาของคุณฟีลิซิตี กลไกต่างๆ ที่มีอยู่ยังไม่สามารถตอบสนองผู้ต้องการความช่วยเหลือได้อย่างมีตรงจุดและประสิทธิภาพ เธอยกตัวอย่างเช่น

          มีอยู่วันหนึ่ง เธอใส่เสื้อยืดอาสาข้างเตียง (แทรกรูป) ที่มีรูปผู้ป่วยนอนอยู่บนเตียง รายล้อมไปด้วยอาสาสมัครหน้าตายิ้มแย้มคอยช่วยดูแลอยู่รอบๆ คนหนึ่งกำลังจัดรูปบนผนัง คนหนึ่งกำลังช่วยเหลือผู้ป่วย คนนั่งพูดคุยกับคนป่วย อีกคนยืนถือช่อดอกไม้ ไปบ้านของสุและวัน สุดูรูปแล้วหัวเราะ บอกว่า “ผู้ป่วยบนเสื้อยืดเป็นแบบนี้ถูกต้องแล้ว แต่ไม่มีอาสาสมัครที่ดูแลทุกอย่างเหมือนในรูปเลย” ส่วนหนึ่งเป็นเพราะลูกสาวของคุณยายรู้สึกว่า ลักษณะการมาเยี่ยมของอาสาสมัครในชุมชน ที่มุ่งให้กำลังใจ พาพระมาเยี่ยม ช่วยให้มีโอกาสทำบุญ นำของขวัญมามอบให้ หรือแม้แต่การมาซักถามพูดคุยเล็กๆ น้อยๆ เป็นต้น ยังไม่ตอบสนองหรือตรงกับความคาดหวังที่พวกเธอต้องการ 

          

          ที่เป็นเช่นนี้ คุณวรรณา จารุสมบูรณ์ (ผู้จัดการโครงการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน) ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า เพราะ อสม. หรือ อผส. มีลักษณะเป็นส่วนหนึ่งของภาครัฐมาแต่ต้น และวาระการทำงานถูกกำหนดจากส่วนกลางมากกว่าจะให้อาสาสมัครมีส่วนร่วมคิดด้วย อาสาสมัครถูกทำให้เชื่อว่า สิ่งที่ควรปฏิบัติในการลงไปเยี่ยมผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุคือ การเอาของไปให้ ไปเก็บข้อมูล วัดความดัน ช่างน้ำหนักผู้ป่วย ฯลฯ โดยไม่ได้มุ่งเน้นที่จะไปรับฟังปัญหาต่างๆ ของผู้ป่วยหรือปัญหาของผู้ดูแล การทำงานของอาสาสมัครจึงไม่สนองตอบต่อความต้องการจริงๆ ของชาวบ้านไปอย่างน่าเสียดาย

          โดยเฉพาะ อผส. ที่พัฒนามาจากสมมุติฐานในเชิงอุดมคติของคนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยที่เชื่อว่า สังคมไทยโดยเฉพาะในชนบทยังคงมีความเป็นชุมชนที่ดูแลกันและกัน หรือคนไทยมีอุปนิสัยชอบช่วยเหลือคนอื่นอยู่แล้ว ภาครัฐแค่ช่วยส่งเสริม “เพียงเล็กน้อย” เพื่อให้กลไกลดังกล่าวทำงานได้ดียิ่งขึ้นก็เพียงพอแล้ว แต่ในความเป็นจริง สังคมไทยในปัจจุบัน มีแรงกดดันใหม่ๆ เกิดขึ้นในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นแรงกดดันทางเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตที่ทันสมัย การช่วยเหลือผู้อื่นจึงเป็นเรื่องที่ยากขึ้นมาก ทำให้นโยบายดังกล่าวอาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งการกำหนดให้ อผส. คนหนึ่งต้องดูแลผู้สูงอายุไม่น้อยกว่า ๕ คน เป็นภาระงานที่มากเกินกว่าจะทำให้การดูแลมีประสิทธิภาพได้ นอกจากการแวะไปเยี่ยม เอาของขวัญไปให้อย่างที่กล่าวมา

          เรื่องดังกล่าว นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ (ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ) เคยให้ความเห็น (ในการสัมมนาร่วมกับคุณฟีลิซิตีเมื่อต้นเดือนมกราคม ๒๕๕๖) ว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการสะท้อนปัญหาวิธีคิดของภาครัฐที่มักจะมองไม่เห็นว่า ผู้ดูแลส่วนใหญ่คือสมาชิกในครอบครัวของผู้ป่วยเอง แต่ให้ความสำคัญกับการสร้างคนอีกกลุ่มหนึ่ง คืออาสาสมัครจากภายนอกครอบครัวเข้ามาแทน จนลืมไปว่าในครอบครัวมีศักยภาพอะไรอยู่บ้าง และควรจะสนับสนุนอย่างไรให้สอดคล้องกับความต้องการของพวกเขาจริงๆ เพราะผู้ดูแลจะรู้เรื่องเกี่ยวกับผู้ป่วยในแง่มุมต่างๆ ดีที่สุด ตัวอย่างเช่น ผู้หญิงคนหนึ่งดูแลพี่สาวที่บ้าน มีพยาบาลมาเยี่ยมมาช่วย แล้วบอกกับคนดูแลว่า พี่สาวของเธออยู่ในสภาวะขาดอาหาร จะต้องให้อาหารมากขึ้น น้องสาวที่เป็นคนดูแลก็ตกลงตามนั้น ก่อนจะมาบอกในภายหลังว่า ในประสบการณ์ของเธอ ถ้าหากเธอให้อาหารมากขึ้น พี่สาวจะอาเจียน ทำให้วุ่นวาย เพราะเธอเป็นคนกวาดถู ผู้ที่ดูแลมานานจะมีประสบการณ์ในตัวเองอยู่แล้ว ว่าทำอะไรได้มากได้น้อยแค่ไหน ในสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ มากกว่าคนภายนอก

          ถึงแม้ว่าในอนาคตอาจเป็นไปได้ที่ผู้ดูแลจะมาจากนอกครอบครัวของผู้สูงอายุเองมากขึ้น เช่น การว่าจ้างผู้ช่วยดูแลในครอบครัวที่มีรายได้สูง แต่ในปัจจุบัน การดูแลโดยสมาชิกในครอบครัวผู้สูงอายุยังถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะผู้ดูแลที่ไม่ใช่ญาติ จะมีข้อจำกัดในเรื่องการดูแลผู้สูงอายุทางร่างกายอย่างใกล้ชิด เช่น เรื่องการอาบน้ำ การขับถ่าย ทำแผล ฯลฯ แม้ว่าปัญหาเรื่องภาระของผู้ดูแลจะถูกอำพรางด้วยจำนวนสมาชิกของครอบครัว เพราะในหลายกรณี แม้จะเป็นครอบครัวที่มีญาติพี่น้องมากมาย แต่ผู้ดูแลผู้สูงอายุมักจะตกเป็นภาระของคนในครอบครัวเพียงหนึ่งหรือสองคน อย่างกรณีของสุและวัน เป็นต้น

          การสนับสนุนหรือส่งเสริมศักยภาพของผู้ดูแลในครอบครัวให้มีความเข้มแข็งจึงสำคัญต่อการดูแลผู้สูงอายุไม่น้อยกว่าบุคลากรสุขภาพ หรืออาสาสมัคร ที่จะต้องมีกระบวนการบางอย่างช่วยให้พวกเขาเปลี่ยนวิธีเยี่ยมใหม่

          จากประสบการณ์ของเธอ คุณฟีลิซิตีเห็นว่า การมาเยี่ยมบ้านของอาสาสมัครตามรูปแบบที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น ไม่ใช่ความต้องการของผู้ดูแล เธอเคยพยายามพูดคุยกับอาสาสมัครที่มาเยี่ยม ให้ช่วยดูแลเรื่องการเปลี่ยนสายอาหารให้กับผู้ป่วยสูงอายุที่บ้าน เพื่อช่วยให้ครอบครัวประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปโรงพยาบาล และพยายามอธิบายถึงความจำเป็นดังกล่าวกับแพทย์ผู้ดูแลหน่วยเยี่ยมบ้าน แต่เธอก็ต้องผิดหวังเมื่อพบว่า พยาบาลเยี่ยมบ้านไม่สามารถเดินทางมาเปลี่ยนสายอาหารให้ได้ เพราะครอบครัวของพวกเขาขาดคุณสมบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด ในขณะที่อาสาสมัครเองก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำภารกิจทางการแพทย์ดังกล่าวได้ จากตัวอย่างปัญหาดังกล่าว ทำให้เธอเห็นว่า การช่วยเหลือแบ่งเบาภาระของผู้ดูแล โดยบุคลากรสุขภาพ และอาสาสมัคร ต้องเน้นเรื่องความสำคัญของการรับฟัง และจัดการบนความต้องการของผู้ป่วยและผู้ดูแลเป็นด้านหลัก  

 

จินตนาการว่าด้วยการดูแลผู้สูงวัยของไทยในอนาคต

          ในอนาคตเมื่อผู้ป่วยสูงอายุมีจำนวนมากจนเกินกว่าความสามารถของระบบบริการสุขภาพจะรองรับได้ การพัฒนากลไกที่จะสนับสนุนให้การดูแลผู้สูงอายุที่บ้านมีประสิทธิภาพ จึงกลายเป็นภารกิจสำคัญของระบบบริการสุขภาพและสังคมไทย แต่นอกจากการพัฒนาระบบอาสาสมัครดังได้กล่าวแล้ว คุณฟีลิซิตียังเสนอแนวทางอื่นที่ควรพิจารณาเพิ่มเติมด้วย

          ทางเลือกหนึ่งคือ การเปิดให้ผู้สูงวัยหรือใกล้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เคยเป็นผู้ดูแล ได้จินตนาการหรือฝันถึงชีวิตในอนาคตของตนเอง ได้คิดถึงการดูแลที่ตนเองพึงได้รับในยามสูงวัย ซึ่งจะทำให้เราสามารถพัฒนากลไกให้ตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุได้อย่างตรงจุดมากขึ้น และจากการพูดคุยกับผู้สูงอายุตอนต้นหรือวัยกลางคนตอนปลายจำนวนหนึ่ง คุณฟีลิซิตีพบว่า มีความต้องการอยู่สองแนวทางหลัก แนวทางแรก ผู้สูงอายุบางกลุ่มที่ส่วนใหญ่จะเป็นคนโสด พวกเขาปรารถนาจะมีชุมชนของผู้สูงอายุโดยเฉพาะที่พวกเขาสามารถมาใช้ชีวิตร่วมกันได้ มีสนามหญ้า หรือพื้นที่สำหรับการผ่อนคลาย มีสถานที่ออกกำลังกาย และมีกิจกรรมต่างๆ เช่น มีพระสงฆ์มาแสดงธรรม หรือมีรถทัวร์สำหรับพาออกไปนอกสถานที่ เพื่อทำให้ผู้สูงอายุมีความสุข เป็นต้น

          ในขณะอีกแนวทางหนึ่ง คือบูรณาการการดูแลผู้สูงอายุเข้าไปในชุมชนเดิม ไม่ว่าจะในชุมชนแออัดหรือหมู่บ้านในเมือง โดยสร้างศูนย์ดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะในชุมชน แล้วให้เด็กๆ หรือคนรุ่นหลังเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแล และเป็นสถานที่สำหรับการเรียนรู้และสืบทอดภูมิปัญญาจากผู้สูงอายุสู่คนรุ่นต่อไป

          แม้ว่ารูปแบบของชุมชนในฝันของผู้สูงอายุหรือใกล้สูงอายุเหล่านี้จะมีความแตกต่างกันในรายละเอียด แต่ที่เหมือนกันทั้งสองกลุ่มคือ ทุกคนต้องการเข้าถึงการดูแลทางกายโดยผู้เชี่ยวชาญ มีเครื่องมือรักษาที่ทันสมัย หรือหากได้รับการดูแลในบ้านของตัวเองได้ยิ่งดี ซึ่งเป็นความต้องการที่เกินกว่าความสามารถของครอบครัว ญาติ หรืออาสาสมัคร จะตอบสนองได้

          แนวโน้มของความต้องการดังกล่าว คล้ายคลึงกับการดูแลผู้สูงอายุในหลายประเทศ เช่น สวีเดน ญี่ปุ่น ฯลฯ ซึ่งภาครัฐจะพยายามสร้างสิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่และสนับสนุนให้ผู้สูงอายุสามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากที่สุด รวมถึงผสมผสานการดูแลโดยหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนในสนนราคาที่เหมาะสมเข้าด้วยกัน

          ธุรกิจการดูแลสุขภาพจึงต้องเข้ามามีบทบาทในการดูแลผู้สูงอายุด้วยในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะธุรกิจผู้ช่วยดูแลผู้สูงอายุตามบ้านที่มีการทำกันเป็นล่ำเป็นสันในปัจจุบัน ซึ่งยังไม่มีการดูแลอย่างเป็นทางการ จึงไม่มีตัวเลขจำนวนผู้ช่วยดูแลที่แน่นอน แต่จำนวนโรงเรียนฝึกอบรมผู้ช่วยดูแลดังกล่าวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แสดงให้เห็นว่า สังคมไทยเริ่มยอมรับความช่วยเหลือชนิดที่ต้องจ่ายเงินมากขึ้นแล้ว แม้จะยังมีความกังวลในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานะทางการเงินของครอบครัว รวมถึงการล่วงละเมิดผู้สูงอายุที่เป็นข่าวตามสื่อต่างๆ ก็ตาม

          ตามที่ปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบัน ผู้ช่วยดูแลจะต้องผ่านการอบรมเบื้องต้นเป็นเวลาสามเดือนก่อนจะออกไปปฏิบัติภารกิจดูแลผู้สูงอายุตามบ้าน โดยมีบริษัทเป็นตัวกลางประสานงานระหว่างผู้ช่วยดูแลและครอบครัวผู้ว่าจ้าง แต่การขาดกฎระเบียบและกฎหมายคุ้มครองทำให้ผู้ช่วยดูแลตกอยู่ในความเสี่ยงที่เปราะบางอย่างยิ่ง เช่น ถูกบริษัทบางแห่งเอาเปรียบ ไม่ว่าจะเป็นการหักค่าหัวคิวที่ไม่เป็นธรรม หรือการอาศัยความกลัว (ของครอบครัวที่ว่าจ้าง) ผู้ช่วยดูแลซึ่งเป็นคนแปลกหน้า มาเป็นข้อต่อรองทำให้บริษัทมีสถานะได้เปรียบผู้ช่วยดูแล

          นอกจากนี้ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ช่วยดูแลไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ เพราะขัดแย้งกับแนวทางปฏิบัติของสภาการพยาบาลไทย ซึ่งพยายามผลักดันกฎระเบียบเพื่อควบคุมธุรกิจผู้ช่วยดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่บ้าน เนื่องจากเห็นว่า ผู้ช่วยดูแลที่ไม่ใช่พยาบาลอาจขาดคุณสมบัติในการทำงานที่ต้องใช้ทักษะเฉพาะ จากปัจจัยสองสามประการคือ ความเป็นคนนอกครอบครัวประการหนึ่ง และขาดการฝึกอบรมที่ถูกต้อง ไม่มีการควบคุมคุณภาพ จึงอาจจะทำให้ครอบครัว ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วย ตกอยู่ในความเสี่ยงจากการติดเชื้อหรืออุบัติเหตุได้มาก จำเป็นต้องมีกฎหมายเพื่อจำกัดขอบเขตการทำกิจกรรมของผู้ช่วยดูแล ไม่ว่าจะเป็นการจัดหายา การทำงานเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ เช่น การเปลี่ยนสายอาหาร และการทำแผลทั้งหมด ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่สอดคล้องกับการดูแลจริงในชีวิตประจำวัน อันเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ครอบครัวต้องจ้างคนนอกเข้ามาช่วยดูแลในบ้าน

          คุณเฟลิซิตีเห็นว่า การออกกฎระเบียบเพื่อจำกัดขอบเขตการทำงานดังกล่าว แทนที่จะสนับสนุนการฝึกอบรมเพื่อให้ผู้ช่วยดูแลมีทักษะที่สูงขึ้น นอกจากจะไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้สูงอายุและครอบครัวที่ต้องการความช่วยเหลือโดยตรงแล้ว ยังส่งผลให้คนทำงานไม่ได้รับการปกป้องจากกฎหมาย เพราะต้องทำกิจกรรมที่ผิดกฎอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

          ...

          ดังนั้น จินตนาการใหม่สำหรับการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยในระยะยาว ต้องคำนึงถึงมิติต่างๆ ทั้งเรื่องกาย การเงิน และเงื่อนไขทางสังคมวัฒนธรรมอย่างเชื่อมโยงกัน ไม่ว่าจะเป็นการที่องค์กรวิชาชีพต่างๆ พยายามดำรงรักษาความเป็นมาตรฐานและบทบาทของผู้ดูแลเฉพาะทาง ซึ่งเป็นมอบอำนาจในการดูแลให้อยู่แต่ในมือผู้เชี่ยวชาญ (ซึ่งมีจำนวนน้อยไม่เพียงพอต่อการตอบสนองต่อปัญหา – กองสาราณียกร) การพยายามส่งเสริมระบบอาสาสมัครโดยเชื่อว่าสังคมไทยยังจะช่วยเหลือกันอยู่เหมือนในอดีต (ซึ่งขัดแย้งกับข้อเท็จจริงของโครงสร้างสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว – กองสาราณียกร) และการทำความเข้าใจธุรกิจการดูแลตามที่เป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนบทบาทของผู้ดูแลที่เป็นคนนอกครอบครัว รวมไปถึงความต้องการการดูแลด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์อันทันสมัย 

          ทำอย่างไรถึงจะเกิดการเจรจาต่อรองและผสมผสานแนวคิดการดูแลในรูปแบบต่างๆ ให้เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย เพื่อประโยชน์ของผู้สูงอายุอย่างแท้จริง

          คือคำถามใหญ่ที่ระบบบริการสุขภาพและสังคมไทยต้องนำมาครุ่นคิดต่อไป 

คอลัมน์:

ผู้เขียน: